อาม่าเล่าเรื่อง (๒) ถึงเมืองไทย
อ่าน: 2570
การเดินทางจากซัวเถาประเทศจีนมาเมืองไทยโดยทางเรือของอาม่า เดินทางมาพร้อมกับคุณพ่อหรือเตี่ยของอาม่าเอง (เล่ากง ของพวกเรา) อาม่าเล่าให้ฟังว่า เป็นเรือขนาดใหญ่ มีผู้โดยสารมาเป็นร้อย ๆ คน มีการบันทุกสินค้ามาด้วยจำนวนมากที่ด้านล่างสุดของเรือ ชั้นถัดขึ้นมาเป็นบริเวณโล่ง ที่ผู้โดยสารพักอาศัยอยู่รวมกันในการเดินทางมา โดยมีของใช้ที่จำเป็นส่วนตัวของแต่ละคนมาด้วย และที่ขาดไม่ได้ ก็อย่างที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาในเชิงเปรียบเทียบว่า “คนจีนที่เดินทางมาประเทศไทยจำนวนมาก สิ่งที่มีติดตัวมานั้นมีน้อยมาก มีแค่เสื่อผืนหมอนใบ เท่านั้น แต่ด้วยความขยัน อดทน อดออม ก็สามารถมาสร้างเนื้อสร้างตัว จนมีฐานะร่ำรวยได้ ที่เมืองไทย” สำหรับผู้โดยสารที่มีฐานะดีก็จะอยู่ชั้นบนสุด โดยมีการแบ่งเป็นห้อง ๆ อย่างเป็นสัดเป็นส่วน ก่อนจะเป็นชั้นที่เรียกว่าชั้นดาดฟ้าเรือ เล่ากงและอาม่าเดินทางมาในชั้นที่ผู้โดยสารพักอาศัยอยู่รวมกัน ตลอดระยะเวลาเดินทางประมาณหนึ่งสัปดาห์ หลาย ๆ คนเมาเรือ กินอาหารไม่ได้ แต่อาม่าไม่เป็นไร และยังเดินขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือได้อีกด้วย สำหรับเรื่องอาหารการกิน ทางเรือจะบริการเฉพาะน้ำ ข้าวสวยและข้าวต้ม ผู้โดยสารจะต้องนำกับข้าวหรืออาหารอื่น ๆ มาเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ ผักดอง หมูเค็มและปลาเค็ม
อาม่าเล่าให้ฟังว่า เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย (เข้าใจว่าเป็นท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ) ก็จะมีคนจีนที่มาอยู่ที่เมืองไทยแล้วมารับ เล่ากงกับอาม่าพร้อมคนจีนอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งไปพักอยู่ที่บ้านพักชั่วคราวที่เป็นบ้านในสวน โดยเป็นสวนมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่เล่ากง (ซึ่งเป็นน้องชายของเตี่ยอาม่า) ที่มาอยู่ที่โคราชก่อนแล้วเดินทางมารับจากที่พักชั่วคราวนี้ที่กรุงเทพฯ เดินทางมายังโคราช ที่เล่ากงเล่าม่า เดินทางมาพักอาศัยและทำมาหากินอยู่ก่อน และเป็นผู้ชักชวนให้เตี่ยของอาม่าซึ่งเป็นพี่ชายมาอยู่ประเทศไทย เตี่ยของอาม่ามาทดลองอยู่ประเทศไทย (ที่โคราช) เพื่อตัดสินใจว่าจะมาอยู่อย่างถาวรหรือไม่ ในที่สุดก็ตัดสินใจกลับไปอยู่เมืองจีนเหมือนเดิมที่มี เล่าม่า (ภรรยา) และลูก ๆ อีกลายคนรออยู่ โดย เล่ากงเล่าม่า (รูปภาพ) ที่มาอยู่โคราชแล้วไม่มีลูกของตนเอง จึงขออาม่าจากพี่ชายเพื่อเป็นลูกบุญธรรม ให้อยู่ประเทศไทยต่อไป ด้วยเหตุนี้เองอาม่า (ซึ่งตอนนั้นอายุเพียง ๘-๙ ขวบ) จึงได้อยู่เมืองไทยและเติบโตที่โคราชมาจนถึงปัจจุบัน
« « Prev : อาม่าเล่าเรื่อง (๑) การเดินทางมาจากเมืองจีน
Next : บ้านชานเมือง (31) ฝนมาแต่น้ำคงไม่ท่วมแล้ว » »
2 ความคิดเห็น
สวัสดีค่ะ
แวะมาอ่านเรื่องราวของเล่าม่าเล่ากงค่ะ
แม่เคยเล่าว่า บรรพบุรุษสมัยก่อนลำบาก อดทน ขยันประหยัดมาก และหลาย ๆ ท่าน เมื่อสร้างฐานะแล้ว หากไม่ได้กลับไปย้งมาตุภูมิ ก็มักจะส่งเงินทองไปจุนเจือญาติและครอบครัวที่เมืองจีนเสมอ
รออ่านต่อค่ะ
ชีวิตของชาวจีน ที่มาเมืองไทย จำนวนมากก็เป็นอย่างที่คุณแม่เล่านะครับ
เมื่อสองวันก่อน ได้รับทราบจากอาม่าเพิ่มเติมว่า เรื่องที่ อาม่าได้เป็นบุตรบุญธรรม ของเล่ากงเล่าม่า นั้นได้เป็นตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ไม่ใช่มายกให้ตอนมาอยู่เมืองไทย สาเหตุที่ เตี่ย แท้ ๆ ของอาม่า ยกอาม่า ให้เป็นบุตรบุญธรรมของ เล่ากง ที่เป็นน้องชาย เนื่องจากเมื่ออาม่าเกิดมา แม่ของอาม่า ไม่สบายมาก จึงมีการยกลูก (อาม่า) ให้เป็นบุตรบุญธรรมของน้อง เพื่อเป็นเคล็ดให้หายป่วย อาม่าเล่าให้ฟังว่า ถ้าเวลาใครมีบุตรเกิดมาแล้วเลี้ยงยาก ก็จะมีการยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของญาติๆ เพื่อแก้เคล็ดเช่นเดียวกัน