วันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (24 - 25 เม.ย. 53) ดิฉัน พร้อมกับ อาจารย์กอล์ฟ (ผศ.ศุภวิทู สุขเพ็ง) และอาจารย์เอ (อาจารย์สาวิตรี สุวรรณสิงห์) ไปออกหน่วยบริการวิชาการเคลื่อนที่ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 4/53 ณ โรงเรียนบ้านบุ่งคล้า ตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยขนเครื่องตรวจมวลกระดูก ไปให้บริการตรวจมวลกระดูกแก่ชุมชนค่ะ
ก่อนวันเดินทาง พวกเราได้สอบถามเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าโรงเรียนบุ่งคล้าอยู่ไม่ไกลจาก มน. มากนัก ขับรถใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงก็ถึง ที่ตั้งโรงเรียนก็ติดถนนใหญ่ ไป- มาสะดวก ดังนั้นเราจึงตัดสินใจเอารถ(ของ อ. เอ)ไปกันเอง เพราะไม่อยากนอนค้าง
ออกเดินทางจากหน้าคณะ เวลา 6.30 น. และแวะรับประทานอาหารเช้ากลางทาง แล้วแต่ใจจะพาไป ไม่ต้องกะกาณณ์ล่วงหน้า เหมือนไปเที่ยววันหยุดสุดสัปดาห์ อย่างเมื่อวันอาทิตย์ เราแวะที่นี่ค่ะ
เป็นร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวหลงฤดูอย่างเรา เข้าไปในร้านจะเห็นวิวทิวทัศน์สวยงามอย่างนี้ สาวๆ คงแอบหมายตาว่าคราวหน้าจะต้องชวนเพื่อนคู่ใจมาแวะซึ้งกันสักหน่อย
แล้วก็สั่งข้าวต้มปลามาทานกันร้อนๆ
ที่นี่เขามีเมนูแปลก คือดอกลั่นทมทอด ด้วยค่ะ เห็นหน้าร้านมีต้นลั่นทมต้นเบ่อเริ่มเป็นแหล่งวัตถุดิบ ถ่ายรูปอาหารจานเด็ดมาให้ดูเฉยๆ เพราะยังไม่มีโอกาสชิมกัน ต้องรีบเดินทางให้ทันเวลาค่ะ
น่าอร่อยไหมคะ?
ชุมชนที่ให้บริการคราวนี้ดูไม่ได้อยู่ในที่ลำเค็ญ ทุรกันดารใดใด ดิฉันจึงมั่นใจว่าคงมีผู้มารับบริการไม่มากนัก แต่ผิดคาดค่ะ วันแรกปาเข้าไป 51 คน (ที่จริงมากกว่านี้ แต่เครื่องชักร้อนและรวนแล้ว จึงขออั้นไว้ก่อน) วันที่ 2 เครื่องไม่รวน จึงรับถึง 80 คน มากเป็นประวัติการณ์ ในรูปดูคนไม่เยอะ เพราะกว่าจะมีเวลาถ่ายรูป ก็บริการเกือบหมดแล้ว
เครื่องนี้แหละค่ะที่ใช้หลักการของเอกซเรย์พลังงานสองค่าในการวัดมวลกระดูกของแขนข้างที่ไม่ถนัด
เวลาวัดก็เพียงแต่วางแขนตรงช่องที่ทำเป็นร่องไว้
ชื่อภาษาอังกฤษของเครื่องนี้เรียกว่า Dual Energy X-Ray Bone Densitometer :DEXA
น้องๆ ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องวัดและกรอกข้อมูลที่จำเป็นในการคำนวณเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนดิฉันทำหน้าที่รายงานผล ซึ่งสามารถรายงานผลได้ทันทีหลังจากที่เครื่องวัดเสร็จ โดยจะรายงานว่าจากค่าที่เครื่องวัดได้ หมายถึงว่าท่านอยู่ในภาวะกระดูกปกติ หรือกระดูกบาง หรือกระดูกพรุน แล้วก็ให้คำแนะนำกัน ซึ่งเราทำเป็นคู่มือแจกด้วย
แต่เอาเข้าจริง ดิฉันต้องทำหน้าที่เหมือนหมอออร์โธปิดิกส์ และนักกายภาพบำบัด เพราะผลที่ได้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาวะกระดูกบางถึงพรุน ดังนั้น ลุง ป้า น้า อา ตา ยาย จะบ่น ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดแขน ฯลฯ เสริมให้ฟังและถามว่าจะทำอย่างไรดี ???
อาศัยว่า ดิฉันก็ย่างเข้าสู่วัยที่ประสบปัญหาเดียวกันนี้ จึงเข้าใจ เห็นใจ และพอจะช่วยแนะนำได้บ้าง ตามที่ตัวเองได้เคยศึกษาเพื่อบำบัดตัวเองมาก่อน เช่น อาการปวดส้นเท้า อาการปวดเข่า อาการปวดหลัง (เป็นมาหมดแล้วจ้า รวมทั้งกระดูกพรุนด้วย)
สนุกดีค่ะ ได้เห็นปัญหาของชาวบ้าน ได้พูดคุยกับชาวบ้าน กลับมาบ้านก็ต้องหาความรู้มาเสริม คราวหน้าจะได้แนะนำได้ดียิ่งขึ้น
ปล. มีเพื่อนจากคณะอื่น และหน่วยงานต่างๆ ไปด้วย แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เสวนากัน เพราะต่างฝ่ายต่างยุ่งกับงานของตน ได้แก่
-
คณะทันตแพทยศาสตร์
-
สถานอารยธรรมโขงสาละวิน
-
วิทยาลัยนานาชาติ
-
สถานบริการเทคโนโลยีฯ(IT)
-
กองบริการวิชาการ
-
คณะศึกษาศาสตร์
-
คณะวิทยาศาสตร์
-
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
-
คณะนิติศาสตร์
-
คณะเภสัชศาสตร์
-
สถานการศึกษาต่อเนื่อง
-
คณะเกษตรศาสตร์ฯ
-
คณะวิศวกรรมศาสตร์
-
วิทยาลัยพลังงานทดแทน
- สำนักหอสมุด
-
กองบริหารการวิจัย
-
คณะพยาบาลศาสตร์ (ออกเยี่ยมผู้ป่วยในครัวเรือน)
-
คณะเภสัชศาสตร์ (ออกเยี่ยมผู้ป่วยในครัวเรือน)
-
คณะสถาปัตยกรรมฯ (ลงศึกษาพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และร่วมเวทีเสวนาภาษาชุมชน)
-
สถานบริการเทคโนโลยีอวกาศ (ลงศึกษาพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และร่วมเวทีเสวนาภาษาชุมชน)
-
คณะสังคมศาสตร์ (ลงศึกษาพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และร่วมเวทีเสวนาภาษาชุมชน)
-
สถาบัน NICE (ลงศึกษาพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และร่วมเวทีเสวนาภาษาชุมชน)
———————————–
บันทึกเพิ่มเติม วันที่ 5 พฤษภาคม 2553
สรุปการออกให้บริการเคลื่อนที่เพื่อพัฒนาสุขภาพและอาชีพประชาชน ครั้งที่ 4/2553
วันที่ 24-25 เมษายน 2553
ณ โรงเรียนบ้านบุ่งคล้า ตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
การออกให้บริการเคลื่อนที่เพื่อพัฒนาสุขภาพและอาชีพประชาชน ครั้งที่ 4/2553 ระหว่างวันที่ 24-25 เมษายน 2553 ณ โรงเรียนบ้านบุ่งคล้า ตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มีผู้มารับบริการตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกสรุปได้ดังนี้
1. ข้อมูลทั่วไปของผู้เข้ารับบริการ
- ผู้เข้ารับบริการรวมทั้งสิ้นจำนวน 120 คน (วันที่ 24 จำนวน 47 คน,วันที่ 25 จำนวน 73 คน)
- เป็นเพศหญิง 103 คน
- เพศชาย 17 คน
- อายุของผู้เข้ารับบริการ อยู่ระหว่าง 20-80 ปี อายุเฉลี่ยเท่ากับ 51.18 ± 11.18 ปี
- น้ำหนักของผู้เข้ารับบริการอยู่ระหว่าง 32-88 กิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ยเท่ากับ 59.92 ± 9.85 กิโลกรัม
- ส่วนสูงของผู้เข้ารับบริการอยู่ระหว่าง 143-176 เซนติเมตร ส่วนสูงเฉลี่ยเท่ากับ 155.96 ± 6.39 เซนติเมตร
2. ความชุกของภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุน
ค่าที่วัดได้จากการตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกบริเวณกระดูกข้อมือ ด้วยเครื่อง DEXA พบว่า
- ผู้เข้ารับบริการมีค่ามวลกระดูกในช่วงปกติ (T- score มากกว่า -1 SD ) มีจำนวน 45 คน (ร้อยละ 37.5)
- ผู้เข้ารับบริการที่มีค่ามวลกระดูกบาง (T- score อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 SD) มีจำนวน 34 คน (ร้อยละ 28.3)
- ผู้เข้ารับบริการที่มีค่ามวลกระดูกพรุน (T- score ต่ำกว่า -2.5 SD) มีจำนวน 41 คน (ร้อยละ 34.2)
ภาวะของมวลกระดูก จำแนกตามช่วงอายุต่าง ๆ พบว่า
- ผู้รับบริการที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี มีภาวะกระดูกบาง และกระดูกพรุน เท่ากับ ร้อยละ 11.11 และ ร้อยละ 27.78 ตามลำดับ
- ผู้รับบริการที่มีอายุตั้งแต่ 41-50 ปี มีภาวะกระดูกบาง และกระดูกพรุน เท่ากับ ร้อยละ 30.77 และ ร้อยละ 28.21 ตามลำดับ
- ผู้รับบริการที่มีอายุตั้งแต่ 51-60 ปี มีภาวะกระดูกบาง และกระดูกพรุน เท่ากับ ร้อยละ 29.27 และ ร้อยละ 36.59 ตามลำดับ
- ผู้รับบริการที่มีตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไป มีภาวะกระดูกบาง และกระดูกพรุน เท่ากับ ร้อยละ 36.36 และ ร้อยละ 45.45 ตามลำดับ
รายชื่อผู้ออกให้บริการ : ภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ ม.นเรศวร
- รศ.มาลินี ธนารุณ
- ผศ.ศุภวิทู สุขเพ็ง
- อ.สาวิตรีสุวรรณสิงห์
- น.ส.นฤปกรณ์ บังแสง
- น.ส.ภูมิศิริ ภิรมรัมย์