เมื่อครูบาเป็นการ์ตูน
เมื่อวานนี้ช่วงบ่าย ๆ นักศึกษาป.โท จากเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำผลงานที่ทำวิจัยเรื่อง “ของเล่นเด็กอีสาน” มาให้พิจารณาผลงาน ผมชอบใจเจ้าหนุ่มน้อยโคราชคนนี้มาก แกมุ่งมั่นเอาจริงกับการทำวิทยานิพนธ์ ในการตระเวณหาความรู้พื้นถิ่นที่ซุกซ่อนอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทั้งอีสาน เมื่อหลายเดือนก่อนแกก็มานั่งคุยซักถาม ตอนเด็ก ๆ ผมเคยเล่นอะไร มีเครื่องเล่นอย่างไร.. ทำให้ผมย้อนยุคไปเมื่อเมื่อครั้งยังเป็นเด็กบ้านป่า พ่อแม่ก็ลำบาก ทำไร่ ทำสวน ห่างไกลความเจริญ สมัยเด็ก ๆ ผมก็เล่นขี่ควายไปอาบน้ำ ตีผึ้ง โดนผึ้งต่อยตาบวม แอบล้วงก้นแม่ไก่เพื่อดูว่าไข่มันออกมาได้ยังไง ดักบ่วง ต่อนกคุ้ม เอาน้ำกรอกรูหนู โหนเถาวัลย์แปลงกายเป็นทาร์ซาน ขุดแย้ ทำบ่วงคล้องกิ้งก่า เลี้ยงนกขุนทอง เดินตามผู้ใหญ่ไปยิงไก่ป่า เคยหารังไก่ป่าเจอด้วยนะ จะเห็นว่าผมไม่เคยมี เครื่องเล่นอย่างเด็กสมัยนี้ ทำบาปเสียส่วนใหญ่
เจ้าหนุ่มคนนี้ไปพบปะผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนต่าง ๆ ประมาณฯ 10-12 คน
สัมภาษณ์แล้วก็เอาข้อมูลที่ได้มาเขียนเป็นรูปการ์ตูน
ว่าคนโน้นคนนี้ เคยเล่นเคยเล่าว่าทำอะไรบ้าง
แล้วแกก็เอาภาพรวมทั้งหมดมาออกแบบเป็นของเล่นตามสไตล์ใหม่แบบผสมผสาน
(สิ่งประดิษฐ์ที่นักศึกษาออกแบบ)
สิ่งประดิษฐ์ที่ได้ เป็นแมลงลักษณะต่าง ๆ หลายท่าทาง
ก็ดูเข้าท่าดี นำไปตั้งโชว์เป็นของที่ระลึกได้
ถ้าเด็กจะเล่นก็ ถอดชิ้นส่วนประกอบเข้าใหม่ได้
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้จะเสนอในรูปเล่มของหนังสือการ์ตูน
หน้าปกวาดเป็นภาพรวมของผู้คนที่ไปสัมภาษณ์
มีภาพผมอยู่ในนั้นด้วย
ลองสังเกตดูนะครับ ว่าไผคือผู้เขียน อยู่ลำดับตรงไหนในภาพ
ท่านใดทายถูกจะมีรางวัลด้วยนะ จิบอกไห่
(ด้วงเจาะตอตาล สีสวยแปลกๆ)
ผมขนคอมฯ โกโรโกโสไปให้ร้านซ่อมในตัวอำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ แหมรวดเร็วทันใจจริง ๆ คอมฯ 3 เครื่อง ใช้เวลาชำแหละ 3-4 ชั่วโมงก็เรียบร้อย ซื้อเม้าท์มาอีกตัวหนึ่ง ทั้งหมดจ่ายไป 880 บาท ทำไมมันราคาย่อมเยาเหลือเกิน เอามาแล้วทดลองใช้ได้ดีเชียวแหละ เพียงแต่ยังมีบางโปรแกรมที่เขาเติมมาให้ยังใช้ไม่เป็น กับอีกเรื่องหนึ่ง ยังเสียบสายลำโพงต่าง ๆ ไม่ถูก เสียง DOLBY HOME THEATER ยังใช้ไม่ได้ ไม่ยังงั้นจะเปิดเพลงที่รอกอดส่งมาในเจ๊าะแจะให้นกยูงเต้น!..
ไหนก็ไหนก็ไปตัวอำเภอแล้ว จึงแวะร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ติดต่อให้เขามาเปลี่ยนจานสัญญาณรับดาวเทียมจากจานแดง ๆ เล็ก ๆ มาเป็นจานสีดำใหญ่ขึ้น รับช่องสัญญาณทีวีประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย ลองเข้าไปชมรายการทีวีลาว-เขมร-เวียตนาม ฯลฯ เจอหนังจีนพากษ์ภาษาเขมร อิอิ เลยละครับ ผมสังเกตว่าทีวีต่างจังหวัดจะคมชัดกว่าทีวีที่เคยดูในกรุงเทพ เปิดไปเจอช่องม๊อบด้วยนะ เจอพวกขี้โม้ข้ามชาติ คุยฉิ-หายเลยไอ้หมอนี่ ด้านทั้งความคิด-คำพูดและการกระทำ เลยเปลี่ยนช่องไปดูรายการตลก ช่วยลบภาพห่วย ๆ ออกจากความรู้สึกได้บ้าง
เมื่อโลกเทคโนโลยีเป็นเช่นนี้ ก็คิดต่อ ..บัดเดี๋ยวนี้รัฐฯลงทุนเรื่องการสื่อสารทันสมัยครบถ้วนทุกสาขา จะอยู่ที่ไหนในผืนแผ่นดินไทยก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างสบาย ทำไมต้องไปกระจุกเป็นปลากระป๋องอยู่ในกทม. ถ้าใครตระหนักในเรื่องนี้ควรหาทางผ่องถ่ายย้ายตัวเอง แทนที่จะเดินหน้าบุกกรุง ก็ควรหาทางเลี่ยงกรุง หรือค่อย ๆ ถอยออกจากเมืองหลวงซะ อย่าไปอาลัยอาวรณ์กรุงเทพเมืองฟ้าอมรนักเลย.. รถติดเป็นตังเม ไปไหนเจอแต่ม๊อบบ้า ๆ บอ ๆ อากาศก็เน่า อาหารการกินก็ซ่องสุมมลพิษไว้ฆ่าตัดตอน ป่วยตามกันโครม ๆ ทำให้ชีวิตไร้สาระเพิ่มขึ้นทุกที ไปไหนนั่งรถคลานยังกะหนอน ยังจะคิดว่าตนเองเก่งกาจนักหรือ คนเป็นหนอนมันก็ไอ้แค่นั้นแหละ หาทางออกมาเจอโลกที่ยังสดใสสดชื่นกันเสียบ้าง เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือน..
เล่าถึงลูกกรุงลูกทุ่งแล้วคิดถึงครูอึ่ง อุ้ยสร้อย น้าอึ่ง
ติดตามอ่านเรื่องที่อุ้ยเขียนตอนพานักศึกษาลงพื้นที่
ทำให้เห็นว่าอุ้ยเข้าสู่กระบวนการสอนสูงขึ้น ๆ
“เปิดห้องเรียนสู่โลกกว้าง ให้ทุกอย่างเป็นครู”
พระอาจารย์ น.พ.ประเวศ วะสี พูดเสมอว่า “ระบบสุขภาพเชิงรับไม่พอ ต้องมีระบบสุขภาพเชิงรุกด้วย”
รุกอย่างไร? อันดับแรกต้องลุกจากเก้าอี้ นะสิครับ
เมืองไทยตั้งหน้าตั้งตารับเละ “ขยายโรงพยาบาล-เครื่องมือ-บุคลากร” (เท่าไหร่ถึงจะพอ)
ถ้าทำอย่างของพม่า ตามที่อุ้ยเคยเล่าจะเข้าท่ามาก “วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง”
ของเราคิดแต่จะเหมาโหล แถมยัง “เรื่องของข้าใครอย่าแตะ”
ควรคิดทำเรื่ืองสุขภาพองค์รวม “เอาเรื่องทุกข์-สุข-มาบริหารไว้ใกล้ชิดกัน”
เอาผู้คนในสังคมมาเป็นเจ้าภาพร่วม
แปลงเรื่อง “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” มาเป็น “การป้องกันดูแลโรคได้เป็นลาภสุดประเสริฐ”
กระทรวงสาธารณสุขกำลังชวนคิดแผนเรื่อง “เขตพื้นที่สุขภาพ”
เรื่องนี้จะตรงประเด็นที่จะสอนให้นักศึกษาพยาบาลตระหนักถึง “บทบาทนอกโรงพยาบาล”
เป็นหน้าที่ที่ 2 คือ “การดูแลสังคม แทนการลอยเพ ปล่อยให้ป่วย แล้วรอรักษาตอนจวนจะเข้าโลง”
กระบวนการนี้คงเป็นไปอย่างที่อุ้ยพานักศึกษาลงไปเจาะใจชุมชน
คงได้เห็น “บ่อเกิดของเพทภัย ปัญหาที่โยงกันยุบยับ แถมยังเหนียวอย่างกับตังเม”
ถ้ามองมุมต้นทางชัด ๆ เราจะตระหนักถึงมูลเหตุที่ไปออกฤทธิ์ปลายทาง
“เป็นพยาบาลอย่างไรถึงจะมีความสุข” ไม่ใช่พยาบาลก็ป่วยใจพอ ๆ กับคนไข้!
เดือนมีนาคม (ยังไม่กำหนดวัน คาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือน) คณาจารย์คณะพยาบาลจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (กำลังก่อตั้ง) ว่าที่คณบดีจะชวนอาจารย์รุ่นบุกเบิก 15 ชีวิต มาเยี่ยมมหาชีวาลัยอีสาน ขอมา2วัน1คืน ชุดนี้เป็นคุณพยาบาลล้วนๆ แต่ก็ไม่แน่หรอก บางทีอาจจะมีอาจารย์คณะอื่นมาแจมด้วย ไม่ทราบว่าทางเชียงใหม่เคยชวนคณาจารย์ลงพื้นที่อย่างนี้บ้างไหม? วิชาจูนใจให้กันนี่สำคัญและสนุกนะครับ คุยนอกโต๊ะนอกงานได้ความสนิทสนมเป็นกันเอง เพราะหมู่นี้ชักจะมีการบริหารพระเดชมากกว่าพระคุณ ชอบชี้นิ้วออก แต่ไม่เคยชี้เข้าหาตัวเอง พอเขียนเรื่องนี้ผมนึกถึงอุ้ยปริ๊ด!เลย เกี่ยวกับโครงการที่อุ้ยจะมาหมกตัว คุ้ยหากึ๋นของมหาชีวาลัยอีสาน จะเห็นว่ามีเซียนมาประดาบไม่เว้นวาย.. วันนี้จะมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่พระอาจารย์แพนด้าเคยสอน มาขอคุยด้วยตอนบ่าย จะว่าไปแล้ว มหาชีวาลัยอีสาน “คือสนามยิงปืนความรู้ความคิดนะอุ้ย”
ถ้านายถามว่า อุ้ยจะไปทำอะไรที่นี่
ก็บอกว่า..“มาหาเรื่องไปโม้นะสิคะ”
เอาไว้อุ้ยมาจะชวนปลูกต้นไม้ให้ระเบิดไปเลย
เราจะได้อยู่กับ“วิชาที่ว่าด้วยความผาสุก และปกติสุข”
หมายเหตุ:
คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ ส่งหนังสือที่ท่านเขียนตอนเป็นเลขารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมาให้ อ่านแล้วสนุกมาก อยากให้อุ้ยอ่านต่อ จะส่งไปรษณีย์ไปให้รนะครับ อิอิ
แคว๊กๆ
« « Prev : แม่สายบัวเชิญทางนี้
12 ความคิดเห็น
สวัสดีค่ะ พ่อครูบา เป็นวิทยานิพนธํที่น่าสนใจมากค่ะต่อยอดเชิงอนุรักษ์เพื่อเด็กไทยกันต่อไปนะคะ อยากทายค่ะ พ่อครูบาต้องมีเอกลักษณ์นุ่งโสร่งค่ะ แถวนั่ง ที่ 3 นับจากทางซ้ายค่ะ ถูกต้องบ่
อ่านแล้ว ทั้ง ขำ ทั้งน้ำตาซึมค่ะ (จิตแปรปรวน..อิอิ)
ขำที่ครูบาบอกว่า ไปกระจุกเป็นปลากระป๋อง…ก๊ากๆๆ เห็นภาพเลย
และน้ำตาซึมที่ครูบาเขียนให้กำลังใจอย่างสุดยอด..วิชาที่สอนถูกโจมตีมาตลอดว่า เนื้อวิชาไม่แน่น แล้วจะเป็นการพยาบาลขั้นสูงอย่างไร
ทั้งๆที่ จัดประสบการณ์ให้อย่างที่นักศึกษาได้ทำ reflection (ครั้งแรกในชีวิต)
ทำโครงการร่วมกับชุมชนเชิงรุก ให้ได้ฝึกในห้องเรียนที่มีชีวิต
กรณีศึกษาของนักศึกษาต้องทำจริงและต้องตามไปที่บ้าน เพื่อประเมินปัญหาอย่างแท้จริง…และก็พบปัญหาอย่างแท้จริงหลายๆอย่าง แม้แต่เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ใครๆ ปาวๆ รณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญเขียนตำรากันมากมาย แต่ในทางปฏิบัติประเทศไทยสอบตกวิชาว่าด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แพ้ประเทศเพื่อนบ้านเกือบทั้งหมด
บางครั้งความสำเร็จที่หลายคนอาจจะนึกว่ากระจอก เช่นการให้แม่หนึ่งคนเปลี่ยนพฤติกรรมจากเลี้ยงลูกด้วยนมขวดมาเลี้ยงลูกด้วนมแม่…จริงๆ ในนักปฏิบัติจะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเมื่อเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชักจูงให้เลี้ยงลูกด้วยนมขวด มีสภาวะบีบคั้งคือเสียงลูกร้องหิวกินนมแม่ไม่อิ่ม….มันเป็นโจทย์จริงที่นักศึกษาต้องทำจริง และทั้งอาจารย์และนักศึกษาต้องใช้กลยุทธ์ทั้งทางวิทยาศาสตร์และเชิงสังคมจนกระทั่งสามารถทำได้..การทำให้แม่หนึ่งคนทิ้งขวดนมที่ใช้มาร่วมเดือนหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองอย่างทำได้จริง..คือความภาคภูมิใจของคนปิดทองที่หลังพระเท่านั้นเองค่ะ
มาเชียร์คนโคราชบ้านเอ็งคนนี้…อิอิ
สมัยที่อยู่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แพนด้า ยังบ่เกิดครับ ท่านครูบาฯ ไปเกิดเอาที่ มหาสารคาม
แต่ก็ดีใจที่ ได้ทราบว่า คน มทส. สนมใจที่จะแวะมาคุยกับชาวบ้านมากขึ้นครับ วันที่ ๒๒-๒๓ นี้ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยน จะได้แวะเข้าไปเยือนถิ่นที่เคยอยู่ ร่วมกัน ท่าน เจเจ และ คนดอยปูน ครับ
เด็กเก่งแบบนี้
เชียร์ขาดใจเลยพ่อ
ว่าแต่ว่า ถ้าพ่อเป็นการ์ตูนแล้ว
คงสนุกน่าดู
แค๊วกๆ
ยังทายบ่ถูก แคว๊กๆ
ผมคิดว่า แถวยืน คนที่สอง จากซ้ายมือครับ….อิอิ ดูจากหน้า(ผาก) กับทรงผม….555
อ้าวพี่แพนด้าทายก่อนเบิร์ดซะแล้ว อิอิอิ แต่เหมือนกันค่ะคือคนที่สองแถวยืน จากซ้า่ย
ป้าหวานว่า แถวนั่ง คนกลางค่ะ ดูจาก โสร่ง แคว๊กๆๆๆ แต่ว่า หล่อน้อยกว่าตัวจริงนิดหนึ่ง เลยไม่เหมือน ฮาๆๆๆๆ
ผมว่าคนที่หล่อที่สุดครับ หุหุ
ยืนอยู่ข้างขวาของหลวงพ่อครับพ่อครูฯ
เห็นด้วยกับ #7 ครับ