ธรรมะอย่างง่าย

1 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 11 พฤษภาคม 2011 เวลา 8:06 (เช้า) ในหมวดหมู่ เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1454

วันนี้จะเข้ามาบันทึกเรื่องที่ไม่ถนัดอธิบาย แต่คิดว่าตัวเองปฏิบัติอยู่โดยไม่รู้คัมภีร์ไปบ้างแล้ว  สืบเนื่องมาจาก คณะเทศบาลขอนแก่น นำโดยนายกเทศมนตรี เชิญชวนให้ไปเข้าสัมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง  “ผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่”  โดย  อาจารย์ประชา หุตานุวัตร เป็นวิทยากร  คนที่มาเข้าร่วมสัมนา  เป็นพนักงานและผู้บริหารของเทศบาลเกือบทั้งหมด  ไม่มากนักราวๆ 20 คน เท่านั้น

เขาสัมนากันมาก่อนแล้วสามวัน แต่เนื่องจากแม่ใหญ่ไปกรุงเทพจึงกลับมาเข้าสัมนา ในวันที่สี่    แต่ก็คิดว่า ไป ดีกว่า ไม่ไป  เคยเข้าสนทนาธรรมกับอาจารย์วิทยากรมาก่อน  รู้สึกถูกจริต  เพราะมันไม่ยากเกินกว่าที่คนธรรมดาๆที่เข้าวัดทำบุญบ้างอย่างแม่ใหญ่จะพอเข้าใจ

วันนี้อาจารย์ เริ่มด้วยการสนทนากัน ถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ที่อาจารย์แจกให้มาอ่านล่วงหน้า  ชื่อเรื่อง คนสองหน้า  ของ อัลเบิร์ต การ์มู  หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือ ที่อ่านแล้วต้องอ่านซ้ำหลายครั้ง เพราะนักประพันธ์ ซึ่งเป็นถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณคดี เมื่อปี 2500 ได้เขียนเอาไว้ ให้ติดตามตัวนำเรื่องย้อนกลับไปกลับมาตามแบบฉบับหนังสือตะวันตก  จนบางที่ขณะอ่านไม่รู้ว่า ตอนนี้เป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต  แต่เนื้อหาก้ดีมากทีเดียว 

บทประพันธ์   ได้   แสดงให้เห็นถึงคนๆหนึ่งที่เริ่มต้นเรื่องด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นคนดีของตัวเอง เป็นพ่อพระที่คอยช่วยเหลือผู้คนจนได้รับการสรรเสริญเยินยอไปทั่ว  แต่เจ้าตัวกลับ มาถามตัวเองในพฤติกรรมที่ว่าดีนั้น  ว่าทำไปเพื่ออะไร  ทำไปด้วยจิตใจสูงส่งจริงๆ หรือ   หรือทำไปเพราะอยากให้คนเห็น       รายละเอียดต่างๆมีมากมาย หลายเหตุการณ์   ซึ่งจะไม่เล่า ใครสนใจไปหามาอ่านเอง  แต่อยากจะบอกว่า อ่านแล้ว  จะรู้สึกว่า ตัวเอกของเรื่องมันอยู่ในผู้คนทุกเภททุกวัยในโลกใบนี้  ที่สับสนกับการกระทำของตัวเอง จนไม่สามารถพิพากษาตนเองได้อย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรดี อะไรไม่ดี

กลุ่มสนทนาธรรม  ต่างๆให้ความคิดเห็นหลากหลายกับเรื่อง “คนสองหน้า” ที่ไปอ่านกันมา  ซึ่งช่วยให้ต่อยอดความคิดของกันและกันได้เป็นอย่างดี  บางมุมเราเองก็มองไม่เห็นเหมือนกัน  ดังนั้น กิจกรรมการอ่านหนังสือ แล้วเอามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนี้ จึงเป็นกิจกรรมดีมากๆ กิจกรรมหนึ่ง  ที่แม่ใหญ่สามารถนำมาใช้กับครู และครูก็สามารถนำไปใช้กับเด็กระดับประถมได้ด้วย เป็นการกระตุ้นให้อ่าน ให้คิด และให้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ได้ในกิจกรรมเดียว

แต่จุดมุ่งหมายที่อาจารย์ให้พวกเราอ่าน และมาพูดคุยกันเป็นอีกแบบหนึ่ง อาจารย์ ดึงเนื้อหาในเรื่องเข้ามาสู่ ความเป็น “สุญญตา” และ “อนัตตา” ในพุทธศาสนาของเรา  อาจารย์ได้อธิบายถึงความว่าง  ที่ไม่ได้แปลว่าอยู่เฉยๆ  ความไม่มีตัวตน ที่ไม่ได้หมายความว่า การไม่มีศักดิ์ศรี   ถ้าคนเรารู้จัก สุญญตา และอนัตตา  อย่างถ่องแท้ และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน  ก็จะเป็นประโยชน์แก่บรรดาผู้นำ เป็นอย่างยิ่ง

กิจกรรมที่สอง อาจารย์ ให้อาสาสมัครจากกลุ่มคนหนึ่ง   มานอนหลับตากลางวง  แล้วให้ทุกคน  เขียนลงบนกระดาษเอสี่ คนละ 50 รายการว่าเห็นอะไรบ้าง   หลังจากนั้น  ก้แบ่งกลุ่มออกเป็นสามกลุ่ม  ให้แต่ละกลุ่ม เอาสิ่งที่เห็นมาเขียนรวมกันบนกระดาษแผ่นใหญ่ อีกครั้ง ดังนั้น  เราจึงได้ “สิ่งที่เห็น”  เท่ากับ ห้าสิบคูณด้วยยี่สิบคน เป็นสิ่งที่เห็นที่หลากหลายมากในเวลาอันสั้น  มีทั้งที่เป็นสิ่งที่เห็นธรรมดาๆง่ายๆ เช่นแขน ขา หน้า ตา ตับ ไต ไส้ พุงฯลฯ กับสิ่งที่บางคนเห็นต่างๆและแปลกๆเช่น เห็นโรงบ่มแก๊ส  กองกระดูก อากาศธาตุ ฆาตกร ธาตทั้งสี่ฯลฯ  อื่นๆอีกมากมาย  หลังจากให้คนเขียนสิ่งที่เห็นแปลกๆมาเล่าให้ฟังว่าทำไมเขาถึงเห็นอย่างนั้น  อาจารย์ก็กระตุกต่อมคิด ด้วยการให้เรามองสิ่งที่นอนอยู่กลางวงว่า  อีก 10 ปีข้างหน้า เราจะเห็นว่าเป็นอย่างไร  อีก 100 ปี 1000ปี  10000 ปี  เราจะเห็นเป็นอย่างไร  กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่กระตุกต่อมคิดได้ดีอีกเหมือนกัน   สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนได้

กิจกรรมช่วงบ่าย อาจารย์ได้พูดถึงการมีสติกับอายาตนะหรือการสัมผัสทั้งหก     คือ การได้เห็น  การได้ยิน  การได้กลิ่น  ได้ลิ้มรส ได้กายสัมผัส และได้รู้สึกนึกคิด  แล้วให้ไปนั่งคนเดียว  สังเกตว่า ณ  เวลานั้นๆ สติเราอยู่กับสัมผัสใด  ถ้ารู้ก็ให้ขีดเส้น tally เหมือนนับคะแนนผู้แทนนั่นแหละ คือ ขีดได้สี่เส้น แล้วขีดขวาง อีกหนึ่งเป็น ห้า อาจารย์บอกว่า ถ้าเราสังเกตให้ดี จะรู้ว่า  ณ ปัจจุบันนั้น เราใช้ สัมผัสอะไรเด่นที่สุด  เพราะธรรมชาติของคนเราจะใช้ทีละสัมผัสเท่านั้น แต่ที่เราไม่เคยรู้เพราะเราตามไม่ทันนั่นเอง

เมื่อได้ทำกิจกรรมนี้ มันเป็นเรื่องแปลกแต่จริงๆที่เรามีชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยไม่เคยรู้ว่า  ว่าเราได้ใช้สัมผัสทั้งหกนี้ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจริงๆ มีหลักฐานอย่างเห็นได้ชัด  จบจากการทดลองในเวลา 15 นาที  ก้ให้ทุกคนมาเล่าสู่กันฟังว่า รู้สึกอย่างไรบ้าง  ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป    บางคนบอกตามไม่ทันจริงๆ  พอตาเห้นแล้วยังไม่ทันขีด มันคิดต่อ หูก็ไปได้ยินเสียงจั๊กจั่นร้อง รู้สึกเมื่อย(กาย) เบื่อ(ใจ)ฯลฯ ทุกอย่างไปมาเร็วมาก ปรู๊ดปร๊าดยิ่งกว่า ไอพ่นอีก

กิจกรรมต่อไป อาจารย์ให้แยก  สัมผัส 5 ข้อแรกคือ หู ตา จมูก ลิ้น  กายไว้ด้วยกันเป็นหัวข้อที่หนึ่ง   เอาความรู้สึกนึกคิดเป็นหัวข้อที่สอง  แล้วให้สังเกตและขีดจำนวนที่ได้สัมผัสทั้งสองหัวข้อ  อีก 15 นาที  จบกิจกรรมกลับมาสนทนากันอีก  ก็เป็นเรื่องแปลกที่คราวนี้  บางคนสัมผัสได้ข้อหนึ่งมาก  บางคนสัมผัสได้ข้อที่สอง  เป็นความนึกคิด ได้มากกว่า  บางคนยังจับไม่ค่อยถูกว่า ไหนเป็นข้อหนึ่ง ไหนเป็นข้อสอง บอกว่ามันชักจะเบลอๆ

กิจกรรมสุดท้าย  อาจารย์ถามคนที่นึกคิดได้มากครั้ง ว่าคิดเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง แล้วนำความคิดมาจัดหมวด  ซึ่งก็จะออกมาคล้ายๆกันคือ หมวดครอบครัว  ธรรมชาติ  การงาน  ครอบครัว เรื่องเที่ยว แล้วให้เริ่มสังเกตใหม่  อาจารย์ให้เวลาถึง 20  นาที   อาจารย์ให้ไปหามุมสงบของตัวเอง  แล้วให้ขีดเส้นความคิด  ว่า คิดถึงเรื่องในหมวดไหนกี่ครั้ง  โดยไม่ทิ้ง หัวข้อแรกอันว่าด้วยการสัมผัสทั้งห้า  ผลการนำเรื่องที่สังเกตกลับสนทนากัน  บางคนนับความคิดเป็นหมวดๆได้ชัดเจน แต่จะรู้สึกปวดหัวตึ๊บๆ    แต่สำหรับแม่ใหญ่เอง  ต้องสารภาพกับอาจารย์ว่า พอมีคำสั่งให้คิดแบบละเอียดขึ้น  แม่ใหญ่กลับไม่คิดเสียเฉยๆ  กลับใช้ ตา หู และกายสัมผัสกับบรรยากาศรอบข้าง ซึ่งเป็นบ้านสวนสวยงาม ลมพัดเย็นๆ น้ำในสระเป็นระลอก ต้นไม้หลากหลายชนิด  ที่ปลูกอยู่รอบบริเวณเขียวชอุ่ม  มีเสียงจั๊กจั่น ร้องเซ็งแซ่มาเป็นระยะๆ  ดูเพลินไปเพลินมา  สงสัยสติหลุดเลยหลับไปซะอย่างงั้น  อาจารย์บอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก  และนี่แหละคืออาการ สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัวที่มนุษย์ทุกๆคนเป็นกันอยู่ในชีวิตประจำวัน 

วันนี้ขอบันทึกเท่าที่จำได้ แค่นี้ก่อน  เพราะจริงๆอาจารย์พูดเรื่องดีดีมากกว่านี้  แต่ฟังเพลิน และเข้าใจ  แต่ไม่ได้จด เลยเอามาบรรยายต่อไม่ได้  เพราะไม่คุ้นชินกับ ศัพท์ภาษาบาลีหลายๆตัว  จำได้คำเดียวคือ นิวรณ์ ที่ว่า ถ้ามีมากๆ  ก็จะทำให้จิตใจร้อนรุ่มกลุ้มใจ   เดี๋ยววันนี้ไปฟังอีกรอบ  จะจดเอามาขยายขี้เท่อ ในลานปัญญาบ้าง ซึ่งอาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้รู้ทั้งหลายสักเท่าไหร่ก็ได้  แต่ถ้าสำหรับคนไกลวัดอย่างแม่ใหญ่อาจจะชอบใจก้ได้

 

 

 


วงศาคณาญาติ

2 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 เวลา 6:43 (เช้า) ในหมวดหมู่ วงศาคณาญาติ #
อ่าน: 1527

วันนี้จะว่าด้วยเรื่องญาติข้างพ่อ ซึ่งมีมาก นับไม่ถ้วน  เพราะคุณปู่เป็นเจ้าเมืองสุพรรณบุรี (พระยาสุนทรสงคราม(ปุย สุวรรณศร)  คุณปู่มีภรรยาเจ็ดคน  มีบุตรและธิดา 21 คน  ดังนั้น  พี่น้องรุ่นแม่ใหญ่อันเกิดจากบุตรและธิดาทั้ง 21 คน จึงมีมากจนนับไม่ถ้วน  ยิ่งรุ่นเราก็เข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยกันแล้ว ลูกหลานของพวกเราก็ยิ่งขยายออกไปมากมายถึง 21 สาย เท่าที่พยายามรวมรวมกันอยู่ก็คงได้ร่วมพันคน http://www.oknation.net/blog/ya-ma-rach-cho/2011/01/31/entry-1

มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะหาอุบาย ให้ลูกหลานต่างๆมาพบกันบ้างตามโอกาสอันควร  โดยจัดวันสุวรรณศร ขึ้นหลายครั้ง  แต่ละครั้งก็มีญาติพี่น้องพาลูกพาหลานมามากมายให้พอได้รู้จักหน้าค่าตา พูดคุยกัน  ในการนี้ เฟสบุคเข้ามามีบทบาทสำคัญในการนัดหมายของรุ่นเล็กที่ถัดต่อไปจากรุ่นของแม่ใหญ่  เขามีการนัดหมายจัดเตรียมกันเป็นอย่างดี  และเราก็ได้พบปะสังสรรค์กันไปแล้วเมื่อปลายปีที่แล้วที่สวนผึ้ง ราชบุรี

เมื่อวานนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราพี่น้องได้มาพบหน้ากันอีก   เพราะพี่สุนซึ่งนับว่าเป็นพี่รุ่นใหญ่ของเราได้ ได้จัดงานวันเกิดคนเกิดเดือนพฤษภาคมขึ้น เพราะมีคนเกิดเดือนนี้กันหลายคน  จึงหาเรื่องจัดงานทุกปี แต่ปีนี้เป็นปีพิเศษเพราะพี่สุน และพี่นวล ครบหกรอบ  ลูกหลานจึงแห่กันมามากหน้าหลายตา  ต่างนำอาหารมาร่วมกัน ทานด้วยกัน มากมาย  ข้าวหน้าไก่แบบห้าแยกพลับพลาชัย  หมีกรอบ เป็ดย่าง กุ้งเผา ซีโครงย่าง  ขนมจีน ไส้กรอกอีสาน ไส้อั่วเชียงใหม่ฯลฯ บรรยายเรื่องอาหารไม่หมด เพราะต่างคนต่างก้เลือกเอาสิ่งที่ดีทีสุดมาฝากพี่ๆน้องๆในโอกาสสำคัญ

 

 

สิ่งที่พี่น้อง ลูกหลานคุณปู่ยังรักใคร่กลมเกลี่ยวสนิทสนมกันมาได้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งขณะนี้ผ่านมาสี่ชั่วคนแล้ว  ต้องยกความดีให้รุนพ่อรุ่นแม่ของพวกเรา  เพราะพี่น้อง 21 คน แม้จะต่างแม่  แต่ไม่เคยต่างใจ  ล้วนรักใคร่กันเป็นอย่างดี  เมื่อพวกเรายังเด็ก  บ้านพ่อซึ่งเป็นลุกคนโตจะมีน้องๆนัดกันมาคุยเป็นประจำ  พวกรุ่นเราตอนเด็กๆ ก็วิ่งเล่นหัว มีความสนิทสนมกัน  พอรุ่นพ่อค่อยๆล้มหายตายจาก พี่สุนก็เป็นต้นคิด จัดกิจกรรมรวมญาติ ด้วยการนำเอาวันเกิดของหลายๆคนมารวมกัน แล้วจัดงานรวมรุ่นขึ้น  ต่อจากพี่สุนก็มีหลานลิน หลานจุ๊บ หลานลอยด์  ลูกแจ๊ก  ที่รวมหัวกันจัดงาน สังสรรค์วันสุวรรณศรขึ้นแทบทุกปี

การสืบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้องนี้     คงจะมีต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ   เพราะลูกหลานรุ่นต่อๆไปเห็นความสำคัญ   เป็นเรื่องดีงามแบบไทยๆของเราที่ควรสืบทอดกันต่อไปอีกยาวนาน

 :-D :-D


เอาของเก่ามาเล่าใหม่

1 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 6 พฤษภาคม 2011 เวลา 7:18 (เช้า) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1484

บทความนี้เขียนใน gotoknow ตั้งแต่สองปีที่แล้ว  ตอนที่ย้ายแผนกอนุบาลไทยไปไว้อีกที่หนึ่ง ซึ่งเราไปซื้อกิจการโรงเรียนเดิม  ที่เขากำลังจะเลิกกิจการ   พร้อมทั้งเช่าพื้นที่ โดยทำสัญญา สิบปี  สถานที่แห่งเดิมคับแคบที่เล่นเด็กไม่พอ จะสร้างใหม่ ทุนรอนก็ยังไม่อำนวยจึงไปเช่าเขามาปรับปรุงดีกว่า

ซื้อกิจการโรงเรียนเก่า ต้องรับเหมาครูเขามาด้วย  5 คน  กับเด็กที่เหลืออีกราว 30 คน  แม่ใหญ่จึงต้องปรับปรุงและจัดการสัมนาครูเก่าและครูใหม่ให้ทำงานร่วมกันตามแนวของ “พัฒนาเด็กทางสายกลาง ”  ตามชื่อของบล๊อกนี้ใน gotoknow   กลับไปอ่าน แล้วก็ยังชื่นใจ  ที่มาวันนี้เราเห็นผลจากครู 5 คนที่มาอยู่กับเรา  และได้รับการสนับสนุนพัฒนา อย่างต่อเนื่อง  ทุกวันนี้ เขาเป็นครูพัฒนาเด็กที่เรารู้สึกภูมิใจได้อย่างเต็มตัวแล้ว

และนี่ คือบทเริ่มต้น….

พัฒนาเด็กทางสายกลาง

ละลายพฤติกรรม
ได้จัดสัมนาเชิงปฎิบัติการให้กับครูและครูผู้ช่วยทุกท่าน ในหัวข้อ “พัฒนาเด็ก ทางสายกลาง”ไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อให้ครูจากโรงเรียนเดิมที่มีอยู่ 5 คน และครูของโรงเรียนพัฒนาเด็กที่ย้ายมายังสถานที่แห่งใหม่ ได้รู้จักมักคุ้นกันยิ่งขึ้น ก่อนเริ่มงานด้วยกันในปีการศึกษาหน้า
       กิจกรรมเริ่มจาก การรู้จักตนเอง ด้วยการให้เขียนฉายาที่เหมาะกับตนเอง ใส่กล่อง ให้เพื่อนหยิบออกมา แล้วทายว่าเป็นใคร ให้เจ้าตัวให้เหตุผลว่าทำไมถึงตั้งฉายาเช่นนั้น ใช้เวลาไม่นานในกิจกรรมนี้ แต่ก็ทำให้ได้เห็นตัวตนของแต่ละคนได้ ไม่น้อยเลยทีเดียว
         ต่อมาเป็นกิจกรรมให้รู้จักสมองของเด็ก รู้ว่าเด็กใช้สมองส่วนไหนเรียนรู้ และข้อมูลต้องมีความหมายอย่างไร เด็กจึงจะเรียนรู้ได้อย่างดี เมื่อรู้ทฤษฎีแล้ว ก็หาตัวอย่างมาให้คุณครู ลองสำรวจตัวเองว่ามีความโน้มเอียงไปทางสมองซีกซ้ายหรือซีกขวา แล้วก็สรุปว่าครูแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เวลาสอนจึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และวิธีการเรียนรู้ของแต่ละคนด้วย     
          กิจกรรมช่วงบ่าย เป็นกิจกรรมนวด กิจกรรมกอด ซึ่งให้ครูรัน หนุ่มเดียวในกลุ่มครูสาวๆเป็นผู้นำ โดยใช้เพลงเป็นตัวนำการนวดการกอด ซึ่งกิจกรรมสามารถนำไปใช้กับเด็กๆได้ ให้ครูสรุปถึงประโยขน์ของการสัมผัสอย่างใกล้ชิดว่ามีประโยชน์อย่างไร หรือไม่ แล้วให้ถามตัวเองว่า สอนเด็กเป็นเทอม เคยไหมที่ไม่ได้กอดเด็กๆเลยสักครั้งเดียว
          หลังจากเป็นกิจกรรมเบาๆมาบ้างแล้วก็ถึงกิจกรรมหนักไปทางวิชาการ ด้วยการแนะนำให้ครูทั้งหลายได้รู้แนวการสอนของโรงเรียนพัฒนาเด็ก ครูหลายคนก็รู้อยู่แล้ว จึงไม่ได้เน้นมากนัก ให้รับทราบแบบทบทวน ว่าโรงเรียน  “สอนให้คิดมากกว่าจำ และทำมากกว่าพูด” แต่มีเบื้องหลังเป็นหลายๆทฤษฏี เช่น ของ Montessori, Neo-humanist, Whole Language and Project Approach โดยนำมาประยุกต์เป็น “พัฒนาเด็กทางสายกลาง” เพื่อให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทย
           การสัมนาเป็นไปอย่างสนุกสนานไม่เครียด แม่ใหญ่สรุปตบท้ายด้วย เรื่องศิลปการพบผู้ปกครอง ซึ่งถือเป้นศิลปขั้นสูงของครูโรงเรียนอนุบาล ทำอย่างไรจะให้ผู้ปกครองไว้ใจ สบายใจ จะพูดอย่างไรเมื่อต้องบอกผู้ปกครองว่าลูกของเขามีพฤติกรรมที่ต้องปรับปรุง ต้องเตรียมการอย่างไรบ้างก่อนที่จะพบผู้ปกครองในวันประเมินฯลฯ ซึ่งหัวข้อนี้ สถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตนั้นมักจะไม่ค่อยได้สอน แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องยากทีเดียวในชีวิตการเป็นครูอนุบาล ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับปีการศึกษาหน้า ตรงกับความเชื่อที่ว่า เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
กลับไปอ่านเจอ  แล้วเลยไปก๊อบปี้มาเผยแพร่อีกสักครั้งในลานปัญญา คงจะไม่โบราณเกินไปนะคะ


ประเมินครู

3 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 6 พฤษภาคม 2011 เวลา 6:19 (เช้า) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1421

และแล้วก็มาถึงวันประเมินการขึ้นเงินเดือนครูประจำปีการศึกษา 2553   ที่อื่นๆเขาทำกันอย่างไรไม่ทราบ แต่ที่นี่ เราล้อมวงกันคุยทั้งผู้บริหารและครูในแผนกนั้นๆ รวมทั้งผู้ช่วยครูด้วย  บรรยากาศก็นั่งๆนอนกันตามสบาย  มีเครื่องมือเป็นกระดาษหนึ่งแผ่น   ดังตัวอย่าง

ชื่อครู

วันทำงาน(๕)

ความร่วมมือทั่วไป(๕)

รู้จักเด็กเอาใจใส่เป็นรายบุคคล(๕)

มนุษยสัมพันธ์กับผู้ปกครอง(๕)

มนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน (๕)

ความสนใจใฝ่ เรียนรู้เพิ่มเติม(๕)

ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในกิจกรรม(๕)

การจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ(๕)

งานเอกสารต่างๆ(๕)

งานวิจัย

(๕)

รวมคะแนน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แล้วเราก็ขอให้คุณครูเล่าสิ่งที่ตัวเองทำ มีหลักฐานมาประกอบ  การเล่า(เพื่อป้องกันการโม้เกินเหตุ)   เป็นการมองตัวเอง ในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา ให้คะแนนตัวเองลงในช่องต่างๆ  ตามที่ตัวคิดว่าควรจะได้  คนอื่นๆก็ฟังแล้วให้คะแนนตามความคิดของผู้ฟังตามที่ได้ยินและได้เคยสัมผัสมาด้วยวิจารณญาณของแต่ละคน

คนหนึ่งให้พูดประมาณ 15-20 นาที  ถ้าใครทำท่าจะเกิน  ก็จะมีระฆังธิเบตเสียงหวานๆเคาะพอให้รู้ตัว

แผนกหนึ่งมีคนเข้าร่วมประเมินไม่มาก 12-15 คน  ดังนั้นเราจึงได้ฟังกัน ได้เต็มที่  มีอาหาร ว่าง กาแฟ ไว้ให้ไปหยิบทานได้อย่างอิสระ   ดังนั้นทุกคนจึงพูดอย่างสบายๆไม่มีเรื่องอะไรมาทำให้ต้องตื่นเต้นจนพูดไม่ถูก

ใช้เวลาเพียง 9 โมงถึงเที่ยง สำหรับกลุ่มอนุบาลอังกฤษ  หรือที่เราเรียกว่า KG. (kindergarten)  ช่วง 11 โมง เราให้ครูและผู้ช่วยใหม่เข้ามานั่งฟังด้วย  เขาจะได้ทราบว่าปีหน้าเขาต้องเข้ามาทำแบบนี้เหมือนกัน

กลุ่มอนุบาลไทย เริ่มตอนบ่ายโมงครึ่ง  ไปจบเอาราวๆสี่โมงเย็น  บรรยากาศก็ไม่แตกต่างจากตอนเช้า ครูอนุบาลไทยเราค่อนข้างมีอายุ ไม่ซิ่งเหมือนครูภาคภาษาอังกฤษ เพราะสอนมาคนละ 20-30 ปีแล้ว แต่คารมคมคายตลอดจนกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆที่นำมาเล่า ก็ไม่เบาเหมือนกัน

ใบประเมิน  ของแต่ละแผนก    นำมาคำนวณโดยผู้บริหาร    รวมคะแนนจากผู้ประเมินที่ให้คะแนนครูแต่ละคน  แล้วหารด้วยจำนวนผู้ประเมิน   ออกมาเป็นคะแนนเฉลี่ยเท่าไหร่  ก็เรียงลำดับคะแนน  ผู้บริหารนำมาพิจารณาอีกครั้ง  โดยเทียบจากคะแนนปีที่แล้วของแต่ละคนในแต่ละหัวข้อด้วย เพื่อจะดูว่า  ครูได้พัฒนาจากปีที่แล้วไปบ้างหรือไม่   ไม่ได้ดูแค่คะแนนรวมอย่างเดียวเท่านั้น    ใครจะได้ สองขั้น ขั้นครึ่ง หนึ่งขั้น  ก็ว่ากันไปตามเกณฑ์ที่โรงเรียนมีไว้แล้ว  บางปีไม่มีครูได้ขั้นเดียวสักคน    เพราะคะแนนเกินเกณฑ์ไปเสียทุกคน เลยได้ขั้นครึ่งกับสองขั้นไปทั้งแผนก

ด้วยการประเมินแบบนี้ ครูก็สบาย ผู้บริหารก็สบาย ทุกอย่างโปร่งใส ไม่มีข้อกังขา

ข้อที่คะแนนอ่อนที่สุดสำหรับเกือบทุกคน  และเขาเองก็ยอมรับ  ก็คือเรื่อง  การสนใจไฝ่เพิ่มเติมความรู้  กับเรื่องงานวิจัย  ครูบอกว่า ทุ่มเทกับเด็กและการสอน จนไม่มีเวลาไปทำสองเรื่องดังกล่าว  แต่แม่ใหญ่ก็บอกไปว่า คุณครูไม่ควรจะอยู่กับที่นะ เพราะมันจะเหมือนถอยหลัง สมัยนี้ การหาความรู้มันหาได้ไม่ยาก  ควรให้ความสนใจหน่อย คอมพิวเตอร์ก็มีไว้ให้ทุกห้องแล้ว  เข้าไปดูอย่างอื่น เช่น ลานปัญญา (แอ้ม..โฆษณาเสียหน่อย)        นอกจากเฟสบุคบ้างก็ได้นะจ๊ะ……จะบอกให้

ขอส่งท้ายด้วยเรื่องต่อเนื่อง……หลังจากที่แม่ใหญ่ วิ่งหาครูอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่สองวัน  ….ในที่สุดเราก็ได้ ครูศิลปจบการศึกษาคณะศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาเรียบร้อยแล้ว  ไชโย  รอดไปอีกปี

 


โดนอีกจนได้

3 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 4 พฤษภาคม 2011 เวลา 3:17 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1359

กลับเข้าเรื่องโรงเรียนอีกครั้ง พร้อมเสียงบ่นกระปอดกระแปด ประสาคนแก่นะ   ใครขี้เกียจอ่านก็ข้ามไปเถอะค่ะ  ขออนุญาตบ่นสักหน่อย  

ครูที่ลาไปสอบบรรจุสองคน   ตกลงไม่ติดทั้งคู่ กลับมาเข้าทำงานตามปกติเหมือนที่คุยกันไว้ เด็กสองคนนี้ ไปลา มาไหว้  เราก็ชื่นชม และยินดีต้อนรับกลับมา แม้ว่าจะรับครูใหม่ไว้แล้วเรียบร้อยก็ตาม   เราก็ไม่อยากปฏิเสธครูเก่า เพราะเราฝึกฝนเขามาตั้งสี่ปีแล้ว  เรื่องอะไรจะปล่อยให้ไปหางานที่อื่น  มีครูดีดี  แม้ ตำแหน่งงานจะล้นไปหน่อย  ก็ไม่เป็นไร เป็นผลดีกับเด็กอยู่แล้ว

แต่เรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นจนได้  เมื่อครูศิลป ที่ทำงานกับเราได้สองปี  กระมิดกระเมี้ยนมาแจ้งเมื่อวานว่า   “หนูไปสอบบรรจุได้แล้วค่ะ ขอลาออก”   แม่ใหญ่ปรอทแตกดังเปรี๊ยะไปชั่วขณะ  แต่ไม่นานก็เรียกสติกลับมาทัน  แล้วก็ปลงกับตัวเองว่า ยังดีที่มาบอกเมื่อวานนี้ ทำให้เรายังมีเวลาอีก  13 วันที่จะวิ่งหาครูเข้ามาแทนตำแหน่งนี้  

วันนี้ก็เลยติดต่อหาครูทั้งวัน  โดยโทรไปหาคนที่เคยรู้จัก  และอยู่ในแวดวง หลายๆคน  ให้ช่วยป่าวประกาศ ว่าเราจะรับสมัครครูศิลป  ลงประกาศในเฟสบุค   ประกาศตามเวปไซด์หางานต่างๆ    และเข้าไปพบหัวหน้าภาควิชาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ซึ่งท่านก็น่ารักมา ขอเบอร์โทรศัพท์แม่ใหญ่เอาไว้     บอกว่าจะติดต่อลูกศิษย์ที่เพิ่งจบใหม่ให้โดยด่วน ภายในวันศุกรที่จะถึงนี้

ก็หวังว่า  เราจะได้ครูสมใจก่อนวันเปิดเทอม 18 พฤษภาคม นี้

 บ่นไปยังงั้นเอง  แต่แม่ใหญ่ก็คิดแผนสองแผนสามเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อแก้สถานการณ์  หากไม่มีใครมาสมัครจริงๆ  เรายังมีครูที่ไม่ได้จบโดยตรง แต่เก่งศิลป  อีกหลายคน  ถ้ามันจำเป็นนัก ก็คงต้องขอโยกเอามาขัดตาทัพไปก่อน 

การทำโรงเรียนเอกชน จะจ้างครูให้พอดีๆกับห้องไม่ได้ ต้องมีตัวสำรอง  เกินๆเอาไว้เสมอ  จับพลัดจับผลู เกิดปัญหาอะไรขึ้นมา  จะได้มีทางแก้ขัดไปได้ 

นึกถึงเมื่อตอนเปิดโรงเรียนใหม่ๆ ที่รับตำแหน่งทีเดียวสามตำแหน่ง คือ ผู้รับใบอนุญาต  ครูใหญ่ และ ผู้จัดการ  วันไหนครูขาดก็เข้าสอนแทน  วันไหนคนรถขาดก็ไปขับแทน  แม้แต่ภารโรงขาด ยังต้องไปกวาดถูด้วยก็เคย   แต่ตอนนั้นเด็กยังน้อย ครูก็ไม่มากคนนัก  สังขารก็ยังอำนวย  เลยทั้งวิ่งทั้งกระโดดได้เต็มที่   ทำอะไรมันสนุกไปหมด ไม่เคยท้อ ไม่เคยถอย ไม่รู้สึกเป็นเรื่องลำบาก 

 34 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก    นึกขึ้นมาอีกที ปัญหาที่เพิ่งบ่นไปข้างบนนั้นมันก็จิ๊บจ้อยนะ  ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อตอนเริ่มก่อร่าง สร้างโรงเรียน

แต่บ่นแล้วบ่นเลย ไม่ลบทิ้งหรอก  ไหนๆก็เขียนมาจนจบแล้ว



Main: 0.11377000808716 sec
Sidebar: 0.072151899337769 sec