พ่อใหญ่บำรุง บุญปัญญา
ผู้เขียนอ่านจากบันทึกพี่บางทราย เลยเอามาเขียนต่อเนื่องจากเป็นความชอบส่วนตัว ทำให้คิดว่าชีวิต คนๆหนึ่งไม่ธรรมดา ในสวนป่าครั้งนี้ผู้เขียนไม่ผิดหวังที่ได้ฟังพ่อใหญ่บำรุงพูดถึงเรื่อง ชุมชน เรื่องเกษตรกรในภาคอีสานและภาคต่างๆๆ จึงค้นข้อมูลจากพี่ google พบข้อมูลเลยลุยอ่านมาหลายเรื่อง อยากให้สมาชิกอ่านเรื่องนี้ เพราะผู้เขียนคิดว่ามีการพัฒนาสังคมในชนบทผิดไปแน่ๆๆ ลองอ่านเรื่องนี้
“หมู่บ้านสังคมอิสระที่มีอายุยืนนาน”
ตัวอย่างที่ผู้เขียนอยากให้อ่านคือ “พอมาถึงเรื่องเศรษฐกิจ เราก็เริ่มแนะนำให้เขาเลี้ยงสัตว์การเกษตรแบบใหม่ เช่น การเลี้ยงหมู คือแต่ก่อนนี้ชาวบ้านเขาเลี้ยงหมูดำ พอเราเข้าไปก็อธิบายให้เขาฟังว่า หมูตัวดำนั้นมันไม่ดี โตก็ช้า จับขังคอกมันก็แหกคอก นิสัยมันดื้อ เราก็แนะนำให้เขาเลี้ยงหมูขาว ซึ่งในการแนะนำให้เลี้ยงหมูขาวนั้น เราก็ยกความเหนือกว่าทุกอย่างให้เขาฟัง ไม่ว่าจะในเรื่องโตเร็วกว่า เลี้ยงง่ายกว่า จนชาวบ้านก็เชื่อ หันมาเลี้ยงหมูขาวกันหลายคน แต่พอเลี้ยงไปเลี้ยงมาก็มีปัญหา ชาวบ้านบ่นให้ฟังว่าหมูขาวมันเลี้ยงยากเวลาหิวมันก็ไม่ร้อง แต่หมูบ้านเวลาหิวมันร้อง เราก็รู้ว่ามันหิว แต่หมูขาวนอนเฉย และเมื่อถึงเวลาจะขายยิ่งเห็นได้ชัดอย่างที่ชาวบ้านพูดว่า
“เมื่อก่อนเลี้ยงหมูบ้านเราขายได้ หนึ่งพัน เดี๋ยวนี้มาเลี้ยงหมูขาวขายได้สองพันห้าร้อย หมูขาวมันก็ดี โตเร็ว สะอาด น่ารักดี หมูบ้านเลี้ยงแล้วหลังแอ่น บางทีก็หัวโตแต่เวลาขายแล้วหมูขาวกลับขาดทุนจะเอาอย่างไรดี?”
จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า วิธีคิดในทางเศรษฐกิจของชาวบ้านกับของเรานั้นก็มีความแตกต่างกัน เราไปบอกเขาซ้ำๆ ซากๆว่า ถ้าคุณเลี้ยงแบบนี้มันไม่ดี เสียเวลาปีครึ่งจึงได้ขาย แต่ถ้าแบบสมัยใหม่อาจจะแปดถึงสิบเดือนก็ได้ขาย แต่พอผลออกมาของเรากลับไม่ได้ดี จึงต้องมาคิดกันว่า วิธีคิดทางเศรษฐกิจแบบเดิมของชาวบ้านนั้นเป็นอย่างไร
มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า “เคยมีเจ้าหน้าที่เอาเงินทุนมาให้ชาวบ้านเลี้ยงหมู ๑๐ ราย โดยให้รายละ ๒,๐๐๐ บาท ๑๐ รายก็ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่เลี้ยงไปเลี้ยงมาเงินที่ตกอยู่ในหมู่บ้านเหลือไม่ถึง ๒๐,๐๐๐ บาท คือเลี้ยงรุ่นแรกขายไปเสร็จเหลือเงิน ๘,๐๐๐ บาท ขายรุ่นที่สองเหลือเงิน ๖,๐๐๐ บาท จนในที่สุดเงินกองทุน ๒๐,๐๐๐ บาท ก็หมด ถ้าเป็นอย่างนี้เอาเงินมาแจกไม่ดีกว่าหรือ ?”
เรื่องที่ชาวบ้านพูดก็คือ “อยู่กันอย่างไม่มีระเบียบ” เจ้าหน้าที่ของรัฐเขาก็ไม่เข้ามายุ่งกับเรา มีเรื่องอะไรก็จัดการกันเอง คำว่า “ไม่มีระเบียบ” คือศัพท์ภายนอกที่เขาขอยืมไปใช้แต่ที่จริงเขามีระเบียบ ซึ่งระเบียบของเขานั้นก็คือ มีปัญหาอะไรเขาจัดการกันเอง หากถามว่า “จัดการอย่างไร” เขาก็ตอบว่า “มีอะไรก็เรียกประชุมกันหมด ประชุมแล้วตัดสินปัญหากัน” ถามว่า “ตัดสินกันอย่างไร” เขาบอกว่า มีจารีต มีประเพณี มีพิธีปฏิบัติ มีการพูดคุยเพื่อกำหนดกันว่า เรื่องนี้จะทำอย่างไร เรื่องนั้นจะเอาอย่างไร ซึ่งวิธีการนี้ก็คือการจัดระเบียบอีกรูปแบบหนึ่ง และที่ชาวบ้านบอกว่าตัวเองอยู่อย่างไม่มีระเบียบนั้นอันที่จริงสิ่งนั้นคือระเบียบ เป็นระบบการจัดการภายในของเขาเอง
นี่แค่ตัวอย่างแนวคิดของพ่อใหญ่บำรง บุญปัญญา ถ้าสนใจอ่านหนังสือของพ่อใหญ่ เรื่อง แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน เรื่อง ไปให้พ้นสังคมกำพร้า และมองโลกของสังคมก้าวต่อไปของประชาชน สามารถติดต่อได้ที่
ศูนย์ข้อมูล กป.อพช.อีสาน 53/1 ซอยสระโบราณ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ 32000
โทรศัพท์ 044-511172 โทรสาร 044-515590
เข้าใจว่าที่ขอนแก่นก็มี รอพี่บางทรายมาบอกดีกว่าว่าที่จังหวัดขอนแก่น มีขายที่ไหนบ้าง ผู้เขียนขอขอบคุณพี่บางทรายและสมาชิกทุกๆๆท่านที่ทำให้ได้พบกับคนเก่งๆ คนดีๆๆ ขอคารวะจิตวิญญาณเสรีของพ่อใหญ่บำรุง บุญปัญญา