จะปลูกไว้โม้หรือปลูกไว้หม่ำ

อ่าน: 1729

“จะปลูกไว้โม้หรือปลูกไว้หม่ำ”

เป็นคำถามที่ลอยมาจากอุ้ยสร้อย

ก็ขอตอบดังต่อไปนี้..

วิธีเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าค้นพบสไตล์การเรียนในแบบฉบับที่ถูกจริตตนเอง นอกจากไม่เครียดแล้ว ยังสนุกอีกต่างหาก แทบทุกเรื่องในโลกนี้ไม่มีคำว่าจบสิ้น วิชาความรู้ดิ้นไปเรื่อย ๆ ตามความรู้ความสามารถของมนุษย์ ที่ค่อย ๆ รู้จักเรื่องต่าง ๆ  แล้วไต่ระดับไปสู่ความรู้จริง ส่วนเรื่องที่จะไปถึงขั้นรู้แจ้งนั้นแทบนับนิ้วได้ ถ้าเป็นคนพันธุ์แท้ จะตระหนักได้ว่าเรียนให้ตายก็ไม่มีวันจบ มนุษย์เรามีศักยภาพแค่ค้นคิดไปเรื่อย ๆ.. จะพบชุดความรู้ที่มีอยู่ในธรรมชาติทีละเล็กละน้อย แล้วปรับเอาความรู้นั้นมาใช้ แต่ที่เป็นอยู่มนุษย์ใช้ความรู้ไปในทางที่เหมาะสมน้อยมาก ทำให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัว มลภาวะพวกนี้สะสมมากขึ้นตามจำนวนพลโลกและอัตราก้าวหน้าของกิเลส ทำให้เกิดมหันตภัยจากน้อยไปหามาก แผ่นดินไหวกระชั้นถี่ น้ำ-อากาศเป็นพิษ อาหารเต็มไปด้วยยาฆ่าคน รวม ๆ แล้วทุกเรื่องติดลบทั้งนั้น เมื่อจิตใจมนุษย์ส่วนใหญ่เน่าทุกอย่างจะเหลือเรอะ.. ปัญหาอยู่ที่ว่า มนุษย์พวกนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้แบบวอบ ๆ แวม ๆ ถ้าไม่ตายต่อหน้าแบบดิ้นปัด ๆ ก็เฉยเมยต่อไป ทั้ง ๆ ที่ภัยเหล่านี้มันค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาอยู่กับเราิมากขึ้น ๆ


ถามว่ามนุษย์ยุคนี้ควรมีวิถีชีวิตอย่างไร
ในสภาพที่สังคมผิดปกติและแปรปรวนจับต้นชนปลายไม่ถูก
ความรู้เก่าจะเอามาปัดฝุ่นใช้ได้สักเท่าไหร่
ชุดความรู้ใหม่ที่ถูกต้องและเหมาะสมมีแค่ไหน
เรารักตัวเองอย่างไร?
เรารักกันเองแบบไหน?
เรารักโลกใบนี้สักเท่าไหร่?

ปัจจัยความรักที่สำคัญคือความรู้ รู้มากรักมาก รู้น้อยเลอะเทอะเลอะเลือน..ยกตัวอย่างเช่นเรื่องน้ำเต้า ผมเฝ้าติดตามทั้งที่ปลูกและติดตามข่าวสาร พบว่าตนเองยังอยู่ในชั้นอนุบาลเท่านั้น เมื่อไม่มีศักยภาพอะไร ก็คิดและทำเท่าที่ทำได้ เพียงแค่คิดและทำไปเรื่อยๆก็ได้ความสุขและสนุกกับงาน ยังมีเรื่องที่ยังทำไม่สำเร็จหลายเรื่อง ท่ามกลางความผิดพลาด คงไม่ใช่ความผิดหวังหรอกนะ เราพบความสมหวังแทรกอยู่ มันไม่มีอะไรที่สูญเปล่าจากการเรียนเชิงปฎิบัติ อย่างน้อย ๆ ก็ได้ออกกำลังกายกำลังใจฝึกการใช้กำลังความคิด(หมอจอมป่วนบอก) สนุกกับการรอคอยความรู้ที่ค่อย ๆ งอกงาม น้ำเต้า ผมเฝ้าปลูกมาทุกปี ค้นพบเสน่ห์ของพืชชนิดนี้มากขึ้น คุณสมบัติทางด้านอาหาร คุณสมบัติทางด้านเภสัช นำผลแก่ไปทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ แต่จะจุดอยู่ในขั้นเตาะแตะแต่สนุกมาก ผมคิดต่าง..ทำไมต้องทุกข์กับการเรียนรู้ด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกชื่นมื่นตลอดเวลาได้ไหมละ ถ้าวิธีเรียนถูกต้อง มันถึงจะเกิดความมุมานะที่เต็มไปด้วยพลังระเบิดแห่งจินตนาการ

เมื่อก่อนรู้ตามคนอื่น เช่น เอาผลน้ำเต้าอ่อนมาแกงเลียง-ต้มจิ้มน้ำพริก-หรือชุบแป้งโกกิทอด
ต่อมาทดลองเอาผลสดอ่อนมายำแบบยำแตงกวาก็อร่อย
ตอนตาหวานมาทดลองเอามาลวกก่อนแล้วยำ พบว่ากรุ๊บกรอบคล้ายกระดูกอ่อนสุกร ก็อร่อยอีกแหละ
ต่อมาทดลองเอายอดอ่อนมาลวกจิ้มน้ำพริกก็ใช้ได้ แต่ถ้าเอามาผัดกะทะร้อนอร่อยกว่า

คุณสมบัติที่พิเศษ ยอดน้ำเต้ามีเส้นใยอาหารมาก

ปัญหาอยู่ที่.. ถ้าเห็นว่าดีและอร่อยเราจะมียอดน้ำเต้าจำนวนเพียงพอที่จะนำมาทำอาหารได้เท่าไหร่ ถ้าปลูกไปตามปกติ ให้เถาไต่เลื้อยแตกกิ่งก้านคลุมพื้นที่ เห็นยอดใหม่ ๆ ออกมาก็เด็ดไปทำอาหารได้บ้าง ถ้าเป็นไปตามสภาพนี้ยอดน้ำเต้าคงไม่พอแน่ จึงทดลองติดตามพฤติกรรมของน้ำเต้า ..ถ้าเราช่วยตัดใบแก่ออกเรื่อย ๆ จะเกิดการแตกกิ่งแขนงมากขึ้น และถ้าเราตัดยอด ตาแขนงก็จะแตกเพิ่มขึ้นในอัตรา 3-5 เท่าตัว ตรงนี้เห็นได้ชัดเลยละครับ แสดงว่าการปล่อยให้น้ำเต้าอยู่ในสภาพปกติกับการตัดแต่งใบและยอดออกเรื่อย ๆ ผลลัพธ์จะแตกต่างกันมาก

น้ำเต้าที่ปลูกไว้จำนวน 4 กอ
จะให้ยอดสดประมาณ 1 ก.ก. ทุก 5-7 วัน
ถ้าต้องการยอดน้ำเต้าผัดวันละ 4 จาน = 1 ก.ก.
เราต้องปลูกน้ำเต้าเพิ่มขึ้น 20 กอ
แค่นี้ก็มียอดน้ำเต้าให้ตัดหมุนเวียนทุกวัน

ในทางปฎิบัติ
ใครจะบ้ากินยอดน้ำเต้าทุกวันละครับ
ในเมื่อสวนป่ามีผักสารพัดชนิด
ส่วนมากถ้าชอบผักชนิดไหนก็เอามาประกอบอาหารบ่อยขึ้น
ทำเอง-กินเอง-อร่อยเอง-ชมตัวเองก็ดีนะ
จากอัตราเท่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ถ้ากินเองตอบได้ว่าเหลือเฟือ
แต่ถ้าจะปลูกเพื่อการขยายผล รับรองลูกหลานที่มาเยี่ยมตามที่หมอเบิร์ดอยากเห็น
กรณีอย่างนี้ละครับที่สวนป่าจะต้องเปลี่ยนจากปลูกไว้โม้มาปลูกไว้หม่ำ

เมื่อโจทย์เปลี่ยน กระบวนการตามเก็บความรู้ก็เปลี่ยน
พบว่าผักทุกชนิดมีคุณสมบัติรองรับอยู่แล้ว เช่น
มะเขือเทศสุกเยอะ หมอเจ๊บอกให้ผ่าตากแดด นอกจากการเอามาใส่ส้มตำ หรือนำมาปั่น
ปลูกพริกเห็นยอดแตกงามสะพรั่งก็เด็ดยอดมาแกงมาผัด ผลอ่อนนำมาหั่นใส่ไข่้เจียว (เมนูเด็ดว่าที่มหาเม้ง)
ผักแทบทุกชนิดเปลี่ยนจากรอกินผลมากินยอดเสียก่อน
เข้าทำนองคิดใหม่ทำใหม่ได้เมนูใหม่ ๆ อร่อยทุกวัน
กระบวนการเกิดของใหม่ทุกวันนี่แหละเป็นเสน่ห์ของสวนป่า
สภาพเปลี่ยนไปในทางที่สุขสดใสจิตใจรื่นเริง
ใครวาสนาไม่ถึงก็ขอแนะนำให้อ่านแล้วจินตนาการเอา
เรื่องนี้ไม่ใช่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ แน่นอน
แต่เป็นฝันที่ชุ่มฉ่ำเขียวขจีมีสีสันแสนบรรเจิด
ถ้าจะนอนให้จั๊กกะจั่นกล่อมก็รีบมา
แต่ถ้ามีสิ่งอื่นกล่อมนอนอยู่แล้วก็ไม่ว่ากัน
แคว๊ก ๆ

« « Prev : สวนป่าคาเฟ่

Next : มหาชีวาลัยจะเปิดคอร์สกระชับพุง? » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มีนาคม 2010 เวลา 14:51

    เพิ่งมานึกได้ค่ะพ่อครูว่าพริกแห้งปลอดสารเคมีนั้นหายากในตลาด ฉะนั้นถ้ามีพริกเหลือเฟือก็อย่าลืมนำมาทำพริกแห้งชนิดที่ใช้ตำเครื่องแกงด้วยค่ะพ่อครู

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มีนาคม 2010 เวลา 15:06

    มีในแผนอยู่แล้วครับ ถ้าพริกเหลือจะแปรรูปแบบประณีตอย่างไรบ้าง?

  • #3 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มีนาคม 2010 เวลา 15:32

    โห…หนึ่งคำถามได้คำตอบยาว..ที่สำคัญคือคนถามที่กลับได้เรียนกับคำตอบลึกซึ้งด้วย…สุดยอดเลยค่ะครูบา

    มีเรื่องสังเกตพบอย่างหนึ่งคือ มะเขือเทศจากสวนป่า (วันนี้ยังเหลือผัดไข่ใส่วุ้นเส้น) จะคงความสดดีกว่าและผิวจะบางกว่ามะเขือเทศซื้อ เปลือกที่บางเหมือนเป็นเยื่อหุ้มความนิ่มข้างใน..คือถ้าจับขึ้นมาอาจจะคิดว่าเสียในแต่ไม่ใช่…ซึ่งต่างจากมะเขือเทศซื้อที่ถ้านิ่มขนาดนี้จะออกน้ำเละไปเลย….ความน่าสนใจอยู่ตรงนี้ค่ะครูบาว่า เกิดจากความเป็นมะเขือเทศอินทรีย์?? หรือเกิดจากระยะเวลาการเก็บเกี่ยว?? หรือเกิดจากสภาพดินและอากาศของสวนป่า??

    ส่วนวิธีส่งจะทำอย่างไรให้ไม่แตกและคงความสดได้…น่าสนใจจริงๆค่ะ…

    เมื่อวานหมอป่วนแวะเอาหนังสือมาให้อ่านและกำชับให้ออกความเห็น..หนังสือที่เกิดจากการเอาบันทึกของหมอป่วนในลานปัญญามารวมและเรียงลำดับเข้าเล่มก่อนจะทำฉบับจริง….ยังจำที่ครูบาเคยปรารภได้ค่ะ

  • #4 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มีนาคม 2010 เวลา 15:33

    ลองถามเทคนิคตากพริกแห้งให้แดงสวยจากวิทยาลัยเกษตรหรือป้าจุ๋มก็ได้ค่ะพ่อ เพราะพริกที่นำมาทำน้ำพริกแกงนั้นถ้าสีสวยและปลอดภัยยังไงก็เวิร์ค

    เบิร์ดจะถามเทคนิคจากทางนี้ให้ด้วยค่ะ รู้สึกจะมีระยะเวลาเก็บและลักษณะการตากแดด ร่วมกับอะไรสักอย่างนี่แหละ

    ยกระดับจากผู้ผลิตขั้นต้นเข้าสู่การแปรรูปจะทำให้ทางเลือกสำหรับผลผลิตมากขึ้นเยอะค่ะพ่อ อย่างมะเขือเทศถ้ามีเยอะมากลองติดต่อที่สถาบันอาหาร ม.เกษตรศาสตร์ดูสิคะพ่อ เพราะช่องทางของพริก และมะเขือเทศนั้นมีเยอะมาก เคยเห็นเค้าแปรรูปมะเขือเทศราชินีเป็นมะเขือเทศอบแห้ง และมะเขือเทศอบแห้งสามรส ก็น่าสนใจดีค่ะ นอกจากทำซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ หรือสนใจสูตรน้ำสลัดอร่อย ๆ มั้ยคะ จะได้เอาไว้ทำเป็นแพ็คเก็จจิ้งสลัดผักปลอดสารขาย จะได้หาและส่งไปใ้ห้ลองทำ เพราะพี่หนึ่งเจ้าของ PN.สลัดเงินแสนที่ออกรายการทีวีเส้นทางทำกินของน้องได๋ช่อง 7 เมื่อวานเป็นหนึ่งในแม่ค้าที่ถูกปลุกปั้นมาในโครงการอาหารปลอดภัย จนเดี๋ยวนี้พี่เค้าสามารถขยายไลน์ของตัวเองไปกทม.ได้สบาย ๆ ในขณะที่ชร.ก็ยังขายสลัดอยู่  (สารภาพว่าเมื่อวานเห็นพี่เค้าออกรายการแล้วมีความสุขสุด ๆ เลยค่ะ :) ) 

  • #5 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มีนาคม 2010 เวลา 16:28

    เริ่มจะสนุกแล้วละอุ้ย อิอิ

  • #6 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มีนาคม 2010 เวลา 16:29

    ของเรายังมีปริมารน้อย คงต้องค่อยคิดค่อยทำไป
    กินเองจนแน่ใจค่อยขยาย นะเบิร์ดนะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.74777698516846 sec
Sidebar: 0.41747498512268 sec