๓๙.ลงพื้นที่จริง๓
อ่าน: 1705พวกเราขึ้นรถต่อไปอีกคราวนี้ไปหาด เราเห็นที่หาดมีกองหินเป็นแนวขวางเป็นท่อนๆ สอบถามได้ความว่าหลังจากที่มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม มีการก่อสร้างลงไปในทะเล ทำให้ทะเลระยองมีการเปลี่ยนแปลงทางน้ำ ทำให้น้ำทะเลกัดเซาะหาดเข้ามาถึง ๑๕ เมตร โรงแรมแถวชายหาดระดับสี่ดาว เจ้าของนอนไม่หลับต้องกินยานอนหลับทุกคืนเพราะไม่รู้ว่าน้ำทะเลจะกัดเซาะมาถึงโรงแรมเมื่อไหร่ แต่ในที่สุดก็ได้มีการแก้ไขปัญหา นัยว่าโยธาธิการยืนยันว่าวิธีการนี้ดีที่สุดแล้ว เราจึงเห็นอ่าวเล็กอ่าวน้อยเต็มไปหมด มีเนินทรายอยู่เป็นหย่อมๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ยังดี
คุณสุทธิ พาเรามาเพื่อจะได้พบพูดคุยกับชาวประมง แต่บอกกับพวกเราอย่าถามเรื่องสารพิษที่อยู่ในสัตว์ทะเล เพราะเป็นการทำลายน้ำใจเขา เพราะนี่คืออาชีพของเขา หากพูดว่าสัตว์ทะเลเหล่านี้มีสารพิษก็เท่ากับเป็นการตัดอาชีพของเขา เขาจะขายสัตว์ทะเลไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นกุ้งหอยปูปลา แต่ระหว่างที่เรายังไม่ได้เจอชาวประมงที่นัดกันไว้ เราก็เห็นชาวประมงง่วนอยู่กับการแกะปูออกจากอวนก็เลยเข้าไปชวนคุยซักถาม เห็นปูหน้าตาแปลกๆผมก็ถามว่านี่ปูอะไร เขาก็บอกว่าปูใบ้ เห็นเขาแกะเอาก้ามมันไปต้มและมีบางคนแกะเอาเนื้อไปขายต่างหาก สักพักเพื่อนๆก็ตามลงมาและก็ถามคำถามเดียวกัน ปูอะไร เขาก็ตอบว่า ปูใบ้ ยังไปถามเขาอีกว่า ทำไมเรียกปูใบ้ ผมนึกในใจว่าเดี๋ยวเจอดีแน่ เพราะใครลงมาก็ถามนี่ปูอะไร เขาก็คงขี้เกียจตอบ และคำตอบที่ได้ก็สะใจ เขาตอบว่า “ที่เรียกปูใบ้เพราะมันไม่พูด”…ฮ่า..ๆ สมไหมล่ะ……ผมก็สงสัยว่าการทำเขื่อนหินอย่างนั้นมีผลกระทบกับชาวประมงไหม เขาก็ตอบว่ามีผลกระทบมั่งเหมือนกัน เพราะเวลาลากอวนเคอยมันจะลากเขามาฝั่งไม่ได้ติดก้อนหิน
คุณสุทธิบอกว่าเขาเรียกว่ากลอยกันคลื่น ลงทุนไปสองพันกว่าล้านบาท เหตุเกิดจากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า BLCP ต้องไปจ้างบริษัทขุดลอกมาจากเบลเยี่ยมแล้วต้องถมเป็นกรอบแล้วเอาทรายที่เกิดจากการขุดร่องน้ำมาถมทะเล จึงทำให้ทิศทางน้ำทะเลมันเปลี่ยน NGO จึงไปเบลเยี่ยมไปบอกรัฐบาลเขาว่าบริษัทของคุณกำลังทำลายสิ่งแวดล้อมในเมืองไทย เขาก็สั่งระงับทันที แต่….มันทำเสร็จตามสัญญาแล้วก่อนคำสั่งมาถึง อิอิ…ช้าไปต๋อย….
เราผ่านหาดแสงจันทร์ ที่เห็นว่าได้รับผลกระทบตามแนวชายฝั่ง คุณสุทธิ อธิบายว่าตามแนวผังเมืองที่จะทำโรงงานต้องเป็นพื้นที่สีม่วง แต่โรงงาน BLCP อยู่ในทะเลซึ่งปกติต้องเป็นพื้นที่สีเขียวอ่อนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำหรับนันทนาการ แต่ได้อาศัยว่านโยบายของรัฐต้องการทำอุตสาหกรรมหนัก จึงมีการแก้กฎหมายให้ทะเลระยองเป็นสีม่วง โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ ๑,๔๐๐ เมกาวัตต์ ใช้ถ่านหินบีทูบีนัสหรือไบทูมีนัส
รถพาเราผ่านคลองตะกวน เมื่อปี ๒๕๕๐ จะมีปัญหาเยอะมาก คลองนี้มิได้รับน้ำจากโรงงาน เป็นคลองที่รับน้ำจากครัวเรือน แต่กลับมีโรงงานที่ไม่มีธรรมภิบาลลักลอบเอาน้ำเสียไปทิ้งและบางทีก็มีน้ำกรดก็เอาไปทิ้งบางส่วนเพื่อลดน้ำหนักจะได้ประหยัดน้ำมัน พอใกล้จะถึงโรงบำบัดก็เติมน้ำลงไปแทนที่ พาไปบำบัดที่สมุทรปราการ(ซึ่งเป็นแหล่งบำบัดน้ำกรด)
ในการต่อสู้ของชาวบ้านโดย NGO ได้นำเสนอข้อมูลให้สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีท่าน ดร.โคทม อารียา เป็นประธาน ได้ส่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาลงมาพื้นที่เพื่อตรวจสอบสภาพ ในที่สุดก็ลงมติว่าควรให้ชลอการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแล้วนำเสนอครม.แต่ครม.มีมติไม่เห็นด้วยกับความเห็นของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื่องจากข้อมูลไม่ครบทุกด้าน และรัฐมนตรีสุวิทย์ คุณกิตติเป็นผู้ลงนาม NGO ก็ยังสู้อีกทางคือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตามพรบ.สุขภาพแห่งชาติ ได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพที่ระยองสี่ครั้งเฉพาะกรณีระยองและมาบตาพุด มีผลสรุปให้มีการชลอการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมไปก่อนจนกว่ากลไกตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ จะใช้บังคับได้เต็มที่ แต่ก็ยังกังวลอยู่เพราะคณะกรรมการชุดนี้ก็ต้องเสนอผ่าน ครม.อีกนั่นแหละ เพราะตอนนี้มีแผนขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ ๓ ขยายอีก ๕๐ กว่าโรงในมาบตาพุดและบ้านฉาง มีการแผนพัฒนาผลิตกระแสไฟฟ้า ๗๐๐ เมกาวัตต์ และมีบริษัทเกกโก หรือบริษัท โกร เป็นผู้ประมูลได้ และเป็นโรงงานที่ผลิตโดยใช้ถ่านหิน ในขณะที่มาตรา๖๗ แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญยังใช้บังคับได้ไม่เต็มที่ ตอนนี้ NGO ก็เลยต้องเตรียมการฟ้องคดี
ปี ๒๕๕๐ มีปัญหามลพิษรุนแรง มีการพบสาร VOC ที่มีผลให้เกิดมะเร็ง จึงมีการรณรงค์ให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่รัฐบาลก็ให้ใช้แผนลดและกำจัดมลพิษแทน ดังที่เคยเขียนไว้ในตอนที่คุณสุทธิบรรยายให้ห้องเรียนมาแล้วครั้งหนึ่งครับ ใครจำไม่ได้ก็ย้อนไปดูนะครับ..อิอิ คุณสุทธิได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องกองทุนระยองแข็งแรง ซึ่งเคยเล่าให้ฟังแล้วเช่นกัน(เอาไปดูงานต่างประเทศและพยุงราคาสินค้า ๒๗ ล้าน เหลือเพียง ๔ ล้าน ไม่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษอย่างไรเลย อิอิ) กับอีกกองทุนเพื่อพัฒนามาบตาพุดและบ้านฉางมีเงินอีก ๓๑ ล้าน มอบให้ชุมชนบริหารกองทุน ใช้ไปแล้ว ๓ ล้าน เพื่อจัดทำระเบียบกองทุนและวิธีการรับสมาชิกเพื่อเป็นการสร้างประกันสุขภาพให้กับชุมชนหัวละ ๑,๐๐๐ บาท ไม่สามารถตอบได้ว่าจะทำให้คนระยองยั่งยืนได้อย่างไรมีเรื่องก็เอาเงินไป และมีประชาสัมพันธ์หน่วยใหม่และก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนแต่ยังไม่ถึงขนาดรุนแรง เพราะส่วนหนึ่งก็จะเห็นชอบกับเงินกองทุนที่เขาให้จึงไม่จำเป็นต้องมีการตั้งกรรมการมาตรวจสอบอะไรมากมาย กลุ่มนี้จะไม่ชอบ NGO กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่อยากให้โรงงานมาตั้งเพิ่ม
พูดถึงความสามารถในการรองรับมลพิษ ได้มีการศึกษาในปี ๒๕๔๖-๔๗ พบว่ามลพิษมันเต็มที่แล้ว แต่รายงานการศึกษาก็ถูกโจมตีว่ายังไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้วิเคราะห์ถึงทิศทางของลม จึงต้องไปทำใหม่จะเสร็จอีก ๓ ปี ข้างหน้า (อิอิ…ตอนนั้นคนระยองจะเป็นอะไรบ้างก็ไม่รู้..)พอเต็มก็ไปศึกษาใหม่ เมื่อไหร่จะจบสิ้น…
ปัญหาเรื่องน้ำไม่พอ รัฐมีแผนที่จะไปผันน้ำมาจากบางปะกง,ใสน้อยใสใหญ่,สร้างเขื่อนเก็บน้ำที่เขมร จะมีการวางท่อเพื่อเป็นโครงข่ายระบบน้ำเพื่อมาป้อนแหล่งอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด การรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจไม่เหมือนของรัฐบาลก็ได้
สองทุนที่ผูกขาดการสร้างโรงงานในมาบตาพุดและบ้านฉางคือ ปตท.และปูนซีเมนต์ไทย เอ๊ะ..ใครถือหุ้นใหญ่กันนะ…
แล้วเราก็มาถึงอีกจุดหนึ่งซึ่งมีกลุ่มชาวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านฉาง,กลุ่มประมงชายฝั่งมารอต้อนรับเราอยู่ มีการเตรียมอาหารเที่ยงให้เราด้วย เป็นอาหารทะเล ขอพักเที่ยงไปทานอาหารก่อนนะขอรับ อิอิ แต่ขอบอกว่า มีพวกเราบางคนฟังบรรยายแล้วไม่กล้ากินหอย อิอิ แต่มีเสียงบอกว่า กินเหอะ…ไม่ได้กินทุกวัน..อิอิ.. ระหว่างเราทานอาหารกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านฉางก็มาเล่าเรื่องราวความทุกข์ใจให้พวกเราฟัง อ้อ…ให้ผมอิ่มก่อนแล้วจะมาเล่าต่อ 555
2 ความคิดเห็น
ขอบคุณมากครับ ที่มาให้ข้อมูล
wh0cd143043 cialis