ไอที และ ไอเลิฟยู***
สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่แล้วมีบ้านกัน แต่อาจจะมีรูปร่างแตกต่างกันไปตามชาติพันธุ์ของแต่ละกลุ่ม นกบางตัวทำรังอยู่ในโพรง บางตัวก็ทำรังอยู่กับคาคบไม้ บางตัวก็ทำรังด้วยการสานใบหญ้าเป็นชะลอมแน่นหนาห้อยโตงอยู่ปลายกิ่งไม้ ยังมีนกบางตัวขุดรูอยู่ในดิน นกบางตัวอาศัยอยู่ในกอหญ้าริมบึง หากินอาหารทั้งที่อยู่ในอากาศ ผิวดิน และในน้ำ
นกแต่ละชนิดจะมีทักษะชีวิตแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม
บางตัวยังแอบไปไข่ให้ตัวอื่นฟัก
เออหนอ..แม้แต่ในสัตว์ปีกก็มีระบบอุปถัมภ์
นกก็มีลูกเลี้ยงแม่เลี้ยงเหมือนกันนะเธอ
ยกตัวอย่างนกกระจอกเทศที่อยู่ในธรรมชาติ เมื่อฟักไข่ออกเป็นตัวแล้วคุณแม่ก็จะพาลูกอออกเดินทางต้วมเตี้ยมไปหากิน เดิน..ๆ..ไปเจอแม่นกอีกตัวหนึ่งที่พาลูกออกมาตระเวนเช่นเดียวกัน แม่นกทั้ง2จะไม่รอช้า.. จะพุ่งเข้าต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย สู้กันจนมีฝ่ายแพ้ชนะ ..ตัวที่ชนะก็จะได้ลูกนกทั้งหมดไปครอบครอง ธ ร ร ม ช า ติ ทำ ก า ร คั ด ก ร อ ง ”คุณแม่” ที่ แ ข็ ง แ ก ร่ ง ที่ สุ ด เ ป็ น ผู้ ดู แ ล ลู ก น ก ทั้ ง ห ม ด ลูกนกได้อยู่ภายใต้การดูแลของแม่ที่เข้มแข็ง จะช่วยปกป้องภัยที่มาแผ้วพาน
แม่นกตัวที่แพ้ละ..จะทำยังไงในเมื่อลูกถูกพรากไปจากอก
เธออาจจะเดินสะท้อนสะทกไปเจอพระเอกรูปหล่อแล้วก่อรักใหม่ก็ได้
เราไม่อาจล้วงนึกไปถึงกลไกในชาติพันธุ์ของนกชนิดนี้
เรื่องในธรรมชาตินั้นมหัศจรรย์นัก บางเรื่องเราก็ไม่มีเหตุผลจะมาอธิบายได้ว่า ทำไมไก่ต๊อกจึงมาออกไข่รวมกันเป็นร้อยๆฟอง แล้วให้มีตัวมอบฟักดูแลเพียงตัวเดียว ตัวอื่นๆคอยระแวดระวังอยู่รอบๆ ตัวที่ทำหน้าที่หมอบฟักจะอดทนเอาปีกเอาตัวคลุมไข่ทั้งหมดไว้ เห็นแล้วก็พิสดารมาก ไข่ที่ซ้อนกันอยู่จำนวนมากจะได้รับความร้อนทั่วถึงได้อย่างไร อนึ่ง รังที่ทำก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะรอดพ้นจากน้ำฝนได้ แต่ละรอบฟัก..ไข่ของไก่ต๊อกจึงเน่าเสียหายจำนวนมาก คาดว่าจะประสบผลสำเร็จไม่ถึง5%
ที่แปลกใจก็คือปัญหานี้คงมีมายาวนานตั้งแต่ก่อเกิดไก่ประเภทนี้แล้ว
ทำไม?..ไม่มีการพัฒนาการเทคนิควิชามาแก้ไข
รึ..ในกลุ่มสัตว์ปีกบางประเภท..ความรู้ถูกคุมกำเนิด
ไม่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ใหม่ๆได้
คงอยู่กับความรู้เดิมๆ อยู่กับความสามารถและทักษะที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ปัญหาเหล่านี้โยงมาถึงตัวช่วย ถ้าเราอยากจะขยายพันธุ์ไก่ต๊อก เราจะต้องไปเอาไข่มาช่วยฟัก เช่น เอาไปฝากแม่ไก่บ้านฟัก หรือซื้อเครื่องมาฟัก ถึงจะได้ลูกไก่ต๊อกจำนวนมากกว่าที่รอคุณลูกจากคุณแม่ไก่โดยธรรมชาติ
เรื่องนิสัยใจคอของสัตว์แต่ละประเภทน่าสนใจนัก ตอนนี้ผมมีแม่ห่านอยู่ตัวหนึ่ง ห่านต้องการเพื่อนนะครับ แต่ห่านไปเข้ากับสัตว์ปีกกลุ่มไหนก็มีใครนับพวกด้วย จึงอยู่อย่างหงอยเหงา เดินเล็มยอดหญ้าและใบไม้กินอย่างเดียวดาย ถึงเวลาตั้งไข่เธอก็จะไปเสาะหาพื้นที่ทำรัง ไซ้ขนอ่อนและหาเศษหญ้ามารองรัง แล้วก็เบ่งไข่ออกมา8-10ฟอง หลังจากนั้นก็หมอบฟักอย่างอดทน โดยหารู้ไม่ว่าไข่ของเธอไม่มีเชื้อ.. ถ้าเราไม่เก็บมารับประทาน ไข่เธอก็เน่าเสีย เธอเองก็เสียเวลาหมอบอยู่อย่างนั้น
เราไม่มีทางสื่อสารกับแม่ห่านได้ จะบอกยังไงละครับว่า..คุ ณ ค อ ย า ว จ๋ า ..ไ ข่ ที่ เ ธ อ ห ม อ บ ไ ม่ มี ลู ก ห ร อ ก . .อ ย่ า ท ร ม า น เ ล ย
รึ..บางทีคุณคอยาวเธอต้องการทำหน้าที่แม่ตามวิสัยของธรรมชาติ
เมื่อเบ่งไข่ออกมาแล้วต้องทำตามขั้นตอน
คือหมอบไข่..หมอบนิ่งๆนานๆ..เรื่องอื่นไม่สนใจ
น่าแปลกตรงที่เธอคงทำแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว
แต่ละครั้งก็ยังไม่เคยมีลูกเจี๊ยบออกมาเลี้ยงสมใจ
ห่านไม่สามารถช่วยตัวเองผสมเทียม ฝากย้ายตัวอ่อน หรืออุ้มบุญ
ประเด็นของห่าน ทำให้ผมยี่ยักยี่หย่อนที่จะเลี้ยงห่านกินไข่
คือจะเลี้ยงเฉพาะห่านตัวเมียสักฝูงหนึ่ง
ถ้าเลี้ยง20ตัว ก็น่าจะได้ไข่ประมาณ 150 ฟอง/รอบ
ปีหนึ่งๆจะได้เก็บไข่มาต้มยางมะตูมประมาณ 300-365ฟอง
ถัวเฉลี่ยแล้วเราจะมีไข่ห่านทำอาหารวันละ 1 ฟอง
นอกจากนี้ถ้าเราเลี้ยงไก่ต๊อกไก่แจ้ผสมเข้าไปอีก เราก็จะมีไข่สมทบ เมื่อก่อนผมเคยเลี้ยงขยายไก่ต๊อกได้เป็นร้อยตัว ยังมีไก่บ้านไก่แจ้อีกเป็นฝูง ทั้งวันจะได้ยินเสียงไก่เซ็งแซ่ เดินไปไหนก็จะเจอประชากรสัตว์ปีกมากมาย อะไรที่มากไปก็เป็นปัญหา ..สัตว์เหล่านี้ไปคุ้ยเขี่ยแปลงผัก ขี้เรี่ยราด บางทีก็มาเข้าแถวตะเบ็งร้องจนหูแทบแตก
ไก่ต๊อกนี่นะเธอ..ถ้าเข้าแถวสัก20ตัว ร้องขออาหารพร้อมๆกัน
เธอเคยเห็นไก่ต๊อกร้องแบบเอาเป็นเอาตายไหม?
โห..มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย
ถ้าเคยให้อาหารประจำ
เขาจะจำไว้..ถึงเวลาก็จะมาเข้าแถวร้องเพลงชาติไก่ต๊อกจนลั่นป่า
ปัจจุบันผมเลี้ยงสัตว์ปีกพวกนี้แบบบุฟเฟ่ต์ ปล่อยให้คุ้ยเขี่ยหาอาหารกินเอง สร้างรังเอง เลือกนอนตามคาคบไม้ ช่วงพลบค่ำ..มาคอยดูเถิด ไก่พวกนี้จะ พาลูกๆไต่ขึ้นต้นไม้ไปเกาะกิ่งที่เคยนอนประจำ ที่น่าประทับใจก็ตอนที่ลูกเล็กๆอายุ7-8วัน ยังไม่มีขนปีกยังไม่กล้าขายังไม่แข็ง แม่ไก่จะมีวิธีฝึกลูกน้อยให้ไต่ไปนอนบนต้นไม้ได้อย่างไร?
แสดงว่าในสรรพสิ่งทั้งปวงต่างก็มีชุดวิชาความรู้ของตนเอง
วิชาความรู้ในธรรมชาตินั้นลึกซึ้งนัก
ลึกเสียยิ่งกว่าตำราที่มนุษย์เขียนและร่ำเรียนกันเสียอีก
เรื่องพวกนี้ยากที่จะอธิบายให้คนที่ไม่ใส่ใจธรรมชาติให้เข้าใจ โดยเฉพาะพวกที่คิดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ล้วนเป็นเรื่องโมเมชั่นคิดเข้าข้างตัวเองทั้งนั้น สัตว์ที่มีกิเลศเกาะกุมสันดานซับซ้อน จะเป็นสัตว์ประเสริฐตรงไหนกัน !
สิ่งประเสริฐตัวจริงอยู่ในธรรมชาติ
ธรรมชาติคือธรรมะ
ธรรมะคือความจริงแท้แน่นอนไม่แคลนคลอนและแปรผัน
เธอเคยเห็นใคร..ปลูกมะม่วงแล้วออกผลมาเป็นมาม่าไหมเล่า!
ปลูกอย่างไร ทำอย่างไรได้อย่างนั้น
คนไม่เคยคอมเมนท์..จะรู้ลึกซึ้งถึงอานุภาพของคอมเมนท์ได้อย่างไร?
อย่างเก่งก็ดาดๆผิวเผินไปวันๆ
ไม่ได้เข้าไปถึงกระบวนการเชื่อมโยงความรู้กับใครเขาได้หรอก
นอกจากตาบอดสี ใจยังบอดใบ้อีก
ถ้าเป็นไปได้ก็ลองซื้อหนังสือเจ้าเป็นไผไปอ่านดูเถิด
เธอจะเห็นการเกาะเกี่ยวสัมพันธภาพของคนที่เป็นเพื่อนเป็นญาติสนิทกัน
ค ว า ม รั ก นั้ น ห า ไ ด้ ไ ม่ ย า ก ห ร อ ก
ถ้าเธอรู้จักคอมเมนท์เสียบ้าง
คนที่ไม่ยอมคอมเมนท์..
คือคนที่เป็นหม้ายกระบวนการพัฒนาวิธีเรียนรู้ผ่านออนไลน์
พวกเราล้วนตกอยู่ในยุคของมนุษย์สายพันธุ์ไอที
เธอจะไอเลิฟยู..ให้กันบ้าง มันลำบากใจนักรึ
โธ่ๆๆๆ..