๖. เรื่องราวของชีวิตบนความขัดแย้ง

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 4 กรกฏาคม 2008 เวลา 21:01 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 1397

วันนี้ภาคบ่ายมีเนื้อหาที่สะเด็ดสะเด่าจนดื้นกระแด่วๆเลยแหละครับพี่น้อง เมื่อมาถึงหัวข้อ “เรื่องราวของชีวิตบนความขัดแย้ง : ผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอันเกิดจากการจัดการกับความขัดแย้งที่ไม่เหมาะสม” โดยคุณนก  นิรมล เมธีสุวกุล เป็นพิธีกร เสียงคุณนกนิ๊มนิ่ม..เปิดฉากอารัมภบทเสร็จก็ส่งไมค์ให้คุณวิมล แดนสะอาด ซึ่งเป็นตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ ใกล้ภูเขาทองนั่นแหละ

คุณวิมล เริ่มเล่าถึงผลกระทบอันเกิดจากการพัฒนาเมือง ในปี ๒๕๓๕ จะมีการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์โดยชอง อีลีเซ่เพื่อทำให้แถวนั้นเป็นเมืองน่าอยู่จะเอามาจัดสวน แถวนั้นก็จะมีป้อมมหากาฬ ลานเจษฎาบดินทร์ โลหะปราสาท ฯลฯ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าชุมชนสมัยก่อนจะอยู่ใกล้ทั้งวัดทั้งวัง  ใน การสำรวจพื้นที่ทำกันในปี ๒๕๓๒ ปี ๒๕๓๕ ออกพระราชกฤษฎีกาเวณคืนที่ดินแถวนั้น ซึ่งมี ๑๐๒ หลังคาเรือน ปี ๒๕๓๗ ให้ชาวบ้านไปรับค่ารื้อถอน โดยจะให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ชานเมือง ใกล้ฉะเชิงเทรา  แต่เกิดปัญหาว่าย้ายไปแล้วจะให้เขาทำอะไร โรงเรียนของลูก ที่ทำมาหากิน ค่าก่อสร้างบ้านใหม่สารพัดค่าใช้จ่าย  ๔๐ ครอบครัวยอมย้ายไป แต่ที่เหลือก็ยังคงอยู่ในที่ดินดังกล่าว

ชุมชนดังกล่าวความจริงมีคุณค่ามากมาย มีบ้านนายทวย อึ๊งภากรณ์ พ่อของดร.ป๋วย ก็อยู่ที่นั่น โรงลิเกโรงแรกของไทยก็อยู่ที่นั่น แต่ไม่มีใครสนใจที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ เราจะให้ชุมชนนี้สลายไปหรือ กฎหมายเวณคืนออกไปแล้วจะขอยกเลิกบางส่วนไม่ได้หรือ ทำไมจึงแก้พระราชกฤษฎีกาตรงนี้ไม่ได้ คุณพิมล และชาวชุมชนเขาสงสัย

จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของ ด.ญ.อาซีลา ดอรอแต (น้องพิม) อยู่ที่กรงปินัง เธอเล่าถึงวันที่พ่อถูกยิงทั้งน้ำตา เธออยู่กับพ่อร้องขอความช่วยเหลือจากใครก็ไม่มีใครช่วย พ่อถูกยิงเวลากลางวันแต่ไม่มีใครเป็นพยานให้เลยแม้แต่คนเดียว พอพ่อตายพี่ชายก็ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยแม่ทำงานหาเงิน พี่ชายก็ไปติดยาเสพติดเสียอีก แถมยังเอาทรัพย์สินไปจำนำเสียเกลี้ยง  น้อง พิมได้ไปอยู่กับกลุ่มลูกเหรียงที่ช่วยปลอบโยนเอาใจใส่ดูแลเธอ เธอจึงมีโอกาสได้เรียนหนังสือ เมื่อก่อนตอนที่พ่อยังไม่ถูกยิง เวลาพี่ๆในกลุ่มซึ่งมีพ่อเป็นตำรวจเขาพูดกันถึงความสูญเสียพ่อ น้องพิมรู้สึกเฉยๆเพราะนึกว่าก็แค่เสียพ่อไปคนหนึ่ง แต่พอเธอเสียพ่อเธอรู้สึกว่ามันหนักเหลือเกินและเข้าใจจิตใจของพี่ๆมากขึ้น ตอนแรกในความคิดของเธอก็นึกว่าพวกข้าราชการนั่นแหละทำ แต่พอพี่ๆเขามาเล่าให้ฟังว่าพวกก่อการร้ายนั่นแหละทำพ่อของพี่ๆเขา เขาก็โดนเหมือนกัน น้องพิมก็สงสัยว่าแล้วใครล่ะเป็นคนทำ

แล้วก็เป็นหน้าที่ของน้องคำ นานวล ปะหล่องจากบ้านปางแดง เชียงใหม่ ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องเป็นพวกเธอที่ต้องรับกรรม ที่ต้องติดคุก ทั้งๆที่เธอเป็นคนไทย เธอเกิดในเมืองไทย แต่พ่อแม่ซึ่งไม่ค่อยรู้เรื่องบอกเจ้าหน้าที่เวลาเขามาสำรวจว่าเธอเกิดที่ พม่า มันเป็นปัญหาจากการสื่อสาร ทั้งๆที่ความจริงพี่สาวเธอต่างหากที่เกิดพม่า ส่วนเธอเกิดในเมืองไทย แล้วทำไมเธอกับเพื่อนนักเรียนของเธอจึงแตกต่างกันเรียนหนังสือมาห้อง เดียวกัน เดี๋ยวนี้เพื่อนเป็นคนไทยเป็น อบต.แต่เธอยังเป็นคนต่างด้าว อีกเรื่องหนึ่งที่เธอเล่าด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจ ที่ๆเธออยู่ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวน พอมีคนให้จัดการกับพวกบุกรุกป่าสงวนพวกเธอก็โดน ต่อมาในพื้นที่เดียวกันป่าไม้ก็มาให้ทำป่าชุมชน หลังจากนั้นไม่นานก็มีการจับกุมพวกบุกรุกป่าสงวนไอ้ตรงที่ทำเป็นป่าชุมชน นั่นแหละ แล้วก็พวกเธออีกนั่นแหละที่ถูกจับกุม ฟังแล้วกลุ้มแทน

คราวนี้พอเปิดเวทีให้อภิปรายเท่านั้นแหละครับ ยกมือกันยิ่งกว่าผู้แทนในสภา ตอดเรื่องป้อมมหากาฬที เรื่องน้องคำ ทีนึง แล้วไปตอดเรื่องชายแดนภาคใต้   ใน ส่วนที่เกี่ยวกับป้อมมหากาฬ มีผู้เสนอให้นำเสนอคุณค่าทางวัฒนธรรมให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ โดยความเป็นจริงแล้วถ้าเราจะเว้นชุมชนตรงนั้นไว้มันก็ไม่เสียหายอะไร โดยขายวัฒนธรรมชุมชนไปเลย เวลานักท่องเที่ยวมาชมเมืองเขาคงไม่ต้องการมาดูซากอาคารแต่เพียงอย่างเดียว เขาก็อยากมาศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนโบราณ

โกติ่งเสนอให้เอากรณีตัวอย่างทั้งสามเรื่องมาให้นักศึกษาจัดการแก้ไขกันให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลย

อาจารย์แหวว ก็พูดให้ฟังเรื่อง พรบ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๕๑ เรื่องการพิสูจน์สัญชาติซึ่งใช้พยานเพียง ๒ คนที่เชื่อถือได้ เมื่อแก้ไขที่สัญชาติน้องคำได้ ลูกน้องคำก็ไม่มีปัญหา ส่วนสามีถ้าแก้ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ไม่ได้ ก็แก้ไขอีกวิธีหนึ่งคือเป็นสามีของผู้มีสัญชาติไทย ก็จะแก้ไขได้อีก

มีผู้อภิปรายกันอีกมากมาย ทั้งผู้ที่เสนอกฎหมายเอง เช่น พี่แดง เตือนใจ ดีเทศน์,คุณอังคณา นีละไพจิตร,คุณหญิงหมอพรทิพย์,คุณซูกาโน่ มะทา ส.ส.ยะลา,คุณมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ซึ่งก็เตือนว่าการแก้ปัญหาภาคใต้อย่ามองจากมิติของตัวเอง อย่าเพิ่งสรุปกันวันนี้เลย เพราะสรุปผิดจะเสียเวลาไปอีก ๑๐ ปี ฯลฯ รวมทั้งหลวงพี่ติ๊กของผมด้วย

หลวงพี่ติ๊กให้กำลังใจคุณวิมล และชุมชนป้อมมหากาฬ เพราะหลวงพี่ติ๊กอยู่วัดสระเกศ ซึ่งใกล้กับชุมชนดังกล่าว ให้กำลังใจน้องพิมให้เข้มแข็ง สุดท้ายก็ให้กำลังใจน้องคำ เพราะเป็นชาวเขาด้วยกันเพราะหลวงพี่ติ๊ก อยู่ภูเขาทอง ฮา……

วันนี้ลุงเอกก็โดนอัดเรื่องหลักสูตรสมานฉันท์อยู่กันด้วยสันติวิธีแต่ทำไมต้อง บังคับให้ตัดสูทเขียวด้วยเพราะไม่ใช่ถูกๆ ลุงเอกต้องมาชี้แจงว่าเพราะสูทสีเขียวต้องใช้ตอนรับพระราชทานประกาศนียบัตร ขั้นสูง (ลุงเอกมาบอกว่าพลาดไปนิด สูทสีเขียวใช้ในงานพิธีต่างๆซึ่งมีหลายงานครับ)และสูทนี้จะสวมได้เฉพาะผู้จบ หลักสูตรประกาศนียบัตรขั้นสูงเท่านั้น หลักสูตรอื่นใช้สูทนี้ไม่ได้

หลังจากแสดงความคิดเห็นกันจนเกือบห้าโมงเย็น ก็ไม่มีท่าทีว่าจะเลิก ผู้ทำหน้าที่ขอบคุณวิทยากรขึ้นไปยืนบนแท่นรออยู่แล้ว ก็ยังต้องรออยู่พักใหญ่ ในที่สุดก็จบลงด้วยดี

ลุงเอกรีบคว้าไมค์แล้วประกาศว่า เรายังมีเรียนอีก ๙ เดือน วันนี้เพิ่งเรียนวันแรกนักศึกษากลับบ้านได้แล้ว..ฮา…..

« « Prev : ๕. ปาฐกถาพิเศษของราษฎรอาวุโส

Next : ๗. ธรรมชาติของความขัดแย้ง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "๖. เรื่องราวของชีวิตบนความขัดแย้ง"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.32226991653442 sec
Sidebar: 0.80679702758789 sec