กลอยในใจ

อ่าน: 2338

หมู่นี้ทำท่าจะเป็นโรคกลัวน้ำไปกับเขาด้วย

ได้ยินแต่ข่าวประกาศ พื้นที่จุดโน้นอพยพ จุดนี้ต้องอพยพ

จะพากันไปกระจุกตัวอยู่จุดไหนของโลกใบนี้หนอ

ตอนบ่ายเลขา อาจารย์วรภัทร กริ๊ง! มาให้คุยกับอาจารย์

เสียงหัวเราะต้นฉบับคิ๊กๆคั๊กๆ มาก่อน

หลังจากเจรจาต้าอวยกัน ..อาจารย์บอกว่าบางทีวันศุกร์นี้อาจจะแวบมาหา

ผมเตรียมเรื่องเจรจา และพาไปดู

ให้เห็นว่ามีแง่คิดอะไรผุดพรายขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะพืชหัวใต้ดิน

บ่ายแก่ๆชวนป้าสอนกับลูกมือลากรถเข็นและจอบเสียม ไปยังสวนข้างบ้านที่ปลูกต้นกลอยไว้2-3ปีแล้ว กลอยเป็นพืชอายุปีต่อปี ปีแรกๆที่ปลูกแต่ละกอจะให้ผลผลิตไม่มากนัก ประมาณหลุมละ 10 ก.ก. ถ้าปล่อยไว้ปีที่2 บางต้นที่สมมบูรณ์อาจจะให้ผลผลิตได้ถึง50 ก.ก. เรื่องอย่างนี้ต้องขุดให้เห็นกับตา แม่เจ้าโวย..ทำไมมันง่ายอย่างนี้ หัวกลอยจะจับก้อนอยู่เรี่ยผิวดิน อยู่ตื้นๆแต่หัวใหญ่ บางหัวก็แทรกเข้าไปใต้รากไม้ เล่นเอาจอบกับเสียงหักไปอย่างละด้าม ขุด 3 ต้นได้กลอยมา 1 รถไสน้ำ

เหลือเชื่อจริงๆ  ไม่นึกมาก่อนว่าผลผลิตจะมากขนาดนี้

พอที่จะแข่งกับการปลูกพืชอาหารอย่างอื่นได้เลยละครับ

ผมได้คืบจะเอาศอก >> แล้วยังไงต่อ

1 ขยายปลูกกลอยกับมันเลือดมาก

2 เอาปุ๋ยคอกไปใส่ต้นต้นละ 1 กระสอบ

3 ทดลองหาวิธีล้างพิษใหม่ ทำให้แห้งเก็บไว้นาน ลองทำอาหารเมนูใหม่

4 ทดลองเอากลอยมาผลิตเป็นแป้งไว้ทำขนม ผสมอาหารอื่นๆ หรือทำเป็นข้าวเกรียบ

5 ทดลองเอาน้ำหมักกลอยไปรดไล่ปลวก ผมอาจจะผลิตยาฆ่าปลวกยี่ห้อใหม่ก็ได้นะ อิอิ

เท่าที่ประเมินผลหยาบๆ

ไม้ยืนต้น 1 เอาต้นกลอยไปปลูกได้ผลผลิตต้นละ 20 ก.ก

ถ้าปลูกไม้ยืนต้นไร่ละ 60 ต้น X20 ก.ก.  = 1,200 ก.ก.

ถ้าปลูก10 ไร่ 600 ต้น X  20 ก.ก. =12,000 ก.ก .

ถ้าช่วยกันปลูก 100 ไร่  = 100X60X20 =120,000 ก.ก.

ถ้าปลูกบริโภคเองไว้แบ่งปันเพื่อนบ้าน ก็ไม่ต้องไปปลูกแบบเป๊ะๆก็ได้ มีต้นไม้ข้างบ้านตรงไหนก็ไปปลูกแทรกลงไว้ ผสมผสานไปทั้งพื้นที่ อย่างที่ผมทดลองทำกับเสาวรสเพียงไม่กี่ต้น แห้วก็เก็บมาคั้นน้ำจนเอวหวานตาหวานไปแล้ว ถ้าเปลี่ยนให้มาขุดเผือกขุดมันสลับบ้างเอวคงกลับคืนสภาพเดิม จุดสำคัญอยู่ที่ การปลูก ช่วยการปลูก ปลูกๆๆ ทุกอย่างก็จะมีเรื่องให้ทำต่อๆๆไปอีกเยอะแยะ

ผมสังเกตเห็นว่าพื้นที่รอบๆหัวกลอย ที่ดินจะร่วนซุยไม่ได้แข็งกระด้างอย่างพื้นที่ทั่วไป เป็นไปได้ไหมที่กลอยกับต้นไม้จะมีส่วนเอื้อต่อกัน ที่สำคัญมันช่วยสนับสนุนเรื่อง “การปลูกต้นไม้แล้วจะกินอะไร” ให้แง่มุมต่างๆไปบ้างแล้ว แต่ยังไกลตัวไกลความคิด ไม่ง่ายๆตรงๆ ไปขุดมันขุดกลอยมาเจี๊ยะทำได้ทั้งอาหารคาวและของหวาน มันโยงคิดให้เห็นว่า ในยามปกติพืชหัวเหล่านี้ผลิตขายเป็นรายได้เสริมอย่างดีเชียวแหละ ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแล ปราศจากโรครบกวน ยกเว้นชาวบ้านแอบมาขะโมย แต่ก็มีข้อดีอีก คนยุคใหม่ไม่รู้จักกลอย ไม่รู้วิธีทำกิน จึงยังไม่เป็นปัญหามากนัก งานนี้เป็นการสร้างงานในช่วงว่าง จะขุดพืชหัวได้ตั้งแต่เดือน ตุลาคม-มีนาคม

ผมเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ

กลอยหรือมันเลือด 1 หลุม ที่บำรุงใส่ปุ๋ยดีๆ จะได้ผลผลิตเท่ากับข้าวสาร 20 ก.ก.

โห ชาวบ้านกว่าจะทำนาได้ข้าวเปลือก 1 กระสอบปุ๋ย

เราปลูกกลอยต้นเดียวก็ได้คาร์โบไฮเดรทเท่ากันหรือมากกว่า

ข อ ยื น ยั น นั่ ง ยั น ว่ า เ ป็ น ไ ป ไ ด้ แ น่ น อ น

ปลูกทิ้งปลูกขว้างหลุมเดียวยังได้หัวกลอย 40-50 ก.ก.

ถ้าจะมาพิสูจน์ก็พร้อมนะอุ้ย จะแจกจอบแจกเสียมขุดให้เห็น

ผมจะได้ชวนทีวีรายการอาหารบ้านทุ่งมาถ่ายทำ

เร็วๆนี้ ทีวีช่องไทยบีเอส จะมาถ่ายเตาหลุมฟืนที่คอนแนะนำ

โจทย์ที่ชวนระรี่ระริก

เนื้อที่ 1 ไร่ ปลูกไม้ยืนต้น ประดู่ แดง กระถินเทพา ยางนา ฯลฯ

ต้นไม้มีอายุ 2 ปี ก็ลงมือเอากลอย มันมะพร้าว มันมือเสือ ไปปลูกที่โคนต้น

ปีที่3 ขุดขึ้นมาประเมินผลผลผลิต ทดลองการแปรรูปในแบบต่างๆ

ปี 2455 ทำจะทำแปลงสาธิต/วิจัย (รวบรวมพันธุ์ทั่วประเทศมาปลูก/เจาะหลุมใส่ปุ๋ย/ขุดต้นเล็กปลูกให้เต็มแปลง)

ปี 2555 เป็นต้นไป รวมรวมเมล็ดมาเพาะชำในถุง

จะได้รู้ว่า ..ปลูกกลอย เผือก มัน ก็มีของกิน มีงาน มีรายได้ ไม่แพ้การทำนา  บางที่จะดีกว่าด้วยในแง่ที่ไม่เสี่ยงเหมือนการทำนา ไม่ทำนาก็มีอาหารบริโภค บางท่านอาจจะแย้งว่าไม่กินข้าวอยู่ได้รึ โธ่ มนุษย์ในส่วนอื่นเขา กินขนมปัง กินแป้ง กินบะมี่ กินมาม่า แต่คนไทยไม่คุ้นชินจะต้องกินข้าวๆๆ ก็ไม่ว่ากัน ทุกวันนี้พฤติกรรมการบริโภคอาหารของมนุษยชาติเปลี่ยนไป อะไรๆก็จะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น หลากหลายขึ้น ยามเกิดวิกฤติถึงจะรู้สึก >>

มาช่วยกันทำเรื่อง กลอยเฉยๆ ให้เป็นเรื่อง สาวน้อยกลอยใจ ดีไหมครับ

ปีหน้า เจอกันแน่ การทำนาในป่าไม้ แข่ง กับการทำนาในท้องทุ่ง

ไม่แน่นะครับ >> ปลูกต้นไม้ เลี้ยงแพะ ปลูกพืชหัวต่างๆนี่แหละ

จะเป็นทางเลือกทางวิจัยไทบ้านที่จ๊าบส์สุดๆเด้อนางเด้อ  อิ อิ..

ปล.ท่านให้มีข้อมูลกลอย กรุณาอุปการะข้อมูลด้วยนะครับ


เปาฮือลาว

อ่าน: 3814

ช่วงที่น้ำหลาก ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานปรับตัวไปตามสถานการณ์  โดยเฉพาะอาหารการกิน คนอีสานกินง่าย กินทุกอย่างที่วิ่งตัดหน้า มีคนเอาไปพูดว่า..อะไรวิ่งตัดหน้าคนอีสานเอามาทำกับแกล้มได้หมด แสดงว่าวิชาเปิบพิศดารคงจะมาจากฝีมือพ่อครัวชาวอีสานนี่เอง ผมได้เฝ้าสังเกตุเรื่องนี้จากห่อข้าวของคนงาน ช่วงกลางวันเขาจะตั้งวงกินข้าวปลากัน ใครมีอะไรก็เอามาแบ่งปัน คนที่อยู่ในที่ลุ่มก็เอากุ้ง หอย ปูปลา มาทำอาหารเลี้ยงกัน กระทั้งวันไหนที่ไม่ได้ห่ออะไรมา ก็จะไปสับเอาหน่อไม้มาต้มจิ้มน้ำพริก เอามะละกอมาทำส้มตำ อร่อยซู๊ดซาดผ่านไปมื้อหนึ่ง

(จุดรีๆสีขาวคือตาที่ต้องผ่าออก หอยบางตัวจะมีไข่สีแดงส้มๆ)

เมื่อวานนี้แห้วเดินไปดูคนงานล้อมวงอาหารกลางวัน

สังเกตุเมนู มีปลาตัวเล็กๆปิ้ง ส้มตำ และหอยโข่งต้มจิ้มแจ่ว

เจ้าหอยโข่งนี่ละครับที่แห้วซักไซ้ไล่เลียงว่ามันเป็นยังไงกันแน่

คนงานบอกว่า..ต้องแกะเอาตามันออกก่อน

ไม่งั้นกินไป..จะทำให้ปากเบี้ยวได้ !!

เอ๊ะ ปากเบี้ยวเพราะอะไร แห้วหันมาถาม

ผมก็จนด้วยเกล้า..ไม่แน่ใจว่าปากเบี้ยวเพราะสาเหตุอะไร

บอกคนงาน..พรุ่งนี้ขอหอยโข่งสัก 1 ตะกร้า

(น้ำจิ้มซีฟูดฝีมือแห้ว)

วันนี้ลุงอาน คนเลี้ยงวัว เอาหอยโข่งมาฝากหนึ่งถังตัวโตๆทั้งนั้น มีจำนวนปรระมาณ 40-50 ตัวได้ จึงชวนแห้วศึกษาอาหารอีสาน เผื่อจะได้เป็นต้นทุนในยามวิกฤติภายหน้า ไม่แน่นะครับ ..คนเราถ้ามีความรู้ปรับตัวได้เก่งๆ..ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ เอาไปวางไว้ตรงไหนก็เอาตัวรอดได้ ผมจึงชวนแห้วเอาหอยมาปรุงอาหาร อันดับแรกเอาหอยไปต้มก่อน แต่ของเราพิเศษหน่อย ในหม้อต้มเอาใบมะกรูด-ใบมะขาม-ผ่าผลเสาวรสใส่ลงไป2ลูก เอาเกลือใส่ลงไปประมาณหางช้อน เคล็บลับสำคัญในการลวกหอยคือ

ต้องใส่หัวน้ำส้มลงไปประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ

จะทำให้เนื้อหอยกรอบ ถ้าเป็นหอยแครงเปลือกจะอ้าจิ้มเนื้อง่าย

หลังจากผ่านกระบวนการต้มนานจนปากหอยหลุดแล้ว  เราจะเอาหอยไปแช่น้ำเย็นทันที จะเห็นว่าเมือกต่างๆจะหลุดล่อนไป เอาซ่อมจิ้มเนื้ออกมา ผ่าตรงกลางหัวหอย จะเห็นถุงกระเปาะกลมๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า”ตา” เท่าที่ผ่าดูผมคิดว่าน่าจะเป็นกระเพาะอาหารของหอยมากกว่า ลักษณะเป็นเหมือนเศษหญ้าหรือใบไม้ป่นที่หอยกินเข้าไป พวกไส้เครื่องในต่างๆเอาทิ้งหมด ล้างให้ดีแล้วเอาเกลือเคล้าอีกรอบ ล้างออกอีกที เอาใส่ถ้วยนำไปเว็ปประมาณ 3 นาที

แห้วเป็นสาวลูกน้ำเค็มเมืองสุราษฎร์

บอกว่าวันนี้หนูจะแสดงฝีมือตำน้ำจิ้มซีฟู๊ด

ที่บ้านเคยมีเรือประมง

จึงมีทักษะทางด้านทำอาหาร

วันนี้โชว์น้ำจิ้มหอยรสเข้มถึงใจ

(หอยที่ต้มสุก-ล้าง-พร้อมนำไปปรุงอาหาร)

คนใต้กินเผ็ดแต่ก็กลมกล่อม น้ำจิ้มเหมาะกับอาหารประเภทนี้ หลังจากชิมกันคนละหมุบละหมับ แห้วให้ความเห็นว่าถ้าเอาเนื้อหอยผัดเผ็ดน่าจะเด็ดสาระตี่ ที่จริงหอยพวหนี้เอาไปแกงเผ็ด เอาไปทำลาบ หรือเอาไปยำก็อร่อยทั้งนั้นแหละ เพียงแต่เราต้องต้มให้สุกและทำตามกรรมวิธีข้างต้น ก็จะได้วัตถุดิบที่มีคุณสมบัติกรุ๊บกรอบไม่แพ้หอยเปาฮือหรือหอยประเภทใดในโลก หลังจากเจี๊ยะกันลงพุงแล้ว เราก็มาคุยกันถึงหอยที่ชาวบ้านเก็บเอาในท้องนา ไม่ต้องซื้อหาใดๆ นอกจากในน้ำมีปลา ในนามีน้ำแล้ว ยังมีหอยตัวโตๆให้เก็บมาทำอาหารอีกด้วย

(มื้อกลางวันมีต้มซุปข้อขาไก่กับหอยจิ้มน้ำจิ้มซีฟู๊ด)

หอยที่ว่านี้มี 2 ชนิด

ชนิดที่หนึ่งคือหอยโข่งพื้นถิ่นบ้านเรา

หอยชนิดนี้ไม่ต้องแกะเอาตาออก

ชนิดที่สองคือหอยเชอรี่

เข้าใจว่าน่าจะเป็นหอยสายพันธุ์จากต่างประเทศ

เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา หอยเชอรี่เข้ามาทางไหนยังไม่มีเวลาค้นประวัติ ก่อนหน้านี้มีหอยก้นแหลมขยายพันธุ์ไปทั่ว เป็นหอยที่อาศัยอยู่ในที่มีความชื้นบนบก ไต่กินใบไม้ใบหญ้า ขยายพันธุ์ได้ดีแต่ชาวบ้านไม่นิยมรับประทาน ทราบว่ามีผู้เก็บไปต้มแคะเอาเนื้อส่งจำหน่ายต่างประเทศ หลังจากนั้นก็มีหอยเชอรี่แพร่พันธุ์ง่ายระบาดรวดเร็ว ภายในไม่กี่ปีก็มีหอยทั่วทุกหนทุกแห่งในท้องนาและที่ลุ่มบ้านเรา หอยเชอรี่จะกัดกินต้นข้าวที่ปักดำใหม่ๆ บางแห่งข้าวเสียหายอย่างมาก หอยเชือรี่มีไข่สีชมพูเกาะอยู่เหนือน้ำสวยแปลกตา ชาวนาจะเก็บหอยออกไปทำปุ๋ยทำอาหารเลี้ยงเป็ด เอาเปลือกไปเผาแล้วบดผสมหัวอาหารเลี้ยงหมู แต่ก็มีชาวบ้านบางกลุ่มเอาหอยมาประกอบอาหาร เพราะลักษณะและคุณสมบัติใกล้เคียงกับหอยโข่งพื้นบ้านเราทุกอย่าง เพียงแต่ต้องแคะเอาตาออกเสียก่อนดังกล่าวข้างต้น

แสดงว่าชาวบ้านคงสังเกตุเห็นจุดพิเศษดังกล่าวนี้

ไม่ได้หลับหูหลับตาสวาปามใดๆ

คงจะมีคนปากเบี้ยวเพราะหอยประเภทนี้จนผิดสังเกตุ

เรื่องนี้เราจะได้แง่คิดในการใช้ชีวิตเชิงประยุกต์

คนอีสานยังรักษาอัตลักษณ์เรื่องเปิบพิศดารเอาไว้อย่างแน่นเหนียว

เรื่องนี้..สนับสนุนวิธีใช้ชีวิตระหว่างน้ำท่วม

อย่างน้อยคนที่ตกน้ำป๋อมแป๋มเจอหอยตัวกลมๆ..

ช่วยกันเก็บมาทำกับแกล้มได้อร่อยเหอะ

ตอนเย็นเดินผ่าน..

ลุงอาน แกยังร้องบอกว่า..เอาอีกไหมหอย

โธ่ๆๆใจคอจะไม่ให้กินอย่างอื่นเลยรึลุง

จ๋อม จ๋อม จ๋อม..


น้ำขึ้นอย่ารีบตัก

อ่าน: 2450

เทวดายุติธรรมเสมอ

วันนี้นอกจากชาวไร่ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้แล้ว

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มองว่ามีความพร้อมความเข็มแข็ง

แต่ละโรงงานมีพนักงานเป็นพันๆคน มีเงิน มีเครื่องมือ แต่ก็ช่วยตนเองไม่ได้

แสดงว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก>>

น้ำขึ้นอย่ารีบตัก ให้หนี หนี น้ำสุดชีวิต

ชั้นแรกไม่คิดว่าจะต้องหนี

คุณยายหลายคนไม่ยอมออกจากบ้าน

บอกว่ายายอยู่มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก

ทำไมจะต้องอพยพทิ้งบ้านทิ้งช่อง

ผู้ที่ไปรับ..อ้อนวอน ขู่ว่า ถ้าคุณยายไม่ยอมไปกับหนู

หนูก็จะไม่เข้ามาอีกแล้วนะ

คุณยายยอมจำนน ..ออกมาเห็นโลกภายนอก

ถึงเข้าใจว่าวิบากมหันตภัยน้ำท่วมเที่ยวนี้เป็นอย่างไร?

ความเข้าใจ..ของแต่ละคนนี่น่าศึกษาไหมละครับ

จะมีนักศึกษาสักคนไหมที่เอาเรื่องน้ำท่วมใจนี้ไปเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์

วันนี้ยังต้องลุ้นระทึกต่อๆไป  ตัวเลขน้ำท่วมมีแต่ขึ้นๆและขึ้น กำแพงจุดโน้นพังจุดนี้เละ การที่จะระดมสรรพกำลังเข้าไปปิดประตูน้ำที่พังไม่ง่ายหรอก สู้สุดชีวิต24ชั่วโมงอาจจะทำสำเร็จ แต่ตอนนั้นน้ำก็ท่วมไปเรียบร้อยแล้ว การตั้งรับภายนอกล้มระเนระนาด ทุกด่านต้านน้ำไม่ไหว สิ่งที่น่าสนใจคงจะมาดูการป้องกันกรุงเทพภายใน คุณชายแห่งกรุงเทพมหานคร ระดมพลคนกทม.สู้สุดฤทธิ์ เสียดายว่าอุโมงค์ยักษ์ทำยังไม่ครบตามแผน ไม่ยังงั้นจะหายใจโล่งกว่านี้ ข่าวรอบนอก กทม.น้ำก็ปริ่มๆแล้ว ช่วงทะเลหนุนมาตรงกับน้ำเขื่อนเปิดเต็มที่ จะออกหัวหรืออกก้อยหนอ

เอาใจช่วยอย่างเดียวไปพอหรอก

จะเอาอะไรไปช่วย..นี่สิน่าคิด

คนปกติก็ย่ำแย่แล้ว

คนที่เจ็บป่วย ย้ายโรงพยาบาล แล้วยังไงต่อ

วิกฤติที่ตอกย้ำอยู่นี้ เป็นประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งในชีวิตของเรา  ซึ่งเราอาจจะเจอเรื่องหนักๆใหญ่ๆ4-5 ครั้ง ในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะเจออะไรอีก ..หลังจากนั่งลุ้นระทึกกับมหาวิปโยคแห่งชาติ พ.ศ.นี้ ถามตัวเองว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง ถ้าเข้าไปช่วยก็คงจะไปเกะกะเขาเปล่าๆ นั่งถอนใจเฮือกๆทั้งวันทั้งคืน ติดตามข่าวไม่ได้หลับได้นอน มองว่านี่คือบทเรียนสดๆของคนไทยทั้งชาติ ที่ควรจะใส่ใจศึกษาและใคร่ครวญ ประมวณผลถึงความเข็มแข็งของระบบการพัฒนาและดูแลป้องกันของชาติ ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินคำว่า”ไทยเข้มแข็ง” วันนี้ได้คำตอบแล้วบางส่วนว่าเราเข็มแข็งอยู่ในระดับไหน ควรจะอุดช่องโหว่หรือเสริมสร้างความมั่นคงให้เป็นจริงได้อย่างไร?

ใครบ้างจะต้องทำหน้าที่นี้

ก็คนไทยทุกคนนั่นแหละ..ถ้ายังมีความเป็นไทยอยู่ในหัวใจ

ในระหว่างที่พี่น้องหลายล้านครอบครัวเครียดและสั่นงันงกเหมือนลูกนกตกน้ำ พวกเราที่อยู่นอกรัศมีอุกกภัยเริ่มรับรู้ถึงช่วงรอยต่อของอากาศ ฤดูหนาวเริ่มนับหนึ่งแล้วตั้งแต่วันนี้ อากาศเย็นสบายพอดีในรอบปี เป็นวันที่เห็ดโคน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเห็ดปลวก เป็นยอดมหาเห็ดแห่งความอร่อย ที่มนุษย์ยังไม่สามารถเพาะได้เหมือนเห็ดอย่างอื่น ผู้รู้บอกว่า..มันเกี่ยวข้องกับวิถีของปลวก ชาวบ้านจึงเรียกว่าเห็นปลวกยังไงละเธอ เห็ดที่ว่านี้จะนัดกันออกดอกมาเต็มที่คราวละ 2-3 วันต่อปี  ระยะก่อนหน้านี้ก็เห็นมีเห็ดโคนดอกเล็กๆมาวางขายบ้าง ราคาในตลาดสตึก ก.ก. ละ 200 บาท เป็นเห็ดที่ล้างดินทำความสะอาดแล้วพร้อมลงหม้อ เมื่อก่อนไม่แพงอย่างนี้ ก.ก.ละ 50 บาทก็แพงแล้ว ส่วนมากชาวบ้านจะไปเก็บกันเอง ได้มาก็แบ่งกันกินไม่มีใครเอามาขาย เป็นของฝากที่มากด้วยไมตรีจิต คนยากคนจนไม่มีของขวัญแพงๆให้กันหรอก แต่เขามีไมตรีไม่อั้นพร้อมที่จะแชร์กัน

สมัยนี้ไม่มีการแบ่งปัน

ทุกอย่างตีค่าเป็นเงิน

น้ำจิตน้ำใจถ้าต้องซื้อหากันมันก็ไร้ค่า

ไม่มีเงินตราสกุลใดในโลกมีมูลค่าสูงกว่าของน้ำใจ

คุณค่าน้ำจิตน้ำใจประเมินมูลค่าไม่ได้

เมื่อวานนี้คนงานเก็บเห็ดโคนมาฝาก 1 หม้อต้ม เมื่อคืนนี้เป็นช่วงมหกรรมเห็ดโคนออก เสียงชาวบ้านจ๊อกแจ็กจอแจมาหาเห็นกันเต็มสวนป่า หมาเห่าขรมตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืน ผมนอนดูข่าวน้ำท่วม จนกระทั้งรุ่งเช้าเจ้าเก่าเอาเห็ดโคนดอกงามมาให้ต้ม 1 หม้อ ป้าสอนกับคนงานไปเก็บมาให้อีกประมาณ 2-3 หม้อ ช่วยกันทำความสะอาดเก็บไว้ทำอาหารมื้อเย็น มื้อเที่ยงผมขอแสดงฝีมือเอง ให้ป้าสอนเก็บใบแมงลักมาเตรียมไว้ ตอนเที่ยงจะเข้าครัว ต้มเห็ดโคนซดให้ชื่นสะดือสักกะหน่อย

วิธีต้มเห็ดโคน

เอาหม้อตั้งไฟ อย่าใส่น้ำมาก ในเห็ดจะมีน้ำหวานออกมาสมทบ

หั่นหอมใส่ลงไปสัก 2 หัว

โรยกุ้งแห้งสัก 2 ช้อนโต๊ะ

ใส่เกลือนิดๆ บุบพริกสดใส่ 2 เม็ด

เอาเห็ดเทลงหม้อ

ตามด้วยใบแมงลัก ใบมะขามอ่อน 1 ขยุ้ม

เติมซีอิ้วขาวหน่อยอย่ามากจะกลบรสเห็ด

ต้ม 2 นาทีควันฉุย ตักใส่ถ้วยยกไปเสริฟ์คนที่รัก

แค่นี้แหละ  อย่าไปใส่โน่นใส่นี้ให้มากเรื่อง

ทำง่ายๆอร่อยง่ายๆแต่ได้ภูมิคุ้มกันเยอะเลย

รับประทานกับส้มตำรสจัด

จะได้เมนูที่จิ๊ดจ๊าดอาหย่อยยยย

ฝนจะร่ำลาไปแล้ว ให้คนงานเตรียมนั่งร้านปลูกน้ำเต้า ที่คัดพันธุ์ไว้ว่าจะปลูกเพื่อพัฒนาพันธุ์ชนิดไหนบ้าง เพื่อให้เกิดความหลากหลาย นั่งร้านที่ว่านี้จะแบ่งปลูกดอกชมจันทร์ ปลูกฟักแฟง ปลูกตำลึง มะระจีน ถั่วพู ถั่วฝักยาว พริกพันธุ์เลื้อย ใช้สว่านเจาะหลุมแล้วใส่ปุ๋ยให้เต็มที่ มีระบบน้ำหยดให้ทุกหลุม แค่นี้แหละเธอเอ๋ย อีกไม่กี่เดือนก็จะมียอดน้ำเต้าลงกะทะร้อน มีผลน้ำเต้าอ่อนมาจิ้มน้ำพริก มาชุบแป้งทอด จัดเป็นแปลงสาธิตการปลูกผักเลี้อยค้างแบบประณีตพ่วงกับงานวิจัย

ข้างๆแปลงน้ำเต้า ปลูกกล้วยไข่ทดลองไว้เมื่อปีที่แล้ว

ช่วงระหว่างแถวลงต้นอินทผลัมไว้แล้ว

พบว่ากล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยน้ำหว้า ได้ผลดีพอสมควร

ส่วนมะละกอปะเลอะปะเตอ ล้มหมอนนอนเสื่อไป20กว่าต้น

ผักยืนต้นระยะชิดกำลังงามพออวดได้

น้ำท่วมผักแพงถ้าทำวิธีนี้จะพอแก้ขัดได้บ้าง

ต้นมะเขือการ์ตูนปลูกโชว์ ไม่ทำให้ขายหน้า

กำลังทยอยออกลูกแล้วนะเธอ

จะเร่งปลูกผักบุ้ง ผักกาด คะน้า กุยฉ่าย เรียงล่ายซ้าย

จบข่าว..


ความไม่มั่นคงด้านอาหาร!

อ่าน: 2615

(ล้อมวงดวลลูกชิ้นปิ้ง)

ช่วงสายเมื่อวานนี้ ครูอ้นชวนลูกศิษย์ตัวจ้อยคู่หนึ่งมาเที่ยว ลงรถมาอาจารย์นฤมลถาม ครูบาทายสิว่า เด็ก2คนนี้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย อ้าว หน้าหวานๆผมยาวๆอย่างนี้ก็เป็นผู้หญิงสิครับ 2 กุมารรีบออกตัวว่าคนโน้นเป็นผู้หญิง ชี้โบ้เบ้กันไปมา แต่ความเป็นจริงแล้ว เด็กนักเรียนนานาชาติที่หน้าระรื่นนี้เป็นกุมารทั้งคู่ จึงถามว่า ทำไมถึงชอบไว้ผมยาว ..ไม่ได้คำตอบอื่นนอกจากคำว่า ชอบ !  ไปไหนๆให้ใครๆทายสนุกสนาน ครูอ้นเล่าว่า 2 หนุ่มนี้มาอยู่ด้วยหลายวันแล้ว เรียนรู้กันสนุกสนาน สนใจในเรื่องชนบทเป็นชีวิตจิตใจ ชวนทำกิจกรรมอะไรดูจะลื่นไหลไปหมด เป็นเด็กเรียนดี ผู้ปกครองสนับสนุนแนวทางนี้ เคยเข้าๆออกๆโรงเรียนทางเลือก-โรงเรียนวิถีพุทธ -โรงเรียนนานาชาติมาแล้ว5-6โรง ไปเที่ยวมาหลายประเทศ แยกไม่ออกว่าเรื่องไหนเรียนเรื่องไหนเล่น ทำเป็นกระบวนการที่เนียนเข้าด้วยกัน

อ่านต่อ »



Main: 1.1507480144501 sec
Sidebar: 0.079390048980713 sec