อัดรักลงบล็อกอิฐดินซีเมนต์
อัดดินให้เป็นบ้าน
มีคนให้นิยามว่า “บ้านคือวิมานของเรา” มัน ก็อาจจะใช่และไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับว่าเราเกี่ยวข้องกับบ้านดังกล่าวในลักษณะใด คนที่อยู่ห่างไกลบ้านจะมีความรู้สึกลึกซึ้งกับคำว่าบ้านกันทั้งนั้น สมัยก่อนนักเรียนไทยไปอยู่ต่างประเทศ กว่าที่จดหมายจะส่งไปมาหาสู่กันได้ใช้เวลาครึ่งค่อนปี อ่านจดหมายแล้วน้ำตาเปียกเรี่ยราดเชียวแหละ.. ไม่มีจดหมายผิดซองอย่างในสมัยนี้หรอกนะเธอ
บ้านเป็นอัตลักษณ์ประจำชนชาติ บ้านฝรั่งได้รับการยกย่องว่าออกแบบก่อให้อยู่อาศัยถูกใจมากที่สุด ถ้าฟังผิวเผินก็อาจจะใช่ ที่จริงแล้วขึ้นอยู่กับว่าเราจะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไรด้วย อย่างเรือนไทยเราก็มีลักษณะประจำถิ่น เรือนไทยภาคกลางก็อย่างหนึ่ง เรือนไทยอีสาน เรื่องไทยภาคเหนือภาคใต้ ต่างก็มีเอกลักษณ์ที่เป็นจุดพิเศษเฉพาะตัว แต่มาถึงสมัยนี้เงื่อนไขทางด้านสภาพแวดล้อมและจารีตประเพณีเสื่อมมนต์ขลัง เราจึงเห็นเรือนไทยประยุกต์กันดาษดื่น เน้นมาสร้างตึกมากกว่าบ้านไม้ ในเมื่อไม้หายาก ลักลอบตัดกันจนวินาศสันตะโรทั้งประเทศ
วัสดุและเทคโนโลยีจึงเป็นตัวแปรในการกำหนดรูปแบบบ้านใหม่ๆ
ก็เป็นไปตามกฎของการเปลี่ยนแปลงนั่นแหละเธอ
บางทีบ้านก็ไม่สำคัญมากไปกว่า..เราอยู่กับใครในบ้านหลังนั้น
อยู่กับหวานใจในกระต๊อบ อาจจะมีความสุขกว่าอยู่ในคฤหาสน์กับคนหลายใจก็ได้
คำว่า ป ลู ก เ รื อ น ต า ม ใ จ ผู้ อ ยู่ ไ ม่ พ อ ห ร อ ก
ต้องแถมด้วยคำว่าอยู่กับคนที่เราเห็นว่า “ใช่เลย” ใช่ไหมละเธอ
แต่ก็นั่นแหละ ยังมีคำว่า”กัดก้อนเกลือกิน” ให้มาฉุกคิด
คนในยุคหินไม่ต้องสร้างบ้าน เดินไปเจอถ้ำที่ไหนก็เข้าไปจับจองอยู่อาศัย หิวขึ้นมาก็ลากตะบองออกไปวิ่งไล่ทุบหัวสัตว์ แล้วลากเอามาแบ่งปันทำอาหารเลี้ยงดูกัน มนุษย์มีวัฒนาการไม่หยุดนิ่ง เหล็ก/ปูนซีเมนต์/พลาสติกมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง แต่ก็นั่นแหละเธอ..ในโลกนี้ยังมีมนุษย์อาศัยอยู่ในกระต๊อบบ้านดินนับล้านครัวเรือน ถ้ายากเห็นกลุ่มบ้านที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก็ไปดูได้ที่ประเทศอินเดีย ในถิ่นฐานบ้านช่องของชาวชนบทภารตะ ยังปลูกสร้างบ้านด้วยดิน หลังคามุมด้วยใบอ้อยหรือใบมะพร้าว ผมไปมุดเข้าเยี่ยมยาม ยังประทับใจที่เขาอยู่กันเรียบร้อย ไอ่ที่พูดกันว่า..อยู่ติดดินตัวจริงเสียงจริงมันเป็นยังงี้เอง ที่มุมบ้านจะมีเตาดินเผาไว้ก่อไฟหุงหาอาหาร ควันไฟก็จะลอยฟ่องขึ้นไล่แมลง วัว/แพะแกะก็จะผูกลามอยู่ใกล้ๆ รึบางทีกลิ่นเยี่ยวสัตว์เลี้ยงนี่เองที่ไล่ปลวก
ถ้าเมืองไทยเราปลูกบ้านติดดินอย่างนี้
มีหวังโดนกองทัพปลวกแทะจนเละแน่
เรื่องงานช่างงานก่อสร้างผมชอบเป็นชีวิตจิตใจ แต่ก็ไม่ได้เรียนไม่มีความรู้อะไร เป็นที่ชอบๆตามจริตตัวเอง เมื่อ25ปีมาแล้ว ผมอ่านเจอในหนังสือลงข่าวเรื่องเครื่องอัดดินด้วยบล็อกซีเมนต์ จึงได้ไปเสาะหาแหล่งผลิตเครื่องอัดดินดังกล่าว ไปซื้อมาแล้วก็ทดลองอัดดินเป็นก้อนๆ แล้วเอามาทดลองสร้างบ้าน สร้างตึกหลังใหญ่ แล้วก็ใช้อยู่อาศัยมาเท่าทุกวันนี้
ต่อมารัฐบาลจัดต้องกองทุนซิฟ ให้ผู้นำแต่ละชุมชนเสนอของบประมาณมาพัฒนาการเรียนรู้และการสร้างงานสร้าง อาชีพ ผมจึงเขียนของบประมาณซื้อเครื่องอัดดินซีเมนต์แบบไฮโดรลิค ทำให้ได้อิฐบล็อกซีเมนต์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้พัฒนาและเรียนรู้จนทราบว่า ดินแดงที่เราอาศัยอยู่นั้น ขุดแล้วเอามาบดให้ละเอียดผสมกับซีเมนต์ ในอัตรา ดิน3ส่วน ปูนซีเมนต์ 1 ส่วน พรมน้ำให้มีความชื้นเล็กน้อย นำไปเข้าเครื่องอัดออกมาเป็นก้อนๆ นำไปเรียงไว้ในร่มผ่านกรรมวิธีบ่มตามแบบคอนกรีตทั่วไป หลังจากนั้นก็นำไปก่อสร้างบ้านเรือนได้อย่างสบาย
ข้อดีคือของบ้านอิฐดินซีเมนต์
- อิฐพวกนี้ใช้วัสดุจากพื้นที่เราเองในสัดส่วนที่มากกว่าวัสดุอื่น
- ใช้แรงงานในครัวเรือนช่วยกัน/อัด/ก่อ/สร้าง/จนเรียบร้อย
- ไม่ต้องวิ่งเอาเงินไปให้บริษัทรับเหมาก่อสร้าง
- ถ้าเบี้ยน้อยหอยน้อยก็ยังสะสมอัดอิฐฯไว้ล่วงหน้าได้
- ลงแขกช่วยกันสร้างบ้านหมุนเวียนกันได้
- ประหยัดไปต้องเผา ไม่ต้องฉาบ
- ลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการสร้างบ้านรูปแบบอื่นถึง3เท่า
- มั่นคงแข็งแรงแน่นหนา ไม่ต้องกลัวพายุจะมาเขย่าบ้านกระเจิง
- มีคุณสมบัติพิเศษ หน้าหนาวจะอบอุ่น หน้าร้อนจะเย็นสบาย
- อธิบายในมิติของการพึ่งตนเองได้อย่างกระชับ
- ขยายความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเชิงประจักษ์
- ไม่มีหนี้สินรุงรังเหมือนการสร้างบ้านแบบเว่อร์ๆ
ตอนนี้คุณชายกำลังสร้างบ้าน ดังที่ท่านเห็นในคริปวีดีโอ ผมก็มีแผนจะสร้างบ้านรูปโดมกลม8เมตร ถ้ า ที่ รั ก ช่ ว ย กั น ซื้ อ ห นั ง สื อโมเดลบุรีรัมย์มากๆ ผ ม ก็ จ ะ มี ทุ น ส ร้ า ง บ้ า น ใ น ฝั น หนังสือแต่ละเล่มที่ท่านช่วยกันอุดหนุน ร า ย ไ ด้ จ ะ เ ป ลี่ ย น เ ป็ น อิ ฐฯ ล า ย ก้ อ น เ ล ย ล ะ ค รั บ
รึ..ค น ส ว ย จ ะ ม า ช่ ว ย อั ด อิ ฐ ดิ น ซี เ ม น ต์
จะได้อัดความรักความหวานซึ้งลงไปในอิฐแต่ละก่อนด้วย
เมื่อนำไปก่อสร้าง..จะได้นอนมองผนังฝันหวานถึงคนสวยทุกคืน ทุกคืน..ยังไงละครับ!