ช่วยๆกันรักประเทศไทยดีไหมครับ

อ่าน: 1527

ตอน ปลูกต้นไม้แล้วได้อะไร

พื้นที่ๆผมมาปักหลักปลูกต้นไม้ ผ่านการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมายาวนาน จากที่เคยอุดมสมบูรณ์ปลูกอะไรก็งาม ไม่ว่าจะเป็นข้าวไร่ เดือย ถั่วลิสง ปอ เพราะเพิ่งผ่านการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ หลังจากจัดการกับตอไม้และสิ่งรกเรื้อออกไปแล้ว ได้ปลูกสวนนุ่น สมัยนั้นฟ้าฝนก็ดี โรคแมลงก็ไม่มี เทคโนโลยีก็ยังไม่มา ได้เลี้ยงควายฝูงหนึ่งไว้ไถสวน เป็นระยะพึ่งพาตนเอง100%อย่างแท้จริง นุ่นเจริญงอกงามมาก ฝักงามจนบางครั้งกิ่งถึงกับหัก ช่วงที่ดอกนุ่นบานจะมีผึ้งหลวงและผึ้งมิ้มมาอยู่จำนวนมาก เป็นเสมือนฟาร์มเลี้ยงผึ้งโดยธรรมชาติ

เด็กบ้านป่ากินลูกผึ้งน้ำผึ้งเป็นของหวาน

พอผ่านยุคเรื้อสวนนุ่นที่ต้นแก่ผลิตลดลงออกไป มันสำปะหลังก็เข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ความชุ่มชื้นน้ำหมอกน้ำค้างหายไป ปุ๋ยในดินก็หดหายไป ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเริ่มเข้ามาเยือน เกษตรกรช่วงนี้อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น อ้อย มันสำปะหลัง เป็นตัวเลือก อยู่ที่สูงดินร่วนปนทราย มันสำปะหลังและถั่วลิสงยังปลูกคู่เคียงกัน ตอนท้ายๆลดมาปลูกมันสำปะหลังตัวเดียว แรกๆหัวมันก็เติบโตดี ต่อๆมาหัวมันก็เล็กลงๆ จนเหลือขนาดแขนเด็กๆ

ทำให้ฉุกคิด

ถ้าเราปลูกพืชล้มลุก..เราก็คงล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้แหละ

ถ้าปลูกพืชยืนต้น..เราน่าจะยืนหยัดมั่นยืนตลอดไป

คำถามก็คือ..จะปลูกต้นอะไร

มีใครยึดอาชีพปลูกสร้างสวนป่าบ้าง

พบว่า..งานปลูกป่าไม้จะอยู่ในส่วนงานราชการ เช่น ออป. และมีการสัมปทานป่าไม้ให้แก่ภาคเอกชนรายใหญ่บ้าง รายเล็กรายน้อยส่วนมากจะปลูกต้นไม้ตามหัวไร่ปลายนา ยังไม่มีการปลูกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะการปลูกต้นไม้นั้นต้องใช้ทุนใช้เวลานาน ประกอบกับยังไม่มีนโยบายส่งเสริมในเรื่องนี้

ไปขอกู้เงินปลูกป่าไม้ พนักงานธนาคารหัวเราะ

“นับเป็นโครงการที่ดี แต่ธนาคารยังไม่มีนโยบายในเรื่องนี้”

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยนะครับว่า ทำไมป่าไม้เมืองไทยจึงอยู่ในสภาพนี้

คนไทยเก่งแต่ตัดไม้ แต่ไม่สนใจที่จะปลูกต้นไม้

เพราะคนไทยมองว่าป่าไม้ต้นไม้เป็นของฟรีมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

เลือกตัดมาใช้สอยกันสบายๆ ทำไมจะต้องไปปลูกด้วย

รุกป่าตัดไม้ไม่พอยังเผาป่ากันไม่บันยะบันยัง

ในเมืองเชียงใหม่ปลูกต้นยางนา2ข้างทางถนนสารภี-ลำพูนตั้งแต่สมัย ร.5

ในกรุงเทพฯปลูกต้นตะเคียนทองไว้ทำเรือตั้งแต่สมัย ร.1

ในหลวงได้ปลูกไม้ยางนาและไม้อื่นในวังสวนจิตลดา

แต่ก็ยังหาคนยึดอาชีพปลูกสร้างสวนป่าน้อยมาก มาในชั้นหลังๆกรมป่าไม้ได้สนับสนุนเกษตรกรปลูกสร้างสวนป่า ทำให้เกิดเกษตรกรตัวอย่างทางด้านนี้ รับการคัดเลือกไปรับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาปลูกสร้างสวนป่า เนื่องในวันพระราชพิธีจรดพระนางคัลแรกนาขวัญที่สนามหลวงทุกปี เกษตรกรบางรายที่มีการพัฒนาการต่อเนื่อง

บางปี FAO.จะคัดเลือกให้รับรางวัลเนื่องในวันอาหารโลก

ในปี พ.ศ. ผมได้รางวัล …

FAO.ไม่ได้ให้เป่าหยิงฉุบแจกรางวัลหรอกนะ

คงมีการติดตามดูว่าใครปลูกและทำอย่างไรมาบ้างพอสมควร

ช่วงที่ตัดสินใจเปลี่ยนผ่านการงานอาชีพ ซึ่งไม่มีลู่ทางหรือปัจจัยเกื้อหนุนอะไรเลย แต่ก็เสี่ยงที่จะทำไปเรียนรู้ไป เพราะอยากจะเป็นทาร์ซานตามที่เคยดูในหนังรถขายยาสมัยเด็ก ประกอบกับที่ดินผืนดังกล่าวร้อนแล้งไม่มีต้นไม้ให้อาศัยร่มเงา ปลูกพืชผักผลไม้ก็ยาก ขุดบ่อน้ำตื้นหรือขุดสระน้ำก็กักเก็บน้ำไม่ได้ ดินทรายไม่เก็บซับน้ำใดๆอยู่แล้ว สภาพช่วงนั้นเรียกว่าน้องๆทะเลทราย

ผมจะปลูกต้นอะไรดี

ต้นที่ปลูกแล้วไม่ต้องรดน้ำ เพราะไม่มีน้ำจะรด

นั่นก็หมายความว่า..จะต้องเป็นพืชโตเร็วทนแล้งเอาตัวรอดได้ สมัยนั้น คนบ้านนอก จะไปถามใครละครับ ผมจึงไปขอกล้าไม้จากศูนย์เพาะชำพันธุ์ไม้ กรมป่าไม้ หลายชนิด เช่น ไม้สะเดา ไม้ไผ่ ไม้กระถินณรงค์ และไม้ยูคาลิปตัส

หลังจากผ่านไปฝนแรก ไม้ชนิดต่างๆยังเติบโตต่อไปได้ ที่สะดุดตาเป็นพิเศษได้แก่ไม้ยูคาลิปตัส พอตั้งตัวได้ไม้ชนิดนี้เติบโตเด่นเป็นสง่าแซงหน้าไม้อื่น คงจะเป็นเช่นนี้กระมังเขาถึงเรียกว่า “ไม้โตเร็ว” เมื่อเห็นข้อดีอย่างนี้ มีพันธุ์ไม้ที่สามารถปลูกได้ในที่แห้งแล้งอย่างนี้จะรีรออะไรอีกละ ผมจึงไปซื้อเมล็ดไม้ยูคาลิปตัสจากออป. มาเพาะกล้าไม้เอง

เมล็ดไม้ยูคาฯนั้นเล็กเท่าๆกับเม็ดทราย

ต้องประคบประหงมดูแลตั้งแต่ต้นเล็กๆเท่าเส้นผม

ค่อยๆถอนมาลงถุงดูแลต่ออีก2-3เดือน

ต้นโตประมาณ1ฟุตจึงย้ายไปลงหลุมปลูก

หลังจากนั้นก็ต้องดูแลเรื่องสัตว์และปลวกมารบกวน

ผ่านไป1ปีก็สบาย

แต่ก็ควรระวังเรื่องวัวควายชาวบ้านและไฟไหม้ช่วงแล้ง

ถ้าผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้

3-4 ปีก็มีไม้เขียวครึ้มในพื้นที่ๆเคยแห้งโกร๋น

แต่ก็นั้นแหละ การจับต้นไม้มาเข้าแถว แถมยังเป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียว มันก็ยังดูผิดแผกไปจากป่าไม้ธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้การปลูกไม้ยูคาลิปตัสในช่วงแรกๆจึงได้รับการท้วงติงจากผู้สันทัดกรณีว่า

มันเป็นไม้มหาภัย

มันกินน้ำกินปุ๋ยมาก ปลาตาย นกหนูไม่อยู่อาศัย ไม้อื่นขึ้นไม่ได้

มันเป็นไม้ต่างด้าว ขืนปลูกไปมีหวังสภาพแวดล้อมเสียหาย

คำทักท้วงด้วยความห่วงใยเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรับฟังและเอามาใคร่ครวญ ผมมองวิกฤติเป็นโอกาสว่า แหม..ดีจังเลย มีคนมาตั้งโจทย์ให้โดยที่เราไม่ต้องมามะงุ้มมะง่าหราหาสมุติฐานเอง ที่จริงผมก็รักและห่วงใยพื้นที่ดินของผมเหมือนกันนะครับ อะไรที่ทำไปแล้วรู้ว่ามันไม่ดี เราจะบ้าทำไปทำไมละครับ

ปัญหามันอยู่ที่ว่า..ที่ว่ามันไม่ดีนั้นมันเป็นฉันใด

มันท้าทายให้เข้าไปตีแตกยิ่งนัก

เราจะเชื่อเพราะเพียงคำบอกเล่า คำเขาว่า..อย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้รึ

ถามว่า “เคยปลูกยูคาฯแล้วใช่ไหม เปล่า เขาว่า..

ช่วงนั้นมีคนออกมาเขย่าเรื่องยูคาลิปตัสแทบทุกเวที

แต่ผมก็ไม่ได้สะดุ้งสะเทือนอะไรหรอกนะ

ยังรักเดียวใจเดียวมั่นคงสม่ำเสมอ

ปลูกไป สังเกตไป ทดลองไป

จนได้ความจริงมาระดับหนึ่งว่า

ไม่มีต้นไม้ชนิดไหนในโลกนี้ที่เลวร้ายเท่ามนุษย์หรอกนะครับ

เที่ยวไปโทษต้นไม้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ที่จริงแล้วเป็นเพราะคนทำไม่ถูกจัดการไม่เป็นต่างหาก

สรรพสิ่งในโลกนี้เปรียบเสมือนเหรียญ2ด้าน

ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย

อยู่ที่จะมองแบบเอกซเรย์ หรือมองแบบดาดๆ

มีเสียงอึกทึกบอกว่า..ยู ค า ฯ มั น กิ น น้ำ ม า ก

อ้าว ! กินน้ำแล้ว มั น มี ข า เ ดิ น อ อ ก จ า ก ที่ ดิ น เ ร า ไ ห ม เ ล่ า ?

การที่ต้นไม้ดูดซับน้ำไว้ในลำต้นแล้วค่อยๆระเหยความชื้นออกมา

ยังไม่ใช่ข้อดีอีกรึ หรือว่าชอบที่น้ำฝนไหลทิ้ง ปล่อยที่ดินให้แห้งผาก

ในพื้นที่แก้มลิง ถ้าปลูกต้นยูคาฯลงไปด้วย

ยูคาลิปตัสจะดูดน้ำไปไว้ในลำต้นทำให้แก้มลิงรับน้ำได้มากขึ้น

อนึ่ง ยูคาฯปลูกในที่ลุ่มทนน้ำท่วมได้5-6เดือน

แทนที่จะปล่อยให้แก้มลิงว่างเปล่าก็ปลูกต้นไม้จะได้ประโยชน์หลายต่อ

เรื่องนี้เป็นหนังยาวเสียแล้ว..

โ ป ร ด ติ ด ต า ม ต อ น ต่ อ ไ ป ด้ ว ย ค ว า ม ร ะ ทึ ก ร ะ ท ว ย ใ จ อิ อิ..


กลอยในใจ

อ่าน: 2418

หมู่นี้ทำท่าจะเป็นโรคกลัวน้ำไปกับเขาด้วย

ได้ยินแต่ข่าวประกาศ พื้นที่จุดโน้นอพยพ จุดนี้ต้องอพยพ

จะพากันไปกระจุกตัวอยู่จุดไหนของโลกใบนี้หนอ

ตอนบ่ายเลขา อาจารย์วรภัทร กริ๊ง! มาให้คุยกับอาจารย์

เสียงหัวเราะต้นฉบับคิ๊กๆคั๊กๆ มาก่อน

หลังจากเจรจาต้าอวยกัน ..อาจารย์บอกว่าบางทีวันศุกร์นี้อาจจะแวบมาหา

ผมเตรียมเรื่องเจรจา และพาไปดู

ให้เห็นว่ามีแง่คิดอะไรผุดพรายขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะพืชหัวใต้ดิน

บ่ายแก่ๆชวนป้าสอนกับลูกมือลากรถเข็นและจอบเสียม ไปยังสวนข้างบ้านที่ปลูกต้นกลอยไว้2-3ปีแล้ว กลอยเป็นพืชอายุปีต่อปี ปีแรกๆที่ปลูกแต่ละกอจะให้ผลผลิตไม่มากนัก ประมาณหลุมละ 10 ก.ก. ถ้าปล่อยไว้ปีที่2 บางต้นที่สมมบูรณ์อาจจะให้ผลผลิตได้ถึง50 ก.ก. เรื่องอย่างนี้ต้องขุดให้เห็นกับตา แม่เจ้าโวย..ทำไมมันง่ายอย่างนี้ หัวกลอยจะจับก้อนอยู่เรี่ยผิวดิน อยู่ตื้นๆแต่หัวใหญ่ บางหัวก็แทรกเข้าไปใต้รากไม้ เล่นเอาจอบกับเสียงหักไปอย่างละด้าม ขุด 3 ต้นได้กลอยมา 1 รถไสน้ำ

เหลือเชื่อจริงๆ  ไม่นึกมาก่อนว่าผลผลิตจะมากขนาดนี้

พอที่จะแข่งกับการปลูกพืชอาหารอย่างอื่นได้เลยละครับ

ผมได้คืบจะเอาศอก >> แล้วยังไงต่อ

1 ขยายปลูกกลอยกับมันเลือดมาก

2 เอาปุ๋ยคอกไปใส่ต้นต้นละ 1 กระสอบ

3 ทดลองหาวิธีล้างพิษใหม่ ทำให้แห้งเก็บไว้นาน ลองทำอาหารเมนูใหม่

4 ทดลองเอากลอยมาผลิตเป็นแป้งไว้ทำขนม ผสมอาหารอื่นๆ หรือทำเป็นข้าวเกรียบ

5 ทดลองเอาน้ำหมักกลอยไปรดไล่ปลวก ผมอาจจะผลิตยาฆ่าปลวกยี่ห้อใหม่ก็ได้นะ อิอิ

เท่าที่ประเมินผลหยาบๆ

ไม้ยืนต้น 1 เอาต้นกลอยไปปลูกได้ผลผลิตต้นละ 20 ก.ก

ถ้าปลูกไม้ยืนต้นไร่ละ 60 ต้น X20 ก.ก.  = 1,200 ก.ก.

ถ้าปลูก10 ไร่ 600 ต้น X  20 ก.ก. =12,000 ก.ก .

ถ้าช่วยกันปลูก 100 ไร่  = 100X60X20 =120,000 ก.ก.

ถ้าปลูกบริโภคเองไว้แบ่งปันเพื่อนบ้าน ก็ไม่ต้องไปปลูกแบบเป๊ะๆก็ได้ มีต้นไม้ข้างบ้านตรงไหนก็ไปปลูกแทรกลงไว้ ผสมผสานไปทั้งพื้นที่ อย่างที่ผมทดลองทำกับเสาวรสเพียงไม่กี่ต้น แห้วก็เก็บมาคั้นน้ำจนเอวหวานตาหวานไปแล้ว ถ้าเปลี่ยนให้มาขุดเผือกขุดมันสลับบ้างเอวคงกลับคืนสภาพเดิม จุดสำคัญอยู่ที่ การปลูก ช่วยการปลูก ปลูกๆๆ ทุกอย่างก็จะมีเรื่องให้ทำต่อๆๆไปอีกเยอะแยะ

ผมสังเกตเห็นว่าพื้นที่รอบๆหัวกลอย ที่ดินจะร่วนซุยไม่ได้แข็งกระด้างอย่างพื้นที่ทั่วไป เป็นไปได้ไหมที่กลอยกับต้นไม้จะมีส่วนเอื้อต่อกัน ที่สำคัญมันช่วยสนับสนุนเรื่อง “การปลูกต้นไม้แล้วจะกินอะไร” ให้แง่มุมต่างๆไปบ้างแล้ว แต่ยังไกลตัวไกลความคิด ไม่ง่ายๆตรงๆ ไปขุดมันขุดกลอยมาเจี๊ยะทำได้ทั้งอาหารคาวและของหวาน มันโยงคิดให้เห็นว่า ในยามปกติพืชหัวเหล่านี้ผลิตขายเป็นรายได้เสริมอย่างดีเชียวแหละ ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแล ปราศจากโรครบกวน ยกเว้นชาวบ้านแอบมาขะโมย แต่ก็มีข้อดีอีก คนยุคใหม่ไม่รู้จักกลอย ไม่รู้วิธีทำกิน จึงยังไม่เป็นปัญหามากนัก งานนี้เป็นการสร้างงานในช่วงว่าง จะขุดพืชหัวได้ตั้งแต่เดือน ตุลาคม-มีนาคม

ผมเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ

กลอยหรือมันเลือด 1 หลุม ที่บำรุงใส่ปุ๋ยดีๆ จะได้ผลผลิตเท่ากับข้าวสาร 20 ก.ก.

โห ชาวบ้านกว่าจะทำนาได้ข้าวเปลือก 1 กระสอบปุ๋ย

เราปลูกกลอยต้นเดียวก็ได้คาร์โบไฮเดรทเท่ากันหรือมากกว่า

ข อ ยื น ยั น นั่ ง ยั น ว่ า เ ป็ น ไ ป ไ ด้ แ น่ น อ น

ปลูกทิ้งปลูกขว้างหลุมเดียวยังได้หัวกลอย 40-50 ก.ก.

ถ้าจะมาพิสูจน์ก็พร้อมนะอุ้ย จะแจกจอบแจกเสียมขุดให้เห็น

ผมจะได้ชวนทีวีรายการอาหารบ้านทุ่งมาถ่ายทำ

เร็วๆนี้ ทีวีช่องไทยบีเอส จะมาถ่ายเตาหลุมฟืนที่คอนแนะนำ

โจทย์ที่ชวนระรี่ระริก

เนื้อที่ 1 ไร่ ปลูกไม้ยืนต้น ประดู่ แดง กระถินเทพา ยางนา ฯลฯ

ต้นไม้มีอายุ 2 ปี ก็ลงมือเอากลอย มันมะพร้าว มันมือเสือ ไปปลูกที่โคนต้น

ปีที่3 ขุดขึ้นมาประเมินผลผลผลิต ทดลองการแปรรูปในแบบต่างๆ

ปี 2455 ทำจะทำแปลงสาธิต/วิจัย (รวบรวมพันธุ์ทั่วประเทศมาปลูก/เจาะหลุมใส่ปุ๋ย/ขุดต้นเล็กปลูกให้เต็มแปลง)

ปี 2555 เป็นต้นไป รวมรวมเมล็ดมาเพาะชำในถุง

จะได้รู้ว่า ..ปลูกกลอย เผือก มัน ก็มีของกิน มีงาน มีรายได้ ไม่แพ้การทำนา  บางที่จะดีกว่าด้วยในแง่ที่ไม่เสี่ยงเหมือนการทำนา ไม่ทำนาก็มีอาหารบริโภค บางท่านอาจจะแย้งว่าไม่กินข้าวอยู่ได้รึ โธ่ มนุษย์ในส่วนอื่นเขา กินขนมปัง กินแป้ง กินบะมี่ กินมาม่า แต่คนไทยไม่คุ้นชินจะต้องกินข้าวๆๆ ก็ไม่ว่ากัน ทุกวันนี้พฤติกรรมการบริโภคอาหารของมนุษยชาติเปลี่ยนไป อะไรๆก็จะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น หลากหลายขึ้น ยามเกิดวิกฤติถึงจะรู้สึก >>

มาช่วยกันทำเรื่อง กลอยเฉยๆ ให้เป็นเรื่อง สาวน้อยกลอยใจ ดีไหมครับ

ปีหน้า เจอกันแน่ การทำนาในป่าไม้ แข่ง กับการทำนาในท้องทุ่ง

ไม่แน่นะครับ >> ปลูกต้นไม้ เลี้ยงแพะ ปลูกพืชหัวต่างๆนี่แหละ

จะเป็นทางเลือกทางวิจัยไทบ้านที่จ๊าบส์สุดๆเด้อนางเด้อ  อิ อิ..

ปล.ท่านให้มีข้อมูลกลอย กรุณาอุปการะข้อมูลด้วยนะครับ


นัดพบปะจ๊ะจ๋าเฮฮาศาสตร์ดีไหมครับ?

อ่าน: 2165

ถามว่า>> มาสวนป่ามีอะไรทำ?

ไม่มีใครเขาถามหรอกนะครับ

ผมถามตัวเอง เพราะที่นี่เราต้องสร้างงานเอง

ถ้าคิดสร้างงาน..จะตกงานได้ยังไงละเธอ

มีเรื่องให้ทำเยอะไปหมด

งานเร่งด่วน งานเร่งไม่ด่วน  และ งานพร้อมทำเมื่อใจเบิกบาน

กำลังปั้นต้นฉบับ “โมเด็ลอีสาน” ต๊อกๆๆๆๆ

ช่วงนี้หรือครับ

มีงานเข้าคิวยาวเยียดไปถึงโน่น โน้นนนน >>>

  1. ทำรั้วล้อมบริเวณเลี้ยงแพะ ซื้อหาแม่แพะนมพันธุ์ชาแนลเลี้ยง 5 ตัว เพื่อปรับปรุงพันธุ์/ขยายพันธุ์ ศึกษาการเลี้ยง/การผลิตนมแพะ -ปลูกพืชอาหารแพะ -ปรับปรุงโรงเลี้ยงแพะ/เตรียมปีกไม้ไว้เยอะๆ เป็นโครงการวิจัยไทบ้านงานโปรตีนในอนาคต ตั้งเป้าจะผลิตแพะเนื้อแพะนมแบบผสมผสาน ที่เหมาะกับทักษะและความสามารถระดับชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้คิดให้ทำ อ้อ ยังมีขี้แพะอีกนะครับ นอกจากจะทำปุ๋ยได้ชัวร์ป๊าบแล้ว อยู่ในหมวด “แพะโปรตีนในอนาคต”
  2. เตรียมเผาถ่าน เพื่อผลิตเป็นถ่านผง เอาไปบำบัดน้ำเสีย ดับกลิ่น ต้องพิจารณาค่าแรง วัตถุดิบ การบรรจุ การขนส่ง การจำหน่าย การโม้ขาย ถ่านผงที่ว่านี้ หลังจากใช้ดับกลิ่นแล้ว ยังเอาเกล็ดถ่านไปเพาะปลูกต้นไม้ บำรุงดินในสวนไม้ดอก แปลงหญ้าหลังน้ำท่วม เลี้ยงกล้วยไม้ ทำเชื้อเพลิง ถ้าเป็นที่ต้องการมากๆ เราจะวางแผนผลิตทั้งปี อิ อิ อยู่ในหมวด “การสร้างงานเชิงรุก”
  3. เตรียมผลิตปุ๋ย ใช้มูลสัตว์80%ผสมขี้เถ้าจากโรงงานผลิตไฟฟ้า20%ใช้น้ำควันไม้/น้ำปุ๋ยชีวภาพเป็นตัวผสม เตรียมเครื่องบดเครื่องผสม/สายพานลำเลียง ทดลองใช้เอง แล้วส่งเสริมการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์จากสวนป่า ชาวบ้าน ชาวสวน ชาวเมือง นำไปปรับปรุงแปลงสวนครัวหลังบ้าน ในกลุ่มงาน“ปุ๋ยอเนกประสงค์”
  4. นอกจากจะคัดพันธุ์เตรียมปลูกน้ำเต้ารุ่นใหม่แล้ว ผลน้ำเต้าแห้งปีที่แล้ว  ควรนำมาประดิษฐ์เป็นสินค้าที่ระลึกแบบใหม่ๆใช้บรรจุอาหารหรือของใช้ต่างทำแล้วต้องขี้โม้โฆษณาด้วยนะ ส่วนน้ำเต้ารุ่นใหม่ จะปลิดผลอ่อนที่มากเกินควรไปประกอบอาหาร ยอดอ่อนเอามาทำเมนูกะทะร้อน เมล็ดคัดพันธุ์บรรจุจำหน่ายส่งเสริมให้มีการปลูกทั่วประเทศ หรือยอดน้ำเต้าลวกแล้วเอามาอบแห้ง เนื้อน้ำเต้าเข้าเครื่องผลิตเส้นเหมือนเส้นบะหมี่ แล้วอบแห้ง บรรจุซอง ประทับตรา “มหาชีวาลัยอีสาน” ใครช่วยออกแบบโลโก้ให้หน่อย อิ
  5. ปรับปรุงแนวรั้วผักกินได้ เช่น แนวชะอมปลูกเสริม ต่อน้ำหยด ใส่ปุ๋ย ทำให้ถึงให้พอ ปรับปรุงแปลงสาธิตผักยืนต้นระบบชิด ไว้อวดคนที่มาดูงาน นอกจากนี้ยังต้องเตรียมเมล็ดพันธุ์ไม้ผักพื้นเมืองไว้ขยายผลด้วยนะเธอ อยู่ในหมวด “ปลูกทุกอย่างที่ขวางหน้า”
  6. ต่อน้ำหยดให้แปลงกล้วยที่ปลูกใหม่  ในหลุมกล้วยสำรอง เอาปลูกมะเขือ พริก กระเจี๊ยบแดง/เขียว ถั่วพุ่มไปปลูก อยู่ในหมวด “แผนงานขี้โม้แห่งชาติ”
  7. ปลูกผักในช่วงหนาวในแปลงวิจัย เน้นการบำรุงดิน ให้น้ำอย่างพอเพียง ซื้อหัวน้ำหยด ที่ตลาด อตก.มาเพิ่มเติม เน้นการประมวลผลการผลิตผักระดับครัวเรือน และระดับชุมชน ว่าควรจะปรับปรุงส่วนไหนอย่างไร เป็นงานในชุดวิชายกเครื่องทักษะและประสบการณ์ชีวิต อยู่ในหมวด “การจัดการความรู้ระดับชุมชน”
  8. เลื่อยไม้ แปรรูปไม้ เตรียมสร้างบ้านตัวอย่าง ขี้เลื่อยที่ได้ขนมาใส่คอกวัว ใช้วัวเป็นเครื่องมือในการผสมปุ๋ยและปรับปรุงปุ๋ยอินทรีย์แบบง่ายๆ อยู่ในหมวดงานส่งเสริม “กิจกรรมที่เหมาะกับคนขี้เกียวจ”
  9. ทำนั่งร้านตัวอย่างจากไม้ไผ่ 1 คู่ สูง 5 เมตร แล้วปลูกพริกเครือไต่ขึ้นโชว์ทางเข้า งานนี้อยู่ในกลุ่ม “ตบแต่งหน้าตาที่อยู่อาศัยให้ดูดี”
  10. เอาขอนตาลที่เหลือไปวางเรียงปลูกผักให้ครบถ้วน ปรับปรุงตอตาลที่วางไว้แล้ว โดยการเปลี่ยนพืชผักหมุนเวียน อยู่ในหมวด “ทำให้ดูอยู่ให้เห็น”
  11. ปรับปรุงรังผึ้ง ทำความสะอาดรังที่ว่าง เตรียมรองรับผึ้งป่าที่จะเข้ามาอาศัย ควรปลูกทานตะวันเสริมในช่วงแล้ง
  12. เตรียมซื้อฟางก้อนไว้เป็นอาหารเสริมให้วัว อยู่ในกลุ่มงานเชิงความคิด “มาม่าวัว”
  13. ทดลองเลี้ยงกบบนบ่อปลา วางกรงตาข่ายบนผักตบชะวา ศึกษาการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์และพื้นน้ำที่มีอยู่แล้ว ช่วงนี้เลี้ยงปลาเขียมรกตกับหอยเชอรี่ ถ้าจะเลี้ยงกบเสริมอีกอย่างจะดีไหม เป็นกลุ่มงาน “ดึงจินตนาการมาสู่จินตนากร”
  14. เอาที่อบแสงอาทิตย์ออกมาปรับปรุงให้เหมาะสมที่จะอบอบกล้วย อบผักทำผักแห้งหลายๆชนิด อีกหน่อยสะเดากลางดอนก็จะผลิดอกแล้ว อ่อบแซบ ยอดผักบุ้งจีน ยอดโสมเอามาอบๆๆๆให้ๆๆแห้งๆๆๆ อยู่ในหมวด “รีดน้ำส่วนเกินไว้เก็บส่วนกิน”
  15. ยังมีงานศึกษาเรื่องการผลิตน้ำมะกรูดเข้มข้น ปรับปรุงน้ำผลไม้ ทำยังไงจะเก็บไว้ได้นาน คุณภาพไม่ลด อร่อยคงเส้นคงว่า อยู่ในกลุ่ม “งานวิจัยที่ชิมได้” ตอนนี้แห้วกำลังคั้นๆๆชิมๆๆวิ่งเข้าห้องน้ำๆๆๆ ..สุขาสะดวก ไม่ต้องร้องหา สุขาอยู่หนไหนเหมือนคนกรุง อิอิ

(หน้าตายำพริกหยวกครับพี่น้อง)

ผมมีงาน (ไปโม้ให้นักศึกษาฟัง) ในโครงการบัณฑิตจิตอาสา ณ ศูนย์การเรียนรู้ฯจุฬาลงกรณ์ ที่ตำบลผาสิงห์ จังหวัดน่าน วันที่ 6 มกราคม 2555 จะต้องไปโต๋เต๋อยู่ที่โน่น 3-4 วัน จึงหารือมา เราจะจัดเฮฮาศาสตร์ที่จังหวัดน่านดีไหมครับ จะได้ข้ามไปเยี่ยมอาว์เปลี่ยนที่ประเทศลาวด้วย

อีกโปรแกรมหนึ่งจะต้องไปเป็นวิทยาการในการประชุมเรื่องการศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับชุมชน เป็นการประชุมระดับนานาชาติ ประเทศอื่นเขาพูดภาษาอังกฤษกันฉอดๆๆ ผมพูดได้แต่ภาษาไทย ภาษาลาว กะว่าจะหาพวกเรานี้แหละไปแปล เมื่อ4ปีที่แล้วจัดที่บางกอก ฝ่ายดำเนินการ(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) จัดหาล่ามมาแปลให้ แกเจอสำบัดสำนวน..ร้องโอ๊ก แต่ถ้าเอาคนที่คุ้นตาคุ้นใจในหมู่เฮาแปลน่าจะสนุกกว่า งานจัดวันที่ 12-15 มกราคม ที่จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ อ้าวลืม  กำลังเตรียมบทขี้โม้อยู่ครับ ผมไปอยู่เชียงใหม่หลายวัน รึเราจะจัดเฮฮาศาสตร์ในช่วงนี้

มีความเห็นประการใด ชูมือสูงๆ นะครับ ชิมิ ชิมิ


ความรู้คนละชุด

อ่าน: 1442

เราแต่ละคนมีความรู้อยู่ในตัวไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความถนัด ความชอบ นิสัย หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมาแต่อ้อนแต่ออก พอโตมาก็เข้าโรงเรียน เลือกเข้าคณะโน้นคณะนี้ แล้วก็ก้มหน้าก้มตาศึกษาหาความรู้จนมีความสามารถสอบเข้าไปทำงาน ทำงานแล้วก็ยังฝึกฝนทักษะ เข้ารับการอบรมสัมมนาอยู่เนืองๆ  เกิดเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ บางคนมีคำว่าพิเศษห้อยท้ายด้วย มีตำแหน่งก้าวหน้าเติบโตไปจนถึงวัยเกษียณ ส่วนคนที่ได้รับการศึกษาน้อย เอาแค่พออ่านออกเขียนได้ หลังจากนั้นก็ประกอบอาชีพการงานตามที่ครอบครัววางรากฐานไว้ หรือไม่ก็อพยพเข้าไปทำงานในเมือง ไปเป็นฉันทนาในโรงงงานต่างๆ เป็นแม่ค้าแม่ขายรถเข็น เป็นมอเตอร์ไซรับจ้าง ขับแท๊กซี่ เรียกรวมๆว่าไปประกอบสัมมาชีพในกลุ่มระดับแรงงาน

แต่ละบุคคลต่างก็ฝึกฝนวิชาความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในหน้าที่การงาน

คนในเมืองก็สะสมวิชาความรู้เพื่อใช้ในเมือง

คนในชนบทก็สะสมวิชาความรู้เพื่อใช้ในท้องทุ่งไร่นา

เส้นทางของการเรียนรู้ค่อยๆขยับเข้าหากันบ้างในบางจุด

แต่ก็ยังห่างกันอยู่มาก

เว้นแต่ระบบการศึกษาและการพัฒนาจะกระจายความเสมอภาพลงไปทั่วถึงทุกตารางพื้นที่

ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงเทพ อะไรๆ..คนกรุงต้องมาก่อน แม้แต่น้ำท่วมกรุงเที่ยวนี้ ก็ยังมีการแบ่งส่วนความสำคัญของพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมจะได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษ พื้นที่ไข่แดงได้รับการป้องกันเฝ้าระวังอย่างยิ่งยวด หมู่บ้านต่างๆ เรือกสวนไร่นาต้องอยู่ในภาวะจำยอม พวกชาวบ้านต้องยอมรับสภาพแบบน้ำท่วมปาก พูดไม่ได้ไอไม่ดังไม่มีอะไรไปต่อรอง ในเมื่อผู้มีอำนาจเป็นฝ่ายชอบธรรม ที่จะตัดสินเลือก..ที่รักมักที่ชัง ประชาชนตาดำๆจึงตกอยู่กับความทุกข์กระเสือกกระสน ถึงจะมีความพยายามที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ แต่วิกฤติเที่ยวนี้เป็นมหาอุกภัย ทำยังไงๆก็ไม่ทั่วถึง คนกรุงชั้นสองต้องงัดความรู้ที่มีอยู่บ้างออกมาช่วยตัวเองสุดฤทธิ์สุดเดช

เราจะเห็นว่า วิชาความรู้ที่อยู่ในตัวจำเป็นจะต้องมีความรู้เพื่อชีวิตและสังคมติดปลายนวมไว้บ้าง ไม่ควรประมาทกับการเรียนรู้ในเรื่องที่นอกเหนือหน้าที่การงานไว้บ้าง ยามเกิดเภทภัยต่างๆ ความรู้ที่ใช้ในการทำงานบางทีก็เอามาใช้ได้น้อยมาก วิชาประสบการณ์ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ คนที่มีความรู้ความถนัดรอบตัวมากๆจะช่วยเหลือตัวเองและคนอื่นได้มาก คนที่ไม่พัฒนาจะมีเงื่อนไขปิดกั้นตัวเอง

ไอ่นั้นก็ไม่ชอบ

ไอ่นี่ก็ไม่เคยกิน

ไอ่โน้นก็ไม่เคยทำ

การมีความรู้จำกัดเป็นความประมาทเหมือนกันนะเธอ

จากเหตุการณ์ที่คนไทยเผชิญช่วงเกิดมหาอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ ถ้ามองให้ดีเราจะเห็นว่านี่คือการประเมินศักยภาพของสังคมไทยโดยรวม และยังเป็นการประเมินความรู้ความสามารถส่วนครัวเรือนอีกด้วย ควรที่นักการศึกษา นักวิจัยและนักพัฒนาและเจ้าหน้าที่ทุกหมู่เหล่า จะพากันประเมินทบทวนต้นทุนความรู้ความสามารถของหน่วยงานหรือองค์กรที่รับผิดชอบ

โดยเฉพาะการสรุปวิเคราะห์ประเด็นการปรับต้นทุนความรู้จะออกแบบใหม่ออกแบบเสริมอย่างไร

ยกตัวอย่างเรื่องการระบายน้ำด้วยอุโมงค์ยักษ์ เรื่องรถใต้ดิน รถไฟฟ้าBTS.รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง

ถ้ามันดีมีประสิทธิภาพจริงก็ควรจะวางแผนสร้างขยายให้เพียงพอ

เพื่อสร้างความชัดเจนแนวทางป้องกันให้คนบางกอกอุ่นใจและไว้ใจ

การที่รัฐฯ..บอกว่าอย่าวิตก เตรียมตัวไว้อย่าประมาท

ไม่ใช่วิธีที่แก้ปัญหาหรือช่วยอะไรได้เลย

ประชาชนต้องการได้ยินคำพูดที่มีน้ำหนักเชื่อถือเชื่อใจและอุ่นใจได้

ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ๆมีความเสี่ยงต้องการสิ่งนี้

จำเป็นที่รัฐฯจะต้องแสดงแบบแผนเชิงนโยบายที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะให้ความไว้วางใจ

จากการเตรียมความรู้ไว้บ้างเล็กๆน้อยๆ เช่น การปลูกต้นไม้ในรูปแบบต่างๆ ผมมีข้อจำกัดเรื่องอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งดินทราย เก็บน้ำผิวดินไม่ได้ สร้างสระน้ำก็ไม่ได้ น้ำซึมหายหมด จึงเลือกปลูกไม้หัวแข็งแล้วค่อยแทรกไม้พื้นเมืองลงไป แปลงปลูกไม้โตเร็ว แปลงปลูกยาพาราที่นี่ จึงดูประหลาดกว่าทุกแห่ง ด้วยมีแนวความคิดที่ว่า ถ้าเราสังเกตป่าไม้ธรรมชาติทั่วไป เราจะไม่เห็นป่าเชิงเดี่ยวเกิดขึ้นบนผืนพิภพนี้ นั่นแสดงให้เห็นถึงหลักการของธรรมชาติที่สร้างกลไกความหลากหลาย เป็นตัวเสริมส่งซึ่งกันและกัน

ชุดความรู้เรื่องการปลูกป่าไม้ภาคเอกชน น่าเสียดายมากที่ปลูกเพื่อต้องการรายได้อย่างเดียว คิดว่าการปลูกยางพารา ปลูกยูคาลิปตัส ปลูกไม้อาคาเซีย หรือแม้แต่การทำไร่ ก็เน้นการปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อยอย่างเดียว ความสำคัญอยู่ที่การตั้งประสงค์ว่าจะเอาอะไร ถ้าต้องการเงินอย่างเดียว อย่างอื่นไม่เกี่ยวก็น่าเศร้า การปลูกพืชที่ผิดไปจากระบบธรรมชาติ เราอาจจะได้ผลผลิตมากแต่ที่ดินก็เสื่อมโทรมมากขึ้น ถ้าทำเพิ่มขึ้นอีกหน่อย ถึงจะไม่สมบูรณ์มากนัก แต่ก็ช่วยชะลอความเสียหายจากการปลูกพืชชนิดเดียว

แปลงป่าไม้โตเร็วของที่นี่

จึงมีการปลูกไม้ยืนต้นประเภทอื่นแทรกลงไปด้วย

เพื่อจะอธิบายว่า..วิธีนี้ทำที่ถูกต้องเป็นเช่นไร

และ ..เหตุผลที่ดีก็คือ นอกจากจะเลียนแบบธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกได้อีกด้วย ถ้าศึกษาเพิ่มเติมอีกหน่อย เราก็จะเห็นว่าผืนป่าของเราเป็นที่บ่มเพาะทุนชีวภาพ มีเห็ด มีผักพื้นถิ่น มีแมลง นก ต่างๆเพิ่มขึ้นๆ ต้นไม้ที่ปลูกแทรกไว้นั้น ตัดเอาเฉพาะกิ่งและใบมาทำเชื้อเพลิงและเลี้ยงสัตว์ นอกจากการสร้างงานแล้ว ยังพึ่งตนเองเรื่องปุ๋ยมูลสัตว์ มีไม้เผาถ่านทำเชื้อเพลิง สิ่งที่มองง่ายๆนี่แหละถ้าไม่คิดไม่ทำให้สอดคล้องกัน ชาวบ้านก็จะต้องเสียเงินเสียเวลาไปซื้อปุ๋ยและใช้ยาฆ่าแมลงมากขึ้นๆ

ความรู้ที่ไม่พอเพียงไม่สามารถอธิบายความเพียงพอได้

ผมมีปัญหาเรื่องที่จะอธิบายแนวทางเหล่านี้

เพราะกระแสบ้าเงินมันแรงเหลือเกิน

ทั้งๆที่ทำแบบเราก็ใช่ว่าจะได้เงินน้อยกว่ารึก็ไม่ใช่

มันยังได้ความหลากหลาย ความยั่งยืน ที่พวกปลูกพืชเชิงเดี่ยวไม่โงหัวฟัง

ทำอย่างไรชาวสวนยางพาราจะปลูกยาง3แถว ปลูกไม้พื้นถิ่นแทรก1แถว

อย่าว่าแต่ชาวสวนยางเล๊ยยย แม้แต่องค์การสวนยางก็ไม่คิดประเด็นเหล่านี้

ยังฝึกอบรมชุดความรู้แข็งกระด้างอย่างดื้อดึง

ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนอย่างแท้จริง

สักวันคงจะลมพายุพัดสวนยางล้มระเนระนาด

เรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับต้นไม้นี่ยากจริงๆนะเธอ

แม้แต่โฉมยงเองก็สั่งให้คนงานตัดต้นไม้โตๆข้างบ้านไปหลายต้น ต้นมะขาม ต้นมะม่วงหิมพานต์ ต้นมะกล่ำอายุนับสิบปี ให้ร่มเงาให้ดอกให้ผลมาแล้วด้วย เพียงอ้างว่าใบมันหล่นใส่หลังคาบ้าน เห็นวิธีแก้ปัญหาแล้ว..ปวดหัวใจ ทำไมถึงไม่คำนึงถึงอายุและเวลาต้นไม้กว่าจะโตได้ ผมยังต้องมาอธิบายให้พี่ๆน้องๆเข้าใจว่าทำไมถึงปลูกไม้อื่นแทรกไม้โตเร็ว เขามองว่ามันได้เงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าปลูกเต็มพื้นที่ล้วนๆน่าจะอู้ฟู่มากกว่า แต่อย่างว่าละครับ คนไม่ได้ปลูกกับมือเขาไม่รู้อะไรหรอก ผมละอยากให้น้ำท่วมพวกนี้ตาช้กกว่านี้อีกสักพันเท่าจังเลยยย

ยากจริงๆครับ ที่จะอธิบายเรื่องมูลค่ากับคุณค่าสามารถทำร่วมกันได้

จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เที่ยวนี้ คนบางกอกอาจจะคิดลู่ทางเผ่นออกมาหาพื้นที่ปลอดภัยกว่าที่อยู่เดิม เรื่องนี้ช้าไม่ได้แล้ว ข้อมูลเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงจะขาดแคลนภายในระยะเวลา20-30ปีข้างหน้า นักอุตสาหกรรมต่างชาติออกมากว้านพื้นที่เพาะปลูกในย่านเอเซียหลายปีแล้วละครับ ประเทศพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ถูกนายทุนต่างด้าวเข้ามาทำสัญญาเช่าระยะยาวไปจำนวนมาก เขาเหล่านี้ต้องการเอาพื้นที่การเกษตรมาปลูกพืชพลังงานทดแทน ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตราคาอาหารจะแพงและขาดแคลน ความมั่นคงด้านอาหารก็จะคลอนแคลนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แล้วประเทศไทยเรานี่ละจะเป็นอย่างไรบ้าง

ที่ดินเปลี่ยนมือให้ต่างด้าวไปไม่น้อยในรูปแบบหุ้นส่วนข้ามชาติ

นอกจากจะระดมปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวแล้ว

พื้นที่ป่าภูเขาก็มีคนเข้าไปสร้างรีสอร์ท

ป่าไม้ถูกลักลอบตัด

ป้องกันให้ตายก็เอาไม่อยู่หรอกนะครับ

ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ไม้พยุง ขึ้นราคามากเท่าใด

ป่าไม้ก็ยับเยินขึ้นมากเท่านั้น

คนไทยมีชุดความรู้เปราะบางที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและประเทศชาติ

ไทยจะล่มจม ก็  เ พ ร า ะ พี่ ไ ท ย นี่ แ ห ล ะ ก ด หั ว กั น เ อ ง

ความรู้ สำนึก สติปัญญา แห่งชาติอยู่ในระดับ > >

ยิ่งรัก ก็ยิ่งชังขึ้นทุกที

จ๋อม จ๋อม จ๋อม


ฉุกคิด! ฉุกคลิ๊ก!

อ่าน: 1344

ก่อนฝนตกใหญ่..ฝูงมดแก้ปัญหาอย่างไร อ พ ย พ กั น ไ ป ที่ ไ ห น  มีใครแนะนำ มีใครวางแผน เนื่องจากสังคมมดเป็นแบบไปไหนไปด้วยกัน อพยพแบบยกโขยง ทำ ไ ม เ ลื อ ก ข น ไ ข่ ไ ป ด้ ว ย  ทำ ไ ม ไ ม่ ห นี ไ ป แ ต่ ตั ว  แล้วค่อยไปอออกไข่เอาใหม่  มดไม่สมบัติใดๆให้ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง เมื่อลูกพี่สั่งย้าย ทุกคนก็บ่ายหน้าเดินทางอย่างเป็นระเบียบแข็งขัน ที่สำคัญก็คือกองทัพมดเหล่านี้ อพยพก่อนที่ภัยจะมาถึง ทำไมมดจึงมีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เทคโนโลยีของมนุษย์ยังด้อยกว่าของมดมากนัก

ยังมีมดบางประเภทที่ไม่เดือดร้อนกับน้ำท่วม

เพราะไปทำรังอยู่บนต้นไม้

จะลำบากบ้างตอนที่มีลมกระโชกแรง

มดแดงเป็นมดที่สุภาพสตรีทั่วโลกอิจฉา

เพราะเอวมาตรฐาน เคยเห็นมดแดงตัวไหนลงพุงไหมละครับ

จุดเด่น >> อพยพล่วงหน้า ยกโขยงขนไข่ไปด้วย รู้จุดที่ปลอดภัยไปอาศัยพักพิง ถึงจะมีคำพังเพย น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา แสดงว่ามดบางกลุ่มที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ น้ำท่วมมาก็หนีขึ้นต้นไม้ใบหญ้า แต่ก็คงจะมีบางตัวที่ถูกลมพัด หรือหนีไม่ทัน มดตัวเบาลอยน้ำได้ จึงตกเป็นเหยื่อของปลา ตัวที่ลอยไปเกาะต้นไม้รอดชีวิต น้ำลดก็จะมาเอาคืนปลาที่แถกตายค้างโคก

ก่อนน้ำท่วมพื้น ไส้เดือน ตะขาบ กิ้งกือ รู้ตัวล่วงหน้าก่อนไหม มี ศู น ย์ เ ตื อ น ภั ย ห รื อ ร ะ บ บ เ ตื อ น ภั ย ห รื อ เ ป ล่ า ท่านยึกยือเหล่านี้หนีภัยน้ำท่วมอย่างไร ก็คงมีบ้างที่ประสบเคราะห์กรรม ส่วนใหญ่เราจะเห็นวิธีเอาตัวรอด อ พ ย พ ไ ป แ ต่ ตั ว  แบบตัวใครตัวมัน ไม่ห่วงใยญาติโกโหติกาใดๆ ทุกท่านตกลงกันว่าต่างตัวต่างไป ถ้าพ้นภัยค่อยมาจี๋จ๋ากันใหม่ แพร่สายพันธุ์ให้อยู่ยงคงกระพันกันต่อไป

จุดเด่น >> ตระกูลท่านยึกยือจะอพยพแบบตัวใครตัวมัน มีกติกาว่า..ถ้าแยกกันหนีน่าจะสะดวกและไปได้เร็ว แต่ก็สังเกตเห็นว่า..สัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นต่ำผิวดินเหล่านี้  จะมีรหัสพิเศษ มักจะหนีไปหาที่ปลอดภัย ไม่มีตัวไหนลังเลแม้แต่นิดเดียว ตัดสินใจเด็ดขาด ไม่สงสัยในระบบสื่อสารกับธรรมชาติ กลุ่มยึกยือโผล่ออกมาจากหลุม พากันวิ่ง ดิ้นกระแด่วคลืบคลานไปยังทิศทางที่ปลอดภัย แปลกแท้ๆทั้งที่ ไม่ มี ตา ม อ ง ไ ม่ เ ห็ น แต่ไส้เดือนก็เดินไปยังทิศทางที่เหมาะสม ไม่ต้องอาศัยโทรศัพท์ โทรทัศน์ ป้ายชี้บอกทิศ ระบบในตัวมีประสิทธิภาพอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นความรู้ที่พอเพียง พึ่งตนเองได้ในยามวิกฤติจริงๆ

ก่อนฝนท่วมใหญ่จะมาถึง ปลาหมอท้องแก่ที่อั้นไว้นานเต็มที วันที่อากาศจะร้อนจัด ท้องฟ้าแดดเปรี้ยง เค้าเมฆทะมึนมาแต่ไกล ท่านเชื่อไหมครับ แ ม่ ป ล า ห ม อ จ ะ พ า ก า ร ดิ้ น ก ร ะ แ ด่ ว ๆ ขึ้ น จ า ก ห น อ ง น้ำ ผ่านพื้นที่แห้งผากร้อนระอุตอนกลางวันนี่แหละ ทุกตัวตรงไปยังแม่น้ำ มากันเป็นฝูงเลยนะ แปลกแท้ๆ ป ล า ห ม อ รู้ ไ ด้ อ ย่ า ง ไ ร ว่ า จ ะ ต้ อ ง ไ ป ยั ง ทิ ศ ไ ห น รู้ระยะทางได้อย่างไร ก่อนหน้านั้นทำไมไม่พากันอพยพไปก่อน ทำไมต้องรอเดินทางในสภาพที่ไม่พร้อมเช่นนี้

จุดเด่น >> ปลาที่จับได้มีไข่เต็มท้อง เราไม่ค่อยเจอปลาเพศผู้อพยพในลักษณะนี้ หรือปลาตัวผู้หลบหนีไปก่อนหน้าแล้ว ปลาท้องแก่ น่าจะอุ้ยอ้ายกว่าปลาท้องว่าง แสดงว่าการอพยพแบบมีไข่ในท้องคงมีเหตุผลที่เราไม่รู้ เหมือนกับมดขนไข่ ทำไมไม่ไปไข่เอาใหม่ ที่สังเกตเห็นอีกเรื่องหนึ่ง ปลาจะอพยพตอนหัวลมหนาวมาครั้งแรกๆ ปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำขนาดเล็ก คงรู้ตัวว่าน้ำจะเหือดแห้ง จึงตัดสินใจอพยพไปหาแหล่งน้ำใหม่ ปลาอาศัยกลิ่นจากแห่งน้ำใหญ่เป็นเครื่องบอกทิศ จึงกระโดดขึ้นจากแอ่งน้ำเหือดยามค่ำคืน ดิ้นกระแด่วไปยังทิศแม่น้ำ ชาวนาจับเคล็ดลับนี้ได้ พากันไปขุดหลุมลึกประมาณ1ศอก ดักหน้ามุมที่ปลาจะขึ้น แล้วไปดำน้ำเอาโคลนจากแม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียงมาลูบปากหลุมที่ขุดไว้ ปลาได้กลิ่นก็พากันออกเดินไปตกหลุมนอนกองกัน ปลาที่เข้าเครื่องมือดักปลารูปแบบต่างๆ ล้วนมีความรู้ไม่พอใช้ ทำให้แพ้ภัยมนุษย์ขี้โกง

ก่อนฝนท่วมใหญ่ ปลวกที่อาศัยอยู่ใต้ดิน จะมีวิธีอุดรูภายในรังหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบได้ สังเกตเห็นว่า จอมปลวกบางแห่งก็ยังอยู่เย็นเป็นสุขต่อมาได้ แสดงว่าในระหว่างที่น้ำท่วมผิวติน ระบบดินใต้น้ำไม่อันตรายต่อปลวกมากนัก ถ้าน้ำไม่ท่วมถาวรปลวกก็ยังพอประคองตัวอยู่ได้ ยังมีปลวกบางชนิดจะอพยพขึ้นไปอาศัยอยู่บนต้นไม้ ไปทำรังเป็นก้อนกลมๆสีดำอยู่ตามคาคบต้นไม้ กลายเป็นปลวกที่ปลอดภัยกว่าประเภทอื่น ถ้าเปรียบกับนุษย์คงจะเทียบได้กับพวกที่อาศัยอยู่บนคอนโดกระมัง

จุดเด่น >> ปลวกเหมือนกัน แต่มีวิธีแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน วิทยาการของปลวกมีหลากหลาย อยู่ที่สายพันธุ์ไหนจะเลือกฝึกฝนทักษะให้เหมาะสมกับชาติพันธุ์ของตนเอง เรื่องนี้สังคมมนุษย์ก็คล้ายๆกับปลวก ประเทศฮอลแลนด์อยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเล ก็มีวิธีต่อสู้กับสภาพแวดล้อม ณ ที่ตรงนั้น ฟิลิปปินส์เจอมรสุม ไต้ฝุ่น ทั้งปีทั้งชาติ ก็มีชุดความรู้สู้ภัยพิบัติของเขาเอง ประเทศญึ่ปุ่นประเทศอินโดนีเซียตั้งอยู่บนรอยเลื่อนไหลของเปลือกโลก จึงเจอแผ่นดินไหวอยู่เนืองๆ งานด้านปกป้องภัยพิบัติจึงเป็นวาระแห่งชาติ เขาไม่เอาเวลามีค่าของสังคม มาทำเรื่องแยกค่ายแยกสีตีกันเผาบ้านเมืองเหมือนพวกสิ้นคิดในบางประเทศ ยามประเทศเกิดภัยพิบัติจึงไม่มีระบบอะไรมาบริหารจัดการภัยพิบัติ

ถ้าเราเรียนรู้จากสัตว์หลายๆประเภท

เราจะเห็นระบบชีวิตและสังคมที่น่าทึ่งในเหตุผลของการพึ่งตนเอง

ซึ่งต่างจากมนุษย์เราที่อ้างว่าฉลาดมีความรู้ มีทรัพย์สมบัติ

ยามเกิดภัยพิบัติเราจะเห็นวิธีแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างน่าเวทนา

ที่อ้างว่าเจริญและมีความสมบูรณ์พูนสุขเป็นแค่ภาพลวงตาที่เปราะบาง

โครงสร้างสังคมของมนุษย์ยังห่างชั้นสังคมของสัตว์ตัวเล็กๆมากนัก

โดยภาพรวม มนุษย์ยังไม่มีความรู้ที่สะอาดพอจะมาชำระจิตใจกระดำกระด่าง..

จ๋อม จ๋อม จ่อม >>



Main: 0.14043784141541 sec
Sidebar: 1.4028370380402 sec