ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (1)
อ่าน: 2412เนื่องจากการเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning หรือ Participatory Learning หลังจากศึกษาดูงานที่ สวนผึ้ง รับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขจากมุมมองของผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยว และจากภาคประชาสังคมแล้ว ก็ต้องมานั่งพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถอดบทเรียนกัน
เช้าวันที่ 14 สิงหาคม 2554 08.30-09.30 น. ก็มีการพูดคุยกันที่โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ลุงเอกของเราก็กล่าวนำ
ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆพื้นที่ของประเทศไทย สวนผึ้งเป็นพื้นที่ติดชายแดนพม่า มีกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ตั้งแต่แม่ฮ่องสอนถึงระนอง วันนี้บ่ายก็จะได้ไปดูพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน (Tham Hin Temporary Shelter) ซึ่งเป็นศุนย์อพยพที่ไม่มีรั้ว ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เพราะมีผู้อพยพอยู่ถึง 6,000 คน อยู่ต้นน้ำ รอการอพยพไปอยู่ประเทศที่สาม เช่นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เพราะนโยบายของสหรัฐอเมริกา ไม่อยากให้ส่งกลับไปประเทศเดิม อยากให้อพยพไปอยู่ประเทศที่ 3
ลุงเอกเปิดโอกาสให้พูดคุยกัน แต่ขอคนละ 3 นาที
วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัทการบินไทย จำกัด
จากข้อมูลที่ได้รับเมื่อวาน ตัวเองสรุปได้ว่ามีปัญหาที่สวนผึ้งมีปัญหาเรื่องน้ำกับที่ดิน นำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรงก็ตามมา ทั่วโลกก็มีปัญหาแบบนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเยอะ ผลประโยชน์ก็เยอะด้วย
แก้ปัญหาควรเป็นเชิงอนุรักษ์ ให้หยุดทุกอย่างไว้ก่อน รีสอร์ทที่มีอยู่ก็ไม่ให้มีเพิ่ม จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว สื่อให้สังคมข้างนอกได้รับรู้ปัญหา ให้ภาคประชาสังคมในท้องที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
ภักดี ภักดิ์นรา ทนายความหุ้นส่วน บริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และเพียงพนอ จำกัด
เรื่องที่ดินน่าจะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่ายที่สุดเพราะเป็นเรื่องที่จับต้องได้ ควรจะมีภาพถ่ายดาวเทียมที่สามารถบอกได้ว่ามีการใช้พื้นที่ตั้งแต่เมื่อไหร่? ใช้พิสูจน์สิทธิได้
เรื่องให้เช่าของกรมธนารักษ์ควรคิดค่าเช่าตามประเภทการใช้ คนเป็นคนสร้างกติกาขึ้น น่าจะแก้ไขได้ โดยคำนึงถึงความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สิ่งที่ต้องติดตามดูคือพอให้สิทธิไปแล้วจะเปลี่ยนมือได้หรือไม่? เพราะไม่ว่าจะกำหนดเกณฑ์อย่างไร เช่น สปก. ที่กำหนดว่าห้ามเปลี่ยนมือ ในที่สุดนักกฏหมายหรือคนที่เกี่ยวข้องก็หาทางเลี่ยงได้อยู่ดี ถ้าเปลี่ยนสัญญาเช่าเป็น 30 ปี จะเปลี่ยนมือได้หรือไม่? มองที่ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คนใช้ที่ดินก็จะมีความมั่นคงในการใช้ที่ดินระยะยาว กรมธนารักษ์ก็จะได้หลักเกณฑ์ว่าใครบ้างเข้ามาใช้
ลุงเอก
บางพื้นที่ไม่ยอมเช่ากับกรมธนารักษ์ แต่จะเอาเอกสารสิทธิอย่างเดียว
ดร. สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร
เรื่องที่ดินมีกฏหมายหลายฉบับ พื้นที่ต้องชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ใด ที่ดินเองก็มีปัญหาในการรังวัด ที่ในโฉนดบางทีก็ไม่แน่นอน ทางแก้ที่ตรงที่สุดคือต้องรังวัดให้ชัดเจนก่อน แล้วดูว่าใช้กฏหมายไหน เพราะจะไม่เหมือนกัน
การจัดการน้ำ คนในพื้นที่จะรู้ดีที่สุด ถ้าทำประชาคมแล้วยอมกัน บ้านเฉลี่ยสุขก็ดูจะอุดมคติไปหน่อยแต่ถ้ายอมรับกันก็เป็นไปได้ เป้าหมายคือเฉลี่ยความสุขให้ทุกคนอยู่ได้ ถ้าจำกัดจำนวนคนไม่ได้ ก็มีปัญหาทรัพยากรน้ำแน่ๆ ให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาก็จะแก้ปัญหาได้
ลุงเอก
เราไปลงพื้นที่ที่ตรังกันมา ตรังกำลังจะทำเรื่องป่าชุมชน เขามีพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวติดเอาไว้ เอามาให้ดูจะได้เห็นว่าความเป็นจริงที่แท้จริงเป็นอย่างไร? พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทราบดีเพราะท่านดูแลประชาชนมา มันเป็นเรื่องการจัดการของรัฐที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น
“ …กฏหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฏหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชน ก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงข้าม กฏหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลหมู่มากมีเสรีและอยู่ด้วยความสงบ บางทีเราตั้งกฏหมายขึ้นมาก็ด้วยวิชาการที่ได้จากต่างประเทศ เพราะว่าวิชาการกฏหมายนี้ ก็เป็นวิชาการที่กว้างขวางจึงต้องมีอะไรทำอย่างหนึ่ง แต่วิชาการนั้นอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือท้องที่ของเรา บางทีเคยยกตัวอย่างมาเกี่ยวกับที่ดิน เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของประชาชนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งเราเอากฏหมายไปบังคับประชาชนเหล่านั้นไม่ได้เพราะว่า…เป็นความผิดของตัวเอง เพราะการปกครองไม่ถึงประชาชนที่อยู่ห่างไกลจึงไม่สามารถที่จะทราบถึงกฏหมาย ความบกพร่องก็อยู่ที่ทางฝ่ายที่บังคับกฏหมายมากกว่าฝ่ายที่ถูกบังคับ ข้อนี้ควรจะถือเป็นหลักเหมือนกัน ฉะนั้น…ต้องหาวิธีที่จะปฏิบัติกฏหมายให้ถูกต้องตามหลักของธรรมชาติ…
…ในป่าสงวนซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นไว้ว่าเป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนก แต่ว่า เราขีดเส้นไว้ประชาชนก็มีอยู่ในนั้นแล้ว เราจะเอากฏหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่อยู่ในป่าที่ยังไม่ได้สงวนแล้วไปสงวนทีหลัง โดยขีดเส้นบนเศษกระดาษก็ดูชอบกลอยู่ แต่มีปัญหาเกิดขึ้นที่เมื่อขีดเส้นแล้ว ประชาชนที่อยู่ในนั้นก็กลายเป็นผู้ฝ่าฝืนกฏหมายไป ถ้าดูในทางกฏหมายเขาก็ฝ่าฝืนเพราะว่าตรามาเป็นกฏหมายโดยชอบธรรม แต่ว่า…ถ้าตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฏหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง เพราะว่า บุคคลที่อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์ หมายความว่า…ทางราชการบุกรุกบุคคล ไม่ใช่บุคคลบุกรุกกฏหมายบ้านเมือง…”
กฤษณะเดช โสสุทธิ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง
เราได้รับชุดข้อมูล 3 ชุด จากผู้ประกอบการ จากภาคประชาสังคมและจากภาครัฐ ชุดข้อมูลทั้ง 3 ชุดมีข้อมูลที่ไม่สอดรับกัน มันแย้งกันอยู่ ชุดข้อมูลทั้ง 3 ชุดนี้เคยเอามานั่งดูแล้วนั่งคุยกันไหม?
สภาพปัญหาที่เกิดก็เป็นเรื่องที่ดินและเรื่องน้ำ มีปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในการพิสูจน์สิทธิ ระหว่างที่กาญจนบุรีกับที่สวนผึ้ง
ที่สนใจมากที่สุดเป็นเรื่องของแนวคิดกับกระบวนการการจัดการความขัดแย้ง กรอบความคิดของเขาอยากให้มีเวทีที่เอาทุกภาคส่วนมาพูดคุยกันเพื่อนำไปสู่การจัดการความขัดแย้ง
เริ่มเห็นกระบวนการที่ถูกนำมาใช้
- สภาพลเมือง เป็นตัวหนึ่งที่จะนำไปสู่กระบวนการการจัดการความขัดแย้ง
- ท้องถิ่นเริ่มมีกรอบความคิดที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเรื่องน้ำ จึงเกิดคณะกรรมการขึ้น ถ้านายกฯ ไม่ได้เป็นแล้ว การบริหารจัดการน้ำภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมจะยังอยู่ต่อไปไหม? ถ้าชุดใหม่เข้ามา
ข้อมูลเชิงลึก ภายหลังที่คณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาบริหาร เงินรายได้เหลือเยอะ ประมาณ 2-3 แสน จัดเป็นสวัสดิการได้ นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ?
เวทีที่ว่ายังไม่เคยเกิดขึ้นเลย
ลุงเอก
จะเริ่มเกิดขึ้นเพราะทาง 4ส2 ภาคพลเมืองที่ราชบุรีและสำนักสันติวิธีฯ จะเริ่มทำเวทีนี้ ใครสนใจก็มาร่วมได้
ณัฏฐ์ วัลลิโภดม ผู้อำนวยการพรรคกิจสังคม
ที่รับฟังเมื่อวานจากบุคคลที่ตำแหน่งหน้าที่แตกต่างกัน แต่ก็เป็นปัญหาเรื่องน้ำและที่ดิน แต่ละท่านยังมีอคติในตัวเอง ยังรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง
บรรพบุรุษชาวกระเหรี่ยงก็ได้สร้างปัญหาไว้ แล้วจะมาแก้ปัญหาในปัจจุบัน หนทางยังอีกยาวไกล
การดูแลเรื่องน้ำ ก็มีผลประโยชน์เกี่ยวกับร้านค้า
ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่
แต่โดยภาพรวมแล้วก็ต้องการปกป้องผืนดินและน้ำ ต้องดูเวลานี้ ใครเป็นผู้มีอำนาจ ใครเป็นคนของใคร ใครใกล้ชิดผู้ใหญ่มากกว่ากัน ชาวบ้านไม่สามารถอ้าปากใดๆได้ นอกจากรวมกลุ่มประชาคม
ใครมีอำนาจ ณ เวลานั้น คนเหล่านี้ก็จะได้ผลประโยชน์โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวเอง โฉนดที่ดินและ น.ส. 3 ก. ก็จะตามมาภายหลัง
ถ้ามีการบริหารจัดการน้ำที่ดี สวนผึ้งก็จะมีน้ำใช้ เช่นการเจาะน้ำบาดาล อยู่ที่ผู้นำชุมชนด้วย
พันเอก ดร. พิเชษฐ คงศรี นายทหารปฏิบัติการกองบัญชาการกองทัพไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดระยะเวลา 60 ปีพระองค์ทรงทำอยู่ 2 เรื่องคือเรื่องดินกับน้ำ
ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสวนผึ้ง ซึ่งเป็นที่มาของสวนผึ้งโมเดล เป็นปัญหาในเชิงแนวความคิดที่แตกต่างกัน หรือมโนธรรมที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว
มิติของชาวบ้านมองว่าเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิในที่ดิน โดยอ้างชาติพันธุ์ การเคยทำกินในที่นี้มาโดยตลอด เป็นมิติใหม่ที่สังคมไทยที่กำลังขับเคลื่อนเข้าสู่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หรือการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งเป็นมิติที่ภาครัฐจะปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไป
มโนทัศน์หรือแนวความคิดของผู้ประกอบการจะอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง จะมองในมิติที่มีผลประโยชน์เป็นตัวเงิน
ในขณะที่ภาครัฐจะมีมโนทัศน์หรือมุมมองในด้านการปฏิบัติตามกฏหมาย เพราะภาครัฐมองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของภาครัฐมาโดยตลอด กฏหมายเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐก็จะยืนอยู่บนกรอบของกฏหมาย มีกฏหมายที่ภาครัฐต้องปฏิบัติเยอะแยะไปหมด
สามกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกันกันในพื้นที่ของสวนผึ้งนี้นำมาซึ่งความขัดแย้ง ถ้าย้อนไปหาสมุทัยของปัญหา เราจะทำอย่างไรให้วิธีคิดนี้ตกผลึก เกิดการยอมรับร่วมกัน แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำกับดิน และเรื่องสมดุล การดำรงอยู่ของคนในสังคมที่หลากหลายตามภูมิภาคต่างๆ
อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
ปัญหาที่ดินมีกฏหมายหลายฉบับและมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องเกี่ยวข้อง ยิ่งปัญหาที่ดินชายแดนจะมีปัญหาความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการเสนอการปฏิรูปกฏหมายที่มีความสำคัญมากแต่ยังไม่ผ่าน มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจของกฏหมาย ต้องปฏิรูปกฏหมายเรื่องที่ดินที่มีปัญหามายาวนานมาก มีเรื่องการสืบทอดการครอบครองในระบบศักดินา จนกระทั่งตกทอดมาถึงปัจจุบัน
การปฏิรูปกฏหมายต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ต้องกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาที่ดินของตัวเอง ประเทศไทยมีปัญหาโครงสร้างอำนาจ ต้องเป็นแบบชุมชนจัดการตนเอง
…..มีต่อ…..
« « Prev : พูดคุยกับชาวบ้านที่สวนผึ้ง
Next : ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (2) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (1)"