Facilitation Lab - สถาบันพระปกเกล้า – 10 ฉันทามติ–Consensus

โดย จอมป่วน เมื่อ 17 กันยายน 2014 เวลา 0:00 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 7857

ก่อนอื่นมีคำศัพท์ที่ต้องทำความเข้าใจ 2 คำ คือ

เสียงเอกฉันท์ (unanimity)  กับ ฉันทามติ (Consensus)  ลองค้นหาความหมายกันเองนะครับ  ตัวเองก็สับสน  ไม่ค่อยเข้าใจคำว่าฉันทามติ  สงสัยอยู่ว่ามันเป็นไปได้เหรอ?  ไม่ต้องลงคะแนนเสียง  แล้วจะตกลงกันได้อย่างไร?  เลยดั้นด้นมาอบรมครั้งนี้

วันที่ 11 กันยายน 2557 ช่วงเช้าเป็นกิจกรรม “การประชาเสวนาหาทางออก” หรือ Public Deleberation  โดยอาจารย์ชลัท ประเทืองรัตนา ที่ตั้งใจมาเล่าเรียนโดยเฉพาะ  ก่อนจะคุยกันก็ต้องมีกฏกติกาพื้นฐานร่วมกัน  ซึ่งกฏกติกาที่ดี  ต้องมาจากการมีส่วนร่วม  แต่ในการทำกิจกรรมจริงๆ  วิทยากรกระบวนการก็พยายามจะให้กลุ่มช่วยกันกำหนดกติกา  แต่คงต้องใช้เวลานานพอสมควร  อาจไม่ได้ทำกิจกรรมประชาเสวนาหาทางออกแน่ๆ เพราะสมาชิกในกลุ่มเล่นบทบามสมมติได้สมบทบาทจริงๆ  แต่วิทยากรกระบวนการก็เก่ง  จนกลุ่มยอมให้วิทยากรกระบวนการเป็นคนกำหนดกติกาเลยโดยไม่ต้องลงมติและไม่มีใครโต้แย้ง

1410600464123

อันนี้ก็ทำให้เห็นฉันทามติ ปิ๊งเลยครับ !!!!!!

จะเห็นว่าแค่จะกำหนดกฏกติกาในการประชุมหรือทำกิจกรรมด้วยกันแบบมีส่วนร่วม  ยังต้องใช้เวลาพูดคุยกันมาก  และมีประเด็นต้องพูดคุยกันมากมาย  เลยสงสัยอยู่เหมือนกันว่ากฏกติกาการอยู่ร่วมกันของคนในชาติ (รัฐธรรมนูญ) คงยุ่งยากและใช้เวลามากพอสมควร  ถ้าจะช่วยกันกำหนดกฏกติกาแบบที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม  แต่ถ้าทำแบบรวบรัด  ไม่ต้องมีส่วนร่วมคงจะเสร็จเร็ว  แต่ตอนนำมาใช้คงเกิดปัญหามากมายภายหลัง

๖&$@!(&%*)_(+@!+^%@*(^%)_(_)!*@_)%!+!+!

กลับมาเรื่องฉันทามติดีกว่า

กติกาการพูดคุยกันในกระบวนการประชาเสวนาหาทางออก

- มองอดีตเป็นบทเรียน มองไปข้างหน้า  มาฝันร่วมกัน

- ฟังกันอย่างตั้งใจ  ไม่ชี้หน้าด่ากัน

- เห็นต่างไม่ต้องเป็นศัตรูกัน

- การตัดสินใจใช้ฉันทามติ  ไม่ยกมือหรือลงคะแนนเสียงถ้าไม่จำเป็น

- ทุกความคิดมีคุณค่า เราไม่ฆ่าความคิดกัน ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น

1410632765840

อาจารยชลัทออกแบบมาดังนี้ครับ

โจทย์รอบแรก “ท่านอยากเห็นอนาคตการเมืองไทยเป็นเช่นใด”  โดยให้แบ่งเป็น 2 กลุ่มกลุ่มละประมาณ 10 คน  ไปเข้ากลุ่มคุยกัน

ผลการพูดคุย กลุ่มแรกได้ผลสรุปออกมาว่า

- อยากให้บ้านเมืองมีกฏหมายที่ดี  มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง

- ไม่มีการคอรัปชั่น

- มีความโปร่งใส

- ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

ผลการพูดคุย กลุ่มที่สองได้ผลสรุปว่า

- ต้องพัฒนาหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ

- การเมืองที่มีธรรมาภิบาล

- ศาสนานำการเมือง

ทั้งสองกลุ่มก็กลับมารวมกัน  นำเสนอผลของการพูดคุยทั้งสองกลุ่ม  วิทยากรกระบวนการ (พี่ภณเป็น Fa ,พี่น้ำฝนเป็นคุณลิขิต) ก็จะให้แบ่งเป็นสองกลุ่มใหม่  นำผลของกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สองไปพูดคุยกันว่า  ต้องทำอย่างไร? และใครเป็นคนทำ?  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

1410632757700

คราวนี้ก็เป็นเรื่องเลยครับ  สมาชิกกลุ่มก็เริ่มแสดงความคิดเห็นว่าทำไมแยกสองกลุ่มทำกันคนละเรื่อง  โจทย์ที่อาจารย์ใหมา  “ท่านอยากเห็นอนาคตการเมืองไทยเป็นเช่นใด”  ทั้งหมดต้องมองเห็นเป็นภาพเดียวกันก่อน (Shared Vision)  จะแยกกลุ่มกันทำก็ไม่เป็นไร

ทั้งกลุ่มก็เลยต้องมาตกลงกัน เอาภาพฝันของทั้งสองกลุ่มมารวมกันเป็นภาพฝันเดียวกัน  ลองนึกภาพดูนะครับ  แต่ละคนก็เล่นบทบาทสมมติกันเต็มที่  บางคนเอาหัวโขนมาด้วยซ้ำ  ต่างคนต่างมีเหตุผล  ความคิดเห็นแตกต่างกัน  พูดคุยถกเถียงกันตั้งแต่ประเด็นการแบ่งกลุ่มจะแบ่งอย่างไร?  ใช้ภาพฝันสองภาพที่แตกต่างกันหรือจะยุบรวมกัน?  ถ้ายุบรวมกันจะใช้แนวคืดของกลุ่มไหน?  กว่าแต่ละกลุ่มจะได้ผลสรุปมาก็ชุลมุนกันมากพอสมควร

วิทยากรกระบวนการ (พี่ภณ) ก็เก่งนะครับ  จัดบรรยากาศการพูดคุยได้ดี

มีการเสนอว่าการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของกลุ่มสองเป็นสิ่งที่ต้องทำ  ไม่ใช่ภาพที่ต้องการ  ทางสมาชิกกลุ่มสองก็ยอมรับ  ยอมให้ตัดประเด็นนี้ออก

มีการเสนอว่า  บ้านเมืองมีกฏหมายที่ดี มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง, ไม่มีการคอรัปชั่น, มีความโปร่งใส, ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม, ศาสนานำการเมือง ก็เป็นองค์ประกอบของธรรมาภิบาล ภาพรวมควรจะเป็นประเทศมีระบบการเมืองที่มีธรรมาภิบาล

มีคนเสนอว่า

- อยากให้เน้น “บ้านเมืองมีกฏหมายที่ดี มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง”

- ถ้ายังงั้นก็ควรจะใช้คำว่า “นิติรัฐ”

- อยากให้คงคำว่า  “บ้านเมืองมีกฏหมายที่ดี มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง”

- ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

เลยสรุปว่าที่พูดคุยกันมา “อยากเห็นอนาคตการเมืองไทยเป็นการเมืองที่มีธรรมาภิบาล บ้านเมืองมีกฏหมายที่ดี มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง”

ไม่ต้องลงคะแนนเสียง  ไม่ต้องยกมือ  ไม่มีคนโต้แย้ง ……..ปิ๊งแว๊บเลยครับ       “ฉันทามติ”      ไม่ต้องนิยาม  จำไปตลอดชีวิตเลยครับ

เที่ยงเศษแล้ว  เลยไม่ได้ทำกิจกรรมต่อ  แต่แค่นี้ก็พอแล้วครับ…………..

Post to Facebook Facebook

« « Prev : Facilitation Lab - สถาบันพระปกเกล้า – 9 เกมทายใจ

Next : ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์-ด้วยหัวใจวิถีพุทธ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "Facilitation Lab - สถาบันพระปกเกล้า – 10 ฉันทามติ–Consensus"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.2712459564209 sec
Sidebar: 0.24972414970398 sec