คิดเผื่อเลือก

อ่าน: 1629

การบ้านฝากชาว สสสส.ที่ประชุมเรือนรับรอง ผบ.กองทัพเรือวันนี้คร๊าบบบบ

“ประเด็น ชีวิตคน บนพื้นฐานทรัพยากรวิถีไทย ทำยังไงถึงจะเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน”

——————————————————————————————————————

>> ถ้าบางกอกและจังหวัดบริวารกลายเป็นนครใต้บาดาลอย่างนี้อีก

เราควรจะเตรียมการอะไรไว้บ้าง

เช่น การบ้านระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว

น่าจะเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์

น่าจะเป็นหัวข้อโสเหล่ วงกาแฟ วงเจ๊าะแจะ และวงกะเปิ๊บกะป๊าบ

น่าจะเป็นโจทย์ของ องค์กรสาธารณะ เครือข่ายจิตอาสา ฯลฯ

น่าจะเป็นโจทย์ของหน่วยราชการ หน่วยงานที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้

น่าจะเป็นแผน ส่วนครัวเรือน ส่วนชุมชน ส่วนองค์กรชุมชน

น่าจะเป็นหัวข้อการเรียนการสอนในภาควิชาที่เกี่ยวข้องเรื่องสังคม

น่าจะเป็นหัวข้อ การวิจัย การพัฒนา

น่าจะเป็นบทละคร ภาพยนต์ นิยาย หนังสือ เพลง ตำรา นิทาน การ์ตูน

น่าจะมีคนรวมรวมรายละเอียด เบื้องหลัง ที่ทุกภาคส่วนรำพึงรำพัน

ใครหนอจะอาสา  เขียนจดหมายเหตุประเทศไทยในส่วนนี้

เก็บให้หมด ทั้งเรื่องดี เรื่องบ่ดี และเรื่องมิดีมิร้าย

ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่นเจอภัยพิบัติบ่อยๆ ทำให้ทุกภาคส่วนช่วยกันคิดละเอียดละออ มีแผนตั้งรับต่างๆล่วงหน้า การออกแบบบ้านเรือน ของใช้ในบ้านเล็กๆบางๆเบาๆ ฝึกซ้อมการเผ่นเป็นหมวดหมู่ มีการซ้อมใหญ่เป็นระยะๆ มีการเตรียมการทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ ทำอย่างไรประเทศเราจะเดินไปถึงตรงจุดนั้นอย่างเขาบ้าง

บริบทของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ภัยพิบัติบ้านเราน่าจะเอาเรื่องน้ำเป็นโจทย์ใหญ่ ควรจะเรียนรู้ล่วงหน้าอย่างไร ไม่ใช่จ่อมจมอยู่กับ “น้ำมาปลากินมด น้ำลดตอผุด” ปีนี้น่าจะเคลื่อนจิตสำนึกให้กระชับและเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เช่น

“น้ำมา มองหาเรือ”

“น้ำน้อยย่อมแพ้ภัย มวลน้ำใหญ่ชนะกำแพง”

“น้ำเสีย น้ำมันเก่า น้ำเน่า จะเข้าไปมาแบบการขายตรง”

“กระสอบทรายที่รัก ตอนนี้อกหักเป็นแถบ”

“น้ำตาผสมน้ำไหลปล่อยมันไปไหลลงทะเล”

“สู้ๆๆนะค่ะ ฮือๆๆ”

“เอาความขมขื่นไปทิ้งเจ้าพระยา เอาน้ำตาไปทิ้งที่ไหนดี”

“น้ำล้น คนบ่มีน้ำกิน”

“น้ำมา หอบผ้าเผ่น”

“น้ำท่วม อกอ่วมทั่วหน้า”

“น้ำมา จระเข้ งู ก็มา”

“น้ำเน่าเอาขยะมาให้เชยชม”

“น้ำมาชีวาล๊อกแล๊ก”

“ลงเรือน้อย ลอยหนีปลิง”

“คนมึนงง ยิ่งกว่ากระทงหลงทาง”

“น้ำมากใช้ไม่ได้ น้ำใจช่วยด้วย!”

“หมดสภาพ แต่ไม่หมดกำลังใจ”

“น้ำมา ไฟฟ้าดูด”

“น้ำมา ประปาเหม็น”

“น้ำมาก ปัญญาน้อย จ๋อมแน่ๆ”

“น้ำกัดเจ็บ กัดเท้าเน่าเฟอะ”

“โรคมากับน้ำ แต่ไม่กลับไปกับน้ำ”

“กระสอบทรายหายาก หุ่นกระสอบหาง่าย”

“รักนะ ..จ๋อม จ๋อม จ๋อม..”

“ท่าเตียน ท่าช้าง ท่าพระจันทร์ วันนี้หมดท่า”

“บางพลัด พลัดหลงที่นาคาที่อยู่”

“ที่นี่มีน้ำบริการให้สูบฟรี”

“รักกันไว้เถิด เราเกิดน้ำท่วมด้วยกัน”

“น้ำหลาก ชาวสสสส.หันหน้ามาประชุมกัน”

“เอาน้ำมาล้างก๊วนสีแดงสีเหลืองสีช้ำเลือกช้ำหนอง ออกไปจากใจคนไทยหน่อยเถอะ”

“เอาแต่ทะเลาะกัน น้ำมันเลยหมั่นไส้”

“เห็นยังเรื่องอะไร สำคัญ สมควร สมน้ำหน้า”

แผนภัยพิบัติแห่งชาติฉบับประชาชน ควรจะมีไหมละครับ

วาระแห่งชาติฉบับประชาชน ควรจะมีไหมละครับ

จ๋อม จ๋อม


เปิดศูนย์อพยพแบบชิวชิวที่ต่างจังหวัดดีไหม

อ่าน: 2189

ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกว่า>> ศูนย์อพยพไม่จำเป็นต้องไปกระจุกอยู่เฉพาะที่กรุงเทพฯหรอกนะเธอ ถ้ามองเห็นปัญหายืดเยื้อจะตามมา ควรมีแผนเปิดพื้นที่ศูนย์ตามจังหวัดต่างๆที่ไม่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ยุคนี้ถนนทุกสายใช้เวลาเดินทาง5-6ชั่วโมง ก็ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ถ้าไม่คิดไม่ทำให้ปรุโปร่งเรื่องอพยพจะเกิดสาระพัดปัญหาให้ปวดเศรียรเวียนเกล้า ควรเปิดศูนย์ที่ โคราช เพชรบูรณ์ ชลบุรี ชัยภูมิ เลย ฯลฯ แทนศูนย์ฉุกเฉินดีไหมครับ! หนังเรื่องยาว จะจบสั้นๆง่ายๆได้จะได๋

ดูข่าวน้ำท่วม มีแต่บอกว่าอย่าแตกตื่น

ใจเย็นๆ เราป้องกันได้

โธ่! นึกถึงหัวอกคนที่ถูกตัดไฟตัดน้ำ

มืดๆอดๆอยากๆอยู่กับยุงล้อมหน้าล้อมหลัง

นอนดมน้ำเน่าเฝ้าดูน้ำขึ้นทีละนิด ละนิด


ถ้ารู้จักคนไทยดีพอ

คนไทยรับความจริงได้นะครับ

ถ้าบอกความจริง ความเจ็บปวดจะลดน้อยลงกว่านี้

เฮ้อ พูดไปมันก็เหมือนหมาเหยี่ยวใส่ตอไม้ คนทำดีก็มาก คนยอมเหนื่อยยากกับสังคมก็ไม่น้อย ธรรดาของโลก มีทั้งเรื่องที่พอใจและเสียใจ น่าจะดีใจด้วยซ้ำไป..ที่เมืองไทยเปิดตลาดน้ำพรึบเดียวครึ่งประเทศ ปรับการท่องน้ำมาเป็นการท่องเที่ยว บาบาร่าโบ๊ตก็มา เรือเจ็ตสกี เรือหางยาว เรือหางสั้น เรือกาละมัง เรือถังน้ำ เรือยาง เรือแพ เรืออีโป่ง เรือประหยัดของคนถางทาง เรือดำน้ำไม่มี มีแต่เรือจมน้ำ ชาวบ้านต้องการเรือจำนวนมาก รถจมน้ำกี่คัน เรือก็ควรจะมีสัดส่วนต่อรถ 10:1

ชื่นใจที่เห็นเหล่าดาราลงไปช่วยเพื่อนมนุษย์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิ อาสาสมัคร ตำรวจ ทหาร อส. อบต. เทศบาล พนักงานกทม. กลุ่มสตรี นิสิตนักศึกษา พระสงฆ์ นักโทษมีความประพฤติดี เครือข่ายประชาสังคม ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ฯลฯ คงจะเหนื่อยสายตัวแทบขาดไปอีกนาน

ที่สวนป่า ทดลองจัดลักษณะกินๆนอนๆ ..หลังจากโม้ไปพอสมควร ยังไม่มีใครกล้าเสี่ยงมาที่ศูนย์แห่งนี้ เพิ่งจะมีหมูไม่กลัวน้ำร้อนรายแรกของโลกโผล่มาเมื่อวาน จะใครเสียอีกละ ก็แห้วเจ้าเก่าของเรานี่แหละ บทจะมาก็มาแบบบ้าบิ่น หอบเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า ไปแย่งซื้อตั๋วรถทัวร์นครชัยแอร์ได้ นั่งรถลอยหน้าลอยตาออกจากบางกอกเวลา11โมงเช้า  รถทัวร์พาอ้อมทัศนศึกษาน้ำหลากรายทาง ผ่านไปทางนครนายกแล้วค่อยวกเข้าโคราช จวนแดดร่มลมตกก็โทรศัพท์เข้ามาว่าอีกครึ่งชั่วโมงจะถึงบุรีรัมย์ การเดินทางใช้เวลามากกว่าปกติหนึ่งชั่วโมง

รับมานั่งรถ แห้วก็ฉอดๆๆๆ ผักนั้นนี่มีไหมพ่อ หนูตั้งใจจะมากินผัก เฮ้อมีลูกหลานเชื้อสายชูชกก็ยังงี้แหละ ตื่นเช้านี้พาเดินดูภักษาหารที่พอจะเขมือบได้ โอ้ยโย่! อะไรก็ถูกใจไปหมด เด็ดมาผัดกระทะร้อนจานโต นึกว่าจะเหลือ แห้วฟาดเรียบ! สมกับที่ตั้งใจจะมากินผักแข่งกับหมูจริงๆ

ชวนแห้วเดินไปเยี่ยมลูกแพะที่ออกใหม่ แห้วเพิ่งจะเคยอุ้มแพะครั้งแรกในชีวิต อุ้มออกมาจากโรงเรือน แล้วปล่อยให้คุณแม่คุณลูกออกไปเล็มใบไม้ใบหญ้า.. เดินกลับมาเด็ดผักผัดกินกับข้าวต้มร้อนๆ ร้อนจนพยาธิสะดุ้ง! ต้องยกแก้วน้ำเสาวรสคั้น100% ใส่เกลือนิดๆเติมน้ำผึ้งหน่อยๆซดจนตาค้าง หลังจากนั้นหลายชั่วโมงมาแห้วกระซิบว่า..แหม่..มันระบายดีจริงๆพ่อ..

แสดงว่า..เจี๊ยะมากแค่ไหนก็ไม่ต้องห่วง

แห้วค้นพบวิธีระบายท้องไส้ให้สมดุลกัน

ตอนบ่ายพาแว็บไปดูทุ่งกุลาร้องไห้ ยามที่ข้าวใหม่กำลังสุกเหลืองอร่ามสุดลูกหูลูกตา รถเกี่ยวข้าวกำลังเก็บผลผลิตอย่างขะมักเขม้น ไปเจอนกกระยางสีขาวสะอาดเหมือนเครื่องแบบพยาบาล เกาะกลุ่มกันบนต้นไม้ มองไกลๆเสมือนภาพศิลปะสุดสวยประทับใจ ออกจากทุ่งเข้าตลาด ซื้อน้ำพริกปลาช่อนกับซุปหน่อไม้มาอย่างละถุง มองหาดักแด้ไม่มี เจอเผือกหัวเล็กๆที่ชาวบ้านต้มมาขาย เมื่อก่อนจานละ 10 บาท มาวันนี้ 20 บาท นกเป็ดน้ำตัวละ 50 บาท มาวันนี้ขึ้นเป็น 70 บาท

มื้อกลางวันเจี๊ยะส้มตำกินกับผัดไทย ล่อกันซะพุงกาง อิ่มจนอืด บอกเย็นนี้จะไม่กินอะไรอีกแล้ว แต่ตอนบ่ายเดินไปเด็ดใบชะพลูมาตะกร้าหนึ่ง เข้าครัวยกเครื่องมือมานั่งหั่นพริกขี้หนู หัวหอม ขิง ถั่วลิสงคั่ว บอกว่าจะดัดแปลงเมนูเมี่ยงคำ ที่บังเอิญไปเจอน้ำพริกปลาช่อนกับซุปหน่อไม้ ซึ่งเป็นอาหารอีสานที่เตรียมแนะนำในยามหนีน้ำ

น้ำขึ้น อาหารการกินก็ขึ้น

น้ำลดราคาอาหารจะลดตามน้ำไหมนี่

กลับมาถึงบ้าน เอาซุปหน่อไม้กับน้ำพริกปลาช่อนไปเว็ปให้ร้อนๆหน่อย ยกออกมาเรียงล่ายซ่าย เติมข้าวคั่วลงไปนิด หยิบถั่วลิสงคั่วโปรยลงหน่อย เด็ดยี่หร่า ผักแพ้วมาเป็นเครื่องเคียง ปากที่บอกว่าจะไม่กินอะไรมื้อเย็น แต่โซ้ยทุกอย่างจนเกลี้ยงโต๊ะ สมกับที่ตั้งใจจะหนีน้ำมากินผักจริงๆ

ยังมีเมนูยั่วกระเพาะอีกหลายสำหรับ แห้วอิ่มแล้วก็นอนดูข่าวน้ำท่วม แนวโน้มมีแต่จะท่วม ท่วม อีกยาวนาน แห้วบอกว่าพรุ่งนี้จะซักเสื้อผ้าเผื่อจะอยู่ยาว จะได้มากินมานอนเผื่อพี่น้องไส้กิ่วที่บางกอก อีกทั้งจะได้ลุ้นว่าแม่วัวจะออกลูกเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย

ลูกแพะตั้งชื่อหนูสายฝน

ลูกวัวจะตั้งชื่อว่าอะไร?

เฮ้อ! นอกจากจะช่วยอะไรใครไม่ได้แล้ว

ก็ไม่รู้ว่าจะทุกข์จะเครียดไปทำไม

น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือขวาง


ผมไม่ขวางใครหรอกนะ เกรงว่าคนตาขวางมันจะเตะเอา

แต่ก็นั่นแหละ  ยังตะขิดตะขวางใจนิดๆ

วัฒนธรรมไทยเป็นอย่างนี้หรือเปล่า

คนไทยจึงอยู่กันมาแบบ..ป้ากับปู่กู้อีจู้

อีจู้ไม่รู้จัก รู้แต่อีหลักอิเหลื่อ

รัฐฯควรเปิดศูนย์อพยพที่เหมาะสม แทนศูนย์อพยพฉุกเฉิน ผู้อพยพจะอาศัยช่วงสั้นได้สะดวก จัดทำกิจกรรมฟื้นฟูจิตใจ  เปิดศูนย์ที่วัดบ้านวัดป่า ฟังพระท่านพาสวดมนต์ทำบุญ ฝึกสมาธิ หรือเปิดตามศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ชวนกันปลูกผัก ทำกับข้าว ออกกำลังกาย เปิดหลักสูตรวิธีสู้ชีวิต ติวเข้มเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีกรอบ ส่วนคนไข้ที่เจ็บป่วย โรงพยาบาลในต่างจังหวัดน่าจะช่วยบรรเทาเรื่องนี้ได้

ขอให้ใคร่ครวญว่า

วิกฤติครั้งนี้เกินที่เมืองหลวงจะแบกรับภาระได้ทั้งหมด

รีบๆนะครับ

อย่าเอาคนไปกระจุกอยู่ในที่จำกัดและไม่พร้อมอย่างนั้นเลย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรจะจัดบุคคลากรไปช่วยเหลือ

และมีงบประมาณไปหล่อลื่นเท่าที่จำเป็น

อาสาสมัครและชาวจิตอาสาในต่างจังหวัด

จะมีช่องทางเข้ามาช่วยเหลืองานได้สะดวก

ช่วยแบ่งภาระหนักอึ้งที่ศูนย์อพยพเฉพาะกิจกำลังล้าเต็มที

จ๋อม จ๋อม จ๋อม


เข้าขบวนแห่น้ำท่วม

อ่าน: 1788

(ทำเลที่ตั้งนิทรรศการวิสัยทัศน์ควายแห่งชาติ)

เรื่องนี้ตรงกับคำที่ว่า

ถ้าเธอไม่จัดการความรู้ ความไม่รู้ก็จะจัดการเธอนะสิ

คนไทยไม่ใช่ไม่มีความรู้นะครับ แต่ไม่ใส่ใจที่จะใช้ความรู้อย่างเป็นแบบแผน องค์ความรู้ในนักวิชาการ ในหน่วยงานที่ดูแลด้านต่างๆ ชุดวิชาที่สอนกันอยู่ในสถาบัน รวมทั้งความรู้ดั่งเดิมที่แฝงอยู่ในจารีตประเพณีและวัฒนธรรมมีเป็นกะตั๊ก แต่ถ้าประมวลดูที่ไปที่มาทั้งหมดก็จะเห็นว่า ประเทศนี้จะทำจะสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง ไม่ได้มีการศึกษาใคร่ครวญถึงความพอเหมาะพอควรอย่างแท้จริง เอาความสะดวก ความมักง่ายเป็นตัวตั้ง ลองมองย้อนไปในอดีตสิคริบ น้ำเหนือหลากมาแต่ละทีนั้นเป็นคุณมากกว่าจะเป็นโทษ กองทัพพม่ายกโยธามารุกรานกรุงศรีอยุธยา ทุกครั้งต้องเร่งการยุทธอย่างดุดัน เพื่อให้ได้ชัยชนะท่วงทันก่อนที่น้ำเหนือจะลากท่วมทุ่งมหาราช น้ำที่ว่านี้ก็จะสร้างความยากลำบากในการทำศึก เพราะไม่อาจที่จะลอยคอไปต่อกรกับคนที่ตั้งรับในค่ายคูพระนครได้

น้ำหลากจึงเป็นยุทธปัจจัยในการสู้รบที่กำหนดการแพ้ชนะที่แน่นอนที่สุด

ถ้าดูตามสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ในการที่จะวางโครงสร้างผังเมือง หรือการวางแผนกิจการพัฒนาใดๆ จุดแรกเลยจะไม่มาดูพื้นฐานที่เป็นปัจจัยหลักของประเทศเลยหรือครับ ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ นี่ใช่เลย ใครจะศึกษาอะไรมาอย่างไรอั๊วะไม่เกี่ยว อั๊วมีเงิน อั๊วมีอิทธิพล ทุกคนจะต้องตามใจอั๊วะ ติดขัดตรงไหนไปแก้มาให้ตรงกับใจอั๊วะ เซ่อแบบนี้ละครับมันถึงฉิบหายกันทั้งประเทศ

ถอยหลังไปก่อนหน้าที่อุตสาหกรรมจะทะลักเข้ามายึดครองแผ่นดินสยาม วิถีชีวิตไทยปกติสุขเป็นบรรทัดฐานจนยกขึ้นเป็นจารีตประเพณีของแต่ละพื้นถิ่น ซึ่งแต่ละแห่งมีความรู้สำหรับแก้ไขปัญหาเฉพาะถิ่นของเขาเอง การสัญจรทางน้ำ สร้างบ้านเรือนไทยใต้ถุนโล่ง ทำมาหากินโดยอิงศักยภาพของพื้นถิ่น ที่ลุ่มก็ปลูกข้าวลอย ที่ดอนก็ปลูกข้าวไวแสง สามารถทอดระยะการเก็บเกี่ยวได้ด้วยสายพันธุ์ข้าวที่สุกไม่พร้อมกัน มีพันธุ์เกี่ยวช้า เกี่ยวระยะกลาง และเกี่ยวระยะสุดท้าย ขึ้นอยู่กับแรงงานและอุปกรณ์ในการทำนา ซึ่งแตกต่างจากยุคใช้เครื่องจักรเครื่องกล ถามว่าผิดไหม ไม่ผิดหหรอก ถ้าคนใช้เครื่องจักรกลมีมันสมองจัดการวางแผนการผลิตให้สอดรับกับสภาพธรรมชาติ

เครื่องจักรมันไม่สามารถดำน้ำเกี่ยวข้าวได้

ถ้าจะบ้าใช้เครื่องจักรล้วนๆมันควรจะออกแบบให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ นะเบิ๊อก !

เมื่อก่อนเราเคยเห็นคนภาคกลางเดือดร้อนยามน้ำหลากรุนแรงอย่างนี้ไหมครับ จากการที่คิดใคร่ครวญที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในที่ลุ่ม ชาวบ้านเอกซเรย์จนเห็นจุดดีจุดด้อยทะลุปรุโปร่ง ศึกษาจนรู้ว่าธรรมชาติในพื้นถิ่นของตนเองอยู่อาศัยมีสภาพในแต่ละช่วงฤดูอย่างไรได้ใช้สติปัญญาหาทางป้องกันล่วงหน้าไว้ทั้งระบบ น้ำท่วมมาพากันหาปูหาปลามาไว้เป็นเสบียง ผักผิวน้ำ ผักยืนต้น ผักที่เกิดในน้ำ สารพัดที่จะนำมาเข้ากับการดำรงชีพได้อย่างกลมกลืน  นอกจากสะดวกสบายแล้วยังสนุกเฮฮาจากการร้องเพลง หนุ่มสาวลงเรือไปเก็บดอกบัวมาถวายพระ บางคู่ก็ถือโอกาสเอาพระประธานเป็นพะยานหัวใจ ว่างๆก็ชวนกันร้องเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงเต้นรำกำเคียว จัดงานประเพณีที่วัดในเทศกาลต่างๆ เคยฟังกองยาวโห่แห่ไหมละเธอ

ม๊องเท่งม๊องม๊ง..เท่งม๊งๆๆ  โห้ยยยย ฮิ โฮฮฮฮฮ ฮิ้ววววววว..

ใ ค ร มี ม ะ ก รู ด ม า แ ล ก ม ะ น า ว   ใ ค ร มี ลู ก ส า ว ม า แ ล ก ลู ก เ ข ย

อยู่กันอย่างเอื้ออาทร อยู่กันอย่างแบ่งปัน

ทั้งๆที่เขาไม่ได้พูดกันสักคำ..การมีส่วนร่วม การบูรณาการ จิตสาธารณะ

ไทยในอดีตลงมือกระทำ ไม่ได้เอาแต่พูด เอาแต่อบรม แล้วไม่ทำอะไร

การที่ไม่มองหน้าแลหลัง ทำให้การพัฒนาแบบไม่ดูตาม้าตาเรือประสบเคราะห์กรรมอย่างแสนสาหัส ไล่มาจากแม่ฮ่องสอนถึงอ่าวไทย อาการลำบากยิ่งกว่าลูกหมาตกน้ำเสียอีก พอสะสมปัญหาเข้ามากๆ เกิดวิกฤติถึงจะทะลึ่งตึงตังขึ้นมาแก้ไข  เห็นความเป็นไปคงมนุษย์ที่ไม่จัดการความรู้อย่างเป็นระบบไหมครับ

มันจะแก้ยังไงละเมื่อผูกชะเนาะจนตึงเปรี๊ยะออกอย่างนั้น ถามว่าจะแก้ยังไง ผมคิดว่าในบ้านเมืองเรามีผู้รู้จริงอยู่ไม่น้อย เพียงแต่เขาไม่มีโอกาสที่จะขยายความคิดให้นำไปสู่การวางรากฐานของนโยบายระดับชาติได้ ปัญหาของประเทศอยู่ที่ยากจะฝ่าด่านเจ้าพวกคุณพ่อรู้ดีที่ก๋าๆเกลื่อนกราดเต็มประเทศได้ ทำได้ก็ด้วยการบันทึกลงในนิตยสารต่างๆ ซึ่งผมต้องขอบคุณหลายท่านที่ได้กรุณาเผื่อแผ่ความรู้ให้สาธารณะชน  ขออนุญาตยกตัวอย่างมาสักหนึ่งท่านนะครับ

บทสัมภาษณ์ คุณกฤตภาส วงศ์กรวุฒิ

หาอ่านฉบับเต็มได้ในหนังสือ ฅ คน ฉบับเดือนกันยายน 2554


” บางทีตลอดแนวชายฝั่งด้านในสุดของอ่าวไทย ที่สัณฐานเหมือนพยัญชนะตัวแรกของอักษรไทย ทอดยาวร้อยกิโลเมตรที่เคยเรืองสว่างด้วยมีปากน้ำ5สาย พาดินตะกอนธาตุอาหารมาให้นั้นค่อยๆกำลังทำให้ถูกดับลงเหมือนตะเกียงลาเชื้อ ที่ละดวง  ที่ละดวง เขาบอกว่า ไม่ใช่แม่น้ำและความอุดมสมบูรณ์หรอกที่เรากำลังสูญสิ้นไป หากแต่เป็นความองอาจอันอิสระของผู้คน ผู้ได้สั่งสม และใช้ความรู้ต่างหาก”

มีการอภิปรายกันตอนประชุมร่วมรัฐสภา มันไปเขียนอำพรางว่าจะทำเขื่อนและเกาะ เพื่อป้องกันทะเลหนุนสูง ทีแรกก็บอกว่าจะสร้างเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทีนี้พูดออกมาแล้วเรียกแขกได้เยอะ เครือข่ายอ่าว ก.ไก่ อะไรต่อมิอะไรก็ออกมาด่ากันขรม มันเลยเปลี่ยนใหม่..น้ำที่ท่วมกรุงเทพฯต้นทุนมาจากน้ำหลาก80% น้ำทะเลหนุนมันแค่ 20% ทีนี้มีคำถามว่า เมืองที่น้ำขึ้นสูงที่สุดคือเมืองแม่กลอง แล้วเหตุไฉนน้ำมันถึงไม่ท่วมละ ทีนี้พอพอจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำก็ต้องบินไปถามบิดาคุณที่เนเธอแลนด์โน่นว่าทำยังไง แต่โคตรเหง้าคุณเองเขาทำดีอยู่แล้ว กลับไม่รู้จัก มันเป็นเสียอย่างนี้ ก็เลยเสียเงินเสียทอง บ้า ๆ บอ ๆ แบบโครงการแหลมผักเบี้ยนะเห็นไหม ใช้ไป 300 กว่าล้าน ทิ้งน้ำไปเลย เฮ้อ

มันบอกว่าจะถมกึ่งกลางอ่าว ก. ไก่ กว้าง 10 กม. ยาว 10 กม. ห่างฝั่ง 10 กม. อ่าว ก.ไก่ ก็ 100 กม.แต่ละด้านใช่ไหม นี่มันจะสร้างระหว่างปากแม่น้ำท่าจีนกับปากแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเป็นเกาะ นักวิทยาศาสตร์เขาบอกว่า จะสร้างอะไรลงไปในทะเล ไปสร้างยานอวกาศง่ายกว่า เพราะทะเลมันแต่งตัวทุกวินาที แล้วเรามีบทเรียนเยอะ  เรามีปัญหากัดเซาะแบบวิกฤติอยู่6-7 ร้อย กม. จากชายฝั่งทั้งหมด 2,600 กม. ทีนี้เขาคงคิดว่าทะเลบ้านเราเหมือนกับเดอะปาล์มดูไบละมั๊ง ขืนสร้างอย่างนี้ปุ๊บ การกัดเซาะมันจะเปลี่ยนทันที ไปดูหากแสงจันทร์ วินาศสันตะโรหมดเลย เพราะการใช้โครงสร้างแข็งจะไปเพิ่มความรุนแรงของการกัดเซาะนั่นเอง

เคยเห็นไหมที่ปากน้ำตะกอนฟุ้ง นี่คือการฟุ้งการกระจายตัวของแพลงก์ตอน เพราะอะไร นี่แม่น้ำ5สาย บางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง  แล้วก๋แม่น้ำเพชรฯไม่มีหาดทรายเลย มีแต่หากเลนทั้งนั้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะแม่น้ำพ่นตะกอนออกมา ก็คือแร่ธาตุสารอาหารทั้งหมด เมื่อสารอาหารมาปะทะน้ำทะเลเกิดการตกตะกอน ห่วงโซ่อาหารก็เริ่มตรงนี้เลย ก็คือแลงก์ตอน แล้วปลาเล็กปลาน้อยเป็นห่วงโซ่ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก มันถึงได้เขียวไปหมด พูดง่ายๆเลยว่า หลังน้ำหลาก อ่าว ก.ไก่ ก็คือทุ่งหญ้าระบัดสำหรับสัตว์น้ำ เหมือนทุ่งหญ้าสำหรับวัวกระทิงอย่างนั้น

..เราอยู่ในเขตมรสุม เราต้องอยู่กับน้ำท่วมให้ได้

เราจะไปเป็นโรคกลัวน้ำได้อย่างไร?

อ่าว ก.ไก่ นี่คืออ่าวสุดยอด 1 ใน 17 อ่าวอุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก

ถ้าไม่ทำเกษตรเคมี ไม่มีมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม น้ำจะเป็นสารอาหารใช่สารพิษ

คนบางกอกจะปลูกบ้านที ไปขนดินราชบุรี นครปฐม มาถมพร้อมกับขนรังปลวกมา

ปลูกเสร็จปลวกขึ้นบ้าน ต้องไปจ้างบริษัทกำจัดปลวกมาอัดน้ำยาลงดิน

มันต้องโง่ 3 ครั้งนะ จะปลูกบ้านแต่ละที

ถ้าน้ำไม่ท่วมดินจะดีได้อย่างไร?

คนแม่กลองเขาจะปลูกบ้านใต้ถุนสูง ทำการเกษตรแบบครึ่งดินครึ่งน้ำ ทุกสวนเขาจะจัดขนานยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บ้านจะปลูกอยู่ตรงชายคลอง สองข้างบ้านมีลำปะโดงร้อยขึ้นไปเป็นฉาก พอน้ำขึ้นจากทะเลหนุนเข้าแม่น้ำเข้าคลองก็เข้าลำปะโดงรอบสวน น้ำเข้ามาเต็มร่องนี้มาพร้อมกับสารอาหารด้วย ขาลงน้ำแห้งขอดทิ้งตะกอนไว้ในนี้ ปุ๋ยไม่ต้องใส่ น้ำหมุนเวียนเข้าออกดีเสียอีกน้ำจะไม่เน่าเสีย

น้ำท่วมกรุงเทพฯเพราะอะไร จริงๆแล้วมันมีปัจจัยประกอบกัน เหนืออ่าว ก.ไก่ ขึ้นมา ถ้าเราเอาโครงข่ายคมนาคมซ้อนเข้าไป ก็จะเห็นถนนเป็นตาข่ายยิ่งกว่าคลองอีก ที่เป็นคลองพี่แกถมหมด ถมแล้วไปใส่ท่อกลม 60ซม. ลำประโดงเลวๆทรามๆปากมันกว้าง2-3เมตร  แม่กล่องวันนี้เป็นอย่างไร กรุงเทพเมื่อก่อนก็เป็นแบบเดียวกันแหละ คนมาเที่ยวอัมพวาบ่อยๆ โอ้โฮ เมืองนี้มันโรแมนติกโว้ย ก็เริ่มมากวาดซื้อที่ ซื้อแล้วก็ทำโง่ๆๆๆ

คนกรุงเทพซื้อปุ๊บถมที่เลย

ถมปุ๊บป่าชายน้ำก็ตายหมด

พอตายหมดทำไง สร้างเขื่อนแข็ง คลื่นก็ซัดโครมๆ

ที่นี้ขโมยก็เข้ามาทุกทิศเลย

ก็ไปหาหมาฝรั่งหน้าโง่มาเลี้ยงแข่งกับเจ้าของ  เอ๋ง เอ๋ง เฮ้อ..

ถามว่า  สู้น้ำท่วมอย่างที่ทำๆอยู่นี้ชนะไหม?

สภาวะแบบนี้จริงๆแล้วเป็นภาวะชั่วคราว

เราอยู่ในประเทศมรสุม พอถึงเดือนอย่างนี้มันก็ต้องเจออย่างนี้ใช่ไหม

แต่ว่าเมื่อก่อน มัน เ ป็ น น้ำ ท่ ว ม ผ่ า น ไม่ ใช่ น้ำ ท่วม ขัง

บ้าๆแท้ๆเลย.. ไ ม่ ช อ บ น้ำ ท่ ว  ม แ ต่ พ า กั น ทำ แ ต่ วิ ธี ขั ง น้ำ

มีสตางค์มันไม่ได้บอกว่า ฉลาด หรอกนะ

ทะลึ่งแห่ไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในที่ลุ่มอยุธยานับพันโรง

ท่วมให้เจ๊งบ้างก็สมควรแล้ว

พระสยามเทวาธิราชต้องการให้ที่ลุ่มภาคกลางเป็นแหล่งผลิตอาหาร

ยังทะลึ่งไม่พอนะ นี่จะไปสร้างบ่อนที่ทุ่งกุลาร้องไห้อีก

มันคิดแต่เรื่องห่วยแตกทั้งนั้น

พวกสมองหมาปัญญากระบือ อิ อิ


ครูทุ่งกุลาร้องไห้

อ่าน: 2491

(ลูกสาวครูบาจากสารคาม)

Key Word :: ถ้าครูเป็นทุกข์ เด็กไทยจะเป็นสุขได้อย่างไร?

กลับไปแล้วครับบ่ายนี้ คณะครู 50 กว่าชีวิต จากโรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร จังหวัดมหาสารคาม ชวนกันยกทีมข้ามทุ่งกุลามานอนร้องไห้ที่สวนป่าเมื่อคืนนี้  ทุกท่านบอกว่านอนหลับสบายดี ก็แหงละ..เพราะไม่ได้นอนใกล้คนหลายใจ มีฝนปรอยๆเล็กๆมารอบดึก ส่วนบ้าน6เหลี่ยมยกให้อาจารย์ชายพำนักกัน ทราบว่าถกกันสารพัดเรื่องจนค่อนคืน คงจะเป็นครั้งแรกกระมังครับที่คุุณครูทั้งโรงเรียนขึ้นรถลงเรือลำเดียวกัน ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ อาจารย์แต่ละกลุ่มวิชามาพร้อมหน้าพร้อมตากัน การมาที่นี่อาจจะแปลกกว่าทุกครั้งที่มีการจัดประชุม ซึ่งจะเลือกโรงแรมที่การบริหารจัดการสะดวกสบาย ไม่ลำบากกายใจอุดตลุดในที่นี้

อาจารย์บางท่านคงเห็นเส้นทางขรุขระตอนเข้ามา

ถามว่า “ทำไมไม่มีป้ายติดบอกเส้นทาง เรื่องนี้ต้องการให้มีการใส่ใจในการที่จะศึกษาดูงานนอกสถานที่ ต้องเตรียมการอะไรบ้าง นับต้ังแต่การหารืออกแบบกิจกรรม กำหนดเป้าหมาย อย่างน้อยก็เข้าไปอ่านในลานปัญญา เข้าไปศึกษาเส้นทาง หรือย่องมาคุยมาดูล่วงหน้า แหม..ตอนพระพุทธเจ้าออกผนวชไม่เห็นมีป้ายบอกเส้นทางนี่น๊า เรื่องนี้คงเป็นอัตลักษณ์ของที่นี่ไปแล้วละครับ ใครมาเป็นต้องบ่นเรื่องคุณภาพของถนน-ป้ายไม่มี ก็จำเป็นละครับเพราะความจริงมันก็สมควรบ่นๆๆ ทำให้อึดอัดงึมงัมเป็นหมีกินผึ้ง

พามาทำไมในป่าอย่างนี้ก็ม่ายรู๊

บ้าแท้ๆเลย..มาดูงาน มาสังคายนาอะไรกันในป่า

ม ด เ จ้ า ชู้ ตั ว ดำ ๆ กั ด เ จ็ บ แ ส บ ถึ ง ใ จ

ยุ ง ฟั น ห ล อ ก็ จ ะ แ อ บ ม า ข ย้ำ แ ก้ ม น ว ล  เ ข้ า ไ ป อี ก

เฮ้อครูหนอครู สอนก็ยุ่งอยู่แล้ว จะมาอบรมยังมายากยุ่งเข้าไปอีก

บ่นได้บ่นไป หลงเข้ามาแล้วทำไงละ

ผีถึงป่าช้าไม่ฝังก็เผา อิ อิ

อาจารย์ฝนพาครูมาปิดประตูตีแมวแท้ๆเลยเชียว เฮ้อๆๆๆ…

สงสัยว่าคณะที่มาคงจะเข็ดขี้แก่ขี้อ่อน

คงจะจำซึ้งตรึงใจกับมหาชีวาลัยอีสานไปนานแสนนาน

โจทย์ : จะทำยังไงให้เป็นโรงเรียนแห่งความสุข

วิสัยทัศน์เยี่ยมเลยละครับ ที่คุณครูทั้งโรงเรียนจะได้ค้นคิดหาความสุขให้เจอ  ช่วงที่แบ่งกลุ่มให้นำเสนอประเด็น คุณครูคิดและทำได้บรรเจิดมาก ค รู บ อ ก ต้ อ ง มี ร อ ย ยื้ ม  ก็แน่ละ รอยยิ้มของคุณครูประเมินอะไรได้เกือบหมด คนไม่มีความสุขจะยิ้มออกรึ จะฝืนยิ้มก็ใช่ที่ ครูสตรีจึงยิ้มโชว์เป็นปัจจัยเสริมการนำเสนอ จ๊าบส์จริงๆขอบอก อีกคณะหนึ่งออกมาร้องเพลง

โรงเรียนของเราน่าอยู่

คุณครูใจดีทุกคน

เด็กๆขยันอดทน

เด็กทุกคนชอบมาโรงเรียน (ซ้ำ)

(ดร.จิระพร ชะโน จาก ม.สารคาม นำขบวนมาในครั้งนี้)

แหมเอาแบบหวานคอแร้งเลยนะนี่ คิดได้ไงก็ไม่รู้ ทำให้บรรยากาศชื่นมื่น ถ้าแปลงเพลงที่ร้อง ให้ออกมาเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจริงก็เยี่ยมเลยละครับ เรื่องอย่างนี้ต้องค่อยๆแกะรอยหาจุดที่ความสุขหลบซ่อน แล้วชวนให้ออกมาสู่ทั่วบริเวณของสถานศึกษา ซึ่งมีองค์ประกอบเชื่อมโยงกันมากมาย เช่น ความพร้อมด้านอาคารสถานที่ สื่อการสอน ความสะอาด ความปลอดภัย กำลังใจ ..ไม่ใช้ครูไปทำงานนอกลู่จนหัวปักหัวปำ พวกที่มาทำการประเมินนี่แหละตัวดี ถือว่ามีอำนาจก็ชี้นิ้วสั่งได้สั่งเอา ทำให้ชั่วโมงสอนถูกเบียดเบียน เด็กด้อยโอกาสถูกฉวยเวลาไปอย่างน่าเสียดาย สอนก็ยุ่งและยุ่งอยู่แล้ว ต้องมาทำประเมินที่น่าเบื่ออีก

งานประเมินก็สำคัญนะครับ แต่ควรจะออกแบบอย่างไรให้คุณครูสะดวก และเข้าใจถึงความสำคัญ มีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม มาแนะกระบวนการให้ครูเก็บเกี่ยวผลการเรียนการสอน แล้วหยิบยกเนื้อหาที่ทำการสอนมาเป็นผลประเมินของคุณครู ได้ชี้แจงชัดๆบ้างไหมเล่า หรือคนสั่งก็ยังไม่รู้ว่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้ยังไง ถ้าคิดแต่จะสั่งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงบริบทของโรงเรียนที่หลากหลายระดับ คำสั่งแบบเหมาโหลมันง่ายใช่ไหมละ ขืนไม่เปลี่ยนแปลงเดี๋ยวก็รู้หมู่หรือจ่า..ครูฮึดขึ้นมาอย่าว่าหล่อไม่เตือนนะต๋อย..อิ อิ..

(นั่งล้อมวงดูหน้ากันได้ครบถ้วน)

ไม่ทราบว่าประเมินแล้วเอาไปจัดการอะไรบ้าง

ดีแต่สั่งๆๆๆ..สั่งได้สั่งเอา พวกเมาคำสั่ง..

ตัวชี้วัดชี้โบ้ชี้เบ้ก็มากหลายกระบุงโกย

ผลการสอบของเด็กเป็นไง

ไต่ขึ้นจากเส้นยาแดงผ่าแปดได้ไหม?

เท่าที่ทราบก็โทษครูโทษโรงเรียนแต่ไม่ยอมโทษตัวเอง

ตราบใดที่พวกหอคอยงาช้างยังเซ่อทำแต่เรื่องกระพี้

ลูกหลานไทยก็บรรลัยกันทั้งประเทศละครับ

ผมไม่เชื่อว่า..

คนโง่จะบริหารการศึกษาให้ดีได้

คนขี้เกียจจะสอนให้เด็กขยันได้

คนไม่มีระเบียบจะสอนให้เด็กเรียบร้อยได้

คนไม่มุ่งมั่นจะสอนให้เด็กเก่งได้

คุณภาพและมาตรฐานทั้งกระทรวงศึกษาธิการจะต้องเป็นอะไรที่หวังได้มากกว่านี้ ปัญหาของการศึกษา ทุกกรมกอง ทุกกระทรวง ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการศึกษา อย่าเป็นหมาหวงก้าง เรื่องของข้าใครอย่าเตะ ถ้าไม่ใช่ครู..อย่ามายุ่งกับการศึกษา ถ้ายังคิดอย่างนี้ก็ตายอย่างเขียด..

(คนสวยนั่งหน้า มาช้านั่งหลัง)

งานค่ายครั้งนี้มีการคุยกันเรื่องไอทีเพื่อการศึกษา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งสันทัดกรณีทางด้านนี้ ได้เสนอรูปแบบและวิธีการใช้ไอทีของคุณครู ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร ขอแยกแยะดูว่าครูแต่ละท่านสามารถใช้ไอทีในระดับไหนได้บ้าง แล้ววางแผนที่จะเพิ่มเติมขั้นตอนการปฏิบัติในเวลาถัดไป ซึ่งก็ดีนะครับ ยุคนี้เป็นยุคไอที ถ้าเรายังอยู่ในอาการขอไปที คงจะตกรถไฟขบวนสุดท้ายกระมังครับ ถ้าตั้งใจศึกษาวิธีการใช้ไอทีให้เป็นพี่เลี้ยง เป็นครูเครื่อง ขึ้นมาอีกแรงหนึ่ง คุณครูก็จะมีแต่ได้กับได้ มีผู้ช่วยเสริมการสอนอย่างลื่นไหล ยังไงๆก็ดีกว่าไม่มีตัวช่วยละครับ

ตามปกติเวลาที่คุณครูกลุ่มใหญ่อยู่ด้วยกัน ก็เสมือนสามล้อถูกหวย คุยกันลั่น ผมชอบนะขอบอก ครูคุยกันดีหน้ากว่าหน้าบูดเข้าหากัน เพียงแต่ตอนคนอื่นพูดก็ขอให้หยุดฟังบ้าง มันก็คงเหมือนกับเวลาครูสอน ถ้าเด็กเอาแต่คุยกัน ครูจะอิดหนาระอาใจอย่างไรอย่างนั้น ปกติก็จะเว้นวรรคให้คุยให้ถาม  แต่ก็ไม่ค่อยถาม ต้องเปลี่ยนเป็นโยนไมค์ทิ้งแล้วคุยกันปากเปล่า เออ..วิธีนี้ดีแฮะ คุณครูรู้สึกผ่อนคลายตรงที่ไม่ต้องทำอะไรเป็นทางการนี่แหละ ค่อยๆกระแซะมาล้อมวงสนทนาภาษาคนบ้านเฮา เปิดกรุเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ เริ่มถามเป็นชุดๆเหมือนกัน

บางคนเล่าว่า นอนอ่านหนังสือเจ้าเป็นไผ กับหนังสือ นี่ไงแห้ว ทั้งคืน

ทำให้ทราบข้อมูลของที่นี่และเครือข่ายชาวเฮ

ตอนเช้ามาขอสมัครเป็นลูกสาว

ผมก็เลยได้ลูกสาวเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคนนะสิ

เธอบอกว่าจะเข้ามาอ่านและเขียนบล็อกในลานปัญญา

มาเมื่อไหร่ช่วยกันรับน้องด้วยนะพี่ป้าน้าอาทั้งหลาย

เ ธ อ ชื่ อ คุ ณ ค รู ปิ ย ะ ธิ ด า    คุ ณ ะ ดิ ล ก

เธอเข้าตามตรอกออกตามประตู

ต า ม ธ ร ร ม เ นี ย ม ค น ส กุ ล เ ฮ

ม า ข อ ก อ ด พ่ อ ก่ อ น ขึ้ น ร ถ . .

ขอให้เดินทางปลอดภัยไร้ยุงไรมาไต่ตอมนะ หญิง นะ ..

(ต้นหยีน้ำ พืชพลังงานตัวใหม่ที่กรมป่าไม้เอามาให้ปลูกวิจัย)

:: วันนี้เจอไป 3 คณะ หลังจากคุณครูสารคามกลับไปช่วงบ่าย

:: ถัดมาหน่อยคุณวิฑูรย์จากกรมป่าไม้มาวัดต้นไม้และเอาต้นหยีน้ำมาฝาก 260 ต้น

:: ตะกี้ คณะSCG.บอกว่ามาถึงปักธงชัยแล้ว คงจะมาถึงช่วงเย็นเล็กน้อย


วิชาเตะอั๋ง

อ่าน: 2658

วันนี้ลูกหลานจากราชภัฏบุรีรัมย์มาเยี่ยม เธอเหล่านี้เป็นนักศึกษาปี4คณะวิทยาการจัดการ อาจารย์พิสมัย ประชานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ พาลูกศิษย์มาลุยด้วยตัวเอง อาจารย์บอกว่า นักศึกษากลุ่มนี้ใกล้จะจบการศึกษาแล้ว อยากจะให้มีอะไรติดในห้วงคำนึงออกไปบ้าง หลังจากหาทางเข้าสวนนานพอสมควร จนกระทั้งมานั่งเอี้ยมเฟื้ยมคุยกัน ผมก็บอกว่า..วันนี้เราจะเรียนแบบสบายๆ เรียนให้สนุก ยังไงก็ได้ไม่มีผิดมีถูก อยากรู้อะไรก็จะเล่าให้ฟัง

เปิดประเด็นว่าด้วย วิ ช า เ จ้ า เ ป็ น ไ ผ

นักศึกษาแนะนำตนเอง

ทราบว่ามีภูมิลำเนาอยู่อำเภอเมืองกับอำเภอนางรอง

ผมเกริ่นเรื่องกว้างๆเกี่ยวกับสถานการณ์โลก อเมริกา ยุโรป จีน อินเดีย กลุ่มอาเชียน แล้วมาจบลงที่ประเทศไทย แสดงทัศนะส่วนตัวว่าเราคิดอย่างไร มาขมวดตอนท้ายว่า..คิดอย่างเรานั้น..คิดอย่างไร เพื่อจะนำไปสู่การตีแตกความรู้สึกนึกคิด คิดจนแตกมันว่างั้นเถอะ จะได้แยกได้ว่าอะไรเป็นหัวกะทิอะไรหางกะทิ

แล้วก็มาปักหมุดลงที่มหาชีวาลัยอีสาน

ว่าคิดอะไร ทำอะไร ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

บอกนักศึกษาว่า..นี่หนูรู้ไหม ถ้ามองออกไปรอบตัว..ทั้งหมดที่เห็นนั้นแหละคือตำราเรียนของที่นี่ ซึ่งแตกต่างจากตำราที่เป็นตัวหนังสือ เป็นตำราที่มีชีวิต เ รี ย น แ บ บ ตำ ต า ตำ ใ จ ..เด็ดก็ได้ ดมก็ได้ ชิมก็ได้ กระดิกกระเด้งกระดอนได้ ติดดอกออกผลได้ การที่อาจารย์พาหนูมาที่นี่ หนูก็จะได้สัมผัสตำราในมิติใหม่ ได้เห็นได้อยู่ในโลกแห่งความจริง ไม่ใช่โลกเสมือนจริงซึ่งพวกเราอลเวงกันอยู่ ยกตัวอย่างหนูพูดโทรศัพท์ ได้ยินเสียงได้รับการโต้ตอบ รับฟังได้เข้าใจได้ แต่มันสู้คุยกันเห็นหน้าเห็นตาอย่างนี้ไม่ได้หรอก

ข อ เ ต ะ อั๋ ง ห น่ อ ย . .

หนูคนที่นั่งใกล้ยื่นฝ่ามือมา

ดูเส้นลายมือแล้วว่างๆไม่ค่อยมีเส้นยุ่งเหยิง

แสดงว่าหนูคนนี้เป็นคนสบายๆมีชีวิตที่ไม่ซับซ้อนอะไรมาก

ดวงเกิดมาสบายๆว่างั้นเถอะ

ที่จริงการขอดูมือก็เพื่อจะอธิบายจากการปฏิบัติให้เห็นว่า

การเรียนสายตรงสื่อสารกันตรงๆไม่อ้อมค้อมไม่เสียเวลา

นักศึกษาควรเรียนวิชาตั้งคำถาม

จะตั้งประเด็นได้ดีเราต้องมีต้นทุน

ก่อนจะมาที่นี่ถ้าเข้าไปอ่านลานปัญญา/ลานสวนป่าก็จะได้ข้อฉุกคิด

แง่นี้ต้องการ อ ธิ บ า ย วิ ธี เ รี ย น แ บ บ ส ด ๆ มี ชี วิ ต ชี ว า

เพื่อเสริมการ เ รี ย น แ บ บ เ หี่ ย ว ๆ อ ยู่ ใ น ห้ อ ง

การจัดการศึกษาหาความรู้ลักษณะนี้ จะมีปัญหาอยู่ตรงที่อาจารย์ไม่มีเวลา นักศึกษาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องออกมาเรียนแบบระหกระเหินด้วย อยากจะเรียนง่ายๆสบายๆจบเร็วๆ การศึกษาจึงก้าวเดินออกมานอกรั้วสถาบันไม่ค่อยจะได้ เพราะทุกฝ่ายยังไม่เห็นความสำคัญอย่างแท้จริง อนึ่ง สถานที่จะไปก็ไม่ทราบว่าจะว่างตรงกันหรือเปล่า ไปแล้วจะได้รับผลตามที่คาดหวังไว้หรือเปล่า มันถึงไม่ง่ายยังไงละครับที่จะให้นักศึกษาพบกับวิธีเรียนรูปแบบนี้ อาจารย์ท่านใดอยากจะจัดไปก็จัดไปสิ อีกทั้งกระแสนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างการศึกษาเท่าที่ควร การพิจารณาความดีความชอบ แทนที่จะพิจารณาจากการจัดการสอนหรือผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการสอนเชิงรุก ก็ไปพิจารณาจากเอกสารเถื่อนบ้าๆบอๆ ถ้าเราไม่ช่วยกันเอาการศึกษาออกจากเงามืด เราจะมีอะไรไปเชื่อมโยงกับอาเชี่ยนครับ

ผมเห็นใจอาจารย์ที่นำนักศึกษาออกมาเรียนนอกสถาบัน

ให้นักศึกษาเคารพรักและชื่นชมอาจารย์ของตนให้มาก

วันนี้นักศึกษามา 1 รถตู้ ประมาณ 8 คนกำลังเหมาะ

ถ้ามามากๆจะโยกจะโอนความรู้ให้ไปคิดต่อได้ไม่ละเอียด

ความพอเหมาะพอดีทุกมิติจึงเป็นเรื่องสำคัญ

นักศึกษายุคนี้ต้องเรียนวิธีค้นหาความรู้ เพราะโลกของเทคโนโลยีเข้าถึงทุกถิ่นทุกทิศทุกทาง ปัญหาอยู่ที่ว่า เราต้องตระหนักถึงอิทธิพลและอานุภาพของระบบการสื่อสารยุคใหม่ ว่าแล้วก็โชว์ไอโฟน4เสียเลย ไม่รู้แหละ..อะไรที่อยู่ใกล้มือยิบมาเป็นอุปกรณ์การสอนได้ทั้งนั้น ผมกดโปรแกรมอะไรเอ่ย! เลือกคำทายสนุกๆ..แค่นี้ก็ได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะรอบโต๊ะ..ก็บอกแล้ว การเรียนทำไมต้องเครียดด้วย เรียนไปยิ้มไปนะทำได้.. จากนั้นก็ฉอดๆๆต่อ..หนูอยู่ในสถาบันฯก็เรียนจากสื่ออยู่แล้ว ม า วั น นี้ ม า เ รี ย น กั บ สื่ อ มี ชี วิ ต ถ้าได้เตรียมความพร้อมมาก็สอบถามสัมภาษณ์ได้ทุกแง่มุม เปรียบเสมือนการค้นความรู้ในคอมพิวเตอร์นั่นแหละ เพียงแต่วิธีใช้ต่างกันบ้างเล็กน้อย ต้องรู้ว่า..

ค อ ม พิ ว เ ต อ ร์ ต้ อ ง ก ด ต ร ง ปุ่ ม ไ ห น ?

ค น ตั ว เ ป็ น ๆ จ ะ ต้ อ ง ก ด ที่ จุ ด ไ ห น ?

ทุกกลไกมีระบบกำกับไว้

คอมพิวเตอร์กดไม่ถูกเครื่องแฮ็งค์เอาง่ายๆ

คนเรามีหลายปุ่มนะหนู กดผิดกดถูกเกิดเรื่องเชียวแหละ

ดังนั้นวันนี้เรามาเรียนวิชากดปุ่มแต่ละประเภทดีไหม?

(บางคนมองเฉยๆ แต่หนูคนนี้วิ่งไปอุ้ม..)

เครื่องมือในการเรียนรู้นอกสถานที่ ผมนิยามให้ว่า..เ ป็ น เ ดิ น เ ข้ า ห า ตั ว รู้ แทนที่จะปักหลักอยู่กับที่ คอยให้ความรู้วิ่งมาหา..เมื่อไหร่มันจะทันการละเธอ ยุคสมัยนี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน ไม่ใช่เฉพาะมือใครยาวสาวได้สาวเอาหรอกนะ มันต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนเชิงรุก น อ ก จ า ก ลุ ก จ า ก เ ก้ า อี้ แ ล้ ว ต้องเร็วต้องพร้อมอย่าเรื่องมาก มีเงื่อนไขอืดเป็นเรือเกลือ ทำให้เสียเวลาเสียโอกาสโดยไม่รู้ตัว พยายามเอาตัวไปสู่สนามเรียนรู้ให้ฉับไว วางแผนเก็บเกี่ยวความรู้ให้พร้อม ชาวนาเกี่ยวข้าวใช้เคียว หนูนักศึกษาจะใช้อะไรเก็บเกี่ยวความรู้ สมุด-ปากกา-กล้องถ่ายภาพ-เทปบันทึกเสียงมีมาไหม? จิตใจ-อารมณ์เป็นอย่างไร? ไม่ใช่อาจารย์ให้ชวนมาก็มาแบบซังกะตาย ถ้าเริ่มจากความรู้สึกที่อับเฉา เราจะเปิดโลกกว้างให้ทุกอย่างเป็นครูได้อย่างไร ควรมีเป้าหมายในใจว่าวันนี้เราจะเรียนให้บรรเจิดเพลิดเพลิน

(นักศึกษาควรจะขอบคุณอาจารย์ที่เมตตาพาออกมาหาความรู้)

ทำไมต้องทุกข์กับการเรียนรู้ด้วย

มหาชีวาลัยอีสานกำลังทำการบ้าน

ในค้นหาวิธีเรียนให้สนุกได้อย่างไร?

มาพิเคราะห์ดูแล้วถ้าเรียนตามระบบในห้องคงยากที่จะสนุก

แต่ถ้ามาเรียนนอกห้องในสภาพแวดล้อมที่ตัวความรู้ซ่อนอยู่ในธรรมชาติ

อาจจะยิ้มง่ายคลายกังวลได้สะดวกกว่า

การเข้าไปควานหาตัวความรู้แบบใหม่นี่เอง

จะเป็นวิธีสร้างเสริมประสบการณ์ตรง

เกิดการฉุกคิด เอ๊ะนั่น เอ๊ะนี่ อยู่ไหนน๊า..เจ้าความรู้เอ๋ย

ตรงจุดนี้จะเข้าสู่วิชาวิธีคิด

จะคิดได้ ต้องมาจากการได้คิด

เมื่อได้คิด ก็จะได้ตัวความรู้สึกนึกคิด

ความรู้สึกนึกคิดจะเป็นมัคคุเทศก์นำเราไปสู่กระบวนการคิด

ถ้าได้กระบวนการแล้ว..

หนูก็จะเป็นคนขี้สงสัย อยากรู้ อยากเห็น อยากทดลอง อยากทำวิจัย

เปลี่ยนจากคนอือๆออๆยังไงก็ได้

จะให้ทำอะไรบอกมาเลย

มาเป็นคนที่มีคำถามในหัวใจ

ไม่อย่างนั้น..ขืนปล่อยไปนานๆก็จะกลายเป็นคนสิ้นคิดนะสิ..

หลังจากยั่วยุไปประมาณนี้ นักศึกษาเริ่มกล้าที่จะถามประเด็นต่างๆมากขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะถามความคิดเรา เรื่องนี้ทำอย่างไร คิดอย่างไร เป็นมาอย่างไร แหม ถามอย่างนี้ก็ง่ายเหมือนปอกกล้วยนะสิ เพราะเราคิดอยู่ทุกมื่อเชื่อวัน ก็เลยโยงไปเรื่อง”โมเดลบุรีรัมย์” เพื่อจะชวนไต่ความคิดว่า

..เราเป็นคนบุรีรัมย์ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง สภาพเศรษฐกิจสังคมเป็นอย่างไร การเมืองส่งผลอะไร หนูเห็นไหมถนนที่เข้ามาทรุดโทรมยับเยินยิ่งกว่าผิวโลกพระจันทร์ เข้าไปดูที่นโยบายสิ เขาว่าไว้อย่างไร อ๋อ..เขาทำนโยบายเรื่องถนนปลอดฝุ่นใช่ไหม ไม่ได้ทำเรื่องถนนปลอดหลุม นโยบายขี้ฝุ่นมันก็ไอ่แค่นั้นแหละต๋อยยย..

ผลประกอบการของแต่ละพรรคการเมืองดูได้จากตอนเลือกตั้ง ทุกพรรคต้องเค้นคิดว่าทำอะไรไว้บ้างและคิดที่จะทำอะไรต่อไป บางพรรคไม่ได้ทำอะไร เอาแต่ปัดฝุ่น เรื่องอื่นไม่มีไม่ได้ทำจึงจุดจู๋ไม่รู้จะเอาอะไรมาหาเสียง

ค น ส ตึ ก จึ ง ต้ อ ง ม า ทำ น โ ย บ า ย “บุรีรัมย์โมเดล” ยังไงละเธอ

คนอยู่บุรีรัมย์ ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าจะพัฒนาบุรีรัมย์ให้รอดพ้นวิกฤติได้อย่างไร หนูเห็นไหมทำไมคนบุรีรัมย์ถึงทิ้งถิ่นทิ้งไร่ทิ้งนา บากหน้าไปเป็นกรรมกรในกรุง

เกิดอะไรขึ้นที่บุรีรัมย์

มันเสียหายจนคนอยู่บุรีรัมย์ไม่ได้เชียวหรือ

มีแนวทางใหม่ๆอะไรบ้าง ที่จะเข้ามาเสริมสร้างอาชีพการงานให้คนบุรีรัมย์

จะเปิดพื้นที่ทางสังคม

เปิดโอกาสการเรียนรู้

รึ..จะผลิตนักฟุตบอลไปลุยตลาดโลก

แข่งบอลมันก็ไม่เสียหายอะไรหรอก แต่ต้องการเห็นโครงสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่หลากหลาย กิจการงานที่ทำให้คนบุรีรัมย์ลืมตาอ้าปากได้ มีนโยบายอะไรที่ทำให้คนบุรีรัมย์..ตั้งสติตั้งตัวได้ ช่วยกันทำข้อสอบดีไหม จะลดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร?

ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ

ลดความเสี่ยงจากระบบปลาใหญ่ไล่เจี๊ยะปลาเล็ก

ลดความรู้สึกที่ไม่เชื่อมั่นในอาชีพการงานของตนเอง

ลดความหมางเมินในการแสวงหาความรู้

ลดพฤติกรรมติดลบต่างๆ

ลดการกระเหี้ยนกระหือกับนโยบายลดแลกแจกแถม

ลดการเดินตามคนอื่นต้อยๆโดยไม่ยั้งคิดอะไร

ลดความคิดที่จะเป็นเพียง..ลูกคุณช่างขอ

มีคำถามจากวงสนทนาว่า..ผมจะขยายหรือขายความคิดนี้อย่างไร แหมเรื่องอย่างนี้คิดทำคนเดียวได้ก็บ้าแล้ว ผมก็จะโยนความคิดนี้ลงสู่พื้นที่สารธารณะ กระแซะลงไปในเวทีประชุมสัมมนาเชิงนโยบายของสภาพัฒน์ฯ สภาวิจัยฯ รายการวิทยากรที่ไปโม้ สื่อหนังสือพิมพ์ ทีวี เขียนผ่านบล็อก แม้แต่คณะต่างๆที่มาเยี่ยมมาดูงาน เช่น คณะของหนูจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เราก็มานั่งเว้ากันเรื่องนี้ใช่ไหมละ

ที่สำคัญ ขีดเส้นใต้ไว้เลย

เดือนหน้าหนังสือ”บุรีรัมย์โมเดล1 คลอดแน่ๆ

ท่านใดที่ช่วยอ่านหนังสือเล่มนี้

เท่ากับเป็นเจ้าภาพร่วม หนังสือ”บุรีรัมย์โมเดล” โดยปริยาย

ถามว่า..ในสารบัญมีเรื่องอะไรบ้างละ

โอ้ยโย่! เยอะๆๆ ..แม้แต่เรื่องที่เราคุยกันวันนี้

ก็น่าจะเอาไปลงพิมพ์

เพื่อจะประกาศว่า..

มหาวิทยาลัย ร า ช ภั ฏ บุ รี รั ม ย์

ไม่ใช่สถาบัน “พอกระเทิน” แล้วนะโว้ ย ย ย ย ย !



Main: 0.10885787010193 sec
Sidebar: 0.067625045776367 sec