๑๕. การวิเคราะห์ความขัดแย้ง ๓

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 15 กรกฏาคม 2008 เวลา 3:56 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 6958

เรามาต่อจากตอนที่แล้วนะครับ

อาจารย์พูดถึงว่า ในการจัดเวที การสอบถามก็ต้องถามเพื่อให้รู้คำตอบว่า interest คืออะไร และคำถามที่ใช้ต้องเป็นคำถามปลายเปิด ห้ามใช้คำถามปลายปิด (อย่างที่บังยุบ เข้ามา comment ในบันทึกที่แล้ว) และการทำความเข้าใจกับประชาชนต้องใช้ภาษาอย่างที่ประชาชนเข้าใจง่ายๆ

ตัวอย่างปตท.จะวางท่อแก๊สที่เมืองกาญจน์ จากพม่าไปราชบุรี ปตท.บอกว่าจะผ่านที่ชาวบ้าน ๑๐ กว่า กม. ชาวบ้านบอกว่า ๒๐ กว่า กม. ชาวบ้านขอดูรายงานผลกระทบ ก็ไม่ให้ดู แต่ชาวบ้านก็หามาจนได้ แล้วนำไปอ่านศึกษาตีความตามความเข้าใจของตัวเอง จนทำให้เกิดประเด็นต่อมาอีกหลายประเด็น ปตท.เคยลงไปจัดเวที Technical Hearing ฟัง ความเห็นทางเทคนิค แต่การฟังความเห็นแบบนี้กระบวนการไม่ดี เอานักวิชาการขึ้นไปบนเวที พูดกันบนเวทีแล้วพูดกันด้วยศัพท์เทคนิค ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่อง ก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ หรือที่เขื่อนปากมูลจะสร้างความสูงในระดับ ๑๐๕ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ชาวบ้านก็เข้าใจว่ามันสูงท่วมต้นมะพร้าวไม่รู้กี่ต้น แค่มะพร้าวต้นเดียวก็ท่วมหัวแล้ว (สร้างแล้วชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน อย่างนี้จะให้สร้างได้อย่างไร อิอิ)

การจะทำเวทีอย่างนี้ต้องออกแบบให้ดีมิฉะนั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้

เรื่องเขื่อนปากมูลจะเห็นถึงความขัดแย้ง การแก้ปัญหาของรัฐบาลแต่ละรัฐบาลก็ไม่เหมือนกัน บางครั้งก็ขอไปทีให้พ้นๆไปก่อน ในเรื่องกลุ่มประมง ชาวประมงประท้วงว่าเสียโอกาสในการทำประมง ตกลงจ่ายค่าชดเชย แต่ไม่มีฐานข้อมูลที่ชัดเจน ว่ามีอาชีพทำประมงกี่คน ทำแบบไหน จึงให้เอาเครื่องมือประมงมาแสดง เอาเบ็ดมาได้เท่าไหร่ เอาอวนมาได้เท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ กฟผ.บอกว่าคนได้ค่าทดแทนสูงสุด ได้ ๙๐,๐๐๐ บาท เฉลี่ยแล้วได้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าถึง ๒๐,๐๐๐ บาท  แต่ พอไปถามตัวแทนชาวบ้านจริงๆชาวบ้านที่ได้น้อยที่สุดได้ ๒๐ บาท ความแตกต่างของข้อมูลทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันอย่างชัดเจนเห็นได้ชัดว่าการแก้ ปัญหาอย่างนี้ไม่ถูกต้อง

การรับปากว่าจะแก้แล้วไม่ทำ ทำไม่จริง เขาไม่เชื่อถือก็จะมีการประท้วงต่อไปความขัดแย้งไม่จบเพราะไม่เชื่ออีกแล้ว

สรุปการวิเคราะห์ความขัดแย้ง ต้องทำบนพื้นฐานหลักๆ

ประเด็นปัญหา

ผู้เกี่ยวข้องคือใคร

ประเด็นมีอะไรบ้าง

วิเคราะห์นโยบายสถานการณ์

ใครมีอำนาจตัดสินใจ

ต่อจากนั้นอาจารย์เปิดโอกาสให้ซักถาม ซึ่งผมจะไม่นำมาบันทึกก็ได้เพราะหลักวิชาการที่อาจารย์สอนได้ว่ากันไปแล้ว แต่การที่นักศึกษาถามปัญหาที่เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และผมเห็นว่าเป็นเรื่องเป็นที่น่าล่อเป้า อิอิ และเผื่อผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาอ่านเพิ่มเติมข้อมูลแต่ละเรื่องที่เป็น เรื่องข้อเท็จจริงทางฝ่ายของเขาก็จะได้เป็นประโยชน์กับการที่จะช่วยกันแก้ ปัญหาสังคมครับ จึงนั่งบันทึกคำถามและที่อาจารย์ตอบมาให้ท่านได้อ่านกันด้วย (บอกก่อนว่าไม่อาจทำอย่างนี้ได้ทุกบันทึกเพราะนอกจากมันจะยาวแล้ว ผมก็เหนื่อยนิ้วเพราะใช้แค่สองนิ้วจิ้ม ฮ่าๆๆ)

ศุภชัย ใจสมุทร : การแก้ปัญหาความขัดแย้งได้มีวิวัฒนาการดีขึ้นมาตามลำดับ และพูดถึงกรณีต่างประเทศที่มีกรณีสร้างโรงงานสารเคมี และใช้วิธีกำจัดโดยฝังกลบ ทำให้ครอบครัวบางครอบครัวเกิดผลกระทบ แต่คนส่วนใหญ่ทำงานที่โรงงานแห่งนั้น คนส่วนใหญ่จึงมองผู้ประท้วงว่าทำไม่ถูก จึงรู้สึกว่าผู้ถูกผลกระทบมักจะถูกโดดเดี่ยว อาจารย์มีความเห็นอย่างไร  กับ กรณีเส้นเสียงที่สุวรรณภูมิ การแก้ปัญหาโดยการจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเดียวน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะเงินที่เอามาจ่ายเป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ

อาจารย์ เห็นด้วยว่าผู้ถูกกระทบมักถูกโดดเดี่ยว เล่าให้ฟังถึงการเดินสายไฟฟ้าในต่างประเทศ ของบริษัทผู้รับเหมา นอกจากจะมีแผนกวิศวกรจะออกแบบกำหนดทิศทาง ก็ยังจะมีแผนกการมีส่วนร่วมของสาธารณชน จะทำโครงการอะไรก็ตามก็จะมีแผนกนี้ไปดำเนินการจนได้ความเห็นว่ามันน่า จะเป็นอย่างนี้ เส้นทางของสายไฟฟ้าอาจจะอ้อมไปอ้อมมาบ้างแต่ไม่เกิดปัญหา

กรณีวางท่อแก๊ส ปตท. ที่เมืองกาญจน์ไปราชบุรี ชาวบ้านขอให้อ้อมเส้นทางหน่อยได้ไหม ไม่เข้าชุมชนได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ เพราะออกแบบมาแล้ว ต้องทำให้เสร็จตามกำหนดเพราะทำสัญญากับพม่าไว้แล้ว อีกตัวอย่างหนึ่งที่ขอนแก่นการวางท่อแก๊ส ประสบความสำเร็จไปแล้ว เดิมออกแบบมาสองเส้นทาง แล้วไปขอความเห็นชาวบ้าน แล้วเลือกเส้นทางซึ่งจะต้องผ่านบ้าน ๓๙๗ ราย การเจรจาชดเชยค่าเช่า คุยกันไปกันมาสามรอบ บางบ้านชาวบ้านไม่ยอมให้ผ่าน คนที่ไม่ยอมให้ผ่านก็สำรวจเส้นทางใหม่ แม้จะอ้อมเส้นทางไปบ้าง แม้โครงการจะล่าช้าไป ๒ เดือน แต่ปัจจุบันใช้ได้แล้ว เพราะการฟังเสียงประชาชน ถ้าชาวบ้านไม่ยอมให้ผ่านก็หาทางหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง

อาจารย์ สรุปว่า ชาวบ้านเขาคิดเป็น อย่าไปดูถูกความคิดประชาชน อย่าไปคิดว่าไม่ต้องฟังความเห็น เอาเงินซื้อผู้นำชุมชนก็ได้แล้ว และที่ผ่านมาล้มเหลวมาหลายโครงการเพราะคิดอย่างนี้

อาจารย์ เล่าให้ฟังที่ขอนแก่นเคยมีปัญหาเรื่องสนามบินขอนแก่น ซึ่งอยู่ใกล้เมือง และมีหมู่บ้านจัดสรรไปตั้งอยู่ที่ปลายรันเวย์ มาตั้งทีหลังสนามบิน สนามบินจะขยายรันเวย์เพื่อรองรับเครื่องบินที่ใหญ่ขึ้น ฝั่งโน้นเป็นที่ทหาร ฝั่งนี้ก็จะใกล้กับชาวบ้าน ขึ้นลงก็จะใกล้หลังคาบ้าน ในที่สุดก็ตัดสินใจขยายมาทางบ้านชาวบ้าน ชาวบ้านประท้วง ร้องเรียนไปทางผู้ว่า มีรายงานผลกระทบทางเสียงโดยให้ชาวบ้านติดเครื่องปรับอากาศจะลดเสียงลงไปได้ ต้องมาดูว่าชาวบ้านมีศักยภาพที่จะติดตั้งได้หรือไม่ มีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องระดับเสียง ในหมู่บ้านนั้นมี ขรก.ของม.ขอนแก่น เอาเครื่องมาวัดเสียงว่าดังเกินกว่ากำหนดหรือไม่ มาวัดตอนที่เครื่องบินขึ้นลงวันละ ๒-๓ เที่ยว ถึงปัจจุบันปัญหาก็ยังไม่หมด สนามบินก็ขยายรันเวย์ไป แต่ปัญหาไม่ค่อยรุนแรงเนื่องจากเครื่องบินขึ้นลงยังไม่มาก  ในส่วนสนามบินสุวรรณภูมิมีโครงการมาถึง ๔๐ ปีกว่าจะสร้างได้ แต่ชาวบ้านก็น่าจะรู้อยู่ว่าพื้นที่นั้นไม่น่าจะไปอยู่

ศุภชัย ใจสมุทร: เรื่องสุวรรณภูมิมีการกำหนดว่าถ้าไปอยู่หลังปี ๒๕๔๔ จะไม่จ่าย การประเมินความดังของเสียงใช้หลักการประเมินว่าถ้าบินเต็มที่จะได้ ๗๖ เที่ยวบิน ถ้าเกิน ๔๐ เที่ยวเสียงจะดังเกินที่มนุษย์จะรับไหว มีชาวบ้านอยากให้บ้านตัวเองมีเสียงดังเกินมาตรฐานเพื่อจะได้รับค่าชดเชย การแก้ปัญหาได้มีการประชุมร่วมกันแก้ปัญหาด้วยไตรภาคีสิ่งที่ถามคือ การใช้เงินแก้ปัญหาจะต้องใช้เงิน ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท เห็นว่าน่าจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา  อาจารย์ถามถึงที่มาของตัวแทน คุณศุภชัยบอกว่าตัวแทนมาจากพื้นที่เป็นส่วนๆ  อาจารย์จึงบอกถึงว่าต้องมีการกำหนดกติกาว่าตัวแทนมีอำนาจพูด ส่วนผู้สังเกตการณ์ไม่มีโอกาสพูดไม่งั้นจะเกิดปัญหาต่อเนื่อง

อาจารย์  ที่ ซิดนีย์ ออสเตรเลียแก้ปัญหาด้วยการกำหนดเวลาในการบินขึ้นลง ห้ามบินตั้งแต่ ห้าทุ่มถึงตีห้า การแก้ปัญหาต้องใช้เวลา มุมมอง วิเคราะห์ให้รอบด้าน ไม่ใช่เพื่อให้ผ่านไปก่อน เพราะมิฉะนั้นมันจะเกิดปัญหาซับซ้อน หรือแก้ปัญหาไปแล้วทำไม่ได้ก็จะขาดความน่าเชื่อถือ ถ้าตัดสินใจไปแล้วแก้ปัญหาไม่ได้เขาก็จะไม่เชื่อถือกระบวนการ

ธัญญนิธิ อักษรสิทธิจิรา ในมุมกว้างภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน อสังหาริมทรัพย์ ส่อไปในทางล้มเหลว บัตรเครดิตมีปัญหา การที่สองฝ่ายมีปัญหาหาจุดจบในการประท้วงกันไม่ได้ หากเป็นเช่นนี้จะทำให้การลงทุนหดหาย หุ้นดิ่งลงเหว เศรษฐกิจจะแย่ เรานักศึกษาหลักสูตรนี้อยากจะช่วยแต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร

อาจารย์ บอกว่าเราต้องมองรอบด้าน เช่น บัตรเครดิต แบงค์ชาติก็พยายามควบคุมว่าคนที่จะทำบัตรเครดิตต้องมีรายได้เท่านั้นเท่านี้ แต่ผู้ประกอบธุรกิจก็ปล่อยให้ใครต่อใครใช้เครดิตโดยเสี่ยง โดยไปเรียกดอกเบี้ยให้แพง ที่มองเห็นประเด็นปัญหาคือจิตสำนึกจิตสาธารณะของบ้านเรามันน้อยลง และบอกว่าวันนี้ก็เห็นตำรวจ สน.มีนบุรี ในเครื่องแบบพูดโทรศัพท์มือถือในขณะขับรถ ในรถก็ยังมีเครื่องแบบ ถ้าผู้รักษากฎหมายเป็นแบบนี้ก็ไปบอกคนอื่นยาก

แล้วก็ถึงเวลาทานข้าว วันนี้ว่าซะยาวในภาคเช้า แต่ความมันอยู่ในภาคบ่าย ที่ รศ.ดร.ชัญญา อภิปาลกุล ซึ่งโกติ้งตั้งฉายาให้ใหม่ว่า หม่อมราดชะวงสะอิ้ง ณ ขอนแก่น  เป็นผู้ขึ้นเวทีบรรยายให้พวกเราฟัง อย่าลืมติดตามเป็นอันขาด คิกคิก….

« « Prev : ๑๔. การวิเคราะห์ความขัดแย้ง ๒

Next : ๑๖. แผนที่ความคิด ๑ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

949 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 3.1446931362152 sec
Sidebar: 0.077571868896484 sec