ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (2)

โดย จอมป่วน เมื่อ 15 กันยายน 2011 เวลา 18:05 ในหมวดหมู่ จอมป่วน, ธรรมะ #
อ่าน: 2540

ภูวเดช  มังสาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูพญาบิวดิ้ง จำกัด

ภูวเดช

ปัญหาเรื่องน้ำยังไม่น่าถึงวิกฤต ถ้าทุกฝ่ายร่วมจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์กัน  ชุมชนและธุรกิจรีสอร์ทหาทางออกร่วมกันก็คงจะพอใช้อยู่  ไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดความเจริญ  ความเจริญที่เข้ามาในท้องถิ่นเป็นโอกาสของคนในชุมชนท้องถิ่น  แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี

ดร. แสนศักดิ์ ศิริพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและชุมชนสัมพันธ์  มห่วิทยาลัยราชภัฏสงขลา

เป็นเรื่องของพื้นที่เฉพาะ  พื้นที่ชายขอบ  พื้นที่จังหวัดชายแดนจะมีปัญหาเรื่องความมั่นคง  เป็นเรื่อง Buffer Zone

ทางใต้ก็มี  ไม่ว่าสตูล ยะลา มี Buffer Zone หมด  นาทวีทั้งอำเภอ  การอยู่ร่วมกัน  การแบ่งประโยชน์กันลงตัวก็ไม่มีปัญหา  อาจจะมีปัญหาของนายทุนที่เข้ามาลงทุนมาก  ต้องการความมั่นคงในเรื่องเศรษฐกิจมาก

ขอเสนอทางด้านสังคม  ถ้าเยาวชนมารับรู้ปัญหาเหล่านี้แล้วเกิดทัศนคติที่ไม่ดี  ไม่สามารถอยู่ร่วมกันก็จะเกิดปัญหาในอนาคต  ได้พูดคุยกันเรื่องที่จัดอบรมมัคคุเทศก์ การท่องเที่ยว การพัฒนาเยาวชนต่างๆ  การศึกษา   อยากฟังเสียงสะท้อนจากเด็กๆว่าคิดอย่างไรบ้าง อาจจะไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำกันในปัจจุบัน

การพูดคุยกันต้องพูดคุยกันจริงๆ  เรื่องความมั่นคงก็ว่ากันไป  แต่เรื่องของเศรษฐกิจก็ต้องมาคุยกัน  ชายแดนประเทศไทยไม่ว่าทางพม่า ลาว  มาเลเซีย เขมร ก็พูดคุยกันให้ไปแนวทางเดียวกัน

พล.ต.ต. อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ รองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ

น้ำตกในประเทศมันเป็นของชุมชนหรือของคน 60 ล้านคนหรือของคนทั้งประเทศ  ถ้ามาเที่ยวน้ำตกแล้วไม่มีน้ำตก  น้ำหายไป  มีคนสูบไป  ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน คนนำไปทำมาหากิน เมื่อวานฟังดูแล้ว น้ำตกเป็นของชุมชนก็แบ่งกันดูด  ชุมชนก็แบ่งกับผู้ประกอบการรีสอร์ท  คนอื่นมาเที่ยวก็ไม่มีน้ำตก  ใครจะรับผิดชอบ

น้ำตกเป็นทรัพยากรที่ไม่มีผู้ใดเอาไปได้  ต้องให้เป็นธรมมชาติตลอดไป  ถ้าจะเอาจริงๆก็ต้องเป็นน้ำที่ลงมาล่างสุดแล้ว

เรื่องเขตที่ดินต้องมีความชัดเจน  ใครก็ตามที่มาซื้อที่ดินที่ไม่ใช่โฉนดก็ต้องยอมรับความเสี่ยง  ซื้อไปแล้วต่อมาทหารมาเป็นผู้ชี้เขตว่าเป็นเจ้าของ  ก็ต้องยอมรับ  ผู้ที่มีสิทธิจะกำหนดกฏกติกามารยาทอย่างไร?  กฏกติกามารยาทต้องชัดเจน  ไม่คลุมเครือ  มิฉะนั้นจะมีปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด

ใครมาใช้ทรัพยากรของชาติ  ต้องมีการชดใช้  ไม่ว่าจะครอบครองและทำประโยชน์มานานเท่าใด มิฉะนั้นคนทั้งชาติก็จะขาดทุนเรื่อยไป ใครมาก่อนใช้ก่อนโดยที่ไม่มีสิทธิชัดเจนเพราะไม่มีโฉนด  ใช้มาตั้งนาน  พอมีคนอ้างสิทธฺิก็เริ่มต้นใหม่ ไม่มีการชดใช้  ได้ประโยชน์ไปแล้วไม่มีการพูดถึง  เป็นการเอาเปรียบประเทศไทย

คธาทร อัศวจิรัฐติกรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์สี กองทัพบก ช่อง 7

คธาทร1

เพิ่งมารับทราบเรื่องราวสวนผึ้งเป็นครั้งแรก  ประทับใจอำเภอสวนผึ้ง  สวนผึ้งมีความได้เปรียบ  อย่างแรกที่สุดก็คือโมเดลในการแก้ไขปัญหา การสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมและการรับรู้ปัญหาของชาติได้อย่างเป็นระบบ  ถ้ามีการแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจังจะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นโมเดลที่จะแก้ไขปัญหาในทำนองเดียวกัน

ปัญหามีหลากหลาย  มีหลายมิติ มีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง ปัญหาเศรษฐกิจ  ปัญหาปากท้องอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของคนไทยในภาวะโลกาภิวัฒน์ที่ต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจโลก

ปัจจุบันนี้ถ้าเราจิ้มมือลงในแผนที่ประเทศไทย  แทบทุกส่วนล้วนมีปัญหาที่ดินทำกิน  ปํญหาสภาพแวดล้อม ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติซึ่งตำตาตำใจ เป็นหนามยอกอกประชาชนไปแทบทุกหย่อมหญ้า

ถ้าโมเดลของสวนผึ้งซึ่งมีข้อได้เปรียบ  คือมีปราชญ์ชาวบ้าน มีผู้นำชุมชนที่แข็งแกร่ง มีการจัดตั้งที่ค่อนข้างจะดี และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม  รวมทั้งภาครัฐที่พยายามที่จะเข้ามารับรู้ปัญหา เปิดใจกว้าง และพยายามที่จะแก้ไขปัญหา    ถ้าทุกภาคส่วนได้ร่วมกันและพยายามแก้ไขปัญหา  น่าจะเป็นโมเดลที่จะแก้ไขปัญหาของชาติได้

อ. มีชัย เคยมีการปฏรูปกฏหมายใหญ่อยู่ครั้งหนึ่ง เป็นการปฏิรูปกฏหมายของการบริหารราชการที่แต่ละฝ่ายมีกฏหมายวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป  กฏหมายของแต่ละหน่วยงานที่ขัดแย้งกันก็เคลียร์เสียให้เรียบร้อย  เช่นกฏหมายป่าไม้  กฏหมายที่ดิน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทั้งหลายซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ  ถ้าที่สวนผึ้งทำตรงนี้ได้  ชาวบ้านก็น่าจะยิ้มแย้มแจ่มใสได้มากกว่านี้

ผศ. ว่าที่ ร.ต. สุรพล สินธุนาวา อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ระยะเวลาเช่า 3 ปีน้อยเกินไป  ควรจะแก้ระยะเวลาการเช่าเป็น 20-30 ปี  ไปจดทะเบียนให้ถูกต้องกับสำนักงานที่ดิน

อวยชัย คูหากาญจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

เรามีปัญหาที่ดินและน้ำมานานแล้ว  แก้ไม่ได้ง่ายๆ  ต้องใช้ระยะเวลา  แต่ปัญหามีแนวโน้มจะเกิดเพิ่มมากขึ้น  จะป้องกันได้อย่างไร?

ปัญหาเกี่ยวกับกฏหมายที่มีอยู่หลายฉบับ  และมีหลายหน่วยงานหลายกระทรวงเกี่ยวข้อง  มีความพยายามแก้ไขปัญหาอยู่มากแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ

พูดถึง นอมินี ก็ไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนว่า นอมินีคืออะไร  การถือครองที่ดินห้ามต่างชาติถือครองที่ดิน  แต่ก็มีการเลี่ยงในรูปของบริษัท   มีการให้คนถือหุ้นแทน  แต่ไม่เคยมีการดูไปถึงผู้ถือหุ้นชั้นสุดท้ายที่เป็นบุคคลธรรมดาว่ามีต่างชาติถืออยู่เท่าไหร่?   มีพูดถึงเหมือนกันแต่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐาน

ประเทศเราขาดความชัดเจน  ข้าราชการไม่รู้จริง  มีการจัดทำคู่มือ  แต่คู่มือก็ไม่ละเอียดในแนวทางปฏิบัติ  การบังคับใช้กฏหมายให้เกิดความชัดเจนมีปัญหา  ไม่ค่อยเห็นด้วยกับ สปก. มีความพยายามให้คนเข้าไปปลูกป่า มีความพยายามเอาที่ป่าเสื่อมโทรมมาออกเป็น สปก. 4-01  แต่ปัจจุบันลองดูว่าคนที่ถือครอง สปก. 4-01 เป็นใคร

พ.ต.อ. ดร. ภาดล ประภานนท์ รองผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน กองบัญชาการตำรวจนครบาล  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ


มองความต้องการ  แรงดึงดูดใจให้คนมาท่องเที่ยว  เป็นบรรยากาศ  อากาศดีมาก  เรื่องของฮวงจุ้ยดีมากเหมือนกัน  มีน้ำ มีเขา มีธรรมชาติ

มองถึงการทำลาย  คนมามากก็เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เกิดปัญหาความขัดแย้ง เป็นผลต่อเนื่องกันมา

ต้องหาคำตอบว่าระหว่างความต้องการกับการทำลาย  ทำอย่างไรให้อยู่ในภาวะสมดุล  ในสังคมมันอยู่คู่กันไป

ดร. สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์

ถ้าศึกษาเรื่องกฏหมายด้านสิ่งแวดล้อมจะมี Keyword สำคัญว่า   โศกนาฏกรรมส่วนรวม(Tragedy of the Common)  อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกที่ในประเทศไทย  เมื่อไหร่ที่ดินที่ถูกเรียกว่าเป็นของรัฐ รัฐก็ไม่ได้ดูแล  มันมีคำว่าสิทธิเป็นของผู้บุกรุก ก็จะต่อสู้กันไปทุกที่

ในมุมมองของนักกฏหมายหรือด้านความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมจะตีกันตลอดระหว่าความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม  ผลประโยชน์ของธรรมชาติ  ระบบนิเวศน์ต่างๆ  เหมือนสวนผึ้งจะทำอย่างไรให้รักษาป่า  ลุ่มน้ำ  ความสมบูรณ์ของธรรมชาติต่างๆ  กับประเด็นความเป็นธรรมด้านสังคม (Social Justice)  มันเป็นเรื่องความเป็นหนึ่งของมนุษย์ ของชุมชน ของชาวบ้าน  เมื่อชาวบ้านต้องต่อสู้กับภาคเศรษฐกิจจะสู้กันอย่างไร  มีหลายมิติที่ต้องมอง

ถ้าถามว่าลุ่มน้ำหรือน้ำตก เป็นของประชาชนทุกคน  แปลว่าชุมชนไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์? หรือใช้มากเกินไปหรือเปล่า?  ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ตามมาตรา 66 และ 67 ดีกรีของการใช้สิทธิต่างกันระหว่างคนกรุงเทพฯ กับคนในพื้นที่  คนในพื้นที่มีสิทธิใช้ประโยชน์เป็น Direct Use  ในขณะที่คนกรุงเทพฯ มาตรา 67 บอกว่ามีสิทธิได้ประโยชน์  ตรงนี้เป็นประเด็นที่จะตีความขอบเขตของกฏหมายนี้อย่างไร?

ในแง่ของการปฏิรูปกฏหมายควรปฏิรูปกฏหมายที่ดินทั้งหมดมาเป็นประมวลกฏหมายที่ดินและป่าไม้  เพื่อรวม พรบ. ราชพัสดุ  พรบ.ที่สาธารณะทั้งหลาย  พรบ. ป่าไม้ที่มีมากกว่า 5-6 ประเภท  อุทยาน  สงวนพันธุ์สัตว์ป่าหรือพันธุ์พืช  ให้มันเป็นหนึ่งเดียว  จะได้ให้คนเห็นภาพว่าแต่ละประเภทของที่ดินควรจะถูกใช้อย่างไร?

ศาลที่ทำงานพิเศษเกี่ยวกับที่ดิน ป่าไม้ควรมีหรือไม่?  ปัจจุบันในส่วนของศาลปกครองและศาลยุติธรรมก็ทะเลาะกันตลอด คดีที่ดิน  ป่าไม้  ศาลก็มีข้อขัดแย้งเรื่องนี้ ควรมีศาลพิเศษ  ที่ดิน ป่าไม้ไหม?  เพราะเป็นวิกฤตของประเทศ

ทรงจิต มุขดี ผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานสินค้าส่งออก บริษัท เบลเซอร์เวย์ จำกัด

ทรงจิต1

อยากเล่าเรื่องอดีตของสวนผึ้ง  เพราะเคยมีความสัมพันธ์ในพื้นที่นี้ตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้ว  จากบ้านป่าหวายถึงสวนผึ้งเป็นป่า  สวนผึ้งก็ยังไม่เจริญ  ชาวกะเหรียงได้ทำการหักร้างถางพงโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนและผู้นำชุมชนในเขตนี้  ได้นำที่ดินไปเสนอขายถึงกรุงเทพฯ นครปฐม  จนเจริญขึ้นมา  ก็มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อ  แต่เมื่อวานก็ไม่ได้พูดถึงเลย

ไม่มีการพูดถึงเลยว่าเข้ามาอยู่กันตั้งแต่ปีไหน ตอนซื้อที่ดินก็ยอมรับสภาพนั้นกันอยู่แล้ว  เพราะทางเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือฝ่ายปกครองก็ทำได้อย่างเดียวคือให้เสียภาษีเหยียบย่ำ

……ยังมีต่อ………

Post to Facebook Facebook

« « Prev : ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (1)

Next : ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (3) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (2)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.6894359588623 sec
Sidebar: 1.1337380409241 sec