ผักส่วนตัวสวนครัวรอบบ้าน

อ่าน: 4609

บทที่ 3 สวนผักส่วนตัว

เมื่อวานนี้ได้ต้อนรับอาคันตุกะที่ตรงกับหัวข้อนี้ เธอไปทำงานในยุโรปหลายสิบปี กลับมาเมืองไทยรับหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ของสายการบินหนึ่ง ขยันขันแข็งทำงาน เป็นหนูถีบจักรที่รับผิดชอบจนเป็นที่ชื่นชมของบริษัท ทำงานดีรายได้ก็ย่อมงอกเงยดี แต่พอพิจารณาถึงคุณภาพชีวิตและสังคม พบว่าเพื่อนรักคนที่รู้จักล้มหายตายจากไปที่ละคนสองคน ผักที่ซื้อรับประทานทุกวันก็พบว่าปนเปื้อนสารพิษสารเคมี เกิดฉุกคิดว่า..เราจะบริหารชีวิตให้สมดุลและปกติสุขได้อย่างไร เงินทองก็ไม่เดือดร้อนแล้ว ยังจะมาบ้าจำเจง๊อกๆอยู่กับที่อย่างนี้ไปอีกทำไม

ว่าแล้วก็ลาออกจากงาน

กลับไปอยู่บ้านหลังใหญ่อายุ100ปี ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ตั้งใจว่าจะอยู่อย่างสงบสบาย

อยากจะปลูกผัก ทำกับข้าว ติดโชคอัพให้ชีวิต

อยู่กับสายลม-แสงแดด-น้ำหมอกน้ำค้างบ้าง

แ ต่ ไ ม่ รู้ ว่ า จ ะ เ ริ่ ม ต้ น อ ย่ า ง ไ ร

นี่ คื อ โจทย์ที่คุณอาของเธอพามาที่นี่

(แบ่งปันพันธุ์ผักไปปลูกที่หางดง )

อาจารย์ศุภชัย พงศ์ภคเธียร คุณอาของเธอสอนมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแกนสำคัญในการตั้ง โ ร ง เ รี ย น สั ต ย า ไ ส จังหวัดลพบุรี เป็นกรรมการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา แถมยังเป็นนักศึกษาโค่ง สสสส.1 ร่วมกันอีกต่างหาก อาจารย์ติดต่อไว้หลายครั้งแต่วืดทุกที ช่วงที่ชาวสสสส.1 มาบุกสวนป่า อาจารย์ก็แห้วเพราะมีงานโป๊ะเช๊ะ คราวนี้หลานสาวสนใจจะปลูกผักเพื่อบริการกระเพาะตัวเอง จึงชวนกันดั้นด้นมาสนทนาพาที ทั้งคู่เป็นชาวมังสะวิรัติ มื้อเย็นจึงชวนรับประทานผักเป็นพื้น โฉมยงต้มเห็ด ผัดสารพัดผักให้ชิม หลังจากคุยกัน ทราบว่าคุณหลานมีพื้นที่จะทำการปลูกผักอยู่ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มีความพร้อมที่จะปลูกได้อย่างสะดวกโยธิน เพียงแต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง

ทั้งคู่ตื่นแต่เช้ามาเดินฟังเสียงนกเขาป่าขันคู ผมตื่นแล้วติดตามมาชวนชี้ชมให้ดูแปลงเกษตรแปลงผักแบบมั่วๆของที่นี่ บังเอิญช่วงฝนอย่างนี้มีผักพื้นถิ่นผักยืนต้นพื้นบ้านแตกช่อออกดอกออกเถาว์พันกันยั้วเยี้ย เดินไปตรงไหนก็เจอแต่ผักๆๆ ส่วนมากคนกรุงไม่รู้จัก ถึงเราจะบอกว่า..ไอ่นั่นก็กินได้ไอ่นี่ก็อร่อย ..ผมบอกว่าที่นี่ไม่มีแปลงผักสวยๆงามๆเรียบร้อยเหมือนที่อื่น ที่ดูรกเรื้อนี่แหละคืออาหารปลอดสารพิษทั้งนั้น

ปัญหาอยู่ที่..

ทำอย่างไรจะรู้จัก รู้รส รู้วิธีรับประทาน

ทำอย่างไรจะรู้นิสัยของผักแต่ละชนิด

ทำอย่างไรจะรู้วิธีปลูก วิธีบำรุง วิธีดูแล

ปัญหาเบื้องต้นอย่างนี้แก้ง่าย สงสัยประเด็นได้ก็ต้องลงมือทำ จึงชวนคุยเรื่อง “ความสุขที่ชิมได้” การออกแบบแปลงปลูกผักในที่จำกัดแตกต่างกับการปลูกผักในพื้นที่กว้างๆ ถามว่าเธอชอบรับประทานผักชนิดไหนมากที่สุด ก็เหมือนคนเมืองทั่วไปนี่นแหละ ผักสลัด-บล๊อกเคอรี่-ผักกาด-ผักคะน้า-ผักบุ้ง-ถั่วฝักยาว-มะเขือ-แตงกวา-มะเขือเทศ เธอพยายามมองหา.. ไม่เห็นมีสักกะอย่าง จะเห็นอย่างไรละครับในเมื่อเราไม่ได้ปลูก ผักตามฤดูกาลพวกนั้นเราจะปลูกบ้างในช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่ช่วงฝนชุกอย่างนี้สวนป่ามีผักพื้นถิ่นเหลือเฟือ เจี๊ยะหน่อไม้ หัวปลี ผักเม็ก ผักตำลึง ตะลิงปิง มะเขือเปรอะ มะเขือพวง บวบ พริก ขมิ้นขาว เห็ดละโงก ยอดโสม ยอดอ่อมแซบ ยอดผักโขมจีน ยอดและดอกมะรุม ยอดเพกา ยอดมะตูม ยอดมะกอก ยอดเสาวรส ยอดขี้เหล็ก ยอดสะเดา ยอดชะอม ยอดมะยม ยอดมะระขี้นก ถั่วงู ถั่วพู น้ำเต้า ฯลฯ

(รอกอดส์แนะให้ปลูกเผือกปลูกมัน กอสูงใหญ่กว่าของเมืองจีนเสียอีก)

ที่นี่มีปุ๋ยมูลโคมากมายไปใส่ไปปลูกผัก

ผักที่นี่จึงงอกงาม ต้นเผือกสูงใบใหญ่ที่สุดในโลก

ผักเหล่านี้เลี้ยงทั้งคน ทั้งแพะ และโค

โฉมยงจัดเมนูทุกมื้อเธอได้ชิมผักพื้นถิ่น

ได้คุยถึงผักพื้นบ้าน

เธอสนใจมะสัง เผือก จึงแบ่งพันธุ์ไปให้ปลูก

(แม่แพะท้องใหญ่คลอดลูก 3 สาว ตายไป1เหลือ2สาวน้อยแข็งแรงดี)

เรื่องอย่างนี้มันต้องสะสมไปเรื่อยๆ ถ้าเราตั้งใจตั้งเข็มทิศให้ถูก อีกหน่อยผักสารพัดชนิดก็จะเพิ่มขึ้นตามที่ตั้งใจ ปลูกผักเป็นกิจกรรมที่คนเมืองควรจะได้มีโอกาสปลูกกันบ้าง จะได้ตระหนักว่าอาหารที่เรารับประทานแต่ละมื้อนั้น ถ้าจะให้แน่ใจก็ต้องเป็นผักที่เราลงมือปลูกเอง เธอถามถึงเรื่องโรคแมลง การป้องกัน วิธีดูแลผัก ผมบอกว่าที่นี่ไม่มีแมลงตัวไหนดื้อดึงมารุกรานผักของเรา เห็นไหม เดินๆๆดูมาตั้งนานมีแมลงตัวไหนมากินผักพื้นบ้าน ถ้าเราเข้าใจเพื่อนร่วมโลก อยู่ด้วยกันแบ่งปันได้ ผักที่แมลงรบกวนนิดหน่อย ถือว่าเป็นการวิเคราะห์ความปลอดภัยให้เราได้เป็นอย่างดี ผักสวยๆในตลาด ไม่ต่างอะไรก็อาหารอาบสารพิษ

(ตอตาลเอามาทำเป็นกระถางปลูกผักนานาชนิดเก๋ไก๋ไม่เบา)

หลังเธอกลับไป 1วัน รุ่งขึ้นผมออกแบบปลูกผักรอบบ้านแบบใหม่ จะได้อธิบายให้คนเมืองเข้าใจง่ายๆ  บอกให้คนงานเอาตอตาลที่ตัดทิ้งไว้ปีที่แล้ว ปล่อยให้ปลวกและด้วงช่วยกันเจาะใส้ในให้กลวง ถ้าเราจะเจาะเนื้อตาลตอนสดๆทำยากมาก แต่ยืมพลังแมลงจัดการอย่างนี้สบายแฮ โพรงตอตาลท่อนไหนที่เล็กๆเบาๆเราก็เอาไปทำกล่องเลี้ยงผึ้ง พวกใหญ่บึกบึนก็เอามาเรียงเป็นแถว เอาดินผสมปุ๋ยใส่ให้เต็มเนื้อที่ข้างใน หลังจากนั้นก็เอาผักสารพัดชนิดมาปลูก มีทั้งหมดร้อยกว่าท่อน คงครบเครื่องครบครันผักให้เดินเด็ดชิมสบายๆ กลางหนาวที่นี้ผักที่ว่าก็จะแตกกอออกดอกออกผลแล้วละครับ

ตอนนี้อยากจะชิมผักชนิดไหนบอกได้

พรุ่งนี้ก็จะทยอยปลูกแล้วนะจ๊ะ

อ่านหนังสือเมื่อคืนนี้ ผู้สันทัดกรณีบอกว่า ถ้าเครียด ถ้าโกรธ ถ้าเหงาเศร้า จะส่งผลกระทบต่อกลไกภายในร่างกาย ที่ไม่เจ็บป่วยก็อาจจะปั่นป่วน ที่ป่วยร่อแร่ก็มีแต่จะทำให้อาการทรุดหนักได้ ดูพฤติกรรมในลานปัญญาก็เห็นว่าพวกเรามีทางออกแตกต่างกันไป บางคนก็โอดครวญเป็นวรรคเป็นเวร บางคนก็มีเรื่องกระดี๊กระด๊าทำทั้งปี บางคนก็ยุ่งกับภาระกิจหน้าที่ งานนอกงานใน โดยภาพรวมแล้วก็เห็นว่าน่าจะพอไปวัดไปวา ยังไม่อิดหนาระอาใจกับสภาพการเมืองตอหลดตอแหลจนกินไม่ได้ถ่ายไม่ออก

ความปกติสุขในบ้านเมืองเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ

ท่ามกลางการแข่งกันแหกค่ายมฤตยูของวิกฤติเศรษฐกิจและสังคมโลก

บ้านอื่นเมืองอื่นเขาร่วมกันสร้างบ้านแปงเมือง

แต่บ้านเรายังสาละวนสาละวันเตี้ยลง

เวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้ว ลาวกำลังตามมาติดๆ

ไทยนั่งเกาหิด สะเก็ดกระจายว่อน


“ในสังคมที่เป็นอยู่นี้ ไม่อาจหวังว่าจะทำการใด ให้กระแสตัณหาเหือดหายไปได้ หรือจะให้วิถีของฉันทะขยายขึ้นมาเป็นใหญ่ สิ่งที่พึงทำคือเพียงดุลไว้ไม่ปล่อยให้กระแสตัณหาท่วมท้นไหลพาไปลงเหว และคอยส่งเสริมวิถีแห่งการสนองฉันทะให้ดำเนินไปได้ ..สิ่งที่ต้องทำตลอดเวลาคือ ความไม่ประมาทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้ก้าวหน้าไปในการพัฒนาความสุข”

พรพรหมคุณาภรณ์

ติดตามข่าวนกเตนเอาฝนมาทิ้งบ้านเรา

ทราบว่าทางภาคเหนือตกน้ำป๋อมแป๋ม

แต่ทางอีสานใต้ท้องฟ้ามืดครึมเฉยๆ

ฝนตกแต่ละทีชำระฝุ่นสกปรกที่เกาะอยู่ตามต้นไม้ใบหญ้า

ทำให้อากาศสะอาด ชุ่มชื่นร่มเย็น

แ ต่ ฝุ่ น ผ ง ที่ ป ก ค ลุ ม สั ง ค ม บ้ า น เ มื อ ง เ ร า ม า เ ป็ น เ ว ล า น า น

มิ รู้ ที่ จ ะ เ อ า น้ำ ย า อ ะ ไ ร ไ ป ชำ ร ะ ล้ า ง ใ ห้ ส ด ใ ส แ ว ว ว า ว

สงสัยต้องขดคู้อยู่แบบตัวอ่อนด้วงเสียกระมัง

key word : ยามหนุ่มแน่นชวนแฟนปลูกต้นไม้

แก่เฒ่าไปจะได้เห็นผลต้นไม้โตร่มรื่น

: ยามวันชรา ชวนคุณป้าปลูกผักล้มลุก

จะได้สนุกกับการเก็บผักมาชื่นชิม


ชวนCottoอยู่กินแบบพื้นถิ่น

อ่าน: 3677

(แนวรั้วไฟฟ้ากำกับแพะให้อยู่เป็นที่เป็นทาง)

เมื่อวานนี้มีรายการเจี๊ยะแพะครับพี่น้อง สุภาษิตเก่าบอกว่าคนเลี้ยงช้างกินขี้ช้าง  เราไม่ได้เลี้ยงช้างก็ไม่อยากจะกล่าวโทษช้าง ชาวCotto ทำกิจกรรมเกี่ยวกับแพะ จึงจัดรายการแพะให้ครบวงจร มีเมนูแกงเผ็ดแพะกับมัสหมั่นแพะมาให้ชิมไปเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนแพะ นักชิมทั้งหลายชมเปาะ ว่าไม่มีกลิ่น อร่อยมาก โจ้กันจนเกลี้ยงทุกโต๊ะ บางคนยังถามหาอีกแน๊ะ วันนี้ชาวค่ายช่วยกันทำรั้วไฟฟ้า รอรับญาติสายสุรินท์บริจาคแพะมาให้อีกชุดหนึ่ง มีตัวพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ท้องโย้ พวงนมโตอย่างกับแพะนม คาดว่าอีกไม่กี่วันก็คงจะมีลูกแพะออกมาสมทบพลเมืองแพะ เรื่องราวจึงสมบูรณ์ตั้งแต่วิธีเลี้ยง วิธีเจี๊ยะ และวืธีแก้ปัญหาในการส่งเสริม  อาจารย์แพะเล่าว่า อุปสรรคของการขยายผลไปสู่คนเลี้ยงในภาคอีสานอยู่ที่

1 แพะดื้อ ควบคุมยาก ต้องมีบริเวณเลี้ยงเพียงพอ

2 เนื้อแพะมีกลิ่นไม่เป็นที่นิยมของคนอีสาน

อ่านต่อ »


แพะเกี่ยวอะไรกับCotto อิ

อ่าน: 5221

เป้าประสงค์ของการเข้าค่ายเรียนรู้อยู่ที่วิธีเรียนรู้อย่างไร ซึ่งไม่มีข้อจำกัดตายตัวใช่ไหมครับ เหมือนกับสมาชิกชาวค่ายถามว่า “ทำไมต้องเลี้ยงแพะ” นั่นนะสิ..ทำไมต้องแพะ ทำไมไม่เลือกเลี้ยงสัตว์อื่น คำตอบคงต้องขึ้นเก็บเหตุผลกระมังครับ เหตุมาจากไหน คงมาจากการมองปัญหาเรื่องอาหารในอนาคต เมื่อประชากรโลกมากขึ้นปากท้องที่กินอยู่ทุกวันมีอัตราขยายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่..ฝ่ายผลิต ต้นทุน และระบบจำหน่าย มาถึงวันนี้ ถึงจะมีเทคโนโลยีทางด้านอาหารมาช่วยในทุกมิติ แต่วิกฤติทางธรรมชาติก็เป็นตัวแปรที่ยากจะคาดการ ความอดหยากหิวโหยจึงมาเยือนมนุษยชาติเป็นระยะๆ และนับวันจะยุ่งและซับซ้อน

อ่านต่อ »


เป้าประสงค์/วัตถุประสงค์ ที่บุกลำพูน

อ่าน: 8471

(อารามเป็นมือกล้อง ภาพหมู่จึงไม่ครบลูกทัวร์)

การไปลำพูน-เชียงใหม่ในวาระนี้ เ ส มื อ น พ า ข า ใ ห ญ่  แ น ะ นำ ใ ห้ ปี้ น้ อ ง จ า ว เ ห นื อ ไ ด้ รู้ จั ก ห น้ า ค่ า ต า  เพราะพูดถึงติดต่อกันมาหลายวาระ เข้าทำนองไผเป็นไผเชิงประจักษ์..และตั้งใจไปศึกษาหาความรู้ภาพรวมเกี่ยวกับไม้ไผ่เท่าที่จะทำได้ ไม่อย่างนั้นเราจะวางแผนส่งเสริมการปลูกไม้ไผ่ได้แบบคลุมเครือ ถ้ามีคนถาม เราไม่สามารถตอบได้อย่างจะแจ้งเจนใจ เช่น ถามว่าปลูกไม้ไผ่มากๆแล้วจะเอาไปทำอะไร ไปขายที่ไหน ราคาเท่าไหร่ ทำอะไรได้บ้าง ขั้นตอนอยู่ตรงไหน นับตั้งแต่การปลูก-การดูแล-การเก็บเกี่ยวประโยชน์-การลงทุน-ข้อดี/ข้อเสีย/ข้อเปรียบเทียบกับไม้ชนิดอื่น

อ่านต่อ »


ทริปดูไผ่-ไปชิมหลงลับแล-ยักแย่ยักยันหาหมอ

อ่าน: 4269

(อุตรดิตถ์ยามเช้าเงียบสงบสบายๆ)

หลังจากกระหืดกระหอบขึ้นรถไฟไปเมืองลับแล ได้ทบทวนความหลัง รู้ว่ารถไฟไทยยังรักษาสภาพเดิมไว้อย่างแน่นเหนียว ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง 20 ปีอย่างไรก็คงเป็นไปอย่างนั้น กำหนดเวลาจะไปถึงสถานีปลายทางประมาณ 04.45 นาฬิกา ระหว่างทางรถไฟหยุดสับหลีกเป็นระยะๆตามแบบฉบับของรถไฟรางเดียว แต่คืนนี้รถไฟสวนทางเสียเวลาไป2ชั่วโมง ทั้งๆที่รถไฟไม่เคยรอใครนี่นะ ใกล้จะถึงเวลาลงสถานีปลายทาง เรากังวัลเพราะมีคนใจดีมารอรับในช่วงเวลาที่น่าจะนอนอย่างผาสุข.. รออย่างไม่รู้ไม่ชี้เพราะไม่รู้จะถามใคร จากช่วงที่ท้องฟ้ามืดจนท้องฟ้าสว่างโร่ เราถึงโผลงสถานีรถไฟอุตลดิตถ์ ที่มีรูปแบบเหมือนห้องแถว

อ่านต่อ »



Main: 0.04331111907959 sec
Sidebar: 0.4765830039978 sec