บทความนี้เขียนใน gotoknow ตั้งแต่สองปีที่แล้ว ตอนที่ย้ายแผนกอนุบาลไทยไปไว้อีกที่หนึ่ง ซึ่งเราไปซื้อกิจการโรงเรียนเดิม ที่เขากำลังจะเลิกกิจการ พร้อมทั้งเช่าพื้นที่ โดยทำสัญญา สิบปี สถานที่แห่งเดิมคับแคบที่เล่นเด็กไม่พอ จะสร้างใหม่ ทุนรอนก็ยังไม่อำนวยจึงไปเช่าเขามาปรับปรุงดีกว่า
ซื้อกิจการโรงเรียนเก่า ต้องรับเหมาครูเขามาด้วย 5 คน กับเด็กที่เหลืออีกราว 30 คน แม่ใหญ่จึงต้องปรับปรุงและจัดการสัมนาครูเก่าและครูใหม่ให้ทำงานร่วมกันตามแนวของ “พัฒนาเด็กทางสายกลาง ” ตามชื่อของบล๊อกนี้ใน gotoknow กลับไปอ่าน แล้วก็ยังชื่นใจ ที่มาวันนี้เราเห็นผลจากครู 5 คนที่มาอยู่กับเรา และได้รับการสนับสนุนพัฒนา อย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ เขาเป็นครูพัฒนาเด็กที่เรารู้สึกภูมิใจได้อย่างเต็มตัวแล้ว
และนี่ คือบทเริ่มต้น….
ละลายพฤติกรรม
ได้จัดสัมนาเชิงปฎิบัติการให้กับครูและครูผู้ช่วยทุกท่าน ในหัวข้อ “พัฒนาเด็ก ทางสายกลาง”ไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อให้ครูจากโรงเรียนเดิมที่มีอยู่ 5 คน และครูของโรงเรียนพัฒนาเด็กที่ย้ายมายังสถานที่แห่งใหม่ ได้รู้จักมักคุ้นกันยิ่งขึ้น ก่อนเริ่มงานด้วยกันในปีการศึกษาหน้า
กิจกรรมเริ่มจาก การรู้จักตนเอง ด้วยการให้เขียนฉายาที่เหมาะกับตนเอง ใส่กล่อง ให้เพื่อนหยิบออกมา แล้วทายว่าเป็นใคร ให้เจ้าตัวให้เหตุผลว่าทำไมถึงตั้งฉายาเช่นนั้น ใช้เวลาไม่นานในกิจกรรมนี้ แต่ก็ทำให้ได้เห็นตัวตนของแต่ละคนได้ ไม่น้อยเลยทีเดียว
ต่อมาเป็นกิจกรรมให้รู้จักสมองของเด็ก รู้ว่าเด็กใช้สมองส่วนไหนเรียนรู้ และข้อมูลต้องมีความหมายอย่างไร เด็กจึงจะเรียนรู้ได้อย่างดี เมื่อรู้ทฤษฎีแล้ว ก็หาตัวอย่างมาให้คุณครู ลองสำรวจตัวเองว่ามีความโน้มเอียงไปทางสมองซีกซ้ายหรือซีกขวา แล้วก็สรุปว่าครูแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เวลาสอนจึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และวิธีการเรียนรู้ของแต่ละคนด้วย
กิจกรรมช่วงบ่าย เป็นกิจกรรมนวด กิจกรรมกอด ซึ่งให้ครูรัน หนุ่มเดียวในกลุ่มครูสาวๆเป็นผู้นำ โดยใช้เพลงเป็นตัวนำการนวดการกอด ซึ่งกิจกรรมสามารถนำไปใช้กับเด็กๆได้ ให้ครูสรุปถึงประโยขน์ของการสัมผัสอย่างใกล้ชิดว่ามีประโยชน์อย่างไร หรือไม่ แล้วให้ถามตัวเองว่า สอนเด็กเป็นเทอม เคยไหมที่ไม่ได้กอดเด็กๆเลยสักครั้งเดียว
หลังจากเป็นกิจกรรมเบาๆมาบ้างแล้วก็ถึงกิจกรรมหนักไปทางวิชาการ ด้วยการแนะนำให้ครูทั้งหลายได้รู้แนวการสอนของโรงเรียนพัฒนาเด็ก ครูหลายคนก็รู้อยู่แล้ว จึงไม่ได้เน้นมากนัก ให้รับทราบแบบทบทวน ว่าโรงเรียน “สอนให้คิดมากกว่าจำ และทำมากกว่าพูด” แต่มีเบื้องหลังเป็นหลายๆทฤษฏี เช่น ของ Montessori, Neo-humanist, Whole Language and Project Approach โดยนำมาประยุกต์เป็น “พัฒนาเด็กทางสายกลาง” เพื่อให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทย
การสัมนาเป็นไปอย่างสนุกสนานไม่เครียด แม่ใหญ่สรุปตบท้ายด้วย เรื่องศิลปการพบผู้ปกครอง ซึ่งถือเป้นศิลปขั้นสูงของครูโรงเรียนอนุบาล ทำอย่างไรจะให้ผู้ปกครองไว้ใจ สบายใจ จะพูดอย่างไรเมื่อต้องบอกผู้ปกครองว่าลูกของเขามีพฤติกรรมที่ต้องปรับปรุง ต้องเตรียมการอย่างไรบ้างก่อนที่จะพบผู้ปกครองในวันประเมินฯลฯ ซึ่งหัวข้อนี้ สถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตนั้นมักจะไม่ค่อยได้สอน แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องยากทีเดียวในชีวิตการเป็นครูอนุบาล ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับปีการศึกษาหน้า ตรงกับความเชื่อที่ว่า เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
กลับไปอ่านเจอ แล้วเลยไปก๊อบปี้มาเผยแพร่อีกสักครั้งในลานปัญญา คงจะไม่โบราณเกินไปนะคะ
1 ความคิดเห็น
ตามมาเรียนค่ะแม่ใหญ่