สภาการศึกษา ก็สนใจ การศึกษาเอกชน(เหมือนกัน)
อ่าน: 1961เป็นเรื่องน่ายินดี ทีทางสภาการศึกษาหยิบยกเอา ร่าง “ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของเอกชนในการจัดการศึกษา” เข้าระเบียบวาระ เรื่องที่จะพิจารณา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ในร่างดังกล่าว ได้อ้างไว้ในบทนำ ถึง
- รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้การจัดการศึกษาเอกชนทุกประเภท ได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐฯ
- พรบ.การศึกษา พ.ศ. 2545 กำหนดให้เอกชนสามารถจัดการศึกษาอย่างอิสระ โดยมีการกำกับ ติดตามและประเมิน คุณภาพเช่นเดียวกับโรงเรียนรัฐบาล และให้ส่งเสรืมการมีส่วนร่วม สนับสนุนด้าเงินอุดหนุน ยกเว้นภาษีและสิทธิประโยชน์ สนับสนุนด้านวิชาการให้สถานศึกษาเอกชนมีมาตรฐาน และพึ่งตนเองได้
- กฎกระทรวง พ.ศ. 2548 กำหนดให้ สช.อันเป็นหนวยงานของรัฐฯ มีหน้าที่ส่งเสริมประสานงาน เสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนพัฒนา ตลอดจนกำหนดกฎ ระเบียบ และเกณฑ์มาตรฐาน สนับสนุนด้านวิชาการ การประกันคุณภาพ คุ้มครองการทำงาน และสิทธิประโยชน์ของครู กำหนดให้ เขตพื้นที่การศึกษา ส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนเอกชนในเขตรวมทั้ง ประกาศใช้ พรบ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550
(หมายเหตุ ถ้อยคำต่างๆของกฎหมายนี้เป็นการสรุปของแม่ใหญ่เอง เพราะไม่อยากยกเอาภาษากฎหมายยาวๆมาให้อ่านกัน ท่านผู้ใดสนใจอยากเปิดดูกฎหมายตัวจริง ให้ไปเปิดหาเอาใน google เองก็แล้วกัน)
กฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ล้วนแล้วแต่มีความสอดคล้องกัน นั่นคือให้รัฐ ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อให้การศึกษาเอกชนดำเนินไปอย่างไม่ติดขัด
แต่ในความเป็นจริง ได้ก็มีการออกกฎ ออกระเบียบ ที่มีระบุใน พรบ.การศึกษาเอกชน พ.ศ. 2550 หลายกฎเกณฑ์บีบบังคับโรงเรียนเอกชน แทบจะไมให้หายใจ อาทิเช่น
- ให้ทุกโรงเรียนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
- ให้ยกที่ดินเดิมที่เป็นของส่วนตัวให้เป็นของนิติบุคคล
- ให้แบ่งสัดส่วนกำไร เพื่อพัฒนาโรงเรียนตามกำหนด (จำไม่ได้แล้วว่ากี่เปอร์เซ็นต์ เพราะในความเป็นจริง เราใช้พัฒนาโรงเรียนมากกว่านั้น)
- ให้ครูต้องมีใบประกอบวิชาชีพ (จนเกิดการซื้อใบ ป.บัณฑิตครูกันอย่างกว้างขวาง)
- ให้ผู้บริหารต้องจบปริญญาโททางบริหารการศึกษา (จนมีนักการเมืองที่รู้แกว เปิดมหาวิทยาลัย เพื่อสนอง กฎข้อนี้ มีลูกค้าเป็น ผู้บริหารที่ไม่มีวุฒิ มาเรียนวันเสาร์อาทิตย์ แบบที่เขาเรียกกันว่า “จ่ายครบ จบแน่” แต่เรียนครบหรือไม่นั้น ไม่ทราบ )
- ให้ครูชาวต่างประเทศต้องมีวุฒิทางครู หรือมาสอบเอาใบประกอบวิชาชีพครู มิฉะนั้นไม่ต่อวีซ่าให้ กฎเหล็ก ข้อนี้เป็นกฎที่ไล่ฝรั่งไปทำมาหากินที่ลาว เขมร ญี่ปุ่น เกาหลี เกือบค่อนประเทศ เพราะฝรั่งที่จบครูแท้ๆตามเมืองนอก เขาก็ไม่ค่อยพออยู่แล้ว โอกาสที่จะหลุดมาเมืองไทยย่อมน้อยมาก จนเกือบจะไม่มี
- ฯลฯ และอื่นๆอีกหลายประเด็น แม่ใหญ่เล่าเท่าที่จำได้ สมัยที่ยังบริหารโรงเรียนอยู่เมื่อหกปี่แล้ว มาถึงตอนนี้ อาจจะมีกฎ หรือระเบียบ ที่เขียนขึ้นแบบไม่ดูตามม้าตาเรือ ออกมาอีก ก็เป็นได้
ถึงแม้จะถูกบีบและมีข้อจำกัดอย่างไรก็ตาม ผลการประเมินวัดผล ระดับประเทศ ก็ยังแสดงว่า ค่าเฉลี่ย NT. (National Test) ของเด็กนักเรียน ตั้งแต่ระดับ ประถม จนถึงมัธยม ของโรงเรียนเอกชน ยังสูงกว่า โรงเรียนรัฐบาลอยู่ดี
นั่นเป็นเพราะว่า โรงเรียนเอกชนของเรา ต้อง ส่งเสริม ประเมิน และประกันคุณภาพ ของตนเองอยู่แล้ว เพราะผู้ปกครองที่เป็นลูกค้าของเรา เขาจ้องเราอย่างใกล้ชิด ถ้าโรงเรียน ไม่ดีจริง เขาก็คงไม่ส่งลูกเขามาเรียนกับเรา
แต่เมื่อ สภาการศึกษาแห่งชาติ ได้มีความพยายาม นำเรื่องโรงเรียนเอกชนมาเข้าวาระ และถึงกับยกร่าง “ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของเอกชนในการจัดการศึกษา” ขึ้นมานี้ จึงนับว่าเป็นเรื่องดี
ก็ได้แต่หวังว่า สภาการศึกษาแห่งชาติ คงไม่เป็นเพียง “เสือกระดาษ” ทีวาดแผนดีดี ออกไป แล้วปฏิบัติไม่ได้ ในความเป็นจริง เพราะเท่าที่อ่าน ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการ ก็ไม่ได้มีอะไรที่แปลกใหม่มากนัก ได้มีความพยายามทำกันมาตั้งแต่สมัยปฏิรูปการศึกษา แล้ว แต่อะไรๆมันก็ยังเป็นอย่างที่เห็นๆกันอยู่นี้แล
(ต้องขอขอบคุณผู้มอบรายงานการประชุม ของสภาการศึกษาแห่งชาติ ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2554 มาให้อ่านด้วยนะคะ)