๓. การศึกษาชาติพันธุ์

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 30 มิถุนายน 2008 เวลา 14:09 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 2424

หัวข้อบรรยายวันนี้น่าสนใจมาก บรรยายโดยยอดนักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ด้วยแล้ว มันในอารมณ์เหลือเกินพระเดชพระคุณ ยิ่งอีตอนด่าใครบางคนนี่สุดยอด 555

ท่านสะกิดต่อมพวกเราให้รู้ว่าการจะไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นเราต้องดูให้ ถึงแก่นของคนที่เกิดความขัดแย้งโดยให้ดูถึงชาติพันธุ์ของเขา เราต้องมองไปที่กลุ่มคน มองให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยเราผ่านจากสังคมชาติพันธุ์ที่เป็นชนเผ่า เช่น ม้ง เย้า อีก้อ..ฯลฯ มาสู่สังคมอีกแบบหนึ่งคือสังคมที่ผสมปนเประหว่างสังคมชาติพันธุ์กับสังคม เมือง เป็นเหมือนขนมจีนน้ำยาผสมน้ำพริก(อันนี้ผมว่าเอง อิอิ) จากสังคมชาวนามาเป็นสังคมอุตสาหกรรม

จากสังคมแบบชาติพันธุ์ซึ่งเป็นสังคมชาวนา(ทำไมเรียกสังคมชาวนา ก็เพราะเป็นการรวมหลากหลายชาติพันธุ์ ต้องใช้ประโยชน์ในทรัพยากรร่วมกัน เกิดการเอื้ออาทรแบ่งปันกัน) มาสู่สังคมแบบอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสังคมกึ่งชาติพันธุ์กึ่งสังคมเมือง

อาจารย์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า มีชาติพันธุ์ ลาว เขมร จีน มาอยู่ในชุมชนไทยแห่งหนึ่งต่างคนต่างแยกกันอยู่ในพื้นที่ตามชาติพันธุ์ของตน แต่เนื่องจากต้องใช้พื้นที่รวมเช่น หนองน้ำสาธารณะ เขาก็จะค่อยๆปรับตัวเข้าหากัน เป็นการสังสรรค์กันมากขึ้นแล้วมีการใช้สาธารณะร่วมกัน จึงเกิดการประนีประนอมสังสรรค์กันเพื่อสร้างกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แล้วเกิดความสัมพันธ์ทางการแต่งงาน เพราะสังคมไทย ลาว เขมรเป็นสังคมแบบเดียวกันคือแม่เป็นใหญ่ ผู้ชายถูกดูดเข้าบ้าน เข้ามาช่วยทำงาน เขยต่อเกิดแต่ละชาติพันธุ์จึงเข้ามาสัมพันธ์กัน เมื่อลูกเกิดมาก็ต้องถือว่าเด็กมีที่นี่เป็นมาตุภูมิ นานเข้าก็กลายเป็นไทยไปหมด การศึกษาชาติพันธุ์จึงต้องย้อนเข้าไปศึกษาถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น (อันเป็นสังคมชาวนา) ด้วยและเราจะสังเกตชาติพันธุ์ได้จากสำเนียงภาษา ถ้าในเรื่องขุนช้างขุนแผน พระไวยไปได้นางสร้อยฟ้าสาวเหนือมาเป็นเมีย เวลาจะด่านางสร้อยฟ้าก็ด่าว่าอีลาว..(ขออภัย มิได้เจตนาดูถูกชาวลาวนะครับ ผมกำลังถอดความจากคำอธิบายของอาจารย์ซึ่งก็มิได้มีเจตนาเช่นนั้นเหมือนกัน ต้องการอธิบายว่าชาติพันธุ์เราดูที่สำเนียงภาษาครับ อธิบายเสียเหงื่อไหลใคลย้อยเลยนะเนี่ย..กลัวจะเกิดความขัดแย้ง….อิอิ)

สังคมแบบชาวนานั้นจะอยู่กันเป็นชุมชนแบบหมู่บ้าน พุทธก็มีวัด มุสลิมก็มีมัสยิด อยู่ตามชุมชนนั้นๆ การเรียกว่าบ้านโน้นบ้านนี้ก็จะหมายถึงเรียกหมู่บ้านซึ่งรวมทั้งวัดและหรือ มัสยิดเข้าไปด้วย

พอเรามาดูสังคมแบบอุตสาหกรรม มันไม่มีวัฒนธรรมแบบนั้น (แบบเอื้ออาทร) มีแต่กลับไปทำลายสังคมชาวนา เพราะสังคมชาวนาก็เกิดการผสมกลมกลืนไปเรื่อยๆ แต่สังคมอุตสาหกรรมมันเป็นการเทลงไปจนรวมกันไม่ได้ เช่น โรงงานอยู่ทางตะวันออก อยู่ๆก็มีแรงงานมาจากอีสานมาอยู่ในโรงงาน มันไม่มีการผสมกลมกลืนเพราะนี่เข้ามาจำนวนมาก เหมือนบ้านจัดสรร อาจารย์บอกว่าเหมือนคอกสัตว์ต่างคนต่างอยู่ (คอกคุณอยู่แถวไหน…อิอิ เผื่อวันไหนมีเวลาจะได้ไปเยี่ยม…) ดังนั้นเวลาเลือกตั้งทีก็จะได้ใครก็ไม่รู้ที่มาซื้อเสียงเป็นตัวแทนของปวงชน

เราจะมองประวัติศาสตร์กันแบบไหน ถ้าเรามองแบบการเมืองเศรษฐกิจก็จะเป็นอย่างหนึ่ง ซึ่งมันจะก่อความเลวร้ายเป็นปัญหาเกิดคำว่าชาตินิยม  ถ้า มองประวัติศาสตร์แบบวัฒนธรรมก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง อาจารย์ให้เราคิดว่า ไทย ลาว เขมร เดิมไม่มีมีเขตแดน แต่คนจะไปมาหาสู่กัน เช่น พระธาตุพนม คนลาวเข้ามากราบไหว้พระธาตุพนม พอองค์พระธาตุพนมล้มลงคนลาวพากันร้องไห้ คนลาวเข้าไม่ได้คิดว่าที่ล้มไปนี่ของไทย  ถ้าคิดแบบการเมืองเศรษฐกิจมันก็ไม่เศร้าเพราะคิดแบบของใครของมัน  แต่ถ้าคิดแบบประวัติศาสตร์วัฒนธรรมก็น่าเศร้า เพราะลาวไทยต่างเคารพศรัทธาในสิ่งเดียวกัน

เขาพระวิหารก็เหมือนกัน เรามองแบบชาตินิยมหรือมองแบบวัฒนธรรม เขาพระวิหารมีผีต้นน้ำ (นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ที่พึ่งตนเองไม่ได้จึงต้องหาที่ยึด ต้องหันไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอยู่รวมเป็นพวก) มีชุมชนและคนในชุมชนให้เกียรติยศ เขมรต่ำก็ขึ้นมาเพราะตรงนั้นเป็นเขตการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชา ตรงเขาพระวิหารเป็นแหล่งพิธีกรรมใหญ่ เปลี่ยนผีต้นน้ำให้เป็นศรีศิขเรศวร การแก้ปัญหาเขาพระวิหารจึงอยู่ที่มุมมองของคนไทยและกัมพูชาว่า เรามองเขาพระวิหารแบบใด แบบเชิงเศรษฐกิจและสังคม หรือมองแบบวัฒนธรรม คุณคิดหรือยัง…….การแก้ปัญหาเรื่องเขตแดนต้องลงไปในพื้นที่จริง เพราะที่เราเกิดปัญหากันก็เพราะนั่งขีดเส้นกันในห้องนี่แหละ..เฮ้อ…

แล้วมาถึงเรื่องมรดกโลก ไอ้ที่อยากจะให้เป็นมรดกโลก มองแบบไหน มองแบบเศรษฐกิจและสังคมก็จะมองว่าเพื่อการท่องเที่ยวการค้าจะเจริญรุ่งเรือง หรือจะมองว่าเป็นมรดกโลกในเชิงวัฒนธรรม อาจารย์สะกิดต่อมว่าไปดูหลวงพระบางหรือยังล่ะ มรดกโลก เริ่มเสื่อมเห็นชัดๆ แม้แต่ที่อยุธยาก็ล้วนมองการเป็นมรดกโลกเพื่อประโยชน์แก่การท่องเที่ยวทั้ง นั้น   การจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่อาจารย์ ฝากเป็นข้อคิดให้ดูดีๆอย่าตกเป็นเหยื่อของข้ามชาติเพราะมีความซับซ้อนของ ปัญหา สถานที่ที่เป็นมรดกโลกแต่ละแห่งล้วนมีปัญหาจากการที่ต่างชาติที่เข้าไป แสวงหาประโยชน์  ฝากให้ทุกท่านคิดเรื่องเขาพระวิหาร ว่าเป็นเรื่องของต่างชาติเข้ามาแสวงหาประโยชน์และยุแหย่ให้ไทยกับกัมพูชา หรือเขมรทะเลาะกันหรือไม่….

อาจารย์ฝากหลายข้อ รวมทั้งจะไปสมานฉันท์ใครที่ไหน ต้องรู้จากข้างในเขาก่อน เราเคยศึกษากันไหมว่าในอดีตเราทำสงครามกวาดต้อนผู้คนมาไม่ได้เอามาเป็นทาส  แต่ เอามาให้เขาเป็นคนไทย ให้มาอยู่เป็นชุมชนตามวิถีชีวิตเดิม การสร้างวัดขึ้นก็เพื่อหลอมรวมวัฒนธรรมเข้าหากันจึงเกิดความสำนึกท้องถิ่น โดยไม่ได้คิดจะรบกับไทยอีก…

ผมเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างเมามัน แต่ไม่รู้ท่านจะมันกับผมหรือเปล่า เดี๋ยวเขียนยาวไปจะไม่มีคนอ่าน อิอิ….จบดีกั่ว…..

« « Prev : ๒. หลวงพี่ติ๊กกับดนตรีสื่อสันติสุข

Next : ๔. ทางเลือก:ความขัดแย้ง..สันติวิธี ในสังคมไทย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

35 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.83607387542725 sec
Sidebar: 0.086053133010864 sec