การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กอนุบาล

ไม่มีความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 25 สิงหาคม 2011 เวลา 11:13 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1802

วันนี้เข้าไปโค้ชตามคำขอของห้องอนุบาล2/1 คุณครูอรุณรัตน์  กับคุณครูปิติลันธ์ โดยขอให้ดู 3 เรื่องด้วยกัน  ครูอรุณรัตน์ ขอให้ดูการจัดกิจกรรมเข้าจังหวะ   ที่คุณครูจะใช้เล่นกับเด็กอย่างสร้างสรรค์   ส่วนปิติลันธ์  ขอให้ดูเรื่องการใช้น้ำเสียงกับเด็ก และการเอาใจใส่เด็กที่ช้าให้เข้ามาร่วมกิจกรรม

ได้เข้าไปสังเกตการณ์ ตั้งแต่เวลา 9.30 น. ถึงเวลาประมาณ 11.00  และได้เขียนสะท้อนสิ่งเห็นเอาไว้ให้กับคุณครูทั้งสอง

9.30 น. “ครูอรุณรัตน์”  มีบทบาทเป็นครูนำ  ครูเลือก กิจกรรม “เต้นตามจังหวะเพลง แต่ฟังคำสั่ง “ปิติลันธ์เป็นผู้ช่วย ทำการเปิด  ปิดเพลง  และร่วมกิจกรรมกับเด็ก  ครูแจกดินสอคนละแท่ง แรกๆแม่ใหญ่ก็งง ว่าให้มาดูเรื่องกิจกรรมเข้าจังหวะทำไมถึงแจกดินสอ  แต่ก็นิ่งเฉยเพราะอยากรู้ว่าคุณครูจะทำอย่างไร  คุณครูให้เด็กยืนเป็นวงกลม  แล้วส่งสัญญาณให่ปิติลันธ์เปิดเพลงสนุกๆ  ออกคำสั่งให้เด็กเต้นตามจังหวะเพลงอย่างอิสระ  แต่ให้เงี่ยหูฟังด้วยว่า  ครูจะบอกให้เด็กทำอะไรบ้าง  ครูบอกว่าให้ยกดินสอสูงๆ และเต้นไปด้วย  แล้วก็ให้ย่อตัวลงต่ำ  และเต้นไปรอบๆห้องโดยไม่ชนกัน ให้รักษาระยะระหว่างตัวเองและเพื่อนไว้ให้ดี    เด็กเต้นตามที่ครูบอกบทอยู่สัก2-3 นาที  แล้วครูอรุณฯก็ขยิบตาให้สัญญาณปิดเพลง แล้วบอกว่า ให้เด็กจับคู่กับเพื่อน   นั่งลงแล้ว  เอาดินสอต่อกันเป็นรูปอะไรก็ได้  เมื่อเด็กทำเสร็จ   ครูถามว่าเด็กต่อกันได้รูปอะไรบ้าง  เด็กก็ตอบต่างๆกัน เป็น งู บ้าง เป็นฝนบ้าง  เป็นถนนบ้างฯลฯ

ครูอรุณฯ ให้เด็กลุกขึ้นเต้นแบบรอบแรก  แต่คราวนี้เป็นเพลงช้าหน่อย   แล้วออกคำสั่งให้จับกลุ่ม 3  คน  ครู ให้เอาดินสอต่อกันอีกเป็นรูปอะไรก็ได้    คราวนี้เด็กเอาดินสอมาต่อกัน  แล้วตอบว่าเป็นหลังคา บ้าง สามเหลี่ยมบ้าง ภูเขาบ้างฯลฯ

กิจกรรมนี้ กินเวลาสองรอบก็ราวๆ  15 นาที  หมดกิจกรรมคุณครูให้เด็ก เดินต่อคิวเอาดินสอมาคืนใส่ตะกร้า  แล้วกลับไปนั่งที่ของตน  แล้ว ครูปิติลันธ์  ก็เข้ามาทำกิจกรรมต่อ 

ก่อนจะไปถึงกิจกรรมต่อไป  แม่ใหญ่ อยากจะชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมที่ครูอรุณรัตน์ทำนั้น  ภายใน 15 นาทีนั้น เด็กได้เรียนรู้อะไรบ้าง  ในทฤษฎีพหุปัญญา

  • มิติสัมพันธ์   สูง ต่ำ  กะระยะห่างระหว่างตัวเองกับเพื่อน  ไม่ชนกัน
  • สร้างสรรค์  คิดว่าจะเอาดินสอมาต่อกันเป็นรูปอะไร
  • สังคม  ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนที่ เป็นคู่ ที่เป็นกลุ่มสามคน และที่เต้นรวมกันทั้งหมด
  • ดนตรี เรียนรู้จังหวะช้า เร็วตามเพลงที่ครูเลือกให้เด็กเต้น  และเด็กได้สนุกสนานกับการเต้นด้วย
  • ภาษา ได้บอกเล่าถึงสิ่งที่ตนเองคิดสร้างเป็นรูปอะไรจากดินสอ  2 แท่ง และสามแท่ง
  • คณิตฯ รู้จักจำนวน 2 และ3  ผ่านคำว่า จับคู่เท่ากับสองคน   รวมกลุ่ม 3  คน
  • จริยะฯ  อดทน รอคอย ไม่ชนเพื่อน

คราวนี้มาถึงตาของ” ครูลัน”บ้าง  ครูรู้ตัวว่าชอบสอนเสียงดัง  และใจร้อน  บางทีก็รีบไปเร็วๆตามแผนการสอนที่ตัวเองเตรียมไว้   ไม่ค่อยรอเด็กที่ช้า  วันนี้คุณครูเลยขอให้แม่ใหญ่คอยโค้ช   โดยครูลันเลือกเอากิจกรรม  “อ่านหนังสือพร้อมกัน”  มาให้เด็กทำ

9.45  เด็กเข้าไปนั่งตามที่ของตนเอง เป็นรูปครึ่งวงกลม  โดยมีครูลันนั่งด้านหน้า  ครูลันบอกเด็กๆว่า วันนี้เราจะมาอ่านหนังสือพร้อมกัน (สังเกตว่าครูลันตั้งใจเสียงเบาเป็นพิเศษ  แต่ยังมีเสียงต่ำเสียงสูง ทำให้เด็กสนใจได้อยู่)

ครูบอกว่า  ให้เด็กๆไปเลือกหนังสือที่มุมหนังสือมาคนละเล่ม  แต่ต้องมีกฎกติกา มารยาท  จะไม่แย่งกัน  ไม่ลุกไปพร้อมกัน ถ้าใครลุกไปแล้ว  ต้องรอ และลุกเป็นคนต่อไป ให้หัดสังเกต ดูก่อนตอนนี้ใครเขาลุกขึ้นแล้ว เราต้องรอก่อน    และเมื่อได้หนังสือมาแล้ว ให้เอาพี่หนังสือมาวางไว้ก่อน  รอจนเพื่อนทุกคนได้หนังสือครบแล้วครูลันจะบอกให้ทำอะไรต่อไป

เด็ก 25 คน ใช้เวลากับการออกไปหยิบหนังสือ ประมาณห้านาที  เห็นความกระตือรือร้น อยากออกไปหยิบหนังสือของเด็ก ผลุดลุกผลุดนั่งกันอยู่หลายครั้ง  กว่าจะตรงกับจังหวะที่ตัวเองจะลุกไปหยิบหนังสือได้ก่อนเพื่อนคนอื่นๆ เด็กทีได้หนังสือมาแล้ว ก็ไม่รีบเปิด แต่เอาหนังสือวางไว้ก่อน แล้วก็คอยมองเอาใจช่วยเพื่อนที่ยังลุกไม่ทันคนอื่นเสียที

คนสุดท้าย  คงเป็นเด็กที่ช้าสักหน่อย  ลุกไปแล้วก็ยังไปเลือกอยู่อีกนาน จนเพื่อนๆหลายคนบอกว่าเร็วๆหน่อย อยากเปิดอ่านแล้ว   ครูลันเข้าไปมีส่วนช่วย  เด็กที่ยังเลือกหนังสือเองไม่เป็นเล็กน้อย และในที่สุด  ทุกคนก็ได้หนังสือมาวางหน้าตักสมใจ (งานนี้ ถ้าเป็นเมื่อก่อน ครูลันอาจจะเอาหนังสือมาแจกให้เด็กภายในเวลาสองนาที ก็เสร็จเรียบร้อย)

ครูลันสอนวิธีเปิดหนังสือโดยจับมุมด้านล่างขวา แล้วค่อยพลิกดูไปทีละหน้า  ไม่ทำให้หนังสือยับ แล้วบอกว่าต่อไปนี้เรามาอ่านหนังสือเงียบๆกัน ว่าแล้วครูลัน ครูอรุณฯ ก็เดินไปหยิบหนังสือมานั่งอ่านด้วยเงียบๆ  เป็นเวลาประมาณ 5 นาที  กิจกรรมนี้แม้เด็กจะอ่านไม่ออกแต่เห็นได้ว่าทุกคนก็เปิดดูรูปในหน้าต่างๆกัน โดยไม่สนใจกับเรื่องอื่นๆ

เมื่อครูลันสังเกตว่าเด็กเปิดครบทุกหน้าแล้ว ครูก็ตั้งคำถาม ให้เด็กยกมือตอบว่า  หนังสือที่ตัวอ่านชื่อเรื่องอะไร เด็กตอบได้ทุกคน ตามรูปที่ตัวเห็น  เช่นเรื่อง ดอกไม้ เรื่องพ่อแม่ลูก เรื่องไดโนเสาร์ เรื่องนกฯลฯ เด็กที่ช้า ตอบไม่ออก ครูนิ่งฟัง ปล่อยให้คิดเอง  เพื่อนๆข้างๆกระซิบชื่อเรื่องให้  ครูต้องใจเย็นรอเล็กน้อย แต่ในที่สุด  ชื่อเรื่องก็ค่อยๆหลุดออกมาจากปากของน้องคนสุดท้าย

หลังจากนั้น ครูลันก็ให้ใช้วิธีเดิม คือให้เด็กเอาหนังสือไปเก็บทีละคน  แล้วก็ไปรับนมกล่องจากครูอรุณฯที่เตรียมเอาไว้แจกเด็กอยู่อีกด้านหนึ่ง  ตอนนี้มีรายการเด็กทำนมหก  ด้วย  ครูพูดค่อยๆได้ยินเฉพาะครูกับเด็กว่า  ให้เด็ก ไปเอาผ้ามาเช็ดตรงที่หก โดยไม่ได้กล่าวตำนิหรือทำเป็นเรื่องใหญ่แต่อย่างใด

ดื่มนมเสร็จ ครูลันขอทบทวน กิจกรรมที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเมื่อไฟไหม้  และการช่วยเพื่อนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ   เด็กสามารถโต้ตอบเพราะจำกิจกรรมได้ดี  เพราะได้มีการนำเอาของจริงมาให้เด็กดู  ได้มีกิจกรรมหนีไฟและกิจกรรมหามคนแขนขาหักให้ เห็นของจริง  เด็กจึงตอบคำถามอย่างคล่องแคล่ว  และยังบอกได้อีกว่า เรียกตำรวจ โทร 191  เรียกรถดับเพลิงหรือรถหวอ  ต้องโทร 1669

ต่อจากกิจกรรมนี้ ก็เป็นกิจกรรม คุยกับพี่ปฏิทิน  ที่เคยเล่าไปแล้วในการไปโค้ชครูดี้  กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมประจำที่เราทำกันทุกวัน  แล้วต่อด้วยการทบทวนเรื่องโครงการที่เด็กกำลังจะเลือกเรื่อง  ครูนำเอารูปที่เด็กวาด  ว่าจะเลือกเอาเรื่องอะไรบ้างมาทบทวนกับเด็ก เด็กเสนอมาถึง 15 เรื่อง   ครูบอก  เตรียมตัวให้พร้อม  พรุ่งนี้ ใครอยากให้เพื่อนเลือกเรื่องของเราก็ให้ไปหาเหตุผลมาชวนเพื่อนให้โหวต     ใครได้เสียงโหวตมาก เราจะเรียนเรื่องนั้นกัน 

กิจกรรมสุดท้ายในเช้าวันนี้ คือการให้แผ่นงานเด็กไปทำ เกี่ยวกับเรื่องสั้นและยาว  ซึ่งคงจะเป็นเรื่องที่ได้สอนกันมาก่อนแล้ว   ครูอธิบายคำสั่งในแผ่นงาน   ว่าให้วงกลมภาพที่สั้น และให้ระบายสีภาพที่ยาว   เด็กรับแผ่นงานพร้อมกับไปหยิบดินสอสีที่ครูอรุณฯเตรียมให้  และลงนอนคว่ำทำงานกัน แบบตัวใครตัวมัน  ครูสองคนเดินดูเด็กๆ เห็นได้ว่า ครูเลือกเข้าไปช่วยเด็กสองสามคนที่ยังเขียนชื่อไม่ได้  และทำท่าจะวงกลมและระบายสีไม่ถูก  โดยแยกมาอธิบายแบบตัวต่อตัว 

กิจกรรมทั้งหมดนี้  จบลงที่เวลาประมาณ 11.15 นาที  เด็กไปเข้าห้องน้ำเตรียมตัวไปทานข้าว

แม่ใหญ่ส่งข้อสังเกตที่เขียนไว้ถึงสามแผ่น ให้กับครูแล้วขอแสดงความยินดีว่า คุณครูทั้งสอง ผ่านเยี่ยมสำหรับการโค้ชครั้งนี้

ผู้สนใจดูรูปและคำบรรยายประกอบได้ที่นี่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.2294912569535.134804.1150695493#!/media/set/?set=a.2294998091673.134809.1150695493&type=1


เยี่ยมสองโรงเรียนที่แตกต่าง

ไม่มีความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 24 สิงหาคม 2011 เวลา 6:19 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1635

ในช่วงสามวันที่ผ่านมา มีกิจกรรมต่อเนื่องกับเทศบาลนครขอนแก่น  คือการไปเยี่ยมโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน  กับโรงเรียนเทศบาลสวนสนุก   และไปเป็นกรรมการเลือกรองผู้อำนวยการให้โรงเรียน 10 คน ตามที่ได้ เขียนบันทึกไปแล้ว  วันนี้จะขอเขียนถึงโรงเรียนสองโรงที่เป็นเทศบาลเหมือนกัน    อยู่ห่างกันไม่ถึง 10 กิโลเมตร   แต่มีความแตกต่างกัน จนอยากจะนำเอาสองโรงเรียน มารวมกันแล้วหารสอง    คงจะลงตัวได้พอดี

ตามข้อมูลที่แสดงให้เห็นต่อไปนี้ คงพอทำความเข้าใจได้ว่า   ทำไมแม่ใหญ่จึงพูดเช่นนั้น

 โรงเรียนเทศบาลศรีฐาน

เนื้อที่  10 ไร่เศษ    มีห้องเรียนเหลือใช้  บริเวณที่เล่นกลางแจ้ง    มากมาย      

ขนาดห้องเรียนต่อเด็ก    ห้อง 7*9 เด็ก 30  คน ครู 1 คน

นักเรียนทั้งโรงเรียน   591  คน    ครูทั้งโรงเรียน   32  คน

นักเรียนเฉพาะระดับอนุบาล   4 ห้อง  120 คน     ครูเฉพาะระดับอนุบาล   5 คน    อัตราส่วนครูต่อเด็ก   1 ต่อ 24

การเรียนการสอน    ลื่นไหล   บูรณาการ       กิจกรรมเสริม    ภาษาอังกฤษ   ดนตรี

บุคลิกครู   ผ่อนคลายแม้งานค่อนข้างหนัก

บุคลิกผู้บริหาร     มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง  และมีความตั้งใจในการทำงานตามระบบมาก    เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่ สมศ.จะมาตรวจรอบที่สาม

บุคลิกเด็ก    เป็นธรรมชาติ  ไม่เป็นระเบียบนัก แต่ก็เชื่อฟังครู

 

โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก

เนื้อที่   5 ไร่   ห้องเรียนจำกัด   บริเวณที่เล่นกลางแจ้ง   จำกัดมาก

ขนาดห้องเรียนต่อเด็ก    ห้อง 7*9 เด็ก 42-45 คน ครู 2 คน

นักเรียนทั้งโรงเรียน 3069 คน   ครูทั้งโรงเรียน  155 คน

นักเรียนเฉพาะระดับอนุบาล   8 ห้อง  320  คน   ครูเฉพาะระดับอนุบาล   16 คน    อัตราส่วนครูต่อเด็ก   1 ต่อ 20

การเรียนการสอน    ครูสอนเน้นอ่านออกเขียนได้     กิจกรรมเสริม   ภาษาอังกฤษ   ดนตรี   เกมส์การศึกษา

 บุคลิกครู   เคร่งเครียด ไม่ค่อยยิ้มแย้ม

บุคลิกผู้บริหาร    ไม่ได้พบเพราะผู้อำนวยการไปประชุม   แต่ดูจากสภาพโรงเรียนแสดงให้เห็นว่ามีการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ได้อย่างเป็นประโยชน์ทุกตารางเมตร

บุคลิกเด็ก   ตั้งใจเรียน เรียบร้อย เชื่อฟังครูมาก   ไม่ค่อยซุกซน นั่งเรียนกับโต๊ะอย่างมีระเบียบ

 

ข้อมูลของทั้งสองโรงเรียน      นี้มิได้มีวัตถุประสงค์จะแสดงว่า โรงเรียนใด ดีกว่าหรือด้อยกว่า  เพียงแต่ต้องการให้เห็นภาพ  ของทั้งสองโรงเรียนนี้เท่านั้น   ว่าแตกต่างกันมากมายเหลือเกิน   แม่ใหญ่มีความเห็นว่า  โรงเรียนเทศบาลทั้ง 8 โรงที่ไปเยี่ยมมา ล้วนแล้วแต่มีข้อเด่น ข้อด้อยต่างกัน   และมีข้อจำกัดในการดำเนินงานต่างกัน   มีบริบทของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน   แต่ก็มีแนวทางใกล้เคียงกัน  กับโรงเรียนอนุบาลบ้านศรีฐาน  มีโรงเรียนสวนสนุกนี้เท่านั้น ที่ดูจะแปลกจากโรงเรียนอื่น  แต่ก็เป็นโรงเรียนที่มีลักษณะเฉพาะตัว  และมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากๆ และข้อสำคัญคือ ได้รับความนิยมจากผู้ปกครอง

โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐานถือว่าโชคดี  ที่ได้ครูจบทางปฐมวัยโดยตรงถึง 3 คน  ดังนั้นการจัดกิจกรรมจึงค่อนข้างลื่นไหล  บูรณาการ     เป็นไปตามแนวเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายอารมณ์ สังคม และสติปัญญา  ปัญหาก็มีเพียงอาคารที่เปิดกว้างต่อเนื่องถึงกันทั้งสี่ห้อง  ทำให้การเรียนการสอนที่ต้องการให้เด็กมีสมาธิเป็นไปได้ยาก     เนื่องจากมีสิ่งเร้ารอบๆข้างมากเกินไป   แต่คุณครูก็พยายามแก้ไขด้วยการปรึกษาหารือกัน   ในการจัดกิจรรมเพื่อไปในทิศทางเดียวกัน      เพื่อไม่ให้เสียงจากกลุ่มหนึ่งไปรบกวนอีกกลุ่มหนึ่ง    ทราบว่าปีหน้าจะได้ตึกใหม่ ก็ขอแสดงความยินดีด้วย

 ส่วนโรงเรียนสวนสนุกถือเป็นโรงเรียนใหญ่ที่สุดในจำนวนโรงเรียนเทศบาลทั้งหมด    ผู้ปกครองนิยมส่งลูกมาเรียนมากที่สุด  เพราะเน้นเรื่อง อ่านออกเขียนได้  เตรียมเด็กเข้าชั้นป.1  ซึ่งเป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้ง่าย  นอกจากนี้ ยังมีครูที่เด่นและเก่งเฉพาะด้านที่จะส่งเสริมเด็กเก่งให้ไปได้รางวัลต่างๆ  ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนได้ทุกปี  คุณครูท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจว่าสามารถเตรียมความพร้อมจนเด็กได้ไปชนะการประกวดแฟนต้ายุวทูต  ได้ไปทัศนศึกษาถึงอเมริกาโน่นทีเดียว 

นอกจากนี้  โรงเรียนยังมีแผนกEP หรือ English Program เพื่อรองรับผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กได้เรียนภาษาอังกฤษกับครูชาวต่างชาติ โดยตรง    ซึ่งก็เห็นมีครูชาวฟิลิปปินส์สอนคู่กับครูไทยอยู่สองห้อง  ดังนั้นบริบทของโรงเรียนนี้คือ  สอนให้เด็กเป็นคนเก่ง ทางด้านวิชาการ ตามที่ผู้ปกครองต้องการ

อาจารย์สงกรานต์  หัวหน้าสาย  ได้ทำ powerpoint   เพื่อแสดงกิจกรรมเด่นๆที่เด็กได้เรียนรู้ในแต่ละวัน  เพราะการมาเยี่ยมชมเพียงวันเดียว  อาจจะไม่ได้เห็นกระบวนการต่างๆอย่างครบถ้วน     มีกิจกรรมหลากหลาย  ที่แสดงให้เห็นว่าครูที่แผนกนี้ได้ผ่านการอบรมมามากมาย และได้นำกิจกรรมที่มีความคิดรวบยอดที่ลึกซึ้งมาใช้    ไม่ใช่เป็นกิจกรรมพื้นๆที่ใช้กันในโรงเรียนอนุบาลทั่วๆไป   หัวหน้าสายเล่าว่า โรงเรียนได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่องของกระทรวงศึกษาธิการ  โดยให้นำแนวทาง  Brain based learning หรือการเรียนรู้โดยคำนึงถึงสมองของเด็กเป็นฐานมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ   แม่ใหญ่ก็ได้ขอเพิ่มเติมความรู้เรื่องนี้  ไปให้คุณครูเล็กน้อย  ในฐานะที่ใช้ BBL มานานแล้วว่า  มันไม่ใช่รูปแบบการศึกษา  แต่ BBL คือเครื่องมือในการจัดสภาพสมองให้เหมาะกับการเรียนรู้  และได้มีคนคิดออกมาเป็นกิจกรรมต่างๆ  อาทิเช่นการออกกำลังสมอง (Brain gym )  เพื่อให้สมองหายเหนื่อยล้าหลังจากเรียนเรื่องหนักๆหรือนั่งนานๆ  การใช้เพลงประกอบเพื่อให้คลื่นสมอง อยู่ในสภาวะที่เรียนรู้ได้ดี  การสร้างสื่อที่น่าสนใจที่จะกระตุ้นให้เด็กรับเนื้อหาเข้าไปสู่ส่วนที่ลึกที่สุดของสมอง  และไม่ลืม      จิตตปัญญาศึกษาที่คณะผู้บริหารเทศบาลนำเข้ามาเผยแพร่กับคณะครูและผู้บริหารในโรงเรียนเทศบาล  ก็เป็น BBL เหมือนกัน

นักเรียนสวนสนุกมีลักษณะไม่ซน ว่าง่าย พูดจาฉะฉาน   เขียนตัวพยัญชนะสวย    เดินแถวเป็นระเบียบ   แสดงว่าถูกฝึกมาเป็นอย่างดี   แต่ดูคุณครูไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใสนัก   เหมือนไม่ค่อยมีความสุข ( ต้องขอบอกว่านี่เป็นความรู้สึกส่วนตัวจริงๆ ซึ่งอาจจะผิดก็ได้)  คุณครูอาจจะเครียดที่เรามาเยี่ยมชม  หรือจะนึกว่า เรามาตรวจมาตรฐานแบบ สมศ.  ซึ่งประธานสุทธิก็ได้ชี้แจงว่า เรามาแนะนำหรือสะท้อนความคิดเห็นแบบกัลยาณมิตรมากกว่า


กระบวนการนอกกรอบ

ไม่มีความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 23 สิงหาคม 2011 เวลา 5:57 (เย็น) ในหมวดหมู่ งานอดิเรก, ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1564

วันนี้ได้ไปช่วยงานเทศบาลนครขอนแก่น อีกงานหนึ่ง (รู้สึกว่าหมู่นี้ เทศบาลใช้งาน ค่อนข้างถี่)  แต่แม่ใหญ่ก็เต็มใจไปช่วยในฐานะภาคประชาชน   งานที่ไปคือการไปเป็นกรรมการสรรหารองผู้อำนวยการ โรงเรียนเทศบาล 10 โรง  คณะกรรมการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สำนักการศึกษา 2-3 ท่าน คณะข้าราชการการเมือง เช่น  ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี   รองนายกเทศมนตรี  นายกสภาเทศบาล และสมาชิกเทศมนตรี  4-5 ท่าน  มีแม่ใหญ่เป็นคนนอก สังกัดเอกชนตนเอง  หลุดรอดเข้าไปแค่คนเดียว ก็ภูมิใจนะที่เขาอุตส่าห์เลือกไปใช้งาน

ขั้นตอนการเลือกครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 11 เดือน   เพิ่งมาเสร็จสิ้นในวันนี้   แรกๆมีคนมาสมัครเข้ากระบวนการยี่สิบกว่าคน   แต่หลังจากผ่านกระบวนการ อันหลากหลายตลอดเวลา 11 เดือน   ก็ค่อยๆมีคนถอยออกไป  จนวันนี้มีเหลือ  ให้เลือกแค่ 13 คนเท่านั้น   และตำแหน่งก็มีตั้ง 10 ตำแหน่ง  ดังนั้นจะมีคนไม่ผ่านการสรรหาเพียง สามคนเท่านั้นเอง  เป็นการแข่งขันที่ไม่น่ากลัวเลย  แต่ก็แปลกที่คนสมัครทำไมถึงน้อย!!!!!

ถ้าแม่ใหญ่สาธยายกระบวนการฯ  ให้ฟังคนอ่านก็จะถึงบางอ้อ  ว่าทำไมคนจึงไม่ค่อยอยากจะสมัครเข้ามา   เพราะมันไม่ใช่แค่เข้ามาสอบข้อเขียน  สัมภาษณ์แล้วก็ผ่านเข้าไปเป็นรอง ตามระบบเดิมๆที่ทำกัน    ผู้สมัครทั้งหมด จะต้องเข้าไปเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้  5  เรื่องด้วยกัน คือ

  1. อบรมเรื่องจิตตปัญญาศึกษา  กับอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู  ประมาณ 5 วัน  
  2.  เข้าอบรมเรื่องการลดอัตตากับอาจารย์ประชา หุตานุวัตร  อีกราวๆ 5 วัน 
  3. ไปนอน,ไปกิน,ไปอยู่  ล้างชาม   กับสติที่หมู่บ้านพลัมอีก 1 คืน 1 วัน
  4. ไปเรียนรู้ที่โรงเรียนนอกกะลาของอาจารย์ วิเชียร ไชยบัง ที่ลำปลายมาศอีก  3 วัน    
  5.  ไปเรียนรู้การโค้ชชิ่งเพื่อนครู   ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ     และหลังจากนั้น   ให้กลับมาทำวิจัยส่งให้กับอาจารย์ที่สอนเรื่องโค้ชชิ่ง อีกคนละ 1 เล่ม

ดังนั้น   ใครใจไม่ถึง  ไม่เสียสละเวลาขนาดนี้  ก็คงจะไม่สมัครเข้ามา

นายกเทศมนตรี  คุณพีระพล พัฒนะพีระเดช  เป็นคนหนุ่ม รุ่นใหม่ ไฟแรง  มีนโยบายชัดเจนว่า  การจะเข้าสู่ตำแหน่งใดใด ต้องเป็นการเข้ามาด้วยธรรมาภิบาล  ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง  และเปิดโอกาสให้กับผู้มีสิทธิทุกคน    แต่ต้อง ผ่านการอบรมเพื่อพัฒนา มิใช่มาด้วยเส้นสาย  หรือต้องเสียเงินซื้อตำแหน่ง  อย่างที่เราเคยได้ยินกัน  แต่จับไม่ได้ไล่ไม่ทันสักที   ท่านนายกฯ  ทำแบบนี้มาเป็นครั้งที่ หก แล้ว    ใช้งบประมาณกับกระบวนการนี้ ไม่น้อยเลย    เพื่อหวังจะได้คนดีดีเข้ามา บริหารโรงเรียน  แม้จะถูกนินทาและคัดค้านเงียบๆ จาก หลายๆเสียงที่ไม่ชอบผ่านกระบวนการนี้  (แต่อยากเป็นรองฯ) ท่านก็ไม่หวั่นไหว  ยังเดินหน้าต่อไป โดยไม่หวั่นไหว ด้วยความเชื่อที่ว่า  กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ได้พัฒนาคน  และมีความยุติธรรม

คณะกรรมการมาจากหลายส่วน  กลุ่มที่แม่ใหญ่เกี่ยวข้องเรียกว่า  กรรมการสรรหา  มีสิทธิให้คะแนน   40%    อาจารย์ผู้ดูแลการวิจัย  30 % ผู้ให้การอบรมจาก  แหล่งเรียนรู้   20 %   คะแนนสังคมมิติ  คือผู้เข้ากระบวนการให้กันเอง  อีก 10 %  รวมเป็น 100 %

ด้วยการที่คะแนนมาจากหลากหลายแหล่ง  และจากผู้ไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องนี่เอง  จึงเป็นที่มั่นใจได้ว่า   จะไม่มีเด็กฝากของใครคนใดคนหนึ่ง  ก้าวเข้ามาได้โดยง่าย 

วันนี้เราสรรหาไปได้แล้ว 10 คน  เราก็จะส่งคนที่เราเลือกได้ทั้ง 10 คน  ไปเข้ากระบวนการสอบคัดเลือก ตามระบบราชการอีกครั้ง  โดยมีการสอบข้อเขียน และการสอบสัมภาษณ์   ตามปกติ   กรรมการสอบคัดเลือกของจังหวัด   ก็จะมี กรรมการสรรหาฯ ของกลุ่มเรา คือ ท่านปลัดเทศบาล   ท่านผู้อำนวยการสำนักการศึกษา   และรองฯ เข้าไปนั่งอยู่ด้วย    ดังนั้นก็เชื่อได้ว่า  คนกลุ่มนี้  คงจะผ่านการสอบคัดเลือก เข้ามาโดยไม่มีการพลิกล็อคใดใด   แต่ใครจะได้ลำดับที่เท่าไหร่  ก็คงจะไปดูกันที่ คะแนนการสอบข้อเขียน และสัมภาษณ์อีกครั้ง

แม่ใหญ่รู้สึกโล่งใจที่กระบวนการสรรหาของเราผ่านไปอีกรุ่นหนึ่ง    กลับมาถึงโรงเรียน เจอหน้าผู้อำนวยการโรงเรียน  โดนกระเซ้าว่า  ไปทำงานให้เทศบาลเสร็จแล้วเหรอ  หมู่นี้ชักไปบ่อยนะ   สัปดาห์นี้ ก็สามวันซ้อน  ทั้งเลือก รองฯ และเยี่ยมโรงเรียน  แม่ใหญ่ก็เลยบอกไปว่า นี่แหละเอาไว้อวดเวลา สมศ. มาตรวจโรงเรียนไง ว่า ได้ส่ง แม่ใหญ่ไปมีสัมพันธ์กับชุมชน ในนามโรงเรียน   ตามมาตรฐานที่ระบุไว้ เรียบร้อยแล้ว


เยี่ยมชมอนุบาลโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนทัน

ไม่มีความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 19 สิงหาคม 2011 เวลา 3:09 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน, เด็กไร้เดียงสา #
อ่าน: 1678

 

 

วันนี้ ไปเยี่ยมแผนกอนุบาลของโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนทัน  ฝนฟ้าตกตามเคย  เลยไม่ได้เห็นเด็กๆออกมาเล่นสนุกสนานที่สนาม  เด็กต้องอยู่ในห้องกับครูตลอดทั้งช่วงเช้า     เด็กนักเรียนมี 90 คน  ครู  4 คน  มีครูแป๋วเป็นหัวหน้าสาย  ครูแป๋วมีลักษณะเป็นผู้นำชัดเจน   สอนชั้น อนุบาลสอง มีครูใหม่ซึ่งจบสาขานาฏศิลป์เป็นผู้ช่วย เพราะมีเด็กถึง 42 คน             ครูแป๋วดูจะคล่องแคล่วในการจัดกิจกรรมให้เด็กได้ดี    มีจังหวะจะโคนในการสอน  และเด็กก็เชื่อฟังมีระเบียบวินัยดี  มีสมาธิในการเรียน     ครูผู้ช่วยก็ดูจะทำงานเข้ากันได้ไม่ติดขัด       มีครูจวงที่คร่ำหวอดกับชั้นอนุบาลมากว่า สามสิบปี  อยู่ที่โรงเรียนนี้มาตั้งแต่  แรกเริ่ม  มีลูกศิษย์ที่โตจนส่งลูกเข้ามาเรียนกับคุณครูแล้ว     คุณครูมีลักษณะเป็นคนอ่อนโยน  นุ่มนวล  และรักเด็ก  ทราบว่าขณะนี้พักอยู่ในโรงเรียนด้วย    โรงเรียนจึงเป็นเหมือนบ้านของครูจวง อย่างแท้จริง    ครูจวงสอนห้องอนุบาล  3/2   มีเด็กที่ยังไม่ค่อยนิ่ง  เพราะย้ายมาจากที่อื่น อยู่เกือบครึ่งห้อง   แต่ด้วยความใจเย็น  คุณครูก็กำลังค่อยๆปรับพฤติกรรมเด็กอยู่อย่างเงียบๆด้วยกิจกรรมต่างๆ    ส่วนครูอีกท่าน คือครูแอ  สอนอนุบาล 3 อีกห้องหนึ่ง   คนนี้ท่าทางกระฉับกระเฉงว่องไว  เสียงดังฟังชัด  ทราบว่าเคยสอน ป  1 มาก่อน เพิ่งผันตัวเองมาอยู่ อนุบาลได้เพียงสองปีเท่านั้น  ดูเป็นคนสนุกสนาน  และบุคลิกนี้  ก็ไปปรากฎในเด็กของคุณครูด้วย   เด็กห้องนี้กล้าแสดงออก ทักทาย ยิ้มแย้ม ไม่ตื่นคนแปลกหน้า  เวลาทำกิจกรรม  ก็ตั้งใจทำกิจกรรมและ เชื่อฟังครูแอเป็น อย่างดี

สิ่งที่แม่ใหญ่ชื่นชมโรงเรียนนี้ก็คือ  ทุกห้องมีมุมหนังสือที่มีหนังสือมากพอๆกับจำนวนเด็ก    ได้แนะนำเพิ่มเติมไปว่า  อยากให้คุณครูใช้มุมนี้เป็นมุมที่กระตุ้นให้เด็กรักการอ่าน ด้วยการให้มีช่วงอ่านหนังสือคนเดียวเงียบๆ  สัก 5-10 นาที ทุกวัน   และคุณครูก็ต้อง ทำท่าอ่านให้เด็กเห็นเป็นรูปแบบด้วย   ไม่ต้องห่วงเรื่องที่เด็กยังอ่านไม่ออก หรืออ่านไม่เป็น  การรักที่จะเปิดหนังสือขึ้นดู เงียบๆคนเดียว  แม้จะเป็นการดูรูป  ก็เป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านได้แล้ว

อีกเรื่องที่แม่ใหญ่ชม ก็คือเรื่อง ที่คุณครูแป๋วเล่าว่า  ได้ตกลงกันระหว่างครูทั้ง 4 คนว่า  จะตามเด็กขึ้นไปตามระดับชั้นจากอนุบาลสองขึ้นไปอนุบาลสาม    เพราะเห็นว่าครูจะได้รู้จักและได้พัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง  แม้จะเป็นเวลาเพียงสองปีก็ตาม      คุณครูบอกว่าเพิ่งลองทำได้ปีหนึ่งแล้ว และคิดว่าดี   จะทำต่อไป ซึ่งแม่ใหญ่ก็เห็นดีด้วย

ส่วนการเสนอแนะจากแม่ใหญ่    ก็มีเพียงเรื่องการใช้สื่อรอบๆห้องให้เป็นประโยชน์ต่อการสอนประจำวันมากขึ้น     เช่น สื่อปฏิทินประจำวัน  ให้ครูนำมาไว้ใกล้ๆตัว และนำมาสอนได้ทุกวัน     สามารถจะบูรณาการการสอนเด็กได้หลายวิชา ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ สังคม หรือภาษาไทย

สื่อเรื่องสภาวะอากาศของแต่ละวัน  ให้เด็กออกมาเลือกป้ายสภาวะอากาศว่าวันนี้ ร้อน หนาว หรือฝนตก ประการใด  เป็นการหัดให้เด็กได้รู้จักสังเกตด้วย   และการนำสื่อเรื่องข้อตกลง กฎกติกาประจำห้องมาอ่าน ให้เด็กฟังบ่อยๆ     แล้วถามเชิงบวก ว่าวันนี้ใครทำถูกกฎข้อไหนบ้าง ชื่นชมคนที่ทำดี  แต่ไม่ต้องถามว่าวันนี้ใครทำผิดกฎข้อไหน  ให้เขาได้รู้สึกเอง   ต่างๆเหล่านี้  ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ทำได้ในช่วงต้นของวันทั้งสิ้น

คุณสุทธิ ประธานโครงการ  พูดว่า แผนกอนุบาลที่นี่พัฒนาขึ้นมากจาก 4 ปีที่แล้ว   และเติมเรื่อง  ให้เด็กรับผิดชอบเซ็นชื่อตัวเองเมื่อมาถึงโรงเรียน      บอกว่าแทนการให้ผู้ปกครองมาเซ็นชื่อ    จัดที่ให้เด็กได้เซ็นชื่อตัวเองทุกวัน  แม้จะยังเขียนได้ไม่ถูกต้อง  ก็จะเป็นการเริ่มการเขียนและการรับผิดชอบต่อหน้าที่เบื้องต้นในแต่ละวันได้ด้วย เรียกว่ายิงนกนัดเดียวได้หลายตัว

แม่ใหญ่ไม่ได้เขียนถึงสถานที่ เพราะไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่  เป็นเรื่องของผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหารเทศบาลที่จะปรับปรุงกันต่อไปตามสมควร    แต่สิ่งที่ประทับใจกับโรงเรียนนี้ คือการได้เห็นแววตากระตือรือร้นของครูทั้งครูสาวและครูแก่  ว่าเป็นครูที่มีหัวใจเป็นครูอย่างแท้จริง  ซึ่งแค่นี้ก็เป็นการการันตีได้ว่า เด็กที่นี่จะได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ในอุ้งมือครูที่มีเมตตา  และรวยน้ำใจ  ลงมีครูดีเสียอย่าง   เรื่องอะไรต่างๆ ก็ถือเป็นเรื่องรอง

 


เป็นโค้ชให้ครูในโรงเรียนพัฒนาเด็ก

ไม่มีความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 18 สิงหาคม 2011 เวลา 11:49 (เช้า) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1735

เที่ยวไปเยี่ยมโรงเรียนเทศบาลมาหกโรงเรียนแล้ว  จริงๆเดือนนี้เป็นเดือนที่แม่ใหญ่จะต้องลงเป็นโค้ช ให้ครูของโรงเรียนพัฒนาเด็ก  ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม     แต่เนื่องจากรับปากคณะเทศบาลไว้แล้ว  จึงเริ่มต้น โรงเรียนตัวเองช้าไปหน่อย  วันนี้ เริ่มต้นเข้าห้อง ครูดี้ เป็นห้องแรก    ครูดี้ขอให้แม่ใหญ่ช่วยไปโค้ชเรื่อง “การใช้คำพูด สื่อสารกับเด็ก”  เพราะคุณครูคงจะรู้ตัวว่าบางครั้งคุณครูสื่อสารไม่ค่อยชัด      พูดไปแล้วคนไม่ค่อยเข้าใจ จนโดนเพื่อนๆ และ ผ.อ.  ล้อเลียนบ่อยๆว่า คนเมืองเลยพูดไม่รู้เรื่อง  เสียหายไปถึงจังหวัดเลยด้วย   ดังนั้นวันนี้ครูดี้ จึงตั้งใจแสดงให้แม่ใหญ่เห็นว่า คนเมืองเลยอย่างครูดี้ก็สื่อสารกับเด็กรู้เรื่องเหมือนกัน

คุณครูเลือกให้แม่ใหญ่เข้าไปโค้ชเวลา 9.30-10.00 น.  ซึ่งแม่ใหญ่ก็เข้าไปนั่งเงียบๆที่มุมหนึ่งซึ่งไม่รบกวนเด็ก  และเขียนบันทึกการเป็นโค้ชไว้  แล้วส่งไปให้ครูดี้ได้รับทราบ

สรุปได้ว่าวันนี้ ครูดี้  ผ่านฉลุยเลยค่ะ  กิจกรรมดีมาก ลื่นไหล  บูรณาการครบถ้วน   ใช้น้ำเสียงเบาๆ เป็นมิตร  ใช้คำพูดง่ายๆที่เด็กเข้าใจ    และเด็กโต้ตอบเป็นอย่างดี    ให้โอกาสเด็กที่ไม่พูดให้ลุกขึ้นมาพูด   ใช้สื่อประกอบกับทุกกิจกรรม   รอบๆห้องมีร่องรอยของการเรียนรู้ของเด็กๆจากโครงการ “ลูกโป่ง”   ที่เด็กเลือกเรียนอยู่   

เห็นแล้วก็ชื่นใจจริงๆที่เห็นครูของเรามีพัฒนาการ  ตลอด 4 ปีที่มาเป็นครูพัฒนาเด็ก   ตอนนี้ เลือดพัฒนาเด็กเข้มข้นอยู่ในตัวแล้วนะคุณครู  สิ้นปี อย่าหนีไปสอบบรรจุตามค่านิยมอีกก็แล้วกันนะจ๊ะ



Main: 0.86867499351501 sec
Sidebar: 0.16766595840454 sec