ถามมาตอบไป

อ่าน: 2394
หนาวไหม หนาวไหม คนดี
คนไหนมีคู่ก็คงสุขล้น
คนไหนรักหล่นก็ต้องทนหนาวไป อิ อิ
และแล้วสวรรค์ก็ประทานลมหนาว มาให้คนชอบหนาวได้ระรี้ระริก หลายครอบครัววางแผนเดินทางไปสัมผัสหนาวที่ยอดดอย ไปกางเต็นท์ ไปหุงหาอาหาร ใช้ชีวิตช่วงสั้นอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่เยือกเย็นแต่อุ่นอิงใจ ก็ ดี น ะ ค รั บ .. ออกไประบายอากาศเสียเก่าๆออกทิ้งบ้าง สูดโอโซน ผิงไฟ ใส่เสื้อหนาว ชมดาว ชมทะเลหมอก จิบชา อาบแดด ไปเยี่ยมแม่คะนิ้ง ถ่ายภาพที่ระลึก
รอยต่อกาลเวลา..ระหว่างปีเก่าเข้ามาหาปีใหม่
คนสวยมีแผนไว้ในใจแล้วหรือยัง
มีคนถามว่า พ่อปีใหม่ไปไหนหรือเปล่า
คงไม่ไปไหนหรอกนะครับ ?
จะอยู่กับน้องหนาวให้จุใจ
ห่วงใยการเดินทางในช่วงนี้..
รถราประจัญบานกันมากเหลือเกิน
จราจรแทบจราจล..
ถ้าจำเป็นต้องเดินทาง ควรคืบคลานใจเย็นๆนะน้อง
กลางดึกเมื่อคืนนี้ ระหว่างหลับอย่างสุขารมณ์ ลมหนาวกระโชกแรงมาก ชายมุ้งปลิว เสียงสิ่งของตกหล่นเปรี้ยงปร้าง ร่มปลิวไปหลายเมตร ใบไม้ที่ร่วงอยู่ก่อนแล้ว ลอยปลิวไปจนลานซีเมนต์เกลี้ยงเกลา เออ..เทวดาก็มาช่วยกวาดบ้านด้วย ลมแรงจริงๆนะเธอ ยังดีที่ไม่แตกตื่นนึกว่า โลกแตก.. ลุกมาปิดชายมุ้ง ..แล้วมุดเข้าไปนอนคลุมผ้าผวยเหมือนเดิม รู้สึกหนาวเหน็บ.. คนมีคู่อยู่คนละบ้านละเตียงก็ต้องทำใจ
แต่ก็ดีนะ ที่ไม่ต้องเดินทางไปหาความหนาวเย็นบนยอดดอย
นอนสัมผัสหนาวแบบพอเพียง
จะนอนเอียง นอนแผ่ นอนคุดคู้ ก็อยู่บนเตียงเราเอง
จึงไม่กลัวหนาว หนาวมาเล๊ยๆๆ
เย็นวานมีคณาจารย์หลายท่านมาเยี่ยม บางท่านเคยเป็นอธิการบดี บางท่านเป็นคณะบดีที่รู้จักกันมานาน ท่านเคยมาเยี่ยมยามผมเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว การมาครั้งนี้จึงมีคำถามใหม่ๆ คณะฯเล่าว่า..ระหว่างเดินทางก็เกิดคำถามขึ้นในหมู่กันเอง ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง..เมื่อมาพบหน้าก็มาเอาคำถามจากตัวเป็นๆดีกว่า
อาจารย์พจน์ พรหมบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
เปิดประเด็นว่า..คำถามอะไร? ที่ผมเจอมากที่สุด
คำตอบ
1. มีที่ดินเท่าไหร่
2. มีรายได้จากอะไร
3. ดูแลรักษาสุขภาพอย่างไร
4. ยังเที่ยวตระเวนไปนอกบ้านมากไหม?
5. หมู่นี่ยังเขียนหนังสือเขียนและพิมพ์หนังสืออะไรบ้าง?
6. เรื่องอื่นทั่วไป
หลังจากผมเรียงลำดับคำถาม อาจารย์ก็สรุปว่า..คนทั่วๆสนใจเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เรื่องความรู้ความคิดไม่ค่อยจะใส่ใจกันเท่าที่ควร สิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมของคนไทยสมัยนี้ไปแล้วก็ไม่รู้นะ
ข้อที่ 1 เรื่องที่ดิน ทุกคนอยากจะมีพื้นที่ทำกินกันมากๆ ในระดับครัวเรือนทั่วไป ในความคิดผมมีที่ดิน10 ไร่ ก็ทำไม่ไหวแล้วละครับ แค่ปลูกผักกินเองไร่เดียวนี่ก็ไม่ได้พักได้ว้างเว้นเลย ไม่เชื่อก็ลองดู คนที่มีที่ดินมากควรจะมีความรู้ความเข้าใจมากๆ ถ้ากึ๋นไม่พอ มีที่ดินมาก ก็จะทำลายสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินให้เสื่อมโทรม ทำให้โลกร้อน โลกวิบัติ ตนเองก็ใช่ว่าจะได้อะไรจากการทำเกษตรฯแบบมักง่าย เรื่องน่าคิดนะครับ
กลายเป็นว่ามีที่ดินมากหรือน้อย
ถ้าความรู้จิบจ้อย..มันก็นำมาสู่ความเสื่อมโทรม!
ปรากฏการณ์เรื่องนี้ดูได้จากการทำการเกษตรในบ้านเมืองเรา
มีเกษตรกรสักกี่ครัวเรือนที่ทำการเกษตรแบบไม่ล้างผลาญแผ่นดิน
ข้อที่ 2 มีรายได้จากอะไร?
ข้อนี้มีคนสงสัยมาก ด้วยไม่เห็นผมทำกิจการอะไรที่พอจะมีรายได้เป็นน้ำเป็นเนื้อ ทำอะไรเล่นๆ เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ เผาถ่าน ไม่เห็นการรูปแบบการจำหน่าย ใครเห็นก็งงและมึนตึบ ผมจะขออธิบายว่า ผมไม่มีรายได้แน่นอน มีแค่ไหนก็ใช้แค่นั้น ไม่มีก็ไม่ทำ..ไม่ขยายงานอะไร นอนดูใบไม้หล่นไปวันๆ อยู่ได้เพราะไม่มีหนี้สักกะบาท คนไม่มีหนี้นี่มีอิสระนะเธอ มีหนี้ก็เหมือนมีไฟลนก้น อยู่นิ่งๆเฉยๆไม่ได้ ต้องดินรนหาเงินไปถวายให้คนอื่น เป็นขี้ข้าของระบบการเงินที่เอามาใช้ล่วงหน้า คนเป็นบ้าเป็นหลังก็เพราะเป็นทาสเงินกู้ทาสหนี้จิปาถะนี่แหละ ที่ผ่านมาผมเป็นคนที่เทวดาเลี้ยง ถ้าช่วงไหนไม่มีเงินใช้ ก็มักจะมีคนอุปการะ เงินลอยมาจนได้แหละ ไม่มากหรอก แต่ก็ไม่ขาดมือ แต่เราต้องสำเนียกว่า ..มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง
ขอเปิดเผยว่า..
ผมไม่มีเงินเดือน มีแต่เงินดิน
เงินดินเหมือนไข่ห่านทองคำ หรือน้ำซึมบ่อทราย
อย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่า..ไม่มีต้นไม้ต้นไหนมันขี้เกียจ
การที่ต้นไม้..เจริญเติบโตขึ้นทุกวัน..แสดงว่ามูลค่าเพิ่มทวีคูณทุกวัน
ต้นไม้ยิ่งโตก็ยิ่งแพงใช่ไหมละเธอ
บางคนคิดว่าปลูกต้นไม่มันนาน รอไม่ไหว ไม่ทันกิน ไม่เข้าใจวิธีทำวิธีได้ ขออนุญาตขยายความดังนี้..ต้นไม้นั้นมีหลายประเภท..ไม้ผักยืนต้น ไม้สมุนไพร ไม้ใช้สอย ไม้เศรษฐกิจ ไม้เพื่อพลังงานทดแทน พืชผักผลไม้ พืชผักตามฤดูกาล ไม้ล้อม ไม้ประดับ ไม้ประแดก ไม้ติดแผ่นดิน คนที่มีไม้สารพัดชนิด ก็เท่ากับมีต้นทุนปัจจัยการผลิตอยู่ในมือใช่ไหมละเธอ อยู่เฉยๆก็มีรายรับจากดอกเบี้ยของต้นไม้ทุกๆต้นทุกๆนาที
คนที่ปลูกต้นไม้ด้วยความรักความเข้าใจ มักจะมองข้ามเรื่องรายได้ ความร่ำรวย จะมองทะลุไปถึงการสร้างเสริมหน้าตาที่ดินที่อยู่อาศัยให้ร่มรื่น ช่วยสร้างความปกติให้แก่โลก ตอบแทนแผ่นดิน ตอบแทนโลก งานที่ทำควรเป็นการสะสมความอุดมสมบูรณ์ในอัตราก้าวหน้าขึ้นตามเดือนปีที่ผ่านไป สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นความรุ่มรวยที่แท้จริง เข้าใจไหมละน้อง
ค น โ ง่ จึ ง ไ ม่ ค ว ร มี ที่ ดิ น ม า ก ด้ ว ย ป ร ะ ก า ร ล ะ ฉ ะ นี้
ท่ามกลางกระแสสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคอย่างมาก ซึ่งสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เราทุกคนควรบ่มเพาะความเข้มแข็งของจิตใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเสียตั้งแต่บัดนี้ ด้วยการฝึกควบคุมความอยาก มีความเฉลียวในการใช้ชีวิตอย่างรู้ประมาณ รู้จักเกื้อกูลต่อเพื่อนร่วมโลก ทั้งคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม และเมื่อฝึกฝนจนกลายเป็นนิสัย เราก็จะเข้าใจและเข้าถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้โดยไม่ต้องท่องนิยาม” จาก-เปิดเล่ม สื่อพลัง
ข้อที่ 3 ดูแลรักษาสุขภาพอย่างไร?
เสียดายที่คณะอาจารย์มาไม่แจ้งเวลาและจำนวนคนล่วงหน้า ไม่อย่างนั้นจะอธิบายเรื่องนี้แบบจะๆให้ดู จะชวนเข้าสวนครัวสวนผัก แล้วเด็ดพืชอาหารมาประกอบให้ชิม ชวนรับประทานกันสดๆร้อนๆ จะได้เข้าใจวิถีดูแลสุขภาพ ที่ผมและแม่บ้านกำลังศึกษาหากระบวนการอย่างเข้มข้น ชมภาพข้างล่างก็แล้วกันนะครับ
เช้าๆโฉมยงเดินไปเด็ดผักสดมาล้าง ผักชนิดไหนรับประทานสุกเธอก็จะลวก เรียงไว้ในจาน อบปลาทูตัวหนึ่ง ผสมน้ำพริกปลาป่น (ตั้งชื่อให้ว่าน้ำพริกสด เพราะใช้พริกสดแทนพริกเผา/พริกป่น) ผมหุงข้าวกล้องแดงรอไว้แล้ว เธอกางโต๊ะเอาอาหารมาเรียง เอาน้ำชาสมุนไพรอุ่นๆวางข้างๆมื้อเช้ารับประทานกันง่ายๆยังงี้ละครับ ผักสดๆกรอบหวาน น้ำพริกผสมใส่น้ำปู๋รสเด็ด อร่อยเหาะ
หยิบใบชะพลูมาวาง ซ้อนด้วยใบพลูคาว
ตักน้ำพริกสดมาหยอด ตักชิ้นปลาทูมาวาง เติมงา-ขิง-หอม
พับม้วนใบ..แล้วก็เปิบ เคี้ยวตุ้ยๆ คุยกันท่ามกลางแดดอุ่น
ภัตตาคารที่ไหนก็สู้ไม่ได้หรอกนะเธอ อิ อิ ..
น่าจะชื่อ..ภัตตาคารผึ่งพุงกลางแดดอุ่น
ข้อที่4 ยังเที่ยวตระเวนไปนอกบ้านมากไหม?
เรื่องนี้พยายามลดลงมากแล้วละครับ เว้นแต่งานไหนที่เห็นว่าสำคัญ/จำเป็น/และเป็นงานที่เราถนัด ก็จะไปช่วยตามกำลัง มีงานประชุมบ้าง ไปโม้บ้าง และอยากไปช่วยคุณญาติผู้อารี ยกตัวอย่างกรณีของหนู๋ไพ ที่ร้องขอมาให้ไปช่วยดูแลแปลงปลูกผักและต้นไม้ ผมชอบใจตรงที่..
หนู๋ไพ สารภาพว่า..ไม่รู้การปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว
ผมชื่นชมนะ ..ที่หนู๋ไพถามหาความรู้ก่อน..
ผมจะหาโอกาสไปยุให้หนูไพ๋..ทำการเกษตรแบบประณีต
เพื่อเป็นตัวอย่างของจังหวัดหนองบัวลำภู
รักแล้วรอหน่อยนะหนู๋ไพ ..เรื่องนี้ต้องไปตามคิว..
ข้อที่ 5 หมู่นี่ยังเขียนหนังสือเขียนและพิมพ์หนังสืออะไรบ้าง?
เรื่องการเขียน ก็เขียนเปรอะไปทุกวัน ทำให้เหมือนการบันทึกไดอารี วันวันหลังเราก็ยังมาสืบค้นได้ว่า..ช่วงนั้นช่วงนี้เรามีกิจกรรมอะไร เรากำลังดำเนินการในเรื่องใด เราได้รู้จักใคร เราได้รับความเมตตาจากใคร เป็นการบันทึกเรื่องราวชีวิตคนบ้านป่า ที่ไม่ได้เขียนเชิงวิชาการอะไร เพราะไม่มีวิชากงวิชาการอะไรกับใครเขา คิดและทำอย่างไรก็เขียนไปอย่างนั้น ดื้อๆทื่อๆตามสไตล์คนบ้านนอก
อาจารย์บอกว่าเคยได้อ่านหนังสือคนนอกระบบ
ตอนนี้หมดไปแล้วละครับ ยังไม่ได้พิมพ์ใหม่
แต่มีหนังสือ โมเดลบุรีรัมย์
หนังสือเจ้าเป็นไผ จากนาซาสู่รากหญ้า และหนังสือเจ้าแห้ว
จะไปวางจำหน่ายแบบอึกกะทึกครึกโครม!
ซื้อหนังสือแถมหน่อกล้วย เมล็ดผัก และแถมกอด อิ อิ
ในงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร์บุรีรัมย์เป็นเจ้าภาพ
จัดงานวันคนบุรีรัมย์ขับเคลื่อนให้บุรีรัมย์น่าอยู่
ข้อที่6 เรื่องอื่นๆทั่วไป “การตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนผลกระทบที่เกิดจากการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาดึกดำบรรพ์ ที่เราได้ยินได้ฟังพอๆกับการรณรงค์ให้ทุกคนเห็นคุณค่าและรักษาป่า ทว่าสถิติของกรมป่าไม้ กลับแสดงให้เห็นว่า จำนวนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลงทุกปี ภาพที่สะท้อนสวนทางกันเช่นนี้ คงเป็นคำตอบได้ว่า เราจริงใจกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากน้อยเพียงไร? “
วันที่ 5 มกราคม 2556
. ห้องประชุมวิชชาอัตศาสตร์
ขอเรียนเชิญพี่ป้าน้าอาจังหวัดใกล้เคียง
มาแย้มดูหัวใจของคนเมืองแปะก็ดีนะครับ
ม า แ ล้ ว ท่ า น จ ะ รู้ ว่ า ..
บุรีรัมย์นั้นไฉไลนัก แล้วท่านจะรักบุรีรัมย์


วิชาเตะอั๋ง

อ่าน: 2589

วันนี้ลูกหลานจากราชภัฏบุรีรัมย์มาเยี่ยม เธอเหล่านี้เป็นนักศึกษาปี4คณะวิทยาการจัดการ อาจารย์พิสมัย ประชานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ พาลูกศิษย์มาลุยด้วยตัวเอง อาจารย์บอกว่า นักศึกษากลุ่มนี้ใกล้จะจบการศึกษาแล้ว อยากจะให้มีอะไรติดในห้วงคำนึงออกไปบ้าง หลังจากหาทางเข้าสวนนานพอสมควร จนกระทั้งมานั่งเอี้ยมเฟื้ยมคุยกัน ผมก็บอกว่า..วันนี้เราจะเรียนแบบสบายๆ เรียนให้สนุก ยังไงก็ได้ไม่มีผิดมีถูก อยากรู้อะไรก็จะเล่าให้ฟัง

เปิดประเด็นว่าด้วย วิ ช า เ จ้ า เ ป็ น ไ ผ

นักศึกษาแนะนำตนเอง

ทราบว่ามีภูมิลำเนาอยู่อำเภอเมืองกับอำเภอนางรอง

ผมเกริ่นเรื่องกว้างๆเกี่ยวกับสถานการณ์โลก อเมริกา ยุโรป จีน อินเดีย กลุ่มอาเชียน แล้วมาจบลงที่ประเทศไทย แสดงทัศนะส่วนตัวว่าเราคิดอย่างไร มาขมวดตอนท้ายว่า..คิดอย่างเรานั้น..คิดอย่างไร เพื่อจะนำไปสู่การตีแตกความรู้สึกนึกคิด คิดจนแตกมันว่างั้นเถอะ จะได้แยกได้ว่าอะไรเป็นหัวกะทิอะไรหางกะทิ

แล้วก็มาปักหมุดลงที่มหาชีวาลัยอีสาน

ว่าคิดอะไร ทำอะไร ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

บอกนักศึกษาว่า..นี่หนูรู้ไหม ถ้ามองออกไปรอบตัว..ทั้งหมดที่เห็นนั้นแหละคือตำราเรียนของที่นี่ ซึ่งแตกต่างจากตำราที่เป็นตัวหนังสือ เป็นตำราที่มีชีวิต เ รี ย น แ บ บ ตำ ต า ตำ ใ จ ..เด็ดก็ได้ ดมก็ได้ ชิมก็ได้ กระดิกกระเด้งกระดอนได้ ติดดอกออกผลได้ การที่อาจารย์พาหนูมาที่นี่ หนูก็จะได้สัมผัสตำราในมิติใหม่ ได้เห็นได้อยู่ในโลกแห่งความจริง ไม่ใช่โลกเสมือนจริงซึ่งพวกเราอลเวงกันอยู่ ยกตัวอย่างหนูพูดโทรศัพท์ ได้ยินเสียงได้รับการโต้ตอบ รับฟังได้เข้าใจได้ แต่มันสู้คุยกันเห็นหน้าเห็นตาอย่างนี้ไม่ได้หรอก

ข อ เ ต ะ อั๋ ง ห น่ อ ย . .

หนูคนที่นั่งใกล้ยื่นฝ่ามือมา

ดูเส้นลายมือแล้วว่างๆไม่ค่อยมีเส้นยุ่งเหยิง

แสดงว่าหนูคนนี้เป็นคนสบายๆมีชีวิตที่ไม่ซับซ้อนอะไรมาก

ดวงเกิดมาสบายๆว่างั้นเถอะ

ที่จริงการขอดูมือก็เพื่อจะอธิบายจากการปฏิบัติให้เห็นว่า

การเรียนสายตรงสื่อสารกันตรงๆไม่อ้อมค้อมไม่เสียเวลา

นักศึกษาควรเรียนวิชาตั้งคำถาม

จะตั้งประเด็นได้ดีเราต้องมีต้นทุน

ก่อนจะมาที่นี่ถ้าเข้าไปอ่านลานปัญญา/ลานสวนป่าก็จะได้ข้อฉุกคิด

แง่นี้ต้องการ อ ธิ บ า ย วิ ธี เ รี ย น แ บ บ ส ด ๆ มี ชี วิ ต ชี ว า

เพื่อเสริมการ เ รี ย น แ บ บ เ หี่ ย ว ๆ อ ยู่ ใ น ห้ อ ง

การจัดการศึกษาหาความรู้ลักษณะนี้ จะมีปัญหาอยู่ตรงที่อาจารย์ไม่มีเวลา นักศึกษาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องออกมาเรียนแบบระหกระเหินด้วย อยากจะเรียนง่ายๆสบายๆจบเร็วๆ การศึกษาจึงก้าวเดินออกมานอกรั้วสถาบันไม่ค่อยจะได้ เพราะทุกฝ่ายยังไม่เห็นความสำคัญอย่างแท้จริง อนึ่ง สถานที่จะไปก็ไม่ทราบว่าจะว่างตรงกันหรือเปล่า ไปแล้วจะได้รับผลตามที่คาดหวังไว้หรือเปล่า มันถึงไม่ง่ายยังไงละครับที่จะให้นักศึกษาพบกับวิธีเรียนรูปแบบนี้ อาจารย์ท่านใดอยากจะจัดไปก็จัดไปสิ อีกทั้งกระแสนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างการศึกษาเท่าที่ควร การพิจารณาความดีความชอบ แทนที่จะพิจารณาจากการจัดการสอนหรือผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการสอนเชิงรุก ก็ไปพิจารณาจากเอกสารเถื่อนบ้าๆบอๆ ถ้าเราไม่ช่วยกันเอาการศึกษาออกจากเงามืด เราจะมีอะไรไปเชื่อมโยงกับอาเชี่ยนครับ

ผมเห็นใจอาจารย์ที่นำนักศึกษาออกมาเรียนนอกสถาบัน

ให้นักศึกษาเคารพรักและชื่นชมอาจารย์ของตนให้มาก

วันนี้นักศึกษามา 1 รถตู้ ประมาณ 8 คนกำลังเหมาะ

ถ้ามามากๆจะโยกจะโอนความรู้ให้ไปคิดต่อได้ไม่ละเอียด

ความพอเหมาะพอดีทุกมิติจึงเป็นเรื่องสำคัญ

นักศึกษายุคนี้ต้องเรียนวิธีค้นหาความรู้ เพราะโลกของเทคโนโลยีเข้าถึงทุกถิ่นทุกทิศทุกทาง ปัญหาอยู่ที่ว่า เราต้องตระหนักถึงอิทธิพลและอานุภาพของระบบการสื่อสารยุคใหม่ ว่าแล้วก็โชว์ไอโฟน4เสียเลย ไม่รู้แหละ..อะไรที่อยู่ใกล้มือยิบมาเป็นอุปกรณ์การสอนได้ทั้งนั้น ผมกดโปรแกรมอะไรเอ่ย! เลือกคำทายสนุกๆ..แค่นี้ก็ได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะรอบโต๊ะ..ก็บอกแล้ว การเรียนทำไมต้องเครียดด้วย เรียนไปยิ้มไปนะทำได้.. จากนั้นก็ฉอดๆๆต่อ..หนูอยู่ในสถาบันฯก็เรียนจากสื่ออยู่แล้ว ม า วั น นี้ ม า เ รี ย น กั บ สื่ อ มี ชี วิ ต ถ้าได้เตรียมความพร้อมมาก็สอบถามสัมภาษณ์ได้ทุกแง่มุม เปรียบเสมือนการค้นความรู้ในคอมพิวเตอร์นั่นแหละ เพียงแต่วิธีใช้ต่างกันบ้างเล็กน้อย ต้องรู้ว่า..

ค อ ม พิ ว เ ต อ ร์ ต้ อ ง ก ด ต ร ง ปุ่ ม ไ ห น ?

ค น ตั ว เ ป็ น ๆ จ ะ ต้ อ ง ก ด ที่ จุ ด ไ ห น ?

ทุกกลไกมีระบบกำกับไว้

คอมพิวเตอร์กดไม่ถูกเครื่องแฮ็งค์เอาง่ายๆ

คนเรามีหลายปุ่มนะหนู กดผิดกดถูกเกิดเรื่องเชียวแหละ

ดังนั้นวันนี้เรามาเรียนวิชากดปุ่มแต่ละประเภทดีไหม?

(บางคนมองเฉยๆ แต่หนูคนนี้วิ่งไปอุ้ม..)

เครื่องมือในการเรียนรู้นอกสถานที่ ผมนิยามให้ว่า..เ ป็ น เ ดิ น เ ข้ า ห า ตั ว รู้ แทนที่จะปักหลักอยู่กับที่ คอยให้ความรู้วิ่งมาหา..เมื่อไหร่มันจะทันการละเธอ ยุคสมัยนี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน ไม่ใช่เฉพาะมือใครยาวสาวได้สาวเอาหรอกนะ มันต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนเชิงรุก น อ ก จ า ก ลุ ก จ า ก เ ก้ า อี้ แ ล้ ว ต้องเร็วต้องพร้อมอย่าเรื่องมาก มีเงื่อนไขอืดเป็นเรือเกลือ ทำให้เสียเวลาเสียโอกาสโดยไม่รู้ตัว พยายามเอาตัวไปสู่สนามเรียนรู้ให้ฉับไว วางแผนเก็บเกี่ยวความรู้ให้พร้อม ชาวนาเกี่ยวข้าวใช้เคียว หนูนักศึกษาจะใช้อะไรเก็บเกี่ยวความรู้ สมุด-ปากกา-กล้องถ่ายภาพ-เทปบันทึกเสียงมีมาไหม? จิตใจ-อารมณ์เป็นอย่างไร? ไม่ใช่อาจารย์ให้ชวนมาก็มาแบบซังกะตาย ถ้าเริ่มจากความรู้สึกที่อับเฉา เราจะเปิดโลกกว้างให้ทุกอย่างเป็นครูได้อย่างไร ควรมีเป้าหมายในใจว่าวันนี้เราจะเรียนให้บรรเจิดเพลิดเพลิน

(นักศึกษาควรจะขอบคุณอาจารย์ที่เมตตาพาออกมาหาความรู้)

ทำไมต้องทุกข์กับการเรียนรู้ด้วย

มหาชีวาลัยอีสานกำลังทำการบ้าน

ในค้นหาวิธีเรียนให้สนุกได้อย่างไร?

มาพิเคราะห์ดูแล้วถ้าเรียนตามระบบในห้องคงยากที่จะสนุก

แต่ถ้ามาเรียนนอกห้องในสภาพแวดล้อมที่ตัวความรู้ซ่อนอยู่ในธรรมชาติ

อาจจะยิ้มง่ายคลายกังวลได้สะดวกกว่า

การเข้าไปควานหาตัวความรู้แบบใหม่นี่เอง

จะเป็นวิธีสร้างเสริมประสบการณ์ตรง

เกิดการฉุกคิด เอ๊ะนั่น เอ๊ะนี่ อยู่ไหนน๊า..เจ้าความรู้เอ๋ย

ตรงจุดนี้จะเข้าสู่วิชาวิธีคิด

จะคิดได้ ต้องมาจากการได้คิด

เมื่อได้คิด ก็จะได้ตัวความรู้สึกนึกคิด

ความรู้สึกนึกคิดจะเป็นมัคคุเทศก์นำเราไปสู่กระบวนการคิด

ถ้าได้กระบวนการแล้ว..

หนูก็จะเป็นคนขี้สงสัย อยากรู้ อยากเห็น อยากทดลอง อยากทำวิจัย

เปลี่ยนจากคนอือๆออๆยังไงก็ได้

จะให้ทำอะไรบอกมาเลย

มาเป็นคนที่มีคำถามในหัวใจ

ไม่อย่างนั้น..ขืนปล่อยไปนานๆก็จะกลายเป็นคนสิ้นคิดนะสิ..

หลังจากยั่วยุไปประมาณนี้ นักศึกษาเริ่มกล้าที่จะถามประเด็นต่างๆมากขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะถามความคิดเรา เรื่องนี้ทำอย่างไร คิดอย่างไร เป็นมาอย่างไร แหม ถามอย่างนี้ก็ง่ายเหมือนปอกกล้วยนะสิ เพราะเราคิดอยู่ทุกมื่อเชื่อวัน ก็เลยโยงไปเรื่อง”โมเดลบุรีรัมย์” เพื่อจะชวนไต่ความคิดว่า

..เราเป็นคนบุรีรัมย์ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง สภาพเศรษฐกิจสังคมเป็นอย่างไร การเมืองส่งผลอะไร หนูเห็นไหมถนนที่เข้ามาทรุดโทรมยับเยินยิ่งกว่าผิวโลกพระจันทร์ เข้าไปดูที่นโยบายสิ เขาว่าไว้อย่างไร อ๋อ..เขาทำนโยบายเรื่องถนนปลอดฝุ่นใช่ไหม ไม่ได้ทำเรื่องถนนปลอดหลุม นโยบายขี้ฝุ่นมันก็ไอ่แค่นั้นแหละต๋อยยย..

ผลประกอบการของแต่ละพรรคการเมืองดูได้จากตอนเลือกตั้ง ทุกพรรคต้องเค้นคิดว่าทำอะไรไว้บ้างและคิดที่จะทำอะไรต่อไป บางพรรคไม่ได้ทำอะไร เอาแต่ปัดฝุ่น เรื่องอื่นไม่มีไม่ได้ทำจึงจุดจู๋ไม่รู้จะเอาอะไรมาหาเสียง

ค น ส ตึ ก จึ ง ต้ อ ง ม า ทำ น โ ย บ า ย “บุรีรัมย์โมเดล” ยังไงละเธอ

คนอยู่บุรีรัมย์ ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าจะพัฒนาบุรีรัมย์ให้รอดพ้นวิกฤติได้อย่างไร หนูเห็นไหมทำไมคนบุรีรัมย์ถึงทิ้งถิ่นทิ้งไร่ทิ้งนา บากหน้าไปเป็นกรรมกรในกรุง

เกิดอะไรขึ้นที่บุรีรัมย์

มันเสียหายจนคนอยู่บุรีรัมย์ไม่ได้เชียวหรือ

มีแนวทางใหม่ๆอะไรบ้าง ที่จะเข้ามาเสริมสร้างอาชีพการงานให้คนบุรีรัมย์

จะเปิดพื้นที่ทางสังคม

เปิดโอกาสการเรียนรู้

รึ..จะผลิตนักฟุตบอลไปลุยตลาดโลก

แข่งบอลมันก็ไม่เสียหายอะไรหรอก แต่ต้องการเห็นโครงสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่หลากหลาย กิจการงานที่ทำให้คนบุรีรัมย์ลืมตาอ้าปากได้ มีนโยบายอะไรที่ทำให้คนบุรีรัมย์..ตั้งสติตั้งตัวได้ ช่วยกันทำข้อสอบดีไหม จะลดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร?

ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ

ลดความเสี่ยงจากระบบปลาใหญ่ไล่เจี๊ยะปลาเล็ก

ลดความรู้สึกที่ไม่เชื่อมั่นในอาชีพการงานของตนเอง

ลดความหมางเมินในการแสวงหาความรู้

ลดพฤติกรรมติดลบต่างๆ

ลดการกระเหี้ยนกระหือกับนโยบายลดแลกแจกแถม

ลดการเดินตามคนอื่นต้อยๆโดยไม่ยั้งคิดอะไร

ลดความคิดที่จะเป็นเพียง..ลูกคุณช่างขอ

มีคำถามจากวงสนทนาว่า..ผมจะขยายหรือขายความคิดนี้อย่างไร แหมเรื่องอย่างนี้คิดทำคนเดียวได้ก็บ้าแล้ว ผมก็จะโยนความคิดนี้ลงสู่พื้นที่สารธารณะ กระแซะลงไปในเวทีประชุมสัมมนาเชิงนโยบายของสภาพัฒน์ฯ สภาวิจัยฯ รายการวิทยากรที่ไปโม้ สื่อหนังสือพิมพ์ ทีวี เขียนผ่านบล็อก แม้แต่คณะต่างๆที่มาเยี่ยมมาดูงาน เช่น คณะของหนูจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เราก็มานั่งเว้ากันเรื่องนี้ใช่ไหมละ

ที่สำคัญ ขีดเส้นใต้ไว้เลย

เดือนหน้าหนังสือ”บุรีรัมย์โมเดล1 คลอดแน่ๆ

ท่านใดที่ช่วยอ่านหนังสือเล่มนี้

เท่ากับเป็นเจ้าภาพร่วม หนังสือ”บุรีรัมย์โมเดล” โดยปริยาย

ถามว่า..ในสารบัญมีเรื่องอะไรบ้างละ

โอ้ยโย่! เยอะๆๆ ..แม้แต่เรื่องที่เราคุยกันวันนี้

ก็น่าจะเอาไปลงพิมพ์

เพื่อจะประกาศว่า..

มหาวิทยาลัย ร า ช ภั ฏ บุ รี รั ม ย์

ไม่ใช่สถาบัน “พอกระเทิน” แล้วนะโว้ ย ย ย ย ย !



Main: 0.042464017868042 sec
Sidebar: 0.04303503036499 sec