พิธีกรรม

โดย dd_l เมื่อ ธันวาคม 22, 2010 เวลา 12:46 (เย็น) ในหมวดหมู่ ภูมิปัญญา, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 8072

เมื่อแรกก่อตั้งโรงเรียน อาคารเรียนส่วนใหญ่เป็นเพียงอาคารชั่วคราว
ที่หลังคามุงด้วยตองตึง พื้นห้องเป็นดินทุบอัดแน่น
ต่อเมื่อพอจะมีกำลังก็ขยับขยายสร้างเป็นอาคารถาวรตามช่วงเวลาที่ทำได้

จนมาถึงบัดนี้ ยังคงมีอาคารชั่วคราวที่หลงเหลือหลังสุดท้าย
ที่ยังใช้จอดรถจักรยานยนต์และเป็นห้องเรียนศิลปะของนักเรียนมัธยม
ห้องเรียนที่มีบรรยากาศติดดิน ด้วยพากันนั่งทำงานบนม้าหินอ่อนใต้ต้นหูกวางหน้าห้อง
มีโต๊ะปิงปอง ที่ยามจะเรียนก็ยักย้ายเป็นโต๊ะระบายสี  หรือวางแบบปั้น
บางวันขี้เกียจก็คว้าก้อนกรวด ฉีกใบไม้มาแบ่งฝ่ายนั่งเล่นหมากฮอสกันซะงั้น
ก็คุณครูเจ้าของห้องใจดี แถมมีของให้รื้อค้น หยิบยืมไปใช้งานกันให้วุ่น


รอวันจะปรับเปลี่ยนเป็นอาคารใหม่
ออกแบบมาค้างอยู่ตั้งสามปีกว่าจะได้เวลาที่เหมาะสม
เมื่อทราบข่าวชัดเจนว่าสร้างแน่  บรรดาศิษย์รักทั้งหลายจึงกลายเป็นกองทัพมด
ช่วยกันขนย้ายข้าวของไปจับจองศาลาดนตรีเป็นห้องเรียนกันไปพลาง

เมื่อจะก่อสร้างก็เริ่มมีพิธีกรรมตามวัฒนธรรมที่สืบต่อมา
ป้าแดงผู้ช่วยสล่าช่วยหาใบตองมาพับสอดปลายเป็นกระสวยโดยไม่ต้องใช้ไม้กลัด
ป้าวาลย์ตัดใบโกศลมารวมกับเทียนและธูปส่งให้ไปบอกกล่าวที่ศาลเจ้าที่
น้อมใจกราบไหว้เพื่อขออนุญาตก่อสร้าง ทั้งขอให้ปกป้องคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย
ให้ได้ทำงานสำเร็จ ปลอดภัย เพื่อใช้ประโยชน์แก่การศึกษาของเด็กๆ ลูกหลาน

จากนั้นจึงจะเริ่มงานรื้อถอน ปรับที่เพื่อเตรียมวางผังอาคาร
เป็นงานที่คอยเฝ้า ด้วยกลัวจะต้องเสียต้นไม้ที่อุตส่าห์เติบโตจนได้ร่มเงา
ซึ่งแม้ผู้ออกแบบจะระวังเพียงใด ยังต้องตัดต้นไม้ใหญ่ไปถึงสามต้น

ระหว่างลุงปี๋ผู้ชำนาญการใช้เลื่อยไฟฟ้าตัดต้นหูกวางโค่นลง
แอบเห็นสายตาเด็กๆ เมียงมองผ่านช่องหน้าต่าง
ในตอนเดินกลับบ้าน  ยังได้ยินเสียงหนุ่มน้อยลอยลมมาอย่างตั้งใจจะให้ได้ยิน ว่า
อุตส่าห์ปลูกต้นไม้จนต้นใหญ่ ตัดมันลงมาซะแล้ว
จะด้วยอารมณ์ทะเล้น หรือ อารมณ์เสียดายร่มเงา ก็ยังแยกไม่ออก

ปรับที่ทางเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะเริ่มงานใด ก็ได้ลุงตา มรรคนายกวัดจามเทวี
มาทำพิธี “ขึ้นท้าวทั้งสี่” เพื่ออัญเชิญเทพยดามาปกปักรักษา
เครื่องบูชาในสะตวงใบตองหกใบบรรจุอาหารหวานคาว พร้อมดอกไม้ ปักธงกระดาษสีต่างๆ
นำมาวางไว้บนแท่นกากบาทที่ทำขึ้นง่ายๆ ด้วยไม้
ปักไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสิ่งปลูกสร้าง
ทั้งยังเห็นบรรดาสล่า จัดทำแท่นบูชาเจ้าที่ด้วยแผ่นไม้ตีปะง่ายๆไว้กับตอไม้ที่เพิ่งตัดลง

วันเวลาในการทำงานแต่ละขั้นตอน ยังกำหนดด้วยฤกษ์ยามของคนทางเหนือ
ที่ท่านเจ้าอาวาสวัดจามเทวีช่วยชี้แนะให้ได้กระจ่าง
ทั้งบรรดาสล่าจะระมัดระวังจะไม่เริ่มงานใดใน“วันเสีย”
ถึงฤกษ์งามยามดีในวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ขึ้น สิบสามค่ำ
จึงได้ลงเสาเอกและเสาโท

พิธีกรรมเริ่มต้นในยามเช้า
ช่วยกันนำข้าวของในพิธีที่จัดเตรียมไว้มาจัดเรียงต่อหน้าโต๊ะหมู่บูชา
ทั้งใบเงิน ใบทอง(ทองหลาง) ใบนาค ใบก้ำ(ต้นค้ำ) ใบหนุน(ขนุน)
ใบโชค(ต้นตะคร้อ) ใบมะยม ใบเล็บครุฑ อย่างละสามใบ
หน่อกล้วย หน่ออ้อย หมากและมะพร้าวทั้งทะลาย
ผ้าแพรเจ็ดสี เหรียญ(สี)ทอง เงิน นาค อย่างละเก้าเหรียญ
พานข้าวตอกดอกไม้ สายสิญจน์
แถมด้วยแก้วโป่งข่ามเก้าเม็ดตามศรัทธาของแม่สำลี
และมีขนมหวานชื่อเป็นมงคลจากคู่ชีวิตครูสุรจิตเจ้าของห้องศิลปะ

ปู่จารย์หรือมรรคนายกผู้นำพิธีมาถึงพร้อมด้วยขันน้ำพระพุทธมนต์และขันตั้ง หรือขันครู
บรรจุข้าวสาร ข้าวเปลือก หมาก พลู  หอยเบี้ย ดอกไม้ ธูปเทียน
เจ้าภาพงานต้องเตรียมการสำหรับ”น้ำหยาด” กระสวยดอกไม้และซองปัจจัย
สำหรับใช้ตามจำนวนแตกต่างไปในแต่ละพื้นถิ่น
งานนี้ มีซองสำหรับใส่ขันตั้ง ซองสำหรับพระพุทธ พระสงฆ์ และปู่จารย์

งานก่อสร้างอาคารใดดูจะไม่สมบูรณ์
หากไม่มีลุงวัฒนาสล่าคู่ใจของครูเซี้ยงผู้ก่อตั้งโรงเรียนมามีส่วนร่วม
แม้สูงวัยเกินจะให้ฝากฝีมือสล่า  แต่ได้ขอให้มาเป็นขวัญกำลังใจในวันเริ่ม
เมื่อลุงวัฒน์มาถึง จึงได้รู้ประเพณีเพิ่ม  ด้วยเรียกหาอิฐมาเก้าก้อน
ทั้งนำเอาถังปูน หิน ทราย มาซ้อนเรียงไว้ ให้อยู่ในเครื่องประกอบพิธี

เมื่อพระสงฆ์ในพิธีพร้อม ปู่จารย์จึงเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์และสมาทานศีล
ต่อด้วยการกล่าวคำ“สูมาครัวตาน” ก่อนจะนำน้ำส้มป่อยประพรมยังสิ่งของประกอบพิธี
หลังจากนั้นพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์
ก่อนจะนำใบไม้มงคล และดอกไม้ ที่เตรียมไว้โปรยในหลุม
ผู้ร่วมพิธีต่างช่วยกันโปรยเหรียญต่างๆ ลงไปโดยทั่วหน้า

บรรดาสล่าช่วยกันวางอิฐ ตั้งเสาที่ผูกมัดด้วยหน่อกล้วยอ้อย หมาก มะพร้าว และผ้าแพร
ลุงวัฒนาเทปูนลงเป็นคนแรกพร้อมถ้อยคำ “ขอให้เจริญๆ เน้อ..วัฒนาถาวรๆ”
ตัวแทนสมาชิกครอบครัวมงคลวิทยาทยอยกันมาทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็กทั้งชายหญิง
ประวัติศาสตร์ที่สืบสานได้เริ่มต้นอีกหนึ่งบันทึก

เป็นประเพณีที่จะถวายสังฆทานและรับพรจากพระสงฆ์ ต่อด้วยพรจากปู่จารย์
สุดท้ายเป็นการ “หยาดน้ำ” แผ่เมตตาไปยังสรรพชีวิต
กล่าวถ้อยคำและนึกถึงความหมายของคำกล่าวนั้นอย่างนอบน้อม
ช่างเป็นคำกล่าวที่เตือนให้เชื่อมโยง เผื่อแผ่ผลบุญไปอย่างไม่ขาดพร่อง
ตั้งแต่บิดา มารดา ญาติและไม่ใช่ญาติ ปิศาจ เปรต ยักษา เทวดา ครูบาอาจารย์
สรรพสัตว์ และสรรพสิ่งทั้งปวง

พิธีกรรมจบลงท่ามกลางกลิ่นหอมของน้ำเงี้ยวขนมเส้นที่โชยมา
น้องหล้าผู้สืบทอดตำราจากยายคำมูลยังนิมนต์ให้พระสงฆ์อยู่ต่ออีกสักครู่
ขอเคี่ยวให้น้ำข้นอีกนิดค่อยใส่ปิ่นโตถวาย วันนี้เราจะให้ขนมเส้นผูกใจเราไว้ด้วยกัน
ปู่จารย์กลับไปก่อน พร้อมสั่งความ
หน่อกล้วยหน่ออ้อยอย่าทิ้งเน้อ  เอาไปปลูกจะได้งอกได้งามต่อไป

หลังจากส่งพระสงฆ์ ก็ตั้งวงรับประทานขนมเส้นน้ำเงี้ยว
นั่งสนทนากับน้องเนตหนึ่งในทีมสถาปนิกที่มาช่วยดูแลงานช่าง
ได้ฟังเรื่องราวการงานด้านสิ่งแวดล้อมกับเด็กในชุมชน
พลอยให้คิดหาโอกาสจะร่วมงานกันในวันข้างหน้า
จนถึงเวลาพอสมควรก็แยกย้ายกันไปทำงาน

จัดพิธีกรรมในวันนี้ ด้วยวิธีพื้นบ้านอย่างเรียบง่าย
ด้วยมุ่งหมายให้สอดคล้องกับความเชื่อและศรัทธาของผู้เกี่ยวข้อง
ทุกขั้นตอนแห่งพิธีกรรม  นำให้เห็นความร้อยรัดเชื่อมโยงของผู้คน
ที่ต่างต้องเกื้อหนุนพึ่งพาอาศัย  เห็นการผสานแรงกายแรงใจให้งานลุล่วง
เห็นความละเมียดละไมในภูมิปัญญาที่สรรหาความหมาย
จากประดาพืชพันธ์ธัญญาหาร มาใช้ในการนำใจให้เริ่มต้นทำการงานด้วยสิ่งดีงาม
เห็นความนบนอบต่อธรรมะและธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่ล้วนแฝงเร้นอยู่ในวิถีชีวิตดั้งเดิม

ในความเรียบง่าย..จึงยิ่งใหญ่ด้วยความหมาย ที่สัมผัสได้ด้วยใจอันอิ่มเอม



เรื่องน่าอ่าน

พิธีกรรมใครคิดว่าไม่สำคัญ..  ธรรมนิพนธ์ของ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต)

ขึ้นท้าวทั้งสิ่ (1),(2)

คำกรวดน้ำแบบพื้นเมืองล้านนา

วันดี วันเสีย ที่ปรากฏในวรรณกรรมล้านนา

วันดี วันเสีย ตำราโบราณล้านนา

สูมาครัวตาน (1), (2)



กราบนมัสการ

ท่านเจ้าอาวาสวัดจามเทวีและพระอาจารย์วรชัย กัลป์ยาณธโร วัดมหาวันลำพูน

ขอบคุณ

ลุงวัฒนาและลุงตาแห่งบ้านจามเทวี
อ้ายหนานอนุชา  จันทร์เรือง ปู่จารย์วัดมหาวัน
อ้ายประพันธ์และคณะสล่าจากบริษัทพิมพิไลย์ก่อสร้าง
และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน

« « Prev : คุณปู่จามจุรี..และที่มา..

Next : เที่ยวละมุน อบอุ่นละไม สวัสดีปีใหม่ค่ะ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 ธันวาคม 2010 เวลา 8:30 (เย็น)

    เป็นบันทึกประวัติศาสตร์
    ประวัติศาสตร์สถาบันการศึกษา
    ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
    ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม
    ประวัติศาสตร์ผู้คน

    ถามว่าอีก 50 ปีไปข้างหน้าเด็กรุ่นนั้นจะเข้ามาค้นคว้าว่าการสร้างบ้านแปงเมืองนั้นมันเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง มากมาย
    บันทึกนี้ก็เป็น ส่วนหนึ่งที่บอดเล่าไว้ให้ปรากฏ และทิ้งประเด็นให้เด็กรุ่นนั้นค้นคว้าต่อไป

    ——
    บันทึกมาจากเวียงจัน

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2010 เวลา 4:41 (เช้า)

    นานๆมาทีมีเรื่องราวพิเศษยาวเฟื้อย ได้ความรู้สึกย้อนหน้าย้อนหลัง ว่าคนยุคใหม่จะต้องคิดและทำอะไรเชื่อมโยงกับสิ่งที่มองไม่เห็นและมองเห็นด้วยความเข้าใจและนอบน้อม ตัวแก่นสารวัฒนธรรม ถ้าไม่ทำก็จะเหลือแต่กะพี้
    มีรูปภาพให้ชมด้วยจนต้อง อิ อิ

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2010 เวลา 4:48 (เช้า)

    เรื่องต้นหูกวาง ถ้าตัดแล้วยังไม่ตาย มีแขนงแตกออกมาใหม่
    อาจจะชวนเด็กๆขุดล้อมย้ายไปปลูกยังที่ๆเหมาะสม
    จัดเป็นกิจกรรม”หัวใจสีเขียว” ต่อวีซ่าใหม่ หูกวาง เข้ากับ หูคน
    แบบ จบพ. “รู้แล้วจึงบอกเพื่อน” อิอิ

  • #4 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 ธันวาคม 2010 เวลา 12:15 (เย็น)

    อ่านเรื่องพิธีกรรมแล้วรู้สึกว่าฉลาดได้อีก…..
    คนบางคน(ส่วนใหญ่)ก็สนใจแต่พิธีกรรม(กระพี้)จนลืมวัตถุประสงค์(แก่น)จริงๆ
    บางคนก็สนแต่แก่นจนไม่สนใจกระพี้
    ในธรรมชาติมันอยู่ด้วยกัน  ทั้งเรื่องที่มีสาระและเรื่องไร้สาระ  อิอิอิอิ

  • #5 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2010 เวลา 4:03 (เย็น)
    เจ้าของลานนี้ยังคงมีอาการโพสต์บันทึกแล้วทิ้งอีกตามเคย ขอบพระคุณครูบา พีี่บู๊ด และจอมป่วน ที่มาช่วยเป็นกำลังใจในการเขียนนะคะ ^^   บันทึกนี้อยากจะบันทึกรายละเอียดต่างๆ ไว้ งานนี้ได้อยู่ร่วมพิธีอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอนค่ะ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.37973499298096 sec
Sidebar: 0.12368106842041 sec