อาม่าเล่าเรื่อง (๑) การเดินทางมาจากเมืองจีน

โดย Panda เมื่อ 12 สิงหาคม 2010 เวลา 9:30 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 2164

      ในวาระวันแม่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ นี้ เราได้เตรียมรูปที่ อาม่า (Lin Hui) ได้ถ่ายรูป อาม่า (ตัวจริง) เมื่อปลายเดือนที่แล้ว และพิมพ์ด้วยตนเองด้วยเครื่องพิมพ์ที่บ้าน ออกมาในขนาดเต็มกระดาษ A4 นำไปใส่กรอบเรียบร้อย เพื่อจะมอบให้อาม่าในวันแม่ปีนี้

      จากที่อาม่าเล่าให้ฟัง อาม่าเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว เกิดที่อำเภอเก๊กเอี๊ย จังหวัดซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน  เดินทางมาประเทศไทยกับคุณพ่อ (เตี่ย) โดยทางเรือ ตอนที่ตัวเองมีอายุได้เพียง ๘ ขวบ โดยออกเดินทางจากบ้านเกิดมาที่ซัวเถา โดยเรือเล็กใช้เวลาเดินทางไม่นาน (ราวสองสามชั่วโมง) แล้วจึงมาขึ้นเรือใหญ่ที่ซัวเถา เดินทางต่อมาประเทศไทย ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งอาทิตย์หรือ ๗ วันจึงถึงประเทศไทย ตอนนี้อาม่า อายุ ๙๕ ปี ก็ลองลบดูเอาเองนะครับว่า อาม่าเดินทางมาประเทศไทยในปี พ.ศ. ใด

 

           ในยุคนี้ผมจึงมาสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต ได้ความว่า

          “ซัวเถา” เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง มีประชากรรวมกว่า 4 ล้านคน อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว ต่อมาแยกออกมาเป็นจังหวัด และในปีพ.ศ.2525 รัฐบาลประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัจจุบันมีรายได้หลักมาจากการส่งสินค้าออก ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องไฟฟ้า เครื่องจักรกล เวชภัณฑ์ การฝีมือ ที่มีชื่อเสียงมากคือ ผ้าปัก เซรามิก แกะสลักหินและไม้แกะสลัก “ซัวเถา” หรือแต้จิ๋วในอดีต เป็นบ้านพี่เมืองน้องที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะถือเป็นถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน
           ยุคที่ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาเมืองไทยมากที่สุดคือ หลังปี พ.ศ.2310
ในยุคที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงครองราชย์ ทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว มีพระราชบิดาเป็นชาวแต้จิ๋วชื่อ แต้ย้ง หรือต๋า ส่วนพระราชมารดาเป็นคนไทยชื่อนกเอี้ยง ทำให้คนทั้ง 2 ชาติไปมาหาสู่กันมากเป็นพิเศษ จนมีเรื่องบอกเล่ากันว่าเมื่อคราวที่พระเจ้าตากสิน ออกสู้รบเพื่อกอบกู้เอกราชให้กับชาติไทย ชาวเมืองแต้จิ๋วได้เรี่ยไรเงินนำมาใช้ต่อเรือ เพื่อเป็นพาหนะในการกอบกู้เอกราชให้กับชาติไทยในสมัยนั้นด้วย นอกจากพระเจ้าตากสิน จะเป็นกษัตริย์ทรงเป็นที่รักยิ่งของคนไทยแล้ว พระองค์ยังเป็นที่รักและเคารพของคนจีนแต้จิ๋วในประเทศจีนอย่างมากอีกด้วย จนมีการเรียกพระนามตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า แต่อ่วงกง หมายถึง กษัตริย์ชาวแต้จิ๋วที่ได้รับการเคารพบูชา

          จีนแต้จิ๋วเป็นกลุ่มชาวจีนที่มาอยู่ในประเทศไทยมากที่สุด โดยกลุ่มที่มาจากอำเภอเก๊กเอี๊ยนั้นมีการก่อตั้งเป็น สมาคมเก๊กเอี๊ยแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สอง จากเว็บไซต์ของสมาคมบอกไว้ว่า  เก๊กเอี๊ย เป็นเมืองเก่าแก่โบราณสมัยชุนชิว เป็นแคว้นหนึ่งของเมืองฮ้วกก๊ก ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฉิน เป็นอำเภอหนึ่งของเมืองน่ำไฮ้ เมืองเก๊กเอี๊ยมีประวัติอันยาวนานถึง 2 พันกว่าปี ตราสัญลักษณ์ของสมาคมได้นำกำแพงเมืองโบราญและต้นไทร ภาษาจีนเรียกว่า ย่งชิ่ว แม่น้ำที่ไหลผ่านหน้าเมืองโบราญ คือ แม่น้ำย่งกัง เก๊กเอี๊ย จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองย่งเซี้ย” ภูเขาและเจดีน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวและโบราณสถานมีชื่อว่า “ภูเขาอึ้งกีชัว” และ “เจดีย์อึ้งกี” ซึ่งจากการค้นพบทางโบราณคดีปรากฏว่าบริเวณภูเขาอึ้งกี เป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์โบราณยุดหินใหม่ มีอายุประมาณ 4 พันกว่าปี ทั้งยังได้ค้นพบเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินสำริดมากมาย จากลวดลายบนภาชนะดินเผาบ่งบอกถึงมนุษย์โบราณในสมัยนั้นเริ่มมีอีกษรใช้อย่างง่ายๆ แล้ว และมีวัฒนธรรมพอสมควร  

       เก๊กเอี๊ย เป็นอำเภอที่มีเอกลักษณ์และศิลปะวัฒนธรรมเฉพาะของตัวเอง ก่อกำเนิดบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น นักปราชญ์ นักกวี จิตรกร หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในอดีตกาลมากมาย ปัจจุบันอำเภอเก๊กเอี๊ยได้ถูกยกฐานะเป็นเมืองครอบคลุมพื้นที่อำเภอเก๊กตัง เก๊กไซ โพวเล้ง ฮุ่ยไล้ และเขตเมืองย่งเซี้ยมีพื้นที่ทั้งหมด 5,240 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 6 กว่าล้านคน  เก๊กเอี๊ย เป็นเมืองโบราณที่มีประวัติอันยาวนาน และมีศิลปะวัฒนธรรมอันรุ่งโรจน์ ในอดีตกาลได้ถูกสืบทอดสู่ปัจจุบัน จนเป็นที่เล่าขานว่าเป็น “เมืองแห่งบัณฑิต ไฮปิงโจวลู่”

« « Prev : Panda อายุครบหนึ่งขวบแล้ว

Next : อาม่าเล่าเรื่อง (๒) ถึงเมืองไทย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 สิงหาคม 2010 เวลา 10:12

    ขอบคุณข้อมูลดี ๆ ที่ได้รับจากกบันทึกนี้้
    อาม่่าหน้าตาอิ่มสุขจังค่ะ

    เตึ่ยก็มาจากเมืองจีน จำได้วเพียงว่าเมืองไซตั่ง นอกนั้นจำไม่ได้เลยค่ะ
    คงต้องหาทางบันทึกและทำสาแหรกตระกูลไว้บ้างแล้วค่ะ

  • #2 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 สิงหาคม 2010 เวลา 11:13
    ขอบคุณ freemind ที่แวะมาอ่านครับ การฟังและค้นหาเรื่องราวของตระกูล เป็นการเรียนรู้ที่มาของตนเองครับ ปัจจุบัน ย่อมมาจากอดีต

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.21316385269165 sec
Sidebar: 0.22586297988892 sec