ประเพณีตานก๋วยสลาก ร.ร.มงคลวิทยา
อ่าน: 2967สวัสดีค่ะทุกท่านชาวลานปัญญาค่ะ ^^
วันนี้ ด.ญ.เสื้อสีส้ม ก็มีเรื่องราวดีๆมาฝากกันอีกเช่นเคยค่ะ เนื่องจากวันศุกร์ที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
ทาง ร.ร.มงคลวิทยา ก็ได้จัดงานก๋วยสลากขึ้นที่โรงเรียนค่ะ ประเพณีก๋วยสลากหรือภาษากลางเรียกว่าประเพณีสลากภัตค่ะ
เป็นประเพณีทำบุญที่คนในปัจจุบันไม่ค่อยรู้จักกันดีนัก เพราะมิใช่ประเพณีใหญ่โตแบบตรุษหรือสารท มักจะทำตามบ้านที่นิยมเลื่อมใส หรือมีสิ่งของพอที่จะรวบรวมมาถวายพระหรือเข้าสลากภัตได้ก็จะจัดพิธีนี้ขึ้น ในทางภาคเหนือจะเรียกพิธีนี้ว่า “ทานก๋วยสลาก” คำว่า “ก๋วย” แปลว่า”ตะกร้า” หรือ “ชะลอม”ค่ะ
กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโรงเรียนค่ะ โดยก่อนวันที่จะจัดพิธีตานก๋วยสลากนักเรียนทุกคนก็จะต้องมีการเตรียมงานกันทุกระดับชั้นเลยค่ะ โดยจะให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันภายในห้อง ซึ่งห้องของหนูแบ่งกลุ่มโดยใช้กลุ่มตามเวรทำความสะอาดค่ะ แต่ละกลุ่มต้องช่วยกันสานก๋วยค่ะ วิธีการสานก็ไม่ยากค่ะกลุ่มของหนูจะแบ่งหน้าที่กันทำโดยหนูมีหน้าที่ฉีกตอกให้เป็นเส้นๆเพื่อให้เพื่อนนำไปสานค่ะ บางคนอาจจะมองว่าการฉีกตอกเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญนะคะ แต่สำหรับหนูแล้วหนูว่าการฉีกตอกเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการสานก๋วยค่ะ เพราะว่าถ้าเ้ราฉีกตอกไม่ดีก็จะทำให้่เวลาสานก๋วยลำบากและก๋วยจะออกมาไม่สวยค่ะ
เมื่อแต่ละกลุ่มสานก๋วยกันเสร็จแล้วก่อนวันงานหนึ่งวันสมาชิกในกลุ่มก็จะต้องนำข้าวสารอาหารแห้ง หรือเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆมาใส่ในก๋วยพร้อมกับตกแต่งก๋วยให้สวยงาม และรวบรวมปัจจัยมาเสียบไว้บนก๋วยเพื่อนถวายพระค่ะ
พอถึงวันงานตอนเช้านักเรียนในบางชั้นก็ได้รับหน้าที่จัดเตรียมสถานที่ค่ะ และเมื่อถึงเวลาแล้วนักเรียนทุกระดับชั้นก็จะไปอยู่ประจำจุดต่างๆรอบบริเวณหอประชุมค่ะ เมื่อพิธีกรรมทางศาสนาเริ่มขึ้นนักเรียนทุกคนก็ตั้งใจปฏิบัติกันทุกคนเลยค่ะไม่มีใครเล่นใครคุยกันเลยเป็นภาพที่น่าประทับใจมากๆเลยค่ะ เมื่อพิธีกรรมทางศาสนาจบลงพระแต่ละรูปก็จะจับเบอร์ว่าจะได้ก๋วยเบอร์ไหนและเดินไปรับค่ะ ขณะที่พระแต่ละรูปไปเอาก๋วยตามเบอร์ก็จะมีนักเรียนบางคนคอยช่วยถือ เรียกว่า ขะโยมค่ะ และเมื่อเสร็จพิธีคนที่อาสาเป็นขะโยมก็จะได้ก๋วยมาจากพระเพราะว่าก๋วยที่พระแต่ละรูปได้มีเยอะมากๆเลยค่ะ
จากกิจกรรมนี้ก็ทำให้หนูได้เรียนรู้อะไรหลายอน่างเลยค่ะ ทั้งการทำก๋วยการเตรียมงานต่างๆก่อนที่จะจัดงานก๋วยสลาก และได้ร่วมประเพณีก๋วยสลากเป็นครั้งแรกเลยค่ะ ซึ่งถ้าใครสนใจก็มาเที่ยวที่ จ.ลำพูน ในช่วงนี้ได้เลยนะคะ เพราะว่าทุกวัดก็จะจัดงานก๋วยสลากกันค่ะ
สำหรับวันนี้หนูก็ขอลาไปก่อน แล้วคราวหน้าหนูจะนำเรื่องราวดีๆมาเล่าสู่กันฟังอีกนะคะ สวัสดีค่ะ ^^
« « Prev : งานพระราชทานเพลิงศพคุณทวดเรียบ
4 ความคิดเห็น
เก่งมากครับ ปู่บางทรายชอบและชื่นชมการเข้าร่วมประเพณีของพื้นบ้านพื้นเมืองเรา
เพราะ ประเพณีพื้นบ้านพื้นเมืองของเรานั้นมีสาระที่เป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคม มีการสร้างขึ้น คือหัตถกรรม มีการรวบรวมสิ่งของเพื่อบริจาค ซึ่งเราก็มีความเชื่อดั้งเดิม มีการนิมนต์พระมารับก๋วย เป็นอุบายของคนโบราณที่ให้เรามีกิจกรรมกับพระผู้ทรงศีล เข้าใกล้ศาสนา ซึมซับไปทุกครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ การเข้าร่วมพิธีกรรมนี้ ผู้ใหญ่ท่านก็จะสอน แนะนำมารยาททางสังคมที่เด็กมีต่อผู้ใหญ่ คนทั่วไปมีต่อพระ ผู้หญิงมีต่อผู้ชาย ผู้เฒ่าผู้แก่มีต่อเด็ก ฯลฯ ล้วนเป็นการเพิ่มพูนหลักการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่มีประโยชน์ส่วนตนเข้ามา มีแต่ให้ บริจาค ยิ้มแย้ม ชื่นชม แนะนำ ทั้งหมดนี้ และที่ไม่ได้กล่าวถึงเขาเรียกทุนทางสังคม ที่เป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการอยู่รอดของสังคมไทยเรา
มีกิจกรรมจำนวนมากที่เป็นบทบาทสมมุติ ก็มีความจำเป็น แต่ที่ดีที่สุดคือการเข้าร่วมจริงในพิธีกรรม ประเพณีต่างๆต่างๆที่ไม่ใช่บทบาทสมมุติ คุณค่ามันต่างกันเยอะมาก เก่งมากหนูเสื้อสีส้มครับ
เอามาเล่าให้ปู่บางทรายฟังอีกนะ
ป้าครูปูได้แต่มองตาปริบ ๆ นะลูก ไม่รู้จะทำสู้เด็ก ๆ ได้บ้างหรือเปล่าอ่ะ ถ้ามีโอกาสเจอกันสอนป้าบ้างนะคะลูก ขอบคุณสำหรับบันทึกใส ๆ น่ารัก ๆ ให้ได้ผ่อนคลายและมีรอยยิ้มก่อนนอนนะคะ (^____^)
ถึงคุณลุงบางทราย
ขอบคุณสำหรับขัอคิดดีๆนะคะ^^
ครูปูขา….เดี๋ยวหนูจะเขียนบันทึกให้อ่านกันอีกเยอะๆเลยนะคะ (^____^)