อุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพเอกซเรย์กระดูกข้อเข่า: ธรรมดาๆ ไม่รู้ดังได้งัย??

โดย ถัง เมื่อ 12 ธันวาคม 2009 เวลา 15:54 ในหมวดหมู่ สุขภาพ #
อ่าน: 26762

          วันนี้ดิฉันกลับเข้าลานอีกครั้ง…….งงอยู่ชั่วครู่  เหมือนไม่ได้เข้าบ้านมานาน  หาลูกกุณแจไม่เจอ  ไม่รู้ว่าต้องใช้ดอกไหนเปิดประตู…….

          มะงุมมะงาหราอยู่ครู่ใหญ่…..จึงเข้าบ้านได้…..เอาละ….ต้องรีบปัดกวาดเช็ดถู

          เริ่มเรื่องไหนก่อนดีน้า……. 

          เอาเรื่องคุยโม้ก่อนดีกว่า

          เมื่อปลายเดือนที่แล้ว (วันที่ 19 พ.ย. 52) ตอนเช้าดิฉันต้องทำตัวเป็นข่าว เพราะงาน ปชส. ของมหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

  

          เรื่องที่แถลงคือ นิสิต ม. นเรศวร (ที่ดิฉันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำโครงงานวิชาชีพ)ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากการเข้าร่วมประกวดโครงการนวัตกรรมแห่งประเทศไทย เรื่องการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค  

          เสร็จแล้ว ม. ก็เอาไป ปชส. ที่หน้า Home Page ของ มน. ด้วย (โฆษณาไม่นานนัก…ดิฉันจึงต้องโฆษณาต่อ  แหะ  แหะ) 

         ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง  ทีวีไทยก็มาขอถ่ายทำเครื่องมือดังกล่าวไปออกรายการวันหยุดด้วย  แหม!  อย่างหลังนี้รู้สึกโก้มากเลย  ทั้งที่เมื่อ วันที่ 2 กรกฎาคม ปีเดียวกันนี้เอง  ช่อง 9 อสมท. ก็มาขอถ่ายทำเช่นเดียวกัน  แต่ครั้งนั้น  ไปถ่ายทำกันที่ รพ. พุทธชินราช   ครั้งนี้เราถ่ายทำกันที่ห้องเอกซเรย์ของภาควิชารังสีเทคนิค 

          ดิฉันอัดรายการที่ออกทีวีทั้ง 2 ช่องนี้เก็บลงแผ่นซีดีไว้เป็นอนุสรณ์เรียบร้อยแล้วค่ะ  ด้วยความอนุเคราะห์เป็นอย่างดียิ่งของหน่วยโสตฯ ของสำนักหอสมุด มน.

          น่าแปลกไหมคะที่หน่วย ปชส. มน. ไม่มีอุปกรณ์เพื่อการณ์ดังกล่าว  แต่ที่สำนักหอสมุด  มีการให้บริการที่มีความคล่องตัวสูงมาก (ผอ. สำนักหอสมุด คือ รศ.ดร.รัตติมา  จีนาพงษ์  เป็นคนเก่งมากๆ  และน่ารักที่สุด)

          อ้อ!  สิ่งที่ได้เรียนรู้อีกอย่างคือ  ช่อง 9 ถ่ายทำไปแล้วตั้งเกือบ 2 เดือน  กว่าจะได้ออกอากาศ  แต่ช่องทีวีไทย ถ่ายทำวันพฤหัสฯ  ออกอากาศวันอาทิตย์  speed ต่างกันมาก  แถมเมื่อวาน ทางทีวีไทยยังได้ส่งแผ่นบันทึก DVD ที่ถ่ายทำทั้งรายการมาให้ดิฉันทางไปรษณีย์อีกด้วย บริการดีจริงๆ เชียว

          ดิฉันกำลังคิดจะหาวิธีเรียนรู้ว่าจะเอา สื่อไปลง You Tube ได้ยังงัย ??  เพราะกลัวชาวลานจะไม่ได้เห็นดารา “ถัง” ออกทีวี!!! …อีกอย่าง…..จะได้โม้ได้ทั่วโลกงัยคะ….อิ  อิ  อิ อิ….. 

          ความที่เป็นอาจารย์บ้านนอก  ดิฉันว่าได้เปรียบอยู่อย่างที่ว่า……….เรื่องธรรมดาๆ ก็ดังได้………

———————————————————————————————-

ภาคผนวก

ข้อความใน web ปชส. ของมหาวิทยาลัย

นิสิต ม.นเรศวร คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย 2552
การพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค

          นิสิตคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2552 (Thailand Innovation Awards 2009) ในงานเทคโนมาร์ท - อินโนมาร์ท 2009  ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  กรุงเทพฯ ในผลงานเรื่อง “การพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค” เจ้าของผลงานคือนางสาวจิรานันท์ สมศรี นางสาวณัฐพร ชูไว และนางสาวมนัญญา พลจังหรีด โดยมี รองศาสตราจารย์มาลินี ธนารุณ อาจารย์ประจำภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
          ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) หรือ Thailand Innovation Awards 2009 เป็นเวทีสำคัญที่ส่งเสริมให้นิสิตได้แสดงศักยภาพของตนเอง นิสิตที่มีคุณภาพนั้น จะสามารถพัฒนางาน บูรณาการต่อยอดงานให้เกิดการผลสัมฤทธิ์ได้ในที่สุด มหาวิทยาลัยนเรศวรเน้นการพัฒนานิสิต ให้สามารถเก่งคน เก่งงาน เก่งคิด เก่งครองชีวิต เก่งพิชิตปัญหา ที่สำคัญต้องเกิดการเรียนรู้ควบคู่กับการดูแลชุมชนของตนให้เกิดความยั่งยืน
          รองศาสตราจารย์ มาลินี ธนารุณ   อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย ฯ กล่าวถึง ผลงานวิจัยดังกล่าวว่า เป็นการต่อยอดจากโครงงานวิชาชีพของนิสิตรุ่นก่อน คือ ของคุณณรงค์ศักดิ์ ชมวงศ์และโดยการประยุกต์ใช้ระบบไฮโดรลิคที่รับน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 200 กิโลกรัม มาเป็นเครื่องช่วยยกฐานอุปกรณ์ให้ขึ้นลงได้ด้วยสวิตซ์ควบคุม ขนาดของอุปกรณ์กะทัดรัดขึ้นสามารถใช้งานได้โดยสะดวก นอกจากนี้ยังปรับปรุงวงรอบการหมุนของแท่นยืนจาก 180 องศาเป็น 360 องศา เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องหมุนตัวกลับขณะเปลี่ยนท่า ทั้งนี้ เมื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ได้รับการจัดท่าด้วยอุปกรณ์ที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้นใหม่ และความพึงพอใจของนักรังสีเทคนิคที่เป็นผู้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ในแผนกเอกซเรย์ของโรงพยาบาลตัวอย่าง  พบว่าทั้งผู้ป่วยและนักรังสีเทคนิค ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าว ปัจจุบันได้นำไปใช้จริง  ณ แผนกเอกซเรย์ของโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นความสำเร็จของการประดิษฐ์ผลงานนวัตกรรมที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ

 

« « Prev : ขำขำวันนี้

Next : เยี่ยมแม่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2967 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 5.0157830715179 sec
Sidebar: 0.085700988769531 sec