ออกหน่วย Mobile รับใช้ชุมชน

1 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 26 เมษายน 2010 เวลา 20:32 ในหมวดหมู่ งานบริการวิชาการ, สุขภาพ #
อ่าน: 2375

          วันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (24 - 25 เม.ย. 53) ดิฉัน พร้อมกับ อาจารย์กอล์ฟ (ผศ.ศุภวิทู  สุขเพ็ง) และอาจารย์เอ (อาจารย์สาวิตรี  สุวรรณสิงห์)  ไปออกหน่วยบริการวิชาการเคลื่อนที่ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 4/53 ณ  โรงเรียนบ้านบุ่งคล้า  ตำบลบุ่งคล้า  อำเภอหล่มสัก  จังหวัดเพชรบูรณ์  โดยขนเครื่องตรวจมวลกระดูก ไปให้บริการตรวจมวลกระดูกแก่ชุมชนค่ะ

          ก่อนวันเดินทาง พวกเราได้สอบถามเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าโรงเรียนบุ่งคล้าอยู่ไม่ไกลจาก มน. มากนัก  ขับรถใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงก็ถึง  ที่ตั้งโรงเรียนก็ติดถนนใหญ่ ไป- มาสะดวก ดังนั้นเราจึงตัดสินใจเอารถ(ของ อ. เอ)ไปกันเอง   เพราะไม่อยากนอนค้าง

          ออกเดินทางจากหน้าคณะ เวลา 6.30 น.  และแวะรับประทานอาหารเช้ากลางทาง แล้วแต่ใจจะพาไป  ไม่ต้องกะกาณณ์ล่วงหน้า  เหมือนไปเที่ยววันหยุดสุดสัปดาห์  อย่างเมื่อวันอาทิตย์ เราแวะที่นี่ค่ะ

           เป็นร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวหลงฤดูอย่างเรา  เข้าไปในร้านจะเห็นวิวทิวทัศน์สวยงามอย่างนี้  สาวๆ คงแอบหมายตาว่าคราวหน้าจะต้องชวนเพื่อนคู่ใจมาแวะซึ้งกันสักหน่อย

  

  

แล้วก็สั่งข้าวต้มปลามาทานกันร้อนๆ

  

          ที่นี่เขามีเมนูแปลก คือดอกลั่นทมทอด ด้วยค่ะ เห็นหน้าร้านมีต้นลั่นทมต้นเบ่อเริ่มเป็นแหล่งวัตถุดิบ ถ่ายรูปอาหารจานเด็ดมาให้ดูเฉยๆ เพราะยังไม่มีโอกาสชิมกัน ต้องรีบเดินทางให้ทันเวลาค่ะ

 

น่าอร่อยไหมคะ?

          ชุมชนที่ให้บริการคราวนี้ดูไม่ได้อยู่ในที่ลำเค็ญ ทุรกันดารใดใด  ดิฉันจึงมั่นใจว่าคงมีผู้มารับบริการไม่มากนัก  แต่ผิดคาดค่ะ  วันแรกปาเข้าไป 51 คน (ที่จริงมากกว่านี้  แต่เครื่องชักร้อนและรวนแล้ว จึงขออั้นไว้ก่อน) วันที่ 2 เครื่องไม่รวน จึงรับถึง 80 คน มากเป็นประวัติการณ์ ในรูปดูคนไม่เยอะ เพราะกว่าจะมีเวลาถ่ายรูป ก็บริการเกือบหมดแล้ว

เครื่องนี้แหละค่ะที่ใช้หลักการของเอกซเรย์พลังงานสองค่าในการวัดมวลกระดูกของแขนข้างที่ไม่ถนัด
เวลาวัดก็เพียงแต่วางแขนตรงช่องที่ทำเป็นร่องไว้
ชื่อภาษาอังกฤษของเครื่องนี้เรียกว่า Dual Energy X-Ray Bone Densitometer :DEXA

   

          น้องๆ ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องวัดและกรอกข้อมูลที่จำเป็นในการคำนวณเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนดิฉันทำหน้าที่รายงานผล ซึ่งสามารถรายงานผลได้ทันทีหลังจากที่เครื่องวัดเสร็จ  โดยจะรายงานว่าจากค่าที่เครื่องวัดได้  หมายถึงว่าท่านอยู่ในภาวะกระดูกปกติ  หรือกระดูกบาง หรือกระดูกพรุน แล้วก็ให้คำแนะนำกัน  ซึ่งเราทำเป็นคู่มือแจกด้วย

          แต่เอาเข้าจริง ดิฉันต้องทำหน้าที่เหมือนหมอออร์โธปิดิกส์ และนักกายภาพบำบัด  เพราะผลที่ได้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาวะกระดูกบางถึงพรุน  ดังนั้น ลุง ป้า น้า อา ตา ยาย จะบ่น ปวดหลัง  ปวดเข่า ปวดแขน ฯลฯ เสริมให้ฟังและถามว่าจะทำอย่างไรดี ???  

          อาศัยว่า ดิฉันก็ย่างเข้าสู่วัยที่ประสบปัญหาเดียวกันนี้  จึงเข้าใจ เห็นใจ และพอจะช่วยแนะนำได้บ้าง ตามที่ตัวเองได้เคยศึกษาเพื่อบำบัดตัวเองมาก่อน เช่น อาการปวดส้นเท้า  อาการปวดเข่า  อาการปวดหลัง (เป็นมาหมดแล้วจ้า รวมทั้งกระดูกพรุนด้วย)

          สนุกดีค่ะ  ได้เห็นปัญหาของชาวบ้าน  ได้พูดคุยกับชาวบ้าน  กลับมาบ้านก็ต้องหาความรู้มาเสริม คราวหน้าจะได้แนะนำได้ดียิ่งขึ้น

ปล. มีเพื่อนจากคณะอื่น และหน่วยงานต่างๆ ไปด้วย  แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เสวนากัน เพราะต่างฝ่ายต่างยุ่งกับงานของตน ได้แก่

  • คณะทันตแพทยศาสตร์
  • สถานอารยธรรมโขงสาละวิน
  • วิทยาลัยนานาชาติ
  • สถานบริการเทคโนโลยีฯ(IT)
  • กองบริการวิชาการ
  • คณะศึกษาศาสตร์
  • คณะวิทยาศาสตร์
  • คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
  • คณะนิติศาสตร์
  • คณะเภสัชศาสตร์
  • สถานการศึกษาต่อเนื่อง
  • คณะเกษตรศาสตร์ฯ
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์
  • วิทยาลัยพลังงานทดแทน
  • สำนักหอสมุด
  • กองบริหารการวิจัย
  • คณะพยาบาลศาสตร์  (ออกเยี่ยมผู้ป่วยในครัวเรือน)
  • คณะเภสัชศาสตร์  (ออกเยี่ยมผู้ป่วยในครัวเรือน)
  • คณะสถาปัตยกรรมฯ  (ลงศึกษาพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และร่วมเวทีเสวนาภาษาชุมชน)
  • สถานบริการเทคโนโลยีอวกาศ  (ลงศึกษาพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และร่วมเวทีเสวนาภาษาชุมชน)
  • คณะสังคมศาสตร์ (ลงศึกษาพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และร่วมเวทีเสวนาภาษาชุมชน)
  • สถาบัน NICE  (ลงศึกษาพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และร่วมเวทีเสวนาภาษาชุมชน)

———————————–

บันทึกเพิ่มเติม วันที่ 5 พฤษภาคม 2553

สรุปการออกให้บริการเคลื่อนที่เพื่อพัฒนาสุขภาพและอาชีพประชาชน   ครั้งที่ 4/2553

วันที่ 24-25 เมษายน  2553

ณ  โรงเรียนบ้านบุ่งคล้า  ตำบลบุ่งคล้า  อำเภอหล่มสัก  จังหวัดเพชรบูรณ์

          การออกให้บริการเคลื่อนที่เพื่อพัฒนาสุขภาพและอาชีพประชาชน   ครั้งที่ 4/2553  ระหว่างวันที่ 24-25 เมษายน 2553 ณ  โรงเรียนบ้านบุ่งคล้า  ตำบลบุ่งคล้า  อำเภอหล่มสัก  จังหวัดเพชรบูรณ์ มีผู้มารับบริการตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกสรุปได้ดังนี้

1. ข้อมูลทั่วไปของผู้เข้ารับบริการ

  • ผู้เข้ารับบริการรวมทั้งสิ้นจำนวน 120 คน (วันที่ 24 จำนวน 47  คน,วันที่ 25 จำนวน 73  คน) 
  • เป็นเพศหญิง 103 คน 
  • เพศชาย 17  คน  
  • อายุของผู้เข้ารับบริการ อยู่ระหว่าง 20-80  ปี  อายุเฉลี่ยเท่ากับ 51.18 ± 11.18 ปี
  • น้ำหนักของผู้เข้ารับบริการอยู่ระหว่าง 32-88  กิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ยเท่ากับ 59.92 ± 9.85 กิโลกรัม 
  • ส่วนสูงของผู้เข้ารับบริการอยู่ระหว่าง 143-176 เซนติเมตร  ส่วนสูงเฉลี่ยเท่ากับ 155.96 ± 6.39 เซนติเมตร 

 2. ความชุกของภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุน

ค่าที่วัดได้จากการตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกบริเวณกระดูกข้อมือ ด้วยเครื่อง DEXA   พบว่า

  • ผู้เข้ารับบริการมีค่ามวลกระดูกในช่วงปกติ  (T- score มากกว่า  -1 SD ) มีจำนวน  45  คน (ร้อยละ 37.5)
  • ผู้เข้ารับบริการที่มีค่ามวลกระดูกบาง  (T- score อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 SD) มีจำนวน  34 คน  (ร้อยละ 28.3)
  • ผู้เข้ารับบริการที่มีค่ามวลกระดูกพรุน (T- score ต่ำกว่า  -2.5 SD) มีจำนวน 41 คน (ร้อยละ 34.2)

ภาวะของมวลกระดูก จำแนกตามช่วงอายุต่าง ๆ พบว่า

  • ผู้รับบริการที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี มีภาวะกระดูกบาง และกระดูกพรุน เท่ากับ ร้อยละ 11.11  และ ร้อยละ 27.78 ตามลำดับ
  • ผู้รับบริการที่มีอายุตั้งแต่ 41-50 ปี มีภาวะกระดูกบาง และกระดูกพรุน เท่ากับ ร้อยละ 30.77 และ ร้อยละ 28.21 ตามลำดับ
  • ผู้รับบริการที่มีอายุตั้งแต่ 51-60 ปี มีภาวะกระดูกบาง และกระดูกพรุน เท่ากับ ร้อยละ 29.27 และ ร้อยละ 36.59 ตามลำดับ
  • ผู้รับบริการที่มีตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไป มีภาวะกระดูกบาง และกระดูกพรุน เท่ากับ ร้อยละ 36.36 และ ร้อยละ 45.45 ตามลำดับ

 รายชื่อผู้ออกให้บริการ : ภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ ม.นเรศวร

  1. รศ.มาลินี  ธนารุณ
  2. ผศ.ศุภวิทู  สุขเพ็ง
  3. อ.สาวิตรีสุวรรณสิงห์
  4. น.ส.นฤปกรณ์  บังแสง 
  5. น.ส.ภูมิศิริ  ภิรมรัมย์


โครงการ “ส่งเสริมสุขภาพ ใจ-กาย ผู้สูงวัยท่าโพธิ์”

11 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 24 เมษายน 2010 เวลา 22:48 ในหมวดหมู่ การศึกษา, สุขภาพ #
อ่าน: 3354

          ในช่วงเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา  ดิฉันได้จัดโครงการ “ส่งเสริมสุขภาพใจ-กาย ผู้สูงวัยท่าโพธิ์” ขึ้น ณ อาคารปฏิบัติการภาควิชารังสีเทคนิค  คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร   

          เป็นโครงการให้บริการวิชาการ ประจำปี 2553 ที่ดิฉันได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย (งบประมาณแผ่นดิน) มีกิจกรรมหลักคือ ให้บริการการถ่ายภาพเอกซเรย์ข้อเข่า เพื่อประเมินภาวะข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในชุมชนท่าโพธิ์  จังหวัดพิษณุโลกซึ่งเป็นเขตพื้นที่ชุมชนเดียวกับมหาวิทยาลัยนเรศวร  รวมทั้งหมด 11 หมู่บ้าน 

          การดำเนินงานคราวนี้  เป็นประสบการณ์สัมผัสชุมชนที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยที่ทำให้ดิฉันประทับใจมาก  นับตั้งแต่ อบต.ท่าโพธิ์  ท่านนายก อบต. (คุณธวัช  สิงหเดช)  และเจ้าหน้าที่ของ อบต. ท่าโพธิ์ ทุกท่าน โดยเฉพาะคุณชัชฎิล  ที่ช่วยประสานงานการประชาสัมพันธ์และการจัดหารถรับส่งผู้สูงวัย  ประธานชมรมผู้สูงวัยท่าโพธิ์ (อาจารย์สนิท  เพ็งหัวรอ) ที่ให้โอกาสดิฉันเข้าไปร่วมกิจกรรมสังสรรค์ประจำเดือนกับผู้สูงอายุในชุมชนและประชาสัมพันธ์โครงการ  ตลอดจนคุณเสาวนีย์  มีมาก หัวหน้าสถานีอนามัยท่าโพธิ์ ที่ให้ความกรุณาประสานกับ อสม. ของทุกหมู่บ้าน

          ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับแจก คู่มือผู้สูงวัยพลานามัยสมบูรณ์ ที่ดิฉันเรียบเรียงขึ้นด้วยนะคะ  (หน้าปกออกแบบโดยเจ้าพลอย ลูกสาวคนเล็ก)

  

               คณาจารย์ของภาควิชารังสีเทคนิคทุกท่าน รวมทั้ง TA เข้ามาร่วมโครงการนี้ด้วย  ช่วยกันคนละไม้ละมือ  ทุกวันอังคาร ถึงวันศุกร์  ผู้สูงอายุจะมาที่ภาควิชาแต่เช้า 9.00 น.  นั่งพักรับประทานของว่างและน้ำดื่มไปพลาง  ดู VDO เกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อม (ที่ดิฉันไปขอยืมมาจากสำนักหอสมุด) ไปพลางแล้วเราก็จะทยอยเรียกชื่อมาลงทะเบียนและซักประวัติ 

 

               นิสิตอาสาสมัคร ปี 2 และ 3 ก็มาช่วยด้วย  เขาชอบกันมาก เพราะได้เรียนรู้จากสภาพจริงๆ  และยังได้ฝึกแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สูงวัยผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนา (สัมภาษณ์) ด้วย

  

               โดยการควบคุมของอาจารย์ นิสิตได้ฝึกจัดท่าถ่ายภาพเอกซเรย์ข้อเข่าก่อนจะเรียนจริงตอนเปิดเทอมหน้า  ได้ฝึกล้างฟิล์มในห้องมืด  และ QC ฟิล์ม  ครบถ้วนกระบวนการ  (สนุกกว่าตอนเรียนจริงๆ เสียอีก)

    

    

    

    

               พอสายๆ หน่อย อาจารย์ ดร.อรอุมา บุณยารมย์ อาจารย์จากภาควิชากายภาพบำบัด ก็จะมาแจมด้วย โดยอาจารย์จะมาคุยแบบเป็นกันเองอธิบายที่มาที่ไปของเรื่องโรคข้อเข่าเสื่อม รวมทั้งสอนกายบริหารข้อเข่าเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับข้อเข่าแก่ผู้สูงอายุด้วย  ท่านผู้สูงอายุสนุกกันมาก และไม่เบื่อเลยแม้อยู่ระหว่างการรอถ่ายภาพเอกซเรย์   

  

  

          ตอนเที่ยง เราก็ยังได้จัดอาหารเลี้ยงก่อนส่งท่านผู้สูงอายุก่อนพากลับบ้านด้วย  อาหารทุกมื้อรวมทั้งของว่าง ได้คุณขวัญเรือน  นักวิชาการพัสดุของคณะเป็นผู้ประสานและจัดการให้  จึงอร่อยและอิ่มแปร้ทุกมื้อ 

          ดิฉันสัญญากับท่านผู้สูงอายุก่อนกลับว่า  จะนำผลฟิล์มที่แพทย์ได้อ่านเรียบร้อยแล้วส่งไปให้ถึงมือ  โดยจะไปพร้อมคุณหมอด้วย  จริงๆ แล้ว  เรายังมีถุงทรายสำหรับให้ท่านได้ใช้บริหารข้อเข่าตามที่ได้เรียนจากอาจารย์ ดร. อรอุมา แจกให้อีกท่านละ 1 ชุด (ตอนนี้ยังอุบไว้ก่อน  จะให้เซอร์ไพร้สทีหลัง เพราะยังเย็บไม่เสร็จค่ะ)

          โครงการนี้ทำให้ดิฉันได้รู้จักกับคุณหมอที่น่ารัก และอัธยาศัยดีมากอีกท่านหนึ่ง คือ แพทย์หญิงพัชรินทร์  ปิงเมืองแก้ว  ซึ่งถามไถ่ไปมาก็จ๊ะเอ๋เป็นศิษย์เก่าคณะสหเวชฯ สาขาเทคนิคการแพทย์รุ่นที่ 1 ของเรานี่เอง  โชคดีจริงๆ

          คุ้มเหลือเกินนะคะกับการทำงานแบบลงมือ ได้รู้จักคนมากมาย  ได้สัมพันธภาพที่ดีกับชุมชนทั้งภายนอกมหาวิทยาลัยและภายในคณะ  ได้ฝึกฝนตนเอง ได้สอนลูกศิษย์ ได้ใช้เครื่องมือช่วยจัดท่าถ่ายเอกซเรย์ที่ประดิษฐ์ขึ้น  และแถมอาจนำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดงานวิจัยได้อีกด้วย……… 

  


อุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพเอกซเรย์กระดูกข้อเข่า: ธรรมดาๆ ไม่รู้ดังได้งัย??

2906 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 12 ธันวาคม 2009 เวลา 15:54 ในหมวดหมู่ สุขภาพ #
อ่าน: 26075

          วันนี้ดิฉันกลับเข้าลานอีกครั้ง…….งงอยู่ชั่วครู่  เหมือนไม่ได้เข้าบ้านมานาน  หาลูกกุณแจไม่เจอ  ไม่รู้ว่าต้องใช้ดอกไหนเปิดประตู…….

          มะงุมมะงาหราอยู่ครู่ใหญ่…..จึงเข้าบ้านได้…..เอาละ….ต้องรีบปัดกวาดเช็ดถู

          เริ่มเรื่องไหนก่อนดีน้า……. 

          เอาเรื่องคุยโม้ก่อนดีกว่า

          เมื่อปลายเดือนที่แล้ว (วันที่ 19 พ.ย. 52) ตอนเช้าดิฉันต้องทำตัวเป็นข่าว เพราะงาน ปชส. ของมหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

  

          เรื่องที่แถลงคือ นิสิต ม. นเรศวร (ที่ดิฉันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำโครงงานวิชาชีพ)ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากการเข้าร่วมประกวดโครงการนวัตกรรมแห่งประเทศไทย เรื่องการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค  

          เสร็จแล้ว ม. ก็เอาไป ปชส. ที่หน้า Home Page ของ มน. ด้วย (โฆษณาไม่นานนัก…ดิฉันจึงต้องโฆษณาต่อ  แหะ  แหะ) 

         ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง  ทีวีไทยก็มาขอถ่ายทำเครื่องมือดังกล่าวไปออกรายการวันหยุดด้วย  แหม!  อย่างหลังนี้รู้สึกโก้มากเลย  ทั้งที่เมื่อ วันที่ 2 กรกฎาคม ปีเดียวกันนี้เอง  ช่อง 9 อสมท. ก็มาขอถ่ายทำเช่นเดียวกัน  แต่ครั้งนั้น  ไปถ่ายทำกันที่ รพ. พุทธชินราช   ครั้งนี้เราถ่ายทำกันที่ห้องเอกซเรย์ของภาควิชารังสีเทคนิค 

          ดิฉันอัดรายการที่ออกทีวีทั้ง 2 ช่องนี้เก็บลงแผ่นซีดีไว้เป็นอนุสรณ์เรียบร้อยแล้วค่ะ  ด้วยความอนุเคราะห์เป็นอย่างดียิ่งของหน่วยโสตฯ ของสำนักหอสมุด มน.

          น่าแปลกไหมคะที่หน่วย ปชส. มน. ไม่มีอุปกรณ์เพื่อการณ์ดังกล่าว  แต่ที่สำนักหอสมุด  มีการให้บริการที่มีความคล่องตัวสูงมาก (ผอ. สำนักหอสมุด คือ รศ.ดร.รัตติมา  จีนาพงษ์  เป็นคนเก่งมากๆ  และน่ารักที่สุด)

          อ้อ!  สิ่งที่ได้เรียนรู้อีกอย่างคือ  ช่อง 9 ถ่ายทำไปแล้วตั้งเกือบ 2 เดือน  กว่าจะได้ออกอากาศ  แต่ช่องทีวีไทย ถ่ายทำวันพฤหัสฯ  ออกอากาศวันอาทิตย์  speed ต่างกันมาก  แถมเมื่อวาน ทางทีวีไทยยังได้ส่งแผ่นบันทึก DVD ที่ถ่ายทำทั้งรายการมาให้ดิฉันทางไปรษณีย์อีกด้วย บริการดีจริงๆ เชียว

          ดิฉันกำลังคิดจะหาวิธีเรียนรู้ว่าจะเอา สื่อไปลง You Tube ได้ยังงัย ??  เพราะกลัวชาวลานจะไม่ได้เห็นดารา “ถัง” ออกทีวี!!! …อีกอย่าง…..จะได้โม้ได้ทั่วโลกงัยคะ….อิ  อิ  อิ อิ….. 

          ความที่เป็นอาจารย์บ้านนอก  ดิฉันว่าได้เปรียบอยู่อย่างที่ว่า……….เรื่องธรรมดาๆ ก็ดังได้………

———————————————————————————————-

ภาคผนวก

ข้อความใน web ปชส. ของมหาวิทยาลัย

นิสิต ม.นเรศวร คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย 2552
การพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค

          นิสิตคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2552 (Thailand Innovation Awards 2009) ในงานเทคโนมาร์ท - อินโนมาร์ท 2009  ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  กรุงเทพฯ ในผลงานเรื่อง “การพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค” เจ้าของผลงานคือนางสาวจิรานันท์ สมศรี นางสาวณัฐพร ชูไว และนางสาวมนัญญา พลจังหรีด โดยมี รองศาสตราจารย์มาลินี ธนารุณ อาจารย์ประจำภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
          ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) หรือ Thailand Innovation Awards 2009 เป็นเวทีสำคัญที่ส่งเสริมให้นิสิตได้แสดงศักยภาพของตนเอง นิสิตที่มีคุณภาพนั้น จะสามารถพัฒนางาน บูรณาการต่อยอดงานให้เกิดการผลสัมฤทธิ์ได้ในที่สุด มหาวิทยาลัยนเรศวรเน้นการพัฒนานิสิต ให้สามารถเก่งคน เก่งงาน เก่งคิด เก่งครองชีวิต เก่งพิชิตปัญหา ที่สำคัญต้องเกิดการเรียนรู้ควบคู่กับการดูแลชุมชนของตนให้เกิดความยั่งยืน
          รองศาสตราจารย์ มาลินี ธนารุณ   อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย ฯ กล่าวถึง ผลงานวิจัยดังกล่าวว่า เป็นการต่อยอดจากโครงงานวิชาชีพของนิสิตรุ่นก่อน คือ ของคุณณรงค์ศักดิ์ ชมวงศ์และโดยการประยุกต์ใช้ระบบไฮโดรลิคที่รับน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 200 กิโลกรัม มาเป็นเครื่องช่วยยกฐานอุปกรณ์ให้ขึ้นลงได้ด้วยสวิตซ์ควบคุม ขนาดของอุปกรณ์กะทัดรัดขึ้นสามารถใช้งานได้โดยสะดวก นอกจากนี้ยังปรับปรุงวงรอบการหมุนของแท่นยืนจาก 180 องศาเป็น 360 องศา เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องหมุนตัวกลับขณะเปลี่ยนท่า ทั้งนี้ เมื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ได้รับการจัดท่าด้วยอุปกรณ์ที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้นใหม่ และความพึงพอใจของนักรังสีเทคนิคที่เป็นผู้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ในแผนกเอกซเรย์ของโรงพยาบาลตัวอย่าง  พบว่าทั้งผู้ป่วยและนักรังสีเทคนิค ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าว ปัจจุบันได้นำไปใช้จริง  ณ แผนกเอกซเรย์ของโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นความสำเร็จของการประดิษฐ์ผลงานนวัตกรรมที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ

 



Main: 0.79664993286133 sec
Sidebar: 0.069813013076782 sec