ช่วยๆกันรักประเทศไทยดีไหมครับ

อ่าน: 1450

ตอน ปลูกต้นไม้แล้วได้อะไร

พื้นที่ๆผมมาปักหลักปลูกต้นไม้ ผ่านการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมายาวนาน จากที่เคยอุดมสมบูรณ์ปลูกอะไรก็งาม ไม่ว่าจะเป็นข้าวไร่ เดือย ถั่วลิสง ปอ เพราะเพิ่งผ่านการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ หลังจากจัดการกับตอไม้และสิ่งรกเรื้อออกไปแล้ว ได้ปลูกสวนนุ่น สมัยนั้นฟ้าฝนก็ดี โรคแมลงก็ไม่มี เทคโนโลยีก็ยังไม่มา ได้เลี้ยงควายฝูงหนึ่งไว้ไถสวน เป็นระยะพึ่งพาตนเอง100%อย่างแท้จริง นุ่นเจริญงอกงามมาก ฝักงามจนบางครั้งกิ่งถึงกับหัก ช่วงที่ดอกนุ่นบานจะมีผึ้งหลวงและผึ้งมิ้มมาอยู่จำนวนมาก เป็นเสมือนฟาร์มเลี้ยงผึ้งโดยธรรมชาติ

เด็กบ้านป่ากินลูกผึ้งน้ำผึ้งเป็นของหวาน

พอผ่านยุคเรื้อสวนนุ่นที่ต้นแก่ผลิตลดลงออกไป มันสำปะหลังก็เข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ความชุ่มชื้นน้ำหมอกน้ำค้างหายไป ปุ๋ยในดินก็หดหายไป ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเริ่มเข้ามาเยือน เกษตรกรช่วงนี้อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น อ้อย มันสำปะหลัง เป็นตัวเลือก อยู่ที่สูงดินร่วนปนทราย มันสำปะหลังและถั่วลิสงยังปลูกคู่เคียงกัน ตอนท้ายๆลดมาปลูกมันสำปะหลังตัวเดียว แรกๆหัวมันก็เติบโตดี ต่อๆมาหัวมันก็เล็กลงๆ จนเหลือขนาดแขนเด็กๆ

ทำให้ฉุกคิด

ถ้าเราปลูกพืชล้มลุก..เราก็คงล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้แหละ

ถ้าปลูกพืชยืนต้น..เราน่าจะยืนหยัดมั่นยืนตลอดไป

คำถามก็คือ..จะปลูกต้นอะไร

มีใครยึดอาชีพปลูกสร้างสวนป่าบ้าง

พบว่า..งานปลูกป่าไม้จะอยู่ในส่วนงานราชการ เช่น ออป. และมีการสัมปทานป่าไม้ให้แก่ภาคเอกชนรายใหญ่บ้าง รายเล็กรายน้อยส่วนมากจะปลูกต้นไม้ตามหัวไร่ปลายนา ยังไม่มีการปลูกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะการปลูกต้นไม้นั้นต้องใช้ทุนใช้เวลานาน ประกอบกับยังไม่มีนโยบายส่งเสริมในเรื่องนี้

ไปขอกู้เงินปลูกป่าไม้ พนักงานธนาคารหัวเราะ

“นับเป็นโครงการที่ดี แต่ธนาคารยังไม่มีนโยบายในเรื่องนี้”

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยนะครับว่า ทำไมป่าไม้เมืองไทยจึงอยู่ในสภาพนี้

คนไทยเก่งแต่ตัดไม้ แต่ไม่สนใจที่จะปลูกต้นไม้

เพราะคนไทยมองว่าป่าไม้ต้นไม้เป็นของฟรีมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

เลือกตัดมาใช้สอยกันสบายๆ ทำไมจะต้องไปปลูกด้วย

รุกป่าตัดไม้ไม่พอยังเผาป่ากันไม่บันยะบันยัง

ในเมืองเชียงใหม่ปลูกต้นยางนา2ข้างทางถนนสารภี-ลำพูนตั้งแต่สมัย ร.5

ในกรุงเทพฯปลูกต้นตะเคียนทองไว้ทำเรือตั้งแต่สมัย ร.1

ในหลวงได้ปลูกไม้ยางนาและไม้อื่นในวังสวนจิตลดา

แต่ก็ยังหาคนยึดอาชีพปลูกสร้างสวนป่าน้อยมาก มาในชั้นหลังๆกรมป่าไม้ได้สนับสนุนเกษตรกรปลูกสร้างสวนป่า ทำให้เกิดเกษตรกรตัวอย่างทางด้านนี้ รับการคัดเลือกไปรับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาปลูกสร้างสวนป่า เนื่องในวันพระราชพิธีจรดพระนางคัลแรกนาขวัญที่สนามหลวงทุกปี เกษตรกรบางรายที่มีการพัฒนาการต่อเนื่อง

บางปี FAO.จะคัดเลือกให้รับรางวัลเนื่องในวันอาหารโลก

ในปี พ.ศ. ผมได้รางวัล …

FAO.ไม่ได้ให้เป่าหยิงฉุบแจกรางวัลหรอกนะ

คงมีการติดตามดูว่าใครปลูกและทำอย่างไรมาบ้างพอสมควร

ช่วงที่ตัดสินใจเปลี่ยนผ่านการงานอาชีพ ซึ่งไม่มีลู่ทางหรือปัจจัยเกื้อหนุนอะไรเลย แต่ก็เสี่ยงที่จะทำไปเรียนรู้ไป เพราะอยากจะเป็นทาร์ซานตามที่เคยดูในหนังรถขายยาสมัยเด็ก ประกอบกับที่ดินผืนดังกล่าวร้อนแล้งไม่มีต้นไม้ให้อาศัยร่มเงา ปลูกพืชผักผลไม้ก็ยาก ขุดบ่อน้ำตื้นหรือขุดสระน้ำก็กักเก็บน้ำไม่ได้ ดินทรายไม่เก็บซับน้ำใดๆอยู่แล้ว สภาพช่วงนั้นเรียกว่าน้องๆทะเลทราย

ผมจะปลูกต้นอะไรดี

ต้นที่ปลูกแล้วไม่ต้องรดน้ำ เพราะไม่มีน้ำจะรด

นั่นก็หมายความว่า..จะต้องเป็นพืชโตเร็วทนแล้งเอาตัวรอดได้ สมัยนั้น คนบ้านนอก จะไปถามใครละครับ ผมจึงไปขอกล้าไม้จากศูนย์เพาะชำพันธุ์ไม้ กรมป่าไม้ หลายชนิด เช่น ไม้สะเดา ไม้ไผ่ ไม้กระถินณรงค์ และไม้ยูคาลิปตัส

หลังจากผ่านไปฝนแรก ไม้ชนิดต่างๆยังเติบโตต่อไปได้ ที่สะดุดตาเป็นพิเศษได้แก่ไม้ยูคาลิปตัส พอตั้งตัวได้ไม้ชนิดนี้เติบโตเด่นเป็นสง่าแซงหน้าไม้อื่น คงจะเป็นเช่นนี้กระมังเขาถึงเรียกว่า “ไม้โตเร็ว” เมื่อเห็นข้อดีอย่างนี้ มีพันธุ์ไม้ที่สามารถปลูกได้ในที่แห้งแล้งอย่างนี้จะรีรออะไรอีกละ ผมจึงไปซื้อเมล็ดไม้ยูคาลิปตัสจากออป. มาเพาะกล้าไม้เอง

เมล็ดไม้ยูคาฯนั้นเล็กเท่าๆกับเม็ดทราย

ต้องประคบประหงมดูแลตั้งแต่ต้นเล็กๆเท่าเส้นผม

ค่อยๆถอนมาลงถุงดูแลต่ออีก2-3เดือน

ต้นโตประมาณ1ฟุตจึงย้ายไปลงหลุมปลูก

หลังจากนั้นก็ต้องดูแลเรื่องสัตว์และปลวกมารบกวน

ผ่านไป1ปีก็สบาย

แต่ก็ควรระวังเรื่องวัวควายชาวบ้านและไฟไหม้ช่วงแล้ง

ถ้าผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้

3-4 ปีก็มีไม้เขียวครึ้มในพื้นที่ๆเคยแห้งโกร๋น

แต่ก็นั้นแหละ การจับต้นไม้มาเข้าแถว แถมยังเป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียว มันก็ยังดูผิดแผกไปจากป่าไม้ธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้การปลูกไม้ยูคาลิปตัสในช่วงแรกๆจึงได้รับการท้วงติงจากผู้สันทัดกรณีว่า

มันเป็นไม้มหาภัย

มันกินน้ำกินปุ๋ยมาก ปลาตาย นกหนูไม่อยู่อาศัย ไม้อื่นขึ้นไม่ได้

มันเป็นไม้ต่างด้าว ขืนปลูกไปมีหวังสภาพแวดล้อมเสียหาย

คำทักท้วงด้วยความห่วงใยเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรับฟังและเอามาใคร่ครวญ ผมมองวิกฤติเป็นโอกาสว่า แหม..ดีจังเลย มีคนมาตั้งโจทย์ให้โดยที่เราไม่ต้องมามะงุ้มมะง่าหราหาสมุติฐานเอง ที่จริงผมก็รักและห่วงใยพื้นที่ดินของผมเหมือนกันนะครับ อะไรที่ทำไปแล้วรู้ว่ามันไม่ดี เราจะบ้าทำไปทำไมละครับ

ปัญหามันอยู่ที่ว่า..ที่ว่ามันไม่ดีนั้นมันเป็นฉันใด

มันท้าทายให้เข้าไปตีแตกยิ่งนัก

เราจะเชื่อเพราะเพียงคำบอกเล่า คำเขาว่า..อย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้รึ

ถามว่า “เคยปลูกยูคาฯแล้วใช่ไหม เปล่า เขาว่า..

ช่วงนั้นมีคนออกมาเขย่าเรื่องยูคาลิปตัสแทบทุกเวที

แต่ผมก็ไม่ได้สะดุ้งสะเทือนอะไรหรอกนะ

ยังรักเดียวใจเดียวมั่นคงสม่ำเสมอ

ปลูกไป สังเกตไป ทดลองไป

จนได้ความจริงมาระดับหนึ่งว่า

ไม่มีต้นไม้ชนิดไหนในโลกนี้ที่เลวร้ายเท่ามนุษย์หรอกนะครับ

เที่ยวไปโทษต้นไม้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ที่จริงแล้วเป็นเพราะคนทำไม่ถูกจัดการไม่เป็นต่างหาก

สรรพสิ่งในโลกนี้เปรียบเสมือนเหรียญ2ด้าน

ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย

อยู่ที่จะมองแบบเอกซเรย์ หรือมองแบบดาดๆ

มีเสียงอึกทึกบอกว่า..ยู ค า ฯ มั น กิ น น้ำ ม า ก

อ้าว ! กินน้ำแล้ว มั น มี ข า เ ดิ น อ อ ก จ า ก ที่ ดิ น เ ร า ไ ห ม เ ล่ า ?

การที่ต้นไม้ดูดซับน้ำไว้ในลำต้นแล้วค่อยๆระเหยความชื้นออกมา

ยังไม่ใช่ข้อดีอีกรึ หรือว่าชอบที่น้ำฝนไหลทิ้ง ปล่อยที่ดินให้แห้งผาก

ในพื้นที่แก้มลิง ถ้าปลูกต้นยูคาฯลงไปด้วย

ยูคาลิปตัสจะดูดน้ำไปไว้ในลำต้นทำให้แก้มลิงรับน้ำได้มากขึ้น

อนึ่ง ยูคาฯปลูกในที่ลุ่มทนน้ำท่วมได้5-6เดือน

แทนที่จะปล่อยให้แก้มลิงว่างเปล่าก็ปลูกต้นไม้จะได้ประโยชน์หลายต่อ

เรื่องนี้เป็นหนังยาวเสียแล้ว..

โ ป ร ด ติ ด ต า ม ต อ น ต่ อ ไ ป ด้ ว ย ค ว า ม ร ะ ทึ ก ร ะ ท ว ย ใ จ อิ อิ..



Main: 1.093013048172 sec
Sidebar: 0.048740863800049 sec