ความรู้ที่ชิมได้
คนเรียนน้อยดีตรงที่ไม่ต้องไปวางก้ามว่าตัวเองรู้มาก ถึงจะมีอุปสรรคอยู่บ้างแต่มันก็ไม่ถึงกับยุ่งยากจนแก้ไขอะไรไม่ได้ โบราณบอกว่าปากเป็นเอก เราก็ใช้ปากนี่แหละถาม ๆ เป็นวิธีเรียนฟรี เรียนลัด ที่รัฐฯไม่ต้องช่วยออกเงินฟรีให้ถึง 15 ปี แถมยังไม่ต้องไปกู้เงินมาเรียนอีกต่างหาก เป็นการศึกษานอกระบบและอิงระบบอย่างแท้จริง ต่อไปใคร ๆ มาเสวนาที่สวนป่า ผมก็จะเปิด ภาควิชาดูตาม้าตาเรือศาสตร์นี่แหละ
บางครั้งมีหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเอาเรื่องไปลง
ผมอ่านไม่ออกหรอกนะ
ได้แต่ตัดเก็บพับไว้
ร่ำ ๆ ว่าจะให้ Logos แปลให้ก็ลืมทุกที
..จะเตรียมการบ้านไว้เผื่อสำหรับคุยกับพันธมิตรทางวิชาการ ถือเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายวิชาเกินแห่งมหาชีวาลัยอีสาน เพราะการมาแต่ละคณะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาและเงื่อนไขที่ฉุกละหุกอยู่เสมอ ซึ่งฝ่ายเจ้าที่เจ้าทางจะต้องเตรียมการไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อจะตอบคำถามว่ามาแล้วได้อะไร? ที่จริงเรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน การรู้คำถามหรือรู้ความต้องการไว้บ้าง จะทำให้การออกข้อคิดเห็นได้ตรงวัตถุประสงค์ของผู้มาเยือน บางทีสไตล์ประหลาด ๆ ของที่นี่ ก็สร้างความพิลึกพิลั่นบ้างเหมือนกัน
การทำการบ้านไว้บ้างจะเป็นประโยชน์แก่คณะฯผู้ที่มาเยือน โดยหัวหน้าทีมอาจจะแนะนำให้สมาชิกเข้าไปหาข้อมูลล่วงหน้าที่ลานปัญญา จะได้ลดปัญหาเรื่องการปูพื้นฐานที่ไปที่มา อีกทั้งจะจูงใจให้เกิดข้อคิดความคันที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน แต่คณะส่วนใหญ่จะไม่เตรียมการเหมือนภาคเอกชน ราชการบางแห่งจะไม่ศึกษาอะไรเลย จะโทรมาถาม ว่างไหม จะไปหา บางทีมาเรื่องอะไรก็ไม่รู้ วันที่มาก็โทรถาม ไปทางไหน? เลี้ยวกี่แยกกี่ครั้ง? มีป้ายบอกไหม?
บอกว่าไม่มี ร้องอ้าวลั่นรถ>>!! หนูจะไปยังไง????..
ที่ผมไม่ติดป้ายบอกทางก็ด้วยเหตุผลนี้ละครับ
บางคณะจึงหมั่นไส้เหลือหลาย
แต่ก็ทำไม่รู้ไม่ชี้
วิชามองตาม้าตาเรือเริ่มตั้งแต่ก้าวแรกเลยละขอรับ
คนเก่งต้องหาทางมาเองจนได้แหละ
บางคณะก็หลงทางไปครึ่งค่อนวัน
ทำไงได้ละ ในเมื่อไม่สำรวจให้แน่ชัดก่อน
สวนป่าไม่ได้มีชื่อเสียงใหญ่โตอะไร
ใครอยากมาก็สาหัสหน่อย
ต้องใช้วิชาสะกดรอย วิชาโลเลศาสตร์ และวิชาเป่ายิงฉุบ
จะได้เรียนวิชาปากเป็นเอกตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบย่างเข้ามา
บางคณะเข็ดขี้แก่ขี้อ่อน
ก็แนะว่าให้จ้างรถมอเตอร์ไซนำเข้ามา
แขนงวิชาโมเมศาสตร์ของสวนป่า ส่วนมากจะได้จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน วันนี้จะขอยกตัวอย่างมากหน่อย เพราะจะต้องเขียนให้ครบ 4 หน้า เพื่อจะส่งให้หนังสือต่วยตูนด้วย
เรื่องแรกได้แก่..
ฟักทองอายุยืนยาวข้ามฤดู ก็ฟักทองของอุ้ยสร้อยนั่นแหละ คงจำได้เมื่อคราวมาสวนป่าครั้งหลังสุด 4-5เดือนแล้วมั๊ง คราวนั้นผมชวนอุ้ย ครูอึ่ง ครูอาราม ปลูกมะรุมปักชำ เห็นที่ว่าง ๆ ระหว่างแถว ก็เอาเมล็ดฟักทองไปหยอด ปลูกก็แล้วลืมไปเลย ไม่เคยรดน้ำใส่ปุ๋ยใด ๆ แต่ฟักทองก็ดีเหลือใจ ทยอยออกดอกออกผลให้เก็บแกงมาตลอดจนกระทั่งบัดนี้ ตาหวานมาเมื่อไม่กี่วันยังให้ขนเอาไปเมืองสองแคว หลังจากหมดฝนฟักทองก็เหี่ยวเฉาไปบ้าง เมื่อเร็วนี้ผมรื้อแปลง ติดตั้งระบบน้ำฉีด ประกอบกับฝนตกด้วย ฟักทองที่คิดว่าหมดอายุแล้วกลับฟื้นคืนชีพ ทอดยอดออกดอกออกผล ผมไปเปิดดูที่ต้นเห็นแห้ง ๆ แกน ๆ เอ๊ะ! ทำไมบางยอดจึงดูเขียวงอกงาม พบว่าตามเถาว์บ้างแห่งจะมีรากแทงลงดินหาอาหาร พืชคงออกแบบรากสำรองไว้ช่วยตัวเอง ความรู้ใหม่ที่พบก็คือเรื่องรากเสริมพิเศษนี่แหละ ผมจึงทำการค้นคว้าต่อ โดยเอาปุ๋ยคอกไปใส่ตามรากใหม่นี้ ส่วนน้ำนั่นรดให้กับพืชควบอื่น ๆ อยู่แล้ว ต่อไปก็รอดูว่า ฟักทองข้ามฤดูจะให้ผลลัพธ์อย่างไร?
การปลูกผักยืนต้นระบบชิด เรื่องนี้ผมเซ่อมานาน ทั้งๆที่สนใจเรื่องการปลูกผักพื้นเมืองยืนต้น เพราะเห็นประโยชน์และคุณค่ามากมาย ปลูกง่าย ไม่มีแมลงรบกวน แถมอร่อยอีกต่างหาก ปกติผักยืนต้นพื้นเมืองจะต้นโตสูงใหญ่ กว่าจะเก็บยอดหรือดอกผลต้องปีนไปสอยลำบาก ผมก็เอาเมล็ดมาหยอดเป็นแถวเป็นแนวระบบชิด เรื่องนี้ได้จากแนวคิดที่ Logos เอาเรื่องมะรุมต่างประเทศมาลงให้ดู จึงย้อนคิดถึงการปลูกวิธีนี้ บังเอิญบ้านเรามีผักยืนต้นนับร้อยชนิด ทำทั้งหมดคงไม่ไหว จึงเลือกชนิดที่เหมาะสมกับความต้องการเป็นลำดับแรก ปีนี้ทดลองปลูกมะกล่ำต้น แค มะรุม และมะขาม เรื่องมะขามนี่ก็บังเอิญอีกนั่นแหละ มีวันหนึ่งผมอยากจะต้มโคล้งปลาย่างใส่ใบมะขามอ่อน ไปเดินด้อม ๆ มอง ๆ ตามต้น บางทีมะขามก็ไม่แตกยอดอ่อนหรอกนะ ก่อนที่จะหมดอาลัย เหลือบไปเห็นใครไม่รู้เอาเมล็ดมะขามมาโยนทิ้งไว้ข้างทางเดินเข้าบ้าน เป็นต้นเล็กๆสูงประมาณคีบหนึ่ง ผมลองเด็ดมาชิม..อ้าว! เปรี้ยวดีนี่หว่า ก็เลยเด็ดยอดมะขามต้นอ่อนกำมือหนึ่งมาใส่ต้มโคล้งซดอื้อฮือ ๆ สบายแฮ อิ่มแล้วก็เกิดความคิดสิครับ เอ๊ะแบบนี้ก็ดีนะสิ ให้ลูกน้องไปสั่นกิ่งมะขามเก็บฝักแห้งมาแกะเอาเม็ดโรยเป็นแถว มะขามรดน้ำให้หน่อยงอกง่าย เดือนเดียวก็มียอดมะขามอ่อนเด็ดให้เด็ดไปใส่ต้มโคล้งรสแซบได้แล้วละครับ
น้ำพริกถั่วเน่าสูตรใหม่ วิชานี้สนุกและอร่อยด้วย ผมอยู่ในระหว่างลดน้ำหนักให้ได้ 6 ก.ก.ภายใน 3 เดือน ตอนนี้จวนจะสำเร็จแล้ว หลังจากกินผักลวก ผักสด และผลไม้ 2 มื้อ ประจำวัน กินข้าววันละ2มื้อ หุ่นก็สะโอดสะองขึ้น พุงหายไป 5 ก.ก.แล้วนะป้าหวาน เหลืออีกก.ก.เดียวก็จะถึงเส้นชัยแล้ว วิชากินผักให้อร่อยผมทำอย่างนี้ครับ เอาถั่วเน่ามาอบให้กรอบหอม บดพร้อมกับปลากรอบตัวเล็กๆแล้วแยกไว้ เอามะเขือเทศ-หัวหอม-กระเทียม-พริกเข้าเครื่องอบให้สุกแล้วนำมาตำให้แหลก แล้วเอา 2 ส่วนมาผสมกัน โดยมีน้ำมะขามเปียก หรือจะใช้ผลตะลิงปิงหั่นฝอยใส่ก็ได้ เติมน้ำปลาชิมรสให้กลมกล่อม แค่นี้ก็ได้น้ำพริกรสเด็ดแล้วละครับ รับประทานกับผักสดหรือผักลวกก็ได้ มื้อเช้าที่ผ่านมา ผมเด็ดยอดมะกล่ำ-ยอดเสาวรส-ยอดผักผีเสื้อกำหนึ่งกับไข่ไก่ต้ม 2 ฟอง มีแกงผักหวานใส่ปลาย่างอีก ย่างกับไข่มดแดง แค่นี้ก็อิ่มจนอืดแล้วละครับ
ปลูกไม้ประดับบนตอตาล เราพบว่าเนื้อไม้ตาลมีสารอาหารที่เหมาะกับพืชมาก ความชื้นก็เก็บไว้ได้ดี ครั้นจะปลูกต้นไม้เฉยๆมันจะแปลกตรงไหน ผมเอาเมล็ดผักสลัดมาโรยรอบขอบนอก ทำให้กระถางปลูกต้นไม้มีผักให้เด็ดดีไหมละครับ มีแผนที่จะทดลองเอาเชื้อเห็ดฟ่างเห็ดนางฟ้ามาทดลองคราวหน้า ตอตาลยังมียังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ขยักไว้เล่าพร้อมภาพดีไหมครับ
ต้อนรับแขก วันนี้มีแขก 2 คณะ กลุ่มแรกเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนขยายโอกาส มาขอพันธุ์สมุนไพรไปปลูกในโครงงานของโรงเรียน คณะที่ 2 เป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หลักสูตรสาขาวิชาชีววิทยาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการเรียนการสอนรายวิชา 104604 Environmental Planning and Management ผมให้ความสำคัญกับทุกอาจารย์ที่พานักศึกษาลงพื้นที่ เพราะเป็นวิธีเรียนที่ประเทศเรายังให้ความสำคัญไม่มากนัก ดร.พงศ์เทพ สุวรรณวารี ยอมเหนื่อยพานักศึกษามาแสวงหาความรู้เชิงประจักษ์นั้นน่านับถือ นักศึกษาจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับอาจารย์ เป็นการเอาวิชาความรู้ในสถานศึกษาออกมาทดสอบกับสภาพจริง หลังจากคุยกันผมพาเดินไปชมแปลงปลูกต้นไม้และกิจกรรมตามที่เล่ามาข้างต้น จะเห็นว่าเพียงแค่เริ่มต้นทำก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ก็มีผู้สนใจมาศึกษาบ้างแล้วละครับ
แคว๊กๆ
« « Prev : เมื่อครูบาเป็นการ์ตูน
Next : จะไปหลบร้อนที่ไหนดีละคุณพี่ » »
10 ความคิดเห็น
ชอบจริงๆเลยค่ะ ความรู้ที่อร่อย อร่อยจริงๆ มีประโยชน์ด้วย
อยากชวนป้าหวานมาดวลน้ำพริก แคว๊กๆ
เพื่อนฝูงที่ทำร้านอาหารเมืองนอก ก็ใช้วิธีสั่งเม็ดมะขามเอาไปโรยบนกระบะนี่แหละครับพ่อครู พอต้นอ่อนแตกใบมาได้หน่อยก็ใช้ใส่ต้มใส่แกงได้ทันใจครับ น่าจะคิดต่อยอดผลิตเม็ดมะขามใส่ขุยมะพร้าวส่งออกกันนะครับ เอาไปให้เขารดน้ำแล้วสอนให้กินยำยอดมะขาม (ส้ายอดมะขาม) น่าจะเข้าท่า
พรุ่งนี้เที่ยงนัดเจ้า ออต ดวลอาหารผักที่ร้านตะวันทอง ป้าหวานสนใจถือโอกาสชวนที่นี่เลยเด้อครับ ส่วนพี่บางทรายได้ข่าวว่าต้องรีบกลับไปรับพี่น้องที่มุกดาหาร
พี่น้องจากสารคาม จะไปเยี่ยมสวนพ่อแสนครับ ที่สวนป่าของพ่อแสนนี่ก็นอกจากจะเป็นครูในด้านผักหวานป่าแล้ว ก็ยังมีการปลูกพืชผักทุกชนิดที่กินได้เลียนแบบธรรมชาติเลยละครับ ก็คงจะเหมือนกับการปลูกระยะชิดเหมือนที่พ่อว่า ปลูกพืชหลายระดับครับ ตั้งแต่พืชชั้นเทิงที่สูงๆแซมด้วยต้นไม้พืชขนาดกลางเช่นผักหวานป่าถัดลงมาเป็นไม้พุ่มลงไปข้างล่างยังมีไม้ใต้ดินอีก
พ่อแสนเคยเลี้ยงหมูป่าแบบคอกเคลื่อนที่ด้วยนะครับ คอกติดล้อของพ่อแสนตระเวณตั้งไปตามจุดต่างๆในสวน หมูก็ทำหน้าที่กินหญ้าพรวนดินใส่ปุ๋ยไปในตัว อันนี้เป็นคู่แข่งของหมูหลุมได้ดีทีเดียว
ฝอยมายืดยาวก็เพื่ออยากชวนพ่อครูมามุกดาหารเมื่อไหร่ แวะไปเยี่ยมไปวิจารณืสวนพ่อแสนหน่อยก็จะเป็นพระคุณต่อไทบรูของผมครับ
พี่บางทรายจะจัดวันไทบรูวันที่ ๑๐ เดือนหน้าครับ ฝากชวนพ่อแม่พี่น้องไปเยี่ยมดงหลวงเด้อครับเด้อ
เสียดายไม่ได้พบกันนะเปลี่ยน พรุ่งนี้ต้องไปสวนลุงแสน แต่เช้า ลุงแสนก้าวหน้าไปอีกหลายอบ่าง นวัตกรรมต่างๆเริ่มได้ผล และได้ข้อสรุป
ส่วนวันไทบรูนัน้กำหนดไว้วันที่ 10 หากพี่น้องไทบรูไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ก็เปิดไว้ หากพี่น้องเตรียมงานไม่ทันก็ขยับได้บ้างภายในเดือนมีนาคม เริ่มเตรียมงานกันบ้างแล้ว เดี๋ยวหากกำหนดลงตัวจะประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
ปีนี้มีของแปลกอย่างหนึ่งคือ ตอนศึกษา วิถีชีวิตเดิมๆของไทโซ่ ก็พบว่ามีเครื่องมือทำมาหากินที่ยังใช้อยู่ และที่ห่างหายไปแล้วหลายชิ้น จะรวบรวม และทำขึ้นใหม่เพื่อนำมาแสดงให้เด็กนักเรียนลูกหลายมาเรียนรู้วิถีเดิมของพ่อแม่ ปู่ย่า ที่เติบโตมา บางอย่างทึ่งมาก ซับซ้อนจนไม่คิดว่าคนโบราณจะคิดเครื่องมือจับสัตวในป่าได้ด้วยวิธีแปลก…. นี่คือรากเหง้าของไทโซ่…..
น่าสนใจงานไทบรูสู้ชีวิตติดเทอร์โบปัญญา
หลายเรื่องที่ทดลองไป แล้วมาตรงกันเหลือเชื่อ
สนุกกับการเรียนรู้เหมือนพี่น้องไทบรูดีที่ซู๊ดสสสสส
ผมอยากจะไปขอความรู้
แต่ขอดูเวลาอีกที แคว๊กๆ
เข้ามาปรบมือ แป่ะๆๆๆๆๆ พ่อเก่งจังค่ะลดน้ำหนักได้ตั้ง 6 กิโล แหม นี่ถ้าพุงเรียบ หน้าใส กล้ามเป็นมัีด ๆ คงจะเท่น่าดูชม นิ เจอกันคราวหน้าคงกอดพ่อได้รอบแล้วสิค่ะ เหอ เหอ :P
ธรรมดาๆ
กินน้อยพุงหาย ตะกละหลายพุงยื่น
เม็ดมะขามเอามาปลูกทำรั้วโรยให้เม็ดชิดๆกัน พอมันขึ้นก็จะได้รั้วต้นไม้แน่นขนาดหมาเข้าไม่ได้ แถมยังเด็ดยอดอ่อนกินได้ด้วย บ้านที่ภูเก็ตฝั่งที่เป็นป่าก็ปลูกเม็ดมะขามนี่แหละ ผมไม่ชอบกำแพงขังตัวเองก็เอารั้วต้นไม้นี่แหละ ทั้งชะอม ทั้งมะขาม มะม่วงสามฤดู หมาก เนื้อที่ ๙๓ ตารางวาเต็มไปหมดแล้ว พ่อครูกับคณะไปภูเก็ตสองครั้งยังไม่ได้พาเข้าบ้านสักครั้งเพราะเวลาไม่อำนวย ไปคราวหน้าก็คงจะเด็ดยอดผักเหมียงข้างบ้าน ยอดชะอม ยอดมะขาม มาทำกับข้าว ยอดมันปู ไว้กินกับน้ำพริก กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า มะละกอ เป็นของหวาน ถ้าโชคดีจะได้กิน “มุดม่วง” มะมุด ที่คล้ายๆมะม่วง แต่เนื้อเป็นเสี้ยน ถ้าได้ประเภทพันธุ์ดีก็จะได้เนื้อเนียนเกือบคล้ายมะม่วงแต่กลิ่นและรสเป็นมะมุด เพิ่งเป็นลูกปีนี้มีอยู่ ๘ ลูก แต่ไม่รู้ว่าจะอร่อยอย่างที่ต้องการหรือเปล่า อิอิ
เอาอย่างนี้ดีไหมครับ ท่านอัยการ
ช่วยถ่ายภาพมาโชว์หน่อย
บางที่อาจจะได้แนวคิดดีๆไปขยายผลเรื่อง รั้ัวพอเพียง กินได้ ประหยัด ช่วยลดการใช้ซีเมนต์ บล๊อคคอนกรีต ฯลฯ
“รั้วชีวิต ฮิตทั่วไทย”
ดีใจที่ได้ทราบว่า ดร.พงศ์เทพ สุวรรณวารี สานต่อหลักสูตร ชีววิทยาสิ่งแวดล้อม ครับ