ช่วยๆกันรักประเทศไทยดีไหมครับ

อ่าน: 1516

ตอน ปลูกต้นไม้แล้วได้อะไร

พื้นที่ๆผมมาปักหลักปลูกต้นไม้ ผ่านการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมายาวนาน จากที่เคยอุดมสมบูรณ์ปลูกอะไรก็งาม ไม่ว่าจะเป็นข้าวไร่ เดือย ถั่วลิสง ปอ เพราะเพิ่งผ่านการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ หลังจากจัดการกับตอไม้และสิ่งรกเรื้อออกไปแล้ว ได้ปลูกสวนนุ่น สมัยนั้นฟ้าฝนก็ดี โรคแมลงก็ไม่มี เทคโนโลยีก็ยังไม่มา ได้เลี้ยงควายฝูงหนึ่งไว้ไถสวน เป็นระยะพึ่งพาตนเอง100%อย่างแท้จริง นุ่นเจริญงอกงามมาก ฝักงามจนบางครั้งกิ่งถึงกับหัก ช่วงที่ดอกนุ่นบานจะมีผึ้งหลวงและผึ้งมิ้มมาอยู่จำนวนมาก เป็นเสมือนฟาร์มเลี้ยงผึ้งโดยธรรมชาติ

เด็กบ้านป่ากินลูกผึ้งน้ำผึ้งเป็นของหวาน

พอผ่านยุคเรื้อสวนนุ่นที่ต้นแก่ผลิตลดลงออกไป มันสำปะหลังก็เข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ความชุ่มชื้นน้ำหมอกน้ำค้างหายไป ปุ๋ยในดินก็หดหายไป ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเริ่มเข้ามาเยือน เกษตรกรช่วงนี้อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น อ้อย มันสำปะหลัง เป็นตัวเลือก อยู่ที่สูงดินร่วนปนทราย มันสำปะหลังและถั่วลิสงยังปลูกคู่เคียงกัน ตอนท้ายๆลดมาปลูกมันสำปะหลังตัวเดียว แรกๆหัวมันก็เติบโตดี ต่อๆมาหัวมันก็เล็กลงๆ จนเหลือขนาดแขนเด็กๆ

ทำให้ฉุกคิด

ถ้าเราปลูกพืชล้มลุก..เราก็คงล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้แหละ

ถ้าปลูกพืชยืนต้น..เราน่าจะยืนหยัดมั่นยืนตลอดไป

คำถามก็คือ..จะปลูกต้นอะไร

มีใครยึดอาชีพปลูกสร้างสวนป่าบ้าง

พบว่า..งานปลูกป่าไม้จะอยู่ในส่วนงานราชการ เช่น ออป. และมีการสัมปทานป่าไม้ให้แก่ภาคเอกชนรายใหญ่บ้าง รายเล็กรายน้อยส่วนมากจะปลูกต้นไม้ตามหัวไร่ปลายนา ยังไม่มีการปลูกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะการปลูกต้นไม้นั้นต้องใช้ทุนใช้เวลานาน ประกอบกับยังไม่มีนโยบายส่งเสริมในเรื่องนี้

ไปขอกู้เงินปลูกป่าไม้ พนักงานธนาคารหัวเราะ

“นับเป็นโครงการที่ดี แต่ธนาคารยังไม่มีนโยบายในเรื่องนี้”

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยนะครับว่า ทำไมป่าไม้เมืองไทยจึงอยู่ในสภาพนี้

คนไทยเก่งแต่ตัดไม้ แต่ไม่สนใจที่จะปลูกต้นไม้

เพราะคนไทยมองว่าป่าไม้ต้นไม้เป็นของฟรีมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

เลือกตัดมาใช้สอยกันสบายๆ ทำไมจะต้องไปปลูกด้วย

รุกป่าตัดไม้ไม่พอยังเผาป่ากันไม่บันยะบันยัง

ในเมืองเชียงใหม่ปลูกต้นยางนา2ข้างทางถนนสารภี-ลำพูนตั้งแต่สมัย ร.5

ในกรุงเทพฯปลูกต้นตะเคียนทองไว้ทำเรือตั้งแต่สมัย ร.1

ในหลวงได้ปลูกไม้ยางนาและไม้อื่นในวังสวนจิตลดา

แต่ก็ยังหาคนยึดอาชีพปลูกสร้างสวนป่าน้อยมาก มาในชั้นหลังๆกรมป่าไม้ได้สนับสนุนเกษตรกรปลูกสร้างสวนป่า ทำให้เกิดเกษตรกรตัวอย่างทางด้านนี้ รับการคัดเลือกไปรับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาปลูกสร้างสวนป่า เนื่องในวันพระราชพิธีจรดพระนางคัลแรกนาขวัญที่สนามหลวงทุกปี เกษตรกรบางรายที่มีการพัฒนาการต่อเนื่อง

บางปี FAO.จะคัดเลือกให้รับรางวัลเนื่องในวันอาหารโลก

ในปี พ.ศ. ผมได้รางวัล …

FAO.ไม่ได้ให้เป่าหยิงฉุบแจกรางวัลหรอกนะ

คงมีการติดตามดูว่าใครปลูกและทำอย่างไรมาบ้างพอสมควร

ช่วงที่ตัดสินใจเปลี่ยนผ่านการงานอาชีพ ซึ่งไม่มีลู่ทางหรือปัจจัยเกื้อหนุนอะไรเลย แต่ก็เสี่ยงที่จะทำไปเรียนรู้ไป เพราะอยากจะเป็นทาร์ซานตามที่เคยดูในหนังรถขายยาสมัยเด็ก ประกอบกับที่ดินผืนดังกล่าวร้อนแล้งไม่มีต้นไม้ให้อาศัยร่มเงา ปลูกพืชผักผลไม้ก็ยาก ขุดบ่อน้ำตื้นหรือขุดสระน้ำก็กักเก็บน้ำไม่ได้ ดินทรายไม่เก็บซับน้ำใดๆอยู่แล้ว สภาพช่วงนั้นเรียกว่าน้องๆทะเลทราย

ผมจะปลูกต้นอะไรดี

ต้นที่ปลูกแล้วไม่ต้องรดน้ำ เพราะไม่มีน้ำจะรด

นั่นก็หมายความว่า..จะต้องเป็นพืชโตเร็วทนแล้งเอาตัวรอดได้ สมัยนั้น คนบ้านนอก จะไปถามใครละครับ ผมจึงไปขอกล้าไม้จากศูนย์เพาะชำพันธุ์ไม้ กรมป่าไม้ หลายชนิด เช่น ไม้สะเดา ไม้ไผ่ ไม้กระถินณรงค์ และไม้ยูคาลิปตัส

หลังจากผ่านไปฝนแรก ไม้ชนิดต่างๆยังเติบโตต่อไปได้ ที่สะดุดตาเป็นพิเศษได้แก่ไม้ยูคาลิปตัส พอตั้งตัวได้ไม้ชนิดนี้เติบโตเด่นเป็นสง่าแซงหน้าไม้อื่น คงจะเป็นเช่นนี้กระมังเขาถึงเรียกว่า “ไม้โตเร็ว” เมื่อเห็นข้อดีอย่างนี้ มีพันธุ์ไม้ที่สามารถปลูกได้ในที่แห้งแล้งอย่างนี้จะรีรออะไรอีกละ ผมจึงไปซื้อเมล็ดไม้ยูคาลิปตัสจากออป. มาเพาะกล้าไม้เอง

เมล็ดไม้ยูคาฯนั้นเล็กเท่าๆกับเม็ดทราย

ต้องประคบประหงมดูแลตั้งแต่ต้นเล็กๆเท่าเส้นผม

ค่อยๆถอนมาลงถุงดูแลต่ออีก2-3เดือน

ต้นโตประมาณ1ฟุตจึงย้ายไปลงหลุมปลูก

หลังจากนั้นก็ต้องดูแลเรื่องสัตว์และปลวกมารบกวน

ผ่านไป1ปีก็สบาย

แต่ก็ควรระวังเรื่องวัวควายชาวบ้านและไฟไหม้ช่วงแล้ง

ถ้าผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้

3-4 ปีก็มีไม้เขียวครึ้มในพื้นที่ๆเคยแห้งโกร๋น

แต่ก็นั้นแหละ การจับต้นไม้มาเข้าแถว แถมยังเป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียว มันก็ยังดูผิดแผกไปจากป่าไม้ธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้การปลูกไม้ยูคาลิปตัสในช่วงแรกๆจึงได้รับการท้วงติงจากผู้สันทัดกรณีว่า

มันเป็นไม้มหาภัย

มันกินน้ำกินปุ๋ยมาก ปลาตาย นกหนูไม่อยู่อาศัย ไม้อื่นขึ้นไม่ได้

มันเป็นไม้ต่างด้าว ขืนปลูกไปมีหวังสภาพแวดล้อมเสียหาย

คำทักท้วงด้วยความห่วงใยเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรับฟังและเอามาใคร่ครวญ ผมมองวิกฤติเป็นโอกาสว่า แหม..ดีจังเลย มีคนมาตั้งโจทย์ให้โดยที่เราไม่ต้องมามะงุ้มมะง่าหราหาสมุติฐานเอง ที่จริงผมก็รักและห่วงใยพื้นที่ดินของผมเหมือนกันนะครับ อะไรที่ทำไปแล้วรู้ว่ามันไม่ดี เราจะบ้าทำไปทำไมละครับ

ปัญหามันอยู่ที่ว่า..ที่ว่ามันไม่ดีนั้นมันเป็นฉันใด

มันท้าทายให้เข้าไปตีแตกยิ่งนัก

เราจะเชื่อเพราะเพียงคำบอกเล่า คำเขาว่า..อย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้รึ

ถามว่า “เคยปลูกยูคาฯแล้วใช่ไหม เปล่า เขาว่า..

ช่วงนั้นมีคนออกมาเขย่าเรื่องยูคาลิปตัสแทบทุกเวที

แต่ผมก็ไม่ได้สะดุ้งสะเทือนอะไรหรอกนะ

ยังรักเดียวใจเดียวมั่นคงสม่ำเสมอ

ปลูกไป สังเกตไป ทดลองไป

จนได้ความจริงมาระดับหนึ่งว่า

ไม่มีต้นไม้ชนิดไหนในโลกนี้ที่เลวร้ายเท่ามนุษย์หรอกนะครับ

เที่ยวไปโทษต้นไม้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ที่จริงแล้วเป็นเพราะคนทำไม่ถูกจัดการไม่เป็นต่างหาก

สรรพสิ่งในโลกนี้เปรียบเสมือนเหรียญ2ด้าน

ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย

อยู่ที่จะมองแบบเอกซเรย์ หรือมองแบบดาดๆ

มีเสียงอึกทึกบอกว่า..ยู ค า ฯ มั น กิ น น้ำ ม า ก

อ้าว ! กินน้ำแล้ว มั น มี ข า เ ดิ น อ อ ก จ า ก ที่ ดิ น เ ร า ไ ห ม เ ล่ า ?

การที่ต้นไม้ดูดซับน้ำไว้ในลำต้นแล้วค่อยๆระเหยความชื้นออกมา

ยังไม่ใช่ข้อดีอีกรึ หรือว่าชอบที่น้ำฝนไหลทิ้ง ปล่อยที่ดินให้แห้งผาก

ในพื้นที่แก้มลิง ถ้าปลูกต้นยูคาฯลงไปด้วย

ยูคาลิปตัสจะดูดน้ำไปไว้ในลำต้นทำให้แก้มลิงรับน้ำได้มากขึ้น

อนึ่ง ยูคาฯปลูกในที่ลุ่มทนน้ำท่วมได้5-6เดือน

แทนที่จะปล่อยให้แก้มลิงว่างเปล่าก็ปลูกต้นไม้จะได้ประโยชน์หลายต่อ

เรื่องนี้เป็นหนังยาวเสียแล้ว..

โ ป ร ด ติ ด ต า ม ต อ น ต่ อ ไ ป ด้ ว ย ค ว า ม ร ะ ทึ ก ร ะ ท ว ย ใ จ อิ อิ..

« « Prev : นโยบายคลานขึ้นจากน้ำท่วม ฉบับบ้านนอก

Next : จากรากหญ้าสู่นาซา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 nuntawun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2011 เวลา 19:27

    รออ่านอยู่ครับพ่อสุทธินันท์ ที่ 50 ไร่ ยูคาเต็มพื้นที่ กำลังคิดว่าจะจัดการอย่างไรดี พ่อชี้ทางออกให้ด้วยนะครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.14015579223633 sec
Sidebar: 0.076629161834717 sec