ความไม่มั่นคงด้านอาหาร!
(ล้อมวงดวลลูกชิ้นปิ้ง)
ช่วงสายเมื่อวานนี้ ครูอ้นชวนลูกศิษย์ตัวจ้อยคู่หนึ่งมาเที่ยว ลงรถมาอาจารย์นฤมลถาม ครูบาทายสิว่า เด็ก2คนนี้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย อ้าว หน้าหวานๆผมยาวๆอย่างนี้ก็เป็นผู้หญิงสิครับ 2 กุมารรีบออกตัวว่าคนโน้นเป็นผู้หญิง ชี้โบ้เบ้กันไปมา แต่ความเป็นจริงแล้ว เด็กนักเรียนนานาชาติที่หน้าระรื่นนี้เป็นกุมารทั้งคู่ จึงถามว่า ทำไมถึงชอบไว้ผมยาว ..ไม่ได้คำตอบอื่นนอกจากคำว่า ชอบ ! ไปไหนๆให้ใครๆทายสนุกสนาน ครูอ้นเล่าว่า 2 หนุ่มนี้มาอยู่ด้วยหลายวันแล้ว เรียนรู้กันสนุกสนาน สนใจในเรื่องชนบทเป็นชีวิตจิตใจ ชวนทำกิจกรรมอะไรดูจะลื่นไหลไปหมด เป็นเด็กเรียนดี ผู้ปกครองสนับสนุนแนวทางนี้ เคยเข้าๆออกๆโรงเรียนทางเลือก-โรงเรียนวิถีพุทธ -โรงเรียนนานาชาติมาแล้ว5-6โรง ไปเที่ยวมาหลายประเทศ แยกไม่ออกว่าเรื่องไหนเรียนเรื่องไหนเล่น ทำเป็นกระบวนการที่เนียนเข้าด้วยกัน
กิจกรรมที่เตรียมมาสนุกๆคือรายการ ย่ า ง ลู ก ชิ้ น
จับใจความได้ว่ามีน้ำจิ้มรสเด็ดอยากจะเอามาเสนอ
จึงเอาลูกชิ้นไก่-หมู-เนื้อมาย่างชวนครูบาชิม
โดยเด็กทั้งคู่เป็นคนลงแรงจัดการทุกเรื่อง
นับเป็นวันสนุกๆที่ลูกชิ้นแทบดิ้นได้
ย่างไป-ชิมไป-เฮไป-อร่อยเหาะ-
อิ่มแล้วก็ออกเดินไปทำความรู้จักกับเจ้าโบ้กับเจ้าเบ้ แพะพ่อพันธุ์ที่มีขนแผงคอสลวยและเขายาว เดินตามดูลูกแพะที่วิ่งวนรอบๆแม่ เด็กที่ผ่านการเรียนภาคสนามเช่นนี้จะมีคำถามตลอดเวลา การตอบ-ถาม-นี่เองคือกระบวนการเรียนที่มีชีวิตชีวา ไม่ต้องเตรียมการมาก สนใจสิ่งไหนก็ถามๆๆๆๆอุตลุด ออกจากแพะไปดูวัว ถ้าฝนไม่ตกชื้นแฉะคงจะแจกวัวให้จูง ทักทายวัวกันเกรียวกราวพอหอมปากหอมคอก็ไปเยี่ยมเจ้าตาหวาน หักกิ่งมะรุมติดมือไปด้วย นกกระจอกเทศก็มะรุมมะตุ้มจิกใบมะรุมจากมือเด็ก เรียกเสียงกระตู้วู้ได้ไม่น้อย สังเกตดูอารมณ์รื่นสนุกทุกช๊อต เด็กๆบอกเสียดายที่ไม่ได้มานอน พรุ่งนี้คุณพ่อก็จะมารับกลับบางกอกแล้ว คงรอปิดเทอมคราวหน้าจะกลับมาใหม่
ยังมีรายการเดินเรียนต่อ
ชวนกันไปเจี๊ยะก้วยเตี๋ยวเจ๊หงอดในตัวตลาด
อิ่มแล้วไปชมการตกปลาที่ริมฝั่งแม่น้ำมูลที่อยู่ใกล้ๆ
เจี๊ยวจ๊าวทักทายพรานเบ็ด
ขอชมปลาที่พรานตกได้
พร้อมกับบ่นว่าอยากจะตกปลา
ก็ต้องยกไปคราวหน้าอีกนั่นแหละ
จบรายการนี้ แยกย้ายกันโดยครูอ้นพาลูกศิษย์ไปลุยทุ่งกุลาร้องไห้ต่อ
ผมรอมารับเจ้าหนูมินที่โทรมาบอกว่าใกล้ถึงแล้ว..
หลังจากพบกันก็วิ่งนำเข้าสู่สวนป่า
ลงรถก็กอดๆๆๆขนของฝากมาให้พะเรอ
ช่วงเย็นมินออกไปรับอาจารย์มหิดลที่นั่งรถทัวร์มาลงที่ตลาดสตึก ผมกับแม่หวีเก็บผักทำกับข้าวมื้อเย็นรอ ทราบว่าอาจารย์ที่มาสนใจประเด็นความมั่นคงเรื่องอาหาร ทราบข่าวว่าผมไปเสนอหัวข้อนี้ในเวทีประชุมแผน11 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติเมื่อเร็วๆนี้ จึงติดตามมาขอเสวนาต่อ ในระหว่างเจี๊ยะก็คุยแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน ตอบ-ถาม-ความคิดเห็นความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ทั้งภาพรวมภาพย่อยและนโยบาย..หลังจากคุยกันแล้ว ทราบว่า..อาจารย์มาดูลายแทงตามหนังสือ“เจ้าเป็นไผ“
วันนี้ เรายืนอยู่ตรงจุดไหนของเรื่องความคงทางอาหาร
อาหารจากรถพุ่มพวง รึ ?
อาหารจาก 7-11 รึ ?
อาหารจากถุงพลาสติก รึ ?
อาหารจากซองมาม่า รึ ?
อาหารจากหาบเร่แผงลอย รึ ?
มี อ า ห า ร จ า ก ก้ น ค รั ว ตั ว เ อ ง กี่ มื้ อ !
คนเมืองส่วนใหญ่ฝากท้องไว้กับครัวนอกบ้าน ความมั่นคงด้านอาหารขึ้นอยู่กับต้องหาเงินไว้ซื้อกินให้เพียงพอ ส่วนเรื่องคุณภาพของอาหารยากนักที่จะทำอะไรได้ คงเลือกๆเสี่ยงๆตามบุญตามกรรมไปอย่างนั้นเอง วัตถุดิบที่ประกอบอาหารก็รู้ๆกันอยู่ แม้แต่ผักปลาที่เราส่งออกไปขายยังยุโรป ที่คิดว่าตรวจแล้วตรวจอีกก็ยังถูกเขาจับประจานห้ามส่งออกมาแล้ว แล้วอาหารที่ขายๆกันในประเทศนี่ละ ใครจะมาตรวจละเอียดละออ คงปล่อยให้สุ่มเสี่ยงกันไปตามยถากรรม
เร็วๆได้ข่าว “ไก่เน่า” ส่งไปขายทั่วประเทศไหมครับ
ตรวจจับกันออกข่าวใหญ่โตที่โคราช
เมื่อวานนี้ไก่เน่าไปโผล่ที่จังหวัดน่าน
ส่วนบุรีรัมย์บ้านผมไม่ต้องห่วง
ขาโจ๋ร้านเนื้อย่างโดนไก่เน่าไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่
ความมั่นคงทางอาหาร..จึงกลายเป็นว่า..ตัวใครตัวมันนะโยม
ข้าว-ปลา-ผัก-อาหารทะเล-ล้วนปนเปื้อนสารพิษทั้งนั้น
แม้แต่ผักหวานป่าที่ทะลักมาจากเขมรก็ชุบฟอร์มาลีนให้ดูสดใหม่อยู่เสมอ
ถามว่า..ประเทศไทยสั่งสารเคมีปีละ3หมื่นล้านบาท
สารเคมีเหล่านี้เข้าไปปนเปื้อนอยู่ในเลือดเนื้อคนไทยคนละกี่ขีดก็บ่ฮู้
ผมเองก็โดน..ออกจากบ้านไปเจี๊ยะตามร้านในบางกอก..จะเหลือเรอะ
(ถ้าอาหารอร่อย = มีความมั่นคงด้านรสชาติ)
ความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นเรื่องใหญ่และยาก ในเมื่อผู้ผลิตและผู้บริโภคสมยอมกัน ทำอะไรมาขายก็ซื้อๆสวาปามกันเข้าไป แทบจะเรียกว่าไม่มีทางเลือกได้เลย คำว่า “ครัวโลก” ก็จะเป็น “ครัวโรค” สุขภาพของคนไทยก็ยักแย่ยักยัน คนป่วยล้นโรงพยาบาล แต่ก็มุ่งแก้กันที่ปลายเหตุ มาวันนี้ยังหาเจ้าภาพไม่เจอ ในเมื่อคนไทยไม่รักตัวเอง ไม่ใส่ใจสุขภาพกันเอง ไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องที่ตักเข้าปาก สังคมมักง่ายทำอะไรก็ได้ มาตรการควบคุมก็ทำกันไปงั้นๆแหละเหมือนไฟไหม้ฟาง
(หมอเปากำลังจำหน่ายเจ้าเป็นไผให้พยาบาลทั่วประเทศ)
ตราบใดที่คนไทยไม่รักสุขภาพตัวเอง
รณรงค์ให้ตายก็หง๋ายเก๋ง
ใครเล่าจะมาปวดท้องปวดฟันแทนกันได้
ทำมักง่ายผลลัพธ์ก็ออกมาง่ายๆอย่างที่เห็นๆ
ความมั่นคงทางด้านอาหารในประเทศไทย ผ ม ม อ ง ไ ป ที่ ค น ไ ท ย ยั ง ลุ ก ขึ้ น ตั ก บ า ต ร ทุ ก เ ช้ า แต่ก็ตุ๊บๆต้อมๆอีกนั่นแหละ บางส่วนยังซื้ออาหารสำเร็จถวายพระ ด้วยคิดเอาแต่ว่าได้ทำบุญตักบาตรก็สบายใจ คุณภาพอาหารเป็นอย่างไรแล้วแต่พระคุณเจ้าจะสุ่มเสี่ยงเถิดนะ วันนี้จึงมีตัวเลขพระสงฆ์อาพาธกันมาก เฮ้อ! ความมั่นคงทางด้านอาหารมันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้
(บรรยากาศแม่ครัวหัวป่าส์ลุยป่าเด็ดผ้กมาประกอบอาหาร)
ถามว่า..ไม่มีตัวอย่างสักจิ๊ดเดียวเลยเชียวหรือ ?
อ๋อ..ก็พอมีอย่างบ้างนะเธอ
(เรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ต้องโจ้กันในวงอาหารมันถึงจะออกรส)
ถ้าเธอมาร่วมงานชาวเฮ
จะได้เห็นภาพ..ชวนกันไปเด็ดผักมาประกอบอาหารเลี้ยงกันเอง
ฝีมือตำน้ำพริกป้าหวานนั้นธรรมดาที่ไหนเล่า..อื้อฮือๆ มานักต่อนักแล้ว
(แม่ครัวหัวป่าส์ชาวเฮนั้นมีเป็นกะตั๊ก)
ค ว ง ต ะ ห ลิ ว เ มื่ อ ไ ห ร่ ชู ช ก ส ะ อื้ น เ มื่ อ นั้ น
ถ้าปลูกเอง-ปรุงเอง-เจี๊ยะกันเอง-แถมอร่อย
น อ ก จ า ก จ ะ มั่ น ค ง แล้วยัง มั่ น ใ จ แถม อ ร่ อ ย อี ก ต่ า ง ห า ก
คำที่ขอถาม..
1วันนี้ เธอมีความปลอดภัยทางด้านอาหารแล้วหรือยัง !
2 อาหารที่ตักเข้าปากแต่ละมื้อมั่นใจได้แค่ไหนว่าปลอดภัย !
3 เธอจะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารที่ซื้อมาปลอดภัย ?
4 เธอจะไปหาซื้ออาหารที่ปลอดสารพิษได้ที่ไหน ?
5 ถ้าไม่มีความมั่นคงทางอาหารเธอจะทำอย่างไร ?
6 เธอยืนอยู่จุดไหนในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ?
7 เธอแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารอย่างไร ?
8 เธอมีข้อเสนอแนะในเรื่องการจัดการอาหารอย่างไร ?
# Key Word “ถึงเราจะมีอาหารรับประทานทุกมื้อ แต่ถ้าไม่มีความปลอดภัย ก็เหมือนกินสารพิษทุกวันนั้นเอง”
Next : ตอนจีนเตี๊ยะบุกจีนแผ่นดินใหญ่ » »
1 ความคิดเห็น
หึหึหึ ทำอาหารปลอดภัยมาหลายปีจนถึงปีนี้ก็ยังมึนตึ้บอยู่เลยค่ะพ่อครู โจทย์มันอยู่ที่จะทำยังไงถึงยั่งยืนมีคนสืบทอดนี่แหละ ไม่งั้นก็ได้แค่เทคนิคการผลิตผัก อาหารปลอดภัย แต่ตัวคนที่จะสานต่อมันหาย …ฝากกอดน้องมิมแน่นๆหลายๆทีค่ะ