อยู่แบบแบกะดิน

อ่าน: 2696

วันนี้มีเรื่องสนุกๆให้ทำเยอะ นัดคนงานมาสะสางเรื่องที่ตกค้าง ไม่มีเป้าหมายชัดเจน เอาไว้เห็นหน้าค่าตาถึงจะนึกออกว่าจะให้ทำอะไร จัดเป็นวันปล่อยสบายๆ แต่คนงานเขาไม่หยุดนิ่งหรอกนะครับ น้าสุขแกเอาลูกฝรั่งสุกติดมือมาด้วย บอกว่าจะหาทางลดจำนวนกระแตให้ หมู่นี้มันขยายพันธุ์เต็มสวน เที่ยวเกะกะระรานผักผลไม้จนเสียหาย เรื่องอย่างนี้คนพื้นถิ่นเรารู้วิธีดีกว่าเรา
น้าสุขแกเล่าให้ฟังว่าแกเคยมีอาชีพตัดผม ขับรถบรรทุก ทำสวน ทำนา เป็นช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ตัดไม้แปรรูปไม้ เท่าที่ใช้ไหว้วานให้ทำอะไรแกทำได้หมด และก็ทำอย่างทุ่มเทเต็มสติกำลังเสียด้วย ช่วงนี้ผมบนศีรษะถึงคราจะต้องตัดได้แล้ว ก็เลยอยากประลองฝีมือน้าสุข ให้น้าดีแฟนแกไปบอกว่าครูบาอยากจะตัดผม ขอให้แกบึ่งรถกลับไปเอาเครื่องมือกัลบกมา

ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงอุปกรณ์ตัดผมก็พร้อม
แกจับผมนั่งเก้าอี้ใต้ร่มไม้
ต่อปลักไฟฟ้ามาเสียบกับกรรไกร
เตรียมผ้ามาคลุมกันเปื้อนด้วยน๊ะ
หลังจากนั้นก็จัดการตามกรรมวิธีของช่างตัดผม
คุณชายยังเอาไปโพสรูปตั้งชื่อให้ว่า “ร้านลมโชยเกศา”

ระหว่างนั้นผมก็ซักไซ้ไล่เลียงถึงที่ไปที่มาของการเป็นช่างตัดผม แกเล่าช่วงนั้นแกขับรถบรรทุกอ้อย ขับไปขับมาก็เบื่อ จึงจ้างคนอื่นไปขับแทน ส่วนแกหันมาฝึกเป็นช่างตัดผม เพราะมีความสนใจและรู้จักช่างตัดผมเป็นการส่วนตัว แกเล่าว่าฝึกอยู่7วัน เสียค่ายกครู1,400 บาท หลังจากนั้นก็ร้อนวิชา ขับรถไปตามหมู่บ้าน ตัดผมให้เด็กๆและคนในหมู่บ้าน ช่วงแรกๆคิดค่าตัดหัวละ10บาท ต่อมาก็ขยับขึ้นราคา30บาท ถ้าเข้ามาตัดในตัวอำเภอคิดหัวละ 50 บาท ถ้าไปตัดที่ชายหาดพัทยา แกคิดหัวละ80-100บาท

แกเล่าว่าเป็นรายได้เสริมที่ดี
อาชีพนี้มีเคยตกงาน
คนๆหนึ่งตัดผมเดือนละครั้ง
ตัดไปตัดมาก็เป็นเจ้าประจำกัน

ปัจจุบันถ้าไม่ได้ไปทำงานนอกบ้าน ก็จะมีขาประจำมาให้ตัดที่บ้านทุกวัน เช้าตัด2-3คน ตอนบ่ายๆตัดอีก 2-3 คน แค่นี้ก็ได้ค่ากับข้าวและค่าน้ำเปลี่ยนนิสัย ถามว่ามีคนสืบทอดอาชีพนี้ไหม แกบอกว่า..ไม่มีใครสนใจ ลูกหลานเขาก็ไม่เรียนไม่เอา ทั้งๆที่เป็นความรู้ติดตัวที่ช่วยแก้ขัดยามตกทุกข์ได้ยากเป็นอย่างดี ตอนบ่ายผมชวนแกแก้ไขน้ำบาดาล ต่อท่อลงไปอีกท่อนหนึ่งลึก6เมตร จะได้ตั้งโปรแกรมสูบน้ำอัตโนมัติ เพราะดูทีท่าแล้วปีนี้น่าจะแล้งนาล่มอีก จึงเตรียมการเรื่องระบบน้ำไว้แต่เนิ่นๆ หลังจากช่วยกันแก้ไขประมาณ2ชั่วโมงก็เรียบร้อย เก็บอุปกรณ์เข้าโกดังแล้ว น้าสุขแกก็

ไปแว๊บไปดูกับดักกระแต
กระแต2ตัวติดกับดัก
เพราะชอบกินฝรั่งสุก
แกบอกว่า ถ้าเอาหัวมันสำปะหลังปอกเปลือกไปล่อ
อาจจะได้ทั้งหนูทั้งกระแต

ตอนเย็นผมลงอ่างอาบน้ำกลางแจ้งตามเคย เอาลูกมะกรูดที่หล่นเกลือนกราดมาผ่าครึ่งถูตัวและสระผม ร้อนๆอย่างนี้แช่นานๆชื่นสะดือเลยละครับ น้ำมะกรูดที่ถูตัวละลายลงไปในน้ำอ่างออกสีขาวๆ ตอนลุกจากอ่างต้องไปอาบน้ำสะอาดอีกที รู้สึกเนื้อตัวเกลี้ยงเกลา มีกลิ่นสะอาดติดตัว ถึงไม่ประแป้งก็หอม อิ อิ..
โฉมยงถามว่ามือเย็นจะเจี๊ยะอะไร
เลยชวนตำน้ำพริกปลาทูทดลองใช้พริกขาวหอมแทนพริกหนุ่ม

ผมอาสาเก็บผัก เด็ดมะเขือเปราะสีม่วง 4 ลูก เก็บดอกอัญชัน 100 ดอก เด็ดสลัดมา4ต้น แถมยอดกระถิ่นอีกกำหนึ่ง รับประทานร่วมกับน้ำซุปผัก แค่นี้ก็อิ่มจนอืดแล้วละครับ ยังมีน้ำเสาวรสสดคั้นอีกเหยือกหนึ่ง ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ท้องไม่มีช่องว่างเสียแล้ว กะว่าจะอ่านหนังสือที่คุณชายเอามาให้2เล่ม เปิดดูแล้วแทบวางไม่ลง คงจะเอาติดมือไปอ่านบนรถตู้ตอนเข้าลางกอกวันพรุ่งนี้เช้า
เป็นหนังสือแปลทั้งคู่

เล่มแรกชื่อ “บทเรียนชีวิตที่จิตแพทย์อยากบอกให้โลกรู้”
THE ROAD LESS TRAVELED
โดย นายแพทย์ เอ็ม.สก็อต เปค วิทยากร เชียงกูล แปล
อีกเล่มหนึ่งชื่อ ล่มสลาย COLLAPSE ไขปริศนาความล่มจมของสังคมและอารยธรรม เขียนโดย Jared Diamond อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ แปล

เป็นหนังสือเล่มหนาที่อัดความอยากรู้อยากเห็นของเราจะล้นปรี่ ยุคนี้มีวี่แววความล่มสลายคุกคามรอบด้านด้วยสิเธอ จะเป็นตายร้ายดียังไงก็ไม่รู้ เอาเป็นว่าอ่านสิ่งที่ผู้รู้เขาค้นคว้ามาให้เราอ่านไปพลางๆ ดีกว่านั่งทอดหุ่ยหายใจทิ้งใช่ไหมละเธอ อย่างน้อยๆถ้าไม่อ่านหนังสือ มาอ่านบทความแล้วคอมเมนท์ให้กันบ้าง ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้มีน้ำใจ น่ารักน่าชังอยู่ไม่เว้นวาย ใช่ไหมละเธอ


ส่งการบ้าน

อ่าน: 1571

เรียนคุณ
ศิริเพ็ญ ก่องแก้วรัศมี

E-mail:
siriphen@nationalhealth.or.th

ตามที่คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นเพื่อพัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย
ประเด็นการปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ จัดประชุมฯดังเป็นที่ทราบอยู่แล้วนั้น

ผมมีความเห็นดังต่อไปนี้


ประเด็นเชิงนโยบาย ควรคำนึงถึงศักยภาพของผู้รับสนองนโยบายด้วย ถ้านโยบายดีแต่ผู้รับไปปฏิบัติมีข้อจำกัด
ไม่มีความพร้อม มีเงื่อนไขเฉพาะส่วนองค์กร จะทำอย่างไรให้แผนงานเหล่านี้ได้การยอมรับ
จุดพอดีพอเหมาะของนโยบายที่มีความเป็นไปได้เป็นอย่างไร?

ถ้าจะเตรียมความพร้อมเฉพาะเครื่องส่ง
แต่เครื่องรับไม่มีประสิทธิภาพ ยังติดขัดเงื่อนไขต่างๆ
จะพิจารณาในประเด็นนี้อย่างไร ความพร้อมของรัฐบาล ความพร้อมของงบประมาณ กลไกภายในของแต่ละสถาบัน
มีศักยภาพพร้อมที่จะดำเนินงานได้ในระดับใดด้วยหรือไม่

ถ้าไม่พร้อม
มีวิธีทำงานบนฐานความไม่พร้อมอย่างไร?

เท่าที่สอบถามภายนอก
ประเด็นผลประโยชน์ที่จะเปลี่ยนแปลงดูจะเป็นยาขมหม้อใหญ่
แต่ถ้าอธิบายให้เห็นเหตุผลข้อดีข้อด้อยให้กระจ่าง จะทำให้เกิดการยอมรับ แนวทางการแสวงหาความร่มมือและการยอมรับเป็นอย่างไร


ประเด็นของอาเซียน จะมีน้ำหนักต่อการยกร่างนโยบายการปฏิรูปวิชาชีพด้านสุขภาพอย่างไร
ในแง่ของข้อดีและข้อด้อยจะมีผลต่อการกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่
ในแง่บวกในแง่ลบควรเอามาเป็นประเด็นแวดล้อมด้วยหรือไม่ เช่น การคาดการณ์กรณีสมองไหลจะเป็นไปในทิศทางที่เกิดปรากฎการณ์ใหม่ๆด้วยหรือไม่


ประเด็นเรื่องความแตกต่างในเมืองกับชนบท ที่บางกรณีมีการจัดการไม่เหมือนกัน
ยกตัวอย่างเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยาน ถ้าดำเนินการในเมือง
จะต้องสร้างถนนที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน การตีเส้นทำเครื่องหมาย
ต้องติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือกำหนดขอบเขตให้อยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัย
เช่น ที่มหาวิทยาลัยมหิดลหรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มประชากรชาวมหาวิทยาลัยมีความเหมาะสมมากกว่าที่จะแนะนำให้ถีบจักรยานบนถนน
อนึ่ง นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสามารถปลูกกระแสเป็นแบบอย่างได้
ถ้าตระหนักถึงบริบทของจักรยาน

ถ้าจะส่งเสริมเรื่องการขี่จักรยานในชนบท
จะมีข้อแตกต่างจากในเมือง ถ้าบ้านไหนมีจักรยานก็ถีบปร๋อได้เลย

ควรสร้างกระแสให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของการใช้รถจักรยาน ชี้ชวนให้หันมาถีบจักรยานเช่นในอดีต
เรื่องเหล่านี้ไม่ต้องไปสร้างถนนตีเส้นอะไร เน้นกลุ่มผู้สนใจในเบื้องต้น
ขยายผลไปยังเรื่องการประหยัด การลดใช้พลังงาน การออกกำลังกาย
โยงไปถึงเรื่องพึ่งตนเอง จุดเริ่มควรพิจารณาต้นทุนในพื้นที่ ยกตัวอย่างในจังหวัดบุรีรัมย์
มีชมรมนักขี่จักรยานหลายกลุ่ม ถ้าเอากลุ่มเหล่านี้มานำร่องช่วยกันขยายผล
แผนการก็จะเริ่มไต่ต่อแต้มไปได้ไม่ยาก
อาจจะชี้ชวนให้เกิดการรณรงค์ใช้จักรยานในหมู่บ้าน และในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ในพื้นที่นำร่องหรือพื้นที่ๆเหมาะสม

ควรศึกษาวิจัยว่าจะให้จักรยานหวนกลับมาสู่ครัวเรือนในชนบทได้อย่างไร?

ประเด็นจักรยาน
อาจจะนำไปสู่วิธีคิดเกี่ยวกับการผลิตแพทย์พยาบาลเพื่อสนองตอบประชากรในชนบท กระแสเมืองกำลังขยายตัวไปทั่วโลก
ที่กล่าวกันว่าจำนวนประชากรในเมืองจะมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่ากลไกการบริหารเศรษฐกิจและสังคมผิดตัวผิดฝา
ภาคการเกษตรอ่อนแอและอ่อนไหวจนไม่สามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ได้ การบ้านสำหรับชนบทควรเรียงสะท้อนให้เห็นจุดดีที่แตกต่างกว่าเมื่อก่อน
ในระหว่างการศึกษา ถ้าได้นิสิตแพทย์ออกมาจัดค่ายในชนบทเช่นค่ายอาสานักศึกษาในอดีต
จะมีส่วนให้นักศึกษาได้สัมผัสความเป็นชนบทที่เปลี่ยนผ่านมาถึงในปัจจุบัน

วิกฤติจากน้ำท่วมใหญ่คราวที่แล้ว
ทำให้คนในเมืองและผู้คนในชนบทที่เข้าไปทำงานในกรุง เริ่มหวนกลับมาพิจารณาการมาอยู่อาศัยในชนบทมากขึ้น
ปัจจุบันเครื่องอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทาง
ร้านสะดวกซื้อ ทีวี อินเทอร์เน็ต รถทัวร์ รถตู้ เครื่องบิน
อีกหน่อยรถไฟหัวกระสุนก็จะมา ถนน๔เลนเริ่มขยาย
สิ่งเหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขสนองต่อแผนการกระจายตัวของประชากรด้วยหรือไม่

พลังของความเปลี่ยนแปลง
จะเป็นตัวชี้วัดให้แก่สังคม พลังที่ว่านี้จะเอามาเป็นแรงผลักดันนโยบายได้อย่างไร? จากการที่ไปไปพบปะพูดคุยกับนักศึกษาพยาบาลระดับปริญญาโทหลักสูตรการพยาบาลและผดุงครรภ์
ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับข้อเสนอที่น่าสนใจหลายเรื่อง ในการยกร่างแผนฯถ้ามีการถามใจเธอดูก่อนในทุกองค์กรทุกสถาบันที่เกี่ยวข้อง
ว่าเขากำลังเผชิญปัญหาอะไร เขาคิดแก้ไขเรื่องของตนเองอย่างไร เขาขัดข้อง/เขามีข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างไร
ถ้ารับฟังสิ่งเหล่านี้มาประกอบการร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย น่าจะทำให้แผนการต่างๆถูกจุดและสมบูรณ์ขึ้น
จึงควรรวบรวมข้อเสนอมาจากแหล่งต่างๆให้มากที่สุด ถึงจะได้ครอบคลุมทุกประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจ

จะกระจายอำนาจให้เกิดประสิทธิผลต่อการยกระดับวิชาชีพด้านสุขภาพด้วยหลักการและกระบวนการอะไร?

: ประเด็นฝาก ในเมื่อพยาบาลบาลขาดแคลนเป็นจำนวนมาก
รัฐบาลควรลงทุนผลิตพยาบาลเชิงรุก หมายถึงเรื้อโครงสร้างเดิม
แล้วเดินหน้าทุ่มเทงบประมาณให้สถาบันที่เกี่ยวข้องผลิตพยาบาลในอัตราก้าวหน้า โดยตัดยอดหรือเกลี่ยงบประมาณจากหลักสูตรที่สอนด้านสังคมที่ล้นเกิน
เรียนแล้วตกงานสูญเปล่างบประมาณ มาเพิ่มให้หลักสูตรที่มีอนาคตเป็นที่ต้องการทั้งโลก
ไม่ดีกว่าหรือครับ?

โดย : krubasutthinun@gmail.com



Main: 0.036449909210205 sec
Sidebar: 0.060364007949829 sec