อาม่าเล่าเรื่อง (๓) เล่ากงเล่าม่า
เรื่องของเล่ากงเล่าม่าของเรา ฟังอาม่าเล่าใหม่ ๆ รู้สึกสับสนพอสมควร ก็พยายามค่อย ๆ คุยสอบถามเพิ่มเติมจนได้ภาพที่ค่อนข้างชัดเจน จึงนำมาเล่าไว้สำหรับลูก ๆ หลาน ๆ ได้รับทราบดังนี้
อากงอาม่า ก็จะมีกันสองฝ่าย คือ ฝ่ายพ่อแม่ของพ่อ (ฝ่ายชาย) จะเรียกว่า ไล่กงไล่ม่า ส่วนพ่อแม่ของแม่ (ฝ่ายหญิง) จะเรียกว่า งั่วกงงั่วม่า เมื่อพูดถึงพ่อแม่ของอากงและอาม่าอีกชั้นก็จะเรียกว่า เล่ากงเล่าม่า ถ้าจะเรียกให้เต็มก็จะเรียกว่า ไล่เล่ากงและไล่เล่าม่า สำหรับ พ่อแม่ของอากง และ งั่วเล่ากงและงั่วเล่าม่า สำหรับพ่อแม่ของอาม่า
กรณีของอาม่าของเรายิ่งซับซ้อนมากขึ้นเพราะ พ่อแม่ของอาม่ายกอาม่าให้เป็นลูกบุญธรรมของน้องชาย ดังนั้นอาม่าจึงเหมือนมีพ่อแม่อย่างละ ๒ คน คือพ่อแม่ที่ให้กำเนิด กับพ่อแม่ที่เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ นั่นคือพวกเราจะมี งั่วเล่ากงและงั่วเล่าม่า อย่างละ ๒ คน แต่เวลาพูดถึงโดยทั่วไปจะเรียกสั้น ๆ ว่า เล่ากงเล่าม่าเฉย ๆ โดยส่วนใหญ่ก็จะหมายถึง เล่ากงเล่าม่าที่มาอยู่เมืองไทยที่เลี้ยงดูอาม่ามาตั้งแต่เล็ก ๆ สอบถามจากอาม่าจึงได้ทราบว่า อาม่าเก็บภาพของ เล่ากงเล่าม่าทั้งสอง ใส่กรอบเล็ก ๆ ไว้ จึงถ่ายภาพมาให้ได้เห็นกันครับ
ภาพเล่ากงเล่าม่า ที่เป็น พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดอาม่า ที่อยู่เมืองจีน
ภาพเล่ากงเล่าม่า ที่เลี้ยงดูอาม่า ตั้งแต่เล็กจนโต ที่มา อยู่เมืองไทย
ย้อนกลับมาเล่าเรื่องต่อ ตอนอาม่าเดินทางมาถึงเมืองไทยอีกทีครับ การเดินทางมาเมืองไทยครั้งนี้ มากัน ๓ คน คือ เล่ากง(พ่อแท้ ๆ ของอาม่า) กับ เล่าม่า (ภรรยาเล่ากงที่มาเมืองไทยก่อน ซึ่งเป็นน้องชายของพ่อแท้ ๆ ของอาม่า พ่ออาม่าเป็นลูกคนที่ ๒ ของพ่อแม่ แต่เล่ากงเป็นลูกคนที่ ๔ ของพ่อแม่) การเดินทางจากกรุงเทพฯ มาโคราช ในสมัยนั้นก็โดยทางรถไฟ โดย อากง (เล่ากง) ที่มาอยู่โคราชเมืองไทยก่อนแล้วไปรับ สาเหตุที่พ่อแท้ ๆ ของอาม่า เดินทางมาเมืองไทยก็คือ เดินทางมาเป็นเพื่อน เล่าม่า (ที่เป็นภรรยาของเล่ากงที่มาอยู่เมืองไทยก่อน หรือ เป็นน้องสะใภ้ของเล่ากงพ่ออาม่านั่นเอง) อีกอย่างก็คือพาอาม่าที่เป็นลูกสาวแต่ยกให้เป็นลูกบุญธรรมของเล่าม่าแล้วมาด้วย รวมทั้งอยากมาลองอยู่เมืองไทยตามที่น้องชายชักชวนด้วย อาม่าเล่าว่าสาเหตุที่พ่อแม่ยกอาม่าให้เป็นลูกบุญธรรมน้องชายของตนเองเพราะ ตอนอาม่าเกิดมา เล่าม่าที่เป็นแม่แท้ ๆ ของอาม่าไม่ค่อยสบาย จึงยกอาม่า ให้เป็นลูกบุญธรรมของเล่าม่าที่จะมาเมืองไทยพร้อมกันตั้งแต่เล็ก ๆ (เป็นธรรมเนียมคนจีนที่ทำกันประจำ คือ ถ้าลูกที่เกิดมาเลี้ยงยาก หรือ แม่ไม่สบาย ก็จะยกให้เป็นลูกบุญธรรมของพี่น้อง เพื่อแก้เคล็ด)
เล่ากง มีอาชีพเป็น ช่างไม้ (รับสร้างบ้าน) ส่วน เล่ากง (ไล่กง เตี่ยของ อากง ) มีอาชีพเป็นช่างไม้เหมือนกัน แต่เป็นช่างไม้ ทำเฟอร์นิเจอร์ พวกตู้ โต๊ะ เตียง ที่มีงานแกะสลัก หรือ งานละเอียดกว่า
« « Prev : บ้านชานเมือง (31) ฝนมาแต่น้ำคงไม่ท่วมแล้ว
Next : อาม่าเล่าเรื่อง (๔) น้องอาม่ามาเมืองไทย » »
ความคิดเห็นสำหรับ "อาม่าเล่าเรื่อง (๓) เล่ากงเล่าม่า"