ไหว้สาปารมี ๑๓๑ ปี ครูบาเจ้าศรีวิชัย
อ่าน: 5899หลายวันก่อนได้รับหนังสือเชิญให้ไปประชุมเตรียมการงานบุญ
ในวาระครบรอบร้อยสามสิบเอ็ดปี ครูบาศรีวิชัย “ต๋นบุญ” หรือนักบุญแห่งล้านนา
ที่จะมาจัดงานที่วัดจามเทวีใกล้ๆ โรงเรียน
จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะรวมงานบุญไปกับงานสอน
ตั้งแต่ขั้นตอนของการเตรียมการ ครูจึงผสานเนื้อหาวิชาด้วยการพาเด็กมาเรียนนอกห้อง
ด้วยต้องมีอุปกรณ์ในการลงมือแต่งดาครัวทาน
พร้อมกับค้นหาประวัติและผลงานของท่านครูบามาให้เรียนรู้
ทั้งกำหนดให้เด็กค้นคว้า ศึกษาต่อเนื่องในเรื่องราวที่สอดคล้องกับหลักสูตร
เป็นการเรียนที่มีผู้แวะเวียนมาร่วมสอน ร่วมเรียนและต่างเป็นครูให้แก่กัน
งานใดใครถนัด ก็จัดทำไป สอนกันไป
จึงได้เห็นทั้งผู้ใหญ่ เด็กร่วมกันเสาะหาข้าวของประดามีมาทำให้ต้นครัวทานดูดีและสวยงาม
พุ่มดอกไม้บูชา และครัวทานแต่งดาจากใบคา ไม้ไผ่และใช้กระดาษทองห่อหุ้ม
ตัดกิ่งไม้ใบไม้ใกล้ๆ ตัวมาเสียบแต่ง เติมด้วยดอกไม้จากขี้ผึ้ง
เท่านี้ก็ได้ต้นครัวทานสูงสง่ามาตั้งอวดอยู่หน้าอาคาร ให้คนผ่านไปมาได้ร่วมทำบุญ
เมื่อถึงวันงาน ก็ทะยอยกันไปวัดตามที่ครูจัดเวลาให้
ทั้งไปชมนิทรรศการ ฟังเสวนา ทั้งหาความรู้จากคุณครูภูมิปัญญา
ที่เมตตามาจัดมุมสอนอยู่ในวัด
ได้สัมผัสกับบรรยากาศที่อวลด้วยศรัทธา
มีเสียงสวดพระคาถาบารมีสามสิบทัศ จากเหล่าศรัทธาแต่ละวัด
ที่แว่วมาจากวิหารไม่ขาดสาย
ที่บรรดาลุง ป้าเจ้าศรัทธาของวัดจัดมาแจก
ได้ชม ชิมของแปลก ที่ไม่ได้เห็นในชีวิตประจำวัน
เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วิถีชาวบ้าน และวัฒนธรรมผ่านประสบการณ์
สนุกสนานกันจนต้องบอกครูว่า..ปีหน้าเรามากันอีกนะ !!!
เสียดายที่เด็กๆ ไม่ได้อยู่ร่วมงานในตอนเย็นที่เป็นเวลาแห่ครัวทานเข้าวัด
จึงจัดเป็นกิจกรรมของบรรดาคุณครู บุคลากร ในโรงเรียนและลูกหลาน
ที่ช่วยกันแบกหามครัวทาน ตั้งขบวนพร้อมเสียงฆ้องกลองแห่แหนอย่างครึกครื้น
ชื่นบานกันทั้งคนในขบวนและคนรอดูอยู่ข้างทาง
เป็นพิธีกรรมที่งดงาม เรียบง่าย และยังมีกลิ่นอายของวิถีพื้นบ้านดั้งเดิม
ประรำพิธีทำด้วยไม้ไผ่ ใบตองตึง อยู่ข้างสนามหญ้าหน้ากู่บรรจุอัฐิของครูบาศรีวิชัย
ช่างฟ้อนวัยงาม ฟ้อนอวดฝีมือ เป็นการต้อนรับเมื่อขบวนไปถึง
และได้ทึ่งกับปฏิภาณช่างซอ ที่ขับกล่อมด้วยคมคำสำนวน
ทั้งประกาศเชิญชวนให้ผู้คนเข้าประจำที่ด้วยวิธีขับขานผ่านเพลงซอ!!
เสียงครื้นโครมจากวงฆ้องกลองนำขบวน สงบลง
เมื่อผู้คนนั่งลงพร้อมกันบนเสื่อที่ปูลาดบนหญ้านุ่ม บ้างก็นั่งรายเรียงอยู่กับพื้นหญ้า
ทั้งท่านผู้ว่าราชการ ทั้งบรรดาชาวบ้าน ล้วนเท่าเทียมในตำแหน่งนั่ง..
หลังร่วมกันไหว้พระสวดมนต์
พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลถึงครูบา ก็เริ่มต้นด้วยเสียงซอแว่วหวาน
ผสานด้วยเสียงขับขาน “กะโลง”
โคลงค่าวที่แต่งแต้มคำโดย อาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง กวีล้านนา
ผู้คนมากมายนับพัน นั่งสงบเงียบ
ฟังเครื่องดนตรีพื้นเมืองเพียงชิ้นเดียวกับเสียงขับกะโลงทำนองพื้นเมือง
ท่ามกลางฟ้าโล่งกว้างและสายลมพัดเย็น ช่างให้ความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย
และได้ร่วมกันรับศีล ถวายผ้าบังสุกุล ถวายสังฆทาน
ที่พระสงฆ์ผู้เป็นองค์ดำเนินพิธีการ เชิญชวนให้ศรัทธาญาติโยมเป็นผู้ถวาย
ทั้งผู้แก่ผู้เฒ่า สาว หนุ่ม โดยไม่ได้เลือกชั้นวรรณะ
ใช้เวลาไม่นานนักก็เสร็จพิธี
ชวนกันนำน้ำมะกรูดส้มป่อยไปรดน้ำดำหัวกู่ครูบา เป็นการสูมาคารวะ
ก่อนแยกย้ายกันไปรับประทานอาหารที่โรงทานเพื่อเติมพลัง
บ้างก็ช่วยกันเก็บรวบรวมปัจจัยเงินทองจากครัวทานมาเก็บไว้ให้แก่วัด
บ้างก็แวะชมการแสดง ท่ามกลางแสงสีใต้ร่มโพธิ์ต้นใหญ่
ทั้งฟ้อนเจิง ฟ้อนเล็บ กลองสะบัดไชย ต่างวาดลวดลายเต็มที่
ด้วยมีจุดมุ่งหมายถวายการแสดงเพื่อคารวะครูบาเจ้า
ระหว่างเดินกลับบ้านด้วยใจปีติสุข นึกย้อนทบทวนถึงสิ่งดีที่ได้เห็น
เป็นงานบุญที่ไม่เล็กเกินไป และไม่ใหญ่จนเกินกำลัง
ทั้งไม่ใช่งานที่มุ่งหมายจะขายการท่องเที่ยว
แต่สิ่งเหนี่ยวนำใจให้ผู้คนมารวมกัน คือความศรัทธาในครูบา
การพยายามจะรักษาจารีตประเพณีดั้งเดิม
พร้อมกับเติมความรู้ด้านวัฒนธรรมและวิถีความดีแก่คนรุ่นหลัง
จึงก่อให้เกิดพลังในการสร้างงานที่ประสานความร่วมมือจากหลายฝ่าย
ไม่ได้เห็น อาการมึนเมาของผู้คน ยามแห่หามครัวทานเข้าวัด
ไม่เหมือนการจัดปอยหลวงของผู้คนสมัยนี้
ที่มักมีการฉลองยามแต่งดาครัวทาน จนเป็นงานใหญ่ให้เป็นภาระหาเงินทองมาจัดเลี้ยง
ทั้งกระหน่ำเปิดเครื่องเสียงประชันขันแข่งกันล่วงหน้า
กว่าจะถึงวันถวายครัวทาน สติสัมปชัญญะก็พาลจะหายไปกว่าครึ่ง
ก่อให้เกิดคุณค่า มากกว่าการโหมประโคมมหรสพ เครื่องเสียง
ซึ่งสรรพสำเนียงกึกก้องจากภายนอก
กลบเสียงความปีติจากภายในที่ควรให้ได้ยินไปเสียสิ้น
ทั้งเลือกนำเสนอเรื่องราววัฒนธรรมผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
และขอชื่นชมผู้คนที่มีส่วนร่วมสร้างงานอย่างที่เห็น
เป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียน ได้รู้ ได้อยู่ในบรรยากาศแห่งการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน
เป็นงานวัด งานบุญ ที่หวังให้ได้จรรโลง ค้ำจุน วิถีแห่งความดีต่อไป
วันนี้เอาบุญมาฝากนะคะ..
บันทึกจากงาน..ไหว้สาปารมี ๑๓๑ ปี ครูบาเจ้าศรีวิชัย
เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๒
ณ วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน
ขอขอบคุณ..
อ.พงษ์เทพ มนัสตรง
ที่เอื้อเฟื้อเอกสารข้อมูล “กะโลง” ไหว้สา ครูบาเจ้าฯ
อ.บารเมศ วรรณสัย
ที่เรียบเรียงเอกสาร “ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนา” ให้ได้เพิ่มพูนความรู้
ขอบคุณสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองลำพูนและผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน
ที่จัดงานดีๆ ให้ได้มีเรื่องมาแบ่งปันกันอ่าน
ขอบคุณผู้อ่าน..ด้วยค่ะ
« « Prev : ชวนกั๋น..อู้กำเมือง
Next : ยามย่ำค่ำ..ที่วัดเจดีย์หลวง » »
4 ความคิดเห็น
ข้อมูลเพิ่มเติม น่าแปลกที่หาไม่ได้นะครับว่าเมื่อไหร่ (คงจะเป็นที่วัดจามเทวี ที่มีกู่และกุฏิครูบาเจ้าสถิตย์อยู่)
สาธุด้วยความอิ่มเอิบในใจค่ะ
งามจากความตั้งใจ ร้อยเรียงด้วยมือน้อยๆ หลากหลายมือ …ดอกผึ้งสวยมากค่ะ กลีบเรียงอ่อนช้อย และบางใสในบางที่ เห็นถึงความประณีตใส่ใจ ตั้งใจกระทำให้เพื่อไหว้สาครูบาเจ้าฯ อย่างงดงาม
เห็นภาพมีชีวิตด้วยคำบอกเล่า นุ่มนวล และคมคาย ชอบมากค่ะ ^ ^
มันเป็นความยิ่งใหญ่ในวาระที่สำคัญและในใจ
ลูกหลาน เหลน โหลน หลอน ควรจะเรียนรู้และสำนึกถึงพระคุณแห่งนักบุญล้านนาองค์นี้
ท่านยิ่งใหญ่ และหอมหวลทวนลมทวนกาลเวลา
อิ่มเอิมด้วยรอยบุญ
ขอบคุณค่ะ