คุณปู่จามจุรี..และที่มา..
อ่าน: 4865เมื่อแรกก้าวเข้ามาในโรงเรียน ผู้คนมักชอบใจกับความร่มรื่นใต้เงาไม้ใหญ่
ที่รายเรียงเป็นทิวแถวอยู่ทั่วโรงเรียน
โดยเฉพาะต้นจามจุรีที่โดดเด่นเห็นชัดกว่าใครเพื่อน
ได้พึ่งพาอาศัยร่มเงาของจามจุรี คุ้มแดดฝน เป็นที่เรียนที่เล่นสารพัดประโยชน์
แม้ยามฝนปรอยบางเบา ก็ยังไม่ต้องวิ่งเข้าร่มชายคา
ด้วยใบหนาช่วยกรองกั้นไม่ให้ฝอยฝนหล่นถึงพื้น
ยามปลายหนาวจะเข้าสู่ฤดูแล้ง ใบแห้งหล่นพรูพรายยังคิดหาวิธีเล่นกันได้
แข่งกันตะครุบใบที่ปลิดปลิวก่อนจะร่วงลงดิน แข่งกันหาใบเล็กที่สุด
แกะฝักแห้งเอาเม็ดมาเรียงเล่น หรือแม้แต่เดินลุยกองใบไม้นุ่ม ที่ลุงๆ กวาดกองไว้เตรียมไปทำปุ๋ย
คุ้นชินกับต้นไม้ แต่ไม่เคยใส่ใจจะนับจำนวน
จนวันหนึ่งให้นึกสงสัยเมื่อได้เห็นต้นจามจุรีมีหมายเลขติดอยู่ทุกต้น ซักไซ้ถึงที่มา
จึงรู้ว่าเมื่อครูชวนเด็กๆ เรียนรู้เรื่องต้นไม้ในโรงเรียน และเด็กๆ เกิดคำถาม..
ต้นจามจุรี ต้นไม้ประจำโรงเรียนของเรามีกี่ต้น
ครูจึงชวนกันหาคำตอบ ตามวิธีที่เด็กคิด..ถามคนที่รู้ครับ..
ขบวนจึงเคลื่อนไปถามตั้งแต่ลุงภารโรง ลุงสล่า ป้าแม่ครัว คุณครูฝรั่ง ครูไทย
ครูวัยอาวุโส พี่ชั้นโตๆ และแม้ผู้จัดการโรงเรียนก็ยังตอบไม่ได้
จึงกลายมาเป็นโครงงานสำรวจต้นจามจุรีที่ช่วยกันระบายสีตัวเลขมาติดไว้
ทั้งได้ ลูบคลำ ปีน ไต่ วัดขนาด สังเกตสภาพแวดล้อม บันทึกข้อมูลอื่นๆ ตามมา
จนได้รู้ว่า ต้นจามจุรีด้านหน้าโรงเรียนมีถึงยี่สิบต้น
แต่ที่ครูยังพาค้นไปไม่ถึงด้านหลังด้วยไกลเกินกำลังจะบุกโคลนไปยังมีซ่อนไว้อีก สี่ต้น
มีคนสังเกตว่า ยามที่รถนำเที่ยวของจังหวัดผ่านมา มักชี้ชวนให้มองเข้ามาในโรงเรียน
จนวันหนึ่งรองนายกเทศมนตรีผู้ซึ่งยามเด็กคงเคยวิ่งเล่นอยู่ใต้ต้นจามจุรีในโรงเรียนเช่นกัน
ฝากคำถามถึงที่มาของต้นจามจุรีที่มีอยู่..
จึงติดตามไถ่ถามรายละเอียดของคุณปู่จามจุรีมาบอกเล่าแก่กัน
เมื่อจะเล่าเรื่องราวของคุณปู่จามจุรี คงต้องเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของโรงเรียนมงคลวิทยา
ที่แรกเริ่มตั้งอยู่ที่ถนนวังซ้าย ในเมือง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนไปแล้ว
ต่อมาเมื่อโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนมากขึ้น ต้องหาสถานที่ใหม่
จึงขอซื้อที่นาในหมู่บ้านสันมหาพนมาราวห้าไร่เมื่อ พ.ศ.2498
เป็นที่นาซึ่งแดดจัดจ้า ไม่มีต้นไม้สักต้น มีเพียงร่องเหมืองและคันนา
พื้นดินยังมีรอยเท้าควายเป็นหลุมเล็กหลุมน้อยไปทั่ว
เมื่อจะใช้เป็นโรงเรียนจึงเริ่มต้นล้อมด้วยรั้วลวดหนาม
และปลูกต้นจามจุรีต้นสูงเพียงศอก ที่ครูเซี้ยงเจ้าของโรงเรียนหามาได้ เป็นระยะรอบพื้นที่
กว่าครูเซี้ยงจะมีเวลามารดน้ำบำรุง ก็ยามเย็นเลิกเรียนแล้วทุกวัน
จนหาคนช่วยทำงานได้ ก็ขอให้ช่วยดูแลต้นไม้เพื่อให้รอด
ยามบ่าย เมื่อได้เวลาเรียนพละศึกษาของเด็กโต ก็ชวนกันมาทำกิจกรรมกันในสถานที่แห่งใหม่
เด็กๆ ชอบใจที่ได้เรียนในที่โล่งแจ้ง ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ก็ให้ยืมจอบเสียมมาช่วยกันขุดคันนาปรับที่
น้ำท่าที่มีใช้ ก็ได้ความเอื้อเฟื้อจากบ่อน้ำของเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบ
เมื่อได้มีอาคารและย้ายชั้นเรียนบางส่วนมายังที่แห่งใหม่
นักเรียนรุ่นเก่าๆ จึงมีประสบการณ์ที่ถูกเล่าต่อกันมาให้ได้รู้
ยามที่อยู่ในยุคก่อตั้ง ต้องตั้งสมาธิเดินเข้าโรงเรียนยามฝนตก
ก็ถนนเป็นโคลนเปียกลื่น ขืนไม่คอยจิกเท้าให้ดีก็มีโอกาสแสดงกายกรรมวัดพื้น
ทั้งครูและเด็กต่างเฝ้าดูแลต้นไม้ในโรงเรียนด้วยเห็นคุณค่าในร่มเงายามได้บรรเทาร้อน
มีจามจุรีที่บุกเบิกไว้ก่อน ตามด้วยตะขบ ต้นคูน กัลปพฤกษ์ อินทนิล
ต้นจามจุรีจึงได้รับเลือกให้เป็นต้นไม้ประจำโรงเรียน
และเป็นเพลงนำใจให้ฮึกเหิมยามเชียร์กีฬา ให้บรรดาศิษย์เก่าขับขานกันยามรวมรุ่น
จามจุรีเขียวขจีชูก้านกิ่ง..ยืนต้นนิ่งรอบรั้วรายชายทุ่งนา
บอกเขตขัณฑ์มงคลวิทยา ยลแล้วพาสุขฤทัยให้ครื้นเครง..ฯลฯ
รูปทางซ้าย จะเห็นเจดีย์กู่กุดของวัดจามเทวีอยู่ไกลๆ..
ตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นต้นจามจุรีขึ้นอยู่รายรอบบ้าน
บางต้นเป็นสถานที่โปรดที่เคยแอบปีนไปนั่งอยู่บนคบไม้ซึ่งได้ขนาดเหมาะเจาะ
เวลาผ่านไปจนถึงบัดนี้ จามจุรีนับอายุได้ห้าสิบห้าปีแล้ว
เป็นห้าสิบห้าปีที่ยืนหยัด เติบโต ผ่านฝน ร้อน หนาว
ทั้งให้ร่มเงา ที่อยู่อาศัย ยังประโยชน์มากมาย
รูปซ้ายต้นไม้ที่เห็นอยู่ด้านหลัง เติบโตมาเป็นต้นในรูปขวา
ภาพที่เห็นเจ้าตัวเล็กช่วยกันใช้เชือกโอบวัดลำต้น และบันทึกเรื่องราวที่เรียนรู้จากจามจุรี
จึงมีความหมายมากกว่าการได้เห็นเด็กกับต้นไม้
แต่กลับได้เห็นเรื่องราวของกระแสธารแห่งชีวิตของผู้คนมากมายที่ผูกพันกับต้นจามจุรีเหล่านี้
กี่คนแล้วหนอ..ได้อาศัยร่มเงาตั้งแต่ตัวเล็กนิด จนเปลี่ยนผ่านเป็นหนุ่มน้อยสาวน้อยวัยใส
กี่คนแล้วหนอ..ที่ได้แวะเวียนมาพบผ่านและจากไป
เรื่องราวและความทรงจำมากมายที่เกิดขึ้นใต้มวลหมู่ร่มไม้ใบหนา
เรื่องราวในโรงเรียนที่เริ่มต้นจากท้องนา และต้นไม้ที่สูงเพียงศอก
ครูเซี้ยงผู้เริ่มปลูกต้นไม้ที่ให้ร่มเงา..ทั้งบรรดาครูอีกหลายท่านจากไปนานแล้ว
แต่ต้นจามจุรียังคงยืนหยัด..เติบโต..
เช่นเดียวกับปณิธานทางการศึกษาที่บรรดาคนรุ่นหลังยังสืบต่อ..
ต้นจามจุรียังคงต้องผ่านฝน ร้อน และหนาว
ราวจะบอกให้คนรุ่นหลัง..ตั้งใจมั่นพร้อมรับความแปรเปลี่ยน..และก้าวต่ออย่างมั่นคง..
.
,
,
ขอบคุณ
ข้อมูลประกอบการเขียนจาก..ครูสำลี เลาหกุล ผู้เป็นคู่ชีวิตของครูเซี้ยง(ถาวร เลาหกุล)
ครูทราย ประคอง โดดาธรรม คุณครูผู้ดูแลโครงงานสำรวจต้นไม้แผนกอนุบาล โรงเรียนมงคลวิทยา
ขอบคุณคำถามจาก คุณสุทธินี สุริยกุล ณ อยุธยา รองนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองลำพูน
« « Prev : อันเนื่องมาจากน้ำเต้า 19 สายพันธุ์
Next : พิธีกรรม » »
8 ความคิดเห็น
ชอบใจมาก ที่ได้ชมภาพเก่าๆ เห็นรูปเด็กหญิงตัวเล็กยืนคู่กับพี่ชายละมัง
ต้นไม้ที่ยืนคู่มากับโรงเรียนเป็นตำนานที่เติบโตได้ทุกวัน
ใบจามจุรีใช้เลี้ยงแพะได้
ตอนนี้มีแพะแล้วนะ
ปีหน้าน่าจะมีลูกแพะตาหวานแหว๋วไปฝากตามที่เคยคุยกันไว้
-ที่ประเทศลาว จะเอาสีขาวมาทารอบลำต้นทุกๆต้นที่อยู่ข้างถนน
-มองไปเหมือนต้นจามจุรีใส่ถุงเท้า
-พูดถึงเรื่องนี้แล้วขัดใจไม่หาย
-โรงเรียนทางเข้าสวนป่า มีต้นจามจุรีใหญ่โตมาก เป็นร่มเงาให้เด็กๆได้เล่น/เรียน/สนุก
-แต่พอผู้อำนวยการหน้าโง่ย้ายมา สั่งตัดต้นไม้ออกจนดูโกร๋นไปทั้งโรงเรียน
-ผ.อ.หน้าโง่เอาต้นอะไรไม่รู้มาปลูก เล็กกระจิดริด
-ไม่เข้าใจว่ามันจะโชว์อะไร โชว์แดด โชว์ความเซ่อ ก็มิรู้ได้
-มันเป็นอะไรไม่รู้นะครับ ย้ายไปไหนจะต้องตัดต้นไม้ใหญ่ออกเป็นอันดับแรก
-ทำเป็นอยู่2อย่าง ตัดต้นไม้กับทำป้ายโรงเรียนใหญ่โต ชอบอยู่กับอิฐกับปูนซีเมนต์
-โรงเรียนในชนบทสังเกตง่าย ป้ายใหญ่เท่าไหร่ โง่มากเท่านั้น
-การศึกษาไทยมันจึงกระด้างเหมือนสติปัญญาของ ผ.อ.
-จะขออนุญาตเอาเรื่องนี้ถ่ายสำเนาส่งไปให้ ผ.อ.เฮงซวย อ่าน
-ถึงจะช่วยอะไรไม่ได้แล้ว อย่างน้อยก็จะตอกย้ำว่า ถ้าผู้บริหารโง่ โรงเรียนเสียหายอย่างไร?
-เจอเรื่องตัดต้นไม้ใหญ่ๆในโรงเรียนบ่อยมาก ถ้ามันดูเกะกะ ก็แต่งกิ่งให้ดูเชิงศิลปะได้
-เฮ้อ ความโง่ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ
-ดีใจมากที่ได้อ่านเรื่องนี้ ดีใจด้วยกับเด็กๆมงคลวิทยาทุกรุ่น
-ที่มีต้นจามจุรีอายุ 50 กว่าปีไว้ชื่นชม ตั้ง 24 ต้น
-ลองให้ครูอารามแต่งกิ่งเล็กๆออก ให้ดูโปร่งหน่อย แล้วหากล้วยไม้ตระกูลช้างกระมาปลูกเกาะ
-ข้ามปีก็มีดอกสวย แถมกลิ่นหอมอีกต่างๆหาก
-เป็นอุบายชวนให้เด็กๆรักต้นไม้ของเขาเพิ่มขึ้นอีก
-จัดวันเรารักจามจุรี ใส่ปุ๋ย-แต่งกิ่ง -ติดคำขวัญเก๋ๆ
-จามจุรีครูเช๊ียงจะสง่างามกว่านี้อีก
-ดีใจด้วยจริงๆ ขอบอก คิคิ
ยืนยันว่าชอบคุณปู่จามจุรีจริงๆค่ะ ท่านยืนหยัดต้อนรับและคุ้มครองทุกคนผ่านกาลเวลาเหมือนผู้เฒ่าใจดี ทำให้คนเดินทางผ่านไป-มาอบอุ่นใจ ดีใจที่ได้รู้ประวัติความเป็นมาของคุณปู่และอมยิ้มขำกับคนตัวเล็กที่ตั้งหน้าตั้งตากอดรัดวัดรอบเอวเท่าที่เอื้อมถึง น่าเอ็นดูจริงๆ ^ ^
ใบจามจุรีข้างนอกขายกันถุงละ10บาท แต่ที่นี่มีเหลือเฟือจนเจือจานได้สบายๆ นอกจากประวัติแล้วลองให้น้องๆได้รู้ว่าคุณปู่ก็มีการนอนเหมือนเด็กๆด้วยนะคะพี่ครูอึ่ง (จามจุรีจะหุบใบนอนตอนเย็น) สามารถเชื่อมกับการเรียนรู้ในหลายๆเรื่องได้อีกเยอะเลยล่ะค่ะ
[...] ลานเวลา » คุณปู่จามจุรี..และที่มา.. on ประวัติโรงเรียนลาน ด.ญ.เสื้อสีส้ม [...]
;วิชารักต้นไม้ น่าจะเป็นการสอนที่ได้ความดีความงามได้ประโยชน์และสมประโยชน์ทั้งชีวิตจิตใจของผู้คนและเด็กๆ
ถ้ารักต้นไม้ไม่เป็น มีหวังอกหักกันทั้งโลก
พื้นที่น้ำท่วม นอกจากจะมองเรื่องถนน ท่อระบายน้ำ แก้มลิง ควรจะมองเรื่องป่าไม้ให้ชัดๆ
และเกิดเป็นแผนป้องกันที่น่าจะร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจัง นะเบิร์ด
เข้ามาชื่นชมคุณปู่จามจุรีแห่งโรงเรียนมงคลวิทยาค่ะ…ป้าจุ๋มเคยบอกน้องครูอึ่งและใครๆหลายคนว่าชอบบรรยากาศและทุกอย่างที่นั่นมากๆค่ะ
มาอ่านแล้วคิดถึง โรงเรียนจังค่ะ