มองมุมคิด : หมอดินอาสา
อ่าน: 3236เมื่อยังเด็ก ไม่ค่อยชอบฤดูฝน ด้วยรู้สึกถึงความหม่นเศร้ายามเมฆครึ้ม ฝนพร่ำ
แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ กลับชอบบรรยากาศความสดชื่น และภาพชีวิตหลังฝน
ได้เห็นการพลิกฟื้น งอกงาม ของต้นไม้ ที่คลายจากความร้อนแล้ง
จึงมักจะถือโอกาสปรับปรุง ตัดแต่ง เพิ่มเติมพันธุ์ไม้ในฤดูนี้
ช่วงที่แวะเวียนออกนอกเส้นทางจนไปพบกับฝายไม้
หมายตากองขี้เถ้าจากแกลบที่เห็นกองอยู่เต็มลานบ้านย่านที่เป็นแหล่งการเกษตร
ถึงวันหยุดจึงชวนกันจะไปหาซื้อมาเพาะชำกล้าไม้
ขับรถกระบะสารพัดประโยชน์คันเก่า ควบปุเลงๆ ย้อนรอยไปตามทางที่เคยเห็น
แต่กลายเป็นว่า หาบ้านที่หมายตาไว้ไม่ได้ ต้องถามไถ่ผู้คนตามรายทาง
ล่องไปทางใต้อีกหน่อยนะ..ลองถามหาบ้านป้าเฮือน ลุงแก้ว..
บ้านนี้ใช่ไหม..บ้านนี้น่าจะใช่..ลองลงไปดูไหม..มาได้สักระยะ
ได้จังหวะ เลี้ยวเข้าไปในลานบ้านที่เห็นมีการคัดอบลำไย คงมีใครให้ถามบ้าง
ถูกส่งต่อไปให้ถามลุงและป้าบ้านข้างๆ และช่างเป็นการส่งต่อที่ทำให้ได้เรื่อง
ลุงแก้วเสียไปแล้ว…ป้าเฮือนคงไม่ได้ทำหรอก…
จะต้องไปหาซื้อทำไม..ทำเองซิ
ว่าแล้ว ลุงก็คว้าปี๊บมาสองใบ มาอธิบายประกอบการสาธิตวิธีเผาขี้เถ้าแกลบ
นี่ๆ ใบล่างเจาะฝาด้านข้างเป็นสี่เหลี่ยมทั้งสี่ด้าน
ใบบนก็ทะลุก้นมันซะ เอาวางซ้อนกันอย่างนี้
หาสังกะสีมาม้วนเป็นท่อทำปล่องควันเสียบไว้ตรงปากปี๊บนี่
เอาเศษฟื้น เชื้อไฟ ใส่ในช่องที่เจาะไว้ตรงปี๊บอันล่าง
พอไฟติดแล้วก็เอาแกลบกลบ
ไฟมันจะค่อยๆ ลามไปเผาแกลบ หมดแล้วดับไฟซะ ก็จะได้ขี้เถ้าไง
ระหว่างลุงอธิบาย ป้าก็ช่วยเสริมความมั่นใจด้วยรอยยิ้มว่า
ลุงเค้าเป็นหมอดินอาสาอำเภอ
การสนทนาจึงต่อไปหลายเรื่อง สืบเนื่องถึงที่มา..จนรู้ว่าไม่ใช่คนอื่นไกล
ลูกหลานก็เคยได้เล่าเรียนในโรงเรียนที่ทำงานอยู่
ยิ่งพูดคุย ยิ่งออกรส เมื่อไถ่ถามความเป็นมาของหมอดิน
และเรื่องราวของจุดเรียนรู้ ที่เห็นมีป้ายบอกอยู่ในโรงเรือนใกล้บ้าน ถึงกับชวนกันไปชมสวน
พื้นที่สวนลำไยเพียงสี่ไร่..
ที่ลุงใช้ช่องว่างระหว่างต้น สร้างรายได้เสริมจนกลายเป็นรายได้หลัก
ขึ้นแปลงปลูกผักสวนครัว โหระพา กระเพรา แมงลัก ต้นอวบงาม จนเต็มพื้นที่
บางแปลงเพิ่งลงใหม่ บางแปลงตัดขายได้แล้ว มีระบบสปริงเกลอร์ให้น้ำพร้อมพรัก
ลุงใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาที่ดิน
ท่ามกลางแสงแดดร้อนจ้ายามใกล้เที่ยง กลับได้เพลิดเพลินกับการเก็บเกี่ยวมุมมองและแง่คิด
ลำไยปีนี้ขายได้แค่สองหมื่น แต่โหระพาปีนี้ได้เจ็ดหมื่นแล้ว
เกี่ยวขายได้ทุกวัน ตอนเช้าก็เกี่ยวใส่ถุงวางไว้หน้าบ้าน
เขียนจำนวนไว้ วางรอให้แม่ค้าเจ้าประจำมารับไป
เย็นก็เกี่ยวอีกรอบ พอหลายๆ วันก็คิดเงินกันที
ทำอะไรก็ช่าง ขอให้มีรายได้ประจำวัน
รายได้ประจำวัน แน่นอนที่สุด
อย่างน้อยได้รู้ว่าวันนี้ได้เท่าไร ก็จ่ายไปไม่ให้เกินตัว
มัวแต่รอรายได้ประจำปี บางทีหาทุนมาซื้อปุ๋ย ซื้อยา
กว่าจะถึงเวลาขายลำไยราคาตกจะทำอย่างไร
เงินก็ไปเอาของเขามาใช้ลงทุนไปแล้ว ก็มีแต่หนี้น่ะซิ..
มีคนบอกให้ขอทุน อบต.เพราะเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน
จะขอทำไม ก็ไม่ได้มีต้นทุนมากมายอะไร..
วันๆ ไม่ต้องจ่ายอะไรมากมาย อยากได้อะไรทำกับข้าวก็หาเอาแถวนี้
นี่ต้นพริก ออกเองใต้ต้นลำไย
นี่ต้นมะแว้ง ออกเอง ขายได้กิโลละสิบบาท
นี่ต้นฟัก คนมาดูงานเอาเมล็ดใส่ถุงมาลืมทิ้งไว้ ฝนตกมันงอกเลยเอามาปลูก
มีคนมาบอกว่า ทำแบบเศรษฐกิจพอเพียง ทำไมไม่เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา
เลี้ยงทำไม เดี๋ยวไก่ก็มาเขี่ยผัก
เลี้ยงปลา ก็ต้องซื้ออาหาร น้ำก็ไม่มี ตลาดก็ไม่มี
ถ้าเราเลี้ยงมัน มันก็จะกินทุนของเราทุกวัน ปลูกผักแบบนี้มันเลี้ยงเรา
เคยไปดูงานมาหลายแห่งเหมือนกัน ห้วยฮ่องไคร้ อิสานก็ไป
แต่พี้นที่เราน้อย ก็ต้องทำตามแบบของเรา
ใครมาดูงาน ก็บอกให้ดูพื้นที่ของตัวเอง
จะทำอย่างไรให้มีรายได้ประจำวันให้ได้
มุมคิด วิธีจัดการทางการตลาดของลุงก็เรียกรอยยิ้มให้กับผู้ฟัง ตั้งแต่จุดเริ่ม
เดิมเห็นอีกหมู่บ้านหนึ่งปลูกขาย ก็ลองปลูกบ้าง
แต่ก็ขายไม่ได้ ถามใครก็มีเจ้าประจำแล้ว
จนวันหนึ่ง มีคนมาถามหาหญ้าแฝก ก็ขุดให้เค้าไป
ชวนคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ พร้อมกับฝากให้เอากระเพราไปขายให้หน่อย
ได้เงินครั้งแรกสามสิบห้าบาท ดีใจยิ่งกว่าอะไร
วันต่อไปก็ขายได้บ้าง แล้วก็มาสั่งเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น
เขาบอกว่า กระเพราลุงไม่ใช้สารเคมี ถึงเก็บไว้ได้นาน
ตอนนี้ปลูกผักคละกัน เผื่อช่วงที่บางอย่างถูก บางอย่างแพง
ชนิดที่ถูกมากๆ ก็ขายพ่วงกัน
แม่ค้าต้องซื้อผักที่ขายได้แพงครึ่งหนึ่ง ขายได้ถูกครึ่งหนึ่ง
ไม่งั้นลุงไม่ขาย…แน่ะ..
ท่วงทียามสนทนา บอกได้ถึงความสุขและความภูมิใจในผลงานทั้งพร้อมจะแบ่งปันเรื่องราวให้ได้รู้
โชคดีที่มาพบครูผู้สอนวิชาชีวิตให้ได้ต่อเติม แง่คิด มุมมอง
แม้ต้องล้มเหลวกับภารกิจตามล่าหาขี้เถ้าแกลบในถิ่นนี้ก็ตามที
แต่สุดท้าย ได้ประสบผลเมื่อค้นพบแหล่งผลิต
ที่ใช้วิธีขีดเส้นกำหนดพื้นที่ขาย…!!!
เอ้า..ตักในกองนี้ไปได้จนถึงเส้นที่ขีดไว้นะ แล้วค่อยมาคิดตังค์กัน..
ว่าแล้ว..พี่ก็เดินหายเข้าไปในบ้าน
ปล่อยให้คนซื้อทำงานของตัว อย่างไม่กลัวคนซื้อจะขนสินค้าหนีหาย
ได้เวลาก็ออกมาหาน้ำให้ล้างมือ
ช่างเป็นบรรยากาศการซื้อขายที่น่ารัก
แม้คนซื้อจะช่วยกันตักขี้เถ้าขึ้นรถจนคันมือยุบยิบ ก็ยังยิ้มกริ่ม
วันที่ได้เจอเรื่องดีๆ แบบนี้ ใครบ้างจะไม่ยิ้ม..อิอิ..
ขอขอบคุณ..
คุณลุงสว่าง อินต๊ะ..หมอดินอาสา บ้านท่ากว้าง อ.สารภี เชียงใหม่
และคุณป้าสุขแก้ว อินต๊ะ..ผู้ทำให้ได้เรียนรู้กับหมอดินใจดี..
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหมอดินอาสา
Next : มองมุมคิด: ชีวิตติดดิน » »
4 ความคิดเห็น
เรื่องนี้ดีจริงขอเถอะ
จะเอาไปรวมพิมพ์ เล่มที่ระลึกพิเศษ
อยากได้ของอุ้ย กับอาราม
เขียนสั้นย่อๆอย่างนี้แหหละ โดนใจ๋ฮูกะ
วันไหนไปละปูนอยากไปเยี่ยมบ้านหลังนี้ คุณลุงคนนี้
สุดยอดจริงๆเน้อจิบอกไห่ อิ อิ
นี่แหละของจริง อิอิอิ ชอบชะมัดเลยค่ะพี่ครูอึ่ง เบิร์ดเคยอ่อนใจกับท่าน ๆ ที่บรรยายเศษสะกิดพอเพียง (เวลาฟังท่านบรรยายรู้สึกแบบนี้จริง ๆ )
เพราะวัตรปฏิบัติของท่านมันไม่ใช่ แล้วทำไมต้องครอบให้คนทำแบบเดียวกันด้วยฟะ เหมือนนิเวศวัฒนธรรม 4 ประสานของพี่ปาลียนในลานพี่บู๊ด ที่เบิร์ดนำมาพูดถึงในลานฯพี่ครูอึ่งนี่แหละค่ะ มันลักหลั่น ไม่กระจ่าง และผิดฝาผิดตัวยังไงชอบกล
ขอบคุณค่ะ โดนใจจริงๆ ขออีกๆๆ ขอให้เกิดขึ้นอีก ทั้งที่ๆเคยเกิดขึ้นและที่ๆยังไม่เคยเกิดขึ้น ความจริงแท้บางทีคิดเอา วาดภาพเอา ก็ไม่เหมือนของจริงอย่างนี้ ขอบคุณลุงและป้า ขอบคุณครูอึ่ง ค่ะ เศรษฐกิจพอเพียงของแท้จริงๆ
#1 ครูบาคะ..ถ้ามาลำพูน ยังมีอีกหลายแห่งที่อยากพาไปเยี่ยมชมค่ะ รออยู่นะคะ อิอิ
ส่วนอาราม ตอนนี้กำลังต่อรองกับพระพิรุณ เพราะงานปูพื้นสระว่ายน้ำยังไม่เสร็จดี พายุก็จะเข้า ถ้าฝนตกลงมาคงยุ่งหน่อย
เลยวิ่งวุ่นอยู่แถวสระว่ายน้ำทุกวันค่ะ คงเหมือนกับอุ้ยที่วิ่งไปมาอยู่แถวคณะพยาบาลนะคะ
รักษาสุขภาพด้วยนะคะครูบา
#2 #3 ถ้าเบิร์ดกะป้าหวาน ได้มาคุยด้วย คงชอบใจ วิธีคิดและประโยคเด็ดโดนใจจากประสบการณ์ของคุณลุงค่ะ
นั่งรถผ่านแถวนั้น ก็จะเห็นหมู่บ้านที่มีวิถีเกษตรของทางเหนือ รั้วบ้านก็ปลูกต้นโกศล ต้นดอกไม้ตกแต่งกันทุกบ้าน ร่มรื่นดีค่ะ
แต่ในวิถีแบบนั้น ผ่านไปบางทีก็จะเห็นหนุ่ม แต่งผม หน้าตา สไตล์เกาหลี แต่งตัวแบบหนุ่มสำนักงาน โผล่ออกจากรั้วบ้านไม้ไผ่มาพร้อมกับจักรยานยนต์คู่ใจอยู่บ้างเหมือนกัน อิทธิพลของแฟชั่น ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ