ธรรมะอย่างง่าย

โดย maeyai เมื่อ 11 พฤษภาคม 2011 เวลา 8:06 (เช้า) ในหมวดหมู่ เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1452

วันนี้จะเข้ามาบันทึกเรื่องที่ไม่ถนัดอธิบาย แต่คิดว่าตัวเองปฏิบัติอยู่โดยไม่รู้คัมภีร์ไปบ้างแล้ว  สืบเนื่องมาจาก คณะเทศบาลขอนแก่น นำโดยนายกเทศมนตรี เชิญชวนให้ไปเข้าสัมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง  “ผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่”  โดย  อาจารย์ประชา หุตานุวัตร เป็นวิทยากร  คนที่มาเข้าร่วมสัมนา  เป็นพนักงานและผู้บริหารของเทศบาลเกือบทั้งหมด  ไม่มากนักราวๆ 20 คน เท่านั้น

เขาสัมนากันมาก่อนแล้วสามวัน แต่เนื่องจากแม่ใหญ่ไปกรุงเทพจึงกลับมาเข้าสัมนา ในวันที่สี่    แต่ก็คิดว่า ไป ดีกว่า ไม่ไป  เคยเข้าสนทนาธรรมกับอาจารย์วิทยากรมาก่อน  รู้สึกถูกจริต  เพราะมันไม่ยากเกินกว่าที่คนธรรมดาๆที่เข้าวัดทำบุญบ้างอย่างแม่ใหญ่จะพอเข้าใจ

วันนี้อาจารย์ เริ่มด้วยการสนทนากัน ถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ที่อาจารย์แจกให้มาอ่านล่วงหน้า  ชื่อเรื่อง คนสองหน้า  ของ อัลเบิร์ต การ์มู  หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือ ที่อ่านแล้วต้องอ่านซ้ำหลายครั้ง เพราะนักประพันธ์ ซึ่งเป็นถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณคดี เมื่อปี 2500 ได้เขียนเอาไว้ ให้ติดตามตัวนำเรื่องย้อนกลับไปกลับมาตามแบบฉบับหนังสือตะวันตก  จนบางที่ขณะอ่านไม่รู้ว่า ตอนนี้เป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต  แต่เนื้อหาก้ดีมากทีเดียว 

บทประพันธ์   ได้   แสดงให้เห็นถึงคนๆหนึ่งที่เริ่มต้นเรื่องด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นคนดีของตัวเอง เป็นพ่อพระที่คอยช่วยเหลือผู้คนจนได้รับการสรรเสริญเยินยอไปทั่ว  แต่เจ้าตัวกลับ มาถามตัวเองในพฤติกรรมที่ว่าดีนั้น  ว่าทำไปเพื่ออะไร  ทำไปด้วยจิตใจสูงส่งจริงๆ หรือ   หรือทำไปเพราะอยากให้คนเห็น       รายละเอียดต่างๆมีมากมาย หลายเหตุการณ์   ซึ่งจะไม่เล่า ใครสนใจไปหามาอ่านเอง  แต่อยากจะบอกว่า อ่านแล้ว  จะรู้สึกว่า ตัวเอกของเรื่องมันอยู่ในผู้คนทุกเภททุกวัยในโลกใบนี้  ที่สับสนกับการกระทำของตัวเอง จนไม่สามารถพิพากษาตนเองได้อย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรดี อะไรไม่ดี

กลุ่มสนทนาธรรม  ต่างๆให้ความคิดเห็นหลากหลายกับเรื่อง “คนสองหน้า” ที่ไปอ่านกันมา  ซึ่งช่วยให้ต่อยอดความคิดของกันและกันได้เป็นอย่างดี  บางมุมเราเองก็มองไม่เห็นเหมือนกัน  ดังนั้น กิจกรรมการอ่านหนังสือ แล้วเอามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนี้ จึงเป็นกิจกรรมดีมากๆ กิจกรรมหนึ่ง  ที่แม่ใหญ่สามารถนำมาใช้กับครู และครูก็สามารถนำไปใช้กับเด็กระดับประถมได้ด้วย เป็นการกระตุ้นให้อ่าน ให้คิด และให้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ได้ในกิจกรรมเดียว

แต่จุดมุ่งหมายที่อาจารย์ให้พวกเราอ่าน และมาพูดคุยกันเป็นอีกแบบหนึ่ง อาจารย์ ดึงเนื้อหาในเรื่องเข้ามาสู่ ความเป็น “สุญญตา” และ “อนัตตา” ในพุทธศาสนาของเรา  อาจารย์ได้อธิบายถึงความว่าง  ที่ไม่ได้แปลว่าอยู่เฉยๆ  ความไม่มีตัวตน ที่ไม่ได้หมายความว่า การไม่มีศักดิ์ศรี   ถ้าคนเรารู้จัก สุญญตา และอนัตตา  อย่างถ่องแท้ และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน  ก็จะเป็นประโยชน์แก่บรรดาผู้นำ เป็นอย่างยิ่ง

กิจกรรมที่สอง อาจารย์ ให้อาสาสมัครจากกลุ่มคนหนึ่ง   มานอนหลับตากลางวง  แล้วให้ทุกคน  เขียนลงบนกระดาษเอสี่ คนละ 50 รายการว่าเห็นอะไรบ้าง   หลังจากนั้น  ก้แบ่งกลุ่มออกเป็นสามกลุ่ม  ให้แต่ละกลุ่ม เอาสิ่งที่เห็นมาเขียนรวมกันบนกระดาษแผ่นใหญ่ อีกครั้ง ดังนั้น  เราจึงได้ “สิ่งที่เห็น”  เท่ากับ ห้าสิบคูณด้วยยี่สิบคน เป็นสิ่งที่เห็นที่หลากหลายมากในเวลาอันสั้น  มีทั้งที่เป็นสิ่งที่เห็นธรรมดาๆง่ายๆ เช่นแขน ขา หน้า ตา ตับ ไต ไส้ พุงฯลฯ กับสิ่งที่บางคนเห็นต่างๆและแปลกๆเช่น เห็นโรงบ่มแก๊ส  กองกระดูก อากาศธาตุ ฆาตกร ธาตทั้งสี่ฯลฯ  อื่นๆอีกมากมาย  หลังจากให้คนเขียนสิ่งที่เห็นแปลกๆมาเล่าให้ฟังว่าทำไมเขาถึงเห็นอย่างนั้น  อาจารย์ก็กระตุกต่อมคิด ด้วยการให้เรามองสิ่งที่นอนอยู่กลางวงว่า  อีก 10 ปีข้างหน้า เราจะเห็นว่าเป็นอย่างไร  อีก 100 ปี 1000ปี  10000 ปี  เราจะเห็นเป็นอย่างไร  กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่กระตุกต่อมคิดได้ดีอีกเหมือนกัน   สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนได้

กิจกรรมช่วงบ่าย อาจารย์ได้พูดถึงการมีสติกับอายาตนะหรือการสัมผัสทั้งหก     คือ การได้เห็น  การได้ยิน  การได้กลิ่น  ได้ลิ้มรส ได้กายสัมผัส และได้รู้สึกนึกคิด  แล้วให้ไปนั่งคนเดียว  สังเกตว่า ณ  เวลานั้นๆ สติเราอยู่กับสัมผัสใด  ถ้ารู้ก็ให้ขีดเส้น tally เหมือนนับคะแนนผู้แทนนั่นแหละ คือ ขีดได้สี่เส้น แล้วขีดขวาง อีกหนึ่งเป็น ห้า อาจารย์บอกว่า ถ้าเราสังเกตให้ดี จะรู้ว่า  ณ ปัจจุบันนั้น เราใช้ สัมผัสอะไรเด่นที่สุด  เพราะธรรมชาติของคนเราจะใช้ทีละสัมผัสเท่านั้น แต่ที่เราไม่เคยรู้เพราะเราตามไม่ทันนั่นเอง

เมื่อได้ทำกิจกรรมนี้ มันเป็นเรื่องแปลกแต่จริงๆที่เรามีชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยไม่เคยรู้ว่า  ว่าเราได้ใช้สัมผัสทั้งหกนี้ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจริงๆ มีหลักฐานอย่างเห็นได้ชัด  จบจากการทดลองในเวลา 15 นาที  ก้ให้ทุกคนมาเล่าสู่กันฟังว่า รู้สึกอย่างไรบ้าง  ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป    บางคนบอกตามไม่ทันจริงๆ  พอตาเห้นแล้วยังไม่ทันขีด มันคิดต่อ หูก็ไปได้ยินเสียงจั๊กจั่นร้อง รู้สึกเมื่อย(กาย) เบื่อ(ใจ)ฯลฯ ทุกอย่างไปมาเร็วมาก ปรู๊ดปร๊าดยิ่งกว่า ไอพ่นอีก

กิจกรรมต่อไป อาจารย์ให้แยก  สัมผัส 5 ข้อแรกคือ หู ตา จมูก ลิ้น  กายไว้ด้วยกันเป็นหัวข้อที่หนึ่ง   เอาความรู้สึกนึกคิดเป็นหัวข้อที่สอง  แล้วให้สังเกตและขีดจำนวนที่ได้สัมผัสทั้งสองหัวข้อ  อีก 15 นาที  จบกิจกรรมกลับมาสนทนากันอีก  ก็เป็นเรื่องแปลกที่คราวนี้  บางคนสัมผัสได้ข้อหนึ่งมาก  บางคนสัมผัสได้ข้อที่สอง  เป็นความนึกคิด ได้มากกว่า  บางคนยังจับไม่ค่อยถูกว่า ไหนเป็นข้อหนึ่ง ไหนเป็นข้อสอง บอกว่ามันชักจะเบลอๆ

กิจกรรมสุดท้าย  อาจารย์ถามคนที่นึกคิดได้มากครั้ง ว่าคิดเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง แล้วนำความคิดมาจัดหมวด  ซึ่งก็จะออกมาคล้ายๆกันคือ หมวดครอบครัว  ธรรมชาติ  การงาน  ครอบครัว เรื่องเที่ยว แล้วให้เริ่มสังเกตใหม่  อาจารย์ให้เวลาถึง 20  นาที   อาจารย์ให้ไปหามุมสงบของตัวเอง  แล้วให้ขีดเส้นความคิด  ว่า คิดถึงเรื่องในหมวดไหนกี่ครั้ง  โดยไม่ทิ้ง หัวข้อแรกอันว่าด้วยการสัมผัสทั้งห้า  ผลการนำเรื่องที่สังเกตกลับสนทนากัน  บางคนนับความคิดเป็นหมวดๆได้ชัดเจน แต่จะรู้สึกปวดหัวตึ๊บๆ    แต่สำหรับแม่ใหญ่เอง  ต้องสารภาพกับอาจารย์ว่า พอมีคำสั่งให้คิดแบบละเอียดขึ้น  แม่ใหญ่กลับไม่คิดเสียเฉยๆ  กลับใช้ ตา หู และกายสัมผัสกับบรรยากาศรอบข้าง ซึ่งเป็นบ้านสวนสวยงาม ลมพัดเย็นๆ น้ำในสระเป็นระลอก ต้นไม้หลากหลายชนิด  ที่ปลูกอยู่รอบบริเวณเขียวชอุ่ม  มีเสียงจั๊กจั่น ร้องเซ็งแซ่มาเป็นระยะๆ  ดูเพลินไปเพลินมา  สงสัยสติหลุดเลยหลับไปซะอย่างงั้น  อาจารย์บอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก  และนี่แหละคืออาการ สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัวที่มนุษย์ทุกๆคนเป็นกันอยู่ในชีวิตประจำวัน 

วันนี้ขอบันทึกเท่าที่จำได้ แค่นี้ก่อน  เพราะจริงๆอาจารย์พูดเรื่องดีดีมากกว่านี้  แต่ฟังเพลิน และเข้าใจ  แต่ไม่ได้จด เลยเอามาบรรยายต่อไม่ได้  เพราะไม่คุ้นชินกับ ศัพท์ภาษาบาลีหลายๆตัว  จำได้คำเดียวคือ นิวรณ์ ที่ว่า ถ้ามีมากๆ  ก็จะทำให้จิตใจร้อนรุ่มกลุ้มใจ   เดี๋ยววันนี้ไปฟังอีกรอบ  จะจดเอามาขยายขี้เท่อ ในลานปัญญาบ้าง ซึ่งอาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้รู้ทั้งหลายสักเท่าไหร่ก็ได้  แต่ถ้าสำหรับคนไกลวัดอย่างแม่ใหญ่อาจจะชอบใจก้ได้

 

 

 

« « Prev : วงศาคณาญาติ

Next : สนทนาธรรมต่อเนื่อง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 meepole ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2011 เวลา 9:23 (เช้า)

    จะรอ ร้อ รอ อ่านต่อค่ะ

    น่าสนใจในส่วนของการนำเข้าสู่บทเรียนก่อนสอน คิดว่าจะเอาไปประยุกต์ใช้ในชั่วโมงแรกของการสอนเพื่อให้นศ.มีสติ มีใจจดจ่อก่อนเริ่มเรียน ปกติหลายครั้งที่เวลาสอน เห็นนศ.มักจะวุ่นวายขยุกขยิก หันซ้ายขวาหรือไม่ก็ตาจ้องครูเป๋ง (กลัวครู meepole จะกินตับ หุ หุ)แต่ใจเป็นบอลลูน ไม่รู้อยู่ใหน ก็จะให้นศ.นั่งหลับตานิ่งๆสัก 2 นาที ตอนนี้จะเพิ่มการเรียนรู้ กิจกรรม “สยบจิต” ให้เขาด้วย ขอบคุณนะคะ สำหรับเรื่องดีๆ :)


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.038653135299683 sec
Sidebar: 0.077883958816528 sec