UP Motto

13664 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 20 ตุลาคม 2010 เวลา 22:45 ในหมวดหมู่ การบริหาร #
อ่าน: 41862

สัปดาห์แรกตอนมาอยู่ ม.พะเยา ใหม่ๆ  ท่านอธิการให้คำอธิบายของสีประจำมหาวิทยาลัย  ซึ่งก็คือสีม่วง - ทอง ว่า  สีม่วงคือสีวันประสูติพระเทพฯ  ส่วนสีทองคือความรุ่งเรืองของมหาวิทยาลัย  ดิฉันก็ยังรู้สึกแปลกๆ ในใจ  เกี่ยวกับ สีม่วงไม่หายว่าทำไมต้องสื่อเช่นนั้น

ต่อมาก็ทราบว่า…..อ๋อ….ก็เพราะกะว่าจะขอพระราชทานนามของท่านมาเป็นนามของมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยสิรินธร” นั่นเอง

แต่พอมาสัปดาห์ที่สอง  ท่านอธิการเริ่มให้ความสำคัญกับชื่อภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย โดยท่านบอกว่า จะไม่ใช้ชื่อ Phayao University นะ  เราจะใช้ชื่อว่า University of Phayao ซึ่งจะเท่และขลังกว่า  เพราะสื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยของจังหวัดพะเยา  เหมือนๆ กับ U ชั้นนำของรัฐในประเทศมหาอำนาจอย่างไรเล่า

นี่ก็ทำให้ดิฉันเข้าใจได้  เมื่อท่านอธิการให้ความหมายของสีม่วง สีประจำมหาวิทยาลัยในอีกแบบหนึ่งว่า  สีม่วง เป็นสีผสมของสีแดง และสีน้ำเงิน  ซึ่งหมายถึง ชาติ และ พระมหากษัตริย์  ส่วนสีทองก็เหมือนเดิมหมายถึงความรุ่งเรืองของมหาวิทยาลัย

หมายความว่า…..คงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับชื่อมหาวิทยาลัยสิรินธร

สัปดาห์ที่สาม ซึ่งก็คือวันนี้  ท่านอธิการก็มีไอเดียเจ๋งๆ มานำเสนออีกแล้ว  ท่านบอกว่า  Motto หรือคติพจน์ของ ม. พะเยา  มีแล้วนะ  ช่วยกันจำให้ขึ้นใจหน่อยคือ

Wisdom for Community Empowerment “ 

ปัพื่ข้ข็ชุ

โอ้วววว !!!  ดิฉันชอบ 

ชอบทั้งการมี Motto

และชอบทั้ง Motto ที่มี 

” Wisdom for Community Empowerment “ 

ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน

” Wisdom for Community Empowerment “ 

ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน

” Wisdom for Community Empowerment “ 

ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน

ท่องไว้   ท่องไว้


บวงสรวงสมเด็จฯ วันที่ 7 …7 โมงเช้า

2668 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 7 ตุลาคม 2010 เวลา 23:54 ในหมวดหมู่ การบริหาร #
อ่าน: 14505

วันนี้ตื่นแต่เช้า….เพราะมีนัดขึ้นเขาไปร่วมพิธีบวงสรวงสมเด็จฯ ค่ะ

ใกล้หน้าหนาวแล้ว  อากาศตอนเช้าที่เรือนเอื้องคำ  ใน ม. พะเยา สดชื่น เย็นสบายจริงๆ

ก้าวออกจากประตูห้องพัก ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา เป็นสนามหญ้า มองตรงไปข้างหน้า เห็นศาลตั้งเด่นเป็นสง่าบนยอดเขาเล็กๆ ห่างไปไม่ไกลนัก

ดิฉันได้รับทราบมาว่าเป็นศาลสมเด็จพระนเรศวร  และอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยด้วย  แต่ก็ยังไม่มีโอกาสไปสักการะใกล้ๆ  สักที

วันนี้…..ดิฉันได้เรียนรู้อีกอย่างหนึ่งว่า  ผู้บริหารที่ดีจะต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญ ในสิ่งซึ่งเป็นขวัญและกำลังใจของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไรบ้าง

ที่ศาลบนเขา ซึ่งอยู่ระหว่างบูรณะ ยังต้องระวังขณะเดินขึ้นบันได เพราะไม่ได้ปูกระเบื้อง  แต่ลานกว้างโล่งปูด้วยอิฐตัวหนอนและล้อมรั้วแล้ว ทำให้สามารถยืนชมวิวและมองเห็นอาณาเขตมหาวิทยาลัยได้เกือบหมด  ช่วยคลายความงุนงงเกี่ยวกับที่ตั้งของตึก และถนนหนทางต่างๆ  ที่เห็นจากแผนที่แก่ดิฉันได้แจ่มกระจ่างขึ้น

เมื่อถึงเวลา 7 นาฬิกาตรง ท่านอธิการบดีเป็นประธานจุดธูปเทียน  แล้วพราหมณ์ก็ทำพิธีกล่าวคำบูชา

ช่วงเวลานี้เอง ที่ก่อเกิดบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์  ปลุกขวัญและกำลังใจ  ดิฉันรู้สึกว่าเหมือนพวกเราเหล่าข้าราชบริพาร ได้มาถวายบังคมสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  และกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ว่าจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมือง ถวายแด่พระองค์ท่านด้วยความจงรักภักดี จนกว่าชีวิตจะหาไม่

เมื่อปักธูปบนอาหารที่นำมาถวาย  และกราบสักการะสมเด็จฯ ด้วยพวงมาลัยกันแล้ว ก็เป็นช่วงของการรำถวาย สาวงามนางรำ 2 คน ก็ไม่ใช่ใครอื่นไกลที่ไหน  เป็นนิสิตของ ม.พ. นั่นเอง 

เสร็จพิธีที่เรียบง่าย ท่านอธิการยังได้แจก พระพิฆคเณศวร์ องค์เล็กๆ แก่พวกเราทุกคนด้วย

Happy Ending  


ทำงานวันแรกที่ UP

8706 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 4 ตุลาคม 2010 เวลา 22:45 ในหมวดหมู่ การบริหาร #
อ่าน: 33817

ไม่นึกไม่ฝันว่า ชีวิตนี้จะต้องเปลี่ยนงานเป็นครั้งที่ 3

ครั้งแรก ความที่อยากเป็นครูบาอาจารย์เหมือน พ่อ แม่ หลังจากทำงานเป็นนักรังสีเทคนิคที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ได้ 1 ปีเต็ม ก็ขอกราบลาไปเป็นอาจารย์ที่ ภาควิชารังสีเทคนิค  คณะเทคนิคการแพทย์ ม. มหิดล จำได้ว่าตอนนั้นมีเจตนารมณ์แน่วแน่  และโชคดีที่ไม่มีใครแย่งไม่มีใครอยากเป็นอาจารย์กันเลยตอนนั้น

ครั้งที่สอง  หลังจากทำงานสอนจริงๆ มานาน 19 ปีเต็ม และเพิ่งขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ได้หมาดๆ  ก็จำใจจำจาก ม.มหิดล แดนเกิด มาสมัครเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยอยู่คณะสหเวชศาสตร์ ม.นเรศวร พิษณุโลก ด้วยอารมณ์ที่อยากลอง อยากดวลสักตั้ง  ประสาคนกรุงที่ไม่เคยลิ้มลองชีวิต ตจว. เลย ตั้งแต่เกิด

ครั้งที่สาม คือครั้งนี้  หลังจากรับใช้ ม.น. มาครบ 10 ปี พอดิบพอดี ก็เกิดอกหักเพราะรักคุด ผลุนผลันตีจาก ม.น. มาซบอก ม.พะเยา เฉยเลยเรา….ชีวิตมาหวือหวาเอาตอนแก่นี่เอง

ดีที่ ม.พ. หรือ ตัวย่อภาษาอังกฤษคือ UP (มาจาก University of Phayao) มีคณะสหเวชศาสตร์ให้ร่อนลงจอดได้  ดิฉันจึงไม่ต้องแจวไปไหน  แถมมีพรรคพวกคอเดียวกันมาอยู่ด้วยกันเป็นตับ 

ไม่นับหัวแถวคือท่านอธิการมณฑล (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. มณฑล  สงวนเสริมศรี) แล้วละก็ ดิฉันไล่เรียงให้ได้ ดังนี้  ดร.สำราญ  ทองแพง  /  รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ (รศ.ดร.สุภัค  พ่วงบางโพธิ์)  / ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร  / ผศ.สุระพล  ภานุไพศาล  /  ผศ.ชาลี  ทองเรือง  /  รศ.พูนพงษ์  งามเกษม  /  รศ. ปรียานันท์  แสนโภชน์  / รศ.ดร.นุวัตร  วิศวรุ่งโรจน์  และ  รศ. ดร. วัฒนพงศ์  รักษ์วิเชียร  ……และไม่แน่….  ไม่แน่… อีกต่อๆ ไป 

ม.พ. ประกาศเอกราชเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553

ท่านอธิการ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2553 (รู้จริงๆ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 53)

สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีม่วง-ทอง  สีม่วง สื่อความหมายถึงวันประสูติของพระเทพฯ และสีทองสื่อถึงความรุ่งเรืองของมหาวิทยาลัย

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือฟ้ามุ่ย  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vanda coerulea Griff. ex Lindle. อยู่ในวงศ์กล้วยไม้ คือ Orchidaceae เป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้า  ออกดอกระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม  ความงดงามโดดเด่นของฟ้ามุ่ย ทำให้ถูกยกย่องว่าเป็นกล้วยไม้ป่าที่สวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของโลก มีผู้รู้บางท่านอธิบายว่า ชื่อฟ้ามุ่ยมีความหมายว่า ฟ้าหม่นหมอง เนื่องจากความงามจากกลีบดอกสีฟ้าของฟ้ามุ่ย ทำให้สีของท้องฟ้าแลดูหม่นหมองไปเลยนั่นเอง

  

ม.พ.  ประเดิมวางตำแหน่งของตนเองอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัย ค2  คือเป็นสถาบันเฉพาะทางที่เน้นการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี ท่านอธิการย้ำว่าให้เน้น community base ให่ลงพื้นที่ให้มากที่สุด  เปิดโอกาสให้นักเรียนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 7 จังหวัด คือ พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน  ลำปาง  น่าน และแพร่ ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาให้ได้มากที่สุด  อยากให้รับเข้าได้ถึงปีละ 5 พันคน  (งานคงหนักมากๆ ทีเดียวเจียว)

ในระยะแรก หน้าที่หลักของคณบดี คือให้ดูแลคุณภาพของนิสิต  ผู้สอน และหลักสูตร เป็นสำคัญ  (ขอบอกไว้ก่อนว่า…ด้วยงบประมาณที่จำกัด) ต้องทำหลักสูตรให้ได้มาตรฐาน TQF ภายใน พ.ย. 54  เพื่อใช้ให้ทัน 55

แต่ที่พนักงานมหาวิทยาลัยของ ม. น่าจะยินดีปรีดา คือเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาล  ซึ่งนโยบายของท่านอธิการ คือจะให้ได้เหมือนข้าราชการทุกประการ

สำหรับการ servey คณะสหเวชฯ ม.พ. วันนี้  ทราบว่า  มีหลักสูตรอยู่ 2 หลักสูตร คือ เทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด  ซึ่งเปิดรับนิสิตรุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2550  ดังนั้น ณ ขณะนี้ จะมีนิสิตครบทั้ง 4 ชั้นปี 

หลักสูตรสาขาเทคนิคฯ ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพแล้ว
ส่วนหลักสูตรกายภาพบำบัด กำลังจะรับการตรวจเยี่ยมสถาบันโดยผู้ประเมินจากสภาวิชาชีพ ราวเดือน พ.ย. - ธ.ค. ปีนี้

อาจารย์สาขาเทคนิคการแพทย์  มีอยู่ 18 คน  ลาศึกษาต่อ 2 คน  เป็น ป.เอก 3 คน  สาขาที่ขาดแคลนคือจุลชีวะ
อาจารย์สาขากายภาพบำบัด มี 9 คน  เป็น ป. โท ทั้งหมด  และยังไม่มีผู้ใดลาศึกษาต่อ เพราะจำนวนอาจารย์ไม่พอสอน

นิสิต MT ปี 4 + 3 + 2 + 1 = 80+155+160+60 = 455 คน
นิสิต PT  ปี 4 + 3 + 2 + 1 = 69+127+156+60 = 412 คน
รวม = 867 คน  มากกว่าที่ มน.

วันนี้น้องๆ พาเยี่ยมชมอาคารใหม่ 

   

โอ….ห้องเยอะแยะเลย  รอครุภัณฑ์มาเติมอีกนิ๊ด  ก็ perfect

แต่ที่แน่ๆ เพียงปร๊าดเดียวก็สรุปได้ว่า คุณภาพของคณาจารย์รุ่นใหม่ทุกคนที่นี่ ช่าง perfect เสียจริงๆ โล่งอกไปที………


เส้นแบ่งระหว่างเมตตากับกล้าเผชิญ

ไม่มีความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 4 เมษายน 2010 เวลา 9:46 ในหมวดหมู่ การบริหาร #
อ่าน: 1629

วันนี้   ดิฉันยังหดหู่อยู่เช่นเดิม

ชีวิตของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย  บ่อยครั้งที่ผลประเมินการเรียนรู้ของลูกศิษย์ที่สุดแสนจะเหลือขอ

ทำให้อาจารย์ต้องตกอยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจว่าจะเมตตา ยอมให้ผ่าน ยอมให้จบการศึกษาไปประกอบอาชีพได้ หรือจะตัดอนาคตด้วยการให้ retire เพราะเขาก็ร่ำเรียนมาจนใกล้จบปีสุดท้ายพอดี

เราจะเมตตา หรือกล้าเผชิญกับความรู้สึกผิดที่มีส่วนทำให้วิถีชีวิตการงานของลูกศิษย์คนหนึ่งต้องดับวูบลง ไม่มีปริญญาบัตรแสดงความสำเร็จที่สังคมยอมรับ

(วกกลับมาที่สาเหตุจริงๆ ของความหดหู่ใจ ในวันนี้)

ดิฉันจึงเข้าใจดีว่า

หากผลการประเมินผู้บริหารออกมาว่า อยู่ในขั้นเหลือขอเช่นกัน  ผู้ใหญ่ที่ใหญ่กว่าคงต้องลำบากใจที่จะตัดสินออกมาในรูปแบบใด  รูปแบบหนึ่ง

ดังนั้น  ผลการเรียนที่ ได้ :  F  F  F  F  F  F  F  F  F  D  D  D  D  รวมๆ แล้วได้รับการประเมินให้ “ผ่าน” ได้

ฉันใด…ก็ฉันนั้น….

ผลการประเมินที่ได้ : ไม่ผ่าน  ไม่ผ่าน  ไม่ผ่าน  ไม่ผ่าน  ไม่ผ่าน  ไม่ผ่าน  ไม่ผ่าน  ไม่ผ่าน  ไม่ผ่าน  ผ่านแบบมีเงื่อนไข ผ่านแบบมีเงื่อนไข ผ่านแบบมีเงื่อนไข ผ่านแบบมีเงื่อนไข   รวมๆ แล้วได้รับการประเมินให้ “ทำงานต่อไป” ได้ เช่นกัน 

ในโลกแห่งความเป็นจริง  เมื่อยืนอยู่ระหว่างเส้นแบ่งของเมตตากับกล้าเผชิญ  มักไม่มีใครเลือกเผชิญความเป็นจริง

 

 


การติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายของอธิการบดี

ไม่มีความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 31 มีนาคม 2010 เวลา 19:33 ในหมวดหมู่ การบริหาร, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1888

          ท่านอธิการบดี ดำรงตำแหน่งครบ ๑ ปี เมื่อ วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๓  ตรงกับของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โอบามา จำได้ง่ายทีเดียว

          ดิฉันพลัดหลงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายของอธิการบดี : ท่านโอบามาแห่ง NU ด้วย

          มาตรการนี้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ตอนสรรหาอธิการบดีท่านใหม่ เมื่อปลายปี ๒๕๕๑  ว่า 

          ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยนเรศวร  ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร  จะต้องผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานตามที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อสภามหาวิทยาลัย จำนวน ๒ ครั้ง คือ

ครั้งที่ ๑  : ๖ เดือน  ภายหลังจากได้รับการแต่งตั้งฯ
ครั้งที่ ๒ : ๑ ปี ภายหลังจากได้รับการแต่งตั้งฯผู้ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี 

ดูเหมือนว่า…..การเป็นผู้บริหารในยุคสมัยนี้ ไม่ได้ง่ายและจะทำอะไรก็ได้ตามใจเหมือนอย่างสมัยก่อนอีกแล้ว

คณะกรรมการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายของอธิการบดี :  (กลุ่ม ๘ แต่ไม่ใช่ ๑๘ มงกุฏนะคะ)  ประกอบด้วย

  1. ดร.สมนึก  พิมลเสถียร  เป็นที่ปรึกษากรรมการ
  2. ดร.พรชัย  นุชสุวรรณ  เป็นประธานกรรมการ
  3. พลเอกดร.ศิริ  ทิวะพันธุ์ เป็นกรรมการ
  4. ดร.นริศ  ชัยสูตร  เป็นกรรมการ
  5. นายแพทย์ธวัช  สุนทราจารย์ เป็นกรรมการ
  6. รศ.ดร.วิทยา  จันทร์ศิลา เป็นกรรมการ
  7. รศ.มาลินี  ธนารุณ  เป็นกรรมการ
  8. ดร.สำราญ  ทองแพง  เป็นเลขานุการ

          คณะกรรมการฯ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินไว้ด้วยว่า

  1. เพื่อให้การประเมินเป็นกลไกของการให้ข้อมูลป้อนกลับสู่ระบบการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพการบริหารมหาวิทยาลัยของอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยโดยรวม
  2. เพื่อติดตามตรวจสอบการบริหารและการทำงานของอธิการบดีว่าบริหารงานมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่หรือไม่

วิธีการประเมิน แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ

ส่วนที่ ๑  ประเมินการบริหารงาน

  • ๖ เดือน :  อธิการบดีประเมินตนเองตามแบบประเมินที่กำหนด และกรอกแบบตรวจสอบรายการ การเป็นประธาน/กรรมการแก่หน่วยงานภายนอก
  • ๑ ปี :
    • อธิการบดีประเมินตนเองตามแบบประเมินที่กำหนด  และและกรอกแบบตรวจสอบรายการ การเป็นประธาน/กรรมการแก่หน่วยงานภายนอก
    • กลุ่มผู้ประเมิน ประเมินอธิการบดีตามแบบประเมินที่กำหนด

ส่วนที่ ๒ ประเมินผลการดำเนินงานตามแผน

  • ๖ เดือน : อธิการบดีเสนอแผนดำเนินงานตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี
  • ๑ ปี : อธิการบดีเสนอผลการดำเนินงานตามนโยบาย

          สรุปง่ายๆ ก็คือ  ๖ เดือนแรก ให้เสนอแผนมาให้ดูก่อน  พร้อมกับประเมินตนเองว่าบริหารงานเป็นอย่างไร  โดยสภาฯ จะพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุง 

          พอครบ ๑ ปี ก็รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปีที่ ๑   และให้ทั้งท่านอธิการประเมินตนเองและให้กลุ่มผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับท่านอธิการบดีประเมินความพึงพอใจในผลงานของท่าน เพื่อเทียบเคียงกันด้วย

          ผลการประเมินรอบ ๖ เดือนแรก (๒๐ มกราคม ๕๒ - ๑๙ กรกฎาคม ๕๒) สภามีมติให้ เป็นความลับ (รู้กันแค่สภาฯ กับ ท่านอธิการ) ไม่ได้เผยแพร่ให้ชาว มน. ทราบ

          ผลการประเมินรอบ ๑ ปี (๒๐ มกราคม ๕๒ - ๑๙ มกราคม ๕๓) คณะกรรมการประเมินฯ เสนอให้สภาฯ พิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ

          วันที่ ๓ เมษายน ที่จะถึงนี้  เป็นวันที่กลุ่มเสื้อแดงจะประชุมครั้งใหญ่เพื่อให้ยุบสภาฯ อีกครั้ง  และก็พ้องกับ วันที่สภาฯ มน. จะประชุมพิจารณาผลการประเมินท่านอธิการฯ เช่นกัน

          สภาฯ ไหน จะถูกยุบ นะ……

—————————————————————-         

บันทึกเพื่อเก็บไว้ทวนความทรงจำในบทเรียนแห่งชีวิต เรื่อง “อำนาจ”        

—————————————————————-

How Different Countries Debate in Paliaments / Congress

  Italy

 Japan

  Mexico

  India

  Russia

  South Korea

  Taiwan

  Turkey

  Ukraine

 

 

แต่……

ที่นี่มีแต่ความสงบสุข  สันติ

.

.

.

.

.

.

 

  China

 

  



Main: 0.10074615478516 sec
Sidebar: 0.71576595306396 sec