คนไม่มีไฟ
ผมเกิดมาทันสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ญี่ปุ่นยกธงขาว ทั่วโลกอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง แต่คนที่อาศัยอยู่ในป่าดงดอยก็คงไม่กระไรนัก เพราะเคยชินจนปรับตัวเป็นปกติ แต่คนที่อยู่ในหมู่บ้านต้องแบ่งสันปันส่วนสิ่งของที่จำเป็น ความเป็นพี่น้องในวัฒนธรรมก็พอเกลี่ยความต้องการให้กันได้ อีกส่วนหนึ่งยุคนั้นคนไทยพึ่งตัวเองเป็นส่วนใหญ่ได้แทบทั้งหมด เสียดาย..ทำไมไม่ทำสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ จอมพล ป. ยังเคยรณรงค์ให้ปลูกผักสวนครัว ชูเรื่องในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรา อุดมสมบูรณ์ ..
วิถีไทยสมัยที่ผมเป็นเด็ก ๆ ชาวบ้านจะยกเรือนสูง ด้านล่างทำเป็นคอกวัวควาย กลางคืนก็จุดไฟไล่ยุง ควันก็คงจะฟุ้งขึ้นไปบนเรือนเป็นครั้งคราว ถ้ามองเรื่องการอนามัยคงจะไม่ดีนัก เหตุผลสำคัญชาวบ้านอาจจะมองเรื่องความปลอดภัยจากโจรขโมยวัวควาย แถมยังประหยัดด้วย เพราะไม่ต้องไปทำคอกอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่าเรือนแบบทูอินวันได้ไหม? แต่ที่แน่ๆชาวบ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องเชื้อเพลิง พึ่งสติปัญญาตนเอง
สมันโน้นถ้ามีการบุกเบิกป่าใหม่ ชาวบ้านจะเก็บต้นไม้ยืนต้นที่มีลักษณะเปลาตรงไว้ตามเรือกสวนไร่นา โดยเฉพาะต้นยางนาต้นโต ๆ ที่ผมเรียกว่าพญาไม้อีสาน ชาวบ้านจะเจาะเป็นโพรงขาดเท่าชามใหญ่ ๆ สูงจากพื้นดินประมาณเมตรครึ่ง แล้วเอาไฟลนในหลุมที่เจาะ จะทำให้ไม่น้ำยางไหลออกมา นาบิ้งหนึ่งจะมีต้นยางอยู่ 2-3 ต้น ภาพรวมก็คือจะมาการอนุรักษ์ต้นยางนาและไม้เนื้อแข็งชนิดอื่น ๆ ไว้ เช่น ต้นจะบก ต้นประดู่ ต้นนางดำ ต้นพลวง ต้นแดง ฯลฯ
6-7 วันชาวบ้านก็จะไปรวบรวมน้ำมันยางเอามาทำเชื้อไฟไว้จุดให้แสงสว่าง ที่คนอีสานเรียกว่า “กระบอง“ (เอาน้ำมันยางคลุกกับชิ้นไม้ผุเล็ก ๆ แล้วห่อเป็นท่อนด้วยใบตองตึง มัดด้วยตอกไม้ไผ่ให้แน่น เก็บไว้จุดให้แสงสว่างยามค่ำคืน เวลาจุดจะให้แสงวอมแวม บรรยากาศหรุบหรู่รัศมีมองเห็นได้ประมาณ 4-5 เมตร ความต้องการน้ำมันยางมาทำตะเกียงแบบไทย ๆ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งนอกจากการใช้ไขสัตว์มาทำเชื้อไฟ
ไม่ทราบกว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอยู่ที่ไหน
เสาไฟฟ้าเป็นยังไง
พอโตมาหน่อยมีคนกลับจากบางกอกมาเล่าว่า
มึงเอ๋ย เมืองกรุงรุ่งเรืองด้วยแสงไฟ มีน้ำประปาไหลมาใต้ดิน
เดินไปไหนต้องระวัง เดี๋ยวตกอ่างกะปิสนามหลวง
ขึ้นรถก็ต้องระวัง ต้องจับราว
บางคนไม่เข้าใจนึกว่าเขาจะจับลาว กระโดดรถก็มี
คุยเรื่องนี้บางคนอาจจะเกิดไม่ทัน แต่คงจะเคยได้ยินเพลง “น้ำตาแสงไต้” เจ้าแสงไต้ก็คือแสงของกระบอกที่เล่าข้างบนนั่น
เมื่อลูกเต้าแยกเรือนก็จะทยอยตัดไม้เหล่านี้มาสร้างบ้านเรือน ซึ่งก็สร้างหลังเล็ก ๆ แบบนกน้อยทำรังแต่พอตัว ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติมากนัก ประกอบกับเครื่องไม้เครื่องมือไม่ปรู๊ดปราดเหมือนในปัจจุบัน กว่าจะได้เสาสักต้นต้องออกแรงใช้ขวานถากแต่งอยู่หลายวัน หรือถ้าต้องการไม้เครื่อง ไม้พื้น ไม้กระดานฝา ก็ต้องใช้เลื่อยลันดาปดึงคนละข้าง เข้าเนื้อไม้ทีละมิลได้มั๊ง คนสมัยนั้นมีวิธีฝึกสมาธิด้วยการนั่งดึงเลื่อยนี่แหละ งานนี้มันสอนเรื่องความอดทน ใจเย็น และความมั่นคงแห่งจิตใจดีนักเชียว นึกดูเถิดกว่าจะได้กระดานแต่ละแผ่นจะต้องใช้ความมุมานะพยายามมากขนาดไหน คนยุคก่อนจึงมีความอดทนสูง ไม่ปากพล่อยเที่ยวไปหาเรื่องก่อกวนใครง่าย ๆ เหมือนคนสมัยนี้
เมื่อมีทางรถไฟ รถยนต์ เกวียน ขี้ไต้ ก็หดหายไป
น้ำมันก๊าช ถ่านไฟฉาย ตะเกียงเจ้าพายุ
บุกเข้าสู่ทุกหลังคาเรือน
พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
มาหลอกให้ไปขึ้นทะเบียนตีตราจ่ายภาษีต้นยางนาต้นละ 50 บาท
เงิน 50 บาท สมัยที่เหรียญสตางค์เจาะรูค่าไม่น้อยเลย
คนทำมาหากินรายปีจะมีที่ไหนไปจ่าย
จึงถูกโน้มน้าวขายไม้ยางต้นโต ๆ ให้กับเจ้านาย
ตัดไปแบ่งกันกับโรงเลื่อยต้นละ 100-200 บาท
แล้วเป็นไง..ต้องมาเสียงบประมาณส่งเสริมปลูกป่าแบบเจ๊าะแจ๊ะ
นี่คือบาปกรรมที่ใครก็ไม่รู้ก่อไว้ให้แผ่นดิน
ผมไถ่โทษที่บรรพบุรุษเคยโค่นป่ามาทำสวน
ด้วยการปลูกป่าไม้เป็นการสารภาพบาป
แต่ก็นั่นแหละ..ยังห่างไกลจากสภาพป่าธรรมชาติมากนัก
ช่วงที่ผมเข้ามาอยู่สวนป่านั้นยังขาดแคลนสิ่งที่เรียกว่าความจำเป็นพื้นฐาน ยกตัวอย่างเรื่องน้ำดังที่เล่าไปแล้ว กลางคืนผมก็ใช้ตะเกียงกระป๋องน้ำมันก๊าชนี่แหละให้แสงสว่าง ส่วนไฟฉายก็ใช้เท่าที่จำเป็น วันไหนมีกิจกรรมกลางคืน เช่น ปอกเปลือกนุ่น (ที่สวนตอนบุกเบิกใหม่ ๆ จะปลูกนุ่นมาก) พอนุ่นแก่ก็จะเก็บมากองไว้กลางลาน คนงานที่มาเก็บนุ่นก็จะกินนอนไม่กลับบ้าน กลางคืนหน้าร้อนพวกผู้หญิงกับเด็ก ๆ จะมานั่งปอกนุ่นกัน ส่วนผู้ชายก็เอาปุ๋ยนุ่นยัดอัดใส่กระสอบให้แน่น เพื่อจะได้บรรทุกใส่เกวียนไปไม่เสียเที่ยว ทางเราก็จะบริการตะเกียงเจ้าพายุสว่างโร่ แต่บางคืนที่เดือนหงายท้องฟ้าสว่าง เราก็ไม่จุดไฟใด ๆ นั่งทำงานท่ามกลางแสงจันทร์นวล แหมบรรยากาศสุขสงบสุดซึ้งเชียวแหละ
ไม่มีทีวี อินเ่่ืทอร์เน็ตมาคอยก่อกวนใจ
มีงานทำ-กินอิ่ม-นอนอุ่น-จิตใจปกติ
ไม่ต้องตื่นหู ตาแหกแต่งตัวไปทำงานซก ๆ
..ถามว่าอะไรคือมาตรฐานชีวิตที่ต้องการ
ทำงานแทบตายให้คนอื่นทั้งนั้น
บางคนทำโอจนเป็นลมหน้ามืด
แต่ไม่ยอมทำโอกาสให้แก่ตนเองแม้สักนาที
เกิดมาทำไม เจ้าเป็นไผ เจ้าคิดอะไร เจ้ากำลังทำอะไร?
ฮ่วย!
หลังจากผมปลูกต้นไม้ได้ 6 ปี ก็เห็นมีเสาไฟฟ้าปักมาตามถนนเข้าไปในหมู่บ้าน เห็นบ้านคนอื่นสว่างโร่แต่ของเรายังวอมแวมเหมือนเดิม ตอนนั้นผมใช้เครื่องยนต์ปั่นไฟเพื่อสูบน้ำบาดาล เป็นเครื่องยนต์ 2 จังหวะ แบบเครื่องฉุดโรงสียุคแรก ๆ เวลาจะติดเครื่องต้องออกแรงหมุนข้อเหวี่ยงหน้าอกแทบพัง เครื่องส่งเสียงลั่นไปทั้งป่า กลางคืนหนาว ๆ ต้องลุกตอนตี 1มาปิดเครื่อง โคตรทรมานเลยละครับ
และแล้วสวรรค์ก็มีตา คุณจ่อยคนโคราชตำแหน่งหัวหน้าไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอ แกคงมาดูความเรียบร้อยการเปิดใช้ไฟครั้งแรกในหมู่บ้าน ตามธรรมเนียมชาวบ้านจะจัดงานเลี้ยงฉลอง ดีใจที่มีไฟฟ้าใช้เพื่อบ่งบอกความทันสมัย จ่อยเป็นคนเฮฮาอารมณ์ดีมีรสนิยมชมชอบสุราพอสมควร ผมสงสัยว่าแกจะเมากลับไม่ถูก จึงหลงแวะขี่มอเตอร์ไซเข้ามาในสวน หลังจากคุยกันถูกอัธยาศัยเหมือนเลข 11 ผมก็เลียบเคียงเรื่องอยากจะมีไฟฟ้าใช้ คุณจ่อยก็ดีใจหาย วันหลังย้อนมาเล่าถึงข้อระเบียบต่าง ๆ ที่ฟังแล้วอยากจะผูกคอตาย..
ถ้าจะขยายเขตผู้ใช้ไฟจะต้องมีกลุ่มบ้านมีทะเบียนเลขที่ 5-6 หลัง
ต้องไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านหลักที่เปิดใช้ไฟไม่มากนัก
ต้องมีถนนเมนผ่านเข้ามา
ต้อง ๆ ๆ ๆ บ้าบออีกสารพัด
ฟังแล้วอึ้งกิมกี่ เพราะเราไม่อยู่ในเกณฑ์สักอย่าง
ในชีวิตนี้ไม่เคยได้อะไรง่าย ๆ สักอย่าง
ต้องกระเสือกกระสนเลือดตาแทบกระเด็นทั้งนั้น
นึกออกไหมครับ ผมไม่ได้เก่งกาจสามารถอะไรหรอก
โชคชะตาจับมัดมือชกทั้งนั้น
เรื่องนี้เหมือนหมาเห่าเครื่องบิน
..ท้อได้ แต่ไม่ถอย..
เมื่อขอใช้ไฟตามระบบไม่ได้ ก็ปรึกษาเจ้าคุณจ่อย แกรีบบอกเหมือนวางเบ็ดไว้ล่วงหน้า
“เอาอย่างนี้สิ ออกเงินเองทั้งหมด จะบริการให้พิเศษเลยแหละ สถานที่มีกับแกล้มแม่ครัวฝีมือเด็ดอย่างนี้ รับรองจัดการให้เต็มที่”
หลังจากหายหน้ามืด
ผมค่อย ๆ ถามว่า..จ่ายเองนะเท่าไหร่
เจ้าคุณจ่อยบอกตอบไม่ได้หรอกมันต้องสำรวจข้อมูลก่อน
หลังจากนั้นคุณจ่อยก็ยกทีมมาสำรวจหลายครั้ง
หมดเป็ดไก่สุราอาหารเลี้ยงดูอย่างเต็มใจไปหลายรอบหลายโต๊ะ
หายไป 2 เดือนจ่อยหน้าระรื่นกลับมา บอกว่าผมต้องจ่ายประมาณ 600,000 บาท แต่เจ้านายเบื้องบนเห็นว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม อนุมัติให้จ่ายแบบพบกันครึ่งทาง วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง (คุณจ่อยกรุณานำเรื่องนี้ไปหารือกับผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ทั้ง ๆ ที่ผมไม่มีเงินแต่ก็ตอบตกลง ต้องหาเงินมาจ่าย 350,000 บาท
มารู้ทีหลังว่า ที่จริงแล้วผมสามารถจ่ายลดลงกว่านั้นมาก
เช่นเดินไฟ 2 เฟต และใช้หม้อแปลงขนาดเล็ก
เจ้าคุณจ่อยสารภาพระหว่างเมาว่า..
“ไม่รู้นี่หว่า ..เห็นชาวบ้านเรียกเสี่ยอุ๊ ๆ ก็นึกว่าจะมีกะตังค์เยอะ”
แกเลยออกแบบเต็มอัตราศึก
เดินระบบไฟฟ้า 3 เฟตแบบของโรงงาน
ใช้หม้อแปลงขนาดใหญ่เท่ากับของหมู่บ้านขนาดย่อม
แกมารู้ที่หลังว่าผมต้องตัดไม้ยูคาลิปตัส 200 ไร่ ไปจ่ายค่าติดตั้งไฟฟ้า
คุณจ่อยแทบหายเมาหายบ้า
ทำให้แกเลิกเหล้ามาเท่าทุกวันนี้
มองเห็นเสาไฟทีไรเหมือนหน้าจ่อยเพื่อนรักทุกที
ความปรารถนาดีที่บริสุทธิ์ใจ ย่อมมีค่าประเมินไม่ได้
ตอนนี้จ่อยเกษียณไปแล้ว
แม่บ้านเขาเจอแม่บ้านผมเล่าให้ฟังว่า
ตั้งแต่เลิกน้ำเปลี่ยนนิสัย
โรคภัยต่าง ๆ หายไป ร่างกายแข็งแรงขึ้น
เขียนเรื่องนี้แล้วผมคิดถึงคุณจ่อยเพื่อนรักเป็นบ้า
นึกถึงตอนที่แกเมา
ให้เมียซ้อนท้ายมาเที่ยวหาผม
รถตกหลุมเมียหล่นจากมอเตอร์ไซค์
เรียกเท่าไหร่แกก็ไม่ได้ยิน บึ่งแหลกแหวกมัจจุราชมาอย่างเดียว
มาถึงสวนป่าทำหน้าเหรอ
อ้าวเมียผมหายไปไหน
ใครจะไปตรัสรู้ละวะ..
ย้อนกลับไปหาเดี๋ยวนี้
บังอาจทิ้งเมีย ระวังเมียจะทิ้งมึงนะโว้ย โธ่..
: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคนขับมอเตอร์ไซค์
« « Prev : คนเผาถ่าน
Next : ชาวเฮบุกพืชสวนโลกยามราตรีู » »
6 ความคิดเห็น
สวัสดีค่ะพ่อครูพ่อครูเล่าได้เห็นภาพเลย บ้านตรงหน้าบ้านหนูนี่แหละ ทันเห็นคอกวัวใต้ถุนบ้าน เสร็จงานนา ตกเย็นจูงวัวลงแม่น้ำกัน อาบทั้งคนทั้งวัว พลบค่ำ สุมไฟไล่ยุง- เหลือบ ควันขึ้นบ้าน มุ้ง-หมอน กลิ่นควันไฟทั้งบ้าน หมดหน้านาก็เลื่อยไม้กัน หนูยังไปนั่งเฝ้าดูเค้า ฟังเสียงเลื่อย เพลินหลับมันตรงนั้นเลย เมื่อก่อนไม่มีไฟฟ้าเหมือนกันเตี่ยไปสร้างโรงสี ใช้เครื่องฉุดอย่างพ่อครูเล่า เตี่ยสีข้าวทีก็ฉุดหัวสั่นหัวคลอน วันหนึ่งติดครั้งเดียวโน่นและมืดค่ำแล้วก็จะหยุดสี พวกลูกๆ มีแต่ลูกผู้หญิง จะเข้าไปยุ่งดูไม่ได้เลย โดนไล่ออกให้ไกล เสียงดังมาก อยู่ใกล้กันยังต้องตะโกนจึงจะได้ยินว่าถามอะไร เรื่องมอเตอร์ไซต์เหมมือนกัน นึกถึงแม่กับน้องคนเล็ก เมื่อเล็กๆชอบร้องขึ้นมอเตอร์ไซต์ตามแม่ และที่เบาะก็ไม่นั่งนะคะ จะนั่งตะแกรงท้าย มือจับตะแกรงไว้ มีอยู่วันหนึ่งแม่ขับผ่านถนนโรงสีที่กองแกลบดำเทไว้ ก็กระเทือน คงน้องเผลอพร่อยหลับด้วย น้องหล่นจากรถแม่ หน้าคว่ำไปจ้ำแกลบดำ ดีว่าคนแถวนั้นตะโกนบอกแม่ว่าลูกหล่น กลับถึงบ้านปากคอน้องมีแต่แกลบดำ หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยตามแม่อีก สนุกค่ะ หนูไปพักเที่ยงก่อนล่ะ อิอิ
เออหนอ ชีวิตชนบทนั้นมีชีวิตชีวาอย่างนี้แหละ อิอิ
ที่บ้านตอนเด็กๆ เคยเห็นความพยายามขุดเจาะน้ำบาดาลมาใช้ คนงานจะขุดด้วยพลั่วและเสียม ขุดๆๆ ลงไปได้แล้วใส่หัวโยก จะใช้น้ำที ใช้ระบบโยกน้ำ โยกใส่คุ(ถังน้ำ) ใช้น้ำกันประหยัดเพราะว่าต้องเหนื่อยกว่าจะได้น้ำ….แต่ก็ยังจำได้เหมือนกันว่าช่วงวัยรุ่นตัวเองโยกน้ำรดต้นลำไยทุกวันๆ …พลังงานของวัยมันคงเหลือเฟือน่ะค่ะ เลยหาทางปล่อยออกแบบนี้
น้ำบาดาลทางเหนือส่วนมากจะมีสนิมเหล็ก
สูบขึ้นมาดูใสๆแต่ทิ้งไว้ข้ามคืนจะมีคราบสนิมเหลือง
ถ้าจะใช้อาบต้องกรอง เสียก่อน
แต่โชคดี ที่ระดับน้ำ น้ำผิวดิน มีเหลือเฟือ อิอิ
หมู่ที่3 ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลย ถนนคอนกรีตก็ไม่มี เสมือนว่าถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเลยก็ว่าได้ มีเเต่ไฟฟ้าของซูล่าเซลล์ นับตั้งเเต่ติดตั้งเเล้วเขาไม่เคยมาดูเเลอะไรเลย ซูล่าเซลล์เสียก็เสียไป ซูล่าเซลล์ใช้ได้เฉพาะที่วี14นิ้วกับ เปิดไฟ2ดวงเท่านั้น ตู้เย็นก็ใช้ไม่ได้ไฟไม่พอ ยิ่งวันไหนฝนตกไฟฟ้าซูลาเซลล์ใช้ไม่ได้เลย ข่าวสารอะไรก็ไม่ได้ดู เวลาผมไปโรงเรียนก็ต้องรีดผ้ากับเตาถ่าน บางครั้งมีเศษประกายไฟตกใส่เสื้อผ้าจนเป็นรูพรุนเลย บางครั้งที่รีดผ้าก็มีขี้เถ้าติดเสื้อเต็มเลย เพราะหมู่บ้านของเรายังไม่มีไฟฟ้าใช้เลย ที่อื่นเขาพัฒนากันเยอะ ทั้งทำถนนมั่งหละ เเต่ทำไมเขาไม่มาพัฒนาหมู่บ้านผมให้มีไฟฟ้าใช้กันบ้างละครับ ขอเเค่มีไฟฟ้าใช้ก็โอเคเเล้ว จากนักศึกษา ตัวเเทนชาวบ้านหมู่3 ติดต่อผมได้ที่ 0807076894 ขอร้องมาทำให้หมู่บ้านผมมีไฟฟ้าใช้เหมือนหมู่บ้านคนอื่นๆบ้างเถอะครับ
ติดต่อ อบต. ให้เขาทำเรื่องขยายเขตไฟฟ้าไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนะครับ