กรมอนามัยในวัย60ปี

อ่าน: 2532

อนามัยจะไฉไลต้องติดตามอ่านเรื่องนี้

กรมอนามัยไม่ใช่ธรรมดานะเธอ โอ้โห! ก่อตั้งมาจนครบ60ปี บางคนที่อ่านเรื่องนี้ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ คิดดูสิเธอ..ยุคโน้นคนที่อยู่ในแวดวงกรมอนามัยจะเป็นยังไง อาจจะถีบจักรยานขี่เกวียนช้างม้าพายเรือไปทำหน้าที่บริการประชาชนก็ได้ สมัยที่เป็นเด็กๆผมเห็นนางผดุงครรภ์คนเดียวทำหน้าที่ในสุขศาลา ฉีดยูกฉีดยารักษาคนป่วยไข้ได้สารพัดอย่าง เรียกว่าเจ็บป่วยตั้งแต่แรกเกิดจนเข้าโลงนางผดุงครรภ์จัดการให้ได้ แสดงว่าคุณผดุงครรภ์ยกกระทรวงสาธารณสุขมาไว้ในชุมชนไกลปืนเที่ยง ดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยอย่างน่าอัศจรรย์ ทุกครัวเรือนได้พึ่งพาอาศัยความรู้ความสามารถของนักบริหารสุขอนามัยชุมชนครบวงจร ที่เรียกว่านางผดุงครรภ์

ตลอดเวลา60ปี บุคลากรกรมอนามัยเป็นหน่วยจรยุทธที่ตระเวนบำบัดทุกข์บำรุงสุขไม่น้อยหน้าข้าราชการกรมกองไหน การสะสมทักษะเรื่องการบริการสุขภาพของประชาชนนั้นมีความหมายมาก ถ้าจะมีการแกะรอยมาวางแผนพัฒนาการบริหารสุขภาวะอนามัยในปัจจุบัน
บทบาทใหม่ๆที่ชาวอนามัยควรจะระดมพลังให้ท่วงทันกับความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ก็คือการบริการความรู้เชิงรุก เรื่องปลุกกระแสให้ประชาชนมีความรู้ที่จะดูแลตนเอง เรียนรู้ที่จะเข้าใจเข้าถึงการป้องกันและรักษาโรคเบื้องต้น ชี้ชวนให้รักตัวเองใส่ใจในการป้องกันโรคภัยต่างๆ รวมทั้งฝึกฝนทักษะในการดูแลครอบครัวและสังคมรอบข้างด้วย ถ้าไม่ยกระดับความรับผิดชอบและเฉลี่ยบทบาทเรื่องสุขภาวะเชิงรุกแล้ว สภาพการจัดการเรื่องอนามัยชุมชนก็เป็นภาระที่นักอึ้งของชาวอนามัย

ทำอย่างไร? การอนามัยจะมีเจ้าภาพร่วม อบต.อบจ.เทศบาล วัด โรงเรียน กลุ่มจิตอาสา เครือข่ายมูลนิธิ นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม นักพัฒนาสังคม รวมทั้งโครงการเพื่อสังคมต่างๆ จะมายืนเคียงข้าง แล้วร่วมด้วยช่วยกันกับชาวอนามัย ถ้าดึงกลุ่มภาคสังคมมาเป็นเพื่อนได้แล้ว งานบริหารบริการอนามัยในอนาคตก็จะเดินหน้าได้อย่างชื่นมื่น

ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ผมคิดว่าชาวอนามัยก็ได้ทำการบ้านเชิงรุกมาโดยตลอด ศูนย์อนามัยในภูมิภาคต่างๆเป็นตัวแม่ มีศูนย์อนามัยจังหวัด,อำเภอ,ตำบล กระจายดูแลความเป็นไปของสุขภาวะที่นับวันจะมีปัญหาแทรกซ้อนและซับซ้อนมากขึ้น การทำงานเชิงรุก จะช่วยให้งานตั้งรับผ่อนคลายไปได้พอสมควร

ขอบอบคุณพี่สุวรรณ แช่มชูกลิ่น แห่งศูนย์อนามัยที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา
ที่ประสานงานให้ได้ไปเรียนรู้กับชาวอนามัยทั่วราชอาณาจักร
ได้เปิดหูเปิดตาเรื่องอนามัยจนเต็มอิ่ม

ในวาระที่กรมอนามัยจัดประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่5 ประจำปี 2555 : ”กว่าจะถึงวันนี้..60 ปี กรมอนามัย” ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ถ้าใครได้มาเห็นมาร่วมงาน ก็จะทึ่งในพลังของชาวอนามัยและรับทราบบทบาทที่ก้าวหน้าทันต่อเหตุการณ์ บอร์ดงานวิจัย นิทรรศการที่ละลานตา ตำราเอกสารต่างๆมีมาแจกจ่ายเพียบ ของดีๆทั้งนั้นเธอเอ๋ย หอบกลับมานอนอ่านได้ประโยชน์เหลือหลาย งานนี้ผมได้พบจอมยุทธนักบุกเบิกงานด้านนี้ ทั้งที่เป็นบุคลากรในแวดวงอนามัย และเครือข่ายที่ชาวอนามัยไปจีบมาเป็นเพื่อนร่วมทาง เรียกว่าคนดีของดีอยู่ที่ไหนอนามัยไปเต๊าะมาเป็นพันธมิตรจนหมดสิ้น งานประชุมวิชาการคราวนี้Hall 9 จึงแทบโป่ง

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ได้มาประทานรางวัลแก่บุคคลประเทต่างๆ138รางวัล ที่แปลกกว่างานอื่นๆก็คือ รางวัลคุณแม่ดีเด่นด้านการดูแลบุตรด้วยนมแม่จากทั่วประเทศนั้น ได้อุ้มลูกเล็กเด็กแดงมาร่วมงานด้วย ส่วนมากจะเป็นเด็กเล็กอายุ1-2ขวบ คุณสามีจึงต้องติดตามมาด้วยทุกคู่ เพื่อจะช่วยกันดูแลคุณลูกในระหว่างเข้าร่วมพิธี เราประทับใจที่เห็นเด็กๆหัดเดินเต๊าะแตะในระหว่างเตรียมพิธีการรับรางวัล ธรรมชาติของเด็ก.. ถ้าคนหนึ่งร้องคนอื่นๆมักจะร้องตาม มีเสียงเด็กร้องพอๆกับรอยยิ้มของผู้เป็นพ่อแม่
คุณแม่..งัดนมเจ้าเต้า..สดๆปลอดภัยและสะดวกมาลดเสียงร้อง

กรมอนามัยจัดงานคราวนี้นับว่าอลังการมาก แต่ละศูนย์ได้คัดบุคคลและองค์กรต้นแบบด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม, จังหวัดส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุดีเด่น, หน่วยงานดีเด่นด้านน้ำประปาได้มาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภค, องค์กรปกครองท้องถิ่นต้นแบบด้านการจัดการสุขภาบิบาลอาหาร, องค์กรปกครองท้องถิ่นต้นแบบด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ, ครอบครัวต้นแบบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งสิ้น 138 ราย

มาร่วมงานกรมอนามัยเที่ยวนี้ได้รับเอกสาร ได้ความรู้เยอะแยะ เช่น
• อยู่อย่างไรภายใต้มลพิษ ตอน ผักผลไม้ต้านโรคต้านมะเร็ง
• ไม้ประดับดูดสารพิษ
• รู้ไว้เรื่องใกล้ตัว เตรียมตัวเตรียมใจรับภัยน้ำท่วม
• รู้เรื่องใกล้ตัว ทำอย่างไรให้ไกลโรค
• จะท่วมกี่ครั้งก็ยังรับไหว
• รื้อ ล้าง ..หลังน้ำลด
• ทำอย่างไรให้ส้วมสะอาด
• แผนที่..เส้นทางเรียนรู้ ร่วมลดโลกร้อน
งานนี้เจอคุณหมอสุธี เจ้าเก่าจากเทศบาลพิษณุโลกมารับรางวัลด้วย ได้เจอจอมยุทธถั่วงอกที่เคยพาชาวบ้านไปดูงานที่ลพบุรีเมื่อ8ปีที่แล้ว เหมือนสวรรค์จับยัดให้มานั่งลำดับติดกัน คุณนิมิตร์ เทียมมงคล จำได้ทักทายกันชื่นมื่น คุณนิมิตร์ได้มาออกนิทรรศการสาธิตด้วย พบว่ากิจการพัฒนาถั่วงอกระเบิดเทิดเทิงไปไกลมาก มีกรรมวิธีใหม่ๆที่น่าสนใจมากมาย เล่าว่า..ช่วงที่น้ำท่วมใหญ่ก็ได้ตระเวนไปฝึกสอนให้ชาวบ้านเพาะถั่วงอกใส่มาม่า ใช้เวลาเพียง3วันก็มีถั่วงอกสดๆรับประทานกันไม่อั้น
ได้พัฒนาการวิธีเพาะถั่วงอกในขวดพลาสติก
ออกทีวี พิมพ์ตำรา เดินสายอบรมจ้าละหวั่น
เป็นนักสื่อสารสัมพันธ์ชั้นยอด
ใครได้ฟังล้วนประทับใจอ้าปากหวอออออ..
ผมตั้งใจว่ากลับสวนป่าครั้งนี้จะเพาะถั่วงอกในขวดพลาสติกที่ได้รับคำแนะนำทันที ก็ขวดที่ป้าหวานส่งมาให้นั่นแหละเหมาะมาก เพาะถั่วงอกได้ทีละกาละมัง เอาไว้ปรุงอาหารคราที่มีคนมาดูงาน ถ้าจะเพาะถั่วงอกเจี๊ยะกันเองในครอบครัว เพาะด้วยขวดโค๊กลิตรก็พอเพียงแล้วละครับ ชาวมังสะวิรัติควรทดลองดูนะครับ

งานนี้มีของหวานอาหารแห้งอาหารคาวอร่อยๆจากทั่วประเทศ ที่แต่ละศูนย์อนามัยแต่ละเขตส่งมาประชันกัน คุณภาพหายห่วง ผมทั้งซื้อทั้งชิมก็แทบคลานกลับโรงแรม ระหว่างที่เขียนนี้ก็ยังอิ่มแบบอึกทึกอยู่ในท้องนะครับ ในงานนี้มีความรู้เด็ดๆมากมาย ผมเดินไปเจอเรื่องมะเขือพวงอบแห้ง ทำเป็นซองๆแบบซองน้ำชา รับประทานก็แบบชานั่นแหละ วันละซอง
คุณสมบัติแจกแจงว่าไว้ว่า..ช่วยควบคุมโรคเบาหวาน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดแข็งและตีบตัน ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ช่วยระบบขับถ่ายดีขึ้น มีรายละเอียดอธิบายเชิงวิชาการอีกมาก ถ้าดื่มวันละซอง..พบว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี เมื่อรวมกับการปรับพฤติกรรมการบริโภค ลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้อย่างน่าพอใจ อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ ไตพิการ จอตาพิการ ประสาทพิการ โรคที่เท้าและอวัยวะพิการ
มะเขือพวงสมุนไพร1ซอง ดื่มง่ายเพียงแช่ในน้ำร้อน (ชงได้ 3-4ถ้วย)
ชนิดซองนี้เหมาะกับคนที่ไม่ชอบรับประทานมะเขือพวงสด
ที่สวนป่าไม่เสียเวลามาชงหรอกนะครับ
เก็บมาปรุงอาหารทีละตะกร้า เบาหวานที่ไหนจะกล้ามาวอแว
แต่ยังงั้นก็เถอะ ผมจะปลูกมะเขือพวงเยอะ แล้วจะทดลองทำชามะเขือพวง
อ้อ งานนี้ซื้อมะอึกมาด้วย จะเอาเมล็ดไว้เพาะน่ะครับ

ยังไม่จบง่ายๆหรอกเธอ งานนี้เดินไปสะดุดเรื่องเด็ดอีก โอ้แม่เจ้า ..เรืองผักโขมจีน (Chinese Spinach) ของชอบที่ผมรับประทานแทบทุกวัน งานนี้มีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตสมุนไพร บ้านเกาะลอย จังหวัดจันทบุรี ได้ผลิตผักโขมผงใส่ซองอย่างดรจำหน่าย สรรพคุณคับซองอีกแล้วละเธอ ..เป็นแหล่งวิตามินเอ วิตามินซี กรดอะมิโน สารต้านอนุมูลอิสระ และสารอื่นๆฯลฯ เป็นผักบำรุงน้ำนม ธาตุเหล็กทำให้สมองตื่นตัว มีสารเบต้าแคโรทีนสูง มีทั้งลูทีน และเซอักแซนทีน ซึ่งเป็นสารแคโรทีนอยด์ สารเหล่านี้ช่วยชะลอความเสื่อมของดวงตา ลดความเสี่ยงจากจอตาเสื่อม และการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ และยังมีสาร ซาโปนิน ช่วยลดคอลเลสเทอรอลในเลือดได้อีกด้วย มีเส้นใยอาหารมาก ช่วยระบบขับถ่ายได้ดีอีกต่างหาก ผักโขมจีนผง เหมาะกับคนไม่ชอบรับประทานผัก สามารถเอามาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น
• ใช้ผักโขมจีนผง2ช้อนชา ต่อไข่3ฟอง ผสมทำไข่เจียวไข่ตุน
• ผสมในเนื้อสัตว์ บด-สับ ประกอบอาหารเช่น ต้ม ทอด ผัด
• เติมต้มจืด ซุป ข้าวต้ม โจ๊ก ผัดต่างๆ บะหมี่สำเร็จรูป
• ผสมในขนม เช่น คุกกี้ พาย ขนมอบต่างๆ

เรื่องผักโขมจีนนี่นะเธอ ที่สวนป่าเกิดเองก็มี หว่านเมล็ดสายพันธุ์ใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ เป็นผักที่ปลูกง่าย โตเร็ว ผมชอบรับประทานอยู่แล้ว ตัดเอาส่วนยอดอ่อนมาปรุงน้ำซุป ผัด แกงจืด ไม่มากไม่น้อย..ตัดมาทีละตะกร้า ยิ่งตัดก็ยิ่งแตกยอดใหม่ๆอ่อนๆมา แต่แนวคิดเรื่องทำเป็นผงก็มีนะครับ
เอาไว้คุณชายทำโรงอบผักพลังงานแสงอาทิตย์ให้เมื่อไหร่?
ผมจะอบผักโขมจีนแห้งวันละรถสิบล้อให้ดู
เ ล็ ก ๆ ไ ม่ ใ ห ญ่ ๆ . . ช อ บ ค รั บ
อิ อิ..


ตื่นมาทักนกฮูก

อ่าน: 2692

ยามดึกสงัดเยี่ยงนี้ หลายคนยังทำงานทำหน้าที่กะย่ำรุ่ง แต่ผมไม่มีหน้าที่อะไรกับเขาหรอกนะครับ ที่ชอบตื่นมาช่วงนี้เพราะเป็นนิสัยเสียแล้ว ถึงเวลาก็จะตื่นอัตโนมัติ จะนอนต่ออย่างไรก็ไม่หลับ ด้วยว่ามันเป็นความเคยชิน ชอบช่วงเวลาที่สงบสงัดลมพัดเย็น มีเสียงแมลงกลางคืนเห่กล่อมระงม เหมาะที่จะนั่งเขียนโน่นนี้ แล้วมันก็วิเศษมากที่ยุคสมัยนี้เราสามารถติดต่อ หรือทราบว่านกฮูกเพื่อนเราก็ตื่นมาเหมือนกัน ทักทายกันได้ ถึงจะอยู่กันคนละโค้งฟ้า เราหลบความชุลมุนตอนกลางวัน มาสังสรรค์กันยามน้ำค้างพร่างพรม

นกฮูกเอ๋ย นางสาวธาลัสซีเมีย เธอบอกว่า ร่างกายเป็นที่อยู่อาศัยของโรคนานัปการ เป็นชุมนุนของยุ่งเหยิงและความเสื่อม ความสดสวยใดๆไม่ได้คงทนยั่งยืนอะไร ถ้าไปหมกมุ่นมากเราก็จะเสียเวลาให้กับความฉาบฉวยชั่วคราว เอาแค่แต่งให้ดูดีเรียบร้อยพอไปวัดไปวา ถ้าถลำเวลาให้

จนเกินควร เราก็จะเสียเวลาไปแสวงหาความสวยความสุขภายใน
สรุปง่ายๆว่าถ้าเราจิตใจดีระบายยิ้มอย่างธรรมชาติ
เราก็สวยได้โดยไม่ต้องไปเข้าร้านเสริมสวยเป็นประจำ
เข้าร้านบ้างตอนที่ความสวยชำรุด..ไม่ว่ากันอยู่แล้ว
แต่อย่าลืม ฝึกหักขยับความสวยจากภายในออกบนใบหน้า
หู ตา คอ จมูก ปาก ฝึกให้รับส่งความสุขได้
แต่ถ้าไม่ฝึกก็จะไปทำอีกแบบ ..รับความทุกข์เข้ามา

มีหลายคนอยากจะมาสวนป่า บอกว่ามาเพื่อจะเรียนรู้ตนเอง ก็เรียนเรื่องเบื้องต้นตรงจุดนี้ก่อน การจัดการกับตัวเองไม่ต้องไปรอขออนุมัติใคร ตั้งใจจะทำการบ้านทำวิทยานิพนธ์ก็เทใจทำเสียเลย อยู่สวนป่าไม่มีอะไรวอกแวก ไม่มีลิงหลอกเจ้า มีแต่กระแตวิ่งไต่ตามราวไม้

เรื่องของกระแตมันมีที่ไปที่มาอย่างนี้ครับ เป้าหมายของสวนป่าก็คือ อยากจะเรียกความเป็นป่าเป็นธรรมชาติกลับคืนมา หลังจากที่เราทำลายสภาพของป่าเสียหายยับเยิน เราก็ต้องมาเรียนรู้วิธีที่จะเรียกสิ่งที่สูญเสียกลับคืนมา ตรงจุดนี้ถึงจะยากและใช้เวลา แต่ก็ยังดีกว่าอาการอกหัก หักแล้วหักเลย เรียกคืนยากมาก อิ อิ..

เรายังสามารถเรียกสัตว์ป่า นก ต้นไม้ใบหญ้า น้ำหมอกน้ำค้าง ปลูกต้นไม้ผลิตออกซิเจน ทะนุบำรุงจุลินทรีย์ ปลูกโน่นนี่ ไม่นานหรอกจะออกผลหลุนตุบตับ ถ้าเธอมาตอนนี้ จะเห็นพริก มะเขือ ผัก น้ำเต้าโตงเตง ออกอัญชันบานสวยเต็มค้าง มะกรูดลูกโตๆหล่นเต็มพื้น ความรู้แค่หางอึ่งไม่รู้จะทำอะไรได้ เดินไปเก็บมาวันละตะกร้า เอามาผ่าครึ่งเอาน้ำมะกรูดสดๆมาบีบตอนอาบน้ำในอ่างสปาแบบบ้านนอก หอมฉุยไปทั้งป่า เมล็ดที่โยนไว้รอบๆก็เกิดต้นเล็กๆ ฝนหน้ามาก็ขุดย้ายไปปลูก ไม่นานหรอกก็จะมีป่ามะกรูดรอบบ้าน นี่เล่าย่นย่อเรื่องมะกรูดนะเธอ

ยังมีเรื่องง่ายๆพื้นๆอีกเยอะ
เช่น เมื่อเย็นนี้ไปเห็นดอกอัญชันบานมากมาย
ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร..
เดินไปเด็ดแล้วนำมาล้างเอามาจิ้มน้ำพริกปลาทูนี่ละวะ
อร่อยใช้ได้เชียวแหละ 3 ดอก/คำ ..กินยังไงก็ไม่หมด
เหลือพะเรอ..กินทิ้งกินขว้าง
ไปประชุม เขาเอาน้ำอัญชันมาเลี้ยง
คนกรุงแค่ได้จิบจิ๊บๆจ้อยๆ คนบ้านนอกสวาปามทีละตะกร้า

ผมพยายามเติมความเป็นธรรมชาติให้กลับคืนมา สัตว์ป่าหายไปเพราะยาฆ่าแมลง พรรณพืชสูญหายไปเพราะสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลาย ยับเยินเพราะกิเลศและความรู้ผิดๆของมนุษย์ วิชาความรู้ที่ก๋าๆกันอยู่นั่น..อันตรายนัก ไม่อย่างงั้นสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราไม่พิกลพิการขนาดนี้หรอกนะเธอ เจริญแบบไหนทำไมมลภาวะปนเปื้อนทั้งภายนอกภายในมากมายเช่นนี้ ข้างนอกกายก็แย่ ข้างในใจก็เน่า คิดและทำแต่เรื่องกำมะลอทั้งนั้น ไอ่บางคนบ้าพระ ไอ่บางคนบ้าหวย ไอ่บางคนบ้าแต่งรถ ไอ่บางคนบ้าอำนาจ ไอ่บางคนไม่บ้าก็กินยาให้บ้าๆๆๆ

เรามาทำความเข้าใจกันดีไหม?
โลกใบนี้ไม่มีใครสามารถยึดครองเป็นของใครได้
ไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของได้
เรามาพำนักอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
เป็นเวทีให้แสดงละครชีวิตระยะหนึ่ง
มาแล้วก็จากไป..คนแล้วคนเล่า

ไม่เห็นใครขนเอาสมบัติบ้าอะไรติดตัวไปได้ แต่คนเราก็หมกมุ่นเสียเวลาอยู่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง แทนที่เกิดมาจะได้เรียนรู้วิธีใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีความหมาย ก็ตะแรดแต๊ดแต๋ไม่บันยะบันยัง ถ้าฉุกคิดเรื่องหน้าที่มนุษย์ อยู่อย่างตระหนัก..ช่วยกันรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง เราจะไม่หลงมุม ไม่งงงันกับพฤติกรรมของตนเอง ที่ ว้ า วุ่ น อ ยู่ กั บ สิ่ ง เ ส มื อ น จ ริ ง
เฮ้อ..ไม่อยากจะคุยเยาะพวกที่ขาดแคลนทุกอย่าง แต่จีบปากจีบคอบอกว่า..ตัวเองอยู่ในถิ่นเจริญ เจริญตรงไหนกัน ถนนหนทางก็ลำบาก มีไฟแดงคอยขืนใจ ทางเดินก็สับสนชุลมุน อากาศก็เน่า ฝุ่นก็แยะ แย่งกันอยู่แย่งกันกิน บางคนต้องไปอยู่ตึกสูงๆเหมือนรังนกกระจอก ห่างไกลจากธรรมชาติ มีชีวิตแบบบ้าๆแล้วยังมาอวดว่าตัวเองเจริญ เจริญเสียให้เข็ด

ไม่มีผีที่ไหนหรอกนะเธอ เราหลอกตัวเอง และหลอกกันเอง
ลองอยู่กับความจริงดีไหมที่รัก
ลดละเครื่องปรุงแต่งที่แบกไว้จนหนักอึ้ง
สังขารไม่เที่ยง ไม่มีอะไรถาวร มีแต่เสื่อมไปทุกวัน
ยิ้มได้ก็ไม่ยิ้ม คอมเมนท์ได้ก็ไม่คอมเมนท์
แล้วอย่างนี้..จะสอบผ่านบทที่1 ไปได้จะได๋เล่าคนสวย

วั น นี้ ต้ อ ง ไ ป เ ผ ชิ ญ ค ว า ม เ สื่ อ ม ที่ ถู ก อุ ป โ ห ล ก ว่ า เ จ ริ ญ
บ่ายวันนี้จะได้ชมงานศิลปะเพื่อแผ่นดินที่พระที่นั่งอนันตสมาคม
วั น พ รุ่ ง นี้ ไ ป ร่ ว ม ง า น ก ร ม อ น า มั ย ที่ เ มื อ ง ท อ ง ธ า นี
คนเรานี่นะเธอ หนีไม่ออกหรอก
ตกอยู่ในกฎเกณฑ์ของสังคมทั้งนั้น
คุณภาพของสังคมเป็นอย่างไร
เราก็ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้สังคมนั้นๆ
สังคมจะดีได้ ประชาคมในสังคมนั้นๆจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี
คุณภาพชีวิตที่ดีไม่มีวางขายตามห้างเซเว่นหรอกนะเธอ
ถ้าอยากได้..ก็ต้องช่วยกันคิดและทำขึ้นมา
ถ้าคิดไม่ออก ก็คอมเมนท์แล้วจะบอก
บอกว่ายังไงรึ
ข้อยจะบอกว่า ข้อยก็บ่ฮู้เหมือนกัน
เรื่องของสังคม มันต้องออกมาจากกระบวนการของสังคม
กระบวนการทางสังคมเป็นอย่างไร?
คนสวยต้องคอมเมนท์ ถึงจะบอก
จะบอกว่า ข้อยก็บ่ฮู้เหมือนกัน
มันต้องลงขันความรู้ความรักความคิด
เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้
สังคมอุดมปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
คนสวยต้องคอมเมนท์ก่อนถึงจะบอก
จะบอกว่า ข้อยก็บ่ฮู้เหมือนกัน

• ถ้าไม่คอมเมนท์ เธอก็จะอยู่ในระดับรับรู้
• ถ้าคอมเมนท์ เธอก็จะไต่ระดับขึ้นไปอยู่ในระดับเรียนรู้
• ถ้าเขียนบันทึกเล่าเรื่องราว เธอก็จะเขยื้อนไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
• ถ้าเธอให้ความเห็นชี้แนะชี้นำ เธอก็จะมีชีวิตอย่างผู้ใช้ความรู้
• ถ้าสร้างกลุ่มเพื่อนลงขันความคิดความรู้ เธอก็จะเป็นผู้สร้างกระบวนการจัดการความรู้


อยู่แบบแบกะดิน

อ่าน: 2707

วันนี้มีเรื่องสนุกๆให้ทำเยอะ นัดคนงานมาสะสางเรื่องที่ตกค้าง ไม่มีเป้าหมายชัดเจน เอาไว้เห็นหน้าค่าตาถึงจะนึกออกว่าจะให้ทำอะไร จัดเป็นวันปล่อยสบายๆ แต่คนงานเขาไม่หยุดนิ่งหรอกนะครับ น้าสุขแกเอาลูกฝรั่งสุกติดมือมาด้วย บอกว่าจะหาทางลดจำนวนกระแตให้ หมู่นี้มันขยายพันธุ์เต็มสวน เที่ยวเกะกะระรานผักผลไม้จนเสียหาย เรื่องอย่างนี้คนพื้นถิ่นเรารู้วิธีดีกว่าเรา
น้าสุขแกเล่าให้ฟังว่าแกเคยมีอาชีพตัดผม ขับรถบรรทุก ทำสวน ทำนา เป็นช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ตัดไม้แปรรูปไม้ เท่าที่ใช้ไหว้วานให้ทำอะไรแกทำได้หมด และก็ทำอย่างทุ่มเทเต็มสติกำลังเสียด้วย ช่วงนี้ผมบนศีรษะถึงคราจะต้องตัดได้แล้ว ก็เลยอยากประลองฝีมือน้าสุข ให้น้าดีแฟนแกไปบอกว่าครูบาอยากจะตัดผม ขอให้แกบึ่งรถกลับไปเอาเครื่องมือกัลบกมา

ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงอุปกรณ์ตัดผมก็พร้อม
แกจับผมนั่งเก้าอี้ใต้ร่มไม้
ต่อปลักไฟฟ้ามาเสียบกับกรรไกร
เตรียมผ้ามาคลุมกันเปื้อนด้วยน๊ะ
หลังจากนั้นก็จัดการตามกรรมวิธีของช่างตัดผม
คุณชายยังเอาไปโพสรูปตั้งชื่อให้ว่า “ร้านลมโชยเกศา”

ระหว่างนั้นผมก็ซักไซ้ไล่เลียงถึงที่ไปที่มาของการเป็นช่างตัดผม แกเล่าช่วงนั้นแกขับรถบรรทุกอ้อย ขับไปขับมาก็เบื่อ จึงจ้างคนอื่นไปขับแทน ส่วนแกหันมาฝึกเป็นช่างตัดผม เพราะมีความสนใจและรู้จักช่างตัดผมเป็นการส่วนตัว แกเล่าว่าฝึกอยู่7วัน เสียค่ายกครู1,400 บาท หลังจากนั้นก็ร้อนวิชา ขับรถไปตามหมู่บ้าน ตัดผมให้เด็กๆและคนในหมู่บ้าน ช่วงแรกๆคิดค่าตัดหัวละ10บาท ต่อมาก็ขยับขึ้นราคา30บาท ถ้าเข้ามาตัดในตัวอำเภอคิดหัวละ 50 บาท ถ้าไปตัดที่ชายหาดพัทยา แกคิดหัวละ80-100บาท

แกเล่าว่าเป็นรายได้เสริมที่ดี
อาชีพนี้มีเคยตกงาน
คนๆหนึ่งตัดผมเดือนละครั้ง
ตัดไปตัดมาก็เป็นเจ้าประจำกัน

ปัจจุบันถ้าไม่ได้ไปทำงานนอกบ้าน ก็จะมีขาประจำมาให้ตัดที่บ้านทุกวัน เช้าตัด2-3คน ตอนบ่ายๆตัดอีก 2-3 คน แค่นี้ก็ได้ค่ากับข้าวและค่าน้ำเปลี่ยนนิสัย ถามว่ามีคนสืบทอดอาชีพนี้ไหม แกบอกว่า..ไม่มีใครสนใจ ลูกหลานเขาก็ไม่เรียนไม่เอา ทั้งๆที่เป็นความรู้ติดตัวที่ช่วยแก้ขัดยามตกทุกข์ได้ยากเป็นอย่างดี ตอนบ่ายผมชวนแกแก้ไขน้ำบาดาล ต่อท่อลงไปอีกท่อนหนึ่งลึก6เมตร จะได้ตั้งโปรแกรมสูบน้ำอัตโนมัติ เพราะดูทีท่าแล้วปีนี้น่าจะแล้งนาล่มอีก จึงเตรียมการเรื่องระบบน้ำไว้แต่เนิ่นๆ หลังจากช่วยกันแก้ไขประมาณ2ชั่วโมงก็เรียบร้อย เก็บอุปกรณ์เข้าโกดังแล้ว น้าสุขแกก็

ไปแว๊บไปดูกับดักกระแต
กระแต2ตัวติดกับดัก
เพราะชอบกินฝรั่งสุก
แกบอกว่า ถ้าเอาหัวมันสำปะหลังปอกเปลือกไปล่อ
อาจจะได้ทั้งหนูทั้งกระแต

ตอนเย็นผมลงอ่างอาบน้ำกลางแจ้งตามเคย เอาลูกมะกรูดที่หล่นเกลือนกราดมาผ่าครึ่งถูตัวและสระผม ร้อนๆอย่างนี้แช่นานๆชื่นสะดือเลยละครับ น้ำมะกรูดที่ถูตัวละลายลงไปในน้ำอ่างออกสีขาวๆ ตอนลุกจากอ่างต้องไปอาบน้ำสะอาดอีกที รู้สึกเนื้อตัวเกลี้ยงเกลา มีกลิ่นสะอาดติดตัว ถึงไม่ประแป้งก็หอม อิ อิ..
โฉมยงถามว่ามือเย็นจะเจี๊ยะอะไร
เลยชวนตำน้ำพริกปลาทูทดลองใช้พริกขาวหอมแทนพริกหนุ่ม

ผมอาสาเก็บผัก เด็ดมะเขือเปราะสีม่วง 4 ลูก เก็บดอกอัญชัน 100 ดอก เด็ดสลัดมา4ต้น แถมยอดกระถิ่นอีกกำหนึ่ง รับประทานร่วมกับน้ำซุปผัก แค่นี้ก็อิ่มจนอืดแล้วละครับ ยังมีน้ำเสาวรสสดคั้นอีกเหยือกหนึ่ง ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ท้องไม่มีช่องว่างเสียแล้ว กะว่าจะอ่านหนังสือที่คุณชายเอามาให้2เล่ม เปิดดูแล้วแทบวางไม่ลง คงจะเอาติดมือไปอ่านบนรถตู้ตอนเข้าลางกอกวันพรุ่งนี้เช้า
เป็นหนังสือแปลทั้งคู่

เล่มแรกชื่อ “บทเรียนชีวิตที่จิตแพทย์อยากบอกให้โลกรู้”
THE ROAD LESS TRAVELED
โดย นายแพทย์ เอ็ม.สก็อต เปค วิทยากร เชียงกูล แปล
อีกเล่มหนึ่งชื่อ ล่มสลาย COLLAPSE ไขปริศนาความล่มจมของสังคมและอารยธรรม เขียนโดย Jared Diamond อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ แปล

เป็นหนังสือเล่มหนาที่อัดความอยากรู้อยากเห็นของเราจะล้นปรี่ ยุคนี้มีวี่แววความล่มสลายคุกคามรอบด้านด้วยสิเธอ จะเป็นตายร้ายดียังไงก็ไม่รู้ เอาเป็นว่าอ่านสิ่งที่ผู้รู้เขาค้นคว้ามาให้เราอ่านไปพลางๆ ดีกว่านั่งทอดหุ่ยหายใจทิ้งใช่ไหมละเธอ อย่างน้อยๆถ้าไม่อ่านหนังสือ มาอ่านบทความแล้วคอมเมนท์ให้กันบ้าง ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้มีน้ำใจ น่ารักน่าชังอยู่ไม่เว้นวาย ใช่ไหมละเธอ


ส่งการบ้าน

อ่าน: 1586

เรียนคุณ
ศิริเพ็ญ ก่องแก้วรัศมี

E-mail:
siriphen@nationalhealth.or.th

ตามที่คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นเพื่อพัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย
ประเด็นการปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ จัดประชุมฯดังเป็นที่ทราบอยู่แล้วนั้น

ผมมีความเห็นดังต่อไปนี้


ประเด็นเชิงนโยบาย ควรคำนึงถึงศักยภาพของผู้รับสนองนโยบายด้วย ถ้านโยบายดีแต่ผู้รับไปปฏิบัติมีข้อจำกัด
ไม่มีความพร้อม มีเงื่อนไขเฉพาะส่วนองค์กร จะทำอย่างไรให้แผนงานเหล่านี้ได้การยอมรับ
จุดพอดีพอเหมาะของนโยบายที่มีความเป็นไปได้เป็นอย่างไร?

ถ้าจะเตรียมความพร้อมเฉพาะเครื่องส่ง
แต่เครื่องรับไม่มีประสิทธิภาพ ยังติดขัดเงื่อนไขต่างๆ
จะพิจารณาในประเด็นนี้อย่างไร ความพร้อมของรัฐบาล ความพร้อมของงบประมาณ กลไกภายในของแต่ละสถาบัน
มีศักยภาพพร้อมที่จะดำเนินงานได้ในระดับใดด้วยหรือไม่

ถ้าไม่พร้อม
มีวิธีทำงานบนฐานความไม่พร้อมอย่างไร?

เท่าที่สอบถามภายนอก
ประเด็นผลประโยชน์ที่จะเปลี่ยนแปลงดูจะเป็นยาขมหม้อใหญ่
แต่ถ้าอธิบายให้เห็นเหตุผลข้อดีข้อด้อยให้กระจ่าง จะทำให้เกิดการยอมรับ แนวทางการแสวงหาความร่มมือและการยอมรับเป็นอย่างไร


ประเด็นของอาเซียน จะมีน้ำหนักต่อการยกร่างนโยบายการปฏิรูปวิชาชีพด้านสุขภาพอย่างไร
ในแง่ของข้อดีและข้อด้อยจะมีผลต่อการกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่
ในแง่บวกในแง่ลบควรเอามาเป็นประเด็นแวดล้อมด้วยหรือไม่ เช่น การคาดการณ์กรณีสมองไหลจะเป็นไปในทิศทางที่เกิดปรากฎการณ์ใหม่ๆด้วยหรือไม่


ประเด็นเรื่องความแตกต่างในเมืองกับชนบท ที่บางกรณีมีการจัดการไม่เหมือนกัน
ยกตัวอย่างเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยาน ถ้าดำเนินการในเมือง
จะต้องสร้างถนนที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน การตีเส้นทำเครื่องหมาย
ต้องติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือกำหนดขอบเขตให้อยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัย
เช่น ที่มหาวิทยาลัยมหิดลหรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มประชากรชาวมหาวิทยาลัยมีความเหมาะสมมากกว่าที่จะแนะนำให้ถีบจักรยานบนถนน
อนึ่ง นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสามารถปลูกกระแสเป็นแบบอย่างได้
ถ้าตระหนักถึงบริบทของจักรยาน

ถ้าจะส่งเสริมเรื่องการขี่จักรยานในชนบท
จะมีข้อแตกต่างจากในเมือง ถ้าบ้านไหนมีจักรยานก็ถีบปร๋อได้เลย

ควรสร้างกระแสให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของการใช้รถจักรยาน ชี้ชวนให้หันมาถีบจักรยานเช่นในอดีต
เรื่องเหล่านี้ไม่ต้องไปสร้างถนนตีเส้นอะไร เน้นกลุ่มผู้สนใจในเบื้องต้น
ขยายผลไปยังเรื่องการประหยัด การลดใช้พลังงาน การออกกำลังกาย
โยงไปถึงเรื่องพึ่งตนเอง จุดเริ่มควรพิจารณาต้นทุนในพื้นที่ ยกตัวอย่างในจังหวัดบุรีรัมย์
มีชมรมนักขี่จักรยานหลายกลุ่ม ถ้าเอากลุ่มเหล่านี้มานำร่องช่วยกันขยายผล
แผนการก็จะเริ่มไต่ต่อแต้มไปได้ไม่ยาก
อาจจะชี้ชวนให้เกิดการรณรงค์ใช้จักรยานในหมู่บ้าน และในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ในพื้นที่นำร่องหรือพื้นที่ๆเหมาะสม

ควรศึกษาวิจัยว่าจะให้จักรยานหวนกลับมาสู่ครัวเรือนในชนบทได้อย่างไร?

ประเด็นจักรยาน
อาจจะนำไปสู่วิธีคิดเกี่ยวกับการผลิตแพทย์พยาบาลเพื่อสนองตอบประชากรในชนบท กระแสเมืองกำลังขยายตัวไปทั่วโลก
ที่กล่าวกันว่าจำนวนประชากรในเมืองจะมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่ากลไกการบริหารเศรษฐกิจและสังคมผิดตัวผิดฝา
ภาคการเกษตรอ่อนแอและอ่อนไหวจนไม่สามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ได้ การบ้านสำหรับชนบทควรเรียงสะท้อนให้เห็นจุดดีที่แตกต่างกว่าเมื่อก่อน
ในระหว่างการศึกษา ถ้าได้นิสิตแพทย์ออกมาจัดค่ายในชนบทเช่นค่ายอาสานักศึกษาในอดีต
จะมีส่วนให้นักศึกษาได้สัมผัสความเป็นชนบทที่เปลี่ยนผ่านมาถึงในปัจจุบัน

วิกฤติจากน้ำท่วมใหญ่คราวที่แล้ว
ทำให้คนในเมืองและผู้คนในชนบทที่เข้าไปทำงานในกรุง เริ่มหวนกลับมาพิจารณาการมาอยู่อาศัยในชนบทมากขึ้น
ปัจจุบันเครื่องอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทาง
ร้านสะดวกซื้อ ทีวี อินเทอร์เน็ต รถทัวร์ รถตู้ เครื่องบิน
อีกหน่อยรถไฟหัวกระสุนก็จะมา ถนน๔เลนเริ่มขยาย
สิ่งเหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขสนองต่อแผนการกระจายตัวของประชากรด้วยหรือไม่

พลังของความเปลี่ยนแปลง
จะเป็นตัวชี้วัดให้แก่สังคม พลังที่ว่านี้จะเอามาเป็นแรงผลักดันนโยบายได้อย่างไร? จากการที่ไปไปพบปะพูดคุยกับนักศึกษาพยาบาลระดับปริญญาโทหลักสูตรการพยาบาลและผดุงครรภ์
ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับข้อเสนอที่น่าสนใจหลายเรื่อง ในการยกร่างแผนฯถ้ามีการถามใจเธอดูก่อนในทุกองค์กรทุกสถาบันที่เกี่ยวข้อง
ว่าเขากำลังเผชิญปัญหาอะไร เขาคิดแก้ไขเรื่องของตนเองอย่างไร เขาขัดข้อง/เขามีข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างไร
ถ้ารับฟังสิ่งเหล่านี้มาประกอบการร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย น่าจะทำให้แผนการต่างๆถูกจุดและสมบูรณ์ขึ้น
จึงควรรวบรวมข้อเสนอมาจากแหล่งต่างๆให้มากที่สุด ถึงจะได้ครอบคลุมทุกประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจ

จะกระจายอำนาจให้เกิดประสิทธิผลต่อการยกระดับวิชาชีพด้านสุขภาพด้วยหลักการและกระบวนการอะไร?

: ประเด็นฝาก ในเมื่อพยาบาลบาลขาดแคลนเป็นจำนวนมาก
รัฐบาลควรลงทุนผลิตพยาบาลเชิงรุก หมายถึงเรื้อโครงสร้างเดิม
แล้วเดินหน้าทุ่มเทงบประมาณให้สถาบันที่เกี่ยวข้องผลิตพยาบาลในอัตราก้าวหน้า โดยตัดยอดหรือเกลี่ยงบประมาณจากหลักสูตรที่สอนด้านสังคมที่ล้นเกิน
เรียนแล้วตกงานสูญเปล่างบประมาณ มาเพิ่มให้หลักสูตรที่มีอนาคตเป็นที่ต้องการทั้งโลก
ไม่ดีกว่าหรือครับ?

โดย : krubasutthinun@gmail.com


อัดรักลงบล็อกอิฐดินซีเมนต์

อ่าน: 3140

อัดดินให้เป็นบ้าน

มีคนให้นิยามว่า  “บ้านคือวิมานของเรา” มัน ก็อาจจะใช่และไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับว่าเราเกี่ยวข้องกับบ้านดังกล่าวในลักษณะใด คนที่อยู่ห่างไกลบ้านจะมีความรู้สึกลึกซึ้งกับคำว่าบ้านกันทั้งนั้น สมัยก่อนนักเรียนไทยไปอยู่ต่างประเทศ กว่าที่จดหมายจะส่งไปมาหาสู่กันได้ใช้เวลาครึ่งค่อนปี อ่านจดหมายแล้วน้ำตาเปียกเรี่ยราดเชียวแหละ..  ไม่มีจดหมายผิดซองอย่างในสมัยนี้หรอกนะเธอ

บ้านเป็นอัตลักษณ์ประจำชนชาติ บ้านฝรั่งได้รับการยกย่องว่าออกแบบก่อให้อยู่อาศัยถูกใจมากที่สุด ถ้าฟังผิวเผินก็อาจจะใช่ ที่จริงแล้วขึ้นอยู่กับว่าเราจะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไรด้วย อย่างเรือนไทยเราก็มีลักษณะประจำถิ่น เรือนไทยภาคกลางก็อย่างหนึ่ง เรือนไทยอีสาน เรื่องไทยภาคเหนือภาคใต้ ต่างก็มีเอกลักษณ์ที่เป็นจุดพิเศษเฉพาะตัว  แต่มาถึงสมัยนี้เงื่อนไขทางด้านสภาพแวดล้อมและจารีตประเพณีเสื่อมมนต์ขลัง เราจึงเห็นเรือนไทยประยุกต์กันดาษดื่น เน้นมาสร้างตึกมากกว่าบ้านไม้ ในเมื่อไม้หายาก ลักลอบตัดกันจนวินาศสันตะโรทั้งประเทศ

วัสดุและเทคโนโลยีจึงเป็นตัวแปรในการกำหนดรูปแบบบ้านใหม่ๆ

ก็เป็นไปตามกฎของการเปลี่ยนแปลงนั่นแหละเธอ

บางทีบ้านก็ไม่สำคัญมากไปกว่า..เราอยู่กับใครในบ้านหลังนั้น

อยู่กับหวานใจในกระต๊อบ อาจจะมีความสุขกว่าอยู่ในคฤหาสน์กับคนหลายใจก็ได้

คำว่า ป ลู ก เ รื อ น ต า ม ใ จ ผู้ อ ยู่ ไ ม่ พ อ ห ร อ ก

ต้องแถมด้วยคำว่าอยู่กับคนที่เราเห็นว่า ใช่เลย ใช่ไหมละเธอ

แต่ก็นั่นแหละ ยังมีคำว่ากัดก้อนเกลือกิน ให้มาฉุกคิด

คนในยุคหินไม่ต้องสร้างบ้าน เดินไปเจอถ้ำที่ไหนก็เข้าไปจับจองอยู่อาศัย หิวขึ้นมาก็ลากตะบองออกไปวิ่งไล่ทุบหัวสัตว์ แล้วลากเอามาแบ่งปันทำอาหารเลี้ยงดูกัน มนุษย์มีวัฒนาการไม่หยุดนิ่ง เหล็ก/ปูนซีเมนต์/พลาสติกมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง แต่ก็นั่นแหละเธอ..ในโลกนี้ยังมีมนุษย์อาศัยอยู่ในกระต๊อบบ้านดินนับล้านครัวเรือน ถ้ายากเห็นกลุ่มบ้านที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก็ไปดูได้ที่ประเทศอินเดีย ในถิ่นฐานบ้านช่องของชาวชนบทภารตะ ยังปลูกสร้างบ้านด้วยดิน หลังคามุมด้วยใบอ้อยหรือใบมะพร้าว ผมไปมุดเข้าเยี่ยมยาม ยังประทับใจที่เขาอยู่กันเรียบร้อย ไอ่ที่พูดกันว่า..อยู่ติดดินตัวจริงเสียงจริงมันเป็นยังงี้เอง ที่มุมบ้านจะมีเตาดินเผาไว้ก่อไฟหุงหาอาหาร ควันไฟก็จะลอยฟ่องขึ้นไล่แมลง วัว/แพะแกะก็จะผูกลามอยู่ใกล้ๆ รึบางทีกลิ่นเยี่ยวสัตว์เลี้ยงนี่เองที่ไล่ปลวก

ถ้าเมืองไทยเราปลูกบ้านติดดินอย่างนี้

มีหวังโดนกองทัพปลวกแทะจนเละแน่

เรื่องงานช่างงานก่อสร้างผมชอบเป็นชีวิตจิตใจ แต่ก็ไม่ได้เรียนไม่มีความรู้อะไร เป็นที่ชอบๆตามจริตตัวเอง เมื่อ25ปีมาแล้ว ผมอ่านเจอในหนังสือลงข่าวเรื่องเครื่องอัดดินด้วยบล็อกซีเมนต์ จึงได้ไปเสาะหาแหล่งผลิตเครื่องอัดดินดังกล่าว ไปซื้อมาแล้วก็ทดลองอัดดินเป็นก้อนๆ แล้วเอามาทดลองสร้างบ้าน สร้างตึกหลังใหญ่ แล้วก็ใช้อยู่อาศัยมาเท่าทุกวันนี้

ต่อมารัฐบาลจัดต้องกองทุนซิฟ ให้ผู้นำแต่ละชุมชนเสนอของบประมาณมาพัฒนาการเรียนรู้และการสร้างงานสร้าง อาชีพ ผมจึงเขียนของบประมาณซื้อเครื่องอัดดินซีเมนต์แบบไฮโดรลิค ทำให้ได้อิฐบล็อกซีเมนต์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้พัฒนาและเรียนรู้จนทราบว่า ดินแดงที่เราอาศัยอยู่นั้น ขุดแล้วเอามาบดให้ละเอียดผสมกับซีเมนต์ ในอัตรา ดิน3ส่วน ปูนซีเมนต์ 1 ส่วน พรมน้ำให้มีความชื้นเล็กน้อย นำไปเข้าเครื่องอัดออกมาเป็นก้อนๆ นำไปเรียงไว้ในร่มผ่านกรรมวิธีบ่มตามแบบคอนกรีตทั่วไป หลังจากนั้นก็นำไปก่อสร้างบ้านเรือนได้อย่างสบาย

ข้อดีคือของบ้านอิฐดินซีเมนต์

  • อิฐพวกนี้ใช้วัสดุจากพื้นที่เราเองในสัดส่วนที่มากกว่าวัสดุอื่น
  • ใช้แรงงานในครัวเรือนช่วยกัน/อัด/ก่อ/สร้าง/จนเรียบร้อย
  • ไม่ต้องวิ่งเอาเงินไปให้บริษัทรับเหมาก่อสร้าง
  • ถ้าเบี้ยน้อยหอยน้อยก็ยังสะสมอัดอิฐฯไว้ล่วงหน้าได้
  • ลงแขกช่วยกันสร้างบ้านหมุนเวียนกันได้
  • ประหยัดไปต้องเผา ไม่ต้องฉาบ
  • ลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการสร้างบ้านรูปแบบอื่นถึง3เท่า
  • มั่นคงแข็งแรงแน่นหนา ไม่ต้องกลัวพายุจะมาเขย่าบ้านกระเจิง
  • มีคุณสมบัติพิเศษ หน้าหนาวจะอบอุ่น หน้าร้อนจะเย็นสบาย
  • อธิบายในมิติของการพึ่งตนเองได้อย่างกระชับ
  • ขยายความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเชิงประจักษ์
  • ไม่มีหนี้สินรุงรังเหมือนการสร้างบ้านแบบเว่อร์ๆ

ตอนนี้คุณชายกำลังสร้างบ้าน ดังที่ท่านเห็นในคริปวีดีโอ ผมก็มีแผนจะสร้างบ้านรูปโดมกลม8เมตร ถ้ า ที่ รั ก ช่ ว ย กั น ซื้ อ ห นั ง สื อโมเดลบุรีรัมย์มากๆ ผ ม ก็ จ ะ มี ทุ น ส ร้ า ง บ้ า น ใ น ฝั น  หนังสือแต่ละเล่มที่ท่านช่วยกันอุดหนุน ร า ย ไ ด้ จ ะ เ ป ลี่ ย น เ ป็ น อิ ฐฯ ล า ย ก้ อ น เ ล ย ล ะ ค รั บ

รึ..ค น ส ว ย จ ะ ม า ช่ ว ย อั ด อิ ฐ ดิ น ซี เ ม น ต์

จะได้อัดความรักความหวานซึ้งลงไปในอิฐแต่ละก่อนด้วย

เมื่อนำไปก่อสร้าง..จะได้นอนมองผนังฝันหวานถึงคนสวยทุกคืน ทุกคืน..ยังไงละครับ!



Main: 0.057662963867188 sec
Sidebar: 0.083213090896606 sec