พอบทบาทหน้าที่หลักเปลี่ยนจากผู้บริหารเป็นอาจารย์ ดิฉันก็จำจะต้องขอบอกลา KM ในบทบาทของผู้บริหารเสียที และแสวงหายุทธวิธีใหม่ในการใช้ KM ให้เป็นประโยชน์เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ ที่เป็นอยู่
แต่ก่อนที่ความรู้จากประสบการณ์เดิมจะจืดจางห่างหาย และไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อันใดได้อีก ดิฉันรู้สึกโชคดีมีวาสนาอยู่บ้าง ที่ท่านรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ฝ่ายแผนและประกันคุณภาพ (รศ.ทัศนีย์ ศิริวรรณ) ได้ให้เกียรติเชิญดิฉันไปเล่าประสบการณ์ KM ในหัวข้อ “วิธีปฏิบัติที่ดีของการจัดการความรู้” ให้ฟัง ในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (PSRU : KM PLAN) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ณ ทรัพย์ไพรวัลย์ แกรนด์โฮเต็ล อ.วังทอง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553
ครั้งนี้ ดิฉันตั้งใจว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะดิฉันห่างเหินจากการปฏิบัติจริงมานานพอสมควรแล้ว (ประมาณ 6 เดือน) ถ้าขืนพูดต่อไป จะเหมือนคนแก่ที่ไม่ยอมลืมความหลังในอดีต และพูดแต่สิ่งที่เคยทำแต่ไม่ได้ทำจริงในปัจจุบัน มันน่าละอายแก่ใจ
ในวันนั้น ตั้งแต่ 9.00 - 12.00 น. ดิฉันเล่าประสบการณ์ด้วยการยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่หลักใหญ่ใจความพอสรุปได้ว่า
- ให้บูรณาการการจัดการความรู้เข้าไปในแผนปฏิบัติการประจำปีของคณะฯ ในทุกภารกิจ หากจะทำเป็นแผนจัดการความรู้แยกออกมาต่างหาก ก็เพียงนำโครงการ/กิจกรรม ที่ระบุว่ามีลักษณะกิจกรรมแบบ KM มาประมวลเข้าด้วยกันตามลำดับเวลา
- ถ่ายทอดแนวทางและวิธีการใช้เครื่องมือจัดการความรู้แบบต่างๆ แทรกซึมไปกับภารกิจประจำทุกด้าน เช่น
- คณบดีและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องจะทำเป็นแบบอย่าง เป็นวิทยากรกระบวนการ ในกิจกรรมการจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการประกันคุณภาพการศึกษาแก่บุคลากรภายคณะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ออกแบบให้บุคลากรของคณะ เป็นทั้งผู้ประเมิน และผู้ถูกประเมิน
- ส่งเสริมให้บุคลากรสายสนับสนุนแสดงศักยภาพ ด้วยการเป็นวิทยากรกระบวนการ เมื่อมีผู้มาเยี่ยมชมคณะ
- ผลักดันให้บุคลากรสายสนับสนุนบันทึกการทำงานบน Blog แทนการเขียนรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาความดีความชอบ
- สร้าง AHS Planet เพื่อเป็นศูนย์รวม Blog ของบุคลากรของคณะ โดยผู้บริหารเขียน Blog เป็นประจำ
- กระตุ้นให้บุคลากรสายสนับสนุนทำงานวิจัยจากงานประจำ และบุคลากรสายอาจารย์ทำงานวิจัย คนละไม่น้อยกว่า 1 เรื่องต่อปี เพื่อให้ได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของภาระงานด้านวิจัยของอาจารย์ที่คณะกำหนด อีกทั้งให้ทุนสนับสนุนการทำวิจัย ตลอดจนให้รางวัลเมื่อนำผลงานไปเผยแพร่ ฯลฯ ประกอบกับการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพการทำงานวิจัย ด้วยวิธี peer assist , show & share, story telling ฯลฯ
- วิธีปฏิบัติที่สำคัญที่บ่งชี้ความเป็น Good practice
- ใช้ KM เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาการดำเนินงานในทุกภารกิจหลักของคณะอย่างเนียนในเนื้องานผ่านระบบประกันคุณภาพการศึกษาที่ได้วางรากฐานของวัฒนธรรมคุณภาพแก่บุคลากรไว้แล้ว โดยเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวัฒนธรรมชื่นชมยินดีต่อกัน เพื่อธำรงรักษาคุณภาพของงานให้ยั่งยืน
- ใช้ KM ควบคู่กับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย โดยเฉพาะระบบการสื่อสารไร้พรมแดนที่เป็นที่นิยม เหมาะสมกับสภาพของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์
- ใช้ KM เสริมสร้างคุณค่าของทรัพยากรบุคคลระดับปัจเจกทุกระดับ ทั้งด้านความคิด ทัศนคติ ภาวะผู้นำและสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ตลอดจนทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระตุ้นให้เป็นบุคคลเรียนรู้ มีวิสัยทัศน์ ยอมรับความแตกต่าง และปรับตัวเก่ง
วิธีดังกล่าวข้างต้น เป็นการดำเนินการแบบลูกทุ่ง คือคิดเองเออเอง ไม่รับประกันความถูกต้องเหมาะสมนะคะ เพราะดิฉันทราบมาว่า ถ้าทำแผนจัดการความรู้ตามวิธีการที่ กพร. กำหนด ก็จะไม่ใช่กระบวนการแบบนี้ อ้อ! อาจเป็นเพราะ วิธีการของ กพร. เขาให้ใช้กับระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งวิธีการที่ดิฉันเล่าให้ฟัง ใช้ในการบริหารระดับคณะ จึงต่างกันเป็นธรรมดาค่ะ
เอาละ…..ต่อแต่นี้ ดูซิว่าคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จะใช้ KM ในการสอน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกันได้ด้วยวิธีไหน อย่างไรบ้าง ???? ……คิด คิด คิด คิด