๕. ปาฐกถาพิเศษของราษฎรอาวุโส
อ่าน: 1193ผมเขียนบันทึกจากการไปโคราชมาสามสี่ตอน แต่ถ้าไม่ได้เขียนถึงอีก ๒ ท่าน คงจะขาดอะไรไปในการที่ได้ฟังของดีแล้วไม่นำมาบอกกล่าว เพราะในพิธีเปิดการศึกษามีการปาฐกถาพิเศษ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อยู่ด้วย ก็เลยต้องทำหน้าที่สรุปย่อสิ่งที่ท่านทั้งสองบรรยาย แยกเป็นสองบันทึกก็แล้วกันนะครับ
ผมขอเริ่มที่ ศ.ประเวศ วะสี ก่อน ท่านบอกว่า การสร้างสันติสุขควรเป็นวาระของมนุษยชาติ เราควรจะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ แต่เรากลับไปถือความร่ำรวยเป็นหลัก ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งห่างไปทุกที เราจะเห็นความรุนแรงปรากฏอยู่ทั่วไป ถ้าพูดถึงสงครามก็จะเป็นความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้ง แต่ในขณะเดียวกันสังคมเรามีความรุนแรงอย่างเงียบแฝงอยู่นั่นคือ ความยากจน ความอยุติธรรม ท่านยกตัวอย่างอเมริกัน คนรวยของเขา ๒๐๐ คนมีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าคน ๒,๐๐๐ ล้านคนในโลก (แต่ ผมขอยกตัวอย่าง..ถ้าเรามาดูของไทย เศรษฐีคนหนึ่งรวย ๗๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทในขณะที่คนจนยังรอแจกคูปองอยู่เลย อิอิ มันต่างชั้นกันเหลือเกิน)
ท่านบอกว่าศตวรรษหน้าจะเป็นศตวรรษแห่งความขัดแย้ง ที่แคนาดาเขามีศูนย์แก้ปัญหาความขัดแย้งถึง ๑๐ แห่ง ในขณะที่ของไทยแต่ก่อนไม่มี แต่ตอนนี้เริ่มดีแล้วเริ่มจะมีที่ขอนแก่น ที่นี่ตั้งก่อนเลย ที่มหิดล และอีกหลายแห่งและที่สถาบันพระปกเกล้าได้ตั้งสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี
ท่านอธิบายให้พวกเราฟังว่าในทางการแพทย์ ถ้าตัดสมองออกจะมีอยู่ ๓ ชั้น มนุษย์มีวิวัฒนาการจากสัตว์ ชั้นในสุดเป็นสมองส่วนหลังมาจากสมองสัตว์เลื้อยคลาน พวกนี้ไม่มีอารมณ์แต่ใช้สมองส่วนนี้เพื่อความอยู่รอด หิวก็กิน สมองชั้นที่สองเป็นสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสมองส่วนหน้าเป็นสมองส่วนที่ใช้เหตุผล ขณะที่แม่ ตั้งท้องลูก ถ้าแม่มีแต่ความหวาดกลัว จะไปกระตุ้นสมองส่วนหลังให้เจริญเติบโต (เด็กก็จะมีสัญชาติญาณดิบ) ถ้าแม่มีความสุขก็จะไปกระตุ้นสมองส่วนหน้า
ในทางพุทธศาสนา มนุษย์มีสัตว์ร้าย ๓ ตัว คือ ตัณหา(ความอยาก) มานะ(การใช้อำนาจเหนือผู้อื่น) และทิฐิ(เอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่) ถ้าเรากำจัดสัตว์ร้ายได้สังคมก็รู้รักสามัคคี
ในโลกนี้ ตัวโครงสร้างจะเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติในทุกอย่าง เช่น ลมหายใจ กับไม้ ต่างมีอะตอม โปรตอน อีเลคตรอน แต่โครงสร้างไม่เหมือนกัน จึงมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน
ในความสัมพันธ์ก็เช่นกัน ความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง vertical relationship กับความสัมพันธ์ในแนวราบ horizontal relationship ก็แตกต่างกัน ยิ่งมีความสัมพันธ์แนวราบเท่าไหร่ สังคมนั้นก็จะสงบสุขมากขึ้น
เรามาลองสังเกตดูสังคมไทย เรามีในหลวง เรารักในหลวง เป็นแนวดิ่ง แต่เราก็มีความขัดแย้งค่อนข้างรุนแรง ศีลธรรมก็ไม่ค่อยดี
คาธอลิครัก God ก็เป็นแนวดิ่ง แต่ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านก็ไม่สู้ดี
พุทธศาสนาเป็นสังคมแนวราบ มีเชื้อพระวงศ์ออกบวชก็เท่ากับลูกชาวบ้าน และสงฆ์ใช้มติเอกฉันท์ ถวายผ้ากฐินต้องถามว่าผ้ากฐินนี้จะถวายให้ใคร ก็ต้องมีพระภิกษุรูปหนึ่งเสนอขึ้นมา เมื่อพระทุกรูปเห็นด้วยทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าเกิดมีพระภิกษุแม้เพียงรูปใดไม่เห็นด้วยก็ดำเนินการต่อไปไม่ได้ แต่ปัจจุบันสงฆ์ไทยก็ถูกสังคมไทยครอบ ก็เลยมีแนวดิ่ง อิอิ
วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของชุมชนที่ผูกพันต่อสิ่งแวดล้อม ในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมถ้าเราเอาเงินเป็นตัวตั้งเราก็จะสู้เขา ไม่ได้ แต่ถ้าเราเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้งเราก็จะเสมอกัน
ปัญหาทางภาคใต้ มีปัญหาจากส่วนกลางกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ยิ่งมีการปกครองแบบรวมศูนย์ก็จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งให้กับท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ท่านได้ฝากให้พวกเราคิด ท่านพูดถึงโครงสร้าง พูดถึงความสัมพันธ์ พูดถึงวัฒนธรรม เพื่อให้เรามองปัญหาหลากหลายมิติ
สิ่งที่ท่านชี้ให้พวกเราเห็นก็คือ การสร้างเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน ถ้าเราสร้างเจดีย์จากยอดก็ไม่มีวันสำเร็จ ของไทยเราพยายามสร้างจากยอด (ให้คนรวยได้ประโยชน์มากแล้วความรวยจะล้นมาสู่คนจน) แต่ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งไม่สำเร็จเพราะช่องว่างจะห่างออกไปเรื่อยๆ การศึกษาทำให้คนทิ้งถิ่น ไม่มีการพัฒนาท้องถิ่นก่อน จึงมักไม่สำเร็จ
ประชาธิปไตยก็เช่นกันเราไม่สร้างประชาธิปไตยจากฐาน เราไม่สร้างที่ท้องถิ่นก่อน แต่เราไปเอาจากยอดก่อนมันก็เกิดปัญหา ท่านได้ยกตัวอย่างหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จคือหมู่บ้านหนองกลางดงที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีสภาชาวบ้าน ๕๙ คน มีผู้ใหญ่บ้านร่วมด้วยมีการนำเอาข้อมูลประกอบการมาทำแผนทุกด้าน เศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข ประชุมสภาประชาชนเพื่อขออนุมัติแผนและขับเคลื่อนแผนกันเอง เขาจึงประสบความสำเร็จ
ท่านมองว่าถ้าเราจะสร้างเจดีย์จากฐานนั้น ต้องเริ่มมองที่ชุมชนท้องถิ่น โครงสร้างเศรษฐกิจชุมชน โครงสร้างพัฒนาทุนนิยม โครงสร้างทางสถานะการณ์ (โครงสร้างระบบบริการสุขภาพ คนไข้ฟ้องแพทย์เยอะ เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง เนื่องจากมีระบบทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีสูง เครื่องมือราคาแพง ค่ารักษาพยาบาลจึงแพง รักษาไม่ดีนำเข้ามาสู่ความขัดแย้ง) และอีกประการหนึ่งความที่มีระบบที่ซับซ้อนมีองค์ประกอบเยอะ จึงเกิดสภาพโกลาหลเป็นประจำ เกิดปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก อาจก่อให้เกิดลมพายุได้ เช่น โซรอสค้าเงินอยู่ที่อเมริกา ก็ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเสียหายมาแล้ว หรือกรณีหุ้นร่วง มันอาจเกิดโดยไม่รู้สาเหตุ เช่น เราอยู่ของเราดีๆ แต่เกิดเงินเฟ้อ ทำให้จนลงเฉยๆ มันไม่ใช่เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่อยู่ๆทำดี ก็จนได้ เหอๆๆ
ท่านเปรียบให้พวกเราฟังอย่าน่าสนใจว่า เราเผชิญความยากลำบาก เราเหมือนไก่อยู่ในเข่ง หันไปหันมาก็จิกตีกันเอง ส่วนคนก็สนใจแต่ไก่ ไม่สนใจเข่ง(โครงสร้าง)
เมื่อพวกเราจะเข้ามาเรียนรู้และออกไปช่วยแก้ปัญหาสังคมนั้น ขอให้เราระลึกว่า
-เราถูกสอนให้เอาความรู้เป็นตัวตั้ง แต่ควรเปลี่ยนแปลงเอาใจเป็นตัวตั้ง เอาความรู้ตาม
-ให้เราไปเรียนรู้ในสถานการณ์จริง
-เรียนรู้เข้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน ๓ ระดับ คือระดับบุคคล ระดับองค์กร และสังคม
สุดท้ายท่านฝากความหวังการแก้ปัญหาภาคใต้ว่าพวกเราจะทำได้สำเร็จ ท่านพูดถึงแค่นี้ก็มีเสียงพึมพัม ท่านเลยถือโอกาสสอนว่าถ้าคิดจะทำอะไรแล้วคิดในเบื้องต้นว่าทำไม่ได้ มันก็ไม่มีวันสำเร็จ แต่ถ้าคิดว่าทำได้และตั้งใจทำมันก็จะประสบความสำเร็จ แต่จะช้าหรือเร็วมันก็แล้วแต่สถานการณ์ ค่อยโล่งใจหน่อย
ผมฟังท่านจดทันบ้างไม่ทันบ้าง ใครที่จดทันจะเข้ามาเติมเต็มหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็เชิญนะครับ วันนี้ไม่ค่อยมีโจ๊ก..มีแต่ข้าวต้ม..อิอิ
« « Prev : ๔. ทางเลือก:ความขัดแย้ง..สันติวิธี ในสังคมไทย
Next : ๖. เรื่องราวของชีวิตบนความขัดแย้ง » »
ความคิดเห็นสำหรับ "๕. ปาฐกถาพิเศษของราษฎรอาวุโส"