๓๒. เตรียมข้อมูลก่อนไประยอง ๓
อ่าน: 1513คราวที่แล้วเราได้ฟังเสียงของ NGO ว่า มันเกิดอะไรขึ้นในจังหวัดระยอง คราวนี้เราลองมาฟังอีกด้านหนึ่งทางด้านผู้ประกอบการและสภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทยว่ามุมมองของทางด้านนี้เป็นอย่างไรบ้าง การที่เราจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรับ ฟังปัญหาและข้อเท็จจริงให้รอบด้าน หลังจากนั้นเราไปลงพื้นที่จริงก็ไปฟังจากชาวบ้านจริง ไปดูไปดมกลิ่นของมาบตาพุดที่ครูบาเรียกมาบตาพิษ และไปฟังจากภาคราชการว่าในมุมมองแต่ละด้านเป็นอย่างไร และไปดูไปมองที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่าเขาบอกว่าอย่างไร แล้วตาม NGO ไปดูกับตาว่าของจริงเป็นอย่างไร
เรามาดูกันต่อว่าทางด้านผู้ประกอบการและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเขามี ทัศนคติ มีมุมมอง วัตถุประสงค์ มีวิธีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไร
เรามาเริ่มกันที่คุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำเสนอประเด็น ๔ ประเด็นหลัก
-การพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก
-สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก
-การลดผลกระทบมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
-บทบาทของสภาอุตสาหกรรมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมภาคตะวัน
การพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก
เริ่มมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม กำหนดเขตที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม รวมทั้งประกาศเขตส่งเสริมอุตวาหกรรมเพื่อให้กเกิดการลงทุนจัดตั้งโรงงาน อุตสาหกรรมในพื้นที่ที่กำหนดไว้ จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันได้นำความคิดในการจัดการบบคลัสเตอร์มาใช้ รวมกลุ่มประเภทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกันไว้ด้วยกันเป็นโซ่การผลิต และเป็นชุมชนการผลิตที่มีทั้งผู้ผลิต ผู้ป้อนวัตถุดิบ ผู้ให้บริการด้านต่างๆ สถาบันวิจัยและพัฒนา ศูนย์ฝึกอบรม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความสะดวกในการส่งออกผลผลิตไปยังต่าง ประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมี ประสิทธิภาพ และจริงๆแล้วก็เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ การใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้สมดุลกับการพึ่งพาจากต่างประเทศด้วย
ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกนั้นก็เนื่องจาก กรุงเทพมหานครกำลังขยายตัวจึงต้องกระจายฐานการผลิตออกไป และที่จังหวัดระยองมีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมสูงสุดของประเทศ สูงถึง ๘๐๐,๐๐๐ ล้านบาท การพัฒนานั้นมุ่งไปที่การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกที่เราเรียก ว่า Eastern Seaboard และ ยังเป็นแผนงานพัฒนาฐานเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๕ โดยพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกได้รับการพัฒนาโดยการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นเม็ดเงิน ๒,๘๘๐,๗๕๑ ล้านบาท (แต่เป็นของภาคเอกชนถึง ๒,๕๐๗,๔๗๓ล้านบาท)โดยแบ่งเป็นสองระยะ
ระยะแรกระหว่างปี ๒๕๒๔-๒๕๓๗ พื้นที่เป้าหมาย คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา
ระยะสอง ๒๕๓๗ ถึงปัจจุบัน พื้นที่เป้าหมายชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีน จันทบุรี ตราดและสระแก้ว
การพัฒนาทำให้เกิดการจ้างงานทางตรงและทางอ้อมรวม ๑,๗๑๗,๒๐๗ คนทั้งนี้เป็นการจ้างทางอ้อมถึง ๑,๑๘๐,๐๐๐ คน
เรามาดูสัดส่วนการประกอบอุตสาหกรรม ที่ชลบุรีมีโรงงานถึง ๓,๓๙๕ โรงงาน อันดับสองที่ฉะเชิงเทรา ๑,๖๐๓ โรงงาน อันดับสามคือระยอง ๑,๑๓๕ โรงงาน แต่ที่ระยองพิเศษกว่าที่ตรงเป็นโรงงานขนาดใหญ่ดังนั้นเงินลงทุนจึงสูงที่สุด ที่ ๘๑๕,๒๖๑.๓๓ ล้านบาท
สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก
คราวนี้เรามาดูคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งทางด้านอากาศ,แหล่งน้ำและกากของเสีย อุตสาหกรรม หากจะถามว่ามลพิษหลักทางอากาศมีอะไรบ้าง ก็ตอบได้ว่า ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (ซึ่งเพิ่งกำหนดเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว อิอิ แต่โรงงานตั้งกันมากี่ปีแล้วพี่น้อง…)ไนโตรเจนไดออกไซด์ ก็มาตรฐาน สารอินทรีย์ระเหยง่าย ประกาศใช้มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษเมื่อ ๒๕๕๐ นี่เอง (ก็ยังดีที่ชาวระยองเขาร้องแรกแหกกะเฌอกันมาตั้งนานเพิ่งจะได้ยินเสียง) แต่ความจริงก็คือ กทม.น่ะเกินมาตรฐานแต่ที่ระยองอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เกินมาตรฐาน อ้าว…เป็นงั้นไป
เรามาดูแหล่งน้ำบ้าง จากรายงานสถานการณ์คุณภาพแหล่งน้ำปี ๒๕๔๘ คุณภาพแหล่งน้ำไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก (แฮ่ะๆ…แล้วก่อนหน้านั้นละครับชาวบ้านเขามีน้ำบ่อใช้กันได้ตามปกติ แต่พอมีโรงงานตั้งกันขึ้นมาไม่มีบ้านไหนใช้น้ำบ่อได้เลย สงสัยว่าทำไมไม่เทียบกับตั้งแต่ยังไม่ตั้งโรงงานเนอะ…) ในแหล่งน้ำมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย,มีกลิ่นแอมโมเนีย (ชาวบ้านโดนกลิ่นแอมโมเนียเป็นลมไปโรงพยาบาล พยาบาลเห็นว่าเป็นลมเอาแอมโมเนียให้ดมอีก..ฮา ชาวบ้านบอกว่าไอ้กลิ่นนี้แหละที่ฉันเป็นลม..อิอิ) เราไปดูทางชายฝั่งมั่งก็ปรากฏว่ามีการปนเปื้อนของสารไนเตรด,ฟอสเฟต,แอมโมเนีย,แบคทีเรีย
มาดูกากของเสียอันตรายกันบ้าง ในระหว่าง ม.ค.-มิ.ย.๕๐ ปริมาณกากที่เกิดขึ้น ๕๘๔,๕๐๐ ตัน เป็นกากของเสียไม่อันตราย ๔๐๕,๖๐๐ ตัน ของเสียอันตราย ๑๗๙,๐๐๐ ตัน (นี่เป็นเพียงตัวเลข ๖ เดือนเท่านั้นครับพี่น้อง แล้วที่ผ่านมากอีกเท่าไหร่) ถามว่ามีการดูแลจัดการไหม มีครับได้แก่ การขออนุญาตนำกากออกนอกโรงงานส่งไปบำบัดหรือกำจัด ณ โรงงานที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งหมด ๗ โรง(อิอิ…แล้วมาตรฐานทั้ง ๗ โรงไหมเอ่ย…) เพราะเท่าที่ทราบที่ผ่านมาในอดีตภาครัฐไม่ได้เข้มงวดในเรื่องเหล่านี้ ระหว่างทางจากโรงงานไปโรงบำบัดกากของเสียจะหายไประหว่างทางไปกลบไปฝังในบ่อ ลูกรังบ้าง ไปเททิ้งในแหล่งน้ำบ้าง ก่อให้เกิดปัญหา
การลดผลกระทบมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
เมื่อเกิดมลพิษขึ้นในแหล่งอุตสาหกรรม มันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งแต่เริ่มออกแบบโรงงาน ต้องมีการป้องกันการเกิดมลพิษให้มีมาตรฐานสากล ซึ่งแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรม ก็คือ ป้องกันการเกิดมลพิษ,ลดการเกิดของเสีย,บำบัดการกำจัดของเสีย ต้องมีการ reduce,reuse, recycle ให้ มากขึ้น ที่จังหวัดระยองมีแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔ (แผนที่เกิดขึ้นนี้ ถ้าไม่ทราบเบื้องหลังก็คือรัฐเอาใจใส่ดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง แต่ถ้าไปถาม NGO ก็จะได้คำตอบอีกแบบ ก็คือ เขาเรียกร้องให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่ภาครัฐไม่ยอมประกาศเขตควบคุมมลพิษ เลี่ยงมาใช้แผนลดและขจัดมลพิษแทนฮิ….)
ลองมาดูกันว่าแผนนี้จะทำอะไร เขาต้องการลดปริมาณการปล่อยทิ้งมลพิษ(แต่เขาเรียกมลสาร)ทางอากาศ ทางน้ำ ขยะ กากของเสียอุตสาหกรรม ทั้งในและนอกนิคม,คุณภาพน้ำและอากาศต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานภายใน ๑ ปี(ชาวบ้านเขาไม่เชื่อหรอก…อิอิ),ประชาชนได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟู สุขภาพอนามัยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม(ไปดูพื้นที่จริงชาวบ้านยังต้องเสีย ตังค์รักษาสุขภาพเอง..อิอิ),ชุมชนในพื้นที่มีความเข้มแข็ง มีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม(แต่เวลาชาวบ้าน เรียกร้องให้ชลอการสร้างโรงงานก่อน ให้ปรับปรุงคุณภาพน้ำ อากาศ กากของเสีย ก่อนก็ไม่ยอมหยุดสร้าง เหอๆ)และเป้าหมายสุดท้ายคือ พัฒนาพื้นที่ในอนาคตไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยและ สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่
พื้นที่เป้าหมายเร่งด่วน อยู่ที่ อ.เมือง,บ้านฉาง,ปลวกแดง,บ้านค่ายและกิ่งอำเภอพัฒนานิคม ส่วนระยะยาวคลุมทั้งจังหวัดครับ
กำลังมันเลยครับ แต่มันยาวมากขอตอนที่สอง แล้วมาต่อด้วยตัวแทนของบริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน)หรือเจนโก้ กันครับ
« « Prev : ๓๑. เตรียมข้อมูลก่อนไประยอง ๒
Next : ๓๓. เตรียมข้อมูลก่อนไประยอง ๔ » »
1 ความคิดเห็น
I’d like to thank you for the efforts you have put in penning this blog.
I am hoping to view the same high-grade content by you in the future as well.
In fact, your creative writing abilities has encouraged me to get my own, personal website now