อาม่าเล่าเรื่อง (๗) เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสของชีวิต

1 ความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 29 สิงหาคม 2010 เวลา 17:23 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 2685

       อากงทำงานเป็นเสมียนทำบัญชีที่ร้านใหญ่ในสมัยนั้น ก็อาจจะเทียบได้ว่าเป็นระดับผู้จัดการในสมัยนี้  มีรายได้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในครอบครัวได้อย่างสบาย แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดขึ้น คืออากงเกิดปัญหากับผู้ร่วมงานในร้านคนหนึ่งจนถึงขั้นทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง  ในที่สุดทั้งสองคนถูกให้ออกจากงานทั้งคู่  ชีวิตอากงจึงพลิกผัน จากการมีงานอาชีพที่ดี มีรายได้หรือเงินเดือนที่ดี กลายเป็นคนตกงานทันที……เรื่องนี้ น่าจะเป็นข้อพึงสังวรณ์สำหรับทุกคนว่า ชีวิตคนเรานั้นตั้งอยู่ในความไม่แน่นอน  อาจจะมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ……แต่อากงก็ใช้วิกฤตชีวิตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส โดยการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากการเป็นลูกจ้างคนอื่นมาเป็นนายของตนเอง  อากงเริ่มต้นทำธุรกิจของตนเอง ด้วยการไปเช่าห้องแถวเปิดร้านขายเสื้อผ้าและของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเป็นของตนเอง และในช่วงเช้ายังนำเสื้อผ้าและของใช้บางส่วนไปขายที่บริเวณตลาดสดเพื่อเพิ่มรายได้อีกด้วย…..ตลาดสดนี้ในปัจจุบันมีการรื้อถอนไปแล้ว  เป็นบริเวณที่เปลี่ยนเป็นลานย่าโมในปัจจุบัน

          การเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่อีกหนของครอบครัวอากงอาม่า เกิดขึ้นเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ (เริ่มในยุโรป ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ แต่ในประเทศไทย กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ประจวบคีรีขันธ์และอีกหลายจังหวัดในภาคกลาง ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔   ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดในพระนคร การทิ้งระเบิดครั้งแรก เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. หลังจากนั้น ในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ รัฐบาลก็ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสอย่างเต็มตัว   อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเรื่อง สงครามโลกครั้งที่สองในประเทศไทย ในวิกกิพีเดีย) ทำให้ต้องอพยพครอบครัวออกจากเมืองโคราช อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๖) ช่วงสร้างครอบครัว

2 ความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 28 สิงหาคม 2010 เวลา 14:03 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 1948

        อาม่ามีครอบครัวเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี (ถ้านับแบบคนไทยก็อายุเพียง ๑๗ ปี เพราะคนจีนจะนับอายุเมื่อเกิดมาก็จะมีอายุหนึ่งปี)  อาม่าเล่าว่า การมีครอบครัวเมื่ออายุ ๑๘ ปีในสมัยโน้นถือว่าช้าหรือแก่ไปแล้ว  ในสมัยโน้นการแต่งงานของลูกหลานจีนส่วนใหญ่เป็นการแต่งงานโดยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายตกลงและเห็นชอบกัน บางทีเจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่เคยเห็นกันมาก่อนก็มี เป็นลักษณะที่ต่อมาเรียกว่า “การแต่งงานแบบคุมถุงชน” ในกรณีของอาม่ากับอากง มีโอกาสได้เห็นกันและทำความรู้จักกันก่อน โดยเริ่มต้นจากการที่มี  แม่สื่อมาพูดคุยกับผู้ใหญ่ (พ่อแม่) ของทั้งสองฝ่ายคือ เล่ากงเล่าม่า  เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นดีด้วยก็จะมีการนัดแนะมาดูตัวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นการพาผู้ใหญ่ฝ่ายชายและตัวฝ่ายชายที่จะเป็นเจ้าบ่าวมาที่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อดูตัวฝ่ายหญิง โดยฝ่ายหญิงมักจะเป็นคนนำน้ำหรือน้ำชา และ ของว่างออกมาบริการ ระหว่างที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน

       อาม่าและอากง ต่างเคยเห็นกันมาบ้าง เพราะอาศัยอยู่บนถนนสายเดียวกัน แต่อยู่ห่างกันพอสมควร  และครอบครัวทั้งสองก็รู้จักกันพอสมควรเนื่องจากเล่ากงมีอาชีพเป็นช่างไม้เหมือน แม้ว่าคนหนึ่งเป็นช่างก่อสร้างบ้านอีกคนเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ก็ตาม

       อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๕) ชีวิตช่วงแรกที่อยู่เมืองไทย

ไม่มีความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 27 สิงหาคม 2010 เวลา 23:59 ในหมวดหมู่ สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 2455

           ที่อยู่ เล่ากงเช่าบ้านอยู่บริเวณ นอกกำแพงเมืองโคราช  ด้านประตูชุมพล บริเวณ ที่ปัจจุบันคือสี่แยกหนองบัวรอง ในถนนโพธิ์กลาง  ในสมัยนั้น ที่บริเวณหน้าประตูชุมพลยังไม่มีการสร้างอนุสาวรีย์ย่าโม  บ้านเช่าเป็นห้องแถวเล็ก ๆ และบริเวณด้านหลังยังเป็นป่าเป็นสวนและเป็นที่นาอยู่มาก  เมื่อเล่าม่า เล่ากงที่เป็นพ่อแท้ ๆ กับอาม่า เดินทางมาถึงโคราชใหม่ ๆ ต้องไปอาศัยอยู่ในสวน ที่เป็นเพื่อนของเล่ากง(พ่อบุญธรรม) ที่มาอยู่เมืองไทยก่อน เพราะเล่ากงเช่าห้องเล็ก ๆ ห้องเดียวอยู่กับภรรยาที่เป็นคนไทย จึงไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้  ช่วงต่อมาจึงขอเช่าห้องติดกันเพิ่ม เล่าม่า อาม่าและเล่ากง ที่เป็นพ่อแท้ ๆ ของอาม่า จึงได้มาอยู่ในห้องติดกัน …..อาม่าเล่าว่า ภรรยาคนไทยของเล่ากง บ่น(ด่า) เล่าม่า เป็นภาษาไทย แต่เล่าม่าฟังไม่รู้เรื่อง ก็เลยทำเฉย ๆ  จนคนบ้านติดกัน ที่เป็นคนจีนที่มาอยู่ก่อน ฟังภาษาไทยออก สงสารเล่าม่า เลยมาชวน เล่ามาไปช่วยงานเย็บเสื้อผ้า โดยเฉพาะกางเกงจีนที่เรียกว่าสี่กี้  ในช่วงกลางวันที่เล่ากงออกไปทำงานนอกบ้าน การเย็บผ้าในสมัยนั้นใช้เย็บด้วยมือ (สอย)  ยังไม่มีจักรเย็บผ้าใช้กัน….ฟังเรื่องเล่านี้แล้วทำให้นึกถึงเรื่องเล่าของ ดร. อาจอง ชุมสาย ที่เล่าว่าสมัยตนเองเด็ก ๆ ไปอยู่ที่ฝรั่งเศสใหม่ ๆ โดนเด็กฝรั่งเศสด่าว่าอะไรมากมาย แต่ตนเองฟังไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่รู้สึกโกรธหรือเดือดร้อนแต่อย่างใด  ไม่นานคนด่าก็เลิกไปเอง  อาจารย์บอกว่า เวลาคนอื่นบ่นหรือด่าเรา ถ้าเราคิดว่าเสียงนั้นเป็นเพียงคลื่นชนิดหนึ่ง มันเดินทางมากระทบหูเราแล้วก็เปลี่ยนเป็นพลังงานรูปอื่นหรือหายไปเท่านั้น ไม่มีอะไร เราก็จะไม่รู้สึกโกรธหรือโต้ตอบ สามารถวางเฉยได้

ประตูชุมพล ก่อนการบูรณะ (ภาพจากวิกี้พีเดีย) อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๔) น้องอาม่ามาเมืองไทย

2 ความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 26 สิงหาคม 2010 เวลา 21:01 ในหมวดหมู่ สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 2352

    เล่ากง ที่เดินทางมาอยู่โคราชก่อนคนอื่น ๆ  และได้ภรรยาเป็นคนไทยด้วย แต่ไม่มีลูกด้วยกันเพราะเล่ากงเป็นหมัน เลยไม่มีลูกกับเล่าม่าด้วยเช่นกัน  ดังนั้นเมื่อ อาม่าแต่งงาน หลังจากมาอยู่เมืองไทยได้ ๑๐ ปี (อาม่าแต่งงานเมื่ออายุ ๑๘ ปี ซึ่งอาม่าบอกว่า ถือว่าอายุมากแล้วในสมัยนั้น จะแต่งงานเมื่ออายุ ๑๕-๑๖ ปี กันเป็นส่วนใหญ่) เมื่อ อาม่าแต่งงานแล้วก็ต้องไปอยู่บ้านอากง ตามประเพณีของชาวจีน  เล่ากงซึ่งไม่มีลูกจึงเดินทางกลับไปประเทศจีน เพื่อไป ขออากู๋ จากพี่ชาย (ลูกคนที่ ๓ ของพ่อแม่) มาเลี้ยงเป็นบุตรบุณธรรมแทน…..อาม่าเล่าว่า ตอนที่เล่ากงไปขอ  พี่ชายจะให้ลูกอีกคน แต่เล่ากง เห็นอากู๋ (ตอนนั้นอายุ ๘ ขวบ) แล้วถูกใจมากกว่า เนื่องจากเป็นเด็ก หน้าตาดี น่ารักกว่า จึงขออากู๋มาเป็นลูกบุญธรรมแทน  ดังนั้น อาม่าจึงมีอากู๋มาเป็นน้องชาย (เป็นลูกพี่ลูกน้อง) มาอยู่ที่โคราชด้วยกันตั้งแต่นั้นมา

 

ภาพข้างบนเป็นภาพที่ อาม่า อากู๋ และ อาอี้ ถ่ายด้วยกันครั้งที่กลับไปเยี่ยมญาติที่เมืองจีนด้วยกัน ในตอนที่อาม่า อายุประมาณ ๖๐ ปี อาม่าเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ไปเมืองจีนครั้งนั้นเป็นช่วงที่ทางประเทศจีนกำลังไว้ทุกข์จากการเสียชีวิตของท่านประธานเหมาเจ๋อตุง พอดี (ประธานเหมาเจ๋อตุง เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙) อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๓) เล่ากงเล่าม่า

อ่าน: 2644

        เรื่องของเล่ากงเล่าม่าของเรา  ฟังอาม่าเล่าใหม่ ๆ รู้สึกสับสนพอสมควร ก็พยายามค่อย ๆ คุยสอบถามเพิ่มเติมจนได้ภาพที่ค่อนข้างชัดเจน จึงนำมาเล่าไว้สำหรับลูก ๆ หลาน ๆ ได้รับทราบดังนี้

          อากงอาม่า ก็จะมีกันสองฝ่าย คือ ฝ่ายพ่อแม่ของพ่อ (ฝ่ายชาย) จะเรียกว่า ไล่กงไล่ม่า  ส่วนพ่อแม่ของแม่ (ฝ่ายหญิง) จะเรียกว่า งั่วกงงั่วม่า  เมื่อพูดถึงพ่อแม่ของอากงและอาม่าอีกชั้นก็จะเรียกว่า เล่ากงเล่าม่า ถ้าจะเรียกให้เต็มก็จะเรียกว่า ไล่เล่ากงและไล่เล่าม่า สำหรับ พ่อแม่ของอากง และ งั่วเล่ากงและงั่วเล่าม่า สำหรับพ่อแม่ของอาม่า

กรณีของอาม่าของเรายิ่งซับซ้อนมากขึ้นเพราะ  พ่อแม่ของอาม่ายกอาม่าให้เป็นลูกบุญธรรมของน้องชาย  ดังนั้นอาม่าจึงเหมือนมีพ่อแม่อย่างละ ๒ คน คือพ่อแม่ที่ให้กำเนิด กับพ่อแม่ที่เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ นั่นคือพวกเราจะมี งั่วเล่ากงและงั่วเล่าม่า อย่างละ ๒ คน แต่เวลาพูดถึงโดยทั่วไปจะเรียกสั้น ๆ ว่า เล่ากงเล่าม่าเฉย ๆ โดยส่วนใหญ่ก็จะหมายถึง เล่ากงเล่าม่าที่มาอยู่เมืองไทยที่เลี้ยงดูอาม่ามาตั้งแต่เล็ก ๆ  สอบถามจากอาม่าจึงได้ทราบว่า อาม่าเก็บภาพของ เล่ากงเล่าม่าทั้งสอง ใส่กรอบเล็ก ๆ ไว้ จึงถ่ายภาพมาให้ได้เห็นกันครับ

 

ภาพเล่ากงเล่าม่า ที่เป็น พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดอาม่า  ที่อยู่เมืองจีน อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๒) ถึงเมืองไทย

2 ความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 13 สิงหาคม 2010 เวลา 11:28 ในหมวดหมู่ เรื่องเล่าทั่วไป #
อ่าน: 2562

 

      การเดินทางจากซัวเถาประเทศจีนมาเมืองไทยโดยทางเรือของอาม่า เดินทางมาพร้อมกับคุณพ่อหรือเตี่ยของอาม่าเอง (เล่ากง ของพวกเรา)  อาม่าเล่าให้ฟังว่า เป็นเรือขนาดใหญ่ มีผู้โดยสารมาเป็นร้อย ๆ คน มีการบันทุกสินค้ามาด้วยจำนวนมากที่ด้านล่างสุดของเรือ  ชั้นถัดขึ้นมาเป็นบริเวณโล่ง ที่ผู้โดยสารพักอาศัยอยู่รวมกันในการเดินทางมา โดยมีของใช้ที่จำเป็นส่วนตัวของแต่ละคนมาด้วย และที่ขาดไม่ได้ ก็อย่างที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาในเชิงเปรียบเทียบว่า “คนจีนที่เดินทางมาประเทศไทยจำนวนมาก สิ่งที่มีติดตัวมานั้นมีน้อยมาก มีแค่เสื่อผืนหมอนใบ เท่านั้น  แต่ด้วยความขยัน อดทน อดออม ก็สามารถมาสร้างเนื้อสร้างตัว จนมีฐานะร่ำรวยได้ ที่เมืองไทย”  สำหรับผู้โดยสารที่มีฐานะดีก็จะอยู่ชั้นบนสุด โดยมีการแบ่งเป็นห้อง ๆ อย่างเป็นสัดเป็นส่วน ก่อนจะเป็นชั้นที่เรียกว่าชั้นดาดฟ้าเรือ  เล่ากงและอาม่าเดินทางมาในชั้นที่ผู้โดยสารพักอาศัยอยู่รวมกัน ตลอดระยะเวลาเดินทางประมาณหนึ่งสัปดาห์  หลาย ๆ คนเมาเรือ  กินอาหารไม่ได้ แต่อาม่าไม่เป็นไร และยังเดินขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือได้อีกด้วย  สำหรับเรื่องอาหารการกิน ทางเรือจะบริการเฉพาะน้ำ ข้าวสวยและข้าวต้ม  ผู้โดยสารจะต้องนำกับข้าวหรืออาหารอื่น ๆ มาเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ ผักดอง หมูเค็มและปลาเค็ม

อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๑) การเดินทางมาจากเมืองจีน

2 ความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 12 สิงหาคม 2010 เวลา 9:30 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 2173

      ในวาระวันแม่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ นี้ เราได้เตรียมรูปที่ อาม่า (Lin Hui) ได้ถ่ายรูป อาม่า (ตัวจริง) เมื่อปลายเดือนที่แล้ว และพิมพ์ด้วยตนเองด้วยเครื่องพิมพ์ที่บ้าน ออกมาในขนาดเต็มกระดาษ A4 นำไปใส่กรอบเรียบร้อย เพื่อจะมอบให้อาม่าในวันแม่ปีนี้

      จากที่อาม่าเล่าให้ฟัง อาม่าเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว เกิดที่อำเภอเก๊กเอี๊ย จังหวัดซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน  เดินทางมาประเทศไทยกับคุณพ่อ (เตี่ย) โดยทางเรือ ตอนที่ตัวเองมีอายุได้เพียง ๘ ขวบ โดยออกเดินทางจากบ้านเกิดมาที่ซัวเถา โดยเรือเล็กใช้เวลาเดินทางไม่นาน (ราวสองสามชั่วโมง) แล้วจึงมาขึ้นเรือใหญ่ที่ซัวเถา เดินทางต่อมาประเทศไทย ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งอาทิตย์หรือ ๗ วันจึงถึงประเทศไทย ตอนนี้อาม่า อายุ ๙๕ ปี ก็ลองลบดูเอาเองนะครับว่า อาม่าเดินทางมาประเทศไทยในปี พ.ศ. ใด

 

            อ่านต่อ »



Main: 0.12662506103516 sec
Sidebar: 0.114413022995 sec