ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (3)

โดย จอมป่วน เมื่อ 16 กันยายน 2011 เวลา 1:19 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 1902

กิจจา อาลีอิสเฮาะ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

มีความเห็นต่าง  เมื่อวานที่ฟังจะมี 2 ส่วน  ส่วนแรกก็เป็นภาคธุรกิจ  ภาคผู้ประกอบการ 3 ท่านมาพูดให้เราฟัง  ส่วนที่ 2 ก็เป็นภาคพลเมือง  ภาคประชาชนในพื้นที่

มองลึกลงไปจะเห็นความกังวลของทั้ง 2 ฝ่าย

ฝ่ายผู้ประกอบการเข้ามาตั้งแต่ปี 2538  หลังจากนั้นก็มีปัญหากับกรมธนารักษ์  เคยทำคดีประเภทนี้  เช่นที่กองบิน  ประจวบคีรีขันธ์  และคดีที่ดินที่จังหวัดกาญจนบุรี   เดิมกรมธนารักษ์ก็เข้ามาประกาศเวนคืนที่ดิน สักพักทางทหารก็มาขอใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่มีผู้ประกอบการเกษตรก็ดี  เลี้ยงสัตว์ก็ดี  ผู้ที่ทำกินอยู่เดิมก็จะถูกขับไล่โดยฝ่ายทหารอ้างว่าจะใช้ประโยชน์  เมื่อประกาศลักษณะแบบนี้ผู้ประกอบการจะเสียประโยชน์  เมื่อวานพอพูดถึงเรื่องทหาร  แต่ละคนเกิดความกังวล  บอกว่าผมไม่ได้พูดนะ  ฉันไม่ได้พูดนะ

ปัญหาของชาวบ้าน ถ้าเป็นแค่เรื่องของกรมธนารักษ์  เป็นเรื่องของการเช่าก็ยินดี  แต่อยากให้ผูกพันเรื่องค่าเช่าหลายๆปี  แต่ถ้า 3 ปีนี่มีปัญหาแน่นอน

สุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ  สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมื่อวานนี้ประทับใจที่มีการพูดคุยกันท่ามกลางปัญหาและตกลงกันได้ในที่สุดว่า จะหาทางออกด้วยกัน  เป็นวิธีการที่ดี  ปัญหาคือเมื่อตกลงกันได้จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร?  ในระหว่างที่นำไปสู่การปฏิบัติ  จะเกิดปัญหาความขัดแย้งอะไรกันอีกหรือไม่?  จะจัดการอย่างไร?

นายแพทย์เล็ก ทวีเติมสกุล เลขาธิการมูลนิธิสหพันธ์สันติภาพสากล (ประเทศไทย)

เล็ก

ปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาของการใช้ทรัพยากร

ทรัพยากรทั้งหลายโดยธรรมชาติเป็นของส่วนรวม  ไม่มีใครมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของเพราะเราไม่ได้เป็นคนสร้าง  ในการที่จะแบ่งสรรปันส่วนและการจะอยู่ร่วมกันของคน  ถ้าจะให้เกิดสันติสุขได้และไม่ขัดแย้ง  มีพื้นฐานอยู่ 3 ประการด้วยกัน

  1. การอยู่ร่วม (Coexcistence)
  2. การเติบโตพัฒนาร่วมกัน (Co-Prosperity)
  3. ความชอบธรรมร่วมกัน (Corighteousness)

การอยู่ร่วม  เราทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน  มีชีวิตรอดอยู่ร่วมกันได้อย่างพอเพียงบนพื้นฐานร่วมกัน

การเติบโตพัฒนาร่วมกัน  ไม่มีใครอยากอยู่อย่างยากจน  ทุกคนต้องการความเจริญ  การพัฒนาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ทุกคนมีสิทธิที่จะเติบโตและพัฒนาไปร่วมกัน

ความชอบธรรมร่วมกัน  ถ้าปราศจากความชอบธรรมโดยถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักแล้ว  ปัญหาก็จะเกิดขึ้น  ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน  ความขัดแย้งมันมาในมิติของอำนาจ  คือของที่เป็นธรรมชาติ  ใครจะมีสิทธิที่จะไปครอบครอง  คนที่ครอบครองเป็นคนที่มีอำนาจ  มันมาบนพื้นฐานของอำนาจรัฐและอำนาจรัฐก็จะถูกใช้เพื่อตั้งกติกา

บริบทของอำนาจและความมีสิทธิในการเป็นเจ้าของต้องมาบนพื้นฐานของความเป็นธรรม  ถ้าหากว่าไม่มีคุณธรรมหรือไม่มีธรรมะเป็นแก่นโดยใช้ความเห็นแก่ตัวเป็นหลัก  ก็จะเกิดความขัดแย้ง  ประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือคนที่จะสามารถบริหารจัดการความขัดแย้ง  จะต้องเริ่มจากคนที่มีอำนาจและบริหารอำนาจและใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม

ถ้าไม่มีการแก้ไขในระบบของกฏหมาย   กฏหมายเป็นกติกาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้เกิดระเบียบที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย    ถ้ากฏหมายมีปัญหา  โครงสร้างมีปัญหา  ผู้ใช้กฏหมายหรือใช้อำนาจไม่ยืนอยู่บนความเป็นธรรม  ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้น

ต้องมองดูว่าธรรมชาติหรือทรัพยากรทั้งหมดทุกคนมีสิทธิใช้ร่วมกันเพื่ออยู่อย่างมีความสุข  และพัฒนาไปร่วมกันอย่างมีความสุขและบนกติกาของความเป็นธรรม

ปัญหาที่มีการรวมตัวของชุมชนและเรียกร้องเพราะไม่มีอำนาจอยู่ในมือ  จึงต้องเริ่มต้นจากตรงนั้น  การแก้ไขปัญหาถ้าภาครัฐซึ่งถืออำนาจอยู่ในมือ  สามารถกำหนดกฏกติกาได้  ไม่เข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้ก็จะเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปเรื่อยๆ

ภาครัฐก็ดี  ภาคเอกชนผู้ประกอบการก็ดีจะต้องเข้ามามีเวทีร่วมกัน  ภาครัฐควรจะต้องเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้  จัดการให้มีการพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาในการปฏิบัติต่อไป

ลุงเอก

พูดเรื่องพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งให้ไว้เรื่องที่ดินที่ประชาชนอยู่ติดกับที่มานานแล้วมาออกกฏหมายครอบที่ดินต่างๆ  เดิมที่ดินไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่มีผู้จับจองทำกินมาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสไว้ว่า

“ …กฏหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง  มิใช่ว่ากฏหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน  ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชน  ก็กลายเป็นเผด็จการ  กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก  ในทางตรงข้าม กฏหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลหมู่มากมีเสรีและอยู่ด้วยความสงบ  บางทีเราตั้งกฏหมายขึ้นมาก็ด้วยวิชาการที่ได้จากต่างประเทศ  เพราะว่าวิชาการกฏหมายนี้  ก็เป็นวิชาการที่กว้างขวางจึงต้องมีอะไรทำอย่างหนึ่ง  แต่วิชาการนั้นอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือท้องที่ของเรา  บางทีเคยยกตัวอย่างมาเกี่ยวกับที่ดิน  เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของประชาชนที่อยู่ห่างไกล  ซึ่งเราเอากฏหมายไปบังคับประชาชนเหล่านั้นไม่ได้เพราะว่า…เป็นความผิดของตัว เอง เพราะการปกครองไม่ถึงประชาชนที่อยู่ห่างไกลจึงไม่สามารถที่จะทราบถึงกฏหมาย  ความบกพร่องก็อยู่ที่ทางฝ่ายที่บังคับกฏหมายมากกว่าฝ่ายที่ถูกบังคับ  ข้อนี้ควรจะถือเป็นหลักเหมือนกัน  ฉะนั้น…ต้องหาวิธีที่จะปฏิบัติกฏหมายให้ถูกต้องตามหลักของธรรมชาติ…

…ในป่าสงวนซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นไว้ว่าเป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนก  แต่ว่า เราขีดเส้นไว้ประชาชนก็มีอยู่ในนั้นแล้ว  เราจะเอากฏหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่อยู่ในป่าที่ยังไม่ได้สงวนแล้วไปสงวนที หลัง  โดยขีดเส้นบนเศษกระดาษก็ดูชอบกลอยู่  แต่มีปัญหาเกิดขึ้นที่เมื่อขีดเส้นแล้ว  ประชาชนที่อยู่ในนั้นก็กลายเป็นผู้ฝ่าฝืนกฏหมายไป  ถ้าดูในทางกฏหมายเขาก็ฝ่าฝืนเพราะว่าตรามาเป็นกฏหมายโดยชอบธรรม  แต่ว่า…ถ้าตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฏหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง  เพราะว่า  บุคคลที่อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน  เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์  หมายความว่า…ทางราชการบุกรุกบุคคล  ไม่ใช่บุคคลบุกรุกกฏหมายบ้านเมือง…”

ฟังแล้วก็เป็นความบกพร่องของทางราชการเอง  เป็นผู้ที่ออกกฏหมายโดยไม่รับฟังเสียงของประชาชน  ไม่ได้ฟังข้อมูลอย่างถ่องแท้แล้วออกกฏหมาย  รองอธิบดีกรมที่ดินคนก่อนได้รับมอบให้ทำแผนแม่บทเรื่องที่ดินแห่งชาติ  คือให้ทำเรื่อง Mapping ที่ดินทั้งประเทศตั้งแต่รัฐบาลนายกทักษิณ  พอเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่มีแผนที่จะทำต่อเนื่อง  ถ้าทำก็จะรู้ว่าในที่ดินทั้งหมดเป็นที่ราชพัสดุตรงไหน อย่างไร?  ที่ไหนออกเอกสารอะไรไปบ้าง?  เริ่มจากหาข้อมูล ข้อเท็จจริงก่อนก่อนแล้วมาดูแผนแม่บทว่าจะจัดการที่ดินต่างๆอย่างไรในอนาคต?

กรณีตรงนี้เป็นแผนภาพจำลองซึ่งมันเกิดทั้งประเทศเลย  เป็นแบบนี้หมดทั่วประเทศ  แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1

เจ้าของคนที่ถือครองที่ดินคือคนที่อยู่ติดที่ดั้งเดิม กลุ่มเผ่าพันธุ์  หมายถึงคนที่อยู่ในป่าเขาตั้งแต่ดั้งเดิม เช่นกะเหรี่ยงอยู่ไล่มาตั้งแต่แม่สอดยันประจวบฯ ระนอง

จะยอมรับหรือไม่ยอมรับ  แต่ในอดีต  ในประวัติศาสตร์กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในผืนแผ่นดินประเทศไทย  เพราะประเทศไทยสมัยก่อนเรายาวไกลไปถึงอินเดีย  แคว้นอัสสัม  ติดกับพม่าคือไทยอาหม   ทางเหนือก็ไปถึงเชียงตุง สิบสองปันนาเลย  เกาะกงก็คือคนไทย  วันนี้เขาเริ่มเรียกร้องขอสิทธิการเป็นคนไทย

ล่าสุดมีการเดินขบวนมาจากด่านสิงขร  มาขอให้รัฐบาลยอมรับสิทธิเค้า  มีการผ่านกฏหมายไปแล้วยอมรับให้มาเป็นคนไทย สัญชาติไทยห้าสิบคน  ปัญหาใหญ่ก็คือกลุ่มคนเหล่านี้อยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม  จึงขอที่ดินที่อยู่มาแต่ดั้งเดิมเป็นกรรมสิทธิ  จะให้ได้ไหม? เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์สิทธิ  แล้วจะให้เป็นสองส่วนคือให้เป็นสิทธิในที่ดินกับให้เป็นกรรมสิทธิ  สิทธิซื้อขายต่อไม่ได้  ได้สิทธิไม่เป็นไรขายต่อไม่ได้  แต่ปัจจุบันสิทธิเหล่านี้เอาไปขายต่อๆกันไปเลยเป็นปัญหาใหญ่

กลุ่มที่ 2

กลุ่มที่เข้ามาทีหลัง  บางคนก็เข้ามา 20 ปี  บางคนก็เข้ามา 30 ปี

กลุ่มที่ 3

คนใหม่เอี่ยม  เพิ่งเข้ามาลงทุน

มีบุกรุกเพื่อไปเอาที่ดินใหม่แล้วขายที่ดินเก่า  บางคนว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจแต่เป็นปัญหาโรงพักมากกว่า  ถ้าเป็นแบบที่พระเจ้าอยู่หัวว่าให้อยู่ตามธรรมชาติก็อยู่กันได้  แต่วันนี้มันไม่ใช่อยู่ตามธรรมชาติแล้ว  คนที่อยู่เดิมแทนที่จะทำตามวิถีที่พออยู่พอกินพอใช้  ไม่ใช่แล้วเปลี่ยนวิถี เปลี่ยนบริบท  ต้องการที่จะได้มากๆ  เลยเป็นปัญหาโรงพัก

ยกตัวอย่างที่ปาย  เปลี่ยนบริบทของชุมชนหมดเลย  สังคมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง  จะหาอาหารเหนือทานยากมาก  ไม่มีหรอกครับ  อยากทานลาบก็จะเจออาหารฝรั่ง  อยากฟังเพลงสะล้อ ซอ ซึงก็จะเจอแต่เร้กเก้ คาราบาว  เพลงเพื่อชีวิต  เมืองปายเปลี่ยนวัฒนธรรมหมด  คนในพื้นที่ต้องการเอาวัฒนธรรมเดิมกลับคืนมา  ก็ต้องต่อสู้กับคนพวกนี้

ถนนคนเดินไม่ใช่ถนนคนเดินเชิงวัฒนธรรมของดั้งเดิม  แต่เป็นถนนคนเดินแบบตรอกข้าวสาร

ท้องถิ่นและระบบการปกครองของเราขาดความรับผิดชอบมาก  เห็นคนบุกรุกที่ เห็นคนเข้ามาก่อสร้าง  ตามระเบียบก็ต้องขออนุมัติ  แต่ก็ให้ก่อสร้างไปเรื่อยๆโดยที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ เพียงแต่ประวิงเวลาไว้เพื่อให้ตัวเองผ่านพ้นตำแหน่งไปเท่านั้นเอง  ถือว่าเป็นความบกพร่องของราชการ

ทหารก็มาแล้วพร้อมจะรับฟัง เมื่อกี้ใครพูดอะไรไว้ไม่ต้องบอก? (ฮา)

ทหารเป็นจำเลยในหลายๆเรื่อง  กรณีราชประสงค์ก็เป็นจำเลย นึกอะไรไม่ออก  ใช้ใครไม่ได้ก็ชอบใช้ทหาร  ที่ราชพัสดุมาเยอะมาก  ไม่มีคนดูแลก็มอบให้ทหารดูแล  ทหารก็รับอะไรง่ายมาตลอด  ให้เป็นอะไรก็ยอมรับทั้งหมด  พอรับไปดูแลแล้วดูแลไหวมั๊ย?  ไม่ไหวหรอกครับ ที่กาญจนบุรีแสนกว่าไร่   เอาคนมาหารแล้วต้องใช้คนมากมายก็เลยไม่ไหว  ไม่ไหวก็ต้องคืนไป

ทหารใช้บางส่วน  ช่วยดูแลพื้นที่ให้และใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ต่อการฝึก  ตอนนี้ก็ใกล้จะหมดไม่เหลือหรอแล้ว  ต้องไปฝึกในป่าช้าเพราะไม่มีใครไปบุกรุกที่ดิน  อยู่ในนั้นก็สดวกดี  สุดท้ายต้องคืนให้รัฐและรัฐก็ต้องให้ภาคประชาชนต้องมาช่วยดูแล  ทหารก็เหลือที่ที่จะใช้ประโยชน์ทางการทหารจริงๆ

เรื่องที่ดิน  เรื่องน้ำ  แล้วสุดท้ายก็เป็นเรื่องโน้นศาลนี้  ถ้าตั้งศาลเฉพาะท่านโด่งจะต้องตั้งประมาณ 100 ศาล(ฮา)   ตั้งศาลเดียวพอเลย  ตั้งศาลเตี้ยอย่างเดียว(ฮา)

นพณัฏฐ์ หุตะเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

นพณัฏฐ์1

ส่วนใหญ่เราจะพูดกัน อบต. อบจ. รัฐบาล ทหาร  ในอนาคตต้องสร้าง Generation แต่ละ Generation  ให้มีความรักหวงแหนในธรรมชาติ  เยาชน นักเรียน เด็กต้องใส่ลงไปหนักๆ  ตรงนี้เราขาด  ไม่ว่าเรื่องอะไรเรามาแก้กันปลายเหตุ  ต้องเตรียมสร้างสิ่งต่างๆเหล่านี้รองรับ

นิพนธ ตั้งแสงประทีป บรรณาธิการข่าว ศูนย์ข่าวอันดามัน สำนักข่าวไทย บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)

นิพนธ

เมื่อวานฟังครูวุฒิพูด  จะเห็นว่าเขาใช้คำว่าผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก  สองคำนี้ต่างกันมาก  ความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง  มีประสบการณ์การทำข่าวเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เยอะมาก  จะมีกฏหมายทับซ้อน  ชาวบ้านร้องเรียนมา  อุทยานประกาศเขตทับที่  ป่าสงวนประกาศเขตทับที่  กฏหมายเกิดมาหลังจากชาวบ้านเข้ามาอยู่

กรณีปายที่ลุงเอกว่า  ปายมีชุมชนมุสลิม  มีมัสยิดเล็กๆอยู่ด้วย  ไปคุยด้วยกับอิหม่ามที่นั่น  จากเดิมที่อยู่อย่างมีความสุข  ปัจจุบันต้องให้ลูกหลานคลุมศีรษะและใบหน้า  คนที่เข้ามาเป็นอันตรายต่อลูกหลานมาก  ไม่ว่าจะเป็นผับ เป็นเธค  สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่กำลังเข้าไปและเกิดปัญหากับพื้นที่ที่อยู่กันมาดั้งเดิม   ถ้ายึดตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแก้ปัญหาได้แน่นอน

วิธีการที่จะแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นแผนแม่บท หรือนำกฏหมายที่เกี่ยวกับที่ดินทั้งหมดมาปฏิรูปใหม่น่าจะแก้ปัญหาที่จะเกิดในอนาคตได้

ลุงเอก

ถ้าไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้น ปัญหาคนกลุ่มแรกก็จะหมดไป  ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีมากๆคนที่อยู่ในกลุ่มแรกต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งคือ

  1. เลือกว่าเป็นคนไทย
  2. เลือกว่าเป็นคนพม่า
  3. ไม่ต้องการเป็นไทยหรือพม่า  ต้องการเป็นประเทศ(พวกคะฉิ่น)  ไม่เคยอยู่กับพม่ามาก่อนเลยในการปกครอง  อังกฤษมาปกครองก็จับมารวมกับพม่า  พอส่งคืนกลับไปส่งคืนให้กับพม่า  นี่คือปัญหาที่สร้างโดนอิทธิพลของชาติตะวันตกที่ทำเอาไว้

Post to Facebook Facebook

« « Prev : ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (2)

Next : สวนผึ้ังโมเดล: โมเดลเพื่อการจัดการปัญหาบุกรุกที่ดิน - มุมมองภาครัฐ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ถอดบทเรียนการศึกษาดูงานภาคกลาง (3)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.39791011810303 sec
Sidebar: 0.67498803138733 sec