สั่งสม..เพื่อ..สืบสาน ตอนที่ 2
อ่าน: 3486เล่าต่อจากบันทึกที่แล้วนะคะ
การสืบสานวัฒนธรรมท่ามกลางความเปลี่ยนแปรของกระแสโลกเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันคิด
จะทำสิ่งใดไม่ให้เป็นเรื่องล้าหลัง จนเกินกำลังของคนรุ่นใหม่จะรับได้
จะสร้างสรรค์ประสบการณ์สำคัญอย่างไรให้นำสู่การเห็นคุณค่า
และให้เป็นเรื่องที่ใช้พัฒนาเด็กได้อย่างเหมาะเจาะ
ทั้งต้องคอยสั่งสม เติมต่ออย่างสอดคล้อง ต่อเนื่อง
จึงจัดประสบการณ์เรียบง่าย..
ที่ทำให้เด็กได้พบความภูมิใจ มีความสุขและได้เรียนรู้ขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
จากทรัพยากรที่มีอยู่ เมื่อรวมกับความคิด ความสามารถของครู
ทำให้ถึงกับนำบรรยากาศของวัดเข้ามาอยู่ได้ในโรงเรียน !!!
ก็ด้วยทุกปียามเมื่อมีประเพณีสลากภัต ทำได้เพียงจัดตัวแทนไปร่วมงาน
เมื่อครูเห็นเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ทั่วถึง
จึงชวนกันคิดอ่านจัดงาน“ตานก๋วยสลาก” ขึ้นในโรงเรียน
มอบหมายให้เด็กจัดกลุ่มร่วมกันแต่งดา”ก๋วย”ตามประเพณีเก่าก่อน
ทั้งเปิดสอนการสาน “ก๋วยขี้ปุ๋ม” ยามพักเที่ยงต่อเนื่องตลอดสัปดาห์
แถมครูยังใจดีจัดหาอุปกรณ์ให้พรักพร้อม
ทั้งหอประชุมจึงรายเรียงไปด้วยวงล้อมของเด็กๆ ที่ขะมักเขม้นพยายามสาน”ก๋วย”
ด้วยเวลาอันจำกัด ยามเพลงมาร์ชบอกสัญญานเข้าเรียนดังขึ้น
ก็ต้องเร่งเก็บข้าวของไปวางกองไว้ รอให้ถึงเวลากลับมาสานต่อ
กว่าจะก่อเป็นรูปร่างได้ก็ใช้เวลาสองสามวัน
ช่วงเวลานั้น แต่ละซอกมุมของห้องจึงมองเห็นเส้นตอกและกอง”ก๋วย”ประดับอยู่ไปทั่ว
เสร็จจากสาน “ก๋วย” ก็สอนทำ “สวยดอก” หรือกระสวยดอกไม้
ที่ใช้ทักษะการพับกระดาษเหลือใช้ตามแบบที่ได้สืบต่อกันมา
และช่วยกันจัดหาข้าวของประดามีที่จะใส่ “ก๋วย” เป็นของถวายพระ
ทั้งข้าวปลาอาหาร ของใช้ และได้เห็นบรรดาดอกไม้ที่ใส่ในสวยดอกดูคุ้นตา
ก็ล้วนไปหาเอาง่ายๆ แถวๆ ในโรงเรียนกันนี่แหละ !!
ด้วยความเมตตาของท่านเจ้าอาวาสวัดจามเทวี และพระอาจารย์ผู้สอนพุทธศาสนา
ทั้งมัคนายกกิตติมศักดิ์ ช่วยส่งเสริม จึงเริ่มงานได้ในยามเช้าวันศุกร์
ที่ทุกห้องช่วยจัดเตรียมสถานที่ รายเรียงรอบหอประชุม
จำลองการนั่งรอบศาลารายในวัด และจัดเตรียม “ก๋วย” ไว้ถวาย
บางราย พ่อแม่ตายายฝาก “ก๋วย”มาร่วมบุญ
รวมแล้วจึงมี”ก๋วย”จำนวนเกือบสองร้อย
ระหว่างคอยเวลา ก็พากันเดินชื่นชมฝีมือจัดก๋วยของกันและกัน
ทั้งก๋วยอันประณีตฝีมือครู และฝีมือหนูๆ ที่บิดเบี้ยว
รอยยิ้มอิ่มเอมใจยามบอกเล่า นี่ทำเองค่ะ นี่ทำเองครับ
คงทำเอาบรรดาผู้พลาดโอกาสฝึกฝีมือ ด้วยถนัดแต่การซื้อหานึกเสียดายอยู่ครามครัน..
ถนนหน้าอาคารเมื่อปูลาดด้วยเสื่อแดง กลายเป็นข่วงการแสดง
ให้ช่างฟ้อนประจำโรงเรียน เติมบรรยากาศของงานฉลองด้วยฟ้อนเล็บอันอ่อนช้อย
เครื่องแต่งตัวและเล็บทองเหลืองที่ช่วยกันประดิดประดอย ขัดถูจนวาววับ
ด้วยครูจับมาฝึกสอนทุกขั้นตอนของการเตรียมการ ให้รู้งานทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า
เมื่อถึงเวลา พระ เณรจากวัดใกล้โรงเรียนเดินแถวเข้ามาถึง
หนุ่มน้อยคนหนึ่งได้รับเลือกให้ถือบาตรเดินรับเงินบริจาคเพื่อถวายพระ
บรรดาตัวแทนหญิงชายส่วนหนึ่งได้ขยับขึ้นไปนั่งต่อหน้าพระสงฆ์บนเวที
ทำหน้าที่ทั้งเป็นประจักษ์พยานนับเงินบริจาค จัดการเส้นสลาก
และร่วมเป็นผู้ช่วยมัคนายก
ด้วยเป็นงานที่ต้องการให้ได้เรียนรู้ที่มาแห่งประเพณี
จึงมีเวลาให้ท่านมัคนายกบอกเล่าตำนานและเรื่องราวต่างๆ อย่างเป็นลำดับ
และเมื่อถึงขั้นตอนพิธีการ เสียงสวดมนต์ก็กังวานไปทั่ว
สามเณรผู้มีวัยใกล้เคียงกับบรรดาหนุ่มน้อยที่พนมมือไหว้อยู่เบื้องหน้า
อ่านบทเทศน์เป็นภาษาล้านนาอย่างตั้งใจ
เสียงอันชัดเจน แจ่มใส ทำให้ทั้งหอประชุมเงียบสงบอย่างน่าประหลาด
คาดไม่ถึงว่า เด็กหลากหลายวัยจะทำได้ถึงเพียงนี้
บรรยากาศเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความคึกคัก
เมื่อหนุ่มน้อยหลายคนอาสาสมัครเป็น “ขะโยม” เดินตามพระ ในช่วงเวลาที่ต้องเดินหาก๋วย
ทั้งคอยช่วยนำทางไปตามสถานที่แจ้งในใบสลาก
และด้วยเคยชินกับการอยู่กับฆราวาส..
จึงได้เห็นข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ให้ครูคอยกระซิบสอน
เดินตามหลังพระลูก..จุ๊ๆ อย่ายืนค้ำหัวท่าน..น้องผู้หญิงขยับห่างออกมาหน่อยลูก..ฯลฯ
เด็กและผู้ใหญ่ แย้มยิ้มอิ่มใจยามได้รับพรจากพระ
ทั้งได้พบว่า เงินบริจาคยามเช้า
ถูกแบ่งสรรเข้ากองทุนอาหารกลางวันแก่สามเณรเป็นจำนวนไม่น้อย
ได้เห็นสามเณรที่มาร่วมพิธีล้วนอยู่ในวัยเรียน
งานนี้จึงเป็นเสมือนงานที่พระอาจารย์ได้นำศิษย์มาร่วมเรียนรู้วิถีแห่งผู้สืบทอดศาสนาเช่นกัน
กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการจัดเก็บสถานที่เสร็จสิ้นภายในเวลาสามชั่วโมง
เด็กๆ เคยชินกับการช่วยเตรียมงานและการจัดเก็บอย่างรวดเร็ว
แม้แต่ช่างฟ้อน ก็แปลงโฉมกลับมาเป็นนักเรียนวัยใส พร้อมจะไปเข้าเรียนกันต่อ
หอประชุม และถนน กลับมาอยู่ในสภาพที่เรียบโล่งอีกครั้งหนึ่ง
สิ่งที่หลงเหลือมีเพียง”ก๋วย” ที่บรรดาพระเณร มอบให้ “ขะโยม”ทั้งหลายนำไปแบ่งเพื่อนๆ
ตามคติ “บุญก่อได้ ไส้ก่อเต๋ม” ทั้งได้บุญและอิ่มท้อง ตามที่พระอาจารย์บอก
ก็คิดจะสืบสาน..จึงต้องจัดประสบการณ์ให้สั่งสม..
แม้เคยถูกระดมด้วยคำถาม..ทำแต่กิจกรรม จะเสียเวลาเรียนมั้ยเนี่ย..
แล้วกิจกรรมที่เล่ามานี้…จะทำให้เสียเวลา “เรียน” มั้ยคะ..ท่านผู้ชม…
.
.
.
เชิญชม วิ.ดิ.โอ ฟ้อนเล็บ และ บรรยากาศของงานสลากภัตเพิ่มเติมได้ ที่นี่ ค่ะ
ขอขอบพระคุณ อาจารย์ประยนต์ กันธิยะ ผู้เมตตามาเป็นมัคนายกกิตติมศักดิ์ของเรา
« « Prev : สั่งสม..เพื่อ..สืบสาน
Next : อันเนื่องมาจากน้ำเต้า 19 สายพันธุ์ » »
1 ความคิดเห็น
ชื่นใจจริงจริงๆ เห็นเด็กทำสิ่งเหล่านี้ การได้สัมผัสจริงด้วยมือจริงๆจึงรู้คุณค่า แม้ว่าวันนี้จะแค่ผ่านมือเท่านั้น แต่ประสบการณ์เหล่านี้มันติดอยู่ใน cell สมองที่พร้อมจะ recall ออกมาได้ ประสบการณ์แบบนี้จึงเป็นประสบการณ์ที่ผสมผสานกันในหลายๆด้านร่วมกันไปในช่วงเวลาเดียวกัน การสานก๋วย นั้นผมที่ได้คือ ก๋วย แต่มากกว่านั้นคือ ความรู้สึก ผัสสะ การทำงานร่วมกัน เรื่องราวที่คุยกันระหว่างสานก๋วย ความรู้ที่ผู้รู้บอกกล่าว และอิ่มอกอิ่มใจแค่ไหนที่ก๋วยของเราคือก๋วยที่ส่งถึงมือพระ ความสุข ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นมากกว่าก๋วยที่เราไปซื้อมามากมายเทียบไม่ได้เลย
โรงเรียนทำถูกแล้วในทัศนะของพี่นะครับ เพราะความรู้ที่แท้จริงมิใช่เพียงรู้ แต่ความรู้ที่ผ่านการสัมผัส แม้ว่าอาจจะอธิบายไม่ได้ด้วยภาษา แต่บอกได้ว่ามันมีความรู้สึก การสัมผัสนั้นเป็นความรู้ที่สั่งสมมานานแสนนานนับพันปีเลยนะครับน้องอึ่ง วิชาสัมผัสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสาขาหนึ่งคือ “การแม๊ะ” หรือหมอแม๊ะ ของคนจีน แค่เอามือมาสัมผัสตรงนั้นตรงนี้ก็รู้ได้ว่าคนคนนั้นป่วยเป็นอะไร…… การมีความรู้เฉยๆทำได้ไหม ไม่ได้แน่นอน ต้องสัมผัสมานับพันนับหมื่น แล้วญาณสัมผัสมันเกิดขึ้น การที่พระสายธรรมยุติไม่ใส่รองเท้านั้น ต้องการให้ชีวิตอยู่บนของจริง สัมผัสชีวิตด้วยธรรมชาติจริงๆไม่ถูกรองรับด้วยรองเท้าที่เป็นกำแพงกั้นผัสสะ แม้มุมมองสมัยใหม่ว่าด้วยสุขอนามัยแบบนั้นไม่ถูกต้อง แต่ความรู้เรื่องการทำอย่างไรจึงจะใช้วิถีแบบเท้าเปล่าห่างจากโรคภัยนั้นก็มีอยู่มิใช่หรือ..
ในมุมมองระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่แห้งแห้งนั้นก็จะบอกว่า เสียเวลา แต่การศึกษาแบบรู้จริงนั้น ถูกต้องแล้วครับในทัศนะพี่นะครับ