การแสดงความเห็น
Blog เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงได้ และมีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นได้ภายใต้เงื่อนไขของผู้รับผิดชอบชุมชนนั้นๆ(Blog Community) ในพื้นที่ชุมชน Lanpanya นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น Bloggers เก่าที่เข้าไปเป็นสมาชิก Blog Community อื่นมาก่อนแล้วย่อมทราบกฎ กติกา มารยาทและพัฒนาเป็นสามัญสำนึกไปแล้ว กล่าวอีกทีก็คือ ทุกคนรู้จักกันดีว่าอะไรควร อะไรไม่ควร..
อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีบรรทัดฐานการแสดงความเห็นใน Blog จึงค้นคว้ากติกาโดยทั่วไปที่เป็นสากลและยอมรับกัน ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. ความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ก้าวร้าว รุนแรง ถ้อยคำลามก ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม
3. ไม่นำสื่ออนาจารมาเผยแพร่หรือนำเสนอสู่สายตาสาธารณะชน
4. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ
ต้องไม่นำมาโพสต์หรือขยายความต่อในบล็อก การโพสต์เรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น
5. ความคิดเห็นในบล็อก เป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก
6. โดยทั่วไป ผู้รับผิดชอบ Blog จะสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและความคิดเห็นนั้นๆ
(ดัดแปลงจากแหล่งข้อมูล http://blog.spu.ac.th/SurasakMu/2009/01/24/entry-1)
ปลัดกระทรวงไอซีที เคยกล่าวไว้ว่า การแสดงความคิดเห็น ควรใช้แนวทางวิจารณญาณดังนี้
1. ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่ผู้แสดงความคิดเห็นและเว็บมาสเตอร์ ต้อง รับผิดชอบต่อความเห็นที่สร้างความแตกแยกในสังคม
2. หลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันอันเป็นที่เทิดทูนของปวงชนชาวไทย
3. ไม่แสดงความเห็นพาดพิงหรือ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยในสังคม
(ดัดแปลงจากแหล่งข้อมูล http://webboard.mthai.com/5/2006-09-22/268814.html)
ประเด็นสำคัญหนึ่งของการแสดงความคิดเห็น คือ เป็นเสรีภาพที่สามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตของการเคารพ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่เส้นแบ่งหรือตัวชี้วัดของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในข้อ 19 เช่นกัน ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานของสิทธิมนุษยชน ท่านที่สนใจโปรดดูแหล่งข้อมูลที่ http://www.newmana.com/yabb/index.php?topic=7246.0
นอกจากนี้แล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือ “ฉบับธงเขียว”) ตามความในบทบัญญัติในหมวด 3 มาตรา 39 ที่ให้การรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ของชนชาวไทยโดยชัดแจ้ง ประกอบด้วย ข้อความรวม 6 วรรค โดย 4 วรรคหลังเป็นบทบัญญัติเกี่ยวข้องเฉพาะเจาะจงกับการดำเนินกิจการสื่อสารมวลชน ขณะที่ข้อความ 2 วรรคแรกเป็นบทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นและเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว รายละเอียดจะไม่ขอกล่าวในที่นี
การที่รวบรวม กฎ กติกา ที่เกี่ยวกับการแสดงความเห็นมาไว้ เพื่อให้เราทราบว่า สังคมมีกฏมีเกณฑ์ blog และชุมชนชาว Blog ก็ย่อมมีกฎมีเกณฑ์ ทั้งที่เหมือนกันโดยทั่วไปและมีลักษณะเฉพาะ ก็ย่อมแล้วแต่ชุมชนนั้นๆจะกำหนดขึ้นมา
สำหรับ Lanpanya เป็นชุมชนใหม่ มีอายุไม่ถึง 1 ขวบปี ไม่ได้มีการตั้งกฎเกณฑ์พิเศษ เพียงรับรู้กันโดยสามัญสำนึกของการเป็น Bloggers ที่ดี คืออย่างไร การแสดงความเห็นที่เหมาะสมควรเป็นเช่นไร ในอนาคตหากมีสมาชิกมากขึ้นก็อาจจะเพิ่มกฎเกณฑ์ใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งก็คงต้องประชาสัมพันธ์กันต่อไปเพื่อให้สมาชิกทุกคนรับทราบก่อน และอาจต้องการความคิดเห็น จากสมาชิกเพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดกติการ่วมกัน
แผนผังแสดงองค์ประกอบเบื้องต้นของการแสดงความคิดเห็น
สิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมเป็นเบื้องต้นของการแสดงความเห็นคือ
-
การแสดงความเห็นควรยึดหลัก Positive opinion
-
การแสดงความเห็นเชิงแตกต่าง หรือตรงข้ามเลย ก็ย่อมกระทำได้ แต่ควรเป็นการแสดงออกมาจากความจริงใจ หรือ ข้อเท็จจริงที่เรามีข้อมูลยืนยัน หรือเชิงอธิบายเพิ่มเติมเพื่อการสร้างบรรยากาศการก้าวไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์
-
ภูมิหลังของแต่ละคนแตกต่างกัน การนำบันทึกออกสู่สาธารณะ เจ้าของบันทึกต้องยอมรับความแตกต่างเป็นพื้นฐาน
-
แม้ว่ามันทึกมิใช่รายงานวิจัย หรือรายงานวิชาการ แต่ก็มีบริบทในตัวของมันเอง สมาชิกผู้เข้ามาแสดงความเห็นอาจไม่เข้าใจบริบทของบันทึกนั้นๆ เจ้าของบันทึกพึงสร้างความเข้าใจให้มากที่สุด เพื่อมิให้เกิด การแสดงความคิดเห็นต่างบริบทกัน แต่ก็กระทำได้เพียงแต่จะเกิดลักษณะผิดฝาผิดตัว
-
การแสดงความเห็นเชิงสำนวน และ/หรือ การหยอกล้อ เล่น แต่พองามนั้น นับเป็นสีสันของ Blog ที่กลุ่มเพื่อนสนิท หรือคนรู้ใจกันมักสร้างสรรค์ขึ้นมา ในทัศนะคนทำงานสังคมเห็นว่า เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของชุมชนนั้นๆ และเชิงวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันยังเป็นทุนอย่างหนึ่งของสังคม เพราะเป็นการเสริมสร้างความสนิทสนม ซึ่งด้านลึกเป็นแรงเกาะเกี่ยวกันทางสังคมนั่นเอง
สาระที่มากไปกว่านี้ขอเชิญพี่น้องได้เสริมเติมแต่งให้ด้วยครับ กระผม..