ชวนกั๋น..อู้กำเมือง
อ่าน: 3220เป็นคนที่ใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารมาตั้งแต่เด็ก
เมื่อยังเล็กชอบฟังผู้ใหญ่สนทนา พาให้ได้รู้คำศัพท์พื้นถิ่นที่แตกต่าง
จะไปล่น..จะไปหก..อย่าไปวิ่ง..
มีดยับ..จะไค..ใส่กุ๊บ..สุบเกิบ..ใส่โก๋น..สิกจุ้งจา..
เป็นภาษาที่มีสำเนียงเฉพาะ บางทีก็สำเนียงเหมาะเจาะจนเห็นภาพ
ปิกกะดิก..ป้อกกะด๊อก..ปกกะดก
เปิ้กกะเดิ้ก..ป่างกะด่าง..ป่องกะแด่ง
บอกได้ถึง ขนาด อาการ และทิศทางในการเคลื่อนไหวได้อย่างแตกต่าง
บ้างก็มีสร้อยคำ สำเนียง ที่ทำให้ไล่เลียงได้ถึงถิ่นที่มา
จนล้อเลียนกันว่า ลำพูนบาง ลำปางหนา
ชินกับการใช้ “คำเมือง” จนเป็นเรื่องธรรมดา
แต่กลับพบว่า บางคำเป็นภาษาที่เด็กยุคใหม่ไม่เข้าใจและเห็นเป็นศัพท์โบราณ
ทั้งพ่อแม่บางบ้านเห็นเป็นการทันสมัย ที่จะใช้ภาษากลางสื่อสารกับลูก
ด้วยหวังจะปลูกฝังสำเนียงให้เหมือนชาวเมืองกรุงอันรุ่งเรือง
หวังจะให้ช่วยในเรื่องการเรียนให้ดีขึ้น
ภาษาถิ่นก็ถูกกลืน จนเกือบเลือนหาย และกลายเป็นเรื่องไม่เท่ในสายตาของเด็ก
น่าเสียดาย..โอกาสในการสะสมคลังคำ และสำนวนภาษา
ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการสื่อสารได้หลากหลาย
เห็นตัวอย่างชัดๆ จากอ้ายเปลี่ยน ที่เรียนภาษาพื้นถิ่นได้ในหลายพื้นที่
และมีโอกาสสื่อสารได้อย่างเข้าถึงวัฒนธรรม
น่าเสียดาย..โอกาสในการเรียนรู้ตามธรรมชาติ เรียนรู้วัฒนธรรมที่แวดล้อม
เสียดาย..เพราะเห็นความแตกต่างระหว่างตนเองกับมิตรสหาย
ที่เพื่อนได้เติบโตมากับวัฒนธรรมหมู่บ้าน ได้ร่วมรู้ ร่วมปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง
จึงเชี่ยวชาญในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีดีกว่ามากมายนัก
เมื่อทางบ้านยังไม่พร้อมจะมองเห็นความสำคัญ
จึงเป็นเรื่องอันท้าทายให้ลองทำบรรยากาศในโรงเรียน ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างธรรมชาติ
ในวันนี้ จึงมีดนตรีพื้นเมืองขับกล่อมในยามเช้า เข้ากับชุดพื้นเมืองหลากสีของคุณครู
ส่วนบรรดาคุณหนูๆ ทั้งหลายไม่ได้แต่งชุดพื้นเมือง ด้วยจะเป็นเรื่องรบกวนรายจ่ายของพ่อแม่
นับจากนี้ไป..คุณครูจะใช้ภาษาถิ่นสื่อสารในวันศุกร์
วันนี้ครูและเด็กจึงสนุกกับกิจกรรมรูปแบบใหม่..
หลังเชิญธงชาติเสร็จ คุณครูใช้ภาษาพื้นเมืองพูดคุยเรื่องดีๆ ยามเช้า
คละเคล้าด้วยคำสอนผ่าน “ค่าวก้อม” ที่แอบจดมาฝาก..
- นักเรียนเรียบร้อย ชดช้อยงามต๋า
เคารพครูบา อาจ๋านเน้อเจ้า
- ครุปะหันแล้ว เจื้อยแจ้วจ๋าหวาน
จิตใจ๋จื้นบาน ปะกั๋นตี้นี้
- อนุรักษ์เอาไว้ หื้อได้เป๋นศรี
ไผหันยินดี ตี้มงคลฯเน้อเจ้า..ตี้มงคลฯเน้อเจ้า..
วันนี้ จึงเป็นวันที่แว่วทั้งเสียงสะล้อ ซอ ซึง
ที่ฟังแล้วนึกอยากฟ้อนทั้งตอนเช้าและตอนพักกลางวัน
ทั้งเสียงประกาศตามสาย ทั้งในชั่วโมงสอน ล้วนสนทนาด้วยภาษาถิ่น
ด้วยเป็นเรื่องใหม่ เมื่อได้ไถ่ถามกันในยามเย็น
เป็นอย่างไรบ้าง กับการเริ่มสร้างค่านิยม ผสมผสานวัฒนธรรมแก่เด็ก
พบว่า การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ นี้
ทำให้มีความสนุกสนานในการเรียนกันได้
ทั้งมีเรื่องให้ขบขัน เมื่อเคยพูดคุยกันเป็นภาษากลาง
วันนี้จึง มีการหลุดคิวกันบ้างให้เด็กได้ล้อเลียน…
ว้า!!..ครูครับ..ครูอู้กำเมือง”เคิบ”..ฮ่าๆๆๆๆ…
« « Prev : ต้องมีวุฒิบัตรมั้ยคะพี่..?
Next : ไหว้สาปารมี ๑๓๑ ปี ครูบาเจ้าศรีวิชัย » »
2 ความคิดเห็น
งามแต๊งามตั๊ก งามนักงามหนา
งามดั่งเตวดา ลงมาหล่อเบ้า
งามเหลือนี้ บ่มีแหมแล้ว
งามเหลือนี้ เป๋นของน้องคนเดียว ……….. (คนลำปางหนาเต๊าะสาว)
เอ้อ..แต่ว่า กระแสจิตเปิ้นแฮงเนาะ เลยเอาค่าวเต๊าะสาวมาฝาก
ขอบคุณเน้อเจ้า..ถ้าบ่าเอามาฝาก ตึงบ่าได้หันเนาะ (ก็ใบหน้ามันบ่าเหมาะกับค่าวนี้..อิอิ)