ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 26 กันยายน 2011 เวลา 20:30 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 2140

วันที่ 26 สิงหาคม 2554  09.00-12.00 น.

เริ่มด้วยเรื่องราวของบ้านดินที่เขากลิ้ง

พระครูวิจิตรศีลาจาร เจ้าอาวาสวัดห้วยพุด เจ้าคณะตำบลบ่อยาง จังหวัดสงขลา

บ้านดินที่เขากลิ้งใช้ดินทำเป็นอิฐแล้วเอามาสร้างบ้านดิน  ที่อินเดียใช้มูลโค  หรือขี้วัวกับไม้ไผ่  สร้างกันมาก่อนสมัยพุทธกาล

พันเอก ดร. พิเชษฐ คงศรี นายทหารปฏิบัติการกองบัญชาการกองทัพไทย

หมูหลุมเอามาจากเกาหลี  เลี้ยงเพื่อเอาปุ๋ย

ลุงเอก

บ้านดินที่จีนก็มีมาแต่ดั้งเดิม

วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัท การบินไทย จำกัด

หุบกะพงอาจนำไปใช้แก้ปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินที่ราชบุรีได้  ที่หุบกะพง  ตามโฉนดเป็นของพระเจ้าอยู่หัว  เป็นโครงการตามพระราชประสงค์  ทรงคิดเอง  ลงมือปฏิบัติเอง  ได้ผลจึงต่อยอดขยายผล  มีเรื่องแกล้งดิน  มีการทดลองการเกษตรทั้งระบบชลประทานและระบบน้ำฝน

ผู้ช่วยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

กรณีกลุ่มกะหร่าง  รัฐมองว่าอยากให้มีที่อยู่อาศัย  ที่ทำกิน  มีอาชีพที่ถาวร  แต่เป็นกลุ่มที่เคยอยู่อย่างอิสระ  จับเข้ามาอยู่ในอุทยาน  เลยมีปัญหาเพราะแบ่งที่ดินทำกินให้คนละ 7 ไร่

เดิมอยู่กันที่ต้นแม่น้ำเพชรบุรี  เลยให้มาอยู่ที่นี่  มีประมาณ 50 หลังคาเรือน  ให้ที่ดินทำกินครอบครัวละ 7-8 ไร่  แต่พอประชากรมากขึ้นเลยมีการบุกรุก

ต่อมามีคนอพยพมาจากพม่าก็ต้องผลักดันกลับไป

ต้นน้ำเพชรบุรีมีพื้นที่ที่จัดให้ทำเรื่องการท่องเที่ยว  ล่องเรือยางได้  แต่ก็มีพื้นที่ที่อนุรักษ์เพราะมีจระเข้น้ำจืด  ซึ่งหายากและกำลังจะสูญพันธุ์

ลุงเอก

ในหมู่บ้านมีกลุ่มเก่ากลุ่มใหม่  เข้ากันไม่ได้  มีการเผาที่พัก  มีการผลักดันให้กลับประเทศ  กะเหรี่ยงกับกะหร่างก็พูดกันไม่รู้เรื่อง  ที่ทำกินก็มีการเปลี่ยนมือไปเป็นของคนต่างถิ่น  ของนักธุรกิจ

อุทยานฯ มีพื้นที่มาก  ไม่สามารถดูแลให้ทั่วถึงได้

กิจจา อาลีอิสเฮาะ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ชื่นชมหัวหน้าชวรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ทำหน้าที่คุ้มครองป่าและดูแลคนที่อยู่  แต่ผู้นำชุมชนไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรด้านการประกอบอาชีพ  ต้องการแต่ที่ดิน  ไม่มีการเลี้ยงสัตว์  ไม่มีการทำประมง  การจะแก้ปัญหาต้องการที่ดินอีกมากจึงจะแก้ปัญหาได้

ณัฏฐ์ วัลลิโภดม ผู้อำนวยการพรรคกิจสังคม

กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้นำท้องถิ่น  อบต. ต้องเข้มแข็ง  อย่าเกรงใจคนที่บุกรุก  รุกล้ำที่ทำกิน  นายทุน

ลุงเอก

กลุ่มที่เรียกร้องที่ดินไม่ใช่คนไทย  แต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สัญชาติ  ถ้าอนุมัติให้สัญชาติถึง 500,000 คน  และต้องการที่ดินทำกิน  จะเอาที่ไหนมาให้  แล้วคนไทยล่ะ?  จะทำอย่างไร?  เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย

นฤมล ศิริวัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา

ให้ข้อมูล  NGO นำม็อบคนต่างชาติมาร้องเรียนที่ทำกินให้คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ  ซึ่งมีจำนวนมาก

สิงห์ชัย ทุ่งทอง สมาชิกวุฒิสภา

รัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการดูแลเรื่องนี้อยู่

………………………………….

………………………………….

ภาคพิเศษบนรถขณะเดินทาง

ลุงเอกให้ท่านเจ้าคุณบุญมาเล่าเรื่องราวของแถวๆนี้ให้ฟัง

ท่านเจ้าคุณบุญมา (พระราชปฏิภาณมุนี)

……..

คนเมืองเพชรจริงๆไม่กลิ้งกลอก

ที่หลอนหลอกพวกเราคือเขากลิ้ง

อันขุนเขาน้อยใหญ่ไม่ไหวติง

มีแต่ลิงตามเขาหลอกเราเอย…….

อาจารย์เล่าให้ฟังถึงเรื่องแก่งกระจานในอดีตที่มีความขัดแย้งสูง  ขัดผลประโยชน์กัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ฆ่ากัน  อาชีพมือปืนรุ่งเรืองมาก  ทางจังหวัดมีโครงการออกหน่วยก็ให้พระร่วมออกหน่วยด้วยเพื่อลดความขัดแย้ง  สมัยนั้นมีปัญหาคอมมิวนิสต์  คนที่ทำผิดกฏหมายก็หนีไปพึ่งคอมมิวนิสต์  พระก็ต้องไปคุยกับคอมมิวนิสต์

อุทยานแก่งกระจานมีขนาดใหญ่มาก  เจ้าของโครงการบางปะกงริเวอร์ไซด์  เมื่อประสบความสำเร็จก็หาซื้อที่ดินที่เกาะช้าง  แต่การคมนาคมไม่สดวกก็เลยมากว้านซื้อที่ดินที่แก่งกระจานทำโครงการแก่งกระจานคันทรี่คลับ แอนด์รีสอร์ท  ซื้อจนได้ขนาด 30,000  กว่าไร่

ลุงเอก

การศึกษาดูงานแบบนี้เหมือนการตรวจสภาวะแวดล้อม  เหมือนตอนก่อนทำยุทธศาสตร์ใหญ่ต้องทำการตรวจสภาวะแวดล้อม  แบบว่าดูจนเห็นภาพชัด  เห็นทั้งหมดเป็นภาพเลย

ท่านเจ้าคุณบุญมา

ขนมหม้อแกงไม่ใช่ของชาวเพชรแท้  มาจากอยุธยา  เพชรบุรีกับอยุธยาเป็นจังหวัดพี่จังหวัดน้องทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร  พระเจ้าเสือสมัยที่เป็นพระบรมโอรสาธิราชก็มีอาจารย์เป็นชาวเพชรบุรี  ทั้งอาจารย์แสงและสมเด็จเจ้าแตงโม  (พูดถึงขนมบ้าบิ่นด้วย)

ขนมหม้อแกงมีไข่เป็นหลักกับแป้ง  ของจริงต้องของแม่บุญล้น  ทำจนส่งออกนอก  ที่เหลือทำกันแบบอุตสาหกรรมใครอยากติดยี่ห้ออะไรก็เอาไปติดกันเอง

Post to Facebook Facebook


โครงการพระราชประสงค์หุบกระพง

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 25 กันยายน 2011 เวลา 15:50 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 3185

วันที่ 25 สิงหาคม 2554  เวลา 14.00-16.00 น.

คุณสมบัติ ตันติสังวรากูล  ผอ. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกระพง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นผู้มาต้อนรับและเล่าเรื่องราวของโครงการให้ฟัง

 

 หุบกะพง

หุบกะพงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเขาใหญ่ และตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบุรี 40 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเขตอำเขตอำเภอหัวหิน 34 กิโลเมตร  มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 12,500 ไร่ 

ความเป็นมาของโครงการ

เมื่อปี พ.ศ. 2507 พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียน และดูแลทุกข์สุขของราษฎร  ในวโรกาสนั้น พระองค์ได้ทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ว่าขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำไปประกอบอาชีพ  ให้กู้ยืมไปลงทุน เป็นจำนวนเงิน 3 แสนบาท ภายหลังไม่ปรากฏผู้ใดนำเงินจำนวนที่กู้ยืมไปทูลเกล้าถวายคืนแก่พระองค์ท่านเลย  เพราะเช่าที่ทำกินคนละ 2 ไร่  ไม่เพียงพอ  จึงทรงจัดหาที่ดินที่หุบกะพง 25,000 ไร่ ซึ่งเป็นที่แห้งแล้งมาทำเป็นศูนย์เรียนรู้  พัฒนาระบบสหกรณ์  ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอิสราเอล

ใช้การทำเกษตรแผนใหม่  โดยให้ที่ทำกินครอบครัวละ 25 ไร่  เริ่มที่ 2 ครอบครัว  คือครอบครัวจากกลุ่มเกษตรกรสวนผักชะอำและอีกครอบครัวจากเกษตรกรเดิมที่ทำกินอยู่ในเขตโครงการ  ให้กู้ยืมครอบครัวละ 10,000 บาทเป็นทุนในการประกอบอาชีพเพื่อหาข้อมูลด้านรายได้ รายจ่าย  ความเหมาะสมในการใช้แรงงานในครอบครัวกับพื้นที่ที่จัดให้ทำกิน  การปลูกพืชที่ใช้น้ำชลประทาน  ใช้น้ำฝน  สินเชื่อและการตลาด  ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การเกษตร  ปัญหาด้านสังคมเกษรกร ฯ 

ในปี 2511 จึงขยายผลให้กลุ่มปลูกผักชะอำ 82 ครอบครัวและกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอยู่เดิมอีก 46 ครอบครัวเข้าอาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ที่จัดสรรให้ครอบครัวละ 25 ไร่  จัดให้ปลูกพืชอาศัยน้ำชลประทาน 7 ไร่ และอีก 18 ไร่ ให้ปลูกพืชไร่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ และโครงการได้ให้กู้ยืมเงินครอบครัวละ 6,000 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกบ้านเรือน 1,500 บาท ส่วนที่เหลืออีก 4,500 บาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุการเกษตร และค่าใช้จ่ายในครอบครัว

ทรงแก้ปัญหาเรื่องน้ำ  โดยจัดให้มีการใช้น้ำจาก 3 แหล่งคือจากน้ำฝน  จากการสูบน้ำขึ้นที่สูงแล้วปล่อยมาตามระบบท่อ  และจากเครือข่ายอ่างเก็บน้ำที่เชื่อมต่อกันด้วยระบบท่อซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ

ในแนวคิดดังกล่าวจะเป็นการรวมตัวในระบบสหกรณ์ที่จะร่วมกันคิด  ร่วมทำและร่วมพัฒนา  ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง  การรวมตัวเป็นสหกรณ์ทำให้มีอำนาจในการต่อรองทั้งการจัดซื้อสิ่งขิงจำเป็นต่อชีวิตและการเกษตร  การขายผลผลิต  มีการฝากเงินและระบบการกู้ยืมเงิน

ทรงศึกษา  ทดลองทำ  นำไปปฏิบัติแล้วขยายผล  มองทั้งหมดในภาพรวมและทำงานอย่างเป็นระบบ

ที่ดินก็ไม่ให้เป็นกรรมสิทธิถือครองแต่ให้ใช้ไปชั่วลูกชั่วหลาน  แต่ก็ยังมีการเปลี่ยนมือกัน  พระองค์ท่านก็ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้แก้ปัญหาอย่างประนีประนอม  คือถ้ามีการเปลี่ยนมือก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นผู้เช่า

บทเรียนจากการศึกษาดูงานโครงการพระราชประสงค์หุบกะพง

ในการทำงานให้มองภาพรวมของงานทั้งหมด  แล้วทำอย่างเป็นระบบอย่างสอดคล้องกัน  ไม่แยกส่วนทำ

ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้  เริ่มจากการศึกษา  ทดลองทำ  ปฏิบัติแล้วจึงขยายผล

โครงการของพระองค์ท่านที่ให้ที่ทำกินชั่วลูกชั่วหลานยังมีการเปลี่ยนมือ  จึงไม่น่าแปลกใจกับการบุกรุกทำลายป่า

  

Post to Facebook Facebook


เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 18 กันยายน 2011 เวลา 22:05 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 16906

เขากลิ้ง1

เป็นเรือนจำเปิดสำหรับนักโทษที่เหลือโทษน้อยจะได้ปรับสภาพก่อนกลับเข้าสู่สังคม ตั้งอยู่ที่ ต.วังจันทร์ อ. แก่งกระจาน  จ.เพชรบุรี  พื้นที่เป็นป่าสะเดาอนุรักษ์ไว้เป็นทรัพยากรธรรมชาติ  มีนักโทษ 104 คน  เจ้าหน้าที่ 8 คน  พื้นที่ 600 ไร่

ผู้ที่มาบรรยายสรุปคือคุณมิตรารุณห์ พรหมอินทร์ หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง  มีการตกลงกับญาติว่าถ้าหลบหนี ทางครอบครัวต้องเสียค่าปรับ  ยังไม่มีการหลบหนีเลย

มีโครงการเยี่ยมพิเศษเพื่อครอบครัวโดยให้ครอบครัวมาอยู่ร่วมด้วยได้สัปดาห์ละ 1 วัน  โดยให้พักที่วิมานดิน

จากเดิมเรือนชำชั่วคราวเขากลิ้งนี้ไม่มีใครสนใจ  เจ้าหน้าที่ก็เป็นพวกมีปัญหา  โดนย้ายมาอยู่ในป่า  ภายหลังทางเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งก็ใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเปลี่ยนภาพลักษณ์ในอดีตได้ 

ปัจจุบันเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่ได้ใช้งบประมาณเลย  โครงการต่างๆดูแลตัวเองได้  มีห้องสมุดบ้านดินที่ให้บริการบุคคลภายนอกด้วย  เป็นสถานที่อบรมดูงานและให้ความรู้กับประชาชนที่สนใจอย่างต่อเนื่อง

ฐานการเรียนรู้ที่เด่นๆมีเรื่องบ้านดิน  อาคารเกือบทั้งหมดของที่นี่สร้างแบบบ้านดิน  มีการฝึกเป็นอาชีพให้นักโทษซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษได้

เขากลิ้ง 2

นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้อีกมากมาย  เช่น

  • การปลูกดอกมะลิปลอดสารพิษ
  • การอนุรักษ์แย้
  • เกษตรปราณีต (1 ไร่ไม่จน)
  • เตาถ่านดินและโรงกรองน้ำส้มควันไม้
  • เตาตาลกลั่นสมุนไพรไล่แมลง
  • การเลี้ยงกบ
  • การเลี้ยงหมูหลุม
  • การผลิตปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพ
  • การเลี้ยงกระต่ายสวยงาม
  • การผลิตน้ำมันไบโอดีเซล
  • การเลี้ยงหมูป่า

เขากลิ้ง 3

  • การเพาะเห็ด
  • การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน
  • การเลี้ยงปลาน้ำจืด
  • บ่อก๊าซชีวภาพ
  • การเลี้ยงแพะเนื้อ
  • การเลี้ยงวัวพื้นบ้าน
  • การทำหัตถกรรมไม้ไผ่
  • เตาประสิทธิภาพสูง
  • การเลี้ยงไก่ดำในป่าไผ่
  • บ้านดินคาร์แคร์
  • ร้านกาแฟ ร้านบาร์เบอร์บ้านดิน

เขากลิ้ง 4 

หลังจากดูงานก็นั่งคุยกันมาบนรถ  ประเด็นคือ

เรือนจำทั่วประเทศก็อยู่ภายใต้กฏระเบียบกติกาเดียวกัน  ทำไมเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งทำได้ถึงขนาดนี้  ทำไมเรือนจำอื่นๆถึงทำไม่ได้  ก็เหมือนกรณีหน่วยงานกระทรวงเดียวกัน  ทำไมบางหน่วยงานมีผลงานน่าประทับใจมาก  แต่ขณะที่หน่วยงานประเภทเดียวกันถึงมีผลงานที่ยอดแย่ ???

 

Post to Facebook Facebook


พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 18 กันยายน 2011 เวลา 20:51 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 3796

ถ้ำหิน

พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถุ้ำหิน  ตั้งอยู่บ้านถ้ำหิน  หมู่ที่ 5 ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี  อยู่ในหุบกระท้อน  มีลำห้วยน้ำขุ่นไหลผ่าน  ห่างจากชายแดนประมาณ 10 กม.

เนื่องจากมีการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกะเหรียงตามแนวชายแดนไทย-พม่า  ด้านอำเภอสวนผึ้ง  รวมผู้หนีภัยจากการสู้รบจำนวนประมาณ 8,000 คนในพื้นที่ 40 ไร่

กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) และ NGO ต่างๆ เช่น TBBC (Thailand Burmese Border Consortium), IRC (International Rescue Committee)  ฯลฯ   มีการจัดระเบียบประชากร  จัดทำทะเบียน  จัดระบบการอยู่อาศัย  มีการคัดเลือกกรรมการบริหารผู้หนีภัยจากการสู้รบ  มีชุดรักษาความปลอดภัยประจำพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน  มีการจัดระบบสุขาภิบาล  การรักษาพยาบาล  การรักษาความสงบเรียบร้อย  ดำเนินการด้านการศึกษาแก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ  มีการจัดโครงการนำร่องการคัดกรองผู้หนีภัยสัญชาติพม่าที่เข้ามาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวเพื่อส่งไปประเทศที่ 3

มีการส่งไปประเทศที่ 3 แล้วเป็นจำนวนมากแต่จำนวนก็ไม่ได้ลดลงเลย บุตรที่คลอดในประเทศไทยในกรณีผู้หลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าว และผู้หลบหนีภัยการสู้รบไม่ได้สัญชาติไทย

ข้อสังเกตของนักศึกษาต่อการศึกษาดูงานพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหินคือ

  • ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศที่ 3 ที่รับผู้หนีภัยจากการสู้รบก็มักจะเลือกคนที่มีความรู้  มีการศึกษา  แล้วที่เหลือปล่อยให้เป็นภาระของประเทศไทยต่อไป  ภายในที่พักพิงก็ขาดคนที่มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยดูแลกันเอง
  • ระบบราชการไทยดูแลไม่ไหว  มี NGO 9 องค์กรมาช่วยกันดูแล  แบ่งกันดูแลด้านสุขภาพ  ระบบสุขาภิบาล  การศึกษา ฯ
  • ประเทศไทยจะเป็นม้าอารี  ช่วยเหลือผู้อื่นทั้งๆที่ตัวเองก็มีปัญหา  มีโรคระบาดมากับกลุ่มแรงงานต่างชาติ  ผู้หนีภัยการสู้รบ
  • ระบบบริหารจัดการในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
  • มีการอพยพเข้ามาเพิ่มไหม?
  • มีความแตกต่างระหว่างผู้หลบหนีเข้าเมืองกับผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบอย่างไร?
  • อนาคตทางการเมืองของพม่าจะมีผลต่อนโยบายด้านนี้  เช่นกลุ่มที่ต้องการเป็นอิสระ  ถ้าเหตุการณ์ในพม่าสงบลง  มีการอพยพกลับประเทศ  จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย?

Post to Facebook Facebook


พูดคุยซักถามภาครัฐ - สวนผึ้งโมเดล

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 18 กันยายน 2011 เวลา 16:43 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 2776

ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร

ขอถาม 2 ข้อ

  1. ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จะดำเนินการอย่างไร?
  2. ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มต่อต้านอะไรไหม?

พลตรี วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์

ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่มี

  1. นักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น
  2. นายทุน
  3. กลุ่มข้าราชการ - มีทุกเหล่าทัพ

แต่ตอนนี้ทั้งหมดเริ่มถอย  เริ่มมีการยอมรับกันเพราะใช้กฏหมายเป็นหลัก  มีหลักฐานชัดเจนภาพถ่ายทางอากาศ  ภาพถ่ายดาวเทียม  ที่ยังดื้อๆก็มี  ก็ไปหาท่านผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ

สุดท้ายศาลจะเป็นผู้ที่ชี้ความถูกผิด  แต่ก็อยู่กับการรวบรวมพยานหลักฐาน  ผู้มีอืทธิพลสุดท้ายก็มีการจัดการแน่ๆ  แต่ช้าเร็วต่างกัน  ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม

กลุ่มต่อต้านมีการรวมกลุ่มปิดถนน  ต่อต้าน  กลุ่มต่อต้านมีการใช้วิทยุสื่อสาร  แจ้งเหตุ  กรณีมีเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ก็มการส่งข่าวกัน

วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัท การบินไทย จำกัด

  1. มาตรการการผลักดันผู้ที่บุกรุกออกจากพื้นที่ใช้แบบเดียวกันไหม?  …..คนไทย  คนไม่ปรากฏสัญชาติ
  2. การพิจารณาพื้นที่ส่วนต่างๆเช่นแนวลาดเอียง 19 องศา  หรือ 35% ทำอย่างไร?

พลตรี วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์

  1. การดำเนินคดี  ถ้ามีการตัดสินของศาลก็จะมีผลกระทบ  มีการเปลี่ยนแปลงโดยรอบ  มีการเจรจา  ถ้าเชื่อก็จบ  ถ้าไม่เชื่อก็ดำเนินการ  กรณีคนไม่ปรากฏสัญชาติใช้ศาลคือจับส่งตำรวจ ศาลก็ให้ออกจากประเทศ  แต่อีก 3 เดือนก็กลับเข้ามาใหม่  มีปัญหาการระบุตัวบุคคล
  2. การดูความลาดเอียง  กรณีความลาดเอียงสูงก็ไม่ให้ใช้ทำการเกษตร  ถ้าใช้แผนที่ 1:50,000 ก็จะมีเส้น Contour  ต่างกันที่ระดับ 20 เมตร

มุม 45 องศา  คือ 100 %

มุม 19 องศา  คือ  35%

จะสัมพันธ์กับเรื่องลุ่มน้ำด้วย

วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัท การบินไทย จำกัด

มีการใช้เครื่องจักรปรับความลาดเอียงในพื้นที่ไหม?

พลตรี วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์

ให้ดูหลักเขตพื้นที่กายภาพปี 2538 ก่อน  ดูเรื่องลุ่มน้ำด้วยถึงจะมาใช้ความลาดเอียง  แต่ก็มีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมเป็นหลักฐาน

กฤษณะเดช โสสุทธิ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง

ถ้ามีการเลือกปฏิบัติกรณีมีผู้บุกรุก  กระทำผิดก็ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี  การโต้แย้งสิทธิ  มีการพิสูจน์สิทธิอย่างไร?

กรณีสวนผึ้งโมเดลการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอย่างไร?  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมไหม?

พ.ต.ท. วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม

ประชาชนเป็นผู้บุกเบิก?  นายทุนเป็นผู้บุกรุก  หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแล  หน่วยงานที่บังคับใช้กฏหมายน่าจะเน้นที่นายทุนมากกว่าประชาชน

นิพนธ ตั้งแสงประทีป บรรณาธิการข่าว ศูนย์ข่าวอันดามัน สำนักข่าวไทย บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)

ทำไมไม่มีการดำเนินการที่จอมบึง ?

ดร. แสนศักดิ์ ศิริพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและชุมชนสัมพันธ์  มห่วิทยาลัยราชภัฏสงขลา

เยาวชนไปศึกษาแล้วกลับมาท้องถิ่นเดิม  ถ้าพื้นที่มีปัญหาแบบนี้  เยาวชนจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้อย่างไร?  มีการมองเรื่องนี้ไหม?

กชวรรณ เขมะประสิทธิ์ อุปนายกสมาคมรถร่วมบริการประชาชน

กชวรรณ1

อยากให้ชี้แจงระยะเวลาในสัญญาการเช่า  ทำไมให้ 3 ปี  ทำไมไม่ให้นานกว่านี้

พลตรี วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์

เกณฑ์การกำหนดลุ่มน้ำชัดเจน  ชั้น 1 A,  ชั้น 2……ชั้น 4 ก็ให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยได้  กฏหมายตั้งแต่สมัยอยุธยาก็ห้ามการใชีพื้นที่บนเขา  ในการชี้แจงประชาชนจะถูกก่อกวนตลอด  ในพื้นที่ต้องแยกแยะ  ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร? เมือส่วนหนึ่งก็เป็นผู้บุกรุกเสียเอง  แต่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ

มีทั้งที่ถูกต้อง  มีกลุ่มอนุรักษ์ที่ถูกคุกคาม  แต่ก็เป็นพลังเงียบที่มีมากขึ้นทุกที ที่ปากช่องจะรุนแรงกว่านี้  มีทหารนอกแถวด้วย  จอมบึงก็มีการดำเนินการแต่ส่วนมากเป็นพื้นที่ราบ

ณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

มีการต่อต้านจากชาวบ้าน  แต่ก็มีพลังเงียบที่ช่วยอนุรักษ์  พยายามดำเนินการรายใหญ่ที่บุกรุกบนเขาก่อน  รายเล็กทีหลัง  พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าผู้บุกรุก

ระยะหลังนี้การต่อต้านน้อยลง  รอการเช่าและรอกฏหมายใหม่  เริ่มมีสภาประชาชน  เป็นการเปิดให้มีส่วนร่วม  แต่คณะกรรมการพิจารณาการเช่าก็ยังมีแต่ภาครัฐอยู่

นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็เริ่มให้ความร่วมมือดีขึ้นมาก  มีการตักเตือนเจ้าหน้าที่ทหารบางคนที่แตกแถว

เรื่องของเยาวชนที่กลับใส  ก็จะมาทำธุรกิจร้านกาแฟ  รีสอร์ท  กลับมาเป็นครู อาจารย์ มีเครือข่าย  มีการตั้งมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์  - www.rabbitinthemoon.org

ปัญหาเกิดจากชาวป่าหรือชาวเรากันแน่?

คุณวิเชียร คุตตวัส

เครือข่ายเยาวชนต้นกล้า เริ่มจากปัญหาในโรงเรียน  3 ปีแรก  ปีที่ 4 เริ่มออกสู่ปัญหาภายนอก  มีกลุ่มที่ได้รับรางวัล”ลูกโลกสีเขียว”  ดูได้จากรายการ “ทุ่งแสงตะวัน”

พลตรี วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์

พื้นที่ป่าหวาย มีชาวบ้านกว่า 400 ราย  ไม่ประสงค์จะเช่า  มี พรฎ. ตั้งแต่ปี 2481  แผนที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี   2495

ช่างสำรวจจากกรมธนารักษ์

สัญญาเช่าชั่วคราว 3 ปีเป็นอำนาจท่านผู้ว่าราชการจังหวัด  รีสอร์ทไดรับการผ่อนปรนอาจขอทำสัญญา 10 ปีได้  ตอนนี้ก็ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม  ถ้าจะนำไปค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารก็ยินดีขยายสัญญาเป็น 20 ปีให้

เผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวนการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

อยากถามกรมธนารักษ์  ด้านเทคนิค  วิธีคิดมุมลาดชัน  ถ้าคิดจากการยิงจากยอดเขา  จะได้ความแม่นยำมากกว่า

พันเอก ดร. พิเชษฐ คงศรี นายทหารปฏิบัติการกองบัญชาการกองทัพไทย

สวนผึ้งโมเดลอยู่ในความดูแลของทหาร  ไปอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ  ปัญหาในอนาคตจะมีการไหลเข้ามาของประชาชน  จะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น  เป็นห่วงพลตรี วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์ในปัญหางบประมาณ  สวนผึ้งโมเดลน่าจะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ  รวมทั้งการวางแนวเขตที่ชัดเจน

นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

เราเพิ่งมีภาพถ่ายดาวเทียมของเราเอง  ใช้ประโยชน์ได้ไหม?  มีการสำรวจข้อมูลประเด็นความเสี่ยงในพื้นที่ไหม?  เปรียบเทียบกับการเข้าทำกินของประชาชน

พล.ต.ต. นายแพทย์ อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ รองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ

ค่าเช่า 4 บาท/ตารางเมตรถูกไปไหม?  (ความจริงเป็นค่าเช่าต่อเดือนซึ่งค่อนข้างแพง..สุธี)  ผู้ประกอบการน่าจะมีประเด็น CSR

น้ำตกทหารมีส่วนช่วยดูแลไหม?

เกียรติเกริกไกร ใจสมุทร รองเลขาธิการมูลนิธิอัศนี พลจันทร(นายผี)

กรณีการร่างพรบ.การบริหารจัดการที่ดินสงวนหวงห้ามของรัฐ พ.ศ….  ทหาร  ฝ่ายปกครอง  ประชาชน  มีส่วนร่วมไหม?

พ.อ. มนิต ศิริรัตนกุล เสนาธิการกองพลพัฒนามี่ 1

ประเด็นน้ำตกเก้าชั้นทางจังหวัดกับกองพลพัฒนาที่ 1 ก็จะเริ่มเข้ามาดูแลเรื่องน้ำ   การต่อท่อนำน้ำไปใช้ในระดับบนๆจะไม่ให้ทำ

ขุมเหมืองเดิมจะให้เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ  ให้ อบต. ดำเนินการดูแล

ณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

ประเด็นการไหลเข้ามาของนายทุน  หลักเกณฑ์ต้องทำประโยชน์มาก่อนจึงจะเช่าได้  โอกาสคนใหม่เข้ามาน้อยมาก  แต่โอกาสเปลี่ยนมือมีสูง

มีการจัดโซนนิ่ง  พื้นที่เสี่ยงภัยก็จะไม่ให้เช่า  น้ำป่าไหลหลาก  ดินถล่ม  มีการเฝ้าระวังและมีการซ้อมแผน

การดูแลน้ำตกจะมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

พลตรี วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์

ดาวเทียมไทยที่ทำการสำรวจอยู่ค่อนข้างหยาบ  แต่ภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารจะมีความละเอียดสูง

พรบ.การบริหารจัดการที่ดินสงวนหวงห้ามของรัฐ พ.ศ….ที่กล่าวถึง  หน่วยราชการต่างๆรวมทั้งทหารก็มีส่วนร่วม  ตอนนี้ผ่าน สส. ไปที่วุฒิสภา  เสนอก่อนยุบสภาฯ 10 วัน

ท่านเจ้าคุณบุญมา พระราชปฏิภาณมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส

อำเภอสวนผึ้งเปลี่ยนไปหมดแล้ว  ปี 2511 มาเยี่ยมลูกศิษย์แถวนี้  ซึ่งนิยมคอมมิวนิสต์  สมัยก่อนพระต้องฝึกเดินธุดงค์ก็มาเดินธุดงค์แถวนี้  ก็มีโอกาสชักชวนผู้ที่นิยมหลักการให้เข้าไปช่วยในเมือง

เดิมคนจะเดินข้ามเขามา  สภาพชีวิตไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า  ไม่มีการระเบิดภูเขา

สมัยปี 16  นักธุรกิจเริ่มเข้ามา  มีการตัดไม้ทำลายป่า  เห็นรถบรรทุกไม้  มีคนมาทำเหมืองแร่  นำแร่จากสวนผึ้งไปญี่ปุ่น

การล่องน้ำภาชีต้องใช้แพ  เดิมมีต้นผึ้ง  มีผึ้งหลวง  มีน้ำผึ้งแต่ปัจจุบันไม่มีเหลือแล้ว

“ถ้าจะเอาน้ำผึ้ง อย่าไปเตะรวงผึ้ง  ถ้าเตะรวงผึ้งจะอดกินหมด”

Post to Facebook Facebook


สวนผึ้ังโมเดล: โมเดลเพื่อการจัดการปัญหาบุกรุกที่ดิน - มุมมองภาครัฐ

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 18 กันยายน 2011 เวลา 10:55 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 2260

9.30-12.00 น.  วันที่ 24 สิงหาคม 2554  โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

พลตรี วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์ ผู้แทนเจ้ากรมการทหารช่าง จ.ราชบุรี

สวนผึ้งโมเดล (Small)

เป็นการดูแลพื้นที่ราชพัสดุทะเบียน รบ. 553  เป็นพื้นที่ป่าถึง 80% และมีผู้ที่อาศัยอยู่เดิม  ทางกองทัพบกได้ใช้เป็นพื้นที่ฝึกซึ่งพื้นที่ฝึกมีน้อยลงทุกวัน  พื้นที่นี้มีปัญหาด้านความมั่นคงด้วย

พื้นที่นี้เป็นต้นน้ำของแม่น้ำภาชี  เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

การดำเนินการสวนผึ้งโมเดล  แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน  คือ

  1. ขั้นเตรียมการ
  2. ขั้นดำเนินการ
  3. ขั้นฟื้นฟู

ขั้นเตรียมการ

มีการปรึกษาข้อกฏหมาย  ทางอัยการเป็นที่ปรึกษาทางกฏหมาย  มีการหาข้อมูล  ประวัติที่ดิน  แผนที่ประกอบรวมทั้งภาพถ่ายทางอากาศ  มีการอบรมให้ความรู้ด้านกฏหมายและการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์  การทำงานเป็นการทำงานแบบบูรณาการ  มีหน่วยราชการเกือบทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

ขั้นดำเนินการ

มีการบอกกล่าว  แจ้งเตือน  ให้ออกจากพื้นที่ ปักหลักหมุดเขตพื้นที่กายภาพในสถานที่จริง  มีการรวบรวมพยานหลักฐาน  ร้องทุกข์กล่าวโทษ  การดำเนินคดีมีทั้งการเจรจาไกล่เกลี่ย  และต่อสู้คดี  คดีทั้งหมด 25 คดีมียกฟ้องไป 1 คดี  ตัดสินไปแล้ว  18 คดี

ขั้นฟื้นฟู

มีการปลูกต้นไม้หรือปลูกป่าทดแทน  มีการสร้างฝายชะลอน้ำ  การเฝ้าระวังและการใช้ประโยชน์จากป่า

ปัจจุบันร่าง พรบ.การบริหารจัดการที่ดินสงวนหวงห้ามของรัฐ พ.ศ….  ก็ผ่านสภาแล้ว  ต้องเดินสายชี้แจงหน่วยขึ้นตรงของกองทัพบก  เกี่ยวกับสวนผึ้งโมเดลเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

พ.อ. มนิต ศิริรัตนกุล เสนาธิการกองพลพัฒนามี่ 1

กองพลพัฒนาที่ 1 เป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพภาคที่ 1  รับผิดชอบฝั่งซ้ายของถนนไปจนถึงแนวชายแดน  พื้นที่รับผิดชอบทั้งหมดประมาณ 170,000 ไร่

ในปี พ.ศ. 2536-2538  ทางกองทัพบกกับกรมธนารักษ์ได้ร่วมกันปักหมุดเขตพื้นที่กายภาพ  มีการอนุโลมให้ทำกินได้ถ้าทำกินมาก่อนที่จะประกาศ  แต่ประชาชนไม่ยอมรับวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ซึ่งในข้อเท็จจริงอาจมีการตกสำรวจ  ซึ่งก็สามารถมาแจ้งได้  ก็จะมีการพิสูจน์สิทะฺกัน  แต่ก็ไม่มีคนมาแจ้ง

ปัญหาที่เกิดขึ้น  ประชาชนจะอ้างภบท. 5 หรืออ้างว่ากำลังจะยื่นเช่า  รวมทั้งการชี้แจงของเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่ได้เป็นแนวทางเดียวกัน

ข้าราชการต้องปฏิบัติตามระเบียบกฏหมาย  ถ้าอยู่ในเขตพื้นที่กายภาพมาก่อนก็สามารถมายื่นเช่าได้  มีการออกชี้แจงทำความเข้าใจ  ถ้าเชื่อฟังก็ไม่มีปัญหา  ถ้าขัดขืนก็ใช้กฏหมาย

ในการขอยื่นเช่าจะให้ผู้ยื่นเช่ามารับฟังคำชี้แจงเพื่อแก้ปัญหา “ ขาดเจตนา” ระยะหลังนี้ทัศนคติของประชาชนก็เปลี่ยนไป  ยอมรับการเช่าแต่ต้องการให้สัญญาเช่ามีระยะเวลาที่นานขึ้น  คือมีตั้งแต่ไม่ยอมเช่า  อ้างสิทธิจะเอาเอกสารสิทธิอย่างเดียวกับยอมเช่าแต่ขอสัญญานานขึ้น

ณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

พื้นที่ที่พูดถึงคือ รบ.553 หมายถึงพื้นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน รบ.553 อ.จอมบึง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี  ซึ่งทางราชพัสดุได้มอบให้กรมการทหารช่างและกองพลพัฒนาที่ 1 ดูแล

คนที่อยู่ดั้งเดิมมากับธุรกิจเหมืองแร่ซึ่งเลิกไปแล้ว  ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวและทำการเกษตรกัน  จึงมีปัญหาเรื่องที่ดิน น้ำ  ในสังคมพหุวัฒนธรรม

ปัญหา

  1. การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.๕)
  2. การตีความ “ขาดเจตนา”
  3. ประชาชนไม่ทราบแนวเขตพื้นที่กายภาพ
  4. การทำงานของทางราชการไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
  5. กลุ่มนายทุนต้องการพื้นที่ประกอบธุรกิจ
  6. ประชาชนไม่เห็นด้วยกับ พรฎ. 2481
  7. ขาดการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ

ข้อเท็จจริงมีการใช้พื้นที่ในทางเกษตรกรรมซึ่งใช้ปลูกสวนยางและปาล์มน้ำมันมากกว่ารีสอร์ท  สวนผึ้งมีปัญหาจำนวนมากกว่า 4,000 ราย  พื้นที่มากกว่า 100,000 ไร่

แนวทางการแก้ไขปัญหา

  1. ให้ผู้ที่ถือครองที่ดิน (1,029) รายพิสูจน์สิทธิ  ถ้ามีสิทธิก็ออกเอกสารสิทธิให้
  2. ถ้าไม่มีสิทธิก็ต้องแจ้งขอเช่า  ซึ่งสามารถดำเนินการได้
  3. ถ้าไม่ยอมพิสูจน์สิทธิ  ไม่ขอเช่าก็ต้องดำเนินคดี

มีคณะกรรมการและมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เช่า  มีการจัดทำเสาหลักเขต แนวเขตพื้นที่กายภาพ  ส่วนมากก็จะให้เช่าถ้าถูกต้องตามหลักเกณฑ์  อาจมีการให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์การเช่าให้ตรงกับข้อเท็จจริงเพราะอัตราค่าเช่าแตกต่างกันมาก  และในกรณีที่บุกรุกพื้นที่ต้นน้ำก็ไม่สามารถให้เช่าได้  ต้องให้ออกจากพื้นที่ไป

พ.ต.อ. ศิรเมศร์ พันธุ์มณี รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี

ก่อนหน้าสวนผึ้งโมเดล  มีการยกฟ้องคดีจากประเด็น”ขาดเจตนา”

ในการซื้อขายที่ดิน  คนซื้อก็มีสัญญาซื้อขาย  มีกำนันผู้ใหญ่บ้านเซ็นเป็นพยาน  มีใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.๕)   ก่อนที่จะเปลี่ยน นส. 3 เป็นโฉนด  เริ่มจาก ภบท.๕

เดิมมีปัญหาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  สวนผึ้งโมเดลก็ยังมีปัญหาเพราะมีการดำเนินการแต่เฉพาะรายเล็ก    ถ้าดูหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศและหลักฐานจาก อบต.ก็พอจะทราบเจ้าของทีแท้จริง

ในทางปฏิบัติ กำนันผู้ใหญ่บ้านจะเป็นคนชี้จุด  ไม่ได้ใช้ GPS  ในการดำเนินคดีต่อไปต้องมีหลักฐานข้อมูลที่ชัดเจน

ช่างสำรวจจากกรมธนารักษ์

เวลามีคดีต้องทำแผนที่ประกอบคดีและไปให้การในศาล  สวนผึ้งโมเดลมีแนวทางการเจรจาประนีประนอม  ใช้ทั้งรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์  มีการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน  มีการบูรณาการ

คนที่อ้างสิทธิการครอบครองต้องการเอกสารสิทธิก็สามารถพิสูจน์สิทธิ  ทั้งนี้ก็มีหลักฐานภาพถ่ายดาวเทียม  ภาพถ่ายทางอากาศ  ถ้าถูกต้องก็ออกเอกสารสิทธิให้

ถ้าไม่สามารถออกเอกสารสิทธิให้ได้ก็สามารถขอยื่นเช่า  ถ้าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมือแรกค่าเช่าจะถูก เช่น 20 บาท/ไร่/ปี  ถ้าเปลี่ยนมือค่าเช่าจะเปลี่ยนเป็น 200บาท/ไร่/ปี  เป็นต้น

รีสอร์ทอัตราค่าเช่าคิดเป็นพื้นที่ใช้สอย  ที่ตั้งอาคารคิด 4บาท/ตารางเมตร/เดือน  ที่เหลือก็คิด 75 สตางค์/ตารางเมตร/เดือน  แต่ก็มีการต่อรองอัตราค่าเช่า

Post to Facebook Facebook


ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (3)

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 16 กันยายน 2011 เวลา 1:19 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 1949

กิจจา อาลีอิสเฮาะ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

มีความเห็นต่าง  เมื่อวานที่ฟังจะมี 2 ส่วน  ส่วนแรกก็เป็นภาคธุรกิจ  ภาคผู้ประกอบการ 3 ท่านมาพูดให้เราฟัง  ส่วนที่ 2 ก็เป็นภาคพลเมือง  ภาคประชาชนในพื้นที่

มองลึกลงไปจะเห็นความกังวลของทั้ง 2 ฝ่าย

ฝ่ายผู้ประกอบการเข้ามาตั้งแต่ปี 2538  หลังจากนั้นก็มีปัญหากับกรมธนารักษ์  เคยทำคดีประเภทนี้  เช่นที่กองบิน  ประจวบคีรีขันธ์  และคดีที่ดินที่จังหวัดกาญจนบุรี   เดิมกรมธนารักษ์ก็เข้ามาประกาศเวนคืนที่ดิน สักพักทางทหารก็มาขอใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่มีผู้ประกอบการเกษตรก็ดี  เลี้ยงสัตว์ก็ดี  ผู้ที่ทำกินอยู่เดิมก็จะถูกขับไล่โดยฝ่ายทหารอ้างว่าจะใช้ประโยชน์  เมื่อประกาศลักษณะแบบนี้ผู้ประกอบการจะเสียประโยชน์  เมื่อวานพอพูดถึงเรื่องทหาร  แต่ละคนเกิดความกังวล  บอกว่าผมไม่ได้พูดนะ  ฉันไม่ได้พูดนะ

ปัญหาของชาวบ้าน ถ้าเป็นแค่เรื่องของกรมธนารักษ์  เป็นเรื่องของการเช่าก็ยินดี  แต่อยากให้ผูกพันเรื่องค่าเช่าหลายๆปี  แต่ถ้า 3 ปีนี่มีปัญหาแน่นอน

สุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ  สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมื่อวานนี้ประทับใจที่มีการพูดคุยกันท่ามกลางปัญหาและตกลงกันได้ในที่สุดว่า จะหาทางออกด้วยกัน  เป็นวิธีการที่ดี  ปัญหาคือเมื่อตกลงกันได้จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร?  ในระหว่างที่นำไปสู่การปฏิบัติ  จะเกิดปัญหาความขัดแย้งอะไรกันอีกหรือไม่?  จะจัดการอย่างไร?

นายแพทย์เล็ก ทวีเติมสกุล เลขาธิการมูลนิธิสหพันธ์สันติภาพสากล (ประเทศไทย)

เล็ก

ปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาของการใช้ทรัพยากร

ทรัพยากรทั้งหลายโดยธรรมชาติเป็นของส่วนรวม  ไม่มีใครมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของเพราะเราไม่ได้เป็นคนสร้าง  ในการที่จะแบ่งสรรปันส่วนและการจะอยู่ร่วมกันของคน  ถ้าจะให้เกิดสันติสุขได้และไม่ขัดแย้ง  มีพื้นฐานอยู่ 3 ประการด้วยกัน

  1. การอยู่ร่วม (Coexcistence)
  2. การเติบโตพัฒนาร่วมกัน (Co-Prosperity)
  3. ความชอบธรรมร่วมกัน (Corighteousness)

การอยู่ร่วม  เราทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน  มีชีวิตรอดอยู่ร่วมกันได้อย่างพอเพียงบนพื้นฐานร่วมกัน

การเติบโตพัฒนาร่วมกัน  ไม่มีใครอยากอยู่อย่างยากจน  ทุกคนต้องการความเจริญ  การพัฒนาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ทุกคนมีสิทธิที่จะเติบโตและพัฒนาไปร่วมกัน

ความชอบธรรมร่วมกัน  ถ้าปราศจากความชอบธรรมโดยถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักแล้ว  ปัญหาก็จะเกิดขึ้น  ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน  ความขัดแย้งมันมาในมิติของอำนาจ  คือของที่เป็นธรรมชาติ  ใครจะมีสิทธิที่จะไปครอบครอง  คนที่ครอบครองเป็นคนที่มีอำนาจ  มันมาบนพื้นฐานของอำนาจรัฐและอำนาจรัฐก็จะถูกใช้เพื่อตั้งกติกา

บริบทของอำนาจและความมีสิทธิในการเป็นเจ้าของต้องมาบนพื้นฐานของความเป็นธรรม  ถ้าหากว่าไม่มีคุณธรรมหรือไม่มีธรรมะเป็นแก่นโดยใช้ความเห็นแก่ตัวเป็นหลัก  ก็จะเกิดความขัดแย้ง  ประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือคนที่จะสามารถบริหารจัดการความขัดแย้ง  จะต้องเริ่มจากคนที่มีอำนาจและบริหารอำนาจและใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม

ถ้าไม่มีการแก้ไขในระบบของกฏหมาย   กฏหมายเป็นกติกาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้เกิดระเบียบที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย    ถ้ากฏหมายมีปัญหา  โครงสร้างมีปัญหา  ผู้ใช้กฏหมายหรือใช้อำนาจไม่ยืนอยู่บนความเป็นธรรม  ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้น

ต้องมองดูว่าธรรมชาติหรือทรัพยากรทั้งหมดทุกคนมีสิทธิใช้ร่วมกันเพื่ออยู่อย่างมีความสุข  และพัฒนาไปร่วมกันอย่างมีความสุขและบนกติกาของความเป็นธรรม

ปัญหาที่มีการรวมตัวของชุมชนและเรียกร้องเพราะไม่มีอำนาจอยู่ในมือ  จึงต้องเริ่มต้นจากตรงนั้น  การแก้ไขปัญหาถ้าภาครัฐซึ่งถืออำนาจอยู่ในมือ  สามารถกำหนดกฏกติกาได้  ไม่เข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้ก็จะเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปเรื่อยๆ

ภาครัฐก็ดี  ภาคเอกชนผู้ประกอบการก็ดีจะต้องเข้ามามีเวทีร่วมกัน  ภาครัฐควรจะต้องเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้  จัดการให้มีการพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาในการปฏิบัติต่อไป

ลุงเอก

พูดเรื่องพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งให้ไว้เรื่องที่ดินที่ประชาชนอยู่ติดกับที่มานานแล้วมาออกกฏหมายครอบที่ดินต่างๆ  เดิมที่ดินไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่มีผู้จับจองทำกินมาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสไว้ว่า

“ …กฏหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง  มิใช่ว่ากฏหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน  ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชน  ก็กลายเป็นเผด็จการ  กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก  ในทางตรงข้าม กฏหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลหมู่มากมีเสรีและอยู่ด้วยความสงบ  บางทีเราตั้งกฏหมายขึ้นมาก็ด้วยวิชาการที่ได้จากต่างประเทศ  เพราะว่าวิชาการกฏหมายนี้  ก็เป็นวิชาการที่กว้างขวางจึงต้องมีอะไรทำอย่างหนึ่ง  แต่วิชาการนั้นอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือท้องที่ของเรา  บางทีเคยยกตัวอย่างมาเกี่ยวกับที่ดิน  เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของประชาชนที่อยู่ห่างไกล  ซึ่งเราเอากฏหมายไปบังคับประชาชนเหล่านั้นไม่ได้เพราะว่า…เป็นความผิดของตัว เอง เพราะการปกครองไม่ถึงประชาชนที่อยู่ห่างไกลจึงไม่สามารถที่จะทราบถึงกฏหมาย  ความบกพร่องก็อยู่ที่ทางฝ่ายที่บังคับกฏหมายมากกว่าฝ่ายที่ถูกบังคับ  ข้อนี้ควรจะถือเป็นหลักเหมือนกัน  ฉะนั้น…ต้องหาวิธีที่จะปฏิบัติกฏหมายให้ถูกต้องตามหลักของธรรมชาติ…

…ในป่าสงวนซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นไว้ว่าเป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนก  แต่ว่า เราขีดเส้นไว้ประชาชนก็มีอยู่ในนั้นแล้ว  เราจะเอากฏหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่อยู่ในป่าที่ยังไม่ได้สงวนแล้วไปสงวนที หลัง  โดยขีดเส้นบนเศษกระดาษก็ดูชอบกลอยู่  แต่มีปัญหาเกิดขึ้นที่เมื่อขีดเส้นแล้ว  ประชาชนที่อยู่ในนั้นก็กลายเป็นผู้ฝ่าฝืนกฏหมายไป  ถ้าดูในทางกฏหมายเขาก็ฝ่าฝืนเพราะว่าตรามาเป็นกฏหมายโดยชอบธรรม  แต่ว่า…ถ้าตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฏหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง  เพราะว่า  บุคคลที่อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน  เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์  หมายความว่า…ทางราชการบุกรุกบุคคล  ไม่ใช่บุคคลบุกรุกกฏหมายบ้านเมือง…”

ฟังแล้วก็เป็นความบกพร่องของทางราชการเอง  เป็นผู้ที่ออกกฏหมายโดยไม่รับฟังเสียงของประชาชน  ไม่ได้ฟังข้อมูลอย่างถ่องแท้แล้วออกกฏหมาย  รองอธิบดีกรมที่ดินคนก่อนได้รับมอบให้ทำแผนแม่บทเรื่องที่ดินแห่งชาติ  คือให้ทำเรื่อง Mapping ที่ดินทั้งประเทศตั้งแต่รัฐบาลนายกทักษิณ  พอเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่มีแผนที่จะทำต่อเนื่อง  ถ้าทำก็จะรู้ว่าในที่ดินทั้งหมดเป็นที่ราชพัสดุตรงไหน อย่างไร?  ที่ไหนออกเอกสารอะไรไปบ้าง?  เริ่มจากหาข้อมูล ข้อเท็จจริงก่อนก่อนแล้วมาดูแผนแม่บทว่าจะจัดการที่ดินต่างๆอย่างไรในอนาคต?

กรณีตรงนี้เป็นแผนภาพจำลองซึ่งมันเกิดทั้งประเทศเลย  เป็นแบบนี้หมดทั่วประเทศ  แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1

เจ้าของคนที่ถือครองที่ดินคือคนที่อยู่ติดที่ดั้งเดิม กลุ่มเผ่าพันธุ์  หมายถึงคนที่อยู่ในป่าเขาตั้งแต่ดั้งเดิม เช่นกะเหรี่ยงอยู่ไล่มาตั้งแต่แม่สอดยันประจวบฯ ระนอง

จะยอมรับหรือไม่ยอมรับ  แต่ในอดีต  ในประวัติศาสตร์กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในผืนแผ่นดินประเทศไทย  เพราะประเทศไทยสมัยก่อนเรายาวไกลไปถึงอินเดีย  แคว้นอัสสัม  ติดกับพม่าคือไทยอาหม   ทางเหนือก็ไปถึงเชียงตุง สิบสองปันนาเลย  เกาะกงก็คือคนไทย  วันนี้เขาเริ่มเรียกร้องขอสิทธิการเป็นคนไทย

ล่าสุดมีการเดินขบวนมาจากด่านสิงขร  มาขอให้รัฐบาลยอมรับสิทธิเค้า  มีการผ่านกฏหมายไปแล้วยอมรับให้มาเป็นคนไทย สัญชาติไทยห้าสิบคน  ปัญหาใหญ่ก็คือกลุ่มคนเหล่านี้อยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม  จึงขอที่ดินที่อยู่มาแต่ดั้งเดิมเป็นกรรมสิทธิ  จะให้ได้ไหม? เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์สิทธิ  แล้วจะให้เป็นสองส่วนคือให้เป็นสิทธิในที่ดินกับให้เป็นกรรมสิทธิ  สิทธิซื้อขายต่อไม่ได้  ได้สิทธิไม่เป็นไรขายต่อไม่ได้  แต่ปัจจุบันสิทธิเหล่านี้เอาไปขายต่อๆกันไปเลยเป็นปัญหาใหญ่

กลุ่มที่ 2

กลุ่มที่เข้ามาทีหลัง  บางคนก็เข้ามา 20 ปี  บางคนก็เข้ามา 30 ปี

กลุ่มที่ 3

คนใหม่เอี่ยม  เพิ่งเข้ามาลงทุน

มีบุกรุกเพื่อไปเอาที่ดินใหม่แล้วขายที่ดินเก่า  บางคนว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจแต่เป็นปัญหาโรงพักมากกว่า  ถ้าเป็นแบบที่พระเจ้าอยู่หัวว่าให้อยู่ตามธรรมชาติก็อยู่กันได้  แต่วันนี้มันไม่ใช่อยู่ตามธรรมชาติแล้ว  คนที่อยู่เดิมแทนที่จะทำตามวิถีที่พออยู่พอกินพอใช้  ไม่ใช่แล้วเปลี่ยนวิถี เปลี่ยนบริบท  ต้องการที่จะได้มากๆ  เลยเป็นปัญหาโรงพัก

ยกตัวอย่างที่ปาย  เปลี่ยนบริบทของชุมชนหมดเลย  สังคมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง  จะหาอาหารเหนือทานยากมาก  ไม่มีหรอกครับ  อยากทานลาบก็จะเจออาหารฝรั่ง  อยากฟังเพลงสะล้อ ซอ ซึงก็จะเจอแต่เร้กเก้ คาราบาว  เพลงเพื่อชีวิต  เมืองปายเปลี่ยนวัฒนธรรมหมด  คนในพื้นที่ต้องการเอาวัฒนธรรมเดิมกลับคืนมา  ก็ต้องต่อสู้กับคนพวกนี้

ถนนคนเดินไม่ใช่ถนนคนเดินเชิงวัฒนธรรมของดั้งเดิม  แต่เป็นถนนคนเดินแบบตรอกข้าวสาร

ท้องถิ่นและระบบการปกครองของเราขาดความรับผิดชอบมาก  เห็นคนบุกรุกที่ เห็นคนเข้ามาก่อสร้าง  ตามระเบียบก็ต้องขออนุมัติ  แต่ก็ให้ก่อสร้างไปเรื่อยๆโดยที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ เพียงแต่ประวิงเวลาไว้เพื่อให้ตัวเองผ่านพ้นตำแหน่งไปเท่านั้นเอง  ถือว่าเป็นความบกพร่องของราชการ

ทหารก็มาแล้วพร้อมจะรับฟัง เมื่อกี้ใครพูดอะไรไว้ไม่ต้องบอก? (ฮา)

ทหารเป็นจำเลยในหลายๆเรื่อง  กรณีราชประสงค์ก็เป็นจำเลย นึกอะไรไม่ออก  ใช้ใครไม่ได้ก็ชอบใช้ทหาร  ที่ราชพัสดุมาเยอะมาก  ไม่มีคนดูแลก็มอบให้ทหารดูแล  ทหารก็รับอะไรง่ายมาตลอด  ให้เป็นอะไรก็ยอมรับทั้งหมด  พอรับไปดูแลแล้วดูแลไหวมั๊ย?  ไม่ไหวหรอกครับ ที่กาญจนบุรีแสนกว่าไร่   เอาคนมาหารแล้วต้องใช้คนมากมายก็เลยไม่ไหว  ไม่ไหวก็ต้องคืนไป

ทหารใช้บางส่วน  ช่วยดูแลพื้นที่ให้และใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ต่อการฝึก  ตอนนี้ก็ใกล้จะหมดไม่เหลือหรอแล้ว  ต้องไปฝึกในป่าช้าเพราะไม่มีใครไปบุกรุกที่ดิน  อยู่ในนั้นก็สดวกดี  สุดท้ายต้องคืนให้รัฐและรัฐก็ต้องให้ภาคประชาชนต้องมาช่วยดูแล  ทหารก็เหลือที่ที่จะใช้ประโยชน์ทางการทหารจริงๆ

เรื่องที่ดิน  เรื่องน้ำ  แล้วสุดท้ายก็เป็นเรื่องโน้นศาลนี้  ถ้าตั้งศาลเฉพาะท่านโด่งจะต้องตั้งประมาณ 100 ศาล(ฮา)   ตั้งศาลเดียวพอเลย  ตั้งศาลเตี้ยอย่างเดียว(ฮา)

นพณัฏฐ์ หุตะเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

นพณัฏฐ์1

ส่วนใหญ่เราจะพูดกัน อบต. อบจ. รัฐบาล ทหาร  ในอนาคตต้องสร้าง Generation แต่ละ Generation  ให้มีความรักหวงแหนในธรรมชาติ  เยาชน นักเรียน เด็กต้องใส่ลงไปหนักๆ  ตรงนี้เราขาด  ไม่ว่าเรื่องอะไรเรามาแก้กันปลายเหตุ  ต้องเตรียมสร้างสิ่งต่างๆเหล่านี้รองรับ

นิพนธ ตั้งแสงประทีป บรรณาธิการข่าว ศูนย์ข่าวอันดามัน สำนักข่าวไทย บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)

นิพนธ

เมื่อวานฟังครูวุฒิพูด  จะเห็นว่าเขาใช้คำว่าผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก  สองคำนี้ต่างกันมาก  ความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง  มีประสบการณ์การทำข่าวเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เยอะมาก  จะมีกฏหมายทับซ้อน  ชาวบ้านร้องเรียนมา  อุทยานประกาศเขตทับที่  ป่าสงวนประกาศเขตทับที่  กฏหมายเกิดมาหลังจากชาวบ้านเข้ามาอยู่

กรณีปายที่ลุงเอกว่า  ปายมีชุมชนมุสลิม  มีมัสยิดเล็กๆอยู่ด้วย  ไปคุยด้วยกับอิหม่ามที่นั่น  จากเดิมที่อยู่อย่างมีความสุข  ปัจจุบันต้องให้ลูกหลานคลุมศีรษะและใบหน้า  คนที่เข้ามาเป็นอันตรายต่อลูกหลานมาก  ไม่ว่าจะเป็นผับ เป็นเธค  สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่กำลังเข้าไปและเกิดปัญหากับพื้นที่ที่อยู่กันมาดั้งเดิม   ถ้ายึดตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแก้ปัญหาได้แน่นอน

วิธีการที่จะแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นแผนแม่บท หรือนำกฏหมายที่เกี่ยวกับที่ดินทั้งหมดมาปฏิรูปใหม่น่าจะแก้ปัญหาที่จะเกิดในอนาคตได้

ลุงเอก

ถ้าไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้น ปัญหาคนกลุ่มแรกก็จะหมดไป  ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีมากๆคนที่อยู่ในกลุ่มแรกต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งคือ

  1. เลือกว่าเป็นคนไทย
  2. เลือกว่าเป็นคนพม่า
  3. ไม่ต้องการเป็นไทยหรือพม่า  ต้องการเป็นประเทศ(พวกคะฉิ่น)  ไม่เคยอยู่กับพม่ามาก่อนเลยในการปกครอง  อังกฤษมาปกครองก็จับมารวมกับพม่า  พอส่งคืนกลับไปส่งคืนให้กับพม่า  นี่คือปัญหาที่สร้างโดนอิทธิพลของชาติตะวันตกที่ทำเอาไว้

Post to Facebook Facebook


ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (2)

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 15 กันยายน 2011 เวลา 18:05 ในหมวดหมู่ จอมป่วน, ธรรมะ #
อ่าน: 2600

ภูวเดช  มังสาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูพญาบิวดิ้ง จำกัด

ภูวเดช

ปัญหาเรื่องน้ำยังไม่น่าถึงวิกฤต ถ้าทุกฝ่ายร่วมจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์กัน  ชุมชนและธุรกิจรีสอร์ทหาทางออกร่วมกันก็คงจะพอใช้อยู่  ไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดความเจริญ  ความเจริญที่เข้ามาในท้องถิ่นเป็นโอกาสของคนในชุมชนท้องถิ่น  แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี

ดร. แสนศักดิ์ ศิริพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและชุมชนสัมพันธ์  มห่วิทยาลัยราชภัฏสงขลา

เป็นเรื่องของพื้นที่เฉพาะ  พื้นที่ชายขอบ  พื้นที่จังหวัดชายแดนจะมีปัญหาเรื่องความมั่นคง  เป็นเรื่อง Buffer Zone

ทางใต้ก็มี  ไม่ว่าสตูล ยะลา มี Buffer Zone หมด  นาทวีทั้งอำเภอ  การอยู่ร่วมกัน  การแบ่งประโยชน์กันลงตัวก็ไม่มีปัญหา  อาจจะมีปัญหาของนายทุนที่เข้ามาลงทุนมาก  ต้องการความมั่นคงในเรื่องเศรษฐกิจมาก

ขอเสนอทางด้านสังคม  ถ้าเยาวชนมารับรู้ปัญหาเหล่านี้แล้วเกิดทัศนคติที่ไม่ดี  ไม่สามารถอยู่ร่วมกันก็จะเกิดปัญหาในอนาคต  ได้พูดคุยกันเรื่องที่จัดอบรมมัคคุเทศก์ การท่องเที่ยว การพัฒนาเยาวชนต่างๆ  การศึกษา   อยากฟังเสียงสะท้อนจากเด็กๆว่าคิดอย่างไรบ้าง อาจจะไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำกันในปัจจุบัน

การพูดคุยกันต้องพูดคุยกันจริงๆ  เรื่องความมั่นคงก็ว่ากันไป  แต่เรื่องของเศรษฐกิจก็ต้องมาคุยกัน  ชายแดนประเทศไทยไม่ว่าทางพม่า ลาว  มาเลเซีย เขมร ก็พูดคุยกันให้ไปแนวทางเดียวกัน

พล.ต.ต. อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ รองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ

น้ำตกในประเทศมันเป็นของชุมชนหรือของคน 60 ล้านคนหรือของคนทั้งประเทศ  ถ้ามาเที่ยวน้ำตกแล้วไม่มีน้ำตก  น้ำหายไป  มีคนสูบไป  ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน คนนำไปทำมาหากิน เมื่อวานฟังดูแล้ว น้ำตกเป็นของชุมชนก็แบ่งกันดูด  ชุมชนก็แบ่งกับผู้ประกอบการรีสอร์ท  คนอื่นมาเที่ยวก็ไม่มีน้ำตก  ใครจะรับผิดชอบ

น้ำตกเป็นทรัพยากรที่ไม่มีผู้ใดเอาไปได้  ต้องให้เป็นธรมมชาติตลอดไป  ถ้าจะเอาจริงๆก็ต้องเป็นน้ำที่ลงมาล่างสุดแล้ว

เรื่องเขตที่ดินต้องมีความชัดเจน  ใครก็ตามที่มาซื้อที่ดินที่ไม่ใช่โฉนดก็ต้องยอมรับความเสี่ยง  ซื้อไปแล้วต่อมาทหารมาเป็นผู้ชี้เขตว่าเป็นเจ้าของ  ก็ต้องยอมรับ  ผู้ที่มีสิทธิจะกำหนดกฏกติกามารยาทอย่างไร?  กฏกติกามารยาทต้องชัดเจน  ไม่คลุมเครือ  มิฉะนั้นจะมีปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด

ใครมาใช้ทรัพยากรของชาติ  ต้องมีการชดใช้  ไม่ว่าจะครอบครองและทำประโยชน์มานานเท่าใด มิฉะนั้นคนทั้งชาติก็จะขาดทุนเรื่อยไป ใครมาก่อนใช้ก่อนโดยที่ไม่มีสิทธิชัดเจนเพราะไม่มีโฉนด  ใช้มาตั้งนาน  พอมีคนอ้างสิทธฺิก็เริ่มต้นใหม่ ไม่มีการชดใช้  ได้ประโยชน์ไปแล้วไม่มีการพูดถึง  เป็นการเอาเปรียบประเทศไทย

คธาทร อัศวจิรัฐติกรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์สี กองทัพบก ช่อง 7

คธาทร1

เพิ่งมารับทราบเรื่องราวสวนผึ้งเป็นครั้งแรก  ประทับใจอำเภอสวนผึ้ง  สวนผึ้งมีความได้เปรียบ  อย่างแรกที่สุดก็คือโมเดลในการแก้ไขปัญหา การสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมและการรับรู้ปัญหาของชาติได้อย่างเป็นระบบ  ถ้ามีการแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจังจะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นโมเดลที่จะแก้ไขปัญหาในทำนองเดียวกัน

ปัญหามีหลากหลาย  มีหลายมิติ มีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง ปัญหาเศรษฐกิจ  ปัญหาปากท้องอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของคนไทยในภาวะโลกาภิวัฒน์ที่ต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจโลก

ปัจจุบันนี้ถ้าเราจิ้มมือลงในแผนที่ประเทศไทย  แทบทุกส่วนล้วนมีปัญหาที่ดินทำกิน  ปํญหาสภาพแวดล้อม ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติซึ่งตำตาตำใจ เป็นหนามยอกอกประชาชนไปแทบทุกหย่อมหญ้า

ถ้าโมเดลของสวนผึ้งซึ่งมีข้อได้เปรียบ  คือมีปราชญ์ชาวบ้าน มีผู้นำชุมชนที่แข็งแกร่ง มีการจัดตั้งที่ค่อนข้างจะดี และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม  รวมทั้งภาครัฐที่พยายามที่จะเข้ามารับรู้ปัญหา เปิดใจกว้าง และพยายามที่จะแก้ไขปัญหา    ถ้าทุกภาคส่วนได้ร่วมกันและพยายามแก้ไขปัญหา  น่าจะเป็นโมเดลที่จะแก้ไขปัญหาของชาติได้

อ. มีชัย เคยมีการปฏรูปกฏหมายใหญ่อยู่ครั้งหนึ่ง เป็นการปฏิรูปกฏหมายของการบริหารราชการที่แต่ละฝ่ายมีกฏหมายวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป  กฏหมายของแต่ละหน่วยงานที่ขัดแย้งกันก็เคลียร์เสียให้เรียบร้อย  เช่นกฏหมายป่าไม้  กฏหมายที่ดิน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทั้งหลายซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ  ถ้าที่สวนผึ้งทำตรงนี้ได้  ชาวบ้านก็น่าจะยิ้มแย้มแจ่มใสได้มากกว่านี้

ผศ. ว่าที่ ร.ต. สุรพล สินธุนาวา อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ระยะเวลาเช่า 3 ปีน้อยเกินไป  ควรจะแก้ระยะเวลาการเช่าเป็น 20-30 ปี  ไปจดทะเบียนให้ถูกต้องกับสำนักงานที่ดิน

อวยชัย คูหากาญจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

เรามีปัญหาที่ดินและน้ำมานานแล้ว  แก้ไม่ได้ง่ายๆ  ต้องใช้ระยะเวลา  แต่ปัญหามีแนวโน้มจะเกิดเพิ่มมากขึ้น  จะป้องกันได้อย่างไร?

ปัญหาเกี่ยวกับกฏหมายที่มีอยู่หลายฉบับ  และมีหลายหน่วยงานหลายกระทรวงเกี่ยวข้อง  มีความพยายามแก้ไขปัญหาอยู่มากแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ

พูดถึง นอมินี ก็ไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนว่า นอมินีคืออะไร  การถือครองที่ดินห้ามต่างชาติถือครองที่ดิน  แต่ก็มีการเลี่ยงในรูปของบริษัท   มีการให้คนถือหุ้นแทน  แต่ไม่เคยมีการดูไปถึงผู้ถือหุ้นชั้นสุดท้ายที่เป็นบุคคลธรรมดาว่ามีต่างชาติถืออยู่เท่าไหร่?   มีพูดถึงเหมือนกันแต่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐาน

ประเทศเราขาดความชัดเจน  ข้าราชการไม่รู้จริง  มีการจัดทำคู่มือ  แต่คู่มือก็ไม่ละเอียดในแนวทางปฏิบัติ  การบังคับใช้กฏหมายให้เกิดความชัดเจนมีปัญหา  ไม่ค่อยเห็นด้วยกับ สปก. มีความพยายามให้คนเข้าไปปลูกป่า มีความพยายามเอาที่ป่าเสื่อมโทรมมาออกเป็น สปก. 4-01  แต่ปัจจุบันลองดูว่าคนที่ถือครอง สปก. 4-01 เป็นใคร

พ.ต.อ. ดร. ภาดล ประภานนท์ รองผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน กองบัญชาการตำรวจนครบาล  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ


มองความต้องการ  แรงดึงดูดใจให้คนมาท่องเที่ยว  เป็นบรรยากาศ  อากาศดีมาก  เรื่องของฮวงจุ้ยดีมากเหมือนกัน  มีน้ำ มีเขา มีธรรมชาติ

มองถึงการทำลาย  คนมามากก็เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เกิดปัญหาความขัดแย้ง เป็นผลต่อเนื่องกันมา

ต้องหาคำตอบว่าระหว่างความต้องการกับการทำลาย  ทำอย่างไรให้อยู่ในภาวะสมดุล  ในสังคมมันอยู่คู่กันไป

ดร. สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์

ถ้าศึกษาเรื่องกฏหมายด้านสิ่งแวดล้อมจะมี Keyword สำคัญว่า   โศกนาฏกรรมส่วนรวม(Tragedy of the Common)  อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกที่ในประเทศไทย  เมื่อไหร่ที่ดินที่ถูกเรียกว่าเป็นของรัฐ รัฐก็ไม่ได้ดูแล  มันมีคำว่าสิทธิเป็นของผู้บุกรุก ก็จะต่อสู้กันไปทุกที่

ในมุมมองของนักกฏหมายหรือด้านความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมจะตีกันตลอดระหว่าความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม  ผลประโยชน์ของธรรมชาติ  ระบบนิเวศน์ต่างๆ  เหมือนสวนผึ้งจะทำอย่างไรให้รักษาป่า  ลุ่มน้ำ  ความสมบูรณ์ของธรรมชาติต่างๆ  กับประเด็นความเป็นธรรมด้านสังคม (Social Justice)  มันเป็นเรื่องความเป็นหนึ่งของมนุษย์ ของชุมชน ของชาวบ้าน  เมื่อชาวบ้านต้องต่อสู้กับภาคเศรษฐกิจจะสู้กันอย่างไร  มีหลายมิติที่ต้องมอง

ถ้าถามว่าลุ่มน้ำหรือน้ำตก เป็นของประชาชนทุกคน  แปลว่าชุมชนไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์? หรือใช้มากเกินไปหรือเปล่า?  ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ตามมาตรา 66 และ 67 ดีกรีของการใช้สิทธิต่างกันระหว่างคนกรุงเทพฯ กับคนในพื้นที่  คนในพื้นที่มีสิทธิใช้ประโยชน์เป็น Direct Use  ในขณะที่คนกรุงเทพฯ มาตรา 67 บอกว่ามีสิทธิได้ประโยชน์  ตรงนี้เป็นประเด็นที่จะตีความขอบเขตของกฏหมายนี้อย่างไร?

ในแง่ของการปฏิรูปกฏหมายควรปฏิรูปกฏหมายที่ดินทั้งหมดมาเป็นประมวลกฏหมายที่ดินและป่าไม้  เพื่อรวม พรบ. ราชพัสดุ  พรบ.ที่สาธารณะทั้งหลาย  พรบ. ป่าไม้ที่มีมากกว่า 5-6 ประเภท  อุทยาน  สงวนพันธุ์สัตว์ป่าหรือพันธุ์พืช  ให้มันเป็นหนึ่งเดียว  จะได้ให้คนเห็นภาพว่าแต่ละประเภทของที่ดินควรจะถูกใช้อย่างไร?

ศาลที่ทำงานพิเศษเกี่ยวกับที่ดิน ป่าไม้ควรมีหรือไม่?  ปัจจุบันในส่วนของศาลปกครองและศาลยุติธรรมก็ทะเลาะกันตลอด คดีที่ดิน  ป่าไม้  ศาลก็มีข้อขัดแย้งเรื่องนี้ ควรมีศาลพิเศษ  ที่ดิน ป่าไม้ไหม?  เพราะเป็นวิกฤตของประเทศ

ทรงจิต มุขดี ผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานสินค้าส่งออก บริษัท เบลเซอร์เวย์ จำกัด

ทรงจิต1

อยากเล่าเรื่องอดีตของสวนผึ้ง  เพราะเคยมีความสัมพันธ์ในพื้นที่นี้ตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้ว  จากบ้านป่าหวายถึงสวนผึ้งเป็นป่า  สวนผึ้งก็ยังไม่เจริญ  ชาวกะเหรียงได้ทำการหักร้างถางพงโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนและผู้นำชุมชนในเขตนี้  ได้นำที่ดินไปเสนอขายถึงกรุงเทพฯ นครปฐม  จนเจริญขึ้นมา  ก็มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อ  แต่เมื่อวานก็ไม่ได้พูดถึงเลย

ไม่มีการพูดถึงเลยว่าเข้ามาอยู่กันตั้งแต่ปีไหน ตอนซื้อที่ดินก็ยอมรับสภาพนั้นกันอยู่แล้ว  เพราะทางเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือฝ่ายปกครองก็ทำได้อย่างเดียวคือให้เสียภาษีเหยียบย่ำ

……ยังมีต่อ………

Post to Facebook Facebook


ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (1)

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 15 กันยายน 2011 เวลา 17:17 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 2416

เนื่องจากการเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning หรือ Participatory Learning  หลังจากศึกษาดูงานที่ สวนผึ้ง  รับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขจากมุมมองของผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยว  และจากภาคประชาสังคมแล้ว  ก็ต้องมานั่งพูดคุย  แลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ถอดบทเรียนกัน

เช้าวันที่ 14 สิงหาคม 2554  08.30-09.30 น.  ก็มีการพูดคุยกันที่โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

สวนผึ้ง

พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ลุงเอกของเราก็กล่าวนำ

ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน  สิ่งแวดล้อม  เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์  ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆพื้นที่ของประเทศไทย  สวนผึ้งเป็นพื้นที่ติดชายแดนพม่า  มีกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ตั้งแต่แม่ฮ่องสอนถึงระนอง  วันนี้บ่ายก็จะได้ไปดูพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน (Tham Hin Temporary Shelter) ซึ่งเป็นศุนย์อพยพที่ไม่มีรั้ว  ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง  เพราะมีผู้อพยพอยู่ถึง 6,000 คน  อยู่ต้นน้ำ  รอการอพยพไปอยู่ประเทศที่สาม  เช่นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย  เพราะนโยบายของสหรัฐอเมริกา  ไม่อยากให้ส่งกลับไปประเทศเดิม  อยากให้อพยพไปอยู่ประเทศที่ 3

ลุงเอกเปิดโอกาสให้พูดคุยกัน  แต่ขอคนละ 3 นาที

วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัทการบินไทย จำกัด

จากข้อมูลที่ได้รับเมื่อวาน  ตัวเองสรุปได้ว่ามีปัญหาที่สวนผึ้งมีปัญหาเรื่องน้ำกับที่ดิน  นำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรงก็ตามมา  ทั่วโลกก็มีปัญหาแบบนี้  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเยอะ  ผลประโยชน์ก็เยอะด้วย

แก้ปัญหาควรเป็นเชิงอนุรักษ์ ให้หยุดทุกอย่างไว้ก่อน  รีสอร์ทที่มีอยู่ก็ไม่ให้มีเพิ่ม  จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว  สื่อให้สังคมข้างนอกได้รับรู้ปัญหา  ให้ภาคประชาสังคมในท้องที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

ภักดี ภักดิ์นรา ทนายความหุ้นส่วน บริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และเพียงพนอ จำกัด

เรื่องที่ดินน่าจะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่ายที่สุดเพราะเป็นเรื่องที่จับต้องได้  ควรจะมีภาพถ่ายดาวเทียมที่สามารถบอกได้ว่ามีการใช้พื้นที่ตั้งแต่เมื่อไหร่?  ใช้พิสูจน์สิทธิได้

เรื่องให้เช่าของกรมธนารักษ์ควรคิดค่าเช่าตามประเภทการใช้  คนเป็นคนสร้างกติกาขึ้น น่าจะแก้ไขได้  โดยคำนึงถึงความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สิ่งที่ต้องติดตามดูคือพอให้สิทธิไปแล้วจะเปลี่ยนมือได้หรือไม่?  เพราะไม่ว่าจะกำหนดเกณฑ์อย่างไร  เช่น สปก. ที่กำหนดว่าห้ามเปลี่ยนมือ  ในที่สุดนักกฏหมายหรือคนที่เกี่ยวข้องก็หาทางเลี่ยงได้อยู่ดี  ถ้าเปลี่ยนสัญญาเช่าเป็น 30 ปี  จะเปลี่ยนมือได้หรือไม่?    มองที่ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย  คนใช้ที่ดินก็จะมีความมั่นคงในการใช้ที่ดินระยะยาว  กรมธนารักษ์ก็จะได้หลักเกณฑ์ว่าใครบ้างเข้ามาใช้

ลุงเอก

บางพื้นที่ไม่ยอมเช่ากับกรมธนารักษ์  แต่จะเอาเอกสารสิทธิอย่างเดียว

ดร. สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร

เรื่องที่ดินมีกฏหมายหลายฉบับ  พื้นที่ต้องชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ใด  ที่ดินเองก็มีปัญหาในการรังวัด ที่ในโฉนดบางทีก็ไม่แน่นอน ทางแก้ที่ตรงที่สุดคือต้องรังวัดให้ชัดเจนก่อน แล้วดูว่าใช้กฏหมายไหน  เพราะจะไม่เหมือนกัน

การจัดการน้ำ คนในพื้นที่จะรู้ดีที่สุด  ถ้าทำประชาคมแล้วยอมกัน  บ้านเฉลี่ยสุขก็ดูจะอุดมคติไปหน่อยแต่ถ้ายอมรับกันก็เป็นไปได้  เป้าหมายคือเฉลี่ยความสุขให้ทุกคนอยู่ได้ ถ้าจำกัดจำนวนคนไม่ได้  ก็มีปัญหาทรัพยากรน้ำแน่ๆ  ให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาก็จะแก้ปัญหาได้

ลุงเอก

เราไปลงพื้นที่ที่ตรังกันมา  ตรังกำลังจะทำเรื่องป่าชุมชน  เขามีพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวติดเอาไว้  เอามาให้ดูจะได้เห็นว่าความเป็นจริงที่แท้จริงเป็นอย่างไร?  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทราบดีเพราะท่านดูแลประชาชนมา   มันเป็นเรื่องการจัดการของรัฐที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น

“ …กฏหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง  มิใช่ว่ากฏหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน  ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชน  ก็กลายเป็นเผด็จการ  กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก  ในทางตรงข้าม กฏหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลหมู่มากมีเสรีและอยู่ด้วยความสงบ  บางทีเราตั้งกฏหมายขึ้นมาก็ด้วยวิชาการที่ได้จากต่างประเทศ  เพราะว่าวิชาการกฏหมายนี้  ก็เป็นวิชาการที่กว้างขวางจึงต้องมีอะไรทำอย่างหนึ่ง  แต่วิชาการนั้นอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือท้องที่ของเรา  บางทีเคยยกตัวอย่างมาเกี่ยวกับที่ดิน  เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของประชาชนที่อยู่ห่างไกล  ซึ่งเราเอากฏหมายไปบังคับประชาชนเหล่านั้นไม่ได้เพราะว่า…เป็นความผิดของตัวเอง เพราะการปกครองไม่ถึงประชาชนที่อยู่ห่างไกลจึงไม่สามารถที่จะทราบถึงกฏหมาย  ความบกพร่องก็อยู่ที่ทางฝ่ายที่บังคับกฏหมายมากกว่าฝ่ายที่ถูกบังคับ  ข้อนี้ควรจะถือเป็นหลักเหมือนกัน  ฉะนั้น…ต้องหาวิธีที่จะปฏิบัติกฏหมายให้ถูกต้องตามหลักของธรรมชาติ…

…ในป่าสงวนซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นไว้ว่าเป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนก  แต่ว่า เราขีดเส้นไว้ประชาชนก็มีอยู่ในนั้นแล้ว  เราจะเอากฏหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่อยู่ในป่าที่ยังไม่ได้สงวนแล้วไปสงวนทีหลัง  โดยขีดเส้นบนเศษกระดาษก็ดูชอบกลอยู่  แต่มีปัญหาเกิดขึ้นที่เมื่อขีดเส้นแล้ว  ประชาชนที่อยู่ในนั้นก็กลายเป็นผู้ฝ่าฝืนกฏหมายไป  ถ้าดูในทางกฏหมายเขาก็ฝ่าฝืนเพราะว่าตรามาเป็นกฏหมายโดยชอบธรรม  แต่ว่า…ถ้าตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฏหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง  เพราะว่า  บุคคลที่อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน  เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์  หมายความว่า…ทางราชการบุกรุกบุคคล  ไม่ใช่บุคคลบุกรุกกฏหมายบ้านเมือง…”

กฤษณะเดช โสสุทธิ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง

เราได้รับชุดข้อมูล 3 ชุด  จากผู้ประกอบการ  จากภาคประชาสังคมและจากภาครัฐ  ชุดข้อมูลทั้ง 3 ชุดมีข้อมูลที่ไม่สอดรับกัน มันแย้งกันอยู่  ชุดข้อมูลทั้ง 3 ชุดนี้เคยเอามานั่งดูแล้วนั่งคุยกันไหม?

สภาพปัญหาที่เกิดก็เป็นเรื่องที่ดินและเรื่องน้ำ  มีปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในการพิสูจน์สิทธิ  ระหว่างที่กาญจนบุรีกับที่สวนผึ้ง

ที่สนใจมากที่สุดเป็นเรื่องของแนวคิดกับกระบวนการการจัดการความขัดแย้ง  กรอบความคิดของเขาอยากให้มีเวทีที่เอาทุกภาคส่วนมาพูดคุยกันเพื่อนำไปสู่การจัดการความขัดแย้ง

เริ่มเห็นกระบวนการที่ถูกนำมาใช้

  1. สภาพลเมือง เป็นตัวหนึ่งที่จะนำไปสู่กระบวนการการจัดการความขัดแย้ง
  2. ท้องถิ่นเริ่มมีกรอบความคิดที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเรื่องน้ำ จึงเกิดคณะกรรมการขึ้น  ถ้านายกฯ ไม่ได้เป็นแล้ว  การบริหารจัดการน้ำภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมจะยังอยู่ต่อไปไหม?  ถ้าชุดใหม่เข้ามา

ข้อมูลเชิงลึก  ภายหลังที่คณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาบริหาร  เงินรายได้เหลือเยอะ  ประมาณ 2-3 แสน จัดเป็นสวัสดิการได้  นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ?

เวทีที่ว่ายังไม่เคยเกิดขึ้นเลย

ลุงเอก

จะเริ่มเกิดขึ้นเพราะทาง 4ส2  ภาคพลเมืองที่ราชบุรีและสำนักสันติวิธีฯ  จะเริ่มทำเวทีนี้  ใครสนใจก็มาร่วมได้

ณัฏฐ์ วัลลิโภดม ผู้อำนวยการพรรคกิจสังคม

ที่รับฟังเมื่อวานจากบุคคลที่ตำแหน่งหน้าที่แตกต่างกัน  แต่ก็เป็นปัญหาเรื่องน้ำและที่ดิน  แต่ละท่านยังมีอคติในตัวเอง  ยังรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

บรรพบุรุษชาวกระเหรี่ยงก็ได้สร้างปัญหาไว้  แล้วจะมาแก้ปัญหาในปัจจุบัน  หนทางยังอีกยาวไกล

การดูแลเรื่องน้ำ  ก็มีผลประโยชน์เกี่ยวกับร้านค้า

ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่

แต่โดยภาพรวมแล้วก็ต้องการปกป้องผืนดินและน้ำ  ต้องดูเวลานี้  ใครเป็นผู้มีอำนาจ  ใครเป็นคนของใคร  ใครใกล้ชิดผู้ใหญ่มากกว่ากัน  ชาวบ้านไม่สามารถอ้าปากใดๆได้   นอกจากรวมกลุ่มประชาคม

ใครมีอำนาจ ณ เวลานั้น  คนเหล่านี้ก็จะได้ผลประโยชน์โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวเอง  โฉนดที่ดินและ น.ส. 3 ก.  ก็จะตามมาภายหลัง

ถ้ามีการบริหารจัดการน้ำที่ดี  สวนผึ้งก็จะมีน้ำใช้ เช่นการเจาะน้ำบาดาล  อยู่ที่ผู้นำชุมชนด้วย

พันเอก ดร. พิเชษฐ คงศรี นายทหารปฏิบัติการกองบัญชาการกองทัพไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ตลอดระยะเวลา 60 ปีพระองค์ทรงทำอยู่ 2 เรื่องคือเรื่องดินกับน้ำ

ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสวนผึ้ง  ซึ่งเป็นที่มาของสวนผึ้งโมเดล  เป็นปัญหาในเชิงแนวความคิดที่แตกต่างกัน หรือมโนธรรมที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

มิติของชาวบ้านมองว่าเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิในที่ดิน  โดยอ้างชาติพันธุ์  การเคยทำกินในที่นี้มาโดยตลอด  เป็นมิติใหม่ที่สังคมไทยที่กำลังขับเคลื่อนเข้าสู่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  หรือการเมืองภาคพลเมือง  ซึ่งเป็นมิติที่ภาครัฐจะปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไป

มโนทัศน์หรือแนวความคิดของผู้ประกอบการจะอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง จะมองในมิติที่มีผลประโยชน์เป็นตัวเงิน

ในขณะที่ภาครัฐจะมีมโนทัศน์หรือมุมมองในด้านการปฏิบัติตามกฏหมาย  เพราะภาครัฐมองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของภาครัฐมาโดยตลอด  กฏหมายเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐ  เจ้าหน้าที่รัฐก็จะยืนอยู่บนกรอบของกฏหมาย   มีกฏหมายที่ภาครัฐต้องปฏิบัติเยอะแยะไปหมด

สามกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกันกันในพื้นที่ของสวนผึ้งนี้นำมาซึ่งความขัดแย้ง ถ้าย้อนไปหาสมุทัยของปัญหา  เราจะทำอย่างไรให้วิธีคิดนี้ตกผลึก เกิดการยอมรับร่วมกัน  แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำกับดิน  และเรื่องสมดุล  การดำรงอยู่ของคนในสังคมที่หลากหลายตามภูมิภาคต่างๆ

อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน  สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย

ปัญหาที่ดินมีกฏหมายหลายฉบับและมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องเกี่ยวข้อง  ยิ่งปัญหาที่ดินชายแดนจะมีปัญหาความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  มีการเสนอการปฏิรูปกฏหมายที่มีความสำคัญมากแต่ยังไม่ผ่าน  มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจของกฏหมาย  ต้องปฏิรูปกฏหมายเรื่องที่ดินที่มีปัญหามายาวนานมาก  มีเรื่องการสืบทอดการครอบครองในระบบศักดินา  จนกระทั่งตกทอดมาถึงปัจจุบัน

การปฏิรูปกฏหมายต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม  ต้องกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาที่ดินของตัวเอง ประเทศไทยมีปัญหาโครงสร้างอำนาจ  ต้องเป็นแบบชุมชนจัดการตนเอง

…..มีต่อ…..

Post to Facebook Facebook


พูดคุยกับชาวบ้านที่สวนผึ้ง

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 12 กันยายน 2011 เวลา 23:13 ในหมวดหมู่ การจัดการขยะมูลฝอย, จอมป่วน #
อ่าน: 4215

หลังจากที่ภาคประชาสังคมเล่าเรื่องราวของสวนผึ้งจากมุมมองของชาวบ้าน  ซึ่งก็แตกต่างไปจากมุมมองของผู้ประกอบการ  วันรุ่งขึ้นก็จะได้ฟังจากภาคราชการ

เริ่มเปิดประเด็นโดย พล.ต.ต. นายแพทย์ อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ รองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ

ดูจาก VDO มีการทำฝายชะลอน้ำ แล้ววางท่อนำน้ำไปใช้  เป็นการโขมยน้ำไปใช้  ทำไมจัดการไม่ได้  หลักฐานเห็นชัดๆ  เห็นมีตั้ง 4 ท่อ

ณัฐสม ตังเดชะหิรัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สเปคการ์ด จำกัด

ณัฐสม1

ในพื้นที่สวนผึ้งขุดบาดาลในพื้นที่ได้ไหม?  ทำไมต้องพึ่งน้ำตกอย่างเดียว

นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

นิชา

อยากให้คุณพรทิพย์เล่าเรื่องแผนการจัดการน้ำตกเก้าชั้นให้ฟัง  เพราะทราบมาว่าเป็นการจัดการโดยชุมชนเอง

คุณพรทิพย์ สำเภา

การนั่งพูดคุยกัน  การทำความเข้าใจกันสามารถแก้ปัญหาได้  เช่นในช่วงสงกรานต์  ก็พูดคุยกันสามารถแบ่งน้ำมาใช้ช่วงที่นักท่องเที่ยวเข้ามามากๆได้

คุณสมศักดิ์ เหลืองจรุงรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวนผึ้ง

การใช้น้ำตกมีการใช้มาเดิม  แต่ในอนาคตคงจะเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุย  ตกลงกติการ่วมกัน  ขอความเห็นของคนในหมู่บ้าน  ทาง อบต. ก็พยายามบริหารจัดการน้ำอยู่  มีแผนงานที่จะก่อสร้างบ่อเก็บน้ำเพื่อนำมาทำประปาผิวดิน

ดร. แสนศักดิ์ ศิริพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

แสนศักดิ์1

เห็นด้วยที่ว่าเรื่องผลประโยชน์เป็นเรื่องที่ตกลงกันยาก  เรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติก็จะมีปัญหาทั่วประเทศ  ทั่วโลก  การใช้ข้อกฏหมายก็มีปัญหา

มีประสบการณ์กับการวิจัยเรื่องการมีส่วนร่วม  การจัดการตนเอง  คิดว่ามาถูกทางแล้วที่พยายามหาข้อยุติ  มีการจัดการเจรจาพูดคุยกัน  มีการพัฒนากลุ่มอาชีพ  เห็นความสำคัญกับการให้การศึกษากับคนรุ่นใหม่  และเยาวชน

เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีการฝึกมัคคุเทศน้อย  ใช้การท่องเที่ยวนำ  generation นี้เราขัดแย้งกันก็จริง  เราต่อสู้กันในข้อกฏหมาย  แต่ไม่อยากให้ข้อขัดแย้งนี้ลงไปสู่เยาวชน  ให้ทำงานอย่างสร้างสรร  ใช้การท่องเที่ยวเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ชอบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแนวคิดให้ชุมชนช่วยจัดการ

พ.ต.ท. วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม

วิชัย1

ค่อนข้างเป็นห่วงสวัสดิภาพของนักต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อม  ไม่ทราบว่าในกรณีที่ถูกทำร้าย  มีการดำเนินคดีหรือไม่? อย่างไร?  เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง?  กลุ่มของเราก็มี network มีผู้ใหญ่หลายท่าน มีนายพลตั้งสองสามท่าน  น่าจะมีการประสานงานที่จะดูแล

อยากทราบว่าสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา  กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม  มีบทบาทที่จะช่วยเหลืออย่างไร?

ปิติกาญจน์ สิทธิเดช ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา  กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  กระทรวงยุติธรรม

ก็อยากถามคุณพรทิพย์อยู่เหมือนกันว่ามีการแจ้งความดำเนินคดีมั๊ย?  เรื่องที่ถูกทำร้าย  และได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง?

คุณพรทิพย์ สำเภา

ก็แจ้งข้อหาพยายามฆ่า  ตอนนี้ก็มีคดี 2 คดี  คือคดีแพ่งวันที่ 31 นี้จะขึ้นศาล  ส่วนคดีอาญา  อัยการสั่งฟ้องแล้ว  จะขึ้นศาลประมาณเดือนตุลาคม

ดร. สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร

เรื่องน้ำตก เอกชนไม่สามารถนำไปใช้ได้  อยากจะนำเสนอว่าน่าจะทำประชาคมเพราะคนในพื้นที่น่าจะรู้เรื่องดีที่สุด  อีกประเด็นหนึ่งที่นั่งรถผ่านมาเห็นท่อน้ำประปาขนาด 1 นิ้ว สีฟ้า  อยู่ในท่อน้ำทิ้งขนาดประมาณ 5 นิ้ว  ซึ่งเป็นการที่ไม่ถูกต้อง  แสดงว่าการบริหารน้ำยังไม่ชัดเจน  ขอช่วยแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย

วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัทการบินไทย จำกัด

เท่าที่รับฟังมารู้สึกว่าปัญหาและความขัดแย้งในพื้นที่ซับซ้อนมาก  เป็นเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรน้ำและที่ดิน  จุดที่อยากจะเสนอแนะและขอทราบความเห็นของคนที่อยู่ในพื้นที่ก็คือ  ในภาพรวมมีความขัดแย้งสูงในการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่  และการจัดการก็เกี่ยวข้องกับกฏหมายและข้อบังคับหลายตัว

เรามาหยุดปัญหานี้ก่อนในเชิงอนุรักษ์จะดีไหม?  เช่น จำกัดจำนวนรีสอร์ทที่จะเข้ามาเปิดในพื้นที่ของอำเภอสวนผึ้ง  ในขณะเดียวกันถ้าจำกัดในส่วนนี้ไม่ได้  เราก็ลองดูที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในสวนผี้งนี้ว่าควรจะให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามากี่คน  เพื่อที่ว่าเราจะสามารถบริหารจัดการทรัพยากร  ในเรื่องของการขาดแคลนน้ำ  ให้มันมีประสิทธิภาพ  ไม่เกิดปํญหาการขาดแคลนน้ำที่กำลังรุนแรงในภายหลัง  ไม่ทราบว่าองค์การบริหารส่วนตำบลมีนโยบายจะจำกัดจำนวนของรีสอร์ทของสวนผึ้งที่จำนวนเท่าไหร่?  และจะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในสวนผึ้งจำนวนเท่าไหร่?

ครูวุฒิ บุญเลิศ

อยากให้คำนิยามกับคำบางคำ  เอกสารรายงานของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  รายงานจะพูดถึงการปฏิบัติการที่ผ่านมา  กล่าวถึงชนกลุ่มน้อย  และชนกลุ่มน้อยที่เกี่ยวข้องกับ KNU มียาเสพติด  เป็นแหล่งพักพิง  มีการพูดถึงกะหร่าง  กะหร่างก็คือกะเหรี่ยง

พอใช้คำว่าชนกลุ่มน้อยมันไม่มีสัญชาติ  พอโยงกับ KNU  และเหตุผลอื่นๆก็จะนำไปสู่ความรุนแรง  พี่น้องแก่งกระจานตั้งแต่ที่ ฮ. ยังไม่ตก  ในวันที่บ้านเรือนถูกเผา เหตุการณ์เป็นอย่างไร?  เด็กบอกว่าเขาเอาหนูขึ้น ฮ.  ฮ.ยังไม่ทันขึ้นจากพื้นดิน บ้านก็มีเสียงดังเปรี๊ยะๆ  เพราะถูกไฟไหม้  พยายามหาข้อมูลต่างเพื่อเปิดให้สังคมได้รับทราบ  เพื่อให้รู้ว่าเราจะแก้ปัญหาจุดนี้อย่างไร?

คนกะเหรียงอยู่มาแต่ดั้งเดิม  มีสองกลุ่ม  กลุ่มหนึ่งถูกคนอื่นเรียกว่ากะหร่าง  ก็คือกะเหรียง  อยู่ตรงนี้มาร้อยกว่าปี  ก่อนจะประกาศอุทยานปี 26  คนเหล่านั้นมีอยู่แล้ว  ปี 12  รัฐบาลถือชาวเขาทั่วประเทศว่าเป็นประชากร

ปัญหาคือ

1. รัฐไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชุมชนและวัฒนธรรม

2. รัฐไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของชุมชน  ของคนที่นั่น

3. การใช้นัยยะของคำว่าชนกลุ่มน้อยก็ดี  หรือคำว่าไร่เลื่อนลอยก็ดี  ซึ่งสร้างความชอบธรรมกับการจัดการ  ซึ่งจัดหนัก ซึ่งทางอุทยานฯ ต้องไปชี้แจงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  หัวหน้าส่วนที่ไปปฏิบัติการในวันนั้นต้องไปชี้แจง

เมื่อปี 38  อพยพเขาลงมา  แต่ไม่จัดที่ทำกินให้  เมื่อไม่มีที่ทำกิน  คนเหล่านั้นจะอยู่กันอย่างไร?  เขาก็ต้องกลับไปที่เดิม  พอกลับไปที่เดิมก็ทำผิด พรบ. ป่าไม้  จริงๆก่อนที่จะประกาศเป็นอุทยาน  เขาอยู่ก่อนแล้ว  การบูรณาการการแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินที่ทำกิน ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันแก้

ปีที่แล้ว คณะกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง  ทุกจังหวัดที่มีกะเหรียงต้องมีคณะกรรมการฯ  ผู้ว่าฯ เป็นประธาน  แต่ก็ยังไม่มีการขับเคลื่อน

อุ้มผางตั้งแต่แม่ระมาด  ท่าสองยาง  สังขละ ทุ่งใหญ่  แก่งกระจาน ป่าละอู ฯ คนกะดหรียงอยู่มาเกือบสองร้อยปี   ถ้ากะเหรี่ยงอยู่แล้วป่าหาย  มันหายไปนานแล้ว  แต่ระบบการผลิตที่เรียกว่าไร่หมุนเวียน  คือไม่โค่นทิ้งทั้งหมด  ไม่ขุดรากถอนโคน  ไม่นานป่ามันก็ฟื้นขึ้นมาใหม่  การผลิตก็ไม่ได้ผลิตเพื่อขาย  ป่าก็ฟื้นตัวได้  มันถูกตอกย้ำด้วยคำว่าไร่เลื่อนลอย  เป็นวาทะกรรมที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม

การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา  ขาดมิติของภาคประชาชนที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา  มีการมองกะเหรี่ยงเหมือนไม่ใช่คน  ความไม่เข้าใจในพหุวัฒนธรรม  มายาคติต่างๆ  การรู้สึกติดยึดในความเป็นชาติจนลืมความหลากหลายทางวัฒนธรรม  ทำให้เลือกปฏิบัติ

เรื่องสวนผึ้ง  พูดถึงเรื่องแม่ค้าน้ำตก  มีคนทำนา  ทำการเกษตร  ใช้น้ำจากลำห้วย  เดิมเป็นคนต้นน้ำ  แต่ตอนนี้รีสอร์ทเข้ามา  คนทำรีสอร์ทเป็นคนต้นน้ำ  คนใช้น้ำเพื่อธุรกิจอย่างหนึ่ง  กับคนใช้น้ำเพื่อทำนา ปลูกพืช  ปัญหาก็เกิดขึ้น  คนทำการเกษตรก็มีปัญหาการช่วงชิงน้ำด้วยเหมือนกัน

ปีที่แล้วมีการเดินสำรวจน้ำกัน  ไปกับ ตชด. ไปกับทหาร เจอฝายน้ำธรรมชาติ  ฝายน้ำคอนกรีตขวางลำน้ำของผู้ประกอบการบ้านพักและรีสอร์ท  เราเจอสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะจัดการ  ปัญหามันใหญ่เกินไป  เกินกว่าที่องค์กรเหล่านี้จะแก้ไข   ภาคประชาสังคมกับท้องถิ่น  เชื่อมโยงกับที่ราชบุรี  เชื่อมโยงกับสื่อ  หรือการที่นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ปัญหาน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความตระหนักรู้

สวนผึ้งถ้าไม่มีวิกฤตขึ้นมา  โครงการใหญ่ๆที่สำคัญก็จะไม่มี  ถ้าไม่มีโครงการเหล่านี้  คนในประเทศจะไม่เห็นสวนผึ้ง  โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ของสมเด็จพระราชินี  โครงการของสมเด็จพระเทพฯ  กำลังบ่งบอกถึงวิกฤตของสวนผึ้ง  จะอยู่กันไม่ได้แล้ว  ถ้าวิกฤตประชาชนสวนผึ้งจะอยู่กันอย่างไร?

คุณสมศักดิ์ เหลืองจรุงรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวนผึ้ง

คนที่มาที่นี่ก็เป็นห่วงสวนผึ้งว่าจะเป็นแบบปายหรือที่อื่นๆหรือเปล่า?  การท่องเที่ยวบูมก็เกิดปัญหา  การจำกัดจำนวนรีสอร์ท  จำนวนนักท่องเที่ยวคงทำไม่ได้  แต่คงจัดโซนนิ่งได้  คงต้องใช้หลายหน่วยงานมาช่วยจัดโซนนิ่ง

ทั้งอำเภอ  ทั้งจังหวัดและหน่วยงานทหารที่ดูแลพื้นที่  กรมธนารักษ์  คงต้องมีการคุยกันในเรื่องเหล่านี้   คนเข้ามาท่องเที่ยวเยอะ  การกินการใช้ก็เยอะ  ขยะมูลฝอยก็เยอะ  จะมีการจัดการขยะมูลฝอยเหล่านี้อย่างไร?  ที่นี่ก็มีแผนงานอยู่  จะให้มีการคัดแยกขยะ  ให้ชุมชนมีส่วนร่วม  ส่วนไหนที่นำไปขายได้  ส่วนไหนที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้   ส่วนไหนที่นำมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

รวมทั้งป่าด้วย  ถ้าให้รัฐดูแลฝ่ายเดียว  ป่าก็หมดไปเรื่อยๆ  ตราบใดที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ปกป้องผืนป่าจะไม่ได้ผล  การปลูกป่าก็ไม่ได้ผล  อยู่มา 12 ปี  มีหน่วยราชการหลายแห่งมาปลูกป่า  มาปลูกกันในหน้าแล้ง  ใครจะมาดูให้  น้ำก็ไม่มีรด  แถมปลูกทีไรก็ต้องปรับพื้นที่ใหม่  แทนที่ป่าจะอยู่  ป่ากลับหายไปเรื่อยๆ  แต่ถ้าเป็นป่าชุมชน  ป่าก็จะฟื้นตัวได้  ไม่ต้องปลูกป่าใหม่

ผศ. ว่าที่ ร.ต. สุรพล สินธุนาวา อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์  สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์

อยากแนะนำว่า  คดีของคุณพรทิพย์  การดำเนินคดีพยายามฆ่าและเรื่องคดีแพ่งเรื่องละเมิดที่แยกฟ้องกันอยู่  ควรเอาคดีแพ่งขอเข้ามีส่วนร่วมกับอัยการ รวมเป็นคดีเดียว

Post to Facebook Facebook



Main: 0.38791990280151 sec
Sidebar: 0.18360590934753 sec